ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่โกศล สิรินฺธโร
วัดสุทธจินดาวรวิหาร
อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พระเดชพระคุณพระสาสนโสภณ (หลวงปู่โกศล สิรินฺธโร ป.ธ.๔) หรือที่รู้จักกันของชาวโคราชว่า “หลวงปู่ใหญ่” ท่านเป็นพระมหาเถราจารย์ผู้เป็นรัตตัญญูแห่งวัดสุทธจินดาวรวิหาร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ท่านมีนามเดิมว่า โกศล โพธิ์งาม เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๗ ที่หมู่บ้านระเวียง จังหวัดสุรินทร์ โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสอน และ นางสงค์ โพธิ์งาม ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คน ในวัยเด็ก ได้ศึกษาที่โรงเรียนประชาบาล วัดธรรมวงศา บ้านระเวียง อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์
พ.ศ.๒๔๘๑ เรียนจบชั้นประถมบริบูรณ์ และโยมบิดามารดาของท่านได้ให้บุตรชาย บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดธรรมวงศา บ้านระเวียง เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๘๑ โดยมี พระอธิการที อินทปัญโญ วัดบ้านซาด เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.๒๔๘๒ หลวงธรรมการ ซึ่งเป็นผู้ที่บุกเบิกนำประชาชนมาตั้งบ้านเรือนและวัดธรรมวงศา บ้านระเวียง ได้ถึงแก่กรรมลง ชาวบ้านบ้านระเวียง ได้ร่วมกันบำเพ็ญกุศลทำฌาปน กิจศพให้อย่างสมเกียรติ
หนึ่งในหมู่พระสงฆ์ที่มาร่วมพิธีนั้น มีพระมหาดี ญาณาสโย มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงธรรมการ ได้เดินทางมาจากวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา รวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง จึงได้เลือกสามเณรโกศล โพธิ์งาม และสามเณรศลี สุขประสงค์ ไปอยู่ที่วัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมาด้วยกัน
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๒ เวลา ๑๙.๔๕ น. ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร สังกัดวัดสุทธจินดา (ธรรมยุต) โดยมีพระโพธิวงศาจารย์ ขณะดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมฐิติญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ ณ พระอุโบสถวัดสุทธจินดา
กระทั่งอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๘๙ โดยมีพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาเป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาดี ญาณาสโย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระศีลธรรมวงศาจารย์ วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นในการศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ.๒๔๘๓ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ.๒๔๘๔ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท
พ.ศ.๒๔๘๕ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ที่สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
พ.ศ.๒๔๘๙ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค ที่สำนักเรียนวัดสุทธจินดา
ต่อมาทางสำนักเรียน ได้ส่งตัวไปศึกษาอบรมนักเรียนครูและนักเรียนการปกครอง สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ภายใต้ความอุปถัมภ์ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
พ.ศ.๒๔๙๓ ได้เดินทางกลับมายังวัดสุทธจินดา
พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับคัดเลือกจากคณะสงฆ์วัดสุทธจินดา มีพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) เป็นประธาน ให้เป็นเลขานุการวัดสุทธจินดา และเป็นเลขานุการพระธรรมยุต จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ รับใช้กิจการคณะสงฆ์และพระศาสนา พัฒนาวัดสุทธจินดา ร่วมกับพระอริยเวที เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา รูปที่ ๓
พระโกศล เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ” นำดอกผลมาบำรุงวัดสุทธจินดา
◎ ด้านการศึกษา
พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม และเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง
◎ ได้รับรางวัล
พ.ศ.๒๕๒๖ รับพัดสำนักเรียนตัวอย่าง
พ.ศ.๒๕๓๐ รับพัดวัดพัฒนาตัวอย่าง
พ.ศ.๒๕๓๓ ได้รับพระราชทานเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ.๒๕๔๖ ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พุทธศาสนา) จากมหาวิทยา ลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
◎ ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตอำเภอเมือง-สีคิ้ว
พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา (ธรรมยุต)
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา พระอารามหลวง
พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นรองเจ้าคณะภาค ๑๐-๑๑ (ธรรมยุต)
ปัจจุบัน เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๘ (ธรรมยุต) ดูแลคณะสงฆ์ ๕ จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย สกลนคร และหนองบัวลำภู
◎ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสุนทรธรรมโกศล
พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศิริธรรมวงศาจารย์
พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชพิศาลสุธี
พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวราลังการ
พ.ศ.๒๕๓๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมโสภณ
กล่าวได้ว่า ท่านเป็นผู้ให้ความสำคัญในการศึกษาพระปริยัติธรรม วัดสุทธจินดา ย้อนกลับในยุคแรกเริ่ม เดิมทีวัดสุทธจินดา ยังไม่มีอาคารเรียนที่เป็นเอกเทศ ได้อาศัยร่มไม้ คือ ต้นไทรใหญ่ ซึ่งอยู่ในวัดสุทธจินดา บริเวณตึกสำนักงานโรงเรียนอนุบาลในปัจจุบัน เป็นสถานที่เรียน
ต่อมา พระบริคามบริรักษ์ (นาค) มีศรัทธาสร้าง “โรงเรียนพระปริยัติธรรม” เป็นอาคารไม้สูง ๒ ชั้น ถวายเป็นสถานที่ศึกษา (คณะยาว) ครั้งนั้นต่อมา นายเขียว ชิ้นในเมือง ได้สร้างศาลาการเปรียญ ทางวัดก็ได้เปลี่ยนมาใช้ศาลานี้เป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรม
พระสาสนโสภณ (โกศล) ได้สร้างตึกอนุสรณ์ ๘๐ ปี เป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาโคราช พระธรรมโสภณกล่าวว่า ” วัดสุทธจินดา ได้จัดให้มีการเรียนการสอน ทั้งแผนกธรรมและบาลี เป็นแห่งแรกในภาคอีสาน ระบบการเรียนการสอนทั้งหมด ถอดแบบมาจากสำนักเรียนบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ “
ปัจจุบัน แผนกธรรม มีการเรียนการสอนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี-เอก ธรรมศึกษาตรี-เอก แผนกบาลี มีการเรียนการสอนตั้งแต่ไวยากรณ์ จนถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค
“ส่วนนักเรียนที่กำลังเรียน ป.ธ.๖ ขึ้นไป แม้ที่วัดจะไม่มีการเรียนการสอน แต่ได้มีการสนับสนุนให้ศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง โดยมีอาจารย์คอยแนะแนวเท่านั้น หรือไม่ก็จะส่งตัวไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ หรือถ้ารูปใดไม่ประสงค์จะเข้าไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ ถ้าสอบผ่าน เปรียญธรรม ๕ ประโยค ก็สนับสนุนให้เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาโคราช หรือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา”
จากการที่พระเดชพระคุณได้ส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง ทำให้การศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรมและบาลีของคณะสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสถิติการสอบได้สูงขึ้นโดยลำดับ
ในวัย ๙๖ ถือได้ว่า พระสาสนโสภณ ได้ปฏิบัติตามหน้าที่พระสังฆาธิการ และปฏิบัติศาสนกิจในตำแหน่งหน้าที่ได้เป็นอย่างดียิ่ง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแห่งสาธุชนชาวอีสานตอนบนยิ่งนัก
ปัจจุบัน พระสาสนโสภณ (หลวงปู่โกศล สิรินฺธโร) หรือ “หลวงปู่ใหญ่” ของชาวโคราช ละสังขารแล้ววันนี้ด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๑.๕๖ น. ตรงกับวันศุกร์ที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๓ สิริอายุ ๙๖ ปี ๓ เดือน ๒๓ วัน พรรษา ๗๕
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน