ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร
วัดบ้านโนน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
พระครูวิจักษ์โคจรคุณ (หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร) วัดบ้านโนน ต.ขามป้อม และอดีตรองเจ้าคณะอำเภอวาปีปทุม พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองหาสารคาม
● ชาติภูมิ
พระครูวิจักษ์โคจรคุณ (หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร) นามเดิมชื่อ “แพงจันทร์ ประจะนัง” เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๙ ณ บ้านโนน ต.ขามป้อม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม หลังเรียนจบชั้นประถม ๔ จากโรงเรียนในหมู่บ้าน ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนาตามวิถีชีวิตคนอีสาน
● อุปสมบท
อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบ้านหนองไฮ อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม โดยมี พระครูสุนทรสาธุกิจ หรือ หลวงปู่ซุน เจ้าอาวาสวัดบ้านเสือโก้ก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อินฺทสโร”
ศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดบ้านเกิด จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก
ในยุคนั้นชื่อเสียงของหลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม พระอุปัชฌาย์มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฐานะพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม
หลวงปู่แพงจันทร์มีจิตใจชมชอบด้านวิทยาคมอยู่แล้ว จึงเดินทางขอฝากตัวเป็นศิษย์จำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่ซุน ณ วัดบ้านเสือโก้ก อยู่หลายพรรษา
ได้รับความเมตตาถ่ายทอดวิทยาคม รวมทั้งยังสอนด้านการอ่านเขียนอักษรลาว ขอม และไทยน้อย
หลังจากย้ายกลับมาจำพรรษาอยู่วัดบ้านโนนแล้ว ออกท่องธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน
ด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้ชื่อเสียงหลวงปู่แพงจันทร์โด่งดังขจรขจายในหมู่ญาติโยมอย่างรวดเร็ว ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระปฏิปทาแตกฉาน ทั้งธรรมวินัยและวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ในแต่ละวันมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมา กราบนมัสการอย่างล้นหลาม เพื่อรับฟังธรรมคำสอนและวัตถุมงคลเสริมความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะตะกรุดโทนที่จารด้วยมือ มีพุทธคุณรอบด้าน มีประสบการณ์มากมาย
สำหรับปัจจัยที่ได้จากการบริจาคนำไปพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้อย่างรวดเร็ว อาทิ อุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ
ขณะเดียวกัน ยังมีความรอบรู้ด้านการเขียนศิลปะลายไทย ดังนั้นเสนาสนะต่างๆ ในวัด หลวงปู่จะออกแบบลวดลายตกแต่งเอง
ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักศึกษาวัดบ้านโนน รวมทั้งยังมีตำแหน่งงานด้านการปกครองคณะสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านโนน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ “พระครูวิจักษ์โคจรคุณ”
ในปี พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นเจ้าคณะตำบลขามป้อม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอวาปีปทุม
ในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนาชุมชน โดยย้อนหลัง ๕๐ ปีที่ผ่านมาถนนจากหมู่บ้านที่ออกไปเชื่อมถนนสายหลักเข้าตัววาปีปทุม มีสภาพเป็นทางเกวียน หลวงปู่ได้ขอบิณฑบาตที่ดินข้างเคียงพร้อมระดมแรงงานชาวบ้านขยายถนน ทำให้การสัญจรไปมาสะดวก
● มรณกาล
พระครูวิจักษ์โคจรคุณ (หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร) ในบั้นปลายชีวิต เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา สังขารเริ่มโรยรา ท่านมีอาการอาพาธจากโรคมะเร็งในเม็ดเลือด เมื่ออาการหนักขึ้นญาติโยมได้นำส่งโรงพยาบาล สุดท้ายท่านมรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๐ สิริอายุรวมได้ ๗๑ ปี พรรษา ๕๑
● ด้านวัตถุมงคล
สำหรับวัตถุมงคลของท่าน พระครูวิจักษ์โคจรคุณ (หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร) วัดบ้านโนน ที่ถือเป็นสุดยอดปรารถนาของบรรดาศิษยานุศิษย์และนักนิยมสะสมพระเครื่องแล้ว เห็นจะเป็น “เหรียญคล้ายรูปไข่ รูปเหมือนหลวงปู่แพงจันทร์ รุ่นแรกสร้างปี พ.ศ.๒๕๑๙”
เหรียญดังกล่าวจัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่หลวงปู่แพงจันทร์ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก วัดบ้านโนน ได้แจกศิษยานุศิษย์ รวมทั้งให้กับพุทธศาสนิกชนที่นำกฐินและผ้าป่ามา ทอดถวายสมทบทุนสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการในวัด
เป็นเหรียญทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ
○ ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบจากด้านซ้ายของเหรียญวนขึ้นไปด้านบนโค้งลงไปทางขอบเหรียญ ด้านขวามือ เขียนคำว่า “พระครูวิจักษ์โคจรคุณ วัดบ้านโนน อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม” ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่แพงจันทร์ครึ่งองค์ แล้วก็ชายผ้าเหลืองหลวงปู่จะมี ๗ ชาย
○ ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเหรียญ เป็นภาพพระพุทธรูปยืนจำรองมาจากพระประจำวัดบ้านโนนชื่อหลวงปู่แก่นจันทร์ บริเวณขอบเหรียญจะมีอักขระยันต์เริ่มจากด้านล่างซ้ายวนขึ้นไปด้านบน วกลงมาบรรจบกันที่ด้านล่างของเหรียญ อ่านว่า “พุทธะสังมิ นะชาริติ นะมะอะอุ อุททังอะโท นะโมพุทธายะ”
นอกจากนี้ยังมีเหรียญ พระครูวิจักษ์โคจรคุณ (หลวงปู่แพงจันทร์ อินทสโร) วัดบ้านโนน รุ่น หลังฝ่ามืออรหันต์ เป็นเหรียญที่จัดสร้างได้สวยงามมาก มีประสบการณ์ มากมายเช่นแคล้วคลาดปลอดภัย และค้าขาย ส่วนประวัติการสร้างไม่ค่อยแน่ชัดแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในขณะที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ก็อาจจะเป็นลูกศิษย์สร้างถวายแต่จำนวนไม่มากจึงไม่ค่อยพบเห็น