วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

วัดอรัญญบรรฟพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) นามเดิม เหรียญ นามสกุล ใจขาน เกิดเมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๒ ค่ํา เดือนยี่ ปีชวด ณ บ้านหม้อ ตําบลบ้านหม้อ อําเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

บิดาชื่อ ผา มารดาชื่อ พิมพา ปฐมวัยครอบครัวของข้าพเจ้ามีอาชีพทํานา ทําสวน เลี้ยงสัตว์ มีพี่น้องเกิดด้วยกัน ๗ คน ข้าพเจ้าเป็นคนที่ ๒ บรรดาพี่น้องผู้ที่เกิดร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๖ คนนั้น ได้ตายเสียตั้งแต่ยังเล็กทุกคน จึงไม่มีชื่อปรากฏอยู่ในที่นี้ ส่วนมารดานั้นได้ตายจากไปตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุได้ ๑๐ ปี ครั้นอยู่ต่อมาไม่กี่เดือนบิดาก็ไปมีภรรยาใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้อยู่กับคุณยายมาจนอายุได้ ๑๓ ปี และเรียนหนังสือไทยจบในปีนั้นต่อจากนั้นจึงได้ไปอยู่กับบิดา มารดาใหม่นั้นมีลูกกับสามีคนก่อน ๕ คน ซึ่งบังเอิญสามีก็ตายไปในปีเดียวกันกับมารดาข้าพเจ้าเหมือนกัน ต่อมาได้มีลูกกับบิดาข้าพเจ้าอีก ๒ คน รวมทั้งข้าพเจ้าด้วยเป็น ๔ คนพอดี เมื่อข้าพเจ้ามาอยู่ด้วยก็ได้ทําการงานช่วยบิดามารดาร่วมกับพี่น้องทั้งหลายตลอดมา และเคารพนับถือกันฉันพี่น้องที่เกิดร่วมท้องเดียวกัน ไม่เคยมีการทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นอย่างรุนแรงจนถึงกับแตกสามัคคีกันเลย ข้าพเจ้านั้นมีนิสัยชอบทําการงาน และทําจริงไม่ทําเหลาะแหละเหลวไหล ทําการงานอย่างใดก็ให้เสร็จไปอย่างนั้น ไม่ทอดทิ้งการงานและไม่ชอบเอาเปรียบผู้อื่น ไม่ชอบทะเลาะกับใครๆถ้าจะมีเหตุให้ทะเลาะกันก็ต้องหาทางหลีกเลี่ยง และ มีความอดทนต่อคําด่าว่าติเตียนต่าง ๆ ไม่ถือมั่นไว้ในใจ

พูดถึงความรักแล้วนับว่าข้าพเจ้ามีความรักมาก เช่น รักพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา และผู้อื่นที่เกิดร่วมวงศ์ตระกูลเดียวกัน นอกจากนี้แล้วยังรักขยายออกไปถึงเพศตรงข้ามซึ่งอยู่ในวัยเดียวกันในทางชู้สาว และฝ่ายตรงกันข้ามก็รักข้าพเจ้าเช่นเดียวกัน โดยเข้าใจว่าเขาคงจะมองเห็นคุณธรรมอันมีอยู่ในใจของข้าพเจ้าคือ ความอดทนต่อความชั่วร้ายดังกล่าวมานั้นหนึ่ง และอดทนต่อหน้าที่การงานหนึ่ง เขาจึงได้มีความรักอย่างจริงใจต่อข้าพเจ้า

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) วัดอรัญญบรรพต

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

จิตมีธรรมปรารถนาออกบวช

ในคราวนั้นข้าพเจ้าก็คิดว่าจะครองเรือนเช่นเดียวกับคนทั้งหลายที่เขาครองกันมาแล้วนั้น ครั้นเมื่ออายุย่างเข้า ๒๐ ปี เห็นจะเป็นด้วยบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้สร้างมาแต่ชาติก่อน มาดลจิตใจให้นึกถึงความทุกข์ในชีวิตอันเป็นปัจจุบัน โดยคิดเห็นว่า เกิดมาแล้วต้องทําการงานและงานที่ทํานั้นก็ไม่รู้จักจบสิ้น เช่น ทํานา ทําปีนี้แล้วได้ข้าวใส่ยังไว้รับประทานบ้างขายบ้าง ครั้นถึงปีใหม่มาข้าวใน ยังก็จวนจะหมดแล้ว ต้องทํานาอีกต่อไปอย่างนี้ทุกปี จึงถามตัวเองว่าเมื่อไรจึงจะได้ยุติจากการทํานา ทําสวนเล่า ตอบตนเองว่าไม่มีทางยุติได้ถ้าไม่วางมือหนีไปบวชเสีย การทํานาทําสวนมีแต่ทุกข์ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน และก็ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักอย่างเดียว ตายแล้วก็ไม่ได้อะไรติดตัวไปมีแต่ทิ้งไว้ในโลกนี้ทั้งหมด และก็ได้ตั้งปัญหาถามตนเองต่อไปอีกว่า แล้วทําไมคนทั้งหลายจึงชอบใจกับความเป็นอยู่เช่นนี้นัก ตอบว่า เพราะคนทั้งหลายไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผลในเรื่องนี้ให้รู้เห็นโดยแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงจึงไม่เบื่อหน่าย อนึ่งสิ่งทั้งปวงในโลกนี้มิใช่ว่าจะอํานวยแต่ความทุกข์ ให้เท่านั้น บางทีมันก็อํานวยความสุขให้เหมือนกัน ดังนั้นคนจึงติดมัน แต่บรรดานักปราชญ์ผู้มี ปัญญาทั้งหลายท่านพิจารณาเห็นว่า มันเป็นความสุขชั่วคราวไม่ยั่งยืน ถ้าพิจารณาโดยสรุปแล้วก็เป็นทุกข์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นสุขยั่งยืนแต่อย่างใด เพราะคนเราเกิดมาแล้วที่สุดก็ต้องตาย ร่างกายนี้เมื่อจิตละไปแล้วก็ต้องแตกสลายออกจากกัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)

ข้าพเจ้าดีใจมากได้กราบลาบิดามารดา ท่านทั้งสองเข้าวัดเรียนครองบวชอยู่สิบห้าวันก็ได้บวชที่อุโบสถวัดบ้านหงษ์ทอง อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายในคราวนั้นเข้าบวชด้วยกันประมาณ ๘ รูป ซึ่งมี ท่านพระครูวาปีดิฐวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พรหม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้กลับมาอยู่วัดโพธิ์ชัย บ้านหม้อ บวชเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๗๕ อาจารย์วัดโพธิ์ชัยสอนให้ภาวนาอนุสสติ ๑๐ ข้าพเจ้าก็ท่องเอา แล้วก็บริกรรมในใจว่า พุทธานุสสติ สังฆานุสสติ ไปจนถึงอปสมานุสสติ จบแล้วตั้งใหม่เรื่อยไป รู้สึกว่าจิตสงบเบิกบานดีพอสมควร ไม่เฉพาะแต่นั่งสมาธิเท่านั้นที่บริกรรม แม้แต่ยืนเดินนอนก็บริกรรมเป็นอารมณ์ติดต่อกันไป

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต

ในระหว่างนั้นโยมบิดาเอาหนังสือธรรมะมาถวายเล่มหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเจริญสมถะและวิปัสสนาของ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นผู้เรียบเรียง เมื่อได้อ่านดูแล้วรู้สึกเกิดความสนใจขึ้น ในหนังสือเล่มนั้นท่านได้อธิบายเรื่อง สติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะเรื่อง กายานุปัสสนา

ท่านได้แนะนําให้พิจารณาร่างกายโดยให้เพ่งดูร่างกายนี้แล้วแยกออกเป็นส่วน ๆ เช่น ผม กองหนึ่ง ขน กองหนึ่ง เล็บ กองหนึ่ง ฟัน กองหนึ่ง หนัง กองหนึ่ง เป็นต้น จนถึงอาการสามสิบสอง เสร็จแล้วให้ถามตัวเองดูว่า ไหนที่ว่าตัวตนของเรานั้นอยู่ไหน นั่นก็กองผม นั่นก็กองขน เป็นต้น ในที่สุดตัวเราไม่มี เมื่อไฟเผาแล้ว ก็จะยังเหลือแต่เถ้ากับกระดูกเท่านั้น กําหนดเอากระดูก ใส่ครกบดให้ละเอียดแล้วเอาซัดตามลม ลมพัดหายไปหมดแล้วสติก็รู้ได้ว่า ร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นของตนสักอย่างเดียว มีแต่เกิดแล้วดับไปดังปรากฏแล้วนั้น แล้วใครเป็นผู้รู้ว่าร่างกายเป็นอย่างนั้น ก็จิตนี้สิเป็นผู้รู้ เมื่อสติกลับมารู้จิต จิตก็จะรวมลงเป็นหนึ่ง แสดงว่า จิตปล่อยวางร่างกายได้ตามสภาพ จึงประคองจิตให้สงบอยู่ต่อไปนานเท่าที่จะอยู่นานได้ ในขณะนั้นจะมีความรู้สึกว่า กายก็เบา จิตก็เบา ไม่หนักหน่วงเลย เมื่อได้รับความรู้สึกเบากายเบาจิตเช่นนี้แล้ว ก็ควรจะไปอยู่ป่าจึงจะเหมาะสม

พอดําริที่จะออกไปอยู่ป่าเท่านั้น มาร คือ กิเลส มันก็แสดงอาการขัดขวางไม่ให้ออกไปอยู่ป่าได้ ต่อจากนั้นจึงเกิดความรู้สึกนึกคิดขึ้นเป็นสองทาง ทางหนึ่งอยากสึกออกไปครองเรือน อีกทางหนึ่งอยากออกปฏิบัติเจริญสมถวิปัสสนาตามที่ตั้งใจไว้ พอตั้งใจจะออกป่า กิเลสก็มาสกัดไว้ไม่ให้ออกเป็นอยู่อย่างนี้ วันแล้วก็วันเล่า ไม่สามารถตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้ จึงตัดสินใจไม่ฉันข้าวหนึ่งวัน พอตกตอนค่ําลงเวลาประมาณสามทุ่ม ก็ห่มผ้าพาดสังฆาฏิแล้วทําวัตรเสร็จแล้วอธิษฐาน ในใจว่า “บัดนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่อพิจารณาตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งให้จงได้ คือจะสึกหรือจะออกปฏิบัติ ถ้าหากข้าพเจ้าตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งไม่ได้ ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เลย”

ภายหลังได้ติดสินใจและมีความมั่นใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไปแล้วจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ผู้พอจะแนะนําได้ ครั้งแรกก็พบกับ พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน บ้านเดิมของท่านอยู่ที่ อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านเที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดหนองคาย และได้ไปพักอยู่ ที่วัดซึ่งข้าพเจ้าอยู่เดี๋ยวนี้เอง แต่คราวนั้นยังไม่ได้ก่อสร้างถาวรวัตถุอะไร เป็นแต่ทํากุฏิอยู่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อได้พบท่านครั้งแรก ก็มีความเลื่อมใสในปฏิปทาของท่าน จึงได้เรียนถามอุบายภาวนาสมาธิกับท่าน ท่านก็ได้อธิบายให้ฟังจนเข้าใจได้ดี แต่ก็ไม่ได้ติดตามท่านไปในที่อื่น เมื่อท่านย้ายไป เพราะมีอุปสรรคบางอย่าง

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต

ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ข้าพเจ้าได้พบกับ ท่านอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม ซึ่งต่อมา ท่านอยู่ วัดสิริสาลวัน บ้านโนนทัน อําเภอหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี (ขณะนั้น) เดี๋ยวนี้ท่านมรณภาพไปแล้วโดยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ท่านอาจารย์องค์นี้แหละได้พาข้าพเจ้าไปบวชเป็นพระธรรมยุต ที่ วัดโพธิสมภรณ์ อุดรธานี เมื่อบวชเป็นพระธรรมยุตแล้ว ท่านอาจารย์ถามว่า

“คุณจะศึกษาเล่า เรียนปริยัติธรรมหรือว่าจะปฏิบัติวิปัสสนาธุระต่อไป”

ตอบท่านว่า จะเอาทั้งสองอย่าง ส่วนการศึกษานั้นจะดูตามตําราเอา ท่านก็ยินดีด้วย

พรรษาแรก จําพรรษาวัดป่าสาระวารี (พ.ศ. ๒๔๗๖)

ในพรรษาแรกปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้จําพรรษาที่วัดป่าสาระวารี บ้านค้อ อําเภอผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งที่นั่นพระอาจารย์มั่นเคยไปจําพรรษา ได้ตั้งใจทําความเพียรอย่างเต็มที่รู้สึกว่าได้ความสงบใจมาก แต่การเจริญวิปัสสนายังไม่แก่กล้า ส่วนมากได้แต่สมถะ เมื่อออกพรรษาแล้วได้เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปจังหวัดเลย ได้ไปพักวิเวกอยู่ที่ ถ้ําผาปู่ และ ถ้ําผาบิ้ง รู้สึกว่าได้รับความสงบสงัดมาก

พรรษาที่ ๒ จําพรรษาวัดอรัญญวาสี (พ.ศ. ๒๔๗๗)

พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้จําพรรษาที่วัดอรัญญวาสี อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งมี พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน เป็นหัวหน้าพรรษานั้นได้ตั้งใจไว้ว่า ๑. จะไม่นอนกลางวัน ๒. เมื่อค่ําลงจะทําความเพียร คือเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ไปจนถึงตีสองแล้วจะตื่นลุกขึ้นทําความเพียรต่อไปจนสว่าง โดยทํานองนี้จนตลอดออกพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วก็เที่ยวธุดงค์ขึ้นไปทางจังหวัดเลยอีก คราวนี้ไปบําเพ็ญอยู่ที่ถ้ําผาบิ้งอีกเป็นครั้งที่สอง พอถึงเดือนหกก็เดินทางกลับมา เพื่อจําพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อตามเดิม

พรรษาที่ ๓ จําพรรษาที่วัดป่าสาระวารี

พรรษาที่ ๔-๕ จําพรรษาที่วัดอรัญญพรรพต

ในครั้งนั้นการภาวนาทําจิตให้สงบลงไปแล้วก็พิจารณาขันธ์ห้าเป็นอารมณ์ จนเห็นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตามสภาพความเป็นจริง แล้วปล่อยวางไว้ตามสภาพในขณะนั้นรู้สึกว่าจิตสงบ พร้อมกับความรู้เป็นอย่างดี คล้ายกับว่ากิเลสหมดไปแล้ว ครั้นอยู่ต่อไป เมื่อเวลามีเรื่องต่างๆ มากระทบ เช่น ทางตาเป็นต้น ก็มีความรู้สึกผิดปกติไป จิตหวั่นไหวในอารมณ์นั้นๆ อยู่บ้าง แต่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ดี ถึงไม่รุนแรงแต่มันก็แสดงว่ากิเลสยังไม่หมดสิ้นไปโดยเด็ดขาด พยายามแก้อย่างไรก็ไม่ตก จึงนึกในใจว่าใครหนอจะช่วยแก้จิตให้ได้ ในขณะนั้นจึงนึกไปถึง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ว่าจะสามารถแก้ข้อข้องใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ได้ทั้งที่ไม่เคยเห็นท่านมาก่อนเลยได้ยินแต่กิตติศัพท์กิตติคุณของท่านเท่านั้นว่าท่านเป็นผู้ปฏิบัติและเก่งทางอภิญญาด้วย จึงชวนกันกับเพื่อนภิกษุรูปหนึ่งที่อยู่ด้วยกัน เดินทางขึ้นไปหาท่านอาจารย์มั่น โดยลงเรือจากหลวงพระบางขึ้นไปอําเภอ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย จากเชียงแสนเดินทางไปเรื่อยๆ ค่ําไหนนอนที่นั้น

พบท่านอาจารย์มั่น พ.ศ. ๒๔๘๑

ครั้นเมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่ได้ไปที่ วัดเจดีย์หลวง หลวงตาเกตซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านพระอาจารย์มั่น ทราบว่าเราประสงค์จะไปพบอาจารย์ ได้เมตตาพาไปพบท่านที่ป่าละเมาะใกล้ๆโรงเรียนแม่โจ้ อําเภอสันทราย ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เพราะรูปร่างหน้าตาของท่านนั้น เหมือนกับที่ได้นิมิตเห็นทุกประการ เมื่อเข้าไปกราบไหว้ท่าน ท่านก็สนทนาปราศรัยด้วยเป็นอย่างดี

เมื่อได้โอกาสจึงเรียนถาม เรื่องภาวนาที่ทํามาแล้วนั้นว่าถูกหรือไม่ ท่านไม่ตอบว่าผิดหรือถูก ท่านกล่าวว่านักภาวนาทั้งหลาย พากันติดความสุขที่เกิดจากสมาธิโดยส่วนเดียว เมื่อทําจิตให้สงบแล้ว ก็สําคัญว่าความสงบนั้นแหละเป็นความสุขอันยอดเยี่ยม จึงไม่ต้องการพิจารณาค้นคว้าหาความจริงของชีวิตแต่อย่างใด ท่านชักรูปเปรียญให้ฟังว่า ธรรมดาเขาทํานาทําสวน เขาไม่ได้ทําใส่บนอากาศเลย เขาทําใส่บนพื้นดินนี้แหละจึงได้รับผล ฉันใดโยคาวจรผู้บําเพ็ญเพียรทั้งหลายควรพิจารณาร่างกาย นี้แหละเป็นอารมณ์ จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในนามในรูปนี้ด้วยอํานาจแห่งปัญญานั้นแหละ จึงจะเป็นทางหลุดพ้นได้ ไม่ควรติดอยู่ในความสงบโดยส่วนเดียว

เมื่อท่านอาจารย์ให้โอวาทแล้วจึงพิจารณาดูตัวเองในภายหลังจึงได้รู้ว่าตนเองเพียงแต่เจริญ สมถะเท่านั้น ไม่ได้เจริญวิปัสสนา เพียงความรู้แจ้งในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นคือ อริยสัจสี่ถึงเจริญ ตั้งแต่พรรษาที่ ๖ ถึงพรรษาที่ ๑๖ จําพรรษาอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย แล้วเดินทางกลับธุดงค์ผ่านหลวงพระบางประเทศลาว เข้ามาเวียงจันทน์ เข้ามาจังหวัดหนองคาย พรรษาที่ ๑๙ ถึง ๒๖ จําพรรษาและเผยแพร่ธรรมะปฏิบัติอยู่ภาคใต้แล้วจึงย้ายไปอยู่ วัดอรัญญบรรพต ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ จนถึงปัจจุบัน

ธรรมโอวาท

“นาทั้งหลายมีหญ้าเป็นโทษ หมู่สัตว์นี้มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นโทษทั้งนักบวชทั้ง คฤหัสถ์ ถ้าใครสะสมกิเลสให้แน่นหนาทั้งในใจ ใจก็ให้ทุกข์ ให้โทษกับผู้นั้นไม่ใช่จะให้ทุกข์แก่ นักบวชฝ่ายเดียว” .

“อันสตินี้ สัมปชัญญะนี้ ก็สมมติเป็นโซเฟอร์ผู้กําพวงมาลัย ได้แก่เป็น ผู้มีสติคอย ระมัดระวังกาย วาจา จิต อยู่เสมอ ๆ คอยระวังเรื่องต่างๆ ที่มันจะกระทบกระทั่งที่จะให้เกิด ความเสียหาย ดีใจ ความโกรธ ความเกลียดต่างๆ ระมัดระวังไปเรื่อย ๆ แต่ก็มิได้หมายความว่า เราต้องเที่ยวประกาศ ห้ามมิให้ใครมาติมาชมเราอย่างนั้นอย่างนี้นะไม่ได้หมายอย่างนั้น ที่ว่า ระวังในที่นี้หมายความว่า เมื่อมีเรื่องเช่นนั้นกระทบกระทั่งเข้ามา เราจะรู้ทัน ทันที เราจะ ห้ามจิตไม่ให้มันหวั่นไหวไปตามนั้น ๆ เราระวังอย่างนี้ต่างหาก เราจะระวังไม่ให้คนนินทาว่าร้าย หรือพูดจาเสียดแทงต่างๆ นานา ห้ามไม่ได้เลย เพราะว่านั่นก็เป็นเรื่องของเขา เขามีสิทธิ์ที่จะพูดแต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะรู้เท่าทัน เช่นเดียวกัน มันก็ต้องเข้าใจอย่างนี้ที่จะทําให้จิตใจของเรา ไม่ฉุนเฉียวง่าย ที่เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่อย่างอื่น คือมันขาดสติ คือสติสัมปชัญญะ ควบคุมจิต ไม่ได้เรียกว่า สติมันห่าง สติ การควบคุมจิตมันห่างไป มันไม่ ดังนั้นเราจะต้องกระชับสติ สัมปชัญญะให้มันเข้า”

ถ้าจิตนั้นมันสงบลงไป มีกําลังแล้วเรียกว่ามันพักผ่อนมันมีกําลังเต็มที่แล้ว มันก็เกิดผล อย่างหนึ่งขึ้นมาละทีนี้คือต้องการอยากรู้แล้วบัดนี้ นั่นมันเป็นอย่างนั้น มันมีกําลังแล้วนี่เหมือนอย่าง

คนเรานี้แหละ ทํางานเหนื่อยแล้วพักผ่อนนอนหลับไปมีกําลังรู้สึกตื่นขึ้นมาแล้วอยากทํางานแล้วที่นี้ มีกําลังแล้วนี่ก็เหมือนกันแหละ จิตใจนี้เมื่อมันไปสู่ความสงบได้เต็มกําลังของมันแล้ว มันก็อยากจะ รู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งที่ควรจะรู้แจ้งเห็นจริง มันก็ต้องกําหนดหาเรื่องที่ควรจะรู้ สิ่งใดที่เรายังไม่รู้ เราก็จะต้องกําหนดพิจารณาทีนี้ อย่างที่ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เรื่องกําหนดพิจารณาทุกข์อย่างว่ามา แล้วนั่นแหละ เมื่อมันกําหนดในขณะที่ปัญญามันเกิดขึ้นอย่างนั้น มันก็เห็นทุกข์แจ่มกระจ่างไปเลย เมื่อเห็นทุกข์มันก็เบื่อในทุกข์เท่านั้น ในทุกข์ ปัญญา มันก็ย่อมมองเห็นว่า ทุกข์นี้มันเป็นเรื่องของ ขันธ์ ๕ ต่างหาก ทําไมจึงว่าเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ก็เพราะขันธ์ ๕ มันไม่เที่ยง เมื่อขันธ์ ๕ มันไม่ เที่ยงแล้วมันแปรปรวน มันกระทบกระทั่งกัน หวั่นไหว อาการที่มันหวั่นไหวกระทบกระทั่งกันไปมา นั้นหละ เรียกว่า ทุกขลักษณ์ เป็นลักษณะของทุกข์ เราก็โยนให้เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ไป เสียอย่างนี้ เมื่อโยนให้เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ แล้ว จิตจะเป็นอย่างไร ที่นี้รู้เอง ทีนี้เห็นเองแหละ ถ้าไปยึดเอาของ ที่ไม่เที่ยงมาเป็นตัว ไม่มีอิสระเลย ก็ต้องหวั่นไหวไปตามของไม่เที่ยงนั่นแหละ มันเป็นอย่างนั้น เรื่องของเรื่องน่ะ

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญญบรรพต

ปัจฉิมบท

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ) มรณภาพ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ด้วยโรคชรา ณ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี ๔ เดือน ๒๘ วัน พรรษา ๗๒