วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต วัดป่าผาเจริญ อ.วังสะพุง จ.เลย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต

วัดป่าผาเจริญ
อ.วังสะพุง จ.เลย

พระปิยทัสสี หลวงปู่โกวิท (สมพร ฐานยุตฺโต)
อดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าผาเจริญ อ.วังสะพุง จ.เลย

พระปิยทัสสี (หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต) เป็นศิษย์ใกล้ชิดพระธรรมวราลังการ หรือหลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ วัดศรีสุทธาวาส และหลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ แม้ท่านจะเป็นพระนักพัฒนาในเรื่องของการศึกษาของพระภิกษุสามเณร แต่ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมท่านยึดถือแนวทางของครูบาอาจารย์มาโดยตลอด และเป็นที่นับถือของประชาชนโดยทั่วไปในเมืองเลย

◎ ชาติภูมิ
พระปิยทัสสี (หลวงปู่สมพร ฐานยุตฺโต) หรือ หลวงปู่โกวิท ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๖ ณ บ้านน้ำอ้อม ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เดิมนั้นท่านชื่อสมภาร บุญปั้น โยมบิดาชื่อ นายใบ และโยมมารดาชื่อ นางทา บุญปั้น ช่วงวัยเยาว์ ศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านเล้า จบชั้น ป.๔ ต่อมาครอบครัวได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านเลา

ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ ขณะอายุ ๑๗ ปี ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินทางจาริกบุญผ่านมายังบ้านเลา คือ หลวงปู่เง้า ถาวโร ซึ่งออกธุดงค์ไปทั่ว ท่านได้มาปักกลดอยู่ที่บ้านเลา นายใบและนางทาได้ใส่บาตรและเกิดความศรัทธาต่อหลวงปู่เหง้า พร้อมกันนี้ ได้ให้บุตรชายเป็นผู้อุปัฏฐากติดตามหลวงปู่เง้า จึงติดตามหลวงปู่เหง้าเป็นเวลา ๑ ปี ก่อนไปบรรพชาที่วัดสิริจันทรนิมิต ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สามเณรสมพรมีความเคร่งครัดถือปฏิบัติมากขึ้น ท่านได้เดินธุดงค์ตามหลวงปู่เง้าไปตามภาคต่างๆ โดยเฉพาะภาคกลางและภาคเหนือ หลวงปู่เง้าจึงนำสามเณรสมพรไปฝากเรียนพระปริยัติธรรม โดยฝากกับพระศีลวรคุณ (อ่ำ) ท่านพระอาจารย์อ่ำ ผู้นี้เป็นพระน้องชายของท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดมณีชลขัณฑ์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

พระเทพวรคุณ (ภทฺราวุโธ อ่ำ) วัดมณีชลขัณฑ์
พระเทพวรคุณ (ภทฺราวุโธ อ่ำ) วัดมณีชลขัณฑ์

ครั้นเมื่อสามเณรสมพร มีอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๖ ณ อุโบสถวัดรัมภาราม ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ภายหลังจำพรรษาอยู่ที่จังหวัดลพบุรีได้ ๕ ปี ท่านได้เข้าสู่กรุงเทพฯ เพื่อไปศึกษาบาลีธรรมบท โดยไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม บางกอกน้อย ได้เล่าเรียนศึกษาธรรมบาลีและวิทยาการทางโลก ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ให้แก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด ที่วัดอาวุธวิกสิตาราม

พระปิยทัสสี (หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต) วัดป่าผาเจริญ

ครั้นเมื่อโยมมารดาป่วยและเสียชีวิต ท่านเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจศพ ในครั้งนั้น หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ หรือพระธรรมวราลังการ เจ้าคณะจังหวัดเลยในขณะนั้น ได้เข้ามาปรารภกับท่านว่า “จังหวัดเลยยังขาดพระผู้บริหารคณะสงค์ที่มีความรู้ความสามารถ ท่านเป็นพระหนุ่มควรกลับมาสร้างสรรค์ ร่วมไม้ร่วมมือกันให้งานคณะสงค์เลยให้มีความเจริญก้าวหน้าสืบไป” ตอนนั้นท่านจึงตัดสินใจอยู่ช่วยงานของหลวงปู่ศรีจันทร์ ที่วัดเวฬุวัน ตามที่ทางหลวงปู่ศรีจันทร์ร้องขอ

พระราชคุณาธาร (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ)
พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ)

ต่อมาได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดจันทรังสี บ้านฟากเลย ต.ศรีสงคราม เนื่องจากได้รับแต่งตั้งจากหลวงปู่ศรีจันทร์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทรังสี และเป็นเจ้าคณะอำเภอ เมื่ออายุได้แค่ ๓๒ ปี

หลวงปู่ศรีจันทร์ได้แต่งตั้งให้พระปิยทัสสี (หลวงปู่สมพร ฐานยุตฺโต) หรือ หลวงปู่โกวิท เป็นเจ้าคณะตำบลวังสะพุงเขต ๒ ที่ว่างลง ท่านยังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตจังหวัดเลย เดินทางไปเผยแผ่ธรรมในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเลย

พ.ศ.๒๕๐๘ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทรังสี ตำบลศรีสงคราม อำเภอวังสะพุง สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้วัดเป็นอันมาก

องค์หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต ขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรม
องค์หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต ขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรม

องค์หลวงปู่โกวิท (หลวงปู่สมพร ฐานยุตฺโต) ขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรม ทำความเพียร โดยการกำหนดจิตพิจารณาพุทโธ……หลวงปู่กล่าวไว้ว่า..

“..เวลาเราทำความเพียรไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอนหรือทำการงานอะไรอยู่ก็ตามให้กำหนดรู้ พุทโธ ทุกลมหายใจเข้าออก เพื่อให้เรามีสติอยู่ตลอด ในเมื่อจิตกับสติชอบส่งออกข้างนอกหรือไม่นิ่ง องค์หลวงปู่เคยเขียนไว้และบอกลูกศิษย์อยู่เสมอว่า “จงพยามตล่อมจิต กับสติให้อยู่ร่วมกัน” นี่ก็เป็นอุบายธรรมที่ท่านได้กล่าวเอาไว้ เมื่อเรามีพุทโธ ภายในจิตใจแล้วไม่ว่าเราจะทำกิจการงานอันใดเราก็จะมีสติอยู่เสมอ ในทางพระเณรเราก็เหมือนกันการทำรวามเพียร ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน เราต้องกำหนดรู้พุทโธ เข้าออกทุกลมหายใจ เพราะจะทำให้เรามีสติมากขึ้น เพื่อไม่เราได้ส่งจิตออกข้างนอก..”

◎ ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๕๑๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูโกวิทสังฆภาร
พ.ศ.๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
พ.ศ.๒๕๔๗ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปิยทัสสี

◎ ลำดับการปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.๒๕๕๐ แต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด ฝ่ายธรรมยุต
พ.ศ.๒๕๕๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย ฝ่ายธรรมยุต

พระปิยทัสสี (หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต) มีความเคารพครูบาอาจารย์และพระสังฆาธิการชั้นผู้ใหญ่ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ ท่านให้ความสำคัญด้านการศึกษา รวมทั้งในเรื่องการปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป อีกทั้ง ใช้วัดจันทรังสี เป็นสถานที่จัดสอบธรรมสนามหลวง ต่อมาพระปิยทัสสีได้สร้างวัดป่านาอีเลิศ ตำบลวังสะพุง และตั้งโรงเรียนโกวิทยา สอนในสายสามัญและพระปริยัติธรรม โดยเป็นผู้จัดการโรงเรียน ส่วนครูอาจารย์ที่สอนก็เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ทั้งสิ้น เนื่องจากวัดป่านาอีเลิศเป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะในทางปฏิบัติธรรม แม้จะตั้งเป็นโรงเรียนสายสามัญและโรงเรียนพระปริยัติธรรม นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปสร้างวัดอีกแห่ง คือ วัดป่าผาเจริญ ตำบลวังสะพุง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

พระปิยะทัสสี หรือ หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มาตลอดระยะเวลากว่า ๖๐ พรรษา อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม คุณความงามความดี ประพฤติปฏิบัติดีมีคุณธรรมจริยธรรม จนกลายเป็นพระนักปฏิบัติที่มีลูกศิษย์มากมาย พระปิยะทัสสี เคยดำรงตำแหน่งทางด้านการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดเลย ในตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเลย และอดีตเจ้าคณะจังหวัดเลย ฝ่ายธรรมยุต เป็นผู้มั่นคงในวัตรปฏิบัติปฏิปทาในสายพระกรรมฐาน หรือพระวัดป่า สายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่โกวิท มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๒๒๑๙ น. สิริอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑

พระปิยทัสสี (หลวงปู่โกวิท ฐานยุตฺโต) วัดป่าผาเจริญ มรณภาพ

◎ โอวาทธรรม พระปิยทัสสี (หลวงปู่สมพร ฐานยุตฺโต)
ร้อนรนอยากลาสิกขา
“..กระสันใคร่สึกฯ ถูกความเกรียจคร้านครอบงำ..”

หลวงปู่สอนพระใหม่อยากสึกฯ
“..พระเณรเรานั้นอยู่ได้เพราะพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ และมีการรักษาใจและจิต ครูบาอาจารย์ให้รักษาและประคองจิต เพราะจิตนั้น ไปเร็วมาก ควบคุมอยู่ยากไปท่องเที่ยวที่นั่นที่นี่ และให้เราพยายามสำรวจและตล่อมจิต ไม่ให้ส่งออกไปท่องเที่ยวที่มีแต่กิเลสตัณหา เพราะข้างนอกมีแต่ความทุกข์ เราทั้งหลายจึงหาทางพ้นทุกข์ ขึ้นชื่อว่ากิเลสนั้น หยาบยิ่งนัก แต่…สุดที่จะห้ามและประคับประคอง เพราะวาระกรรมที่ต้องดำเนิน ในการครองเรือน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเป็นพระเณรแล้วต้องรักษาจิตและ รักษาข้อวัตรปฏิบัติ มีอาจาริยวัตร อคัตตุกะวัตร และพยายามละโทสะ โมหะ โลภะ ทำให้อย่างสม่ำเสมอจนถึงวินาทีสุดท้ายของการครองเพศบรรพชิต..”

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน