ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ
วัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม)
ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
พระโสภณสมาจาร (หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ) นั้นท่านเป็นพระเกจิอีกหนึ่งองค์ของจังหวัดกาญจนบุรีที่โด่งดังมาก ท่านเป็นศิทษ์เอกของ “หลวงปู่ยิ้ม” เจ้าอาวาสรูปสำคัญของวัดหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อันเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นอาจารย์ยุคโบราณที่มีพุทธาคมสูงยิ่ง เป็นสุดยอดปรามาจารย์สายตะวันตก ผู้สร้างพระหนึ่งในเบญจะพระปิดตาของประเทศไทย และเป็นพระอาจารย์ของ กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ พระโอรส ของเสด็จพ่อ ร.๕ หลวงปู่เหรียญ ท่านได้สืบทอดวิชาจาก หลวงปู่ยิ้ม ทั้งหมด
ที่สำคัญ หลวงปู่ยิ้ม ยังได้เคยสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในด้านไสยเวทย์ในยุคต่อมาอีกหลายรูป นอกจาก หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัวแล้ว ยังมี หลวงปู่ดี วัดเหนือ, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า, หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี, หลวงพ่อหัง วัดเหนือ, หลวงพ่อดอกไม้ วัดดอนเจดีย์, หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นต้น
หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ ท่านมีนามเดิมว่า “เหรียญ รัสสุวรรณ” เป็นบุตรของชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๑๙ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ที่บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดา ชื่อ นายโผ และนางแย้ม รัสสุวรรณ มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๗ คน
ถึงแม้จะเกิดมาในตระกูลชาวนา-ชาวไร่ มีอาชีพที่เรียกว่าหาเช้ากินค่ำ ต้องช่วยบิดา-มารดาหาเลี้ยงชีพตามวิสัยชาวชนบทในสมัยที่บ้านเรือนยังไม่เจริญรุ่งเรือง
แต่กระนั้น ท่านก็ยังสามารถเสาะแสวงหาความรู้ ด้วยความเอาใจใส่กับวิชาที่เล่าเรียน จนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญยิ่งทั้งภาษาไทยและภาษาขอม เป็นที่พึ่งแก่คนทั่วไป นับได้ว่าควรแก่การสรรเสริญ จากนั้นท่านจึงได้กลับมาช่วยเหลือบิดา-มารดาทำไร่ไถนา เป็นการแบ่งเบาภาระตามความจำเป็นในยุคนั้น
อายุย่าง ๒๒ ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๐ โดยมี เจ้าอธิการยิ้ม วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสิงคิบุรคณาจารย์ (คง ทองสุด) วัดเทวสังฆาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์อยู่ วัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สุวัณณโชติ”
อยู่จำพรรษาที่วัดศรีอุปลารามตลอดมา ครั้นมีพรรษาพอสมควร หลวงปู่ยิ้ม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ มอบกิจการต่างๆ ให้ช่วยดูแล และเป็นพระกรรมวาจาจารย์สวดนาค ระหว่างที่ท่านปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ได้ศึกษาวิทยาคมจากหลวงปู่ยิ้มจนหมดสิ้น เป็นพระนอบน้อมถ่อมตน ไม่ชอบโอ้อวดว่าท่านมีดี ให้เกียรติและยกย่องพระอุปัชฌาย์และศิษย์รุ่นพี่ร่วมสำนักอยู่เสมอ
พ.ศ.๒๔๕๔ หลวงปู่ยิ้มถึงแก่มรณภาพลง พระครูวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินทสโร) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม เจ้าคณะจังหวัด พร้อมด้วยพระครูสิงคิบุรคณาจารย์ (สุด) วัดเทวสังฆาราม รองเจ้าคณะจังหวัด ตั้งให้หลวงปู่เหรียญเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบมา เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๔ มีตำแหน่งเป็นพระอธิการ
◉ ลำดับงานปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ เป็นเจ้าคณะแขวงเมือง
ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นพระอุปัชฌาย์
◉ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูนิวิฐสมาจาร
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณสมาจาร
◉ มรณภาพ
เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓ พระโสภณสมาจาร (หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ) ท่านมรณภาพอย่างสงบ รวมสิริอายุได้ ๘๔ ปี พรรษา ๖๓
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว ได้สร้างวัตถุมงคลไว้มากมาย อาทิ ตะกรุด ลูกอม ลูกอมแผง แหวนพิรอด พระปิดตา ซึ่งสร้างตามแบบของหลวงปู่ยิ้ม แต่มีขนาดย่อมกว่า สันนิษฐานว่าได้สร้างมาเรื่อยๆ ตามแต่จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาขอและแจกเรื่อยมา
จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๙๔ บรรดาลูกศิษย์เห็นว่าวัตถุมงคลที่ได้รับแจกมามีประสบการณ์ ประกอบกับเห็นว่าชราภาพมากแล้ว จึงกราบขอให้จัดสร้างพระเครื่องขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง เพื่อไว้เป็นที่ระลึกและแจกให้ผู้ที่มาร่วมบุญ
พระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นในคราวนั้น ท่านใช้เวลาในการรวบรวมมวลสารตามตำราของพระอาจารย์ รวมทั้งใช้เวลาปลุกเสกด้วยกันอยู่เป็นเวลานานประมาณ ๓ ปีเศษ จึงนำออกมาแจกในงานฉลองอายุครบ ๗๘ ปี และงานฉลองอุโบสถหลังใหม่ที่สร้างเมื่อปี ๒๔๙๗
รูปแบบพระเครื่องและเครื่องรางมีด้วยกันมากมาย หลายพิมพ์ สันนิษฐานว่า พระเครื่องทั้งหมดที่ท่านสร้างในคราวนั้นมีจำนวนทั้งสิ้น ๘๔,๐๐๐ องค์ บางพิมพ์ก็สร้างไว้น้อยมาก
แบบพิมพ์ที่ได้รับความนิยมพอจะรวบรวมได้ อาทิ พระพิมพ์ประทานพร พระสมเด็จฐานสามชั้น พระสมเด็จฐานสามชั้นซุ้มโค้ง พระพิมพ์ขุนแผน พระพิมพ์สมาธิห้าเหลี่ยม พระพิมพ์สมาธิกลีบบัว พระกริ่ง พระท่ากระดาน ตะกรุดลูกอม ลูกอมผง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ที่นับว่าโดดเด่นและเป็นที่รู้จักกันอย่างดีไม่แพ้วัตถุมงคลอื่น คือ “เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงปู่ยิ้ม-หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว”
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งเป็นปีที่หลวงปู่เหรียญสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตของท่าน ท่านตั้งใจปลุกเสกนานถึง ๒-๓ พรรษา จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญรุ่นแรกนี้ นำออกแจกในงานฉลองอายุครบ ๗๘ ปี และเป็นงานฉลองอุโบสถหลังใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ สร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา มีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงปู่ยิ้มครึ่งองค์หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระอุปัชฌาย์ยิ้ม จนฺทโชติ วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี”
ด้านหลัง เป็นรูปจำลองหลวงปู่เหรียญ ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า “พระโศภนสมาจาร หลวงพ่อเหรียญ” จัดเป็นเหรียญยอดนิยมที่ชาวเมืองกาญจน์นิยมหวงแหนมาก