วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แนน สุภัทโท

วัดซำขามถ้ำยาว
อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว
บ้านดงเย็น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่แนน สุภัทโท พระอริยสงฆ์แห่งวัดซำขามถ้ำยาว ทายาทธรรมหลวงปู่คำดี ปภาโส

หลวงปู่แนน ถือกำเนิดในสกุล กันเสถียร เมื่อวันศุกร์ แรม ๒ ค่ำเดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๒ ณ หมู่บ้านส้มโฮ่ง ต.เขวา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของ คุณพ่อพัน และคุณแม่ฝั่น กันเสถียร ในจำนวนพี่น้อง ๖ คน ตระกูลของท่านนับถือศาสนาพุทธมาโดยตลอด ปู่กับย่าพากันรักษาศีลแปด นุ่งขาวห่มขาวตลอดชีวิต บิดามารดาท่านมีอาชีพทำนา ประกอบอาชีพสุจริต อยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ในวัยเด็กท่านมีรูปร่างเล็ก คล่องแคล้วว่องไว ไม่ค่อยพูด รักสันโดษ

◎ บวชเรียนครั้งแรก
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านอายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้บวชเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกายที่วัดหนองบัวกลาง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เดิมทีท่านตั้งใจบวชเพียง ๗ วันแต่ด้วยนิสัยมีความมุ่งมั่น เมื่อบวชแล้วท่านก็มีความจริงจังขยันไหว้พระสวดมนต์ หัดสวดมนต์ท่องตำราต่างๆ จึงได้ขออุปัชฌาย์ออกแสวงหาพ่อแม่ครูอาจารย์

หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่นิมิตร

จนได้พบกับหลวงปู่คำดี ปภาโส ซึ่งขณะนั้นท่านอยู่วัดป่าชัยวัน จ.ขอนแก่น เดิมทีหลวงปู่คำดี จะให้พระอาจารย์แนน อยู่อบรมปฏิบัติ ฝึกสมาธิภาวนา ศึกษาข้อวัตร สวดมนต์ไหว้พระ และหัดขานนาคให้ถูกอักขรฐานกรณ์ตามแบบฉบับ ประมาณ ๓ ปีก่อน ซึ่งท่านก็ยินยอมแม้จะ ๕ ปี ๗ ปีก็ยินยอม ล่วงเพียง ๓ เดือนหลวงปู่คำดี ท่านได้เล็งเห็นถึงความตั้งใจขยันหมั่นเพียรของพระอาจารย์แนน จึงได้อนุญาตให้ท่านญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๓ ขณะอายุได้ ๒๑ ปี โดยมี หลวงปู่อินทร์ ถิรเสวี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระเทพบัณฑิต หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี วัดศรีจันทร์
พระเทพบัณฑิต (หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี) วัดศรีจันทร์

เมื่อญัตติแล้ว ท่านได้ฝึกอบรมอยู่กับหลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่ท่านเข้มงวดมากในข้อวัตรปฏิบัติในแบบพระธุดงคกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ทั้งเรื่องการรักษาธุดงควัตร ใส่ใจข้อวัตรกิจวัตร ให้สำรวมระวังพระธรรมวินัย เป็นคนขยันหมั่นเพียร ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน อืดอาดเหนื่อยหน่าย หูไวตาไว เป็นคนก้นเบาลุกง่าย ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ พูดน้อย นอนน้อย กินน้อย ในการบำเพ็ญภาวนา ท่านสอนให้บริกรรม พุทโธ มีสติไม่พลั้งเผลอ ทำต่อเนื่องไม่เลือกกาลสถานที่ ไม่ให้ถอดอาลัยไปกับอารมณ์ในอดีตอนาคต

◎ บทเรียนอันทรงคุณค่า
ปี พ.ศ.๒๕๐๐ ญาติพี่น้องท่านมาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อไปช่วยประกอบอาชีพค้าขายที่กรุงเทพฯ ท่านมีความสงสาร เห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้อง และเห็นบุญคุณที่เคยอุปการะกันมา จึงตัดสินใจลาสิกขาไปใช้ชีวิตทางโลกอีกครั้ง เป็นเหตุให้ท่านได้ศึกษาชีวิตหลายอย่าง ซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้ท่านเห็นบทเรียนอันทรงคุณค่า ท่านได้ช่วยทำงานอย่างขยันขันแข็ง ต่อมาญาติได้สู่ขอกุลสตรีนางหนึ่ง ชื่อ สายทอง สีหาทับ ๔ ปีต่อมาได้ให้กำเนิดบุตรตนเดียว เป็นชายชื่อ บุญคุ้ม ซึ่งเมื่อโตขึ้นได้ออกบวชและอยู่กับท่านที่วัดซำขามถ้ำยาว เมื่อบุตรชายอายุได้ ๓ ขวบ ภรรยาได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลง ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ย่อมเป็นทุกข์อันใหญ่หลวง ท่านเกิดความสลดสังเวชอย่างยิ่ง ในความไม่แน่นอนของชีวิต

◎ ใต้ร่มเงาพระศาสนา
วันหนึ่งท่านกลับมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น เกิดเป็นไข้มาเลเรียล้มป่วยลงมีอาการทรุดหนัก ทานยากี่ขนาน รักษาอย่างไรก็ไม่ดีขึ้น ครูบาอาจารย์ที่เคยเคารพรักและญาติพี่น้องมาเยี่ยมเยียน ต่างก็บอกให้ลองอธิษฐานดู ถ้าหายคราวนี้จะออกบวช ต่อมาอาการป่วยของท่านก็ทุเลาลงจนหายขาดในเวลาไม่นานนัก เป็นที่น่าประหลาดใจ เมื่อหายดีแล้วจึงบอกข่าวเรื่องการบวช ญาติพี่น้องต่างก็ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ณ วัดตาดฟ้า อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น โดยมีพระครูประภัสสรศีลคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์บุญฤทธ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มั่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๙ เวลา ๑๓.๒๑ น. ขณะอายุได้ ๓๗ ปี ท่านได้รับฉายาว่า “สุภัทโท” แปลว่า”ผู้เจริญด้วยดี

พระครูประภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ปภสฺสโร) วัดอัมพวัน
พระครูประภัสสรศีลคุณ (หลวงปู่ทัน ปภสฺสโร) วัดอัมพวัน

ท่านเล่าให้ฟังว่า..“การบวชครั้งนี้คงเป็นกรรมบันดาล เพราะป่วยหนักครั้งนั้นเกือบเอาชีวิตไม่รอด พออธิษฐานขอบวช อาการกลับดีขึ้นอย่างรวดเร็ว”

ความเป็นไปของชีวิตฆราวาส ทำให้ท่านคิดทบทวนถึงความทุกข์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นบทเรียนที่สำคัญ ทำให้ท่านสลดสังเวชใจ เบื่อหน่ายเข็ดหลาบ ในวัฏฏะสงสาร เป็นพลังผลักดันให้ท่านมีความแน่วแน่มุ่งมั่น ที่จะแก้ทุกข์ภัยเหล่านี้ให้จบสิ้งลงให้จงได้…

ปีแรกท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านทมนางาม จ.ขอนแก่น ท่านรีบเร่งทำความพากเพียรเร่งภาวนาอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวด้วยความไม่ประมาท ด้วยอุบายต่างๆ ที่ท่านเคยฝึกหัดมาจากหลวงปู่คำดี ปภาโส ทั้งอดนอน ผ่อนอาหาร เดินจงกรม ภาวนาทั้งกลางวันกลางคืน จนทางจงกรมเป็นร่องลึก ท่านได้อธิษฐานธุดงควัตรเพื่อขัดเกลากิเลส ได้แก่ เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันมื้อเดียวเป็นวัตร ฉันภาชนะเดียวเป็นวัตร ไม่รับอาหารที่เขานำมาถวายภายหลัง ถือผ้าไตรจีวรเป็นวัตร อยู่ป่าเป็นวัตร และยังตั้งสัจจะเฉพาะตนพิเศษว่า ๗ วันจะพูดครั้งหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการคลุกคลีพูดคุย จะได้มีเวลาทำความพากเพียรมากๆ เว้นไว้แต่วันพระ เพราะมีญาติโยมเข้ามาถือศีลฟังธรรมและท่านต้องสวดพระปาฏิโมกข์ เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ธุดงค์ไปทางภูโน ดงมูล ดงระแนง ไปถึงอ.ท่าคันโท ไปพักวิเวกที่ดอยปู่ตา ชาวบ้านเป็นคนเชื้อสายภูไท ท่านจึงสอนเรื่องการรักษาศีล ๕ แล้วสอนให้เขาถือพระไตรสรณคมณ์ เขาเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก

หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว บ้านดงเย็น ต.บัวเงิน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
นมัสการ หลวงปู่ท่อน ญาณธโร

พรรษา ๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๑ ท่านเร่งความเพียรอย่างต่อเนื่อง จนจิตใจสงบเยือกเย็น เมื่อจิตออกจากความสงบ ท่านก็พิจารณาธาตุขันธ์ร่างกาย ให้เห็นเป็นของปฏิกูลโสโครกน่ารังเกียจ ประกอบขึ้นด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่ตัวเรา เขา สัตว์ บุคคล เมื่อพิจารณาไปพอสมควร ถ้าจิตใจรู้สึกอ่อนเพลีย ฟุ้งซ่าน ท่านก็พักจิตให้อยู่ในความสงบ พรรษาที่ ๓ ท่านได้ไปอยู่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ปิ่น ชลิโต ที่วัดพระธาตุเขาน้อย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งสถานที่แถบนั้นเป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา ชาวบ้านละแวกนั้นเป็นชาวกระเหรี่ยง มีน้ำใจอันงาม รู้จักข้อวัตร รู้จักอุปัฏฐากครูบาอาจารย์

◎ สร้างวัดซำขามถ้ำยาว
เมื่อออกพรรษาท่านได้ธุดงค์กลับมาทางภาคอีสาน ได้มาปลีกวิเวกที่ถ้ำยาว ซึ่งเป็นสถานที่วิเวก ร่มรื่น มีถ้ำเงื้อมผา ป่ารกชัฏ เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด เช่น เสือ เก้ง หมูป่า ไก่ป่า และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีน้ำซับน้ำซำไหลอยู่ตลอดทั้งปีไม่เคยขาด ปากถ้ำมีต้นมะขามใหญ่อยู่บริเวณนั้น สถานที่นี้ต่อมาเรียก “ซำขามถ้ำยาว” ท่านได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่นี่เรื่อยมา สั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีปีศาจ ให้เชื่อกรรมและผลของกรรม ท่านสั่งสอนให้เขาถือศีล ๕ ศีล ๘ และนับถือพระไตรสรณคมณ์ จนภายหลังชาวบ้านได้นิมนต์ให้ท่านได้อยู่โปรดพวกเขาที่นี่ ต่อมาท่านจึงเริ่มสร้างเสนาสนะและกลายมาเป็นวัดซำขามถ้ำยาวจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่แนน สุภัทโท มรณภาพตรงกับวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๒ สิริอายุ ๗๐ ปี ๗ เดือน พรรษา ๓๒

◎ โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่แนน สุภัทโท
“..จิตของปุถุชนเรานี้ ไม่ได้จรรโลงอยู่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนประการใดดอก เพราะว่ามีมิจฉาทิฐิ หยิ่งจองหองอยู่ตลอด กัลยาณปุถุชนต้องรู้จักข่มจิตตนเอง มีขันติ สงบเสงี่ยมเจียมตนอยู่อย่างนั้น ไม่ให้อกุศลเข้าครอบงำได้..”

เจดีย์ หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
เจดีย์ หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
ภายใน เจดีย์อนุสรณ์ หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
อัฐิธาตุ หลวงปู่แนน สุภัทโท วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

วัดซำขามถ้ำยาว อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ขอเชิญร่วมบุญสมทบทุนสร้างพระอุโบสถ ณ วัดซำขามถ้ำยาว บ้านดงเย็น ตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ท่านผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมทำบุญได้โดยการโอนเงินเข้าบัญชี
ธนาคารกรุงไทย สาขากระนวน
บัญชีชื่อ พระโกศล จิตตปาโล
หมายเลขบัญชี 415-1-60308-5

สอบถามเพิ่มเติมโทร. 08 1252 2597 พระครูโสภณธรรมกิจ (ท่านพระอาจารย์โกศล จิตฺตปาโล) เจ้าอาวาสวัดซำขามถ้ำยาว