ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน
วัดกลางบางแก้ว
อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว จ.นครปฐม ยอดพระเกจิอาจารย์เรืองนามเมืองเจดีย์ใหญ่ ศิษย์เอกของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว นามเดิมชื่อ “เพิ่ม พงษ์อำพร” เกิดวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๙ ที่ ต.ไทยวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บิดาชื่อ “นายเกิด” และมารดาชื่อ “นางวรรณ พงษ์อำพร”
◉ บรรพชาอุปสมบท
บรรพชาเมื่ออายุ ๘ ขวบ สืบต่อมาจนอายุครบบวช จึงเข้าพิธีอุปสมบทวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๕๐ ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมี สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสสเทโว) ครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจอม เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) วัดสรรเพชญ์ อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปุญญวสโน”
ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และคอยสั่งสอนกุลบุตรผู้บวชในภายหลังตามสมควร
ถือได้ว่าเป็นศิษย์ที่ใกล้ชิด หลวงปู่บุญ มากที่สุด เพราะบวชสามเณรตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ อยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว มาตลอด จนกระทั่งมรณภาพ เป็นเวลาถึง ๓๙ ปี
ตลอดระยะเวลานั้นได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนเวทวิทยาคมต่างๆ ไว้มากมาย
เป็นพระสงฆ์ที่งามผุดผ่องด้วยศีล สมาธิ และปัญญาธรรม เปี่ยมล้นไปด้วยเมตตาธรรม พูดจาไพเราะอ่อนหวาน สำเนียงของท่านนั้นมีแววความเมตตา ใครได้ฟังแล้วจะรู้สึกชุ่มชื่นใจ ใครได้สนทนาด้วยแล้วจะรู้สึกเคารพศรัทธาท่านทุกคนไป
◉ ลําดับงานปกครองคณะสงฆ์
วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสปกครอง วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๒ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๓ เป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี
◉ ลำดับสมณศักดิ์
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูสัญญาบัตร ราชทินนามว่า พระครูพุทธวิถีนายก
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามว่า พระพุทธวิถีนายก
พุทธศักราช พ.ศ.๒๕๒๐ เนื่องจากความชราภาพมาก คณะสงฆ์จึงยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์
◉ ประวัติของวัดกลางบางแก้ว
วัดกลางบางแก้ว แต่เดิมมีชื่อว่า “วัดคงคาราม” เป็นวัดเก่าแก่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ในอดีต ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อกันเรื่อยมา ในนิราศพระปฐมของสุนทรภู่ยังมีกล่าวไว้ว่า
“ถึงบางแก้วมองเขม้นไม่เห็นแก้ว เห็นแต่แนวคงคาพฤกษาสลอน
มีวัดหนึ่งโตใหญ่ใกล้สาคร สง่างอนช่อฟ้าศาลาตะพาน
ดูเบื้องบนอาวาสก็ลาดเลี่ยน ต้นตะเคียนร่มรกปกวิหาร”
แสดงว่าวัดกลางบางแก้วนั้นเป็นวัดใหญ่ที่เจริญรุ่งเรือง สะอาดสะอ้านร่มรื่นมาตั้งแต่สมัยนั้น และตั้งอยู่ริมน้ำ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเสด็จมาที่วัดคงคารามเห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรีตรงปากคลองบางแก้ว ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ๒ วัด คือวัดตุ๊กตาและวัดใหม่สุประดิษฐ์ ท่านจึงได้ประทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” เมื่อราวๆ พ.ศ.๒๔๖๕ ในสมัยที่หลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส
ต่อมา พระมหาสมณเจ้า กรมพระวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เสด็จมาที่วัดคงคาราม เห็นว่าเป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำนครชัยศรี ตรงปากคลองบางแก้ว ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ๒ วัด คือ วัดตุ๊กตาและวัดใหม่สุประดิษฐ์ ท่านจึงได้ประทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดกลางบางแก้ว” เมื่อราวๆ พ.ศ.๒๔๖๕ ในสมัยที่หลวงปู่บุญเป็นเจ้าอาวาส
ตลอดระยะเวลาการดำรงสมณเพศอย่างเคร่งครัด ด้วยศีลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป เสียสละตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม สร้างคุณอเนกแก่กุลบุตร-กุลธิดา ด้วยการก่อสร้างและทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญงอกงาม
◉ มรณภาพ
พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่เพิ่ม ปุณณวสโน) วัดกลางบางแก้ว มรณภาพลงด้วยโรคชราด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๖ เวลา ๐๕.๕๐ น. สิริอายุรวมได้ ๙๗ ปี พรรษา ๗๗
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น พระเครื่อง เหรียญ ผงยาวาสนาจินดามณี ตะกรุดและเบี้ยแก้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีพระเครื่องอีกมากมาย ล้วนแต่ได้รับความนิยม อาทิ เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว สร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๔, เหรียญรุ่นสาม พ.ศ.๒๕๑๓ และเหรียญพัดยศ พ.ศ.๒๕๑๗
ในส่วนของ เบี้ยแก้ หลวงปู่เพิ่ม สร้างตามตำรับของหลวงปู่บุญอย่างเคร่งครัด ผู้ที่จะขอให้สร้างเบี้ยต้องไปหาหอยเบี้ยปรอทแผ่นตะกั่วมาให้พร้อม ซึ่งสมัยนั้นหาซื้อได้ในตลาดนครชัยศรี จัดให้เป็นชุดพร้อมสรรพ
เบี้ยแก้เป็นเครื่องรางของขลังชนิดหนึ่ง ทำด้วยเบี้ยจั่น ซึ่งเป็นหอยทะเลชนิดหนึ่ง บรรจุปรอทเอาไว้ภายใน แล้วปลุกเสกด้วยอาคม
สร้างมาแต่ครั้งโบราณ เชื่อว่าใช้แก้กันได้สารพัด ใช้ป้องกันคุณไสยต่างๆ ป้องกันภูตผีปีศาจ ป้องกันไข้ป่า ป้องกันยาพิษยาสั่ง ป้องกันและแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยได้
ในด้านร้ายกลับเป็นดี จะมีคุณสมบัติในเรื่องช่วยให้เรื่องร้ายๆ หรือเรื่องที่ไม่ดีต่างๆ ให้กลับกลายเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเป็นจุดสำคัญของคำว่า “เบี้ยแก้” ที่มีความหมายว่า แก้ในสิ่งที่ไม่ดีให้กลับเป็นดีขึ้นได้
กรรมวิธีการจัดสร้างเบี้ยแก้ของ หลวงปู่เพิ่ม ต้องไปจัดหาหอยเบี้ย ๑ ตัว ปรอทน้ำหนัก ๑ บาท ชันโรงใต้ดินกลางแจ้ง ๑ ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด ๔ x ๕ นิ้ว ๑ แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาด พร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายหลวงปู่ ท่านจะรับสิ่งของเอาไว้ จากนั้นจะเสกปรอทแล้วเทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันโรงที่ปากหอย
จากนั้น เอาแผ่นตะกั่วห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้ ใช้ด้ามมีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ขั้นตอนนี้ใช้เวลานานประมาณ ๓๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี
ฝีมือการเคาะนี้ หากไม่มีความชำนาญ เบี้ยจะออกมาไม่สวย เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วเสร็จ หลวงปู่เพิ่มลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายเอาผ้าแดงผืนเล็กให้หลวงปู่ลงยันต์ให้ด้วยก็มี พอท่านจารเสร็จก็จะปลุกเสกให้ เป็นอันแล้วเสร็จ ปัจจุบัน เบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่มหายากยิ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th