ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เผือก ธัมมะโกศล
วัดสาลีโข
อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
พระครูธรรมโกศล (หลวงปู่เผือก) วัดสาลีโข พระเกจิอาจารย์ยุคเก่า เชี่ยวชาญทางด้านไสยเวทย์วิทยาคมแห่งเมืองนนทบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เผือก วัดสาลีโข ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด พ.ศ.๒๒๙๙ เป็นชาวกรุงศรีอยุธยา บิดาเป็นชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในประเทศไทย ส่วนมารดาเป็นคนไทย
◉ บรรพชาอุปสมบท
หลวงปู่เผือก บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพุทไธศวรรย์ สมัยนั้นความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยมีมาก หลวงปู่เผือกจึงได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมควบคู่ไปกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนแตกฉานตั้งแต่เป็นสามเณร
ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตก โยมบิดามารดาของท่านได้อพยพหลบภัยสงครามจากรุงศรีอยุธยา หลวงปู่เผือก ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณร ได้ติดตามคอยดูแลโยมบิดามารดา พร้อมกับกลุ่มผู้อพยพจนมาถึงบริเวณสุดแนวโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับเกาะเกร็ด
กลุ่มผู้อพยพจึงตั้งหลักแหล่งพักอาศัยทำมาหากินในบริเวณดังกล่าว มีสำนักสงฆ์เก่าแก่อยู่แห่งหนึ่ง สามเณรเผือกจึงได้จำพรรษาในสำนักสงฆ์นั้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “วัดสาลีโข” ในปัจจุบัน
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงขับไล่พม่าออกไปจากประเทศไทยได้สำเร็จ และทรงตั้งกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง
สามเณรเผือกจึงเดินทางย้อนกลับไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อศึกษาวิชาการต่อ พออายุครบบวชท่านจึงเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดป่าแก้ว ซึ่งเป็นวัดฝ่ายอรัญวาสี เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม จ.ศ.๑๑๓๘ พ.ศ.๒๓๑๙ ได้รับฉายาว่า “ธัมมะโกศล”
เวลาออกพรรษา หลวงปู่เผือก ท่านชอบออกธุดงควัตรเสมอ จนทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญด้านกรรมฐาน และมีวิชาอาคมแก่กล้า เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ถึงแม้ท่านจะมีอายุไม่มากนัก (สหธรรมมิกของท่านที่มีชื่อเสียง คือ สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน)
สมัยรัชกาลที่ ๑ หลวงปู่เผือก ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังมากจนเข้าไปถึงหูของบรรดาขุนนาง เจ้านายในวัง ต่างมาหาท่าน เพื่อขอวัตถุมงคล หรือขอให้ท่านลงอักขระเพื่อความเป็นสิริมงคล หรือต้องการหนังเหนียว ว่ากันว่าท่านทำได้ขลังนัก ทำให้มีลูกศิษย์มาขึ้นกับท่านมาก เรียกได้ว่าในช่วงนั้นวัดสาลีโขเจริญรุ่งเรืองสุดขีด
สมัยรัชกาลที่ ๔ หลวงปู่เผือกได้รับพระราชทานพระราชทินนามว่า “พระครูธรรมโกศล” ตำแหน่งสังฆปาโมกข์ฝ่ายอรัญวาสี แขวงนนทบุรี และเป็นเจ้าคณะเมืองนนทบุรี
หลวงปู่เผือก ได้รับพระราชทานเรือกันยาหลังคาแดง มีฝีพายเต็มอัตรา เป็นเรือประจำตำแหน่ง สำหรับออกตรวจคณะสงฆ์ในเขตปกครอง
◉ มรณภาพ
หลวงปู่เผือก วัดสาลีโข ละสังขารในสมัยรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๔๐๕ สิริอายุรวม ๑๐๖ ปี
◉ ด้านวัตถุมงคล
เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข จ.นนทบุรี สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๗ ปลุกเสกนานถึง ๓ ปีเต็ม จำนวนสร้าง เนื้อทองคำมากกว่า ๓ เหรียญ เนื้อเงิน ๑๐๘ เหรียญ เนื้อทองแดงชุบทอง ๒,๕๑๐ เหรียญ (เท่ากับปี พ.ศ.)
พระอาจารย์สมภพ ผู้สร้างเหรียญรุ่นนี้ได้นำไปปลุกเสกที่ถ้ำแก่งละว้า จ.กาญจนบุรี เป็นการปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงแจกแก่บรรดาศิษยานุศิษย์ไปจำนวนหนึ่งในปีนั้น ส่วนที่เหลือได้ประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งที่วัดสาลีโข เมื่อวันเสาร์ห้า ปี พ.ศ.๒๕๑๒ และปลุกเสกต่ออีก ๓ เดือน
พระอาจารย์สมภพบอกว่า ได้ลงทุนลงแรงและตั้งใจมากกับการสร้าง เหรียญหลวงปู่เผือกรุ่นนี้ เมื่อทราบว่าลูกศิษย์นำไปใช้ได้ผลดีในทุกด้านก็รู้สึกดีใจ
ในอดีตชุมชนย่านวัดสาลีโขขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักเลง ถึงกับมีคำพูดกันติดปากว่า “หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยวสาลีโข” ทุกวันนี้หากเซียนพระพูดถึงวัตถุมงคลวัดสาลีโข ก็จะนึกถึงคำพูดประโยคนี้ด้วย
ลักษณะของเหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญปั๊มใหญ่ รูปสี่เหลี่ยม มีการเขียนอักขระเลขยันต์ไว้จำนวนมากจนเต็มเนื้อที่บนหน้าเหรียญ
จากการอ่านเรียงแถวของยันต์ที่ปรากฏบนหน้าเหรียญหลวงปู่เผือก พอคาดคะเนได้ว่า “น่าจะเป็นยันต์เฉพาะของหลวงปู่เผือก”
เหรียญหลวงปู่เผือก วัดสาลีโข รุ่นแรก พิมพ์นิยม ออกจากวัด ปี ๒๕๑๐ เป็นเหรียญที่สวยงาม ทรงคุณค่า และศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นมหาอำนาจแก่ผู้ครอบครอง เป็นที่ยำเกรงแก่คนทั้งหลาย ดังพญาราชสีห์ ไม่รู้จบ อีกทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาด มหาอุด และอยู่ยงคงกระพันเป็นเลิศ เพิ่มพูนอำนาจทั้งบารมีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองทุกประการดีเยี่ยม รวมทั้งหมดในเหรียญเดียวอย่างยิ่ง เป็นที่มหัศจรรย์มาก จนมีผู้อยากครอบครองมากมาย
ด้านหน้าและด้านหลังเหรียญ เป็นอักขระเลขพระมหายันต์เฉพาะของหลวงปู่เผือกอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก
หลวงปู่เผือกนั่งบนหลังสิงห์ อันกึกก้อง รวมทั้งด้านหลังพระยันต์วงเดือนอันวิเศษ เหนือฟ้า เหนือดิน เป็นที่เกรงขามแก่ผู้พบเห็น
เหรียญหลวงปู่เผือกรุ่นนี้ ปลุกเสกโดยพระอาจารย์สมภพ จากการประทับทรง หลวงปู่เผือกนับเป็นเหรียญดีและขลังมากเหรียญหนึ่งของเมืองนนท์ ประสบการณ์มีมากจนสุดจะบรรยาย