ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคูณ ติกฺขวีโร
วัดป่าอุดมวารี
ต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย
ปัจจุบันนี้ พระคณาจารย์ ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมในบรรดาสานุศิษย์ของท่านพระโพธิญาณเถร (พระอาจารย์ชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
ท่านได้ถือนโยบายของครูบาอาจารย์ ให้ขยายสาขาไปในถิ่นต่างๆ ทั่วภาคในประเทศไทย และต่างประเทศนั้น ก็เพื่อความมุ่งหมายอันเดียวกัน คือเผยแพร่ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยการกระทําตนประพฤติ ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ให้เห็นเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน และอบรมจิตใจให้เข้าสู่แก่นแท้ ของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง
การกระทําของพระคณาจารย์ ทั้งหมดนี้ ก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจาก พระอาจารย์ชา สุภัทโท ซึ่งท่านได้ทอดเจตนาต่อเนื่องมาจาก หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เป็นพระอาจารย์ของท่านโดยแท้
เพราะการดํารงในเพศสมณะจะต้องถือหลักธรรมคําสั่งสอน เป็นส่วนใหญ่ เคร่งครัดต่อพระวินัย ข้อห้ามต่างๆ ปฏิบัติธรรมให้เกิดภูมิปัญญา พิจารณาสังขาร เผยแพร่สัจธรรมความเป็นจริงในธรรม
ดังนั้น ศิษย์ทุกองค์ของ ท่าน จะต้องอาศัยภาคปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เพื่อจะได้ฝากฝังสู่จิตใจประชาชนได้อย่างถูกต้อง เที่ยงธรรม
ปัจจุบันนี้ สํานักปฏิบัติที่เป็นสาขา ขึ้นตรงกับวัดหนองป่าพง จ.อุบลฯ นั้นมีถึง ๔๐ กว่า สาขา และ วัดอุดมวารีบรรพต เป็นสาขา ที่ ๓๐ และเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม อันสมบูรณ์แบบ เป็นวัดป่าที่ได้ ก่อสร้างมานานหลายสิปปีแล้ว
ขณะนี้ท่านหลวงพ่อคูณ ติกขวีโร เป็นเจ้าสํานัก ที่อยู่ปกครองดูแลพระภิกษุและสามเณร ตลอดจนถึงอุบาสก อุบาสิกา ประชาชนโดยทั่วไป
ธรรมชาติป่าเขา มีส่วนดึงจิตใจของผู้ใคร่ปฏิบัติธรรม เดินทางไปนมัสการและปฏิบัติธรรมกับท่านไม่เคยขาด
ท่านหลวงพ่อคูณ ติกฺขวีโร ท่านเป็นคนชาวจังหวัดอุบลราชธานีโดยกําเนิด เกิดในตระกูลชาวนา การศึกษาพออ่านออกเขียนได้
ความที่ท่านรักในการบวช มากกว่าจะใช้ชีวิตทางฝ่ายฆราวาส ท่านจึงได้เคยพูดว่า…
“การที่เราจะหนีทุกข์ได้ อย่างเต็มที่ และปฏิบัติธรรมเพื่อ ความพ้นทุกข์นั้น…เราก็ต้อง อาศัยการบวช ฝากตัวถวายไว้ แก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น จึงจะ พ้นได้ เพราะการที่เรายังอยู่ในเพศฆราวาส โลกธรรม ๘ ประการมันมีมากกว่าพระภิกษุ สามเณร และความตั้งมั่นและศรัทธามันมีกําลังน้อย ฉะนั้นมันต้อง บวชอย่างนี้จึงจะสะดวกกว่านะ”
หลวงพ่อคูณ ติกฺขวีโร เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ปีมะโรง ท่านได้เข้ามาศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท ท่านได้เล่าให้ฟังว่า…
“ตอนปฏิบัติพระกรรมฐานใหม่ ๆ หลวงพ่อชาท่านแสดงธรรม ขณะที่ท่านอธิบายอรรถธรรมอยู่นั้น จิตมันเกิดสงบลง แต่สติดีทรงอยู่ สว่างไสวไปหมด
เวลาท่านอธิบายนี้ จิตรับรู้ได้อย่างชัดเจน แล้วมันแสดงอาการไปดักรอคําพูดของท่าน พอท่านอธิบายไปๆ ก็มาถึงคําพูดที่อาตมาจับรออยู่นั้น แล้ว จิตก็วิ่งไปดักรออยู่อีก เป็นอยู่อย่างนั้น ในทุกครั้งเลยทีเดียว จึงมาคิดว่า จิตนี้สําคัญมาก ถ้าเราสร้างขึ้นมาให้เกิดกําลังแล้ว มันสามารถรอบรู้ไปหมดทุกอย่าง”
ท่านหลวงพ่อคูณ ท่านได้ออกบําเพ็ญเพียรเดินธุดงคกรรมฐานไปกับคณะศิษย์รุ่นเดียวกันหลายแห่ง แต่ละองค์ท่านได้ถือเอาเยี่ยงอย่างของครูบาอาจารย์ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และการเดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ นั้น ท่านได้ถือโอกาสแนะนําธรรมคําสอนของพระพุทธเจ้า ออกเผยแพร่ให้กับชาวบ้าน และสอนการปฏิบัติภาวนาธรรม จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใสแก่ประชาชนโดยทั่วไป
ความที่ได้รับการอบรมมาดีแล้ว ท่านเป็นพระที่เข้มแข็งอดทน มีความมานะอันแรงกล้า ท่านได้สละกายและใจ ถวายไว้ในพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง ท่านเชื่อมั่นในคุณงามความดีที่ได้กระทํานี้ แม้จะเกิดอุปสรรคอันใด ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ กําลังจิตที่เข้มแข็งนั้น ได้ขจัด ฟันฝ่าจนกําชัยชนะไว้ได้ในทุกครั้ง
ท่านหลวงพ่อคูณ ติกขวีโร ท่านเป็นศิษย์องค์หนึ่ง ที่ท่านพระอาจารย์ชา สุภัทโท ไว้วางใจในการประพฤติปฏิบัติ ท่านได้มาอยู่จําพรรษาที่วัดอุดมวารีบรรพต อ.พาน จ.เชียงราย สมัยแรกที่ท่านมาอยู่ใหม่ๆ ท่านต้องอดทนต่อสู้กับภัยรอบด้าน มีทั้งมารทางพระศาสนาที่คอยจะก่อกรรมทําเข็ญ ถึงกระนั้นท่านก็ได้อาศัยขันติบารมีเป็นที่ตั้งวางตัวเฉยต่อเหตุการณ์เสีย
นอกจากนี้แล้ว ท่านยังต้องทนทุกข์ยากลําบากในเรื่องอาหารการขบฉัน อดบ้างกินบ้าง แม้จะเป็นการฉันเพียงวันละมื้อเดียวก็ตาม
แต่ท่านก็มีความพอใจใน ความเป็นอยู่เช่นนี้
เพราะธรรมดาของพระป่า ท่านย่อมมีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ อยู่แล้ว มีความสันโดษพอใจตามมีตามได้ ไม่ดิ้นรนให้จิตใจต้องเดือดร้อน การขบฉันอาหารท่านถือว่า ฉันเพียงเพื่ออยู่ และอยู่ก็เพื่อปฏิบัติ ธรรมให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์
ความที่ท่านพระอาจารย์คูณ อดทนอยู่ได้นั้น มิได้อาศัยในเรื่องการกินหรือการอยู่เท่านั้น ท่านอดทนเพื่อการปฏิบัติธรรม ถือระเบียบวินัยที่องค์สม เด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เท่านั้นสําคัญกว่า
ท่านหลวงพ่อคูณ ติกฺขวีโร ท่านเป็นพระนักแสดงธรรม อันเป็นธรรมะที่ได้รับมาจากการประพฤติปฏิบัติ มาจากป่าดงพงไพร เป็นธรรมะป่าที่เห็นออกมาจากจิตใจ เป็นอรรถธรรมที่ผู้ฟังแล้ว เข้าใจง่ายต่อปวงชนทุกชั้น ท่านสอนภาคปฏิบัติ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ดวงใจที่เปี่ยมล้น ด้วยเมตตา ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความ กระตือรือร้นที่จะมอบธรรมปฏิบัติ ให้แก่พุทธบริษัททุกคนได้ปฏิบัติกัน
คุณค่าของธรรมะ เป็นสมบัติอันล้ำค่า ที่ทุกคนควรใฝ่หามาสู่จิตใจ เพราะธรรมเป็นสิ่งที่สงบระงับ ดับความทุกข์ร้อนได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ท่านจะมอบให้แก่ผู้เดิน ทางไปนมัสการท่านนั้น มีแต่หลัก ธรรม ความปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เท่านั้น และสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรง สรรเสริญยิ่ง คือ การปฏิบัติภาวนาธรรม
ปัจจุบัน หลวงพ่อคูณ ติกฺขวีโร ท่านจำพรรษา ณ วัดอุดมวารี (สาขาวัดหนองป่าพงที่ ๓๐) ต.ทรายขาว. อ.พาน. จ.เชียงราย