ประวัติและปฏิปทา
พระครูสันติวรคุณ (หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต)
วัดบุญญานุสรณ์ (วัดป่าหนองวัวซอ)
ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
หลวงพ่อคำแพง ท่านเป็นชาวบ้านหนองวัวซอโดยกำเนิด ท่านเป็นพระพี่ชายแท้ๆ ของหลวงพ่อทองพูน กาญจโน แห่งวัดป่าภูกระแต จ.หนองบัวลำภู
หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต มีนามเดิมว่า คำแพง สารักษ์ ท่านถือกำเนิดเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนา ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๑ ณ บ้านเลขที่ ๑๓๕ บ้านหนองวัวซอ ตำบลหนองวัวซอ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของโยมพ่อกอง และโยมแม่หนูแดง สารักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๒ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้
๑. นายแสวง สารักษ์
๒. หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต (สารักษ์)
๓. นายแปลง สารักษ์
๔. เด็กหญิงแสง สารักษ์ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๕. นายทองแดง สารักษ์
๖ นางสมบูรณ์ ภูสวัสดิ์
๗. นางคูณ สารักษ์
๘. นางหมุน มาแสง
๙. พระอาจารย์ทองพูล กาญจโน (สารักษ์)
๑๐. เด็กชายหลอด สารักษ์ (เสียชีวิตตั้งแต่เด็ก)
๑๑. พระอาจารย์ชัยวัฒน์ อุตตมวังโส
๑๒. นางคำปุ่น ภูเยี่ยมใจ
หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๒ ปี ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๓.๑๕ น. ณ วัดบุญญานุสรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีพระครูประสิทธิคุณานุการ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อตฺตสนฺโต” ท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ,หลวงปู่ขาว อนาลโย ,หลวงปู่สิงห์ สุขปุญฺโญ
ประสบการณ์ธุดงค์บางตอนของหลวงพ่อคำแพง อตฺตสนฺโต
หลวงพ่อคำแพง อตฺตสนฺโต เล่าถึงการธุดงค์ของพระป่า ท่านเดินทางรอนแรมไปตามป่าตามเขาพักอาศัยตามร่มไม้ชายเขา ตามหมู่บ้านกระเหรี่ยง แม้ว เหย้า อีก้อ มูเซอ จีนฮ่อ ซึ่งหมู่บ้านเหล่านี้ ในสมัยก่อนสามารถเดินเท้าเข้าไปได้อย่างเดียว
หลังออกพรรษาในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านได้พบหลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร โดยบังเอิญและได้สนทนารับอุบายธรรมจากหลวงปู่จันทร์เรียน ทำให้ท่านเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่จันทร์เรียนก็ได้ให้อุบายธรรมหลายอย่างตลอดจนถึงวิธีการเอาชนะกิเลส การปฏิบัติต้องไม่กลัวตาย ต้องผ่านตายให้ได้ก่อนจึงจะปฏิบัติอยู่กับท่านได้ เมื่ออยู่ด้วยกันระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่จันทร์เรียนท่านจะไปธุดงค์ที่ผาดอก บ้านเซียงเคี่ยน อ.เทิง จ.เชียงราย หลวงพ่อคำแพงขอติดตามไปด้วย หลวงปู่จันทร์เรียน ย้อนถามท่านว่า “ท่านยังเสียดายชีวิตอยู่หรือไม่ ถ้ายังเสียดายชีวิตอยู่ก็ไม่ต้องไปกับผม”
หลวงพ่อคำแพง จึงตอบว่า “ถึงอย่างไรผมก็ขอไปกับครูจารย์ให้ได้” หลวงปู่จันทร์เรียน ท่านเห็นความตั้งใจดีของหลวงพ่อคำแพง จึงอนุญาตให้ติดตามไปได้ ในคณะธุดงค์ครั้งนั้น มีสหธรรมมิกหลวงปู่จันทร์เรียน อีกรูปคือ หลวงพ่อสมศรี อตฺตสิริ วัดป่าผาน้อย จ.เลย รวมพระอยู่ ๓ รูป และ สามเณรเหลาอีกรูปนึง เมื่อเตรียมเครื่องบริขารเสร็จ ก็ออกเดินทางทันที ต้องเดินขึ้นเขาหลายกิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านและดงหนาป่าทึบ เข้าไปทุกขณะ เมื่อขึ้นไปหลังเขาแล้วก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ คณะธุดงค์เมื่อท่านนั่งพักพอหายเหนื่อยแล้วก็เดินสำรวจหาที่พักปักกลด และแหล่งน้ำเพื่อสรง และล้างบาตร
เมื่อเจอแหล่งน้ำและได้ที่พักแล้วต่างองค์จัดบริขารออกจากบาตร และกางกลด เสร็จแล้วสรงน้ำ ฉันน้ำเสร็จก็เป็นเวลาค่ำมืดพอดี หลวงปู่จันทร์เรียน ท่านกำชับว่า ขอให้ทุกองค์ตั้งใจปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มที่ เรื่องความพากเพียรต้องมาก่อน ความขี้เกียจขี้คล้านให้อยู่ที่หลัง เพราะนี่คือการออกสู่สนามรบจริงๆ ถ้าหากมัวประมาทนิ่งนอนใจแล้วจะเสียทีกิเลสโดยไม่รู้ตัว เมื่อหลวงปู่จันทร์เรียน ท่านพูดเสร็จก็ให้แต่ละองค์แยกย้ายกันไปภาวนาในแต่ละที่ของตน
หลวงพ่อคำแพง ท่านปักกลดอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งองค์ท่านไม่ทราบว่าที่ตรงนั้นเป็นที่หากินของสัตว์ป่าในยามค่ำคืน พอตกดึกหน่อย ท่านได้ยินเสียงกิ่งไม้หักลงมาจากภูเขา เสียงนั้นดังลงมาใกล้ทุกขณะ ทำให้ท่านอดวิตกไม่ได้ว่าเป็นเสียงของอะไรกัน แต่ในจิตของท่านนั้นก็บริกรรมพุทโธๆ ลงไปเรื่อยๆ พยายามไม่ให้จิตหวั่นไหวไปตามเสียงที่ได้ยิน แต่ดูเหมือนจิตจะยิ่งเงียบเท่าไหร่ เสียงก็จะยิ่งดังขึ้นเรื่อยๆ และใกล้เข้ามาๆ และมาหยุดลงไม่ไกลจากตรงที่ท่านปักกลดเท่าไรนัก คล้ายกับว่ามันเห็นสิ่งผิดปกติเกิดในเส้นทางที่มันเคยเดินผ่านประจำนั้น สายตาของมันคงจับจ้องมายังที่ท่านนั่งภาวนาอยู่ ฝ่ายหลวงพ่อคำแพง ก็พิจารณาว่าทำไมเสียงของมันเงียบไปผิดสังเกตทั้งๆที่ก่อนหน้านี้เสียงเหยียบใบไม้ดังมาก จนเวลาผ่านไปพักใหญ่เสียงนั้นจึงค่อยๆดังขึ้นมาอีก และยิ่งใกล้เข้ามา ตรงมายังกลดของท่าน หลวงพ่อคำแพงท่านจึงเกิดความสงสัย และได้ลืมตาขึ้นดู
สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือ หมีควายตัวใหญ่ที่ยืนทมึนจ้องมายังท่าน คล้ายจะข่มขู่ในฐานะเจ้าถิ่น พอท่านรู้ว่าเป็นหมีควายเท่านั้น ทั้งความกลัวและความตกใจวิ่งเข้ามาสู่หัวใจท่านทันที ท่านจึงหลับตาบริกรรมพุทโธๆ ย้ำเข้าไปตามจังหวะการเต้นของหัวใจ ไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป มีแต่จิตกับพุทโธเท่านั้น หมีควายตัวนั้นมันค่อยเดินเข้ามาจนมาถึงกลดท่าน มันยังคงเดินวนรอบกลดอยู่อย่างนั้นแต่ไม่ทำอันตรายใดๆ
ส่วนท่านก็บริกรรมพุทโธจนจิตติดกับพุทโธเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หยั่งลงสู่ความสงบอย่างรวดเร็วพอจิตรวมพลึบลงไปอยู่ในสมาธิ ก็เกิดความสว่างขึ้น และไม่รู้สึกอะไรอีกเลย มีแต่ความสุขอยู่อย่างนั้น ความกลัว ความเจ็บปวด ความหวั่นไหว ไม่รู้หายไปไหนหมด มีแต่ดวงจิตที่ใสสว่างอยู่อย่างนั้น จนเวลาผ่านไปหลายชั่วโมงที่จิตสงบอยู่ในอัปปนาสมาธิจนจิตมีความอิ่มตัวในสมาธิ จึงค่อยถอนออกจากสมาธิขึ้นมาอยู่ในระดับที่รับทราบอารมณ์ความรู้สึกภายนอกแล้ว ท่านจึงย้อนเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หลังจากที่พิจารณาจนทราบแน่ชัดแล้วท่านจึงมองหาหมีควายตัวนั้น แต่การมองหาคราวนี้แตกต่างจากครั้งแรก เพราะการมองเห็นครั้งแรกเต็มไปด้วยความหวั่นไหวหวาดกลัว วิตกกังวลว่าหมีควายตัวนั้นจะมาทำอันตราย เห็นหมีควายเป็นศัตรู แต่หลังจากจิตของท่านที่สงบลงแล้ว และถอนขึ้นมา กลับมองว่าหมีควายตัวนั้นเป็นมิตร และมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นมิตรไปหมด แต่หมีมันคงหนีไปหากินที่อื่นหรือไม่ก็กลับไปยังที่อยู่ของมัน จึงมองไม่เห็น
เวลาจวนใกล้สว่างพอดี ท่านจึงได้ออกจากที่ภาวนา ทำธุระส่วนตัว เสร็จแล้วท่านก็สวดมนต์ เก็บบริขาร เตรียมตัวออกรับบิณฑบาต ในเส้นทางหมู่บ้านที่เดินผ่านมาเมื่อวานนี้ ซึ่งก็อยู่ไกลพอสมควร พอได้เวลาบิณฑบาตหลวงปู่จันทร์เรียนก็เดินออกมาจากที่พัก พอเห็นหน้าหลวงพ่อคำแพงแล้ว หลวงปู่จันทร์เรียน ก็ได้พูดทักทายว่า “ท่านแพง เมื่อคืนนี้เห็นอะไรไหม” หลวงพ่อคำแพงตอบว่า “เห็นครับ เมื่อคืนนี้ ผมเห็นหมีควาย และเมื่อผมเห็นแล้วก็ทำให้รู้สึกว่า เหมือนตายแล้วเกิดใหม่เลย”
หลวงปู่จันทร์เรียน เลยกล่าวกับท่านว่า
“ธรรมดาแหล่ะคนเรา เมื่อเห็นธรรมก็ต้องผ่านความตายไปก่อน ถ้ายังไม่ผ่านความตายก็ไม่เห็นพุทโธ พุทโธนี้เอาพึ่งเป็นพึ่งตายได้อย่างแน่นอน”
การเดินธุดงค์นี้ไม่ใช่เรื่องความสะดวกสบาย ไม่ใช่เรื่องความคึกคะนอง ไม่ใช่เรื่องความคลุกคลี และไม่ใช่เรื่องอิ่มหมีพีมัน แต่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้นโดยสิ้นเชิง อาหารการขบฉัน ที่อยู่ที่อาศัย ผ้าผ่อนท่อนสไบ ยารักษาโรค สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องไปคำนึงถึง อาศัยไปตามยถากรรมตามมีตามเกิด พอให้มีลมหายใจได้ปฏิบัติไปวันหนึ่งๆ ก็ถือเป็นมหาโชคลาภแล้ว ฉะนั้นพระที่ท่านออกธุดงค์จึงไม่ห่วงว่าชีวิตจะเป็นหรือตาย ยอมสละทุกอย่างแม้ชีวิตก็ไม่เสียดาย กลัวอย่างเดียวคือ กลัวกิเลสจะไม่หมดจากหัวใจเท่านั้น เพราะต้นเหตุของความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็คือ กิเลสตัณหา อวิชชา อุปทานนี่เอง ถ้ากิเลสตัณหา อวิชชา อุปทานหมดไปจากจิตใจเมื่อใดแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะโดยประการทั้งปวง และจะเห็นความแตกต่างระหว่างโลกสมมุติกับโลกวิมุติอย่างน่าอัศจรรย์
ฉะนั้นพระธุดงค์ ที่มุ่งหวังความหลุดพ้นจึงไม่ห่วงเรื่องความเป็นความตาย ท่านจึงหมายมั่นปั้นมือ ตั้งอกตั้งใจที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงตามรอยแห่งองค์พระศาสดาด้วยความเคารพและศรัทธาจริงๆ
เรื่องราวความเป็นมาของ หลวงพ่อมหาบุญทัน ปุญญทัตโต และหลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต
พรรษาที่ ๑๘ ของหลวงพ่อคำแพง ที่วัดเขาวงมหาวัน พ.ศ.๒๕๓๑
พรรษาที่ ๑๘ พ.ศ.๒๕๓๑ ท่านจำพรรษาที่วัดเขาวงมหาวัน จ.เชียงราย หลังจากที่หลวงพ่อคำแพง เคยให้สัญญากับชาวบ้านวังน้อยก่อนที่ท่านจะมา จ.อุดรธานี ว่าจะกลับขึ้นมาที่วัดเขาวงมหาวันอีกอย่างแน่นอน ทำให้ชาวบ้านวังน้อยเฝ้ารอคอยการกลับมาของท่านอยู่เสมอ ซึ่งตัวท่านเองก็ทราบดีและหาโอกาสที่จะกลับขึ้นไปจำพรรษาอยู่เสมอเมื่อปัญหาต่างๆของวัดบุญญานุสรณ์หมดไปแล้ว ท่านจึงคิดว่าน่าจะไปจำพรรษาที่วัดเขาวงมหาวันอีกสักครั้งหนึ่งและท่านก็ได้นัดกับหลวงพ่อมหาบุญทัน บุญญทัตโต และท่านก็ได้นัดกันว่าจะขึ้นไปจำพรรษาร่วมกันที่วัดป่าเขาวงมหาวัน จ.เชียงราย พอใกล้เข้าพรรษาท่านก็ได้กลับขึ้นไปกับหลวงพ่อมหาบุญทัน ปุญญทัตโต วัดป่าสามัคคีสันติธรรม จ.ขอนแก่น ซึ่งทำให้ชาวบ้านดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มีครูบาอาจารย์ทั้งสองรูปมาจำพรรษา เป็นอันว่าพรรษาที่ท่านได้จำพรรษากับหลวงพ่อมหาบุญทันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ท่านทั้งสองรู้จักกันมา (ท่านรู้จักกันเป็นครั้งแรกอยู่ที่วัดป่าเขาวงมหาวัน) โดยท่าน พระอาจารย์สมหวัง สันตะมะโน ท่านได้นิมนต์หลวงพ่อมหาบุญทันมาจำวัตรที่ วัดอรัญญบรรพต ซึ่งวัดอรัญญบรรพตและวัดป่าเขาวงมหาวันก็อยู่ไม่ไกลกันเท่าไหร่ พอตกช่วงกลางคืนหลวงพ่อมหาบุญทันท่านนิมิตร เห็นวัดเขาวงมหาวันมีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นมาตลอดคืนตอนเช้าถามท่านพระอาจารย์สมหวังว่าที่วัดเขาวงมหาวันมีงานอะไรหรือป่าว เพราะเมื่อคืนนี้นิมิครเห็นที่วัดเขาวงมหาวันมีแสงสว่างมาก และทำให้ท่านอยากมาวัดเขาวงมหาวันวันหลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วพระอาจารย์สมหวังก็เลยพาหลวงพ่อมหาบุญทัน กับหลวงพ่อคำแพงมาพบกันเป็นครั้งแรกและหลวงพ่อคำแพง ท่านได้นิมิตรคืนนั้นว่าหลวงพ่อมหาบุญทันมาบอกว่า “ท่านเคยเป็นพี่ชายของหลวงพ่อคำแพง ในอดีตชาติ” นี่เป็นสาเหตุทำให้ท่านทั้งสองหาโอกาสมาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ก้ได้
ในช่วงกลางพรรษา หลวงพ่อคำแพงท่านปรารภ กับหลวงพ่อมหาบุญทันว่าทำไมมีญาติโยมมาหาท่านช่วยโน้นช่วยนี้อยู่เสมอ หลวงพ่อมหาบุญทันบอกท่านว่า “จะเอาของดีให้เอาไหม”หลวงพ่อคำแพงถามว่า “ของดีคืออะไร” หลวงพ่อมหาบุญทันตอบว่าของดีคือพลัง เดี๋ยวจะชาร์ทให้ พลังตัวนี้ทำให้หลายอย่างแต่ต้องมีเมตตา ซึ่งท่านสามารถรับพลังนี้ได้ ในฐานะที่เคยทำบุญร่วมกันมาตั้งแต่อดีตชาติ ในวันหนึ่งท่านจึงได้นัดหมายกันว่าจะส่งพลังให้กันตอนเวลาสามทุ่ม หลังจากทำวัตรสวดมนต์เสร็จแล้ว ซึ่งต่างองค์ก็ได้นั่งภาวนา อยู่ที่กุฏิของแต่ละองค์ ซึ่งก็ห่างกันมากประมาณ ๒๐๐ เมตรได้ แล้วหลวงพ่อมหาบุญทันท่านก้ได้รวบรวมสมาธิอธิฐานรวมพลังทุกอย่าง พุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี อริยสาวกต่างๆ รวมกันแล้วก็ส่งพุ่งไปทันที รุ่งเช้าหลวงพ่อมหาบุญทันถามหลวงพ่อคำแพงว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลวงพ่อคำแพงตอบว่า “มันมาจริงๆมันเป็นแสงเหมือนกงจักรก่อนที่มันจะพุ่งลงมาใส่กระหม่อม” หลวงพ่อมหาบุญทันท่านจึงว่า นั้นแหละได้แล้วให้รักษาเอาไว้
“อันนี้ผู้เขียน ได้เขียนตามเทศนาของหลวงพ่อมหาบุญทัน ปุญญทัตโต วัดป่าสามัคคีสันติธรรม จ.ขอนแก่น ซึ่งท่านได้มีเมตตามาแสดงธรรมให้ศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อคำแพงฟังในวันมรณภาพ ๗ วัน ของหลวงพ่อคำแพง ผู้เขียนไม่มีเจตนาที่จะเขียนเพื่อที่จะอวดอ้างอุตริหรือแอบอ้างแต่อย่างใด สุดแล้วแต่ท่านผู้รู้ทั้งหลายจะพิจารณา”
ปัจจุบัน พระครูสันติวรคุณ (หลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต) มรณภาพลง ณ วัดป่าบุญญานุสรณ์ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕
โอวาทธรรมคำสอนหลวงพ่อคำแพง อัตตสันโต
“..เหตุก็คือปัจจุบัน ผลก็คืออนาคต วันนี้เราทำความดี วันต่อไปเราก็มีความสุข…”