ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม
วัดสะพานสูง
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม พระเกจิชื่อดังที่ชาวเมืองนนท์ให้ความเลื่อมใสศรัทธา วัดสะพานสูง ต.บางพลับ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม (อ่านว่า ปะถะมะนามะ หรือ ปถมนาม) เกิดในรัชกาลที่ ๒ เมื่อ ปีฉลู พ.ศ.๒๓๕๙ ที่ตำบลบ้านแหลมใหญ่ ฝั่งใต้ ข้างวัดท้องคุ้ง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บิดาชื่อ “นายนาค” และมารดาชื่อ “นางจันทร์ ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน คือ
๑. หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม
๒. นายฟัก
๓. นายขำ
๔. นางอิ่ม
◉ อุปสมบท
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑ หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม อายุท่านได้ ๒๒ ปี ได้อุปสมบท ที่วัดบ่อ ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด (วัดบ่อนี้อยู่คิดกับตลาดในท่าน้ำปากเกร็ด) ท่านอุปสมบท ได้ประมาณหนึ่งเดือน ท่านก็ได้ย้ายไปประจำพรรษาอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร ธนบุรีซึ่งในขณะนั้นพระพิมลธรรมพร เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งย้ายมาจากวัดราชบูรณะ พระนคร หลวงปู่เอี่ยมท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรม และแปลพระธรรมบทอยู่ที่วัดนี้อยู่ได้ถึง ๗ พรรษาท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดประยูรวงศาวาส
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๘ อยู่วัดประยูรวงศาวาสได้ ๓ พรรษา ถึงปี พ.ศ.๒๓๘๙๑ นายแขก สมุห์บัญชีได้นิมนต์หลวงปู่เอี่ยม ไปจำพรรษาเจริญพระกัมมัฏฐานเป็นเริ่มแรก และได้ศึกษาอยู่ ๕ พรรษา ถึงปี ๒๓๙๖ ญาติโยมพร้อมด้วยชาวบ้านภูมิลำเนาเดิมในคลองแหลมใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันนี้ คือคลองพระอุดม) อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เดินทางมา อาราธนานิมนต์หลวงปู่เอี่ยม กลับไปปกครองวัดสว่างอารมณ์ หรือวัดสะพานสูง ในปัจจุบันนี้
สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์เดิมมาเป็นชื่อวัดสะพานสูงนั้น มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในสมัยนั้นสมเด็จกรมพระยาวชิญาณวโรรส ท่านได้เสร็จไปตรวจการคณะสงฆ์ได้เสด็จขึ้นที่วัดสว่างอารมณ์นี้ ได้ทอดพระเนตรเห็นสะพานสูงข้ามคลองวัด (คลองพระอุดมปัจจุบันนี้)
ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกวัดสว่างอารมณ์นี้ว่า วัดสะพานสูง จึงทำให้วัดนี้มีชื่อเรียกกัน ๒ ชื่อ ฉะนั้น สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเห็นว่า สะพานสูงนี้ก็เป็นนิมิตดีประจำวัดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งชาวบ้านก็นิยมเรียกกันติดปากว่าวัดสะพานสูง จึงได้ประทานเปลี่ยนชื่อวัดสว่างอารมณ์ มาเป็น “วัดสะพานสูง” จนตราบเท่าทุกวันนี้
หลวงปู่เอี่ยม มาวัดสะพานสูงใหม่ๆ ที่วัดนี้มีพระประจำวันพรรษาอยู่เพียง ๒ รูปเท่านั้น
ขณะที่ท่านหลวงปู่เอี่ยม ได้ย้ายมาอยู่วัดสะพานสูงได้ ๘ เดือน ก่อนวันเข้าพรรษาหลวงพิบูลย์สมบัติ บ้านท่านอยู่ปากคลองบางลำภู พระนคร ได้เดินทางมานมัสการหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่เอี่ยมได้ปรารภถึงความลำบาก ด้วยเรื่องการทำอุโบสถและสังฆกรรม
เนื่องจากสถานที่เดิมได้ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงอยากจะสร้างให้เป็นถาวรสถานแก่วัดให้เจริญรุ่งเรือง หลวงพิบูลยสมบัติ ท่านจึงได้บอกบุญเรี่ยไรหาเงินมา เพื่อก่อสร้างโบสถ์ และถาวรสถานขึ้น จึงเป็นที่เข้าใจกันว่าหลวงปู่เอี่ยม ได้เริ่มสร้างพระปิดตาและตะกรุดเป็นครั้งแรก
เพื่อเป็นของชำร่วยแก่ผู้บริจาคทรัพย์และสิ่งของที่ใช้ในการก่อสร้างพระอุโบสถและถาวรสถาน ต่อมาถึงปี พ.ศ.๒๔๓๑ ได้สร้างศาลาการเปรียญ หลังจากนั้นอีกหลวงปู่เอี่ยมได้สร้างพระเจดีย์ฐาน ๓ ชั้นขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ขณะที่ท่านหลวงปู่เอี่ยม ท่านได้มาอยู่วัดสะพานสูง ท่านได้ไปธุดงค์ไปทางแถบประเทศเขมร
โดยมีลูกวัดติดตามไปด้วยเสมอ แต่ท่านจะให้ลูกวัดออกเดินทางล่วงหน้าไปก่อน ๖-๗ ชั่วโมง แล้วจะนัดกันไปพบที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วท่านหลวงปู่เอี่ยม ได้ไปพบชีปะขาวชาวเขมรท่านหนึ่งชื่อว่าจันทร์หลวงปู่เอี่ยม จึงได้เรียนวิชาอิทธิเวทย์ จากท่านอาจารย์ผู้นี้อยู่หลายปี จนกระทั่งชาวบ้านแหลมใหญ่นึกว่าท่านออกธุดงค์ไปได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว เนื่องจากหลวงปู่เอี่ยม ท่านไม่ได้กลับมาที่วัดหลายปี
จึงได้ทำสังฆทานแผ่ส่วนกุศลไปให้ท่าน ทำให้ท่านหลวงปู่เอี่ยม ทราบในญาณของท่านเอง และท่านหลวงปู่เอี่ยม จึงได้เดินทางกลับมายังวัดสะพานสูง การไปธุดงค์ครั้งนี้ หลวงปู่เอี่ยม ได้ไปเป็นเวลานาน และอยู่ในป่าจึงปรากฏว่าท่านหลวงปู่เอี่ยม ท่านไม่ได้ปลงผม ผมจึงยาวถึงบั้นเอว จีวรก็ขาดรุ่งริ่ง หมวดท่านยาวเฟิ้มพร้อมมีสัตว์ป่าติดตามท่านหลวงปู่เอี่ยม มาด้วย อาทิเช่น หมี, เสือ, และงูจงอาง ฯลฯ
จากการเจริญกรรมฐานนี้ จึงทำให้หลวงปู่เอี่ยมสำเร็จ “โสฬส” มีเรื่องเล่ากันว่ามีต้นตะเคียนต้นหนึ่งมีน้ำมันตกและดุมากเป็นที่เกรงกลัวแก่ชาวบ้านแถบนั้น หลวงปู่จึงช่วยยืนเพ่งอยู่ ๓ วันเท่านั้น ต้นตะเคียนก็เฉาและยืนต้นตาย หลวงปู่เป็นผู้มีอาคมฉมัง วาจาสิทธิ์ มักน้อยและสันโดษ ท่านเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้สร้างถาวรวัตถุที่ได้เห็นกันอยู่ในทุกวันนี้คือพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาการเปรียญ พระเจดีย์ จึงเป็นที่มาของการสร้างพระปิดตา และตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคลอันลือลั่นนั่นเอง
ท่านหลวงปู่เอี่ยม เป็นพระผู้มีอาคมขลัง มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ มักน้อย ถือสันโดษ ด้วยเหตุนี้เองทำให้หลวงปู่เอี่ยม ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทั้งชาวบ้านและเจ้านายผู้ใหญ่ในพระนครนับถือท่านมากจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ก่อนที่หลวงปู่เอี่ยมจะมรณภาพด้วยโรคชรา นายหรุ่น แจ้งมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดคอยอยู่ปรนนิบัติท่านหลวงปู่เอี่ยมได้ขอร้องท่านว่า “ท่านอาจารย์มีอาการเต็มที่แล้ว ถ้าท่านมีอะไรก็กรุณาได้สั่ง และให้ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย” ซึ่งท่านหลวงปู่เอี่ยมก็ตอบว่า “ถ้ามีเหตุทุกข์เกิดขึ้นให้ระลึกถึงท่านและเอ่ยชื่อท่านก็แล้วกัน”
◉ มรณภาพ
หลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม ท่านมรณภาพลงอย่างสงบ ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ สิริรวมอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙
ก่อนที่ท่านจะมรณภาพได้มีศิษย์ผู้ใกล้ชิดเป็นตัวแทนของชาวบ้าน และผู้เคารพนับถือศรัทธา ที่มีและไม่มีของมงคลท่านไว้บูชา กราบเรียนถามหากว่าเมื่อหลวงปู่เอี่ยม ได้มรณภาพแล้วจักทำประการใด ท่านจึงได้มีปัจฉิมวาจาว่า “มีเหตุสุข ทุกข์ เกิดนั้น ให้ระลึกถึงชื่อของเรา”
จึงเป็นที่ทราบและรู้กันว่า หากผู้ใดต้องการมอบตัวเป็นศิษย์หรือต้องการให้ท่านช่วยแล้วด้วยความศรัทธายิ่ง ก็ให้เอ่ยระลึกถึงชื่อของท่าน ท่านจะมาโปรดและคุ้มครองและหากเป็นเรื่องหนักหนาก็บนตัวบวชให้ท่าน รูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่เอี่ยม ท่านประดิษฐานอยู่หน้าพระอุโบสถ สร้าง(หล่อ) ขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ในสมัยหลวงปู่กลิ่น ผู้ปกครองวัดต่อจากท่าน เพื่อการสักการะบูชา ต่อมาจนทุกๆวันจะมีผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศมากราบไหว้และบนบานฯ ตลอดเวลาตราบแสงอาทิตย์ยังไม่ลับขอบฟ้า ท่านชอบกระทงใส่ดอกไม้เจ็ดสี จะมีผู้นำมาถวายและแก้บนแทบทุกวันโดยเฉพาะในวันพระแม้แต่ผงขี้ธูปและน้ำในคลองหน้าวัดก็ยังมีความ ขลัง” อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
และหลังจากที่ท่านมรณภาพล่วงไปเนิ่นนานแล้วก็ตามที ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน ผลปรากฏว่าฐานที่ท่าน เคยถ่ายทุกข์เอาไว้และปิดตาย คราวที่เกิดไฟไหม้ป่าช้า ฐานของหลวงปู่เอี่ยม เพียงหลังเดียวเท่านั้นที่ไม่ไหม้ไฟ
เมื่อความอัศจรรย์ปรากฏขึ้นเช่นนั้น ผู้คนจึงค่อยมาตัดเอาแผ่นสังกะสีไปม้วนเป็นตะกรุดจนหมดสิ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังมารื้อเอาตัวไม้ไปบูชาจนไม่เหลือหรอ ยิ่งไปกว่านั้น คนที่ไม่ได้อะไรเลยก็มาขุดเอาอุจจาระของท่านไปบูชา
ปัจจุบันรูปหล่อเหมือนเท่าองค์จริงยังคงประดิษฐานหน้าอุโบสถ ซึ่งผู้ศรัทธาจากทุกสารทิศแวะเวียนมากราบสักการะ ขอพร และบนบานอยู่มิได้ขาด
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังล้วนเป็นที่นิยมสะสม โดยเฉพาะ ตะกรุดโทนมหาโสฬสมงคล ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิแห่งตะกรุดของไทย แต่ที่ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กันคือพระปิดตา ได้รับการยกย่องเข้าทำเนียบหนึ่งในชุดเบญจภาคีพระปิดตาเป็นที่สุดแห่งความนิยมที่นักสะสมพระเครื่องใฝ่หา
กล่าวสำหรับพระปิดตานั้น มวลสารที่ใช้ เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมากระหว่างเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นพวกว่านและรากไม้ที่ทรงคุณ นำมาบดผสมกับเนื้อผงพุทธคุณที่มาจากการลบพระคาถาพระยันต์อิติปิโส พระยันต์ไตรสรณคมน์ และ พระยันต์โสฬสมหามงคล สีสันวรรณะออกเป็นสีมะขามเปียก มีความหนึบนุ่ม มีคราบขาวกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อทำเป็นองค์พระ มักจะทาหรือชุบน้ำรักอีกชั้นหนึ่ง
รูปแบบพิมพ์ทรง ลักษณะเป็นพระปิดตาแบบลอยตัว องค์พระประทับนั่ง แสดงปางสมาธิราบ พระหัตถ์ปิดพระเนตร มีพบเป็นครึ่งซีกบ้างแต่น้อย ส่วนขนาดก็มีเล็กบ้างใหญ่บ้าง โดยส่วนมากจะออกใหญ่และล่ำสัน ซึ่งดูงดงามไปอีกแบบ
แบ่งได้เป็น ๒ พิมพ์ คนรุ่นเก่านิยมเรียกว่าพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ และพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก แต่วงการพระเครื่องเรียกขานพิมพ์ชะลูดและพิมพ์ตะพาบ
พิมพ์นิยม คือพิมพ์ชะลูด หรือพิมพ์ว่าวจุฬาใหญ่ เป็นพระปิดตารุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อนำปัจจัยสร้างอุโบสถ องค์พระมีลักษณะสูงเล็กและเพรียวอย่างงดงาม พระหัตถ์ที่ยกปิดพระเนตร ยกข้อพระกรขึ้นสูงกว่า, ข้อศอกจะเป็นลำเว้าเข้าหาบั้นพระองค์, พระอุทร (ท้อง) พลุ้ย, ปรากฏพระนาภี (สะดือ), พระบาทขวาทับพระบาทซ้ายในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบนเล็กน้อย ด้านหลังเป็นหลังเรียบและโค้งมน
ส่วนพิมพ์ตะพาบ หรือพิมพ์ว่าวจุฬาเล็ก องค์พระจะล่ำสันเทอะทะ ดูใหญ่คล้ายตะพาบน้ำ ข้อศอกชิดกับพระเพลา ซึ่งจะกว้างกว่าพิมพ์ชะลูด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก matichonweekly.com