ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แสวง อมโร
วัดป่าชัยวารินทร์
อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
หลวงปู่แสวง อมโร ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๑ ที่แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
บิดาชื่อ นายทองใส กงหม้อ มารดาชื่อ นางประทุม กางนอก ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ทั้งหมด ๖ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๑ คน มีน้องชายเป็นคนสุดท้อง หลังจากท่านเกิดได้ ๓ ปีเกิดสงคราม ครอบครัวจึงได้ย้ายมาอยู่ฝั่งไทย ซึ่งมีญาติย้ายมาอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ที่บ้านหัวเมือง อําเภอยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ จังหวัดยโสธร) และหลังจากนั้นพอท่านอายุ ๗ ปี จึงย้ายมาที่ อําเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วจึงได้แจ้งเกิดเพื่อให้ถูกต้อง ดังนั้นปี พ.ศ. เกิดตามบัตรประชาชน จึงเป็น พ.ศ.๒๔๗๖ ดังนั้น ตามเดิมแท้ท่าน เกิดปี พ.ศ.๒๔๗๑
• คําพ่อสั่ง
เมื่ออายุ ๑๒ ปี ก่อนโยมบิดาจะเสียชีวิต ในฐานะที่เป็นคนชอบเข้าวัด ถือศีล ฟังเทศน์ ได้สั่งลูกชาย คือ พระอาจารย์แสวง ที่มีแววว่าชอบในทางพระ เคยติดตามโยมบิดาไปวัดด้วยเป็นประจําว่า “สูต้องบวชให้ข่อยเน้อ บ่บวชหลาย เอาจั๊กพรรษาหนึ่งก็ยังดีหลายอยู่” คําของโยมบิดาไม่มีวันลืม พระอาจารย์แสวง ตอนนั้นยามว่างจากช่วยโยมมารดาประกอบอาชีพ ก็มักไปเที่ยวเล่นที่วัด สนิทสนมกับพระเณรที่วัดใกล้บ้านเป็นอันดี เพราะมีนิสัยชอบในทางพระมาตั้งแต่โยมบิดายังมีชีวิตอยู่
• ได้โอกาสจึงลาโยมแม่
ปี พ.ศ.๒๔๘๙ อายุ ๑๘ ปี ก็ลาโยมมารดาไปเยี่ยมญาติ ข้างโยมบิดาที่เวียงจันทน์ สมัยนั้นการไปมาสะดวกเพราะถือกันมาว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง โขงสองฝั่งเหมือนดั่งฝั่งเดียวทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทย ทํางานอยู่ ๒ ปี พอมีเงินกีบเก็บไว้ได้หลายอยู่ โยมมารดากับน้องชายคนเล็กก็ตามไปหา เลยฝากน้องชายให้ได้ทํางานด้วยกัน เมื่อเห็นโอกาสเหมาะว่าโยมมารดาจะอยู่กับน้องชายที่ทํางานได้แล้ว ไม่เดือดร้อน ซึ่งพูดกับโยมมารดาว่า “จะขอบวช” เพราะโยมบิดาได้สั่งไว้ โยมมารดาก็ว่า “เจ้าซิบวชตามพ่อสั่งก็ดีอยู่ แต่ผู้ใดจะอยู่เลี้ยงดูแม่ น้องชายเจ้าเพิ่งเข้าเฮ็ดงาน เงินเดือนก็ยังไม่พอเลี้ยงกัน เจ้าควรหาเงินคําไว้ให้แม่สักก้อนหนึ่ง จึงจะไม่ต้องห่วง”
เมื่อได้รับอนุญาตจากแม่แล้วก็ดีใจหลาย รวบรวมเงินได้ ๕๐,๐๐๐ กีบ มอบให้แม่ไว้ ในช่วงนั้นก็ได้พากันข้ามฝั่งไทย กลับมาอยู่ที่บ้านไผ่ มารดาก็เตรียมเครื่องไทยทานที่จะใช้ในการบวช โดยตั้งใจว่า จะให้บวชที่วัดข้างบ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายมหานิกาย การบวชแบบมหานิกายนี้นอกจากอัฐบริขารแล้ว ยังต้องเตรียมที่หลับที่นอน หมอนเสื่ออีกหลายชุด พร้อมทั้งเครื่องไทยทาน ครบตามประเพณี เรียกว่าเป็นงานใหญ่ บอกญาติพี่น้องทั้งใกล้ไกลอย่างทั่วถึง
• ไม่อยากบวชให้ตกนรก
หนุ่มแสวง ก็ไปมาหาสู่เณรที่วัดข้างบ้าน ที่ตนจะเข้าไปบวชเพราะพระเณรที่วัดนั้นเคยรู้จักชอบพอกันมา แต่ครั้งยังไม่ไปทํางานที่ราชอาณาจักรลาว ไปแต่ละครั้งก็มักมีน้ำอัดลม ลูกอม ติดไปถวายพระเณรด้วย แต่พระเณรมักเอาเงินให้ไปซื้อไก่ย่าง ข้าวนึ่ง หรือไม่ก็ขนมปัง นมกระป๋อง มาล้อมวงฉันกันในตอนเย็นหรือตอนค่ำ เสร็จแล้วก็เล่นกําถั่วกันสนุก หนุ่มแสวงเคยไปอยู่ประเทศลาว ได้เห็นปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานที่เคร่งครัดเป็นพระสุปฏิปันโนมาแล้ว ไปเห็นความประพฤติของพระเณรวัดข้างบ้านเป็นอย่างนั้นก็ไม่สบายใจ พระศีลไม่ครบ ๒๒๗ ข้อ เณรศีลไม่ครบ ๑๐ ข้อ เห็นจะไม่ชอบด้วยธรรมวินัย เมื่อกลับบ้านจึงไปพูดกับโยมมารดาว่าตนจะไม่บวชที่วัดข้างบ้าน และเล่าพฤติการณ์ของพระเณรให้โยมมารดาฟัง บอกว่า “ข่อยจะบวชให้แม่ ก็หวังจะได้บุญ ได้ไปสวรรค์วิมาน โยมบิดาที่สั่งให้บวชก็หวังเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ก็เห็นว่าการบวชที่วัดนี้ ก็จะต้องปฏิบัติตามอย่างเขา ข่อยก็จะต้องตกนรก แม่ก็ต้องตกนรก พ่อก็จะพลอยตกนรกด้วย” มารดาฟังแล้วก็เห็นจริงแต่งานก็เตรียมเอาไว้แล้ว พี่น้องก็บอกกันไปแล้ว พระอุปัชฌาย์ก็บอกฝากฝังท่านไว้เรียบร้อยแล้วจะเฮ็ดจั่งได่
หนุ่มแสวงก็บอกว่า เรื่องนี้ไม่สําคัญบอกเลิกเขาไปก็ได้ ที่สําคัญก็คือจะต้องไปตกนรกข่อยไม่ยอมบวชแน่ๆ จะขอ เอาแต่ผ้าไตรจีวรกับบริขารไปบวชที่เวียงจันทน์ประเทศลาว ไม่ต้องมีพิธีหรือของไทยทานอะไรมาก เมื่อแจ้งความประสงค์เช่นนี้ โยมมารดาก็ต้องยอม
• ฝึกตนก่อนบวช
ปี พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านอายุได้ ๑๙ ปี พาโยมมารดาไปอยู่กับน้องชาย ตัวท่านก็หอบผ้าไตรบริขารไปนมัสการท่านพระอาจารย์อ่อนสี นาหิโย ที่วัดจอมไต แขวงเมืองเวียงจันทน์ กราบลงแสดงความประสงค์จะขอบวช พระอาจารย์อ่อนสี ท่านเป็นพระปฏิบัติในสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพิจารณาดูแล้ว ก็ยินดีรับ แต่บอกว่าจะอุปสมบทเป็นภิกษุเลยนั้นไม่ได้ ต้องบวชเป็นผ้าขาวเสียก่อนอย่างน้อย ๑ ปี เมื่อบวชเป็นตาปะขาวถือศีล ๘ เป็นวัตรแล้ว ก็จะต้องศึกษาเล่าเรียนวัตรต่างๆ ที่พระภิกษุควรปฏิบัติ ตลอดธุดงควัตรให้เข้าใจเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะได้ประพฤติเป็นพระได้สมบูรณ์ เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าเป็นสมณะแท้ เป็นเนื้อนาบุญของชาวบ้าน ไม่ให้ชาวบ้านเขาตําหนิได้ว่า เป็นพระแต่ผ้าเหลือง เพราะต้องอาศัยชาวบ้านเขากิน ถ้าไม่ปฏิบัติในธรรมวินัยมันจะเป็นบาปแก่ตนเอง หนุ่มแสวง ได้ฟังพระผู้เฒ่าอาจารย์อ่อนสี ว่าดังนั้น ก็ยินดีบวชเป็นตาปะขาวก่อน และบวชในวันนั้นเพราะตั้งใจมาเด็ดเดียวแล้ว
• บอกวัตรฝึกปฏิบัติ
ครั้นบวชแล้ว ก็ต้องปฏิบัติรับใช้ใกล้ชิดพระอาจารย์มาตลอด ท่านก็เมตตาพร่ำสอนในข้อวัตรต่างๆ ให้ท่องบทสวดมนต์เจ็ดตํานาน พระวินัยสําหรับจะเข้าครองผ้ากาสาวพัสตร์และสอนธุดงควัตร ๑๓ ว่าจะปฏิบัติอย่างไร นอกจากนั้นยังได้ให้เริ่มภาวนา “พุทโธ” สอน ให้รู้จักการเดินจงกรม นั่งเหนื่อยเมื่อยล้าก็ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม การยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถต้องบริกรรมพุทโธ
• นอนอย่างพระ
สําหรับการนอนนั้น ไม่ใช่นอนตามใจชอบ ต้องนอนอย่างมีสติ การใช้ท่านอน แบบสีหไสยาสน์เป็นประจํา และก่อนจะเอนตัวลงนอนให้ตั้งใจอธิษฐานว่า “เราจะไม่นอนเพื่อบํารุงกิเลส” การนอนถือเป็นการพักผ่อนช่วงระยะหนึ่ง เพื่อไม่ให้เกิดเวทนาเก่า ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง เวทนาก็จะเกิดขึ้นจักทนไม่ไหว แต่เมื่อเรารู้สึกตื่นขึ้นเมื่อไหร่ เราก็จะประกอบความเพียรต่อ ขณะที่รู้สึกตื่นขึ้นนั้นการลุกขึ้นก็อย่าพรวดพลาดลุก ให้สังเกตด้วยว่าอิริยาบถนอน ท่าสีหาไสยาสน์เปลี่ยนไปจากเดิมหรือเปล่า หรือเคลื่อนไปสู่ท่าอื่น ถ้ามันเปลี่ยนไปก็แสดงว่า การนอนนั้นยังขาดสติอยู่ จากนั้นก็ให้สํานึกว่าเราเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นนอน เพราะระงับเวทนาได้บ้างแล้ว จะขอเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ เช่น ลุกขึ้นนั่งกราบพระ ๓ ครั้ง ตั้งอธิษฐานจิตว่า ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ด้วยอํานาจบารมีของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ จงดลบันดาล ให้จิตของข้าพเจ้ารวมลง เป็นหนึ่ง และขอให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริง ที่พระองค์ได้ตรัสรู้แจ้งซึ่งอริยสัจ ๔ เมื่อจิตของเราไม่สงบ เราจะไม่หยุดบริกรรมภาวนา
• ฝึกจิตนอกวัด
นอกจากท่านอาจารย์อ่อนสี จะปูพื้นฐานทางจิตให้แก่ ศิษย์ของท่านอย่างแน่นหนาแล้วเมื่อมีโอกาสก็จะพาไปฟัง ธรรมจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ เพื่อให้ได้อุบายธรรมให้มากยิ่งขึ้น บางทีก็พาไปฝึกสมาธิในป่าช้าที่มีคนตายใหม่ ๆ หรือเพลาอยู่บนเชิงตะกอนยังไหม้ไม่หมดโดยจะให้ไปปักกลดบําเพ็ญพิจารณาซากศพนั้นทางห่างกัน แต่บางครั้งท่านก็ให้ไปองค์เดียว นับเป็นการฝึกจิตที่สําคัญมาก ให้ผจญกับความกลัวแทบขาดใจตายก็มี ตอนนั้นยังบวชเป็นผ้าขาวอยู่
• กราบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ขณะนั้นเองที่ตาผ้าขาวแสวง ได้อยู่ปฏิบัติหลวงปู่อ่อนสี นาหิโย ที่วัดจอมไตร บ้านดงนาโซก แขวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว หลวงปู่อ่อนสี ได้ฝากผ้าขาวแสวงไว้กับท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เข้ากราบนมัสการหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในเวลาที่เข้าไปกราบหลวงปู่มั่น เมื่อเจอครูบาอาจารย์ ด้วยความเคารพรักในตัวพ่อแม่ครูบาอาจารย์ จึงได้ขอโอกาสให้ผ้าขาวจับเส้นให้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่แสวง ได้เล่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ได้มีโอกาสจับเส้นให้หลวงปู่มั่น ท่านกล่าวกับท่านพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ว่า “เออ ผ้าขาวนี้จับเส้นดีนะ เราขอจะว่ายังไง” หลวงปู่จูม พนฺธุโล ตอบว่า “แล้วแต่ผ้าขาว” จากนั้นผ้าขาวแสวงจึงได้อยู่ปฏิบัติอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นนับแต่นั้น ในช่วงที่ยังเป็นผ้าขาวอายุ ๑๙ ปี ได้อยู่ที่วัดหนองผือนาในเป็นเวลา ๑ พรรษา ช่วงที่อยู่วัดหนองผือนาใน ผ้าขาวแสวงยังได้พบเห็นพ่อแม่ครูอาจารย์พระเถระที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่นหลายๆ รูป และท่านเองเคยได้จัดเตรียมและประเคนบาตรให้ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ก่อนออกไปบิณฑบาตด้วย
เมื่อผ้าขาวแสวง อายุใกล้ครบ ๒๐ ปี ถึงกําหนดอายุในการอุปสมบทแล้ว ผ้าขาวแสวงจึงลาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) กลับไปหาหลวงปู่อ่อนสี นาหิโย ที่วัดจอมไตร ประเทศลาว เพื่อแจ้งข่าวต่อหลวงปู่อ่อนสี นาหิโย แต่เมื่อกลับไปถึงวัดจอมไตร ไม่นานก็ทราบข่าวการละสังขารของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ และได้กลับมาช่วยงานถวายเพลิงหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ในปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลังจากเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนครแล้ว ก็ได้กลับไปวัดบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอรุณรังษี จังหวัดหนองคาย และจําพรรษา ๑ พรรษา
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ลาพระอุปัชฌาย์ กลับวัดจอมไตรเพื่อไปกราบพระอาจารย์อ่อนสี นาหิโย และแจ้งข่าวแม่กับน้องเรื่องการบวชที่ฝั่งลาว
ในปี พ.ศ.๒๔๙๔-๒๔๙๕ กลับมาที่วัดจอมไตร แต่ต้องรอไปอีก ๕ ปี ถึงจะอุปสมบทได้ เนื่องจากปีเกิดตามทะเบียนบ้าน เป็นปี พ.ศ.๒๔๗๖ ซึ่งช้ากว่าปีเกิดจริงถึง ๕ ปี
• จากผ้าขาวเป็นพระภิกษุ
จนล่วงถึง ปี พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงปู่อ่อนสี จึงได้พาสามเณรแสวง เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดอรุณรังษี โดยมี พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) ซึ่งตอนนั้นยังเป็นท่านเจ้าคุณวิชัยมุนี เจ้าคณะภาคฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทให้ตอนนั้น อายุตามบัตรประชาชนท่านประมาณ ๒๒ ปี ครั้นบวชแล้วก็กลับมาอยู่ที่วัดจอมไตรกับท่านพระอาจารย์อ่อนสี นาหิโย ตามเดิม
• จิตจดจ่อก็เพราะกลัว
ท่านพระอาจารย์แสวง ท่านบอกว่า ตามธรรมดาจิตมันชอบท่องเที่ยวไปหาทุกหาเรื่องมาใส่ตน เมื่อไปฝึกอยู่ป่าช้า หรือที่มีสัตว์ร้ายชุกชุม จิตมันก็ไม่แส่ส่ายไปตามอารมณ์ภายนอกหรือตามอดีต อารมณ์หรือที่มีสัญญาจําได้หมายรู้มาในอดีต มันมีแต่ความกลัว กลัวผี กลัวสัตว์ จิตมันก็หยุดนิ่งได้ง่าย รวมตัวเป็นหนึ่งได้ง่าย ปัญญาก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้
“พระนักปฏิบัติจึงชอบออกธุดงค์ นับเป็นอุบายธรรมที่สาวกของพระพุทธองค์ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธกาล ท่านเล่าถึง ครั้งหนึ่งหลวงปู่อ่อนสี ท่านสั่งให้เข้าไปนั่งในป่าช้าใกล้ๆ กับที่เขาเอาศพมาเผาใหม่ ๆ ไฟยังไม่มอด การเผาศพสมัยนั้นเขาเอาฟืนมากองทับกันจนสูง ศพก็ไม่มีโลงใส่ ใช้ไม้ไผ่ผ่าซีกถักเป็นเปลือกหุ้มมาเท่านั้น มาถึงก็เอามาวางบนกองฟืนเอา ไม้ฟืนทับเข้าไปอีก แล้วก็จุดไฟเผา ท่านไปนั่งโดยไม่มีกลด เอาเสื่ออาสนะไปผืนเดียวปูเข้า นั่งห่างจากศพที่กําลังมีไฟลุกอยู่ไม่เกินสี่วา ขณะนั่งสํารวมจิตหลับตาภาวนาอยู่แล้ว ได้ยินเสียงเหมือนสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเดินย่ำอยู่บนใบไม้ ดังกรอบแกรบ ๆ ก็คิดว่า ผีมันมาเล่นงานเข้าแล้ว เกิดความกลัวจนขนลุกซ่านไปทั้งตัว จะหนีก็ไม่กล้าหนี กลัวอาจารย์จะถามว่าหนีทําไม ไปตอบว่าหนีเพราะกลัวผี เป็นนักปฏิบัติก็สอบตก แต่รู้สึกกลัวอาจารย์มากกว่ากลัวผี เลยตั้งใจเด็ดขาดว่าตายเป็นตายไม่ยอมหนี ก็มีความสงสัยว่าอะไรกันแน่ เมื่อสงสัยก็ต้องดูให้รู้จึงลืมตาขึ้นดู ที่แท้ก็เป็นอีเก้งกําลังหาอาหารกินอยู่ ไม่มีผีสางที่ไหน ก็เลยหายกลัว นั่งหลับตาบริกรรมภาวนาต่อไป พร้อมกับคิดว่า เราเข้าใจผิดไปเอง ที่ป่าช้านี้ติดกับป่าใหญ่ สัตว์ป่ายังชุกชุมอยู่ ไก่ป่าก็มีเป็นร้อย
• อสุภะธรรม
เลยพิจารณาเรื่องผีคําว่าผีมาจากไหน ได้ความคําที่เรียกว่า “ผี” นั้น เป็นคําสมมติขึ้นมาเฉย ๆ คนตายนั้นไม่ได้เป็นผีหรือเป็นอะไรเลย เพียงแต่เปลี่ยนสภาพไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุทั้ง ๔ ตามเดิมเท่านั้น ครั้นกลับย้อนมาดูตัวเอง เราก็เหมือนกับเขา ที่พึ่งตายไปใหม่ ๆ ก็ต้องเป็นอย่างเขา จะพ้นความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อเกิดความรู้เช่นนี้ขึ้น ก็ได้รับธรรมสังเวช สลดจิต ขึ้นชื่อว่าเกิดต้องมีความดับในบั้นปลายไม่มีข้อสงสัยเลย จิตก็เลยสงบแน่วดิ่งลงปรากฏเป็นภาพนิมิตขึ้นมา เห็นเป็นภาพศพคล้าย ๆ กับที่เขากําลังเผา ครั้นพิจารณาดู ก็เป็นซากศพสังขารของเราเองอยู่พักหนึ่งก็หายไป นับเป็นการเห็นอสุภกรรมฐานครั้งแรก
• ประตูสู่อริยมรรค
เมื่อเลิกจากนั่งสมาธิประมาณยาม ๒ ก็เดินกลับไปที่พัก ไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟังตอนเช้า ท่านก็บอกว่า เดินทางถูกแล้ว จงเอานิมิตนั้นแหละ มาพิจารณาไปทุกวันทุกคืน จะได้รับความสลดสังเวชเห็นโทษของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เบื่อหน่าย ในอัตภาพร่างกายที่เรามายึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นของเรา ความเห็นผิดนี้ จะหายไปจากจิตใจของเรา ไม่ต้องมาเที่ยวเกิดเที่ยวตาย แบกซากแบกศพอันเป็นของปฏิกูล โสโครก น่าเกลียดน่าขยะแขยง
เมื่อมาพิจารณาตามคําแนะนําของท่านอาจารย์ ดูที่สติตัวรู้ มันก็จะเห็นภาพชัดเจน เป็นซากศพหลับตาก็เห็นลืมตา ก็เห็น ยังเห็นคนที่ตายแล้วมากองทับถมกันอยู่ คนๆ เดียวกันนั่นแหละมาตายซับตายซ้อนมากมายนัก ไม่รู้ว่าตายมากี่ร้อยกี่พันครั้งได้แล้ว ที่เรายึดมั่นถือมั่นว่ามันสวยมันงาม มันเปลี่ยนไปไม่สวยงามอะไรเลย บ้างก็ยังมีเนื้อหนัง ขึ้นอืดน้ำเหลืองไหลน่าสะอิดสะเอียนขยะแขยง บ้างก็มีแต่โครงกระดูก บ้างก็แยกย้ายกันอยู่ เป็นท่อนเล็กท่อนใหญ่
มันเห็นตรงข้ามกับชาวโลกเขา สวนทางความคิดกับชาวโลกเขา เป็นการเห็นแท้เห็นจริงไม่อิงตํารา เห็นแล้วจิตก็คลายการยึดถือ ไม่ยึดไม่ติด เห็นก็สักแต่ว่าเห็น จิตมันก็หลุด เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มี มันเป็นอย่างนี้ เป็นปัจจัตตัง เห็นเฉพาะตัวจริงๆ แต่การเห็นชัดอย่างนี้ ก็อย่าไปเข้าใจว่ากิเลสมันหมดแล้ว มันยังไม่หมดง่ายๆ หรอก กิเลสละเอียดฝังลึกอยู่ เพียงแต่เดินถูกทางเท่านั้น การละวางกิเลสให้ถึงความหลุดพ้น ยังจะต้องทําต่อไปอีก
• หลวงปู่อ่อนสี นาหิโย ละสังขาร
ในระหว่างนั้นหลวงปู่อ่อนสี ได้อาพาธเป็นวัณโรคชนิดร้ายแรงอยู่ในระหว่างอันตราย พระแสวงจึงได้มีโอกาสช่วยรักษาพยาบาล บางครั้งก็ต้องข้ามกลับมาซื้อยาที่ฝั่งไทยนําไปรักษา แต่อาการก็ไม่ทุเลาลงเพราะอยู่ในขั้นหนักมากแล้ว ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ท่านมีความเคารพเลื่อมใสกันอยู่ ก็ได้ไปเยี่ยมให้การดูแลรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีจนถึงที่สุด
ปี พ.ศ.๒๔๙๙ หลวงปู่อ่อนสี นาหิโย ก็ได้ละสังขารด้วยโรควัณโรค โดยมีท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เป็นประธานในการจัดงาน บรรดาพระภิกษุสามเณรและญาติโยมชาวบ้าน ตลอดทั้งบุคคลชั้นนําของประเทศลาวก็ได้มีมติให้ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เป็นประธานสงฆ์ดําเนินงานจัดการเรื่องศพของหลวงปู่อ่อนสี นาหิโย เมื่อได้จัดบําเพ็ญกุศลตามประเพณีพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงได้จัดงานถวายเพลิงศพอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสมเกียรติที่สุด
เมื่อได้จัดการถวายเพลิงศพหลวงปู่อ่อนสี เสร็จเรียบร้อยลงแล้ว ท่านพระอาจารย์สมชายก็ตั้งใจว่าจะนําพาหมู่คณะไปหาสถานที่บําเพ็ญตามสถานที่วิเวกในเมืองลาวนั้นไปเรื่อยๆ แต่พระภิกษุสามเณรและประชาชนชาวบ้านได้พร้อมใจกันมาขออาราธนานิมนต์ให้ท่านได้เป็นประธานบริหารวัดจอมไตรในประเทศลาวแทน ท่านพระอาจารย์สมชาย พร้อมด้วยคณะของท่านจึงได้อยู่ที่วัดจอมไตรเพื่อฉลองศรัทธาพระภิกษุสามเณรและประชาชนต่อมาอีกระยะหนึ่ง
ผ่านไป ๑ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีการจัดงานครบรอบวันละสังขารของ หลวงปู่อ่อนสี นาหิโย และได้มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์หลายรูปได้ให้ความเมตตามาร่วมงานโดยไม่ได้กราบอาราธนานิมนต์ เป็นครั้งแรกหลังจากออกจากวัดหนองผือที่ได้เจอหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ตั่งแต่สมัยเป็นผ้าขาวที่ได้เจอท่าน นอกจากนี้ยังมีหลวงปู่ขาว อนาลโย ,หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ,พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นต้น
หลังจากงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระแสวง อมโร รู้สึกถูกจริตนิสัยกับท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ และได้ออกขอโอกาสธุดงค์กับท่านพระอาจารย์จวนไปยังภูผา ถ้ำ ป่าต่างๆ อันเหมาะแก่การบําเพ็ญเพียรสมณะธรรมภาวนา
• บุกป่าฝ่าดงไปภูเขาควาย
ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ชวนเดินธุดงค์ไปภูเขาควาย เพราะเคยอยู่ในประเทศลาวมาก่อน ไปด้วยกัน ๔ องค์ มีผ้าขาวไปด้วยอีกคนหนึ่ง เณรองค์หนึ่งมีศรัทธาเอารถไปส่งแค่เชิงเขา ออกจากนั้นก็เดินกันไป ผ่านหมู่บ้านที่ฝรั่งเคยมาทําไร่ เช้าขึ้นก็อาศัยบิณฑบาตกับคนงานที่กําลังทําถนน เดินอยู่ ๓ วันกว่าจะขึ้นไปถึงหลังเขาได้ ที่หลังเขานี้ มีพวกแม้วอาศัยอยู่เป็นหมู่ ทําการปลูกฝิ่น ปลูกข้าวไร่ ไปพักอยู่ที่บ้านเนินเสาเอ้ เวลาไปบิณฑบาต พวกแม้วเขาก็ใส่บาตรให้มีแต่ข้าวเปล่า ความจริงอาหารเนื้อสัตว์เขาอุดมสมบูรณ์มาก เก้งกวางตากแห้งก็มี แต่เขาไม่ให้ใส่ให้ เป็นข้าวไร่หอมน่ากิน เราเป็นพระ จะขอเขาก็ไม่ได้เขาให้อย่างไรก็ยินดีอย่างนั้น บังเอิญผ้าขาวมีน้ำปลาใส่ย่ามไปด้วยก็ได้ฉันข้าวคลุกน้ำปลา พักอยู่ ๒ วัน จึงถามชาวแม้วว่า ขึ้นเขาไปอีก ยังมีหมู่บ้านหรือไม่ เขาบอกว่ามี แต่อยู่สูง ขาดแคลนน้ำ จึงพากันเดินทางต่อไปอีก ๑ วัน เป็นเวลาประมาณ ๔-๕ ทุ่มจนถึงหมู่บ้านแม้ว
ไปพบแม้วหนุ่ม ๒ คน พอพูดกันรู้เรื่องเพราะเคยไปทํางานอยู่ที่เวียงจันทน์ ถามเขาว่าแถวนี้มีถ้ำไหม ขอให้เขาพาไป ต้องเดินต่อไปกลางดึก เป็นระยะทาง ๓ กิโลเมตรจึงถึง และต้องพักผ่อนในถ้ำที่เดียวกันเพราะมันมืดดึกดื่นแล้ว สวดมนต์ ทําสมาธิเสร็จแล้ว ต่างก็จําวัด เพราะเดินทางกันมาไกลมีความเหน็ดเหนื่อยอยากจะพักผ่อน นอนไม่เท่าไรได้ยินเสียงหนุ่มแม้วมาเรียกถามว่ามาทําไมอีก ยังดึกอยู่เขาบอกว่าเอาข้าวมาให้ฉันตุ๊เจ้าจะหิวข้าว ตอนนั้นตี ๓ เท่านั้น จะฉันได้ยังไงจึงให้เขาวางไว้ก่อน รุ่งเช้าก็พากันไปบิณฑบาตที่หมู่บ้าน เขาก็ใส่ข้าวเปล่ามาให้อีกตามเคย น้ำปลาของตาปะขาวก็หมดแล้ว ต้องฉันข้าวแล้วดื่มน้ำตาม
• จําต้องกลับ
จุดประสงค์ของท่านพระอาจารย์จวน ที่ขึ้นภูเขาควายมาครั้งนี้ ก็เพื่อจะเดินทางไปให้ถึงประเทศอินเดีย เพื่อไปนมัสการสังเวชนียสถานของพระบรมศาสดา ครั้นถามทางดูทราบว่า หมู่บ้านของชาวแม้วที่นี่เป็นหมู่บ้านสุดท้าย ต่อไปไม่มีหมู่บ้าน ที่จะอาศัยได้อีกแล้วทางลําบากต้องขึ้นภูเขาสูงชันขึ้นไปเรื่อย ๆ น้ำท่าก็อัตคัด เพราะอยู่ในที่สูง ขึ้นไปก็เห็นจะไม่รอด เพราะฉันข้าวเปล่ากันมาหลายวัน ทางข้างหน้าข้าวเปล่าก็จะไม่มีฉัน จึงตกลงใจเดินทางกลับทางเก่า แต่ก็พักอยู่ที่ถ้ำนั้นอีกหลายวัน เพราะสถานที่ถ้ำอยู่หลายถ้ำเหมาะแก่การทําความเพียร
พระอาจารย์จวนท่านให้แยกย้ายกันไปอยู่ เพื่อจะได้รับความสงัดวิเวก ไม่มีการคุยกัน ท่านเตือนว่า มาอยู่ในสถานที่นี้ ช้างก็มาก เสือก็ชุม อย่าได้มีความประมาท ให้เร่งความเพียร บริกรรมภาวนาให้มาก ถ้าไม่ปฏิบัติกัน เสือมันจะกินเอา เดินทางกลับเลาะลัดไปตามไหล่เขาบ้าง พื้นที่ราบที่มีหมู่บ้านบ้าง พอได้อาศัยบิณฑบาต อยู่ในเขตประเทศลาวเป็นเวลา ๒๐ วัน จึงมาถึงอําเภอบึงกาฬ (จังหวัดบึงกาฬ ปัจจุบัน) ข้ามโขงเข้าประเทศไทย รวมระยะทางกว่า ๓๐๐ กิโลเมตร
หลวงปู่แสวงได้เป็นผู้ร่วมสร้างสะพานไม้รอบภูทอก แต่มีจุดหนึ่งที่มีสะพานหินธรรมชาติเชื่อมไปยังเขาโดดลูกเล็ก ที่มีลักษณะคล้ายเห็ดที่แยกตัวออกไปจากภูทอก หลวงปู่จวนบอกกับลูกศิษย์ว่า ใครหาวิธีเชื่อมทางเขาสองลูกนี้ได้ เราจะให้ผ้าจีวรเนื้อดีแก่ผู้นั้น
หลวงปู่แสวงก็หาวิธีจนได้ โดยทำเชือกผูกเป็นบ่วงโยนค่อมไปที่เขาลูกนั้น แล้วหย่อนเชือกลงไปให้สามเณรที่ตัวเบาๆ ผูกกับเอว แล้วค่อยๆ ไต่ขึ้น ท่านว่าพวกสามเณรนั้นไม่มีใครกลัว ต่างก็ชอบเล่นกันเป็นของสนุก ทั้งพระทั้งเณรต่างช่วยกันสกัดหินทำสะพานไม้เชื่อมต่อเขาสองลูกจนสำเร็จ เขาลูกนี้เป็นที่ทราบกันในชื่อว่า”พุทธวิหาร”ซึ่งอยู่บริเวณชั้นที่ ๕ ของภูทอก
หลวงปู่แสวง ท่านเล่าอีกว่า สมัยหนึ่งภาวนาอยู่กับหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ ช่วงเช้าได้ออกไปบิณฑบาต ระหว่างทางเห็นเศษผ้าขี้ริ้วเก่าๆ ถูกทิ้งไว้ องค์ท่านก็พิจารณาว่า แต่ก่อนผ้านี้ก็เคยเป็นของใหม่ที่ขาวสะอาด ทุกคนต้องการนำไปใช้สอยได้อยู่ แต่พอใช้ไปนานๆ ไปผ้าก็เก่าก็ขุ่นมัวเสื่อมสภาพไม่มีใครต้องการ ก็ถูกทิ้งร้างอย่างนี้
ก็เปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์เรา แต่ก่อนก็ยังแข็งแรงดีสดชื่นอยู่ เมื่อเจริญวัยใช้งานไปก็เสื่อมก็ถอยไปตามสังขารผุเน่าไปไม่มีใครต้องการ ขณะเดินบิณฑบาตท่านก็พิจารณาธรรมของท่านไปเรื่อยๆ พอมาถึงหมู่บ้านท่านก็เห็นญาติโยมที่มารอตักบาตรมีร่างกายเป็นอสุภะมีแผลผุผองเน่าเปื่อยให้ท่านเห็น หลวงปู่แสวงท่านจะเดินไปที่ไหนๆ ก็มองเห็นเป็นปฏิภาคนิมิตเมื่อกลับมาถึงวัด จึงได้ไปกราบเรียนหลวงปู่จวน หลวงปู่จวนท่านก็ให้พิจารณาอสุภะกรรมฐานนี้ไม่ให้ขาด หลวงปู่แสวงท่านก็พิจารณาอยู่จนติดตาอย่างนี้เรื่อยๆ เพียงไม่กี่วันก็บรรลุธรรม
ปัจจุบัน หลวงปู่แสวง อมโร พักรักษาอาพาธภายในห้องปลอดเชื้อ วัดป่าชัยวารินทร์ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น สิริอายุ ๙๒ ปี ๖๕ พรรษา (๒๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓)
อ้างอิง : หนังสือ “อัตโนประวัติโดยสังเขปและแสงส่องธรรม หลวงปู่แสวง อมโร ที่ระลึกในงานมุทิตาสักการะพระครูพิพัฒนสารคุณ (หลวงปู่แสวง อมโร) วัดป่าชัยวารินทร์ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ; พิมพ์เมื่อ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน