ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ
วัดเสด็จ
อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ วัดเสด็จ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งลำน้ำแม่กลอง ทั้งยังเป็นพระนักพัฒนาที่มีผลงานเป็นประจักษ์มากมาย ทั้งในส่วนของการพัฒนาวัดวาอาราม ตลอดถึงสถานศึกษาต่างๆ อิทธิคุณความเข้มขลังด้านพุทธาคม เป็นที่เลื่องลือกล่าวขวัญ จากประสบการณ์ในวัตถุมงคลของท่านที่ได้สร้างและปลุกเสก เอาไว้
◉ ชาติภูมิ
พระราชมงคลวุฒาจารย์ (หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ) นามเดิมชื่อ “ใจ ขำสนชัย” ถือกำเนิดเมื่อ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๐๕ ที่ บ้าน ต.บางกุ้ง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
อายุ ๑๕ ปี ครอบครัวอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภูมิลำเนาของบิดา
◉ อุปสมบท
พออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ เข้ารับการอุปสมบท ที่วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา โดยมี พระอุปัชฌาย์จุ้ย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อินฺทสุวณฺโณ”
หลังอุปสมบท หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ ท่านได้อยู่จำพรรษาวัดบางเกาะเทพศักดิ์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย วิปัสสนากัมมัฏฐาน รวมถึงพุทธาคมต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์จุ้ย
ต่อมามีโยมอิ่มกับโยมอ่อน ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่านได้ถวายที่ดินจำนวน ๓ ไร่ ๓ งาน ๙๑ ตารางวา ให้กับ พระสมุห์แพ เจ้าอธิการวัดใหญ่ยายเงิน (วัดราษฎร์บูรณะ) ซึ่งเป็นฐานานุกรมของ พระครูวิมลเกียรติ (เกลี้ยง) วัดบางสะแก เพื่อให้สร้างวัด
ต่อมาพระสมุห์แพป่วยหนัก ไม่สามารถจะดำเนินการให้เป็นไปตามประสงค์ของนางอิ่มได้ จึงได้มอบโฉนดที่ดินแปลงนั้นให้กับขุนศรีโยธามาตย์ภักดีกับหมื่นชำนาญ ให้นำไปให้ทานวัดใดวันหนึ่งเพื่อดำเนินการต่อไป ขุนศรีโยธามาตย์กับหมื่นชำนาญจึงได้นำมามอบให้กับพระอุปัชฌาย์จุ้ยให้ดำเนินการต่อไป
ต่อมามีผู้บริจาคทรัพย์ร่วมอีก พระอุปัชฌาย์จุ้ยจึงได้ซื้อเรือนไม้หนึ่งหลังมาปลูกสร้างเป็นกุฏิ และสร้างวัดในปี ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ พระอุปัชฌาย์จุ้ย ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ พิจารณาเห็นว่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถภูมิปัญญาความรอบรู้ พอที่จะดูแลตัวเอง และหมู่คณะได้เป็นอย่างดี และขณะนั้น วัดใหม่ยายอิ่มเป็นวัดสร้างใหม่ ไร้เจ้าอาวาสปกครองดูแลพัฒนา จึงมอบหมายให้ท่านไปดูแลปกครองในฐานะเจ้าอาวาส พร้อมด้วยพระภิกษุอีก ๔ รูป ในตอนนั้นมีกุฏิอยู่ ๒ หลัง ชื่อว่า “วัดใหม่ยายอิ่ม” และหลวงปู่ใจได้รับการแต่งตั้งจาก พระครูวิมลเกียรติ์ (ป้าน) วัดเมืองใหม่ เจ้าคณะเมืองราชบุรี ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอธิการปกครองวัด
หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ ท่านทุ่มเทสติปัญญา กำลังกาย กำลังใจ สร้างและพัฒนาวัดแห่งนี้ให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ จนเป็นวัดแห่งหนึ่งของสมุทรสงคราม ที่มีความใหญ่โต สวยงาม เป็นหน้าเป็นตาของจังหวัด
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ตามหัวเมืองใหญ่ ได้เสด็จมายังวัดแห่งนี้ ได้ประทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดเสด็จ”
ทรงมีความคุ้นเคยกับวัดเสด็จ และมีเมตตาต่อหลวงปู่ใจ ดังจะเห็นได้จากอุโบสถที่สร้างใหม่นั้น ประทานทุนทรัพย์จ้างช่างหลวง ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างให้
นอกจากนี้ พระบรมวงศานุวงศ์ที่เคย ตามเสด็จ ยังร่วมบริจาคทรัพย์สมทบในการสร้างอุโบสถวัดเสด็จด้วย
หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ เป็นพระเถราจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดเสมอต้นเสมอปลาย พูดน้อย และพูดแต่คำที่เป็นประโยชน์ ไม่ยกตนข่มท่าน และไม่โอ้อวดคุณวิเศษที่มีอยู่ในตัว
ท่านตั้งใจเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ทั้งอักษรไทยและขอมจนแตกฉาน มีความสนใจในด้านวิทยาคมต่างๆ และศึกษาวิชาทางสมาธิจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พระเกจิอาจารย์ชื่อดังกาญจนบุรี
ย้อนกลับไปในสมัยที่หลวงปู่ใจ กำลังสร้างวัดเสด็จ ต้องเดินทางไปที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่บ่อยครั้ง เพื่อไปหาซื้อไม้มาสร้างวัด ท่านขึ้นล่องอยู่หลายปีจึงสร้างวัดได้สำเร็จ และทุกปี จะมาแวะพักที่วัดหนองบัว นำหมากพลูมาถวายหลวงปู่ยิ้ม ซึ่งท่านเคารพหลวงปู่ยิ้มมาก
ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ยิ้มพูดกับท่านว่า ถ้าสนใจในวิทยาคมก็จะถ่ายทอดให้ ท่านจึงรีบขอเป็นศิษย์ หลวงปู่ยิ้มมอบบทเรียนบทแรกว่าด้วยการทดสอบพลังจิต โดยจุดเทียนตั้งไว้ที่ขันน้ำมนต์ แล้วให้เพ่งกระแสจิตไป ที่เทียนให้เทียนขาดกลางให้ได้ ถ้าทำได้เมื่อใดจึงจะมอบวิชาให้
หลวงปู่ใจ ทำอยู่ ๗ คืน เทียนไม่ยอมขาด หลังจากกลับมาพัก จึงตัดสินใจว่าถ้าหาก คืนพรุ่งนี้ เทียนยังไม่ขาดก็จะกลับอัมพวา ปรากฏว่าคืนวันที่ ๘ ท่านทำได้สำเร็จ
หลวงปู่ยิ้ม กล่าวชมว่า “เมื่อแรกเรียน ท่านก็เก่งกว่าเสียแล้ว” เพราะหลวงปู่ยิ้ม ทำนาน ๑๕ วัน หลวงปู่ยิ้มจึงถ่ายทอดวิชาว่า ด้วยการสร้างตะกรุดปราบทาษามหาระงับ ตะกรุดลูกอมอันเลื่องลือให้แก่หลวงปู่ใจ
การสร้างวัตถุมงคล หลวงปู่ใจพิถีพิถันใช้ความประณีตบรรจงอย่างที่สุด เช่น ตะกรุดแต่ละชนิดต้องมีขนาดเท่ากัน การม้วนต้องเหมือนกัน การควั่นไหม ๕ สี ร้อยตะกรุดใช้เส้นไหมขนาดเท่ากันทุกเส้น เวลาควั่นต้องจัดเกลียวให้เป็นระเบียบเดียวกัน
หลวงปู่ใจ ท่านได้ศึกษาวิทยาคมจาก หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี, หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่, หลวงพ่อพ่วง วัดปากสมุทร, หลวงพ่อปลัดทิม วัดเมืองใหม่ เป็นต้น
◉ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสุทธิสาราวุฒาจารย์
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชมงคลวุฒาจารย์
◉ มรณภาพ
พระราชมงคลวุฒาจารย์ (หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ) วัดเสด็จ ถึงแก่มรณภาพ ในวันเสาร์ที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ สิริอายุรวม ๑๐๐ ปี พรรษา ๗๘
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ หรือ พระราชมงคลวุฒาจารย์ วัดเสด็จ ต.เหมืองใหม่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญงบน้ำอ้อย” หรือ “เหรียญอริยสัจ” ราวปี พ.ศ.๒๔๘๙-๒๔๙๐ ที่ระลึกแก่ผู้ร่วมงานวันฝังลูกนิมิตพระอุโบสถหลังใหม่ เนื้อเงิน ๘๐ เหรียญ เนื้อทองแดง รมดำ ๓๐๐ เหรียญเท่านั้น
ลักษณะเป็นเหรียญกลม หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปกลีบบัวบาน มีอักขระขอมกำกับแต่ละกลีบตรงกลางเป็นหัวใจอริยสัจว่า “ทุ สะ นิ มะ” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปธรรมจักร ตรงกลาง มี “ยันต์เฑาะว์” ถัดมาเป็นพระปิดตา วงนอกสุดเป็นอักขระขอมโดยรอบ แตกต่างไปจากเหรียญพระคณาจารย์อื่น ซึ่งระบุชื่อพระเกจิ วัด และปีพ.ศ.ที่สร้าง
นอกจากนี้ ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น หลวงปู่ใจ อินทสุวัณโณ ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระปรกใบมะขาม เนื้อเมฆพัด พิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ พระเมฆพัด พิมพ์ซุ้มประตู พระพุทธชินราช พระหล่อเนื้อโลหะผสมปางประจำวัน เหรียญพระประจำวัน ผ้ายันต์ ตะกรุดลูกอมร้อยไหมเจ็ดสี มีเนื้อทองคำ นาก และเนื้อเงิน ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา ตะกรุดสามกษัตริย์ ฯลฯ
พระปรกใบมะขาม เนื้อเมฆพัด ของหลวงปู่ใจที่นิยมกันมากคือพระปรกใบมะขามพิมพ์เล็ก ซึ่งจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีพระปรกใบมะขาม วันนี้ผมจึงนำรูปพระปรกใบมะขามพิมพ์เล็กมาให้ชมกันครับ ปัจจุบันหายากมาก