วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล
วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

พระครูปัญญาพลพิพัฒน์ (หลวงปู่โฮม ปัญฺญาพโล) วัดป่าขวัญเมือง พระอริยสงฆ์แห่งวัดป่าขวัญเมืองผู้เป็นทายาททางธรรมขององค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร

◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล นามเดิมชื่อ “โฮม สีลาธุลี” เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๘ ปีฉลู ณ บ้านหนองแวงควง ตําบลโพธิ์ทอง อําเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอําเภอศรีสมเด็จ) จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ “นายมา สีลาศุลี” และมารดาชื่อ “นางอ่อน สีลาธุลี” เป็นบุตรคนที่ ๓ มีพี่น้องร่วมกัน ๓ คน คือ
๑. นางแก้ว สีลาธุลี
๒. นางก้อง สีลาธุลี
๓. นายโฮม สีลาธุลี (หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล)

ท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ จากโรงเรียนบ้านหนองแวงควง หลังจากจบมาแล้วได้ทํางานช่วยครอบครัวจนอายุครบเกณฑ์ทหาร

ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารประจํากองพันทหารม้าที่ ๒๑ จังหวัดร้อยเอ็ด จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๐ จึงได้ปลดประจําการทหาร

◎ ชีวิตการครองเรือน
นายโฮม สีลาธุลี ได้สมรสกับนางทองมา สีลาธุลี มีบุตรธิดา ทั้งหมด ๕ คน ประกอบด้วย
๑. นายบุญสุข สีลาธุลี
๒. นางบัวเรียน วงศาเวียง
๓. นางเขียน พานอนันต์
๔. นายเฉลิมชัย สีลาธุลี
๕. นายรุ่งโรจน์ สีลาธุลี

หลังจากมีครอบครัวแล้วได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านหนองแดง ตําบลบ้านบาก อําเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด จากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้พาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ ตําบลศรีสมเด็จ อําเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด

ในชีวิตฆราวาส ท่านได้ทําหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวอย่างสมบูรณ์ครบถ้วน ประกอบสัมมาชีพเป็นช่างไม้ และทํายาจี๊ด เป็นนายฮ้อยยาจิ๊ด แต่ถึงแม้จะทํางานหาเลี้ยงชีพ มีภารกิจมากมาย ท่านก็ยังเข้าวัดจําศีล รับฟังพระธรรมเทศนาที่วัดป่ากุงเป็นประจํา โดยมี พระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นประธานสงฆ์ในขณะนั้นอย่าง สม่ำเสมอ และยังได้ติดตามพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร ไปทําบุญที่วัดสาขาต่างๆ ตามโอกาส หลวงปู่โฮมมีความดําริในใจเสมอว่าจะต้องหาโอกาสบวชให้ได้สักครั้งในชีวิต และหลายครั้งที่หลวงปู่ได้ปรารภกับทางครอบครัวถึงเรื่องจะบวช แต่ก็ได้รับการปฏิเสธทุกครั้งไป ท่านจึงหยุดไว้และเก็บเป็นความดําริเสมอมา

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
หลวงปู่ศรี มหาวีโร

◎ การออกบรรพชาอุปสมบท
จนกระทั่งวันที่ ๑๕ เดือนพฤษภาคม ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ ทางวัดป่ากุงจะมีการบรรพชาอุปสมบทหมู่ที่วัดวชิราลงกรณ์ อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งในวันนั้นมีผู้มาเข้ารับการฝึกนาคเพียง ๘ คนแต่พระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี ได้ให้ทางวัดป่ากุง จัดเตรียมอัฐบริขารไว้ ๙ ชุด เมื่อ หลวงปู่โฮม ทราบข่าวมงคลในครั้งนี้ จึงได้ตัดสินใจไปกราบขอโอกาสบรรพชาจากพระเดชพระคุณ หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านก็อนุญาต หลวงปู่โฮมจึงได้เป็นนาคองค์ที่ ๙ ตามที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ศรีได้จัดเตรียมอัฐบริขารไว้ ๙ ชุดครบพอดี โดย ท่านไม่ได้แจ้งหรือบอกใครทางบ้านให้ทราบ ด้วยเกรงว่าจะได้รับการปฏิเสธจากครอบครัวอีก ท่านจึงเข้ารับการฝึกนวคจนถึงวันบวช

ในระหว่างที่องค์ท่านจะไปบวชนี้ ท่านนั่งรถผ่านหน้าบ้านมองเห็นลูกชายคนเล็กยืนร้องไห้อยู่ แต่ถึงกระนั้นท่านก็ตัดอาลัยเดินทางต่อไปในออกบวชจนได้

นายโฮม สีลาธุลี ได้รับการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระโฮม เมื่อวันที่ ๑๗ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒ ณ วัดวชิราลงกรณ์ อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับฉายาว่า “ปญฺญาพโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีปัญญาเป็นกําลัง” โดยมี พระเทพสุทธาจารย์ (หลวงปู่โชติ คุณสฺปนฺโน) เจ้าอาวาสวัดวชิราลงกรณ์ อําเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สมัยนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เอียน ฐิตวิริโย เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลังจากที่ได้รับการบรรพชาอุปสมบทแล้ว ได้กลับมาจําพรรษาที่ วัดประชาคมวนาราม วัดป่ากุงในปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ พระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี ได้มีคําสั่งให้หลวงปู่โฮมออกวิเวก ณ ป่าช้าบ้านดงนางย่องซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่น่ากลัวมากในสมัยนั้น และองค์ท่าน มีความกลัวผีเป็นทุนมาแต่เดิมอยู่แล้ว แต่ก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธคําสั่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี ด้วยเกรงกลัวในองค์พระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มากกว่ากลัวผี องค์หลองปู่โฮมจึงได้ออกวิเวกตามคําสั่งของพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี โดยได้ออกเดินทางด้วยเท้าไม่มีรถในสมัยนั้น ออกจากวัดป่ากุงเวลา ๑๗.๐๐น. เเละเดินไปค่ำพอดีที่ป่าช้าดงนางย่อง สมัยนั้น หลวงปู่เล่าว่าการเดินทางตลอดจนถึงความเป็นอยู่นั้นลำบากมาก แม้แต่อาหารขบฉันก็มีน้อยและลําบาก ไม่เหมือนในสมัยนี้ จากนั้นยังได้ออกหาปลีกวิเวกตามสถานที่ป่าเขา ป่าช้ารกชัฏตามชนบทต่างๆ ตั้งแต่จังหวัด ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม สกลนคร หนองคาย และทางตอนบนของประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงราย และได้กลับมาร้อยเอ็ด องค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร ท่านให้ไปรักษาการเจ้าอาวาสที่วัดป่าขวัญเมือง อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และวัดผาน้ำย้อย อําเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด

หลวงปู่โฮมยังได้ติดตามและบําเพ็ญสมณกิจตามพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร ตามวัดสาขาต่างๆ ทั้งภาคเหนือภาคใต้และในจังหวัดต่างๆ ของภาคอีสาน ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ หลวงปู่โฮมได้รับมอบหมายจากพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร และคณะสงฆ์ให้มาเป็นเจ้าอาวาส วัดป่าขวัญเมือง อําเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ดจนถึงปัจจุบันนี้

◎ ปฏิปทาพ่อแม่หลวงปู่ใหญ่ (หลวงปู่ศรี มหาวีโร)
หลังจากพระเณรฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่ศรีตั้งกติกาให้พระเณรที่อยู่ภายในวัด ให้พากันทําความเพียร ให้เอาแต่บาตรขึ้นกุฏิ แล้วให้เข้าทางเดินจงกรมจนกว่าจะถึงเวลาเที่ยง โดยเอาพระอาทิตย์เป็นเกณฑ์ ถ้าพระอาทิตย์ยังไม่ตรงหัวไม่ให้ออกจากทางจงกรม

“วันไหนที่ฉันข้าวอิ่มหน่อยมันก็ง่วงนะ เดินจงกรมไปก็ง่วงไป ข้าวก็ออกฤทธิ์ เดินชนต้นไม้ก็มีจนพระอาทิตย์ตรงหัวถึงจะขึ้นกุฏิได้ ตอนกลางคืนหลวงปู่ศรีออกเดินตรวจดูลูกศิษย์ ใครไม่ลงทางเดินจงกรมภาวนา ท่านก็กุฏิป๊อกๆ แล้วก็เดินหนีไฟฟ้าก็ไม่มีสมัยนั้น ภาวนาแข่งกัน จุดเทียนเดินจงกรม เทียนก็มีน้อย บางครั้งก็ไม่ได้จุด มืดอย่างกับหลับตา”

สมัยแรกๆ หลวงปู่ได้มีโอกาสอุปัฏฐากหลวงปู่ศรี เริ่มจากตอนก่อนรุ่งสางต้มน้ำร้อนไปกับเณรน้อยไปนั่งคอยหลวงปู่ศรีอยู่บันไดหน้ากุฏิ “พอได้ยินเสียงก็อกแก๊กก็ลุกไปรับท่าน ผสมน้ำอุ่นถวายหลวงปู่ศรีล้างหน้า ระหว่างที่หลวงปู่ศรีล้างหน้าก็เข้าไปเก็บพับที่นอนกวาดทําความสะอาดภายในกุฏิ เสร็จข้อวัตรจากองค์หลวงปู่ใหญ่แล้ว จึงเอาบาตรมาตั้งแล้วออกบิณฑบาต นอกจากนั้นยังได้นวดถวายหลวงปู่ใหญ่บ่อยครั้ง กลัวก็กลัว ฮ้ายกะฮ้าย(ดุก็ดุ) หยอกกะหยอก บ่ยิ้มนะ บ่ยิ้มให้เฮาจักเทื่ เด้ ย่านกะแฮ่งย่าน” หลวงปู่กล่าวถึงหลวงปู่ใหญ่(หลวงปู่ศรี มหาวีโร)

◎ หลวงปู่โฮมออกปลีกวิเวก (ป่าช้าดงนางย่อง ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓)
หลวงปู่ใหญ่มีคําสั่งให้พระไปเรียกหลวงปู่มาหาพระที่รับคําสั่งจึงไปบอกหลวงปู่ก็เข้าไปกราบหลวงปู่ใหญ่ หลวงปู่จําได้บ่ลืม
หลวงปู่ใหญ่ : ไปวิเวกดงนางย่องเถาะเฒ่าโฮม
หลวงปู่โฮม : จะให้ไปตอนไหนพ่อแม่ครูอาจารย์
หลวงปู่ใหญ่ : ไปตอนนี้แหละ
หลวงปู่โฮม : ไปอย่างไรล่ะพ่อแม่ มันสิค่ำรถลาก็ปมี
หลวงปู่ใหญ่ : ย่างเอา(เดินเอา)

ในสมัยที่หลวงปู่ยังเป็นทหารอยู่นั้น เคยได้ยินชื่อเสียงของดงนางย่องว่าเป็นสถานที่ที่น่ากลัวอยู่มากไม่ใช่น้อย แต่เมื่อได้ยินคําสั่งเช่นนั้น ก็ต้องไปตามคําสั่งพระเดชพระคุณหลวงปู่ใหญ่ เพราะเกรงกลัวองค์หลวงปู่ใหญ่กว่ากลัวผี จึงกราบลามาเอาบริขารสะพายขึ้นบ่าได้ก็ออกเดินทาง

ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. สมัยนั้นต้องเดินด้วยเท้า ไม่มีรถ ได้รับความลําบากมาก เดินไปทางบ้านป่ายางไปถึงดงนางย่องก็ค่ำพอดี ไปปักกลดอยู่ใต้ต้นไม้ยางใหญ่ ย่านอยู่เด้บ่แม่นบ่ย่าน แต่คืนนั้นหลวงปู่ นั่งภาวนาบ่มีหาวนอนเลย เตรียมตัวตายเลย คืนนั้นนั่งภาวนาจนแจ้ง

พอเช้าฟ้าสางก็ออกไปบิณฑบาต บิณฑบาตกลับมาก็มาฉัน ไม่มีภาชนะใส่อาหารก็หาเอาแถวหลุมศพเก็บเอาถ้วยชามเก่าๆ แถวนั้นแหละ มาล้างใส่ ออกวิเวกสมัยนั้นตามมีตามเกิดไม่เหมือนสมัยนี้อะไรก็สะดวกสบายไปหมด ฉันแล้วก็ภาวนาอีก มีโยมเขามากราบแล้วถามถึงความเป็นมาว่าพระมาจากไหน ทําไมถึงมาอยู่ที่นี่ ไม่กลัวผีบ่ หรือว่ามีของดี หลวงปู่จึงตอบไป “มีนั่นแล้ว กะพุทโธนั่นเด้” เขาก็มาเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของป่าข้าดงนี้ให้ฟังอีกว่า บางวันเขามานอนเฝ้าสวนแตง ดึกๆ มีผู้หญิงอุ้มลูกน้อยมาขอกินน้ำ พอเขากินแล้วก็เอาให้ลูกกินน้ำ แล้วเขาก็เดินกลับ แต่ไปเดินกลับทางบ้านคน แต่กลับไปทางป่าช้าดงนางย่องได้เห็นแค่นั้นเขารีบกลับเข้าบ้านเลยนะ”

“พอได้ยินเรื่องเล่ากิตติศัพท์ของผีที่ป่าช้านี้ก็ยิ่งทวีความกลัวเข้าไปอีก ตกกลางคืนก็เดินจงกรมเอาใบตองมาปูเป็นที่นั่ง ใจมันกลัว ยิ่งกลัวยิ่งสู้ พอสู้ไปก็เริ่มสงบ พอมันกลัวใจมันก็อยู่กับตัวเอง เตรียมตัวตายเลย ถ้ามันสงบความกลัวมันก็หาย ความกล้ามันก็มา ความกลัวกับความกล้ามันอยู่ด้วยกัน พอจิตสงบนึกเห็นบุญเห็นคุณหลวงปู่ใหญ่เลย นึกไปว่านี้ถ้าหลวงปู่ใหญ่ไม่ไล่มา คงไม่ได้พบความสงบความอัศจรรย์ของจิตขนาดนี้ แต่ก่อนคิดแต่ว่าหลวงปู่ใหญ่เพิ่นซังเฮาบ่ เพิ่นจั่งไล่เฮามาตายแบบนี้ แต่ตอนนี้เห็นบุญเห็นคุณเต็มหัวใจเลย”

◎ สมเด็จพระสังฆราชลาวมีความศรัทธา
นับเป็นเลื่องเล่าขานมานาน ผู้คนใกล้ชิดจะทราบเรื่องนี้ เรื่องมีอยู่ว่า สมเด็จพระสังฆราชลาวองค์ที่๓ เกิดนิมิตฝันว่าได้พบกับพระภิกษุผู้เฒ่ารูปหนึ่ง ยืนถือไม้เท้าอยู่ และพระองค์ได้เข้าไปสนทนาถามว่าท่านเป็นใครชื่ออะไร อยู่ที่ไหน ในนิมิตฝันนั้น พระภิกษุรูปนั้นได้ตอบไปว่า ชื่อโฮม ปัญญาพโล อยู่วัดป่าขวัญเมือง ฝั่งขวา(ไทย)

เมื่อพระองค์ตื่นจากนิมิต ก็ได้จดจำเอาความฝันนั้น และได้ให้พระมารดาข้ามมาตามหาพระภิกษุรูปนั้นที่ไทยทันที ปรากฎว่าเมื่อพระมารดาข้ามมาแล้ว ได้สืบเสาะหาจนได้พบกับกระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งมีชื่อ ฉายา และวัด ตรงตามในนิมิตฝันนั้น จึงส่งข่าวกลับไปแจ้งต่อสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ได้เสด็จข้ามฝั่งมาเป็นการส่วนพระองค์และได้เข้าพบกับพระภิกษุตามในนิมิตนั้น จะเป็นตามความบังเอิญหรือบุพกรรม พระภิกษุผู้เฒ่าในนิมิตฝันกับหลวงปู่โฮม ที่ชาวบ้านร้านตลาดรู้จัก คือองค์เดียวกันทั้งหน้าตาลักษณะ ชื่อเสียงเรียงนามแม้กระทั่งชื่อวัด ก็ถูกต้องตามในนิมิตทุกอย่าง พระองค์ได้ก้มกราบองค์หลวงปู่อย่างนอบน้อมแม้ว่าพระองค์จะมีอายุพรรษามากกว่าก็ตาม หลังจากนั้นเป็นต้นมาพระองค์จะเสด็จมางานวันเกิดขององค์หลวงปู่โฮมทุกปีๆ เรื่อยมา จวบจนพระองค์เสด็จสวรรคต และผู้ทำหน้าที่พระสังฆราชรูปต่อมาก็ยังเสด็จอยู่เช่นเดิม

หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล วัดป่าขวัญเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

◎ มรณภาพ
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ เรื่อยมา องค์หลวงปู่มีสุขภาพธาตุขันธ์ที่อ่อนตัวลงมาก คณะศิษย์ยานุศิษย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด จวบจนเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ลมหายใจขององค์หลวงเริ่มแผ่วเบาลง เวลา ๐๗.๑๒ นาที หลวงปู่ได้แสดงธรรมกัณฑ์สุดท้าย ด้วยการวางขันธ์อันหนักหน่วงไว้ให้เป็นการเตือนสติศรัทธาสาธุชนทั้งหลายว่า สิ่งทุกสิ่งมีเกิดย่อมมีดับ แม้ธาตุสี่ขันธ์ห้าของเราก็ไม่สามารถจะยืนหยัดให้มั่นคงไว้ได้ องค์หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล(พระครูปัญญาพลพิพัฒน์) ละสังขารอย่างสงบตรงกับวันที่ ๒๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๑ สิริอายุ ๙๓ ปี ๑๑ เดือน ๘ วัน ๕๐ พรรษา ณ กุฏิที่พำนักวัดป่าขวัญเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

◎ บันทึกถึงหลวงปู่ผู้สอน โดยไม่ต้องสอน
เมื่อครั้งพรรษาปี ๒๕๕๙ ที่หมอได้แจ้งคณะศิษย์ว่าหลวงปู่คงอยู่ อีกไม่นาน ไม่น่าจะเกินสามเดือน ช่วงวันพระสุดท้ายพรรษานั้นหลวงปู่ได้สู้กับเวทนาด้วยภาวนา (ลงมารอพระในโบสถ์ตั้งแต่ตีสามถึงตีห้า) ท่านเล่าว่าในสมาธินั้น เกิดเสียงดังคล้ายระเบิดในกาย แล้วเวทนาก็รํางับลง หลังวันพระนั้น จากที่ไม่ค่อยพูด ฉันได้น้อย ก็เริ่มสนทนาได้อีกครั้ง และค่อยๆ ฉันได้บ้าง และถ้ามีหมู่คณะมาเยี่ยมก็จะดีใจและฉันได้มากขึ้น อาการในระยะนี้เหมือนทรงกับทรุดสลับกันไปมา และดีขึ้นเป็นบางระยะ หมายถึงพอฉันอาหารได้ และเพิ่มปริมาณอาหารในบางครั้ง มีเรี่ยวแรงกําลังขึ้นมาบ้าง

ในช่วงที่หลวงปู่อาการหนักนั้น จําต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อ และระบบขับถ่ายไม่สะดวก ต้องมีศิษย์และลูกหลานคอยอุปัฏฐากดูแลใกล้ชิด ในคราวที่มาเยี่ยมอาการนั้นเห็นความลําบากในการรักษาธาตุขันธ์ไว้ รู้สึกสงสารหลวงปู่เป็นกําลัง แต่ท่านกลับสอนความเข้มแข็งให้เห็น ด้วยการให้โอกาสเข้ากราบและสนทนาสั้นๆ

ทั้งในระยะหลังที่อาการดีขึ้นจนออกจากห้องปลอดเชื้อ เมื่อมาเยี่ยมอาการหลวงปู่สนทนาได้มากขึ้น สังเกตได้ว่าแม้นจะมีเวทนา จากอาพาธซ่อนอยู่ แต่ท่านก็มิได้แสดงอาการ จนดูเหมือนกับว่าอาการอาพาธนั้นหายไป และท่านก็พยายามสนทนาด้วย ให้โอกาสได้ใกล้ชิด แม้นเกรงใจกลัวว่าท่านจะเหนื่อย แต่ก็ทําให้เห็นถึงธรรมหลายประการที่อยู่ในจิตหลวงปู่ ทั้งขันติ เมตตา กรุณา ปัญญา ศีล สมาธิ เป็นต้น อันแสดงออกมาเป็นปฏิสัณฐารด้วยความผ่องใส เบิกบาน และมีสุข ทําให้ผู้มาเยี่ยมก็พลอยสุขไปด้วย

ความสงบ สุขุม เยือกเย็นเวลาเข้าใกล้ ให้โอกาสโดยไม่มีสิ่งใดให้เก้อเขิน ไม่มีภาวะอันใดแสดงถึงความมี ความเป็นปิดกั้น อันเป็นการถอนมานะออกได้อย่างสิ้นเชิง ถือเป็นคุณลักษณะที่ทําให้รับรู้ได้ว่า “หลวงปู่สอนโดยไม่ต้องสอน สั่งโดยไม่สั่ง เทศน์โดยไม่ต้องเทศน์ อบรมโดยไม่ต้องอบรม เป็นครูอาจารย์โดยไม่ต้องเป็นครูอาจารย์” อันเป็นปฏิปทา ที่ประทับลงในจิตให้กราบบูชาได้อย่างสนิทใจ

อาการที่ระงับ และดับเวทนาทั้งภายใน ภายนอกได้ยากจะหาพบได้ในจิตทั่วไป

พระเดชพระคุณหลวงปู่ ใช้คําที่เปิดโลกทั้งโลกให้กว้างขึ้น ในการ เยี่ยมอาการครั้งสุดท้าย ว่า
“….จั่งแม่นดีหลายท่านมหา ที่บ่รังเกียจผู้เฒ่า…”

เมื่อครั้งได้ รับอาราธนาไปเทศน์ในงานบําเพ็ญกุศลอุทิศถวายหลวงปู่สุข สุจิตฺโต ผู้เป็นสหายธรรมของหลวงปู่ เป็นนาคคู่กัน และออกบวชพร้อมกันในปี ๒๕๑๒ หลวงปู่ทั้งสองมีความสนิทสนมกันทางธรรม ปฏิปทาของหลวงปู่ทั้งสองนั้นเคร่งครัดในข้อวัตร และคําสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์คือ หลวงปู่ศรี มหาวีโร อย่างยิ่ง เช่น เวลาภาวนา ไม่ว่าจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม ถ้าองค์หนึ่งไม่เลิก องค์หนึ่งก็จะไม่เลิก หลวงปู่ทั้งสองมีวิริยะอุตสาหะ มีขันติธรรมสูง พากเพียร “ไม่มีกลางคืน ไม่มีกลางวัน” แม้หลวงปู่โฮมจะอาพาธก่อน หลวงปู่สุข อาพาธภายหลัง แต่หลวงปู่สุขมรณภาพก่อน จนผ่านไปเกือบ ๕ เดือน หลวงปู่โฮมก็มรณภาพในภายหลัง จากที่หมอเคยวินิจฉัยว่าจะอยู่ได้ประมาณสามเดือน หลวงปู่กลับอยู่ต่อมาได้ถึงสามพรรษา

คําของหลวงปู่นี้ มิใช่คําชมสําหรับผู้รับฟัง หากเป็นคําสอนที่มีค่ายิ่ง หลวงปู่สอนให้รู้ว่า คนทุกคนคือผู้เฒ่า คือผู้กําลังเฒ่า และผู้จะต้องเฒ่าต่อไป ดังนั้น จึงควรปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่รังเกียจกัน ผู้เฒ่ามิได้ หมายถึงเฉพาะคนเท่านั้น มนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน พวกสัตว์นรก เป็นต้น ก็ต้องมีสภาวะแบบนี้ หากเปิดโลกให้เห็นและเข้าใจถึงความเฒ่า ของกันและกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยเมตตา ปรารถนาดี ไม่มีเวรมีภัยต่อกันได้ อันเป็นสุดยอดแห่งคําสอนประการหนึ่งในพุทธศาสนา ที่ปฏิบัติตามได้ยากยิ่ง ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงต้องหัด “แผ่เมตตาไปโดยหาประมาณมิได้” ในตนเอง และหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

คําสอนของหลวงปู่คํานี้ จึงเสมือนคําจารึกไว้ในจิตให้พยายามคิดตาม และลงมือสู่ภาคปฏิบัติให้จริงจัง อย่าทําเล่น การไปมาหาสู่กัน รู้จักกัน จะทําเพียงเพื่อบังหน้าเอาคําพูดยกยอปอปั้นนั้น มิใช่การแผ่เมตตา จริงๆ การแผ่เมตตาจริงๆ จะต้องออกมาจากจิตที่ไม่รังเกียจกัน

เวลาใดที่ส่งข่าวถึงหลวงปู่ ก็มักจะได้ยินคําที่หลวงปู่สอนย้ำๆ ผ่านผู้อื่นเสมอว่า
…จะแม่นคึดนําผู้เฒ่า…

ยิ่งได้ฟัง ก็ยิ่งสอนตน ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงสติ สัมปชัญญ์ และความเป็นปราชญ์ที่ไม่แสดงออกของหลวงปู่อย่างยิ่ง

หลวงปู่โฮม ปัญญาพโล เปรียบเสมือนดั่งประทีปแห่งเมืองเสลภูมิอีกดวงหนึ่ง ที่คอยให้แสงสว่างทางธรรมแก่สาธุชน เดินทางเข้าสู่เส้นทางธรรมที่ถูกต้องตามคำสอนในพระพุทธศาสนา อยู่เป็นหลักของพุทธบริษัทได้ศึกษาปฏิปทาและดำเนินรอยตาม ให้ธรรมะคำสอนมาเป็นระยะเวลานานกว่า ๙๓ ปี

วาระที่จะมีการประชุมเพลิงสรีระของหลวงปู่นี้ เพื่อเป็นการบูชา ปฏิปทาพระมหาเถระผู้เป็นตัวอย่างแห่งเพศพรหมจรรย์ จึงได้ประพันธ์ บทผญาเท่าที่มีเวลาจํากัดนี้ พร้อมทั้งพิมพ์หนังสือกายนครฉบับผญาและผญาไขพุทธศาสนสุภาษิต เป็นอนุสรณ์รําลึกถึงหลวงปู่ผู้เป็นดั่งประทีปแห่งเมืองเสลภูมิ

ขออำนาจแห่งบุญกุศลทั้งมวลที่ได้บําเพ็ญมา จงเป็นสัมภาระวิบากเป็นดั่งเครื่องสักการะ เทิดทูนบูชา สําเร็จเป็นปัตตานุโมทนามัย น้อมถวาย

◎ คําสอนหลวงปู่โฮม ปัญญาพโล
หลวงปู่สอนไว้..บวชเข้ามาแล้ว ให้ตั้งใจปฏิบัติเด้อ นั่งภาวนาให้มากๆ เดินจงกรมให้มากๆ

อย่าเบิ่งผู้อื่น ให้เพิ่งเจ้าของ

มาอยู่วัดให้ปฏิบัติทางศีล ทางธรรม ชั่วอย่าทํา ทําแต่ดีตลอด

เกิดมาแล้วให้เมตตากัน สงสารกัน เป็นผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ให้รู้จักพ่อ รู้จักแม่

มาอยู่วัดกับหลวงปู่ แต่ละคนกะบ่มีพ่อบ่มีแม่แล้ว เอาหลวงปู่เป็นพ่อเป็นแม่ บอกหยังกะให้ฟังความ บอกหยังกะให้เฮ็ดนำจั่งสิถูก อย่าฝืนคําพ่อ-แม่ บ่ดี

คัดลอกจากหนังสือที่ระลึกงานถวายเพลิงสรีระสังขารหลวงปู่โฮม ปัญญาพโล ปี ๒๕๖๑ โดย คณะศิษยานุศิษย์ วัดป่าขวัญเมือง ผู้เรียบเรียง