วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่ใช่ สุชีโว วัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ใช่ สุชีโว

วัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก)
ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

หลวงปู่ใช่ สุชีโว วัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

หลวงปู่ใช่ สุชีโว “พระอริยเจ้าผู้ทรงคุณจากทิศบูรพาแห่งวัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี” พระครูวิสุทธิสังวร (หลวงปู่ใช่ สุชีโว) เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งที่ทรงปฏิปทาสมแก่คำว่า “พุทธบุตร” อย่างแท้จริง ท่านได้ดำเนินตามปฏิปทาที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางไว้สู่ความหลุดพ้นด้วยความตั้งใจยิ่ง จนสำเร็จประโยชน์ตน แล้วมาเกื้อกูลประโยชน์แก่โลกนี้ต่อไป

ปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับในบรรดาพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหลายรูปด้วยกัน อาทิ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี), พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน), พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) เป็นต้น ตลอดจนเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาสอย่างสนิทใจ

◎ ปฐมบทแห่งตำนานชีวิต
หลวงปู่ใช่ ท่านถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม ณ หมู่ที่ ๑ ต.วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี โยมบิดาและโยมมารดาของท่านคือ นายปุย และนางจาก รอดเงิน อาชีพชาวนา เมื่อเด็กชายใช่เจริญวัยพอสมควร ได้เป็นศิษย์วัดภายใต้การปกครองของพระครูอินทโมฬีสังวร (คำ) วัดหลวง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี พระมหาเถระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนวิชาอาคมและการรักษาโรค ด้านการศึกษา เด็กชายใช่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดหลวงพรหมาวาส อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔

เมื่อเด็กชายใช่อายุได้ ๑๐ กว่าขวบ วันหนึ่งในฤดูร้อน เด็กชายใช่และเพื่อนเด็กวัด ได้พากันเล่นสนุกโดยการเกาะและปีนป่ายรถขนซุงที่กำลังวิ่งช้าๆ อยู่ เล่นบนรถขนซุงจนเบื่อแล้ว ก็ได้พากันไปกระโดดน้ำเล่น ทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ผลที่สุด เด็กๆ เหล่านั้นต่างพากันเป็นไข้ โดยเด็กชายใช่และเพื่อนอีกคนหนึ่งมีอาการหนักมาก

ต่อมาได้มีเด็กเสียชีวิตไปสองคน เด็กคนอื่นๆ อาการดีขึ้น เหลือแต่เด็กชายใช่ ที่ต้องทรมานกับแผลพุพองตามร่างกาย เวลากดที่ผิวหนังจะมีเสียงดัง “ฟอดๆ” พร้อมกับมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มออกมา ไม่สามารถสวมเสื้อผ้าได้ ต้องนอนบนใบตอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) ได้ตรวจดูอาการและจัดการผูกดวงให้แล้ว ท่านได้บอกกับนายปุยและนางจากว่า “มันไม่ตายหรอก” แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามคำกล่าวของท่าน อีกไม่กี่วันต่อมา อาการของเด็กชายใช่ก็ทุเลาลงและหายป่วยในที่สุด

ในภายหลัง หลวงพ่อท่านได้ดำริสร้างวิหารถวายท่านพระครูอินทโมฬีศรีสังวร (คำ) และได้สร้างเสร็จก่อนที่หลวงพ่อจะมรณภาพ อันเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเครื่องหมายของคนดีทั้งหลาย กาลเวลาผ่านไป เด็กชายใช่ได้เติบใหญ่เป็นนายใช่ ผู้มีอุปนิสัยใจนักเลง รักความยุติธรรม ไม่รังแกหรือทำร้ายใครก่อน ทั้งยังช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่โดนนักเลงคนอื่นรังแกโดยไม่หวั่นเกรงอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น

ในช่วงวัยหนุ่มนี้ นายใช่ได้ประสบกับสัจธรรมแห่งความทุกข์ อันได้แก่ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ และปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ เรื่องความพลัดพรากนั้น ได้เข้ามาในปี พ.ศ.๒๔๗๙ เมื่อนายใช่อายุได้ ๑๗ ปี ในวันหนึ่งขณะที่กำลังไถนาที่กลางทุ่งตามปกติ ญาติได้มาตามตัวกลับบ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมแจ้งข่าวการสิ้นใจของมารดาให้ทราบ

หลวงพ่อได้เล่าถึงตอนนั้นให้ฟังว่า… “โยมแม่เขาป่วยมาหลายวัน ก่อนที่จะป่วยก็ออกไปนาตามปกติ วันหนึ่งขณะที่นั่งพักกินข้าวกลางวัน ได้เกิดลมหมุนที่เขาเรียกว่า ลมงวงช้าง ลมนั้นหอบเอาขนำนาหลังหนึ่งขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศ โยมแม่ขณะนั้นอยู่คนเดียว พอเห็นเข้าก็ตกใจกลัว แต่นั้นมาก็ได้จับไข้และเสียชีวิตในที่สุด ตอนที่ญาติเขาไปตาม ผมยังไถนาอยู่เลย”

ในเรื่องการไม่ได้สิ่งที่ปรารถนานั้น นายใช่ในวัยหนุ่มได้มีความรักกับสาวชาวจีนซึ่งปลูกผักอยู่แถวบ้าน แต่ถูกพ่อแม่ฝ่ายหญิงกีดกั้น ถึงกระนั้นนายใช่ก็ไม่ย่อท้อ ได้อาศัยเพื่อนหญิงของสาวคนนั้นทำหน้าที่เป็นแม่สื่อ

ในเย็นวันหนึ่ง เพื่อนฝ่ายหญิงได้นำจดหมายมาให้ เนื้อความในจดหมายฉบับนั้น เป็นการนัดแนะของฝ่ายหญิงให้หนีตามไปในตอนเช้าวันนั้น โดยให้ไปเจอกันที่ท่ารถและต่อเข้ากรุงเทพฯ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้จึงไม่ทันการและไม่สามารถจะทำอะไรได้ ได้แต่เสียใจ หลวงพ่อสรุปเหตุการณ์ตอนนี้ว่า… “โบราณท่านว่า พ่อสื่อแม่ชัก วัวพันหลัก ทำไปทำมาแม่สื่อก็มาชอบเรา เรื่องก็เลยไปกันใหญ่ สงสารแต่ผู้หญิงคนนั้น ต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ คนเดียว ข่าวว่าไปพักอยู่กับญาติ ๒-๓ วันจึงกลับมา แต่นั่นก็ไม่ได้ติดต่อกันอีก นี่แหละเรื่องของโลก”

◎ การออกบวช
หลังเสร็จจากการเกณฑ์ทหาร นายใช่ได้อุปสมบท เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ตรงกับวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์ อ.เมือง จ.ชลบุรี โดยมี พระครูสุนทรธรรมรส วัดอ่างศิลา จ.ชลบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการบุญมา วัดอุทยานนที จ.ชลบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการบุญยอด วัดโพธิ์ จ.ชลบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังการอุปสมบท พระใช่ได้อยู่ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์ยอดที่วัดโพธิ์ ท่านได้ใส่ใจอบรมพระใช่เป็นอย่างดียิ่ง ตัวพระใช่เองก็มีความใคร่ต่อการศึกษา ว่านอนสอนง่าย เมื่อพระอาจารย์ยอดสั่งให้พระใช่ท่องมนต์บทไหน พระใช่ก็จะรีบท่องทันที ทั้งยังเป็นผู้ยินดีรับฟังข้อตำหนิและรับแก้ไข ทำให้พระใช่เป็นที่รักใคร่ของพระอาจารย์ยอดและเพื่อนบรรพชิตด้วยกัน หลวงพ่อได้เล่าถึงการเรียนพระปริยัติธรรมของท่านไว้ว่า

“…บวชแล้วก็เรียน เรียนจนเกือบประสาทเป็นบ้า จิตมันรุนแรงไป ทำอะไรมันรุนแรง นิสัยเอาจริง เรียนนักธรรมโทคู่กับบาลี เรียนชวเลขด้วย เอาทุกอย่างไม่ให้ว่างเลย ชอบทำอะไรไม่ให้ว่าง วันไหนเห็นพระเพื่อนต่างจังหวัดมาหานี่ ใจหายวาบเลย กลัวไม่ได้ดูหนังสือ นี่มันถึงขนาดนั้น แล้วต้องทำเป็นใจดีต้อนรับ ถ้าพูดอย่างนั้นจะสะเทือนใจเพื่อนใช่ไหม นี่ความรู้สึกถึงขนาดนั้น ถ้ารู้ว่าเพื่อนค้างคืนก็ตายแล้ว แสดงไม่ออก บอกไม่ได้ เสียเพื่อนหมด ตายแล้วคืนนี้ไม่ได้ดูอีก มันถึงขนาดนั้น ค้นคว้ามากมีประโยชน์เยอะ เป็นประโยชน์กับพวกเรา ค้นคว้าพระไตรปิฎกตั้งแต่ยังอยู่ในเมือง สมัยนั้นยังเป็นใบลาน ยังไม่มีเป็นเล่ม”

การใช้ชีวิตพระวัดบ้านนั้น พระใช่ต้องผจญกับมารในรูปของอารมณ์ทั้งความรักและความโกรธ แต่ท่านก็สามารถผ่านมาได้ด้วยดี ดังนี้

๑) ครั้งหนึ่ง พระใช่ได้ไปอยู่ที่วัดอ่างศิลา ซึ่งเป็นวัดของพระอุปัชฌาย์ วันหนึ่งได้ยินหนุ่ม ๒ คน คุยกัน คนหนึ่งบอกว่ากำลังไปจีบสาวคนหนึ่งที่อำเภอพนัสนิคม มีอาชีพอย่างนั้นๆ รูปร่างอย่างนั้นๆ ท่านนึกสังหรณ์ใจว่าจะเป็นแฟนเก่าหรือเปล่า อยู่มาวันหนึ่งขณะที่อยู่ในวัด ท่านได้เห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินขึ้นมาจากโรงโป๊ะ เมื่อเห็นก็จำได้ทันทีว่า เป็นแฟนเก่านั้นเอง ท่านเล่าว่า ท่านรีบหลบทันทีเลย ไม่รู้ว่าเขาจะทันเห็นท่านหรือเปล่า ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย

๒) ในระหว่างที่อยู่วัดโพธิ์นั้น เวลาพระฉันอาหาร จะฉันรวมกันเป็นหมู่ โดยมีจานอาหารอยู่ตรงกลาง พระที่ร่วมวงฉันกับท่านมีอยู่รูปหนึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่ง เกิดแผลพุพองทั่วร่าง ท่านมีความรังเกียจเป็นอย่างมาก เมื่อพระรูปนั้นตักอาหารอย่างใด ท่านจะไม่ฉันอาหารนั้นเลย ดังนั้น ท่านจึงต้องรีบตักอาหารให้เพียงพอก่อนที่พระรูปนั้นจะตัก จึงทำให้พระรูปนั้นขุ่นเคืองใจ

วันหนึ่ง เมื่อตั้งวงฉันอาหาร พระรูปนั้นจึงถ่มน้ำลายลงในอาหารทุกจาน ทำให้ท่านฉันไม่ได้ ท่านโกรธมาก เดินเข้าไปในกุฏิหยิบมีดขึ้นมาเล่มหนึ่ง กะว่าจะเอาไปแทงพระรูปนั้นให้หายโกรธ แต่ท่านก็พยายามระงับความโกรธอย่างที่สุด ได้นอนคลุมโปง ตัวสั่นเทา ท่านว่าสั่นขนาดกุฎิแทบไหว ได้มีพระรูปหนึ่งนำเรื่องไปกราบเรียนถวายพระอาจารย์ยอด พระอาจารย์ยอดได้เรียกท่านไปอบรมด้วยกุศโลบายอันเยือกเย็น จนท่านคลายโกรธลงไปได้บ้าง ท่านว่า ถ้าไม่ได้พระอาจารย์ยอดแล้ว ท่านคงจะกลายเป็นฆาตกรแน่ๆ เพราะนิสัยของท่านเป็นคนไม่ยอมใคร ไม่กลัวใครง่ายๆ อยู่แล้ว

เมื่ออาการอาพาธจากโรคเครียดทุเลาลง พระใช่ได้พยายามศึกษาวิธีปฏิบัติพระกรรมฐานอย่างจริงจัง ต่อมาท่านได้ออกเดินธุดงค์กับคณะพระภิกษุจากวัดใกล้เคียงที่คุ้นเคยกันมาก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปหลายวัน พระบางรูปในคณะได้ประพฤติย่อหย่อนจากพระธรรมวินัย พระใช่กับคณะอีกส่วนหนึ่งได้ขอแยกทางออกเดินธุดงค์เพื่อแสดงหาครูบาอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบที่สอนทางตรง

พ.ศ.๒๔๙๐ พระใช่พร้อมคณะได้เดินธุดงค์มุ่งหน้ามาทางอำเภอศรีราชา ได้พักปฏิบัติธรรมและจำพรรษาที่วัดเขาพระบาทบางพระ เป็นเวลาสองพรรษา ที่วัดเขาพระบาทบางพระในสมัยนั้น มีสหธรรมิกร่วมปฏิบัติธรรมกันหลายรูป มีพระเถระอาวุโสเป็นประธานสงฆ์อยู่รูปหนึ่ง รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาผู้ปฏิบัติธรรมรวมอยู่หลายคนด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ได้มีการบูรณะถนนสุขุมวิท ทำให้มีเสียงดังรบกวนความสงบ หลวงพ่อใช่จึงปรารภที่จะหาสถานที่ปฏิบัติใหม่ ระหว่างที่ซ่อมถนน ได้มีญาติโยมชวนหลวงพ่อไปดูสถานที่บริเวณหุบเขาฉลาก หลวงพ่อพร้อมด้วยพระอาจารย์เช้า จนฺทสีโล , พระอาจารย์ชอบ สตฺตธโน (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแตน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี) และญาติโยมอีก ๕-๖ คน ได้ไปดูสถานที่ ท่านมีความพอใจในความวิเวกเหมาะแก่การภาวนาของหุบเขาฉลากเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่ใช่ สุชีโว วัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

◎ สร้างวัดเขาฉลาก
ความเป็นอยู่ในยุคแรก สภาพโดยทั่วไปของเขาฉลากในอดีตนั้นเป็นป่าใหญ่ เชื่อมติดถึงป่าเขาเขียว ความสมบูรณ์ของป่าไม้และสัตว์ยังมีอยู่มาก ฤดูหนาว อากาศหนาวจัด ฤดูฝน ฝนตกชุก และรู้สึกจะเป็นฤดูที่ยาวนานที่สุด เวลาออกไปบิณฑบาตก็เปียกปอนแทบทุกวัน ทางที่ใช้เดินนั้นเป็นทางเล็กๆ พอเดินได้คนเดียว เวลาฝนตกน้ำจะไหลชะไปตามทางทำให้การเดินทางลำบากยิ่งขึ้น บ่อยครั้งที่พระต้องเดินลุยโคลนทำให้บริขารจีวรเปรอเปื้อนไปด้วย นับเป็นฤดูที่สาหัสเอาการ ทั้งงูก็ชุกชุมในฤดูนี้

ความเป็นอยู่ที่เขาฉลากในยุคแรกลำบากมาก ขาดแคลนปัจจัยสี่ และน้ำสรงน้ำใช้ หลวงพ่อและคณะต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง ๒ กิโลเมตรเศษ ขากลับก็ช่วยกันหิ้วน้ำกลับมาคนละถัง พอกลับมาถึงวัดก็เหงื่อโทรมกายเลยทีเดียว จำเป็นต้องอาศัยผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ซึ่งก็พอคลายร้อนได้บ้าง ด้วยความที่เขาฉลากเป็นป่าใหญ่ จึงมีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เสือในถ้ำยอดเขา เก้ง กระจง เม่น เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายหลวงพ่อ ทั้งนี้เป็นไปตามพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

หลวงพ่อเคยเล่าว่า เมื่อท่านมาปลูกกระต๊อบหลังเล็กๆ อยู่ที่เชิงดอยสวรรค์ (ด้านหน้าเขาฉลาก) วันหนึ่งขณะนั่งฉันอาหารอยู่ มีงูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยผ่านมาใกล้ๆ หลวงพ่อจึงโบกมือไล่ไป มันก็ไปโดยดี แต่วันหลังมันก็มาอีก ทำท่าจะขบกัดหลวงพ่อให้ได้ แต่ก็ทำอะไรท่านไม่ได้สักที จนมันเลิกและหายไป หลวงพ่อจึงบอกว่า นี่แหละความโกรธของงูเห่า แค่โบกมือไล่ มันก็โกรธแล้ว ดังนั้นถ้าเห็นงูเห่าให้ทำเฉยๆ อย่าเอะอะหรือทำท่าอะไร

◎ นำหลักคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มาเป็นครูเป็นอาจารย์
หลังออกพรรษา เข้าฤดูแล้วในปี พ.ศ.๒๔๙๒ เนื่องจากหลวงพ่อได้ยินกิตติศัพท์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต มานานแล้ว ท่านจึงตั้งใจจะเดินทางไปฝากตัวศึกษาปฏิบัติธรรมด้วย ในระหว่างที่จัดแจงเตรียมตัวจะเดินทางพร้อมญาติโยม ท่านก็ได้ข่าวการมรณภาพของหลวงปู่มั่นเสียก่อน จึงเป็นอันไม่ได้เดินทางไป

ภายหลังท่านได้รับหนังสือมุตโตทัย บันทึกพระธรรมเทศนาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยท่านเจ้าคุณวิริยังค์ เมื่อท่านอ่านจบลงก็เกิดปิติเป็นอย่างมาก ที่หลักธรรมขององค์หลวงปู่ตรงกับหลักธรรมที่ท่านรู้จากการปฏิบัติ ท่านได้ห่มจีวรและก้มลงกราบหนังสืออันเป็นสมมุติแทนองค์หลวงปู่ พร้อมกับขอมอบถวายตัวเป็นลูกศิษย์อีกด้วย

ในคืนนั้นเองท่านได้ฝันว่า หลวงปู่มั่นกำลังเดินบิณฑบาตบริเวณหมู่บ้านชายเขาฉลาก มีอุบาสกตามหลังมาหนึ่งคน พร้อมกับอีกเส้นทางที่ขนานกัน ก็เป็นหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี กำลังบิณฑบาตและมีอุบาสกตามหลังหนึ่งคนด้วยเช่นกัน ในระหว่างที่บิณฑบาตอยู่ หลวงปู่มั่นได้บอกโยมที่ใส่บาตรว่า พรรษานี้ท่านจะมาจำพรรษาที่เขาฉลาก

สำหรับเสือนั้น ที่เขาฉลากมีเสืออยู่ตัวหนึ่ง พอเวลาพลบค่ำ เสือตัวนี้จะร้องกระหึ่มไปทั่วเขา และจะเดินไปหากินถึงเขาเขียว สมัยก่อนบริเวณนี้มีบ่อน้ำพุร้อน (ปัจจุบันจมใต้อ่างเก็บน้ำบางพระ) ชาวบ้านจะมาอาบน้ำพุร้อนกันเป็นประจำ ถ้าเกิดกลับออกมาไม่ทันมืด ก็ต้องค้างคืนที่ศาลาซึ่งมีเสาสูงมากเพื่อให้พ้นระยะเสือกระโดด

วันหนึ่ง ขณะที่หลวงพ่อปักกลดบริเวณใกล้กับกุฏิหลวงพ่อในปัจจุบัน ท่านทำสมาธิได้ดีตลอดวัน เมื่อค่ำลงสวดมนต์ก็เป็นสมาธิดีมากผิดจากวันก่อนๆ พอสมควรแก่เวลา หลวงพ่อก็จำวัดในกลด จนรุ่งเช้า ออกจากกลดก็เห็นรอยตะกุยดินของเสือเข้าใส่กลดหลวงพ่อ ท่านบอกว่านั้นแสดงว่ามันพยายามจะกินท่านให้ได้ เมื่อมันเอาไม่ได้ มันจึงตะกุยดินเข้าใส่ แล้วผละไปในที่สุด ต่อมา ชาวบ้านที่ปลูกแตงบริเวณเขาฉลาก ได้มาดูแลสวนตามปกติ เผอิญขณะที่เดินมาตามทางแคบๆ นั้น ก็ได้ประจันหน้ากับเสือ ไม่สามารถจะหลบหนีไปไหนได้ จึงยกปืนขึ้นยิงทันที ตำนานเจ้าป่าที่อยู่คู่เขาฉลากจึงจบลงไป

◎ ติดความว่าง
มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงพ่อทำความเพียรภาวนา แล้วไปติดอยู่กับความว่าง ท่านว่าจะพิจารณาภายในส่วนไหนก็ไม่ได้ มีแต่ความว่าง ท่านติดอยู่เป็นแรมเดือน จะหาอุบายแก้ไขอย่างไรก็ไม่ตก เป็นจังหวะพอดีกับที่ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ได้เดินธุดงค์ผ่านมาและแวะที่เขาฉลาก

พอหลวงพ่อทราบข่าว ท่านก็ต้อนรับบริเวณที่เป็นศาลาฉันบิณฑบาตหลังเดิม จากนั้นได้อาราธนาหลวงปู่กงมาแสดงธรรม เนื่องจากตอนนั้นท่านเข้าใจว่าหลวงปู่กงมามีพรรษามากกว่า แต่หลวงปู่กงมาท่านชี้ไปที่หลวงปู่ฝั้น

หลวงพ่อจึงหันกลับไปเรียนถามหลวงปู่ฝั้นให้ท่านช่วยแสดงธรรมแก้ปัญหาที่หลวงพ่อท่านติดอยู่ หลวงปู่ฝั้นได้แสดงธรรมอยู่ ๒-๓ กัณฑ์ ให้หลวงพ่อลองกำหนดพิจารณาดู หลวงพ่อว่ายังไม่ถูกจุด คือ แก้ปัญหาไม่ตก และในกัณฑ์ที่ ๕ หลวงปู่ฝั้นให้อุบายธรรมว่า “ถามหาผู้รู้ดู” พอหลวงพ่อนำมากำหนดก็สามารถแก้ปัญหาหลุดได้ ในขณะที่หลวงปู่ฝั้นกับหลวงพ่อสนทนาธรรมกันอยู่นั้น หลวงปู่กงมาได้เข้าที่ภาวนา (บริเวณฝาปิดถังน้ำซีเมนต์ในปัจจุบัน) อยู่ครู่หนึ่งไปพร้อมๆ กันด้วย

ภายหลังหลวงพ่อทราบข่าวจากญาติโยมที่มากราบคารวะท่านว่า หลวงปู่กงมาได้แนะนำให้มา และพูดว่าเขาฉลากสถานที่ดี มีความสัปปายะ ในกาลต่อมา ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร ได้แวะพักที่เขาฉลาก พร้อมทั้งกราบเรียนหลวงพ่อว่า รู้จักที่นี่เพราะหลวงปู่กงมาซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่าน ได้เคยสั่งไว้ว่า ถ้าลงมาธุระแถวภาคกลาง ตะวันออก ก็ให้มาพักที่นี่ได้

◎ ศึกษาธรรมกับหลวงพ่อสาลี
ในช่วงแรกๆ ของการตั้งวัดเขาฉลาก หลวงพ่อได้ศึกษาข้อปฏิบัติเพิ่มเติมจาก พระครูพรหมสมาจาร (หลวงพ่อสาลี ธมฺมสโร) วัดเขาวัง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี หลวงพ่อได้เล่าถึงการเจอกับหลวงพ่อสาลีครั้งแรกไว้ว่า

“ที่อ่างศิลา ท่านเที่ยวธุดงค์มา ผมไปพบท่านที่อ่างศิลา (บริเวณวัดโกมุทรัตนารามในปัจจุบัน) เรื่องราวยาวยืด ผมปรารถนากับท่านองค์นี้ว่าผมจะขอเป็นลูกศิษย์ท่าน พบท่านตั้งแต่สมัยผมอยู่ในเมือง นั่งรถจะไปกรุงเทพฯ ท่านมาจากอ่างศิลา จะกลับเขาวัง พอดีท่านนั่งรถคันเดียวกับผม ผมก็จับตามองเรื่อย ท่านนั่งข้างๆ ผมก็นั่งข้างๆ จับตาดู แหม น่าเลื่อมใส บุคลิกก็ดี อัธยาศัยความสำรวมระวังของท่านเงียบ

ผมก็เลื่อมใสท่าน ตั้งปณิธานปรารถนาไว้ว่า ผมจะหาโอกาสมาค้นดูที่กรุงเทพฯ ท่านลงที่ราชประสงค์ ลงรถก็จะจอดฝั่งซ้ายใช่ไหมท่าน ผมไปหาก็เถอะไม่มีทางเจอหรอก ท่านอยู่วัดมะกอกนั้น วัดอภัยทายาราม โรงพยาบาลพระมงกุฎนั้น

ท่านลงตรงสี่แยกราชประสงค์ นั่งรถจากสี่แยกราชประสงค์ไปพญาไท ผมก็กะจะหาแถวนี้ แถวราชประสงค์วัดต่างๆ ถ้าเจอ ผมจะยอมมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากเป็นธรรมยุต ขอมอบตัวเป็นศิษย์ ถ้าหากไม่ยอมจะให้ญัตติ ผมก็จะญัตติถึงขนาดนั้น จิตใจมันเลื่อมใสแล้ว…”

หลวงพ่อสาลีนั้น นอกจากท่านจะเคร่งครัดในพระวินัยอย่างหาที่ติไม่ได้แล้ว ปฏิปทาในด้านต่างๆ เช่น การต้อนรับแขก การแสดงธรรม การตัดสินปัญหา และการบริหารหมู่คณะของท่าน ก็ดูงดงามเปี่ยมด้วยลักษณะของบัณฑิต ทั้งท่านเป็นพระที่พูดน้อย พูดเฉพาะถ้อยคำที่เป็นอรรถเป็นธรรมจริงๆ

การอยู่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อสาลี ทำให้หลวงพ่อได้รับความรู้ความเห็น ทั้งในด้านพระธรรมวินัยและสติปัญญาเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับหลวงพ่อเป็นผู้มีความอ่อนน้อมและมุ่งมั่นต่อการประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริง ทำให้ท่านได้รับความรักใคร่และสนับสนุนจากจากหลวงพ่อสาลีอย่างเต็มที่

ขณะที่อยู่เขาวัง ท่านได้มีโอกาสติดตามหลวงพ่อสาลีไปในที่ต่างๆ อยู่เสมอ ครั้งหนึ่งท่านได้ติดตามหลวงพ่อสาลีไปที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีบ่อน้ำลึกมากที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้

วันหนึ่ง เด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นน้องชายของพระในวัด ได้วิ่งพลาดตกลงไปในบ่อร้างนั้น พวกเด็กๆ จึงไปบอกพระพี่ชายของเด็กนั้น พอพระพี่ชายมาเห็นน้องชายชักดิ้นชักงออยู่ก้นบ่อ ท่านก็กระโดดลงไปในบ่อ หวังช่วยน้องชาย แต่กว่าพระเณรและชาวบ้านจะช่วยกันนำร่างขึ้นจากบ่อได้ ทั้งสองก็ได้สิ้นชีวิตเสียแล้ว

“ก็บ่อลึกอย่างนั้น จะเอาอากาศที่ไหนเล่ามาหายใจ” หลวงพ่อสาลีเล่าเรื่องจบพร้อมกับหันมาพูดกับหลวงพ่อว่า “นี่แหละ คนโง่เขารักกันอย่างนี้”

นอกจากนี้ ในบางครั้ง หลวงพ่อสาลีได้เดินทางมาพักที่เขาฉลากเป็นเวลาหลายวัน และหลวงพ่อก็ได้ไปมาหาสู่หลวงพ่อสาลีมิได้ขาด แม้ภายหลังหลวงพ่อสาลีท่านได้มรณภาพไปแล้ว แต่ท่านก็จะไปกราบทำวัตรอยู่เป็นประจำทุกปี หลวงพ่อเรียกขานนามหลวงพ่อสาลีด้วยความเคารพว่า “หลวงพ่อใหญ่เขาวัง”

◎ อุบายธรรมจากส้วมหลุม
ในสมัยก่อนห้องน้ำยังเป็นส้วมหลุมอยู่ ท่านได้จำภาพในส้วมนั้น และค่อยประคองกำหนดนั่งภาวนาในกุฏิ โดยกำหนดให้ตัวหนอนที่จำมาวางไว้บนมือ แล้วให้ค่อยๆ กินขาทีละข้าง พอกินไปหมดข้างหนึ่งเหลือแต่กระดูก ก็ย้ายตัวหนอนให้มากินขาอีกข้างหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็กำหนดจิตขาข้างที่เหลือแต่กระดูกไว้ควบคู่กันไปด้วย

พอกินได้สักครึ่งแข้ง จิตก็รวมตัวเกิดเป็นภาวะทัสสนะทางใจ ทีนี้ทั้งได้เห็นและได้ยินเสียง จากหนอนตัวเล็กที่ท่านได้กำหนดไว้เดิม ปรากฏในนิมิตตัวใหญ่ขึ้น กำลังกินตับไตไส้พุง เสียงดุบซุบๆ ซิบๆ และกำลังคลานขึ้นมากินหัวใจซึ่งกำลังเต้นตุบๆ ท่านว่าในขณะนั้นรู้สึกขยะแขยงเป็นที่สุด ถึงขนาดต้องเอามือกดขาที่นั่ง คล้ายกับจะผละออกวิ่งหนีเสียให้ได้ จนแล้วจนรอด ท่านต้องถอนออกจากสมาธิ เพราะทนไม่ได้ ในภายหลังท่านได้บอกเป็นที่เฉพาะว่า ถ้าขณะนั้นสามารถทนพิจารณาและผ่านไปได้ ก็สามารถบรรลุขั้นพระอนาคามี เพราะคุณธรรมในขั้นนี้สามารถละตัวราคะและปฏิฆะได้เด็ดขาด

◎ ปฏิบัติธรรม ณ เกาะสีชัง
หลวงพ่อได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมบนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานปฏิบัติอย่างเข้มงวดเป็นเวลาหนึ่งเดือน แต่พอล่วงไปได้ยี่สิบกว่าวัน ก็เกิดความฟุ้งซ่านในจิตเป็นอันมากในขณะเดินจงกรมอยู่ จนเกือบจะยอมเสียสัจจอธิษฐาน เลิกล้มความตั้งใจในการปฏิบัติขณะนั้น ท่านได้ออกมาจากที่จงกรม มานั่งห้อยเท้าที่แคร่ แม้ร่างกายท่านจะเลิกปฏิบัติแล้ว แต่จิตใจของท่านที่ได้ผ่านการฝึกฝนมานาน ก็ยังคงทำงานภายในต่อไป

“เมื่อมันฟุ้งจนถึงที่สุด จิตก็มาคิดว่า หลักการปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอะไร จิตตอบว่า สอนให้รู้ตัว พลันก็เกิดปัญญาขึ้นว่า งั้นฟุ้งก็ฟุ้งซิ เมื่อกำหนดรู้เช่นนั้น ที่เคยฟุ้งๆ นั้นดับเลย”

ในที่สุดหลวงพ่อก็จับหลักการปฏิบัติได้ว่า เมื่อฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง คือเอาตัวความคิดฟุ้งซ่านนั้นมาเป็นอารมณ์ เป็นที่ระลึกของสติต่อ ท่านสามารถกลับมาเดินจงกรมต่อ

จากประสบการณ์นี้ หลวงพ่อจะสอนเสมอว่า “ฉะนั้น นักปฏิบัติ อย่าทิ้งตัวรู้ อะไรเกิดขึ้นก็กำหนดรู้เรื่อยไป ชอบก็รู้ว่าชอบ ไม่ชอบก็รู้ว่าไม่ชอบ ฟุ้งก็รู้ว่าฟุ้ง อะไรมาก็ให้กำหนดรู้…” และท่านยังกล่าวอีกว่า นักปฏิบัติเวลาฟุ้งซ่านแล้ว รุนแรงกว่าคนปกติเสียอีก ยิ่งสงบมาก เวลาฟุ้งซ่านก็มากเช่นกัน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เขาก็ไม่มาเกินกำลังของเราไปได้ คือพอสู้ได้

หลังจากเอาชนะความฟุ้งซ่านในครั้งนั้นได้แล้ว หลวงพ่อได้รับความเย็นใจขึ้นมาก การกระทำความเพียรก็ติดต่อ ผลการปฏิบัติก็ก้าวหน้า ภายหลังท่านได้เล่าผลการปฏิบัติให้หลวงพ่อสาลีทราบ หลวงพ่อสาลีได้กล่าวยกย่องว่า “ที่ท่านใช่พิจารณานั้นเป็นอุบายที่แยบคายดี” ทั้งได้แนะนำข้อปฏิบัติต่างๆ อีกพอสมควร

อีกครั้งที่เกาะสีชัง ท่านได้หาอุบายในการภาวนา โดยการส่งจิตออกลงไปใต้ท้องทะเล แล้วยกขึ้น วางลง แล้วดึงจิตกลับมา พร้อมกับทำในใจว่า ไม่เอา (อารมณ์) ใดๆ ทั้งนั้น ไม่ให้มีสิ่งใดติดอยู่ในใจ จนจิตสงบรวมตัว แล้วมีคำถามผุดขึ้นมาว่า “อะไรๆ ก็ไม่เอา อย่างนี้จะถูกหรือ” สักพักนึงก็ปรากฏเป็นภาษาบาลีว่า อุปาทานํ ทุกฺขํ โลเก ท่านแปลว่า ความเข้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วไม่มีทุกข์ ไม่มีในโลก

◎ ใต้ร่มเงาแห่งธรรม ณ วัดป่าบ้านตาด
หลวงพ่อใช่ ท่านได้พบกับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นครั้งแรกที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ องค์หลวงตาได้ทักหลวงพ่อว่า “สีจีวรท่านเหมือนพ่อแม่ครูจารย์มั่นเลย” หลวงพ่อได้กราบเรียนว่า จำสีจีวรหลวงปู่มั่นมาจากความฝัน และได้เล่าเรื่องที่ท่านเคยฝันเห็นหลวงปู่มั่นให้องค์หลวงตาฟัง

องค์หลวงตาท่านจึงว่า “นี่แสดงว่าท่านมีนิสัยกับองค์ท่านอยู่ จึงได้มีนิมิตให้เห็นอย่างนั้น” แล้วองค์หลวงตาได้ซักถามประวัติหลวงพ่อต่อไป

“ใครเป็นอาจารย์กัมมัฏฐานของท่าน”

“อาจารย์ถวิล ขอรับ”

“อาจารย์ถวิลเป็นลูกศิษย์ใคร”

“อาจารย์เกิ่ง ขอรับ”

“อาจารย์เกิ่งเป็นคนจังหวัดอะไร”

“จังหวัดสกลนครขอรับ”

พอถามเท่านี้ องค์หลวงตาก็รู้ว่าเป็น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ศิษย์รุ่นอาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

ต่อมาท่านได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับองค์หลวงตาที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งในช่วงนั้นมีครูบาอาจารย์อยู่ที่นั้นมาก รวมทั้ง พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร เนื่องจากในสายปฏิบัติมีกฎอยู่ข้อหนึ่งว่า ถ้าพระอาคันตุกะมาขออยู่ด้วย หากยังไม่คุ้นเคยในข้อวัตรปฏิบัติของกันและกันแล้ว แม้พระอาคันตุกะจะมีพรรษามากก็ตาม ต้องนั่งต่อท้ายพระผู้มีพรรษาน้อยที่สุดในสำนักนั้น จนกว่าครูบาอาจารย์เห็นสมควร จึงนั่งตามลำดับพรรษาได้ ดังนั้น ในช่วงแรกหลวงพ่อได้ถูกจัดให้นั่งอาสนะสุดท้ายเพื่อศึกษาข้อปฏิบัติก่อน

หลังจากที่หลวงพ่อได้มีโอกาสสนทนาธรรมและรับอุบายจากองค์หลวงตา วันรุ่งขึ้น พระลูกวัดก็มาจัดบาตรและอาสนะของหลวงพ่อให้นั่งติดกับองค์หลวงตา เป็นรูปที่สองรองจากองค์หลวงตาตามลำดับพรรษา หลวงพ่อบอกกับพระรูปนั้นว่า ให้ท่านนั่งที่เก่าก็ดีอยู่แล้ว พระรูปนั้นได้ตอบไปว่า ทำตามคำสั่งขององค์หลวงตา นับเป็นความเมตตาอย่างยิ่งขององค์หลวงตา แม้ในภายหลัง หลวงพ่อมักกล่าวสรรเสริญองค์หลวงตาให้คณะศิษย์ฟังเสมอ

ครั้นได้อยู่ศึกษาธรรมและข้อปฏิบัติจากองค์หลวงตาเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้กราบลาองค์หลวงตากลับชลบุรี พร้อมกันนั้นได้นิมนต์องค์หลวงตาแวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก ซึ่งท่านรับที่จะมา หากได้โอกาสอันเหมาะสม และในกาลต่อมา องค์หลวงตาได้เมตตาแวะมาเยี่ยมวัดเขาฉลาก ตามคำนิมนต์ ยังความปิติแก่หลวงพ่อและคณะวัดเขาฉลากยิ่งนัก

◎ สายสัมพันธ์หนองป่าพง
ช่วงบ่ายวันหนึ่ง หลวงพ่อชา สุภทฺโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้มากิจธุระทางจังหวัดชลบุรี และได้แวะเยี่ยมวัดเขาฉลาก หลังจากทักทายปราศรัยกันแล้ว จึงได้ทราบว่า หลวงพ่อชาอายุมากกว่าหลวงพ่อหนึ่งปี ด้านพรรษาก็ต่างกันหนึ่งพรรษาเช่นกัน

หลวงปู่ใช่ สุชีโว และ หลวงปู่ชา สุภัทโท

ช่วงหนึ่งของการสนทนา หลวงพ่อชาได้ถามหลวงพ่อว่า ศึกษาด้านข้อปฏิบัติและพระธรรมวินัยจากสำนักไหน หลวงพ่อได้ตอบว่า ศึกษามาจากหลวงพ่อสาลี วัดเขาวัง จ.ราชบุรี ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่เภา วัดเขาวงกฎ จ.ลพบุรี หลวงพ่อชายิ้มและอุทานว่า “งั้นเราก็เค้าเดียวกัน ผมก็ศึกษามาจากวัดเขาวงกฎเหมือนกัน”

หลวงพ่อได้เล่าเกี่ยวกับหลวงพ่อชาไว้ตอนหนึ่งว่า “…เป็นวาสนาของเรากับหลวงพ่อชา เกิดจากต้นตอเดียวกัน สำนักปฏิบัติสายหลวงพ่อเภาเหมือนกัน เราก็เลยสบาย อาจารย์ทวีจะให้ผมไปเป็นสาขา ไปช่วยติดต่อหลวงพ่อชาให้รับเขาฉลากเป็นสาขา พอท่านทราบจากผมว่า ผมเป็นลูกศิษย์สายหลวงปู่เภา ท่านว่าไม่ได้ ให้เป็นสาขาไม่ได้ ต้องร่วมกัน ท่านว่าอย่างนี้ มันระดับเดียวกัน…” จากสายสัมพันธ์ครูบาอาจารย์ พระเณรทั้งสองสำนักจึงมีการไปมาหาสู่ ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติร่วมกัน

◎ สุปฏิปันโนแห่งหุบเขาฉลาก
กาลเวลาที่ผ่านมาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของหลวงพ่อ แม้ว่าจะลำบากสักเพียงใด ท่านก็ยังมั่นคงในข้อวัตรปฏิบัติเสมอมา กระทั่งในช่วงวัยชรา หากท่านไม่ติดธุระที่จำเป็นหรือเจ็บป่วยจริงๆ ท่านจะเดินบิณฑบาตโปรดญาติโยมทุกเช้า ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ท่านเคยอบรมเสมอว่า “การบิณฑบาตนั้น เป็นนิสัยของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระอริยเจ้าทั้งหลาย ฉะนั้น พวกเราที่เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยของพระองค์ท่าน ต้องดำเนินตามนิสัยของท่าน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องจริงๆ”

◎ งานด้านการปกครองคณะสงฆ์และสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๐๘ รักษาการเจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน
พ.ศ.๒๕๐๙ เจ้าอาวาสวัดปาลิไลยวัน
พ.ศ.๒๕๒๒ เจ้าคณะตำบลบางพระ
พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.๒๕๒๕ หลวงปู่ใช่ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิสังวร ฝ่ายวิปัสสนา

หลวงพ่อใช่ สุชีโว เป็นพระที่สันโดษ ไม่แสวงหาลาภยศสรรเสริญ ได้เคยมีลูกศิษย์บางคนติดตั้งเครื่องปรับอากาศถวายหลวงพ่อ ท่านได้ฉลองศรัทธาเจ้าภาพเพียงคืนเดียว แล้วท่านก็ไม่ใช้อีกเลย ท่านไม่เรี่ยไรใครและไม่อนุญาตให้ตั้งตู้บริจาคภายในวัด ท่านกล่าวว่า ถ้าใครศรัทธาเขาบริจาคเอง กุศลจะเกิดกับตัวเขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ร่างกายนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา สำหรับสุขภาพของหลวงพ่อในช่วงบั้นปลายชีวิต ท่านได้อาพาธหลายโรคด้วยกัน โดยโรคประจำตัวของท่านคือ โรคเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้อักเสบ ท่านเป็นโรคนี้นานมาก และได้เคยปรารภว่าอาการของโรคนี้เป็นวิบากกรรมจากสมัยที่ท่านเป็นเด็ก ได้ร่วมกับเพื่อนเด็กวัด นำข้าวก้นบาตรมาคลุกกับลูกสลอดให้กากิน พอกากินแล้วเกิดอาการถ่ายท้อง ไม่สามารถบินไปไหนได้ ท่านและเพื่อนๆ ได้ตีกาตัวนั้นจนตาย และนำไปให้บึ้งกิน

หลวงปู่ใช่ สุชีโว และ ศิษยานุศิษย์

นอกจากนี้ ท่านยังมีอาการปวดหลัง ความดันโลหิต เบาหวาน โรคหลอดลมอักเสบ ไขมันในโลหิตสูง โรคหัวใจ ท่านต้องเดินทางไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หลวงพ่อใช่ สุชีโว ท่านละสังขารไปด้วยอาการอันสงบในเวลาประมาณ ๐๕.๕๙ น. ของเช้าวันศุกร์ที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ สิริอายุ ๗๖ พรรษา ๕๓

สร้างความอาลัยแก่คณะศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง สมกับที่ท่านเคยบอกพระว่า ผมเป็นอะไรจะไม่ร้องสักแอะเดียว” โดยคำสอนของท่านที่ตราตรึงในจิตใจเสมอ ก็คือ “เยือกเย็นเหมือนดั่งน้ำฝน อดทนเหมือนดั่งผาหิน”

วัดป่าลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

งานพระราชทานเพลิงสรีระสังขารของหลวงพ่อใช่ สุชีโว ตรงกับวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๙ โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เสด็จทรงเป็นองค์ประธาน ณ เมรุชั่วคราว วัดปาลิไลยวัน (วัดเขาฉลาก) ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

แม้ธาตุขันธ์ของหลวงพ่อจะแตกสลายไปตามกฎของธรรมชาติแล้วก็ตาม แต่ความดีทั้งหลายที่ท่านได้กระทำบำเพ็ญไว้ จะยังคงเป็นอนุสรณ์ถึงท่าน และเป็นคติแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป

หลวงปู่ใช่ สุชีโว ได้ศึกษาธรรมและข้อปฏิบัติจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ ขณะเดินธุดงค์มาพักที่วัดเขาฉลาก รวมทั้งได้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงตามหาบัว ที่วัดป่าบ้านตาด ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี ทั้งนี้ หลวงปู่ใช่ยังเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี แลกเปลี่ยนและศึกษาธรรมะกันเรื่อยมา คุณธรรมประการหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของหลวงปู่ใช่ คือ ความเมตตา ทั้งในหมู่ศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไปอย่างทั่วถึงกัน

ลิขิตธรรมหลวงพ่อใช่ สุชีโว
“..พระหลงใหลยศศักดิ์ผิดหลักพระ ต้องมุ่งละทุกข์โทษโลภโกรธหลง
จึงจะชอบระบอบบุตรพุทธองค์ พระถ้าหลงลาภยศก็หมดงาม..”

“..เยือกเย็นเหมือนดั่งน้ำฝน อดทนเหมือนดั่งผาหิน..”

“..ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก มันเหมือนนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ ถึงปลาบอกความจริงว่า อยู่ในน้ำเป็นอย่างไร นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา..”

คัดลอกจาก โครงการหนังสือบูรพาจารย์ วัดป่าอัมพโรปัญญาวนาราม จ.ชลบุรี – วัดป่าดานวิเวก จ.บึงกาฬ เพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทาน

ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน