ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แสน ปสันโน
วัดบ้านหนองจิก
อ.ขุญหาญ จ.ศรีสะเกษ
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่แสน ปสันโน นามเดิมชื่อ แสน คุ้มครอง เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำเดือน ๑๐ ปีมะแม ณ บ้านโพรง ต.ไพรบึง อ.ขุขันธ์ จ.ขุขันธ์ (ปัจจุบัน ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ) บิดาชื่อ เอี้ยง และมารดาชื่อ ผัน คุ้มครอง มีพี่น้องรวม ๖ คน
◎ บรรพชา อุปสมบท
เมื่อครั้งยังเด็กเป็นลูกศิษย์อยู่ที่วัดบ้านโพรงและพี่ชาย ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านโพรงในสมัยนั้น ให้การเลี้ยงดู เรียนจบ ชั้น ป.๔
ต่อมาได้บรรพชาที่วัดบ้านโพรง และได้ไปศึกษาเรียนหนังสือกับหลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ วัดปราสาทเยอใต้ พระเกจิชื่อดัง ทั้งได้ศึกษาตำราพระเวททั้งภาษาขอมและภาษาธรรมด้วย เดินทางไปมาระหว่างบ้านปราสาทเยอใต้และบ้านโพรง
กระทั่งอายุ ๒๑ ปี เข้าพิธีอุปสมบท และยังคงเรียนวิชากับหลวงพ่อมุม อินฺทปญฺโญ อย่างต่อเนื่อง
หลวงปู่แสน ท่านได้เอาใจใส่ฝึกฝน วิชาความรู้ต่างๆ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์จนมีความเชี่ยวชาญทางด้านวิปัสสนากรรมฐาน
ครั้นอายุ ๒๔ ปี ได้ลาสิกขาเพื่อมาช่วยงานทางบ้านที่มีฐานะยากจนเป็น “หมอธรรม” (ภาษาพื้นบ้านอีสาน หมายถึง ผู้เรียนคาถาอาคมทางพุทธเวทและไสยเวท อาจเป็นฆราวาสหรือพระภิกษุ ที่ปฏิบัติตัวอยู่ในคุณธรรม มีศีลมีธรรม และช่วยเหลือผู้คนในชุมชนจนเป็นที่เคารพนับถือ) ได้ศึกษาอยู่กับ หมอธรรมญา บ้านหนองหญ้าปล้องเป็นระยะเวลาหลายปีเพื่อรักษาคน ปฏิบัติธรรม ช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วย ขณะที่เป็นคาราวาส
ยามเว้นว่างจากการทำเกษตรกรรม ก็ชักชวนเพื่อนหมอธรรมด้วยกันเดินทางไปเขมร เพื่อศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม ได้พบพระผู้ใหญ่และพระอาจารย์จากทางเขมรมากมาย โดยเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือและรักษาผู้คนเท่านั้น
◎ อุปสมบทครั้งที่ ๒
เมื่อหมดภาระทางบ้าน กลับเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง โดยไปจำพรรษาที่บ้านกุดเสล่า อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แต่ยังคงปฏิบัติธุดงค์ มักออกธุดงค์ไปตามเทือกเขาพนมดงรักเป็นนิตย์
ต่อมาหลวงตาวัน สหธรรมิกรุ่นน้องได้ไปกราบนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัด โดยเจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์ อนุญาตให้หลวงปู่แสนไปอยู่ที่วัดอรุณสว่างวราราม (วัดบ้านกราม) แต่ด้วยท่านรักสมถะ ปีต่อมาจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์โนนไทย (วัดกูไทยสามัคคีในปัจจุบัน) อยู่ถึง ๓ ปี
กระทั่งเห็นสภาพวัดบ้านหนองจิก ที่จะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากมีพระภิกษุจำพรรษาน้อยและไม่มีผู้ดูแลพัฒนา ท่านจึงย้ายจากสำนักสงฆ์โนนไทย ไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองจิกและทำนุบำรุงวัดจนวัดมีพระเข้ามารับช่วงต่อ จำพรรษาอยู่เป็นเวลา ๔ ปี โยมญาติจากวัดบ้านโพรง ที่ท่านบวชเป็นสามเณร เดินทางมานิมนต์ให้ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพัฒนา
ซึ่งก็ได้รับความเมตตาไปจำพรรษาที่วัดบ้านโพรง ทำนุบำรุงวัดจนเจริญขึ้น
พออายุย่างเข้า ๙๓ ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดในช่วงนั้น จนเมื่อหลวงปู่แสน อายุ ๙๗ ปี ลูกหลานเป็นห่วงสุขภาพ จึงพาชาวบ้านไปนิมนต์กลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านหนองจิก จนถึงทุกวันนี้
◎ มรณภาพ
ด้วยหลวงปู่ล่วงวัยชรา มีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ ๒ และป่วยด้วยโรคหัวใจ กระเพาะลำไส้ ปอดติดเชื้อ ญาติพี่น้องและคณะศิษย์ นำหลวงปู่ไปเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ ร.พ.กันทรลักษ์ และ ร.พ.ศรีสะเกษ มาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมา พักรักษาอยู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธ ร.พ.ศรีสะเกษ ซึ่งคณะแพทย์ให้การ รักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากหลวงปู่อายุมากแล้วและร่างกายอ่อนเพลียอย่างหนัก จึงนำกลับมาพำนักที่วัดบ้านหนองจิก
ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เวลา ๒๒.๒๔ น. ที่กุฏิภายในวัดบ้านหนองจิก สิริอายุรวม ๑๑๒ ปี
◎ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของหลวงปู่แสน ไม่ได้จัดสร้างบ่อยนัก นานครั้งในวาระพิเศษ ส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ศิษย์ใกล้ชิดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้มีจำนวนไม่มากรุ่น แต่ได้รับความนิยมสูง อาทิ เหรียญเสมาครึ่งองค์หลวงปู่แสน รุ่นเจ้าสัวแสนนิยม, พระสมเด็จหล่อโบราณ รุ่นเจริญลาภ, พระกริ่งมหาโภคทรัพย์ เป็นต้น
◎ คาถาเมตตามหานิยม หลวงปู่แสน ปสันโน
นะเมตตาโมกรุณาพุทธปราณี ธายินดียะประเสริฐเลิศไกลโมจับจิตร นะจับใจธารักใคร่ยะมนุษสาหญิงชายทั้งหลายเหหิจิตตังปิยังมะมะ นะ ออนใจ รัก นำ ทรัพย์สิน เงินทอง มาชูกู เพ็งๆ พาๆ หาๆ ฤาๆ เพ็ง เพ็ง พา พา หา หา ฤา ฤา (ลือ ลือ)
*เป็นภาษาโบราณ เป็นคาถา เร่งให้มีลาภเร็วขึ้น เป็นมหาลาภ มีผลยิ่งใหญ่มาก
◎ คาถาแคล้วคลาด หลวงปู่แสน ปสันโน
พุทธังแคล้วคลาด
ธัมมังแคล้วคลาด
สังฆังแคล้วคลาด
อิติปิโสภะคะวา