วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม อ.สังขะ จ.สุรินทร์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เจียม อติสโย

วัดอินทราสุการาม
อ.สังขะ จ.สุรินทร์

หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์

หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม พระเกจิชื่อดังเมืองสุรินทร์ มีศีลาจารวัตรงดงาม จนได้ชื่อว่า “พระนักบุญแดนอีสานใต้

◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เจียม อติสโย เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๕ เดือน มกราคม พ.ศ.๒๔๕๔ ตรงกับ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปี จอ ณ บ้านดองรุน ต.ปะเตียเนียง อ.มงคลบุรี จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา (เขมร) บิดาชื่อ “นายคำ เดือมคำ” และมารดาชื่อ “นางรุน เดือมคำ” มีพี่น้องร่วมบิดามารดา เดียวกัน ๔ คน คือ
๑.นายเจียม นวนสวัสดิ์ (หลวงปู่เจียม อติสโย)
๒.นางคำวันยิง (อยู่ประเทศกัมพูชา ถึงแก่กรรมแล้ว)
๓.นายคำ ยิว (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔.นางคำ กิว (ถึงแก่กรรมแล้ว)

หลวงปู่เจียม เข้าเรียนชั้นประถมศึกษา ในโรงเรียนประจำอำเภอมงคลบุรี เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ขวบ ได้เรียนทั้งภาษาเขมร และภาษาฝรั่งเศสตามที่หลักสูตรกำหนด ในขณะนั้นประเทศเขมรหรือประเทศกัมพูชา ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศส เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว ได้สอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนในตัวจังหวัดพระตะบอง แต่เรียนได้เพียง ๓ เดือน ก็ต้องออกจากโรงเรียนเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจความยากจน และความเดือดร้อนอันเป็นผลเกิดจากภาวะสงคราม และการสู้รบในขณะนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว หลวงปู่ ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวโดยทำนาเป็นอาชีพหลัก และยังได้ประกอบการค้าเพิ่มเติม เช่น ค้าข้าว ค้าวัว รวมทั้งเป็นช่างไม้ด้วย ซึ่งทำให้ฐานะทางครอบครัวของ หลวงปู่ มั่นคงยิ่งขึ้น หลวงปู่ ได้ดำเนินชีวิตอยู่อย่างราบรื่นตลอดมา จนกระทั่ง หลวงปู่ มีอายุย่างเข้าวัยกลางคน

เนื่องจากประเทศเขมรขณะนั้น ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของประเทศฝรั่งเศส หลวงปู่ เป็นคนหนึ่งที่มีความรักชาติรักแผ่นดิน รักบ้านเกิดต้องการให้ประเทศชาติมีอิสระภาพ และเป็นเอกราช จึงได้เข้าร่วมมือกับกลุ่มชาวเขมรรักชาติ “กลุ่มเขมรเสรี” จัดตั้งกองกำลังเพื่อกอบกู้ประเทศชาติโดยปฏิบัติการสู้รบกับทหารฝรั่งเศส และผู้ให้การสนับสนุน ซึ่งส่วนมากจะสู้รบกันตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา จากการปะทะ และสู้รบกับฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่าหลายครั้ง ทำให้กลุ่มเขมรเสรีถูกปราบปรามอย่างหนัก กำลังบางส่วนต้องหลบหนีซ่อนตัวอยู่ตามป่าตามเขา และกำลังบางส่วนได้หลบหนีเข้ามายังเขตจังหวัดชายแดนประเทศไทย แต่ละคนต้องหนีเอาตัวรอดจากบ้านเรือนถิ่นที่อยู่ และครอบครัวอันเป็นที่รัก คิดว่าสักวันหนึ่งเมื่อมีความพร้อม และรวมตัวกันได้ จะกลับมาต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของประเทศเขมรต่อไป

◉ อุปสมบท
หลวงปู่เจียม ได้เข้ามาประเทศไทย ทางเขตชายแดน จ.สุรินทร์ ประมาณ พ.ศ.๒๔๘๕ โดยเข้ามากับ พระสงฆ์ชาวเขมรชื่อ พระครูดี ได้เดินทางรอนแรมมาเรื่อยๆค่ำไหนก็นอนที่นั่น จนในที่สุดก็เดินทางมาจนถึง หมู่บ้านจารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ได้เข้าพักอาศัยอยู่ที่ วัดบ้านจารพัต เป็นเวลา ๑ คืน รุ่งเช้าเดินทางมาจนถึง บ้านราม และได้พักอาศัยอยู่ที่ บ้านของครูเติม ประมาณ ๓ คืน จากนั้นเดินทางมาถึง บ้านบรมสุข ได้พักอาศัยอยู่ใน บ้านครูจุมเป็นญาติกับนายเมา เดินทางจาก บ้านบรมสุข ก็มาถึง บ้านมะลูจรุง (อยู่ทางทิศใต้บ้านบรมสุข) หลวงปู่ ก็ได้แยกทางกับพระครูดีที่บ้านมะลูจรุง ความตั้งใจของ หลวงปู่ ขณะนั้นคือ จะกลับประเทศเขมรเพื่อทำหน้าที่ในการกอบกู้บ้านเมืองต่อไป หลวงปู่ ได้เดินทางผ่าน บ้านทัพกระบือ บ้านตราด บ้านลำดวน แล้วมาพักที่ วัดทักษิณวารีศิริสุข (วัดใต้) ประมาณ ๑๐ วัน ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อหว่าง

ต่อมา อาจารย์ขัน คุณแม่เฮียะ ปานเจริญ คุณพ่อเกา คุณแม่เสน คงวัน โยมอุปัฏฐาก หลวงพ่อหว่าง ได้ขอเป็นเจ้าภาพจัดพิธีอุปสมบทให้กับ โยมเจียม(หลวงปู่เจียม อติสโย) วัน อังคาร ที่ ๔ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๑ เวลา ๑๐.๕๕ น. ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปี ระกา หลวงพ่อหว่าง ธัมมโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเปรม วัดบ้านจารย์ กับ พระครูยิ้ม วัดบ้านหนองโยโคกปืด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ขณะนั้น หลวงปู่ อายุได้ ๔๖ ปี

หลวงปู่เจียม ท่านได้จำพรรษาแรกที่ วัดทักษิณวารีศิริสุข (วัดใต้) ได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับ หลวงพ่อหว่าง ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่มีกิจวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นอกจากนั้นแล้ว หลวงปู่ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเปราะ และหลวงพ่อนต ที่ วัดสุวรรณรัตน์ (วัดเหนือ) ซึ่งเป็นวัดตั้งอยู่ใน บ้านลำดวน ต่อมาหลวงพ่อทั้ง ๒ ได้แนะนำให้ หลวงปู่ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับ หลวงพ่อมิน เจ้าสำนักวัดคฤห์ ในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งได้รับคำแนะนำ และความเมตตาจาก หลวงพ่อมิน เป็นอย่างดี หลวงปู่ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์ ได้ให้คำแนะนำเป็นอย่างดียิ่ง

ภายหลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ ได้กราบลา หลวงพ่อหว่าง เพื่อเข้าปริวาสกรรม ออกธุดงค์เพื่อประพฤติปฏิบัติธรรมตามแนวทางที่เรียนรู้มา โดยครั้งแรกออกธุดงค์ไปตามเขต ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ ย้อนกลับลงมาทาง ลพบุรี สระบุรี อีกครั้ง ธุดงค์ไปถึง ชลบุรี จันทบุรี ระยอง อ.ศรีราชา ข้ามไป อ.เกาะสีชัง กลับเข้ามาในตัวจังหวัดชลบุรีอีกครั้ง ขณะที่หลวงปู่จะธุดงค์กลับ จ.สุรินทร์ มีโยมท่านหนึ่งนิมนต์ หลวงปู่ ให้ไปจำพรรษาอยู่ สำนักสงฆ์เขาหลุมยาง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่ง หลวงปู่ ได้จำพรรษา อยู่ ๑ พรรษา

เมื่อออกพรรษา ได้เข้าปริวาสกรรมที่ วัดสาวชะโงก กับ อาจารย์สี พระอาจารย์เชื้อ และออกธุดงค์มาทางเขต พนมสารคาม ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ได้จำวัดที่ โรงทานบริเวณต้นโพธิ์ ๒ คืน ได้จำวัดที่ วัดป่ามะไฟ จ.นครนายก ๑ คืน รุ่งเช้าออกธุดงค์ไป อ.หินกอง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ผ่านไป จ.ลพบุรี ได้ไปจำวัดอยู่ค่ายโคกกระเทียม จากนั้นธุดงค์ไป อ.โคกสำโรง อ.ตากฟ้า พร้อมกับพระสงฆ์อีก ๔ รูป คือ พระอาจารย์สี, พระอาจารย์เชื้อ, พระอาจารย์เย็น, พระอาจารย์สว่าง ออกธุดงค์ไป จ.ชัยนาท นครสวรรค์ อ.ลาดยาว เข้า จ.กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ อ.เถิน จ.ลำปาง ลงมาเขื่อนภูมิพล จ.ตาก และอ.แม่สอด ซึ่งขณะนั้นอยู่ปี พ.ศ.๒๕๐๒ ออกจาก จ.ตาก ลงมาทาง กำแพงเพชร ชัยนาท สุพรรณบุรี กาญจบุรี ในขณะธุดงค์ผ่าน จ.กาญจนบุรี ได้ศึกษาธรรมะกับ หลวงพ่ออุตตมะ รัมโภภิกขุ วัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จากนั้นผ่านมาทาง จ.นครปฐม สมุทรสาคร อ.สำโรง สมุทรปราการ อ.ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา อ.กบินทร์บุรี อ.ปักธงชัย อ.โชคชัย อ.หนองกี่ อ.นางรอง บ้านบักดอก นิคมสร้างตนเอง อ.ปราสาท เพื่อกลับมาจำพรรษาที่ วัดทักษิณวารีศิริสุข หลวงปู่ ได้จำพรรษาอีก ๑ พรรษา ปี พ.ศ.๒๕๐๓

เมื่อออกพรรษา หลวงปู่เจียม ได้ไปสมาทานที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ประมาณ ๑ เดือน ก็ออกธุดงค์ไปยัง วัดสาวชะโงก รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด กลับมาจำพรรษาที่ วัดทักษิณวารีศิริสุข ในปี พ.ศ.๒๕๐๔ เมื่อออกพรรษา หลวงปู่ ก็ได้ออกสมาทานเช่นเดิม เมื่อใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่ ก็จะกลับมาจำพรรษาที่ วัดทักษิณวารีศิริสุข อีกเช่นเคย (พ.ศ. ๒๕๐๕) หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ กราบลา หลวงพ่อหว่าง ไปจำพรรษาอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี ๑ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๐๖) เมื่อออกพรรษาได้พาญาติโยมมาทอดกฐินถวาย วัดสุวรรณรัตน์ (วัดเหนือ) และขอจำพรรษาอยู่ที่ วัดสุวรรณรัตน์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงปู่ ได้เวียนวัตรปฏิบัติเช่นนี้ต่อเนื่องทุกปีคือ พอออกพรรษาก็จะออกธุดงค์ เมื่อจะถึงวันเข้าพรรษาก็จะกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัด เช่นนี้เรื่อยไป เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่ต่ำกว่า ๑๓ ปี และได้ออกธุดงค์ไปทั่วประเทศไทย ได้ศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม ได้ฝึกปฏิบัติด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้พบปะสนทนา และเปลี่ยนแนวทางการประพฤติปฏิบัติธรรมกับ พระอาจารย์หลายรูป อาทิเช่น อาจารย์คำสา อ.เซกา จ.หนองคาย, อาจารย์คำปัน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม, อาจารย์คำวงษ์ จ.ชลบุรี เป็นต้น

ในระยะหลังตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงปู่ จะจำพรรษาอยู่ที่ วัดสุวรรณรัตน์ เท่านั้น ประมาณช่วงเดือน มกราคม-เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ ภายหลังที่ หลวงปู่กลับจากธุดงค์แล้ว โยมเดียม จิตรักษ์ โยมบาน เสมาชัย โยมสมร แดงดา โยมเบียน สิมมา และ ผู้ใหญ่พาน จันนุบิน ได้นิมนต์ หลวงปู่เจียม อติสโย เพื่อให้ หลวงปู่ มาร่วมสร้าง สำนักสงฆ์ที่ หมู่บ้านหนองยาว ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงปู่เจียมท่าน ได้จำพรรษาที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ด้วย ซึ่งต่อมาสำนักสงฆ์แห่งนี้คือ “วัดอินทราสุการาม” ในปัจจุบันนี้

ขณะเดียวกัน หลวงปู่ท่านก็เผยแพร่พระพุทธศาสนาคอยเทศน์อบรมชาวบ้านบรรยายธรรม ให้แก่ชาวบ้าน หมั่นรักษาศีล และปฏิบัติธรรม

หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์

◉ สมณศักดิ์ที่ได้รับ
พุทธศักราช ๒๕๒๗ หลวงปู่เจียม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม “พระครูอุดมวรเวท

เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา หลวงปู่เจียม เริ่มมีอาการ เหน็ดเหนื่อยสายตาพร่ามัว ประสาทหูฟังไม่ค่อยชัด คณะศิษยานุศิษย์ได้นำตัวเข้ารักษาอาการของ หลวงปู่ ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ครั้นเมื่อออกจากโรงพยาบาล หลวงปู่เจียม ยังต้องมีกิจนิมนต์จากชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธา เพื่อคอยปัดเป่าทุกข์ บำรุงสุขไม่เว้นแต่ละวัน บางครั้งต้องไปเป่ากระหม่อมให้ลูกศิษย์สม่ำเสมอ

◉ มรณภาพ
กระทั่งเมื่อเวลา ๑๖.๕๙ น. ของวันศุกร์ที่ ๑ เดือน กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ คณะศิษย์ วัดอินทราสุการาม ได้ตีระฆังรัวกรองเป็นชุด เพื่อแจ้งเหตุว่าบัดนี้ชาวเมืองสุรินทร์ ได้สูญเสียปูชนียสงฆ์รูปสำคัญ คือ หลวงปู่เจียม อติสโย ได้ละสังขารอย่างสงบด้วยโรคไตวาย ภายในกุฏิ วัดอินทราสุการาม หลังจากรักษาอาการอาพาธโรคไตวายมาเป็นเวลานาน ประกอบด้วยวัยที่ชราภาพมาก สิริอายุรวมได้ ๙๖ ปี พรรษา ๔๗ ท่ามกลางความเศร้าโศกของศิษยานุศิษย์ และชาวบ้านยิ่งนัก

สรีระสังขาร หลวงปู่เจียม อติยโส ในโลงแก้ว
สรีระสังขาร หลวงปู่เจียม อติยโส ในโลงแก้ว

คณะสงฆ์ และคณะศิษยานุศิษย์ รวมถึงชาวบ้าน ได้นำสรีระร่าง หลวงปู่เจียม อติสโย บรรจุไว้ในโลงแก้ว เพื่อให้เห็นสรีระสังขารที่ ไม่เน่า ไม่เปื่อยของท่าน โดยตั้งไว้ภายในกุฎิซึ่งเป็นห้องปรับอากาศ ในวัดอินทราสุการาม เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไหว้บูชา รำลึกถึงคุณงามความดี ของหลวงปู่

หลวงปู่เจียม อติสโย นับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดพระเกจิแห่งอีสานใต้องค์หนึ่ง ซึ่งเป็นพระผู้เข้มขลังทางพระเวท มีตบะ สมาธิ และวิถีญาณอันแก่กล้า และชอบช่วยเหลือคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ จนเป็นที่กล่าวขาน ยกย่อง และยอมรับในหมู่ทหารหาญที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน ตลอดทั้งบรรดาศิษยานุศิษย์ และญาติโยมที่รู้จักกันทั่วไป แม้ว่าหลวงปู่จะละสังขารไปแล้วหลายปี แต่กิตติศัพท์คุณงามความดีของท่าน ยังคงขจรขจายไปทั่วสารทิศ และยังคงความศรัทธาต่อผู้คนอย่างมิเสื่อมคลาย จึงทำให้ในวันนี้ ที่วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ จึงเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ที่หลั่งไหลมาร่วมงานด้วยพลังศรัทธาอย่างมากมาย

เมื่อก่อนนั้น หลวงปู่เจียม ท่านอยากได้สถานที่ปราสาทหมื่นชัย (โคกปราสาท) เป็นสถานที่สร้างวัด แต่มีเหตุติดขัดทำให้สร้างวัดไม่ได้ หลวงปู่ เคยกล่าวไว้ว่า “ดินแดนวัดอินทราสุการาม มีบุญยิ่งนักสามารถสร้างเป็นวัดได้” จึงได้มี “วัดอินทราสุการาม” ขึ้นนับแต่นั้นมาจนปัจจุบันนี้

เนื่องจาก หลวงปู่เจียมท่าน เป็นพระที่มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานในด้านการพัฒนามากมาย เช่น
⦿ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่ บ้านหนองยาว ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
⦿ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้พัฒนาสำนักสงฆ์จัดตั้งเป็นวัด “วัดอินทราสุการาม” ร่วมกับพุทธศาสนิกชน และญาติโยม จนได้รับการประกาศ และอนุญาต
● ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ – ๒๕๓๐ ได้ช่วยเหลือการก่อสร้างวัดในตำบลสะเดา และวัดระมาดค้อ อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ จนเสร็จสมบูรณ์
● ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จัดตั้งโรงเรียนปริญัติธรรม พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพระธรรมวินัย
● ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ จัดตั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนตำบลกระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
● ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ก่อสร้างอาคารเรือนพยาบาลโรงเรียนกระเทียมวิทยา (สังกัดกรมสามัญศึกษา) ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
● ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ตั้งกองทุน “หลวงปู่เจียม อติสโย” เพื่อพัฒนาการศึกษาแก่โรงเรียนสังขะ อ.สังขะ จ.สุรินทร์
● ในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ก่อสร้างสถานีอนามัยบ้านหนองยาว ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มูลค่า ๑.๒ ล้านบาท
● ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จัดหาทุนสมทบทุนก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาล จ.สุรินทร์
● ให้ทุนสนับสนุนการจัดซื้อ วัสดุ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ ให้แก่สถานีอนามัยบ้านหนองยาว โรงพยาบาลสังขะ โรงพยาบาลสุรินทร์
● ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐
● จัดซื้อที่ดินพร้อมญาติโยม พุทธศาสนิกชน รวมทั้งข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันปลูกป่าถาวร จนได้รับโล่รางวัลชนะเลิศ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
● จัดตั้งกองทุนสวัสดิการข้าราชการ และลูกจ้างประจำในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา มูลค่า ๓๐๐,๐๐๐ บาท อ.สังขะ จ.สุรินทร์
● จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือนักเรียนยากจน และขาดแคลนทุนทรัพย์ ในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษา อ.สังขะ จ.สุรินทร์ มูลค่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท
● และมอบเงินทุนช่วยเหลือในกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย เช่น กองทุนอาหารกลางวัน กองทุนช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ทั้งในสังกัด อ.สังขะ อ.ลำดวน อ.บัวเชด อ.กาบเชิง และอ.ศรีณรงค์
● สร้างศาลาประชาคมในที่ต่างๆอีกไม่ต่ำกว่าอีก ๖๑ แห่ง

หลวงปู่เจียม อติสโย เป็นที่พึ่ง เป็นที่เคารพ ของพุทธศาสนิกชน ญาติโยม และประชาชนทั่วไป หลวงปู่ มีแต่ความเมตตา พยายามช่วยเหลือรักษาผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยทางด้านร่างกาย และจิตใจ โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก จนเป็นที่เคารพศรัทธาของศิษยานุศิษย์ทุกๆคน

พุทธศักราช ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม หลวงปู่เจียม อติสโย (พระครูอุดมวรเวท) เป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดอินทราสุการาม เพื่อสนทนาธรรม ในโอกาสนี้ หลวงปู่เจียมได้ทูลเกล้าฯถวายวัตถุมงคล พระกริ่งรูปเหมือน รุ่นรับเสด็จและตะกรุด เป็นที่ระลึกด้วย เนื่องด้วยบุญบารมีคุณงามความดี และผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของสาธารณะชนทั่วไป เหมาะสมแล้วสำหรับคำกล่าวขาน “พระนักบุญแดนอีสานใต้”

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่เจียม ได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นครั้งแรก เป็น “ตะกรุดโทน” ลักษณะม้วนแผ่นทองสอดสายยางร้อยกับสายร่ม และผูกห้อยพระแก้วมรกตและเหรียญรูปเหมือน เป็นต้น

เหรียญ หลวงปู่เจียม รุ่นแรก พระอาทิตย์นูน
เหรียญ หลวงปู่เจียม รุ่นแรก พระอาทิตย์นูน
ตะกรุดรุ่นทหารพระเจ้าอยู่หัว หลวงปู่เจียม
ตะกรุดรุ่นทหารพระเจ้าอยู่หัว หลวงปู่เจียม
เหรียญเสมาใหญ่หลวงพ่อเจียม อติสโย
เหรียญเสมาใหญ่หลวงพ่อเจียม อติสโย

ปรากฏว่าผู้ที่มีวัตถุมงคลหลวงปู่เจียมไว้ในครอบครอง มีประสบการณ์ปาฏิหาริย์นานัปการ ทำให้มีฝูงชนแห่แหนไปร่วมทำบุญกันอย่างเนื่องแน่น โดยมีชาวบ้านบางส่วนนิยมนำยานพาหนะส่วนตัว ตลอดทั้งรถยนต์โดยสารในท้องถิ่นสุรินทร์ หรือต่างจังหวัด ผูกห้อยตะกรูดโทนของหลวงปู่เจียม เพื่อความเป็นสิริมงคล

ขณะเดียวกัน ในแต่ละวันจะมีฝูงชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลไปกราบขอให้หลวงปู่เจียม เสริมสิริมงคล ถอดถอนคุณไสย ด้วยการอาบน้ำมนต์

ตะกรุดชุดใหญ่ ๔ ดอก หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
ตะกรุดชุดใหญ่ ๔ ดอก หลวงปู่เจียม อติสโย วัดอินทราสุการาม ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
ตะกรุดคู่ หลวงปู่เจียม อติสโย
ตะกรุดคู่ หลวงปู่เจียม อติสโย

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ไปกราบนมัสการขอให้เขียนตะกรุดโทนแขวนคอ ลงเหล็กจารในแผ่นทองกับมือของท่าน เพื่อสวมใส่เป็นขวัญกำลังใจ ในการออกไปรับใช้ชาติในต่างแดน อาทิ เวียดนาม ลาว และเขมร จนได้รับการกล่าวขานเลื่องลือระบือไกล ด้วยพุทธคุณเมตตามหานิยมและแคล้วคลาดภยันตราย

พ.ศ.๑๕๑๕ หลวงปู่เจียมอนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์ จัดสร้างวัตถุมงคลกริ่งรูปเหมือน รุ่น ๑ จำนวน ๗,๐๐๐ องค์ เหรียญรูปเหมือน รุ่น ๑ จำนวน ๗,๐๐๐ เหรียญ พร้อมตะกรุดแขวนคอชุดใหญ่ จำนวน ๗,๐๐๐ เส้น

ตะกรุด รุ่นแรก หลวงปู่เจียม อติสโย ปี ๑๕๑๒
ตะกรุด รุ่นแรก หลวงปู่เจียม อติสโย ปี ๑๕๑๒

พ.ศ.๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมหลวงปู่เจียม ที่วัดอินทราสุการาม เป็นการส่วนพระองค์ เพื่อสนทนาธรรม ในโอกาสนี้ หลวงปู่เจียมได้ทูลเกล้าฯถวายวัตถุมงคลพระกริ่งรูปเหมือน รุ่นรับเสด็จ ตะกรุด เป็นที่ระลึกด้วย

พ.ศ.๒๕๔๖ หลวงปู่เจียมอนุญาตให้จัดสร้างวัตถุมงคล รุ่นมูลนิธิอติสโย เป็นวัตถุมงคลหล่อโบราณ รูปเหมือน (เททองในวัด) สรุปรวมวัตถุมงคลทั้งวัดจัดสร้าง ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสิ้นประมาณ ๕๐ รุ่น เมื่อรวบรวมปัจจัยได้นำไปสร้างถาวรวัตถุมากมายและจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติม