ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อคง สุวัณโณ
วัดวังสรรพรส
อ.ขลุง จ.จันทบรี
หลวงพ่อคง สุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดวังสรรพรส ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี พระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในเรื่องการสร้างวัตถุมงคลรูปแบบเสือ จนได้รับสมญานามว่า “เทพเจ้าแห่งเขาสมิง”
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ท่านมีนามเดิมว่า “คง” นามสกุล “ฑีฆายุ” เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับปีที่ ๓๔ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โยมบิดาชื่อ “นายส้อง” โยมมารดาชื่อ “นางโอง ฑีฆายุ” ท่านเป็นบุตรคนหัวปี มีพี่น้องชายหญิงทั้งหมด ๑๑ คน ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ได้เกิดมาในแวดวงของผู้มีวิชาอาคมเป็นที่เลื่องลือ โดย ปู่ของท่าน คือ หลวงปู่วง ซึ่งเป็นพระผู้มีวิชาอาคมเป็นที่เลื่องลือในสมัยนั้น และตาของท่าน คือ หลวงคีรีเขตต์ รับราชการดูแลหัวเมืองตราด-จันทบุรี ผู้มีคาถาอาคมขลัง เป็นผู้มีวิชาทางคงกระพันเป็นเลิศ
◉ อุปสมบท
หลวงพ่อคง สุวัณโณ อุปสมบทครั้งแรก พ.ศ.๒๔๖๖ อายุได้ ๒๑ ปี อุปสมบทครั้งที่ ๑ และท่านอุปสมบทครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชสมบัติมาแล้ว ๓ วันขณะมีอายุได้ ๓๒ ปี ณ วัดชมพูราย จังหวัดตราด โดยมีพระอุปัชฌาย์ชื่อ พระอธิการผูก วัดสลัก ได้รับฉายาว่า “สุวัณโณ” แปลว่า “ผู้มีผิวพรรณงามดุจทองคำ”
ได้ศึกษาธรรมะและวิชาอาคมขลัง อักขระเลขยันต์จากโยมตาชื่อ หลวงคีรีเขตุที่มีวิชาคงกระพันเป็นเลิศ ตลอดจนพระคณาจารย์ที่เก่งๆ ในสมัยนั้น
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรูปหนึ่งของภาคตะวันออก ร่วมสมัยเดียวกับ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่คร่ำ วัดวังหว้า และ หลวงพ่อศรีนวล วัดเกวียนหัก, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่ และ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค เป็นต้น
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ชื่อเสียงของท่าน หลวงพ่อคง สุวัณโณ เริ่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไป พิธีพุทธาภิเษกตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศต่าง ๆ จะต้องนิมนต์ไปร่วมนั่งปรกแทบทุกงาน เมื่อได้รับนิมนต์ท่านก็มักจะไปร่วมทุกครั้ง ไม่ว่าจะวัดใกล้วัดไกลแค่ไหนก็ตาม เมื่อคราวพิธีพุทธาภิเษกพระ ๒๕ พุทธศตวรรษ ครั้งยิ่งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ในพ.ศ.๒๕๐๐ ท่านก็ได้ร่วมในพิธีครั้งนั้นด้วย
นับเป็นผู้คงแก่เรียน มีครูบาอาจารย์ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้มากมายทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ หลวงปู่จง ปู่แท้ๆ ของท่าน, หลวงพ่อเม วัดมาบไผ่, หลวงพ่ออุก-หลวงพ่อเจาะ วัดโปร่งเซ็น, หลวงพ่ออ่ำ วัดสะตอน้อย, หลวงพ่อหริ่ง, พ่อครูเต๋า ฆราวาสจอมคาถา, พ่อครูตาสด ฆราวาสจอมขมังเวท, หลวงคีรีเขตต์ ตาแท้ๆ ของท่าน รับราชการดูแล หัวเมืองตราด-จันทบุรี ผู้มีคาถาอาคมขลัง
วิชาที่ได้ร่ำเรียนมีหลายแขนง ทั้งคาถาหัวใจ ๑๐๘ คาถาคงกระพันชาตรีต่างๆ การเขียนอักขระเลขยันต์ภาษาขอม การเขียนลบผงอิทธิเจ ปถมัง การปลุกเสกเครื่องรางของขลัง วิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาการหาสมุนไพรของป่า การหาว่านคงกระพัน
การสักยันต์ วิชาย่นระยะทาง การเดินจงกรม และการฝึกจิต ฝึกสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งปฏิบัติไปตาม ขั้นตอนตามที่พระอาจารย์หลายรูปได้สั่งสอนมา
รวมทั้งสุดยอดวิชา “เสือสมิง” ซึ่งเป็นวิชาหนึ่งที่ชาวบ้านป่านิยมเรียนกันเพื่อให้เข้าป่าโดยปลอดภัย
นำความรู้ในศาสตร์ต่างๆ ช่วยเหลือชาวบ้านทั้งในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และสร้างวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวดำ ใจดี พูดคำยิ้มคำ แต่รู้ทัน คำพูดและรู้เจตนา ทั้งนี้ ผู้ที่ได้พบเห็นในวัตรปฏิบัติและปฏิปทา ของท่านต่างรู้สึกประทับใจและเกิดความศรัทธาอย่างสูง เพราะเปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยไมตรี และความเมตตาปรานี
คติธรรมที่มักตอกย้ำให้ลูกศิษย์นำไปขบคิด คือ “ทำดี ซื่อสัตย์ จริงใจ มีอยู่แล้วในตัวทุกคน…ทำได้ ทำจริง ชีวิตรอดปลอดภัย”
นอกจากนี้ หลวงพ่อคง ยังมีความเชี่ยวชาญด้านรักษาโรคด้วยสมุนไพรอีกด้วย จนเป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้าน ตลอดจนถึงศิษยานุศิษย์ตลอดมา
◉ มรณภาพ
ในช่วงท้ายของชีวิต หลวงพ่อคง สุวัณโณ ได้อาพาธเป็นไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม มีโรคแทรกซ้อน เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๓๒ ลูกศิษย์ได้ส่งหลวงพ่อคง ไปรักษาที่โรงพยาบาลตากสิน จันทบุรี จนพอทุเลา หลวงพ่อคง ก็ได้ขอกลับมาที่วัดวังสรรรส และต่อมาอีกไม่กี่วันท่านก็ได้จากไปอย่างสงบ ณ วัดวังสรรพรส ในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๑๐.๑๕ น. รวมสิริอายุได้ ๘๗ ปี ๕ วัน นับพรรษาที่ ๕๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลออกมาหลายรุ่น เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัตถุมงคลของท่านคือ จะมีรูป เสือสมิงอยู่ด้านหลัง พระพุทธรูปยืนคู่กัน หรือไม่ก็เป็นรูปพระปิดตา ซึ่งเป็นฝีมือการเขียนออกแบบโดยตัวท่านเองแทบทั้งสิ้น วัตถุมงคลของหลวงพ่อคงทุกรุ่นล้วนมีพุทธคุณเป็นเลิศในทุก ๆ ด้าน เป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างไกล
หลวงพ่อคง สุวัณโณ ท่านเป็นหนึ่งในพระดีศรีเมืองจันท์ที่สร้างพระเครื่อง-เครื่องราง ของขลังเปี่ยมด้วยพุทธคุณ และเป็นที่นิยมของชาวภาคตะวันออกและผู้ศรัทธาทั่วไป โดยเริ่มสร้างแจกชาวบ้านราวปี พ.ศ.๒๔๘๔ ซึ่งตรงกับช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
ครั้งนั้นประเทศไทยจับมือกับญี่ปุ่นขับไล่ชาวอังกฤษและฝรั่งเศสให้ออกนอกประเทศ และส่งทหารหาญไปยังประเทศกัมพูชา ทวงกรรมสิทธิ์ในดินแดนเสียมราฐ ศรีโสภณ และพระตะบอง
เหล่าทหารกล้าที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบต่างพกของดีของขลังไปเป็นขวัญกำลังใจ ประกอบด้วย ตะกรุดหนังเสือ และตะกรุดเนื้อโลหะต่างๆ, ผ้าประเจียด, ผ้ายันต์ ฯลฯ