ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ
วัดตะเคียน
อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
พระครูปิยนนทคุณ (หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ) เจ้าของตำนาน ตะกรุดคอหมา อันโด่งดัง วัดตะเคียน ต.บางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ มีนามเดิม “แย้ม ปราณี” เป็นชาวสมุทรสาคร เกิดที่ ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ในครอบครัวชาวนา บิดาชื่อ “นายเพิ่ม” และมารดาชื่อ “นางเจิม ปราณี”
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมี พระครูคณาสุนทรานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอบ้านแพ้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการเหลือ เจ้าคณะตำบล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ชื่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานาม “ปิยวณฺโณ”
มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเป็นอันมาก รวมทั้งยังตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจัง จนสอบได้นักธรรมตรี
พอย่างเข้าพรรษาที่ ๒ เกิดอาพาธหนัก จนบิดาต้องมารับกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ได้หมอนุ่ม เป็นคนต้มยาสมุนไพรไทยรักษาจนหาย พักรักษาตัวอยู่เกือบเดือน จึงกลับไปจำพรรษาที่วัดได้ตามเดิม
สมัยยังเป็นพระหนุ่ม มีงานช่าง คือ เป็นช่างพิมพ์กระเบื้องในโรงงานของวัด วันหนึ่งต้องพิมพ์ให้ได้ถึง ๕๓๐ แผ่น เพื่อให้ทันเวลาที่จะนำไปสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่ จนอาจกล่าวได้ว่ากระเบื้องทุกแผ่นที่ใช้สร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรือกุฏิสงฆ์ เป็นฝีมือของหลวงปู่แย้มทั้งสิ้น
นอกจากงานด้านช่างแล้ว ยังศึกษาวิชาหมอยา เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้านแถบนั้นด้วย โดยลงมือศึกษาค้นคว้าตัวยาสมุนไพรและคาถาอาคมที่จะใช้เสกกำกับลงไปในตัวยาเพื่อใช้สำหรับการรักษา
หลังจากนั้น ต้องดั้นด้นเรียนรู้ หาวิธีศึกษาวิทยาคมให้เข้มขลัง กระทั่ง พบกับ หลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง” สุดยอดพระคณาจารย์ดังในยุคนั้น เมตตาช่วยสอน
กระทั่งบวช ๑๐ พรรษา ลุงได้นิมนต์มาอยู่จำพรรษาที่วัดตะเคียน จนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พลิกฟื้นสภาพจากวัดร้างให้กลับกลายเป็นวัดที่สวยงาม
แม้สังขารจะเสื่อมถอยไปตามอายุขัย แต่จิตใจยังเปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม ใบหน้ายังคงยิ้มแย้มสมชื่อ
โดยเฉพาะ ตะกรุดโทนคอหมา จนเป็นสมญานามเรียกขานท่านว่า “หลวงปู่แย้ม เจ้าตำรับตะกรุดคอหมา” อันมีที่มาจากครั้งเมื่อท่านจัดทำตะกรุดคล้องคอให้หมาในวัดตะเคียนทุกตัว เพื่อป้องกันอันตราย
เนื่องจากหมาในวัดไปทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน จึงถูกทำร้ายด้วยการปาก้อนหิน หรือรุนแรงถึงขั้นใช้ปืน ใช้มีดดาบไล่ยิงไล่ฟัน ทำให้หมาบางตัวได้รับอันตราย ครั้นจะไปห้ามไม่ให้ทำร้ายหมา ก็คงไม่เป็นผล หลวงปู่แย้ม จัดทำตะกรุด ด้วยพิธีกรรมที่ไม่เหมือนใคร คือ จารตะกรุดในน้ำ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงนำไปผูกคอหมาที่ท่านเลี้ยงไว้จนครบทุกตัว ปรากฏว่า หมาในวัดตะเคียนแคล้วคลาดปลอดภัยทุกตัว
◉ มรณภาพ
ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง สุขภาพไม่แข็งแรงนัก มีอาการอาพาธ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ช่วงเช้าวันพุธที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๗ พระครูปิยนนทคุณ (หลวงปู่แย้ม ปิยวัณโณ) วัดตะเคียน มรณภาพอย่างสงบ ท่ามกลางความอาลัยของบรรดาสานุศิษย์
และเมื่อมรณภาพลงแล้ว ปรากฎงว่ารูปสังขารของท่านไม่เน่าเปื่อย ซึ่งร่างกายของหลวงปู่แย้มนั้นไม่เน่าเปื่อย แค่ผิวหนังแห้งและมีสีคล้ำเท่านั้น อีกทั้งผมและเล็บก็ยาวออกมาปกติ ทางวัดโดยพระครูสมุห์สงบ กิตฺติญาโณ เจ้าอาวาสวัดตะเคียนองค์ปัจจุบัน ได้เคลื่อนสรีระสังขารของ หลวงปู่แย้ม จากศาลาอเนกประสงค์ ไปตั้งยังศาลาลอย เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้อย่างใกล้ชิด และเมื่อครบ ๑๐๐ วันทางวัดได้ย้ายสังขารหลวงปู่แย้มขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑปต่อไป
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่แย้ม ท่านเป็นศิษย์สาย “ลุ่มแม่น้ำท่าจีน” ซึ่งเป็นศูนย์รวมเวทย์วิทยาคมชั้นสูง ฉบับแท้ดั้งเดิมแต่โบราณ ท่านมีวิชามากมายแต่ที่เป็นเอกอุของท่าน คือ ยันต์มหาเบา มหาอุดปืนแตก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายรุ่นด้วยกัน วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมมากขอให้ท่านสร้างคือ ตะกรุดคอหมา เสือปืนแตก ตะกรุดโทน เหรียญรุ่นแรกสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓ ปัจจุบันเป็นที่นิยมกัน เนื่องจากมีประสบการณ์ทางด้านมหาอุดและแคล้วคลาด
เอกลักษณ์ของวัตถุมงคลของหลวงปู่แย้มทุกชนิด คือ ท่านลงยันต์มหาเบาเป็นยันต์ครู ซึ่งท่านเรียนมาจากหลวงพ่อสายวัดหนองสองห้อง ผู้สืบวิทยาคมสายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกรูปหนึ่ง โดยท่านจะจารตะกรุดทุกวันพฤหัสบดี เสร็จแล้วท่านก็จะม้วนตะกรุดพร้อมคาถากำกับทุกดอก แล้วประจุเสกจนของขึ้นมีพลังท่านบอกว่าต้องอย่างนี้สิถึงจะใช้ได้ เอาไปลองได้เลย ปืนก็ปืน มีดก็มีด รับรองไม่ได้กินเนื้อกินเลือดเราแน่
วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง คือ “เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่แย้ม วัดตะเคียน จังหวัดนนทบุรี” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ ลักษณะเป็นเหรียญคล้ายดอกไม้ชนิดหนึ่ง ด้านหน้าเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แย้มครึ่งองค์ พร้อมยันต์มหาเบาอยู่ด้านบน ด้านล่างมีตัวหนังสือเขียนว่า “หลวงพ่อธรรมธร (แย้ม)” ด้านหลังเหรียญ มีอักขระยันต์มหาเบาและสิงห์ เขียนว่า “วัดตะเคียน ๒๕๑๓” สำหรับยันต์มหาเบาเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงปู่แย้มที่ใช้ลงในวัตถุมงคลของท่านเกือบทุกชนิด จัดเป็นอีกเหรียญที่หายาก
วัตถุมงคลนั้น นอกจากเหรียญรุ่นแรก และตะกรุดคอหมาที่เต็มไปด้วยประสบการณ์แล้ว เครื่องรางของขลังยอดนิยมคือ เสือปืนแตก เป็นหนึ่งในเครื่องรางยอดนิยมของนนทบุรี ด้วยทุกรุ่นกระแสแรงส่งผลให้หมดไปอย่างรวดเร็ว