ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่บุญมา (เจ) กตปุญโญ วัดป่าวิเวกธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์
หลวงปู่บุญมา เดิมชื่อ บุญมา แก้วปัญญา เกิดเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ปีมะโรง ธาตุทอง เกิดในตระกูล แก้วปัญญา ณ บ้านพยอม ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด
บิดาชื่อ นายมี แก้วปัญญา มารดาชื่อ นางลี แก้วปัญญา
อุปนิสัยของท่านหลวงปู่บุญมา ฉันอาหารเจ ไม่ชอบการเบียดเบียนสัตว์ มีเมตตาเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นเลิศ ชอบแกะพระไม้เป็นประจำ เป็นหมอยาสมุนไพร
เอกลักษณ์ประจำตัวคือ ยืนปลุกเสกวัตถุมงคล
ชีวิตของการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ครั้งที่ 1
ท่านได้เป็นบวชเป็นสามเณร และได้อุปสมบทเป็นพระ ที่วัดบ้านพยอม ตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนบาลี เรียนหนังสือธรรมอีสาน จากท่านเจ้าอาวาสและผู้เฒ่าผู้แก่จนแตกฉาน ท่านกล่าวว่าท่านเองเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง และเป็นคนว่านอนสอนง่าย ท่านเจ้าอาวาส
ผู้พระอาจารย์ของท่านยกย่องและชื่นชมอยู่เสมอ แต่ด้วยคนอีสานสมัยก่อน ลำบาก ยากจน บิดา-มารดา ของท่านจึงไปขอร้องท่านให้ลาสึกขาออกมาจะได้เป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัว ท่านเองเลยจำใจลาสิกขาออกมาครองเรือนเพื่อเลี้ยงดูพ่อ-แม่ และครอบครัว ท่านกล่าวว่า ตอนเป็นฆราวาสนั้นท่านก็ปฏิบัติวันพระ จะนุ่งผ้าขาว ห่มข้าว ถือศีล มีงานปฏิบัติธรรมที่ไหนท่านก็จะไปร่วมเป็นประจำ เรื่องการกินเจท่านก็กินแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร ท่านเองหาเลี้ยงครอบครัวด้วยซื่อสัตย์สุจริตและเป็นที่รักของชาวบ้าน จนชาวบ้านเรียก
”ญาพ่อธรรมเจ”
ชีวิตของการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ครั้งที่ 2
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ท่านได้ตัดสินใจครั้งใหญ่ของชีวิตอีกครั้ง สละเรื่องทางโลกทุกอย่าง เข้าอุปสมบท ณ วัดอรุณรังษี ตำบลบางลูกเสือ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ในวันที่ ๑ เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช๒๕๓๓ เวลา ๐๙.๓๐ น.
โดยมี พระครูอรุณวิริยกิจ (หลวงพ่อสายตาบ) เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์เทือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ประสิทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้เรียนกรรมฐานและวิชาต่างๆเบื้องต้นกับ พระครูอรุณวิริยกิจ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่พอสมควร
ต่อมามีพระรูปหนึ่งได้เดินทางมาพักที่วัดอรุณรังษี ท่านเลยได้เข้าไปสนทนาด้วยก็ได้ทราบว่าพระรูปนี้เดินทางมาจากวัดเขาสมโภชน์ ”ท่านได้ไปศึกษากรรมฐานเปิดโลกกับ ”หลวงพ่อคง” และเล่าประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษามาแล้วให้หลวงปู่เจฟัง ท่านได้ฟังอย่างนั้นจึงเกิดความสนใจและอยากไปศึกษา ”กรรมฐานเปิดโลก” ที่เขาสมโภชน์
ดังนั้น ท่านจึงกราบลา”หลวงพ่อสายตาบ”และออกจากวัดอรุณรังสี เพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมที่ ”สำนักกรรมฐานเปิดโลก” หลวงพ่อคง จตฺตมโล ผู้มีฉายา (พระอรหันต์ร่างทอง) แห่งวัดเขาสมโภชน์ จังหวัดลพบุรี พอไปถึงวัดเขาสมโภชน์ ท่านก็ได้เขาไปกราบและขอฝากตัวกับ หลวงพ่อคงเพื่อฝึกกรรมฐาน เบื้องต้นหลวงพ่อคงก็ได้แนะนำหลักการปฏิบัติกรรมฐานเปิดโลกให้ท่านได้ฟังและให้นำไปปฏิบัติ ท่านก็ฝึกอยู่กับหมู่คณะช่วงนั้นมีหมู่คณะหลายรูปพอสมควร ท่านอยู่เขาสมโภชน์ระยะหนึ่ง เมื่อได้หลักการปฏิบัติกรรมฐานเจริญภาวนาแล้ว ท่านจึงออกเดินทางธุดงค์ปลีกวิเวกไปตามป่าเขาลำเนาไพร มุ่งไปทางภาคใต้ลงไปถึง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร และได้กรรมฐานและจำพรรษาอยู่ภาคใต้อยู่หลายปี
ก่อนเดินทางขึ้นมาทางภาคอีสาน ธุดงค์แถวจังหวัดอุดร หนองคาย เลย ได้อยู่ร่วมกับ “พระอาจารย์สำราญ” ที่อำเภอน้ำโสม จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรทางธรรมในระหว่างเที่ยวธุดงค์ หลังจากนั้นท่านก็กลับมาแถวๆจังหวัดนครราชสีมา ท่านได้มีโอกาสได้ไปสนทนาธรรมเรื่องกรรมฐานและขอวิชาพระคาถาต่างๆ กับพระเทพวิทยาคม ”หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ”แห่งวัดบ้านไร่ และพักแรมอยู่ที่วัดบ้านไร่อยู่หลายครั้ง หากออกจากวัดบ้านไร่ท่านก็จะไปสนทนาธรรมและพักกับ”พระอาจารย์ทอง” (หลวงพ่อทอง ชินวํโส) วัดป่าหิมพานต์ ครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และมีวันหนึ่งหลวงปู่เจท่านนิมิตเห็นถ้ำแห่งหนึ่ง ท่านจึงออกเดินธุดงค์ไปเรื่อยๆตามนิมิต ในที่สุดก็ไปเจอถ้ำนี้อยู่ที่ อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
ท่านจึงจำพรรษาอยู่นั่นถึง ๓ พรรษา ณ ที่ถ้ำนี้ ท่านได้นิมิตเห็นพญานาคเฝ้าอยู่ ท่านจึงตั้งชื่อถ้ำนี้ชื่อว่า ”ถ้ำพญานาค” หลวงปู่เจท่านเล่าว่าท่านเร่งความเพียรมาก ทั้งเดินจงกรม ทั้งนั่งภาวนา พยามชำระกิเลสภายในใจ เจริญสติ เจริญปัญญา ท่านว่า”จิตของท่านสงบเป็นสมาธิดีที่ถ้ำแห่งนี้” หลวงปู่เจได้บุกเบิกถ้ำนี้เพื่อที่จะทำให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา หลังจากออกจากถ้ำพญานาคท่านก็ได้ไปสร้างบุกเบิกสำนักสงฆ์ป่า ๑๙ บ้านบึงโดน อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด อีก ๑ วัด และหลวงปู่เจก็ยังเป็นผู้มาร่วมบุกเบิกป่าช้าบ้านสงเปือย (วัดป่าวิเวกธรรม) ร่วมกับ พระอาจารย์ยุทธอีกด้วย
ช่วงระยะ ๔-๕ ปีหลัง หลวงปู่เจท่านอายุ ๗๐-๗๕ ปี ท่านจะแวะเวียนไปธุดงค์จำพรรษาอยู่ทั้ง ๓ วัดนี้ “ถ้ำพญานาค วัดป่า ๑๙ บึงโดน วัดป่าวิเวกธรรม”
ปัจจุบัน หลวงปู่เจ ท่านได้รับนิมนต์จากชาวบ้านและ พระอาจารย์ยุทธ จันทสาโร เจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกธรรม ให้มาเป็นประธานสงฆ์วัดป่าวิเวกธรรม
ด้วยเหตุที่ว่าหลวงปู่เจ ท่านเป็นหนึ่งในผู้มาบุกเบิกล้างป่าช้า และ เป็นกำลังหลักในการสร้างวัดป่าวิเวกธรรมแห่งนี้ขึ้น รวมไปถึงหลวงปู่เจ ท่านก็ชราภาพตามอายุสังขาร ท่านจะได้มีลูกพระ ลูกเณร ญาติโยมค่อยดูแลอย่างใกล้ชิด หลวงปู่เจท่านก็ตอบรับมาจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม ตั้งแต่อายุ ๗๕ ปี จนถึงปัจจุบัน
วัดป่าวิเวกธรรม เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมประจำอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพระ เณรนับ ๑๐ รูป ที่จำพรรษา ทุกปีช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม วัดจะมีการจัดปฏิบัติธรรม และออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่สำคัญต่างๆเช่น พระธาตุพนม พระธาตุนาดูน พระธาตุยาคู เทือกเขาภูพาน เป็นจำทุกปี มีพระสงฆ์ สามเณรและพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมปฏิบัติธรรมไม่ต่ำกว่าปีละ ๒๐๐ คน
หลวงปู่บุญมา กตปุญโญ หรือ (หลวงปู่เจ) ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นพระที่มักน้อย พูดน้อย ชอบความวิเวก สันโดษ มีเมตตาเป็นเลิศ มีความเพียรเป็นเลิศ ไม่ชอบการเบียดเบียน ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรม รักษาข้อวัตร รักษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามรอยแห่งองค์พระศาสดาและเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างแท้จริง
ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ ทางวัดป่าวิเวกธรรม ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกหลวงปู่เจขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกกฐินสามัคคี และหลังจากปี พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้นมาทางวัดก็ได้อนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่เรื่อยมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัย เพื่อใช้ในการก่อสร้างอุโบสถให้เป็นถาวรวัตถุคู่พระพุทธศาสนาสืบไป
เรียบเรียงโดย คณะศิษย์ หลวงปู่บุญมา(เจ) กตปุญโญ
โอวาทธรรม คำสอน หลวงปู่เจ วัดป่าวิเวกธรรม
“ศีลคือคุณสมบัติเบื้องต้นของการเป็นมนุษย์
ฆราวาสให้รักษาศีล ๕ พ่อขาวแม่ขาวรักษาศีล ๘
เณรให้รักษาศีล ๑๐ พระรักษาศีล ๒๒๗
สรุปแล้วรักษาศีลคือรักษากายให้เป็นปกติ
วาจาให้เป็นปกติ ใจให้เป็นปกติ นี้คือรักษาศีล”
“ผู้ใดทำใจให้ถึงความเป็นกลาง ผู้นั้นย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”
“หากความเพียรของเรากล้า ย่อมสามารถเผาได้แม้แต่กิเลสในใจตน”