หลวงปู่ไข่ อินทสโร วัดบพิตรภิมุข (วัดเชิงเลน) เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ
หลวงปู่ไข่ หรือท่านอินทสโรภิกขุ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่มุ่งหวังความพ้นทุกข์องค์หนึ่ง โดยอาศัยจําพรรษาอยู่ท่ามกลางเมืองกรุงอย่างเงียบๆ
เมื่อประวัติถูกเปิดเผยขึ้น จึงทําให้รู้ว่า ชีวิตในการต่อสู้ของท่านนั้น นับได้ว่า มีความประเสริฐ โลดโผนตื่นเต้นเป็นอันมาก
ตั้งแต่กําเนิดเกิดมา กระแสโลกที่สัมผัสได้ด้วยทางกาย และทางใจนั้น ท่านได้รู้ได้เห็นอย่างแจ่มชัดกว้างขวางเลยทีเดียว
ท่านรู้ว่า โลกเป็นทางแห่ง ความทุกข์ และก้อนโลก (สังขาร) เป็นเครื่องถ่วงความเจริญทางจิตใจ ก็เพราะว่า กระแสโลกนั้นถูกปรุงแต่งจากอวิชชา ตัณหา จึงเป็นกระแสที่ไหลลงสู่ที่ต่ำในที่สุด
แต่กระแสโลกนี้ ผู้มีสติมีปัญญาสามารถที่จะวิ่งทวนกระแสนั้นได้ ด้วยการต่อสู้ฟันฝ่ากับกระแสคลื่นลมทางโลกให้ออกพ้นจากวิถีนั้นไปได้
อันเป็นหนทางสงบระงับดับ ความทุกข์ คือ พระนิพพาน ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายทรงกระทําจนบรรลุ ตรัสรู้มาแล้วทั้งสิ้น
หลวงปู่ไข่ ผู้มองเห็นทุกข์ แห่งความเกิด ความพลัดพรากและความตาย จึงตั้งใจไว้ว่า จักต้องศึกษา และปฏิบัติตามให้รู้ความจริงนี้สักวันหนึ่งให้จงได้
นี้เป็นความตั้งใจจริงของพระเถระที่เป็นชาวเมืองแปดริ้วโดยกําเนิด
ท่านมีนามเดิมว่า นายไข่ จันทร์สัมฤทธิ์ เกิดที่ตําบลท่าไข่ อําเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๒ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๕ ค่ํา เดือน ๗ ปีมะแม (สมัยรัชกาลที่ ๔)
บิดาชื่อ นายกล่อม มารดา ชื่อ นางบัว มีอาชีพทํานาและค้าขาย
เมื่อเจริญวัยได้มาฝากไว้กับ หลวงพ่อปาน แห่งวัดโสธรฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ต่อมา หลวงพ่อปาน ได้ทําการบวชเณรให้ และอยู่ประพฤติปฏิบัติ ณ วัดโสธร นั้นเรื่อยมา
ชีวิตสามเณรน้อยน่าสงสารยิ่งนัก อยู่ไม่นานหลวงพ่อปานมรณภาพ จึงต้องเดินทางไปอยู่ จําพรรษากับ ท่านหลวงพ่อจวง ที่เมืองชลบุรี
อยู่ไป ๆ พระอาจารย์จวงของ ท่านก็มรณภาพอีก เลยต้องระหกระเหินไปไกลถึงจังหวัดสมุทรสงคราม
ณ แห่งนี้ ท่านได้อุปสมบท โดยความเมตตาสงเคราะห์จาก หลวงพ่อเอี่ยม แห่งวัดลัดด่าน
และได้ไปศึกษาวิชากรรมฐานกับครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียง โด่งดังมากมายหลายองค์ดัง เช่น อาจารย์ภู วัดบางกะพ้อม อาจารย์เนตร วัดบ้านแหลม
จากนั้น ท่านหลวงปู่ไข่ ได้เดินธุดงค์ไปยังป่าเขาเถื่อนถ้ําต่าง ๆ จนถึงแขวงเมืองกาญจนบุรี ได้ไปพบพระภิกษุชาวรามัญที่มี ความเคร่งครัดพระธรรมวินัย และ มีปฏิปทาน่าบูชาเข้า เลยขอถวายตัวอยู่เป็นศิษย์
ต่อมาได้ทราบกิตติคุณของ พระกรรมฐานอีกรูปหนึ่ง อยู่แขวงเมืองราชบุรี หลวงปู่ไข่จึงเดินธุดงค์ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติธรรมด้วย
และหลวงปู่ไข่ ก็สรรเสริญพระอาจารย์รูปนี้ว่า “อาจารย์รูปนี้ท่านไม่ระบุนาม แต่ท่านมีความเก่งกล้าสามารถมาก มีความชํานาญหลักปฏิบัติสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน
ทั้งยังมีความรู้รอบแตกฉาน ในพระธรรมวินัยโดยที่ท่านไม่เคยศึกษามาก่อนเลย จึงมองเห็นความสําคัญ ในพระกรรมฐานว่า ทําบุคคลให้เกิดปัญญาจริง
หลวงปู่ไข่ อินทสโร ท่านปฏิบัติธรรมเพื่อความถึงพร้อมแห่งชีวิต มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา พิจารณาด้วยเหตุผลของธรรมะ
ชีวิตพระธุดงค์ที่ได้ออกจาก ถิ่นกําเนิดเที่ยววิเวกไปท่ามกลางป่าดง จนพบกับความสงบสุข และแสงแห่งพระสัทธรรมรวมเวลา ๑๕ ปีเต็มนั้น
หลวงปู่ไข่ท่านรําพึงว่า
“เป็นความภาคภูมิและคุ้มค่าที่สุด ต้องขอขอบใจเจ้ากรรมนายเวร ที่ไม่ดึงถ่วงเอาไว้ ขออานิสงส์แห่งการปฏิบัติ จงบังเกิดวิมุตติสุขแก่เจ้า กรรมนายเวรทุกๆ ชาติไป และผลแห่งธรรมนั้น ขอเจ้ากรรมนายเวรจงงดโทษล่วงเกิน นั้นด้วยเถิด”
หลวงปู่ไข่ อินทสโร ท่านเป็นพระผู้มีความมานะพากเพียร เป็นเลิศ มีการปฏิบัติบูชาด้วยจิตใจ ศรัทธามุ่งมั่น
แม้ท่านจะอยู่ในขั้นอายุที่ชราภาพมากแล้วก็ตาม ท่านไม่เคยเสื่อมคลายจากการปฏิบัติ เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม
ท่านได้ระลึกถึงชีวิตปฏิบัติ หนหลังก็อยากจะออกเดินธุดงค์อีก แต่ก็ถูกยับยั้งไว้ด้วยจิตใจ เคารพบูชา
ชีวิตสุดท้ายของท่านนั้น หนีไม่พ้นความเจ็บป่วย ท่านมีโรคแทรกซ้อน
ก่อนจะมรณภาพเพียง ๑๕ นาที หลวงปู่ไข่ได้ทําการจุดธูป บูชาพระรัตนตรัย แล้วนั่งสมาธิภาวนา จากนั้นท่านก็มรณภาพใน ลักษณะนั่งสมาธิ รวมอายุได้ ๗๔ ปีบริบูรณ์