วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท พระอริยสงฆ์ผู้มีสังขารเป็นอมตะ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท

วัดสระกำแพงใหญ่
ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท (เทพเจ้าเมืองดอกลำดวน)
วัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

◎ อัตโนประวัติ
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” หรือ “พระมงคลวุฒ” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และอดีตพระเกจิชื่อดัง-พระนักพัฒนาที่ชาวอีสานใต้ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธากันเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยความเป็นพระเถระที่มีเมตตาธรรมขั้นสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เข้มขลังในวิทยาคมศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม เป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจแก่ผู้ประสบทุกข์ร้อนเดือดร้อนทั้งหลาย

หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท มีนามเดิมว่า เครื่อง ประถมบุตร เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๕๓ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ณ บ้านค้อกำแพง (ปัจจุบันคือ บ้านหนองแปน) หมู่ที่ ๓ ต.สระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสอน และนางยม ประถมบุตร ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา ฐานะค่อนข้างยากจน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๔ แต่พี่น้องเสียชีวิตไปในวัยเยาว์ ๖ คน คงเหลืออยู่เพียง ๘ คน ซึ่งมีรายชื่อตามลำดับดังนี้

๑. หลวงตาสุ สุปญโญ
๒. นายเถ้า ประถมบุตร
๓. หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
๔. นายนิล ประถมบุตร
๕. นายสา ประถมบุตร
๖. นางบุญจันทร์ ชูกำแพง
๗. นายบัวทอง ประถมบุตร (สันทัสถ์) ป.ธ. ๕ ผู้ช่วยสรรพากรจังหวัด
๘. ไม่ปรากฏนาม

◎ การศึกษาเบื้องต้น
สมัยนั้นการศึกษาเล่าเรียนยังไม่เจริญเท่าที่ควร ในวัยเด็กเมื่อท่านอายุได้ ๘ ปี ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ประถม ก. กา อยู่กับลุงเกษ ประถมบุตร ซึ่งเป็นครูสอนอยู่กับบ้านตอนเย็นหรือตอนกลางคืนเวลาว่างๆ เท่านั้น จึงทำให้การเรียนของท่านพออ่านออกเขียนได้

ครั้นต่อมาท่านอายุได้ ๑๕ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้เข้าโรงเรียนรัฐบาลที่วัดสระกำแพงใหญ่ มีพี่น้องเข้าโรงเรียนพร้อมกันทั้ง ๓ คน เพราะไม่มีใครช่วยพ่อแม่ทำงานเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ โยมพ่อของท่านตั้งกติกาให้เปลี่ยนกันไปโรงเรียนคนละ ๗ วัน ทั้งนี้ทำให้หลวงปู่เครื่อง เรียนหนังสือไม่ได้เต็มที่เสียเวลาเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน

ครั้นเวลาผ่านไป ทางราชการและครูไม่ยอมให้เปลี่ยนกันเรียน แต่ก็ต้องเปลี่ยนกันเรียนอยู่นั่นเอง เพราะเหตุดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อหลวงปู่เครื่องมาโรงเรียนวันไหนจึงต้องถูกครูตีทุกวันเพราะเป็นการผิดกฎโรงเรียน จำเป็นก็ต้องทนอยู่ในสภาพนั้น ในเวลานั้นหลวงปู่เครื่องท่านเล่าว่าไม่รู้จะเชื่อฟังใครดี

ผลที่สุด หลวงปู่ท่านก็ต้องหาอุบายแอบหนีญาติมาโรงเรียนคนเดียว ก็ทำให้มีความรู้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ซึ่งระยะนั้นท่านกำลังสนใจในการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้เพิ่มเติมด้วยดี กอปรด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่งนัก ท่านเรียนได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ เท่านั้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ เรียนได้ครึ่งปี ทางราชการมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหม่ ผู้มีอายุได้ ๑๘ ปี ให้เสียค่าเล่าเรียนประถมศึกษาคนละ ๔ บาท เงิน ๔ บาทสมัยนั้นมีค่ามากนัก ด้วยความจำเป็น ท่านจึงต้องพ้นสภาพการเป็นนักเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต่อมาก็ได้อยู่ช่วยทำกิจการงานครอบครัวอย่างหนักเอาเบาสู้ ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ รับผิดชอบในหน้าที่ของผู้หญิงทุกอย่าง ตักน้ำตำข้าว เก็บผักหักฟืน หุงต้มเก็บหม่อนป้อนไหม ถอนกล้า ไถนา ปักดำ ทุกแขนงจนเกิดความเบื่อหน่าย จะไปเที่ยวเล่นตามเพื่อนบ้านก็ไม่มีเวลา

◎ การบรรพชาและอุปสมบท
พอท่านอายุได้ ๑๘ ปี ได้กราบลาบุพการีเพื่อบรรพชาเป็นสามเณร แต่โยมบิดา-โยมมารดาของท่านไม่อนุญาต ครั้นมีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้กราบลาบุพการีและญาติพี่น้องเพื่ออุปสมบท ครั้งนี้โยมบิดาไม่ขัดใจ แต่โยมมารดายังป่วยเป็นโรคปอดบวม อาการหนักอยู่มาก ซึ่งป่วยมาได้ ๓ ปีแล้ว

ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสำโรงน้อย หมู่ ๖ ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ โดยมีพระครูเทวราชกวีวรญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ใบฎีกาชม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์พรหมมา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุภัทโท” ซึ่งแปลว่า “ผู้ประพฤติงาม

หลังเข้าพิธีอุปสมบทเพียง ๒ สัปดาห์ โยมมารดาซึ่งล้มป่วยหนักได้เสียชีวิตลง ทำให้ท่านต้องช่วยเป็นธุระจัดการงานศพมารดาเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนไปอยู่จำพรรษาวัดบ้านค้อ ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย ผ่านพ้นวันออกพรรษา บรรดาญาติพี่น้องได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท่านลาสิกขาเพื่อมาเลี้ยงน้อง แต่ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตปุถุชน ตั้งใจอุทิศชีวิตให้บวรพระพุทธศาสนา แสวงหาทางหลุดพ้นทุกข์

ก่อนหน้านั้นท่านได้ไปปรึกษาหารือกับคุณปู่ของท่าน คุณปู่ให้ข้อคิดว่า ถ้าท่านจะสึกออกมาเลี้ยงน้องนั้นไม่ดี ช่วยเขาไม่ได้หรอก แสวงหาทางพ้นทุกข์ดีกว่า คงเป็นทางช่วยตัวเองได้ คุณปู่ท่านให้ข้อคิดดังนี้ ฟังแล้วมีเหตุมีผลดี ท่านจึงตัดสินใจปฏิบัติตาม

◎ การศึกษามูลกัจจายน์และพระปริยัติธรรม
ต่อมา ท่านตัดสินใจเดินทางไปวัดทุ่งไชย เพื่อจุดประสงค์ว่าจะไปศึกษาเล่าเรียนคำภีร์มูลกัจจายน์ ไปอยู่ได้ ๒ เดือน เข้าไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านบอกว่าในระยะนี้ไม่ได้สอน เลิกทำการสอนมานานแล้ว เพราะนักเรียนน้อย ไม่มีพระเณรสนใจเรียนมูลเดิม จึงนมัสการลากลับวัดเดิมอีก

ครั้นต่อมา คุณอาของหลวงปู่เครื่อง ก็นำพาเดินทางไปวัดท้องหล่มใหญ่ จ.มหาสารคาม พอไปถึงเจ้าอาวาสก็ลาสิกขาไปเสียแล้ว เพราะหาพระเณรที่สนใจศึกษาไม่มี ท่านจึงได้เดินทางต่อไปที่วัดบ้านยางใหญ่ ต.เมืองแคน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระอุปัชฌาย์สาย เจ้าอาวาส เพื่อขอเรียนบาลีและคัมภีร์มูลกัจจายน์ พระอุปัชฌาย์สาย เอ็นดูลูกศิษย์คนนี้มาก ด้วยผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจ ท่านเรียนได้ดี ทั้งในการแปลภาษาบาลีเป็นประโยคคล่องแคล่วและใส่สัมพันธ์ด้วย เริ่มตั้งแต่การสนธิ เป็นต้นไป นานๆ เข้าพระอุปัชฌาย์สาย ปล่อยให้ท่านแปลด้วยตนเองเป็นประโยคๆ ไป

ครั้นกาลต่อมา สหธรรมมิกที่เรียนด้วยกันปรึกษาหารือกันว่า การเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์สมัยนี้เขาไม่นิยมเสียแล้ว หลวงปู่บอกว่าตอนนี้กิเลสเป็นเจ้าเรือนมากระซิบให้หลงงมงายไปเสียอีก ท่านจึงได้พิจารณาใคร่ครวญดูเหตุผลแล้ว จึงกราบนมัสการลาพระอุปัชฌาย์สาย ไปเรียนบาลีไวยากรณ์ หวังเอาพระเปรียญกับเขาบ้าง

เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านจึงได้ออกเดินทางไปอยู่วัดหลวงเมืองอุบล อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อเข้าศึกษาบาลีไวยากรณ์ และนักธรรม

พ.ศ.๒๔๗๙ สอบได้นักธรรมชั้นตรี

พ.ศ.๒๔๘๐ สอบได้นักธรรมชั้นโท

พอสอบได้เสร็จก็ป่วยเป็นโรคเหน็บชา ในตอนนั้นท่านได้นัดหมายกันกับเพื่อนพระองค์หนึ่ง คือท่านมหาบุญมา แสนทวีสุข เป็นเพื่อนรักกันมากที่สุด นัดหมายกันว่าจะย้ายไปเรียนหนังสืออยู่กรุงเทพฯ ท่านว่าเหมือนมีพญามารมาตัดรอนท่าน คือเจ้ากรรมนายเวร กิเลสมาพันผูก คือ บรรดาญาติพี่น้องห้ามไม่ให้ไป โดยเหตุผลดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรคมาขัดขวางไม่ให้ไปศึกษา ท่านว่าคงจะเนื่องด้วยผลกรรมของท่านสร้างมาจึงเสียผลที่ท่านควรไป

เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๑ ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต.หนองกว้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เป็นเวลา ๑๑ ปี ในระหว่างนั้น พ.ศ.๒๔๘๓ สอบได้นักธรรมชั้นเอก

◎ ศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน
ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต ต่อมาไม่นาน ก็ได้ดำริว่า คันถธุระไม่เป็นของพ้นทุกข์ มีแต่ธรรมปฏิบัติเท่านั้น จึงออกเดินทางไปศึกษาด้านสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ทราบว่า ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ จำพรรษาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี จึงออกเดินทางไปพบท่าน ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาพื้นฐานงานวิปัสสนากัมมัฏฐานกับท่านอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงได้กลับมา อ.อุทุมพรพิสัย อีกครั้ง และพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดสระกำแพงใหญ่

ขณะนั้นมีพระอุปัชฌาย์คำ จันทโชโต เป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ กำลังร่วมกันสร้างสาธารณูปโภคอยู่หลายอย่าง เป็นเหตุให้ญาติโยมได้โอกาสอาราธนานิมนต์ให้อยู่เป็นแรงงานสำคัญ เช่น มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง วิหารลอย ที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย สถานีตำรวจ และสถานีอนามัย โดยมีนายพวง สีบุญลือ นายอำเภออุทุมพรพิสัย (ในขณะนั้น) เป็นแม่แรงใหญ่ฝ่ายฆราวาส จนกระทั่งที่ว่าการอำเภออุทุมพรพิสัย และสิ่งก่อสร้างดังกล่าวเสร็จสิ้นลง ทางอำเภอและประชาชนได้จัดงานฉลองขึ้นใหญ่โตโด่งดังไปทั่ว

หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
หลวงปู่เจียม อติโส
หลวงปู่เกลี้ยง เตชธมฺโม

ส่วนท่านเองยังต้องการแสวงหาการปฏิบัติทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต้องการศึกษาในชั้นสูงสุดต่อไป พอเสร็จงานฉลองจึงบอกลาญาติโยม ออกเดินธุดงค์ไปจังหวัดลพบุรี ได้พักที่สำนักหลวงปู่คำมี พุทฺธสโร เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ได้สมาทานธุดงควัตร ถือพระกัมมัฏฐาน ทำสมาธิ ได้รับรสธรรมจากหลวงปู่คำมี เป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจ ปีติเยือกเย็น และสงบใจลงไปมาก

หลังจากนั้นก็ได้ออกเดินธุดงค์ไปยังจังหวัดต่างๆ เมื่อไปถึงวัดป่าสระพง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา สมาทานธุดงควัตรแล้วเดินทางไปยังถ้ำสบม่วง (ซับมืด) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นถ้ำมีอากาศหนาวเย็น อยู่ในเขาและป่าทึบ พร้อมกับเพื่อนพรหมจรรย์อีก ๕ รูป ได้อยู่บำเพ็ญกัมมัฏฐานภายในถ้ำนั้นหลายเดือน จึงเกิดเป็นไข้ป่าทุกรูป รักษาไม่หายถึงกับมรณภาพลงในถ้ำนั้นไป ๓ รูป ต่อมาหลวงปู่เครื่อง กับเพื่อนอีกรูปแยกทางกันไป

ท่านเองปีนเขาขึ้นมาตามเถาวัลย์ ไปพบฝรั่งที่ควบคุมงานก่อสร้างถนนมิตรภาพ อยู่ขณะนั้น ได้ยามา ๖ เม็ด กินก็หายป่วย จากนี้ได้เดินธุดงค์ ไปจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ไปแห่งใดก็มีญาติโยมพุทธบริษัทให้การต้อนรับอย่างคับคั่ง นำข้าวปลาอาหารมาทำบุญมากมาย แต่ท่านก็ไม่ติดที่อยู่ เดินทางต่อไปเรื่อยๆ

◎ ศึกษาธรรมจากหลวงพ่อสด
กระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๙๔ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปขอเรียนวิชาธรรมกายจากหลวงพ่อเจ้าคุณ พระเทพมงคลมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตั้งใจทำสมาธิประพฤติแนววิชาธรรมกายอยู่ ๓ วัน ก็อำลาจากไป หลวงพ่อสดถึงกับประกาศในหมู่ศิษย์ของท่านว่า หลวงปู่เครื่องได้บรรลุวิชาธรรมกายแล้วอำลาจากไป

จากนั้นท่านก็ตั้งใจปฏิบัติสมาธิกัมมัฏฐานตามป่า ถ้ำ ภูเขา อีกหลายแห่งด้วยความมุ่งมั่นมานะพยายามอย่างเต็มที่ ได้พบภาพนิมิตต่างๆ มากมาย เป็นงูบ้าง เป็นเสือบ้าง เป็นช้างบ้าง จะเข้ามาทำร้าย ซึ่งเป็นภาพนิมิตประหลาดๆ พิกลพิการไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ท่านไม่กลัวไม่หวาดหวั่น ควบคุมสติพิจารณา พยายามตีความด้วยปัญญา สามารถรู้ไปถึงอริยสัจธรรมแก่นแท้ได้

ตราบจนถึงเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ท่านจึงเดินทางกลับมาตุภูมิบ้านเกิดเมืองนอนอีกครั้ง และได้รับอาราธนาให้พำนักจำพรรษา ณ วัดสระกำแพงใหญ่ ภายหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จึงได้พำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดเพื่อเป็นเสาหลักให้แก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนประชาชนที่อยู่โดยรอบวัด

ด้วยเหตุที่หลวงปู่เครื่องเป็นพระนักปฏิบัติ เคยเป็นศิษย์หลวงพ่อสด จนฺทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ มาก่อน ประกอบกับเคยธุดงค์ไปตามป่าเขาหลายแห่งในประเทศไทย เมื่อหลวงปู่เครื่องสร้างวัตถุมงคลออกมาแจกจ่ายบูชาให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ จึงมีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ เป็นที่เชื่อถือเพื่อเสาะแสวงหามาครอบครอง

◎ ลำดับสมณศักดิ์และงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจข้อสอบประโยคนักธรรมชั้นตรี

พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพงษ์พรต อ.อุทุมพรพิสัย เป็นเวลา ๑๑ ปี

พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคณาธิการ องค์การศึกษา อ.อุทุมพรพิสัย

พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่ จนกระทั่งมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ (ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ต่อจากพระอุปัชฌาย์คำ จันทโชโต ที่ได้มรณภาพลง โดยท่านได้เข้ามาพำนักจำพรรษาที่วัดสระกำแพงใหญ่แห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐)

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เนื่องในวโรกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๐ พรรษา พระอธิการเครื่อง สุภทฺโท ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ “พระมงคลวุฒ”

◎ งานด้านการพัฒนาสังคมและสาธารณสงเคราะห์

  • พ.ศ.๒๕๓๐ โครงการก่อสร้างตึกผู้ป่วย “ตึกหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ ๕ รอบ ณ โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย
  • จัดสร้างศาลาประชาคมบ้านหนองแปน ต.กำแพง อ.อุทุมพรพิสัย
  • พ.ศ.๒๕๓๖ จัดตั้งมูลนิธิหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท รวมทั้ง บริจาคเงินสมทบทุนสร้างพระประธานและห้องเรียนนักเรียนอนุบาล มอบให้โรงเรียนบ้านค้อ ต.สระกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
  • พ.ศ.๒๕๓๘ สร้างถนนลาดยาง สายทิศเหนือวัด จากบ้านกำแพงถึงตลาดอุทุมพรพิสัย โดยของบประมาณสนับสนุนจากแขวงการทาง จ.อุบลราชธานี
  • พ.ศ.๒๕๓๙ สร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติครองราชย์ครบ ๕๐ ปี ให้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
  • พ.ศ.๒๕๔๐ สร้างพระประธานพร้อมหอพระ มอบให้โรงเรียนบ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย
  • พ.ศ.๒๕๔๑ สร้างมณฑปประดิษฐานหลวงพ่อนาคปรกโบราณ

◎ งานด้านอุปถัมภ์การศึกษา

  • พ.ศ.๒๔๗๙ ได้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก และบาลีไวยากรณ์ ขึ้น ณ วัดพงษ์พรต จ.ศรีสะเกษ โดยร่วมมือกับพระมหาอินทร์ สีลวโส (พระครูวิกรมธรรมโสภณ) เจ้าคณะอำเภอปรางค์กู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายปริยัติธรรม ส่วนท่านเป็นนักวิปัสสนาเน้นการปฏิบัติธรรม

รวมทั้ง ได้ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ โบสถ์ หอระฆัง จนเสร็จเรียบร้อย และได้สร้างบ่อน้ำขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐหน้าวัวไม่ต้องใช้ปูนซีเมนต์ ให้ชาวบ้านได้ดื่มและใช้อยู่เท่าทุกวันนี้

  • พ.ศ.๒๕๑๒ ได้จัดตั้งโรงเรียนพุทธมามกะเยาวชน
  • พ.ศ.๒๕๑๕ ได้จัดตั้งโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่ สำหรับพระภิกษุ-สามเณร สอนในระดับ ๓-๔
  • พ.ศ.๒๕๓๘ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา
  • พ.ศ.๒๕๔๑ สร้างโรงเรียนสระกำแพงวิทยาคม เป็นอาคาร ๒ ชั้น พร้อมอุปกรณ์
  • พ.ศ.๒๕๔๔ สร้างห้องสมุดโรงเรียนบ้านหนองหมู อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ
  • พ.ศ.๒๕๔๖ เป็นประธานก่อสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) วิทยาเขตศรีสะเกษ สถาบันอุดมศึกษาสำหรับพระภิกษุสงฆ์แห่งแรกในจังหวัดศรีสะเกษ ด้วยการซื้อที่ดินและก่อสร้างบริเวณบ้านสระกำแพงใหญ่ ต.สระกำแพง อ.อุทุมพรพิสัย
  • ขณะเดียวกัน หลวงปู่เครื่องได้ทำนุบำรุงและพัฒนาวัดสระกำแพงใหญ่ ให้เจริญก้าวหน้ามากมายมาโดยตลอด ด้วยถาวรวัตถุสิ่งก่อสร้างภายในวัดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ เมรุ กำแพงวัด ซุ้มประตู และสิ่งอื่นๆ เป็นต้น ล้วนแต่สร้างขึ้นครั้งในสมัยหลวงปู่เครื่องเป็นเจ้าอาวาสทั้งสิ้น เพราะของเก่าชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ต้องรื้อถอนและสร้างใหม่ทั้งหมด

◎ เทพเจ้าผู้มีเมตตาแห่งอีสานใต้
วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่เครื่อง คณะศิษยานุศิษย์ทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน ที่ให้ความเคารพและศรัทธาหลวงปู่อย่างแรงกล้านับแสนคน จะพากันเดินทางไปวัดสระกำแพงใหญ่ เพื่อร่วมกันอวยพรวันคล้ายวันเกิดและขอพรอันเป็นสิริมงคลไม่เคยขาด กระทั่งกลายเป็นงานใหญ่ แม้ว่าหลวงปู่จะไม่ต้องการให้จัดเอิกเกริกใหญ่โต แต่ปฏิเสธศรัทธาของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์มิได้

หลวงปู่เครื่อง เป็นพระสงฆ์ผู้มักน้อยถือสันโดษ ไม่ยินดีในตำแหน่งและสมณศักดิ์สงฆ์ แม้ท่านจะได้รับการเสนอให้เป็น ท่านก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ ด้วยคุณงามความดีจึงทำให้ท่านเป็นพระเถระที่ชาวศรีสะเกษให้ความเลื่อมใสศรัทธาดุจดังเทพเจ้ามายาวนาน ทุกครั้งเวลามีผู้ประสบทุกข์ร้อนใจ ล้วนแต่พากันไปกราบหาท่าน ให้ประพรมน้ำมนต์ขจัดปัดเป่าให้ทุกข์ภัยต่างๆ สลายคลาย สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ตลอดจน ความนิยมในวัตถุมงคลของท่าน ก็มีส่วนเสริมสร้างเป็นทุนในงานก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ และงานสาธารณูปการต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ ชาวเมืองศรีสะเกษต่างพร้อมใจกันขนานสมญานามให้ท่านว่า “เทพเจ้าผู้มีเมตตาแห่งอีสานใต้” เป็นเทพเจ้าในดงขมิ้นที่สามารถกราบไหว้ได้โดยสนิทใจแท้

◎ วัดสระกำแพงใหญ่
วัดสระกำแพงใหญ่ (พระอารามราษฎร์) หนึ่งในอู่อารยธรรมแห่งประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นสถานที่ตั้งของ “ปราสาทหินสระกำแพงใหญ่” โบราณสถานสมัยขอมที่มีอายุยืนยาวกว่า ๑,๐๐๐ ปี ภายในบริเวณวัดสระกำแพงใหญ่ มีปราสาทหินโบราณขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด ตัวปราสาทมีลักษณะคล้ายเจดีย์ หรือปรางค์โบราณ ๓ องค์บนฐานเดียวกัน ก่อด้วยหินทรายมีอิฐแซม ด้านหน้ามีวิหารก่ออิฐ ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยระเบียงคต ก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย มีโคปุระหรือประตูซุ้มทั้ง ๔ ทิศ ปรางค์ประธานมีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้าง ทิศเหนือบนฐานศิลาเดียวกัน มีปรางค์ก่อด้วยอิฐ เหนือกรอบประตูมีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนือพญาอนันตนาคราชกลางเกษียรสมุทร ซึ่งมีความงดงามยิ่ง ทิศใต้มีปรางค์ก่อด้วยอิฐเช่นเดียวกับด้านทิศเหนือ เหนือกรอบประตูมีทับหลังสลักภาพพระอิศวรกับพระอุมาประทับนั่ง

จากการขุดค้นบูรณะของกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ พบวัตถุโบราณที่ทรงคุณค่าภายในบริเวณปราสาทหินสระกำแพงใหญ่อีกจำนวนมาก เช่น ทับหลังจำหลักภาพศิวะนาฏราช ทับหลังจำหลักภาพพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ ตามจารึกที่ศิลาทรายหลืบประตูปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ บ่งชี้ว่าปราสาทหินแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๑ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตรงกับศิลปะขอมแบบปาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะเข้าไปทำการบูรณะ มีการขุดพบพระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นพระพุทธรูปที่แกะด้วยหินศิลาทราย สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสถานวรมันรัชกาลที่ ๒-๓ ราวปี พ.ศ.๑๑๕๓ ยืนยันถึงความเก่าแก่ของโบราณแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

พระอุปัชฌาย์เครื่อง สุภทฺโท (เทพเจ้าเมืองดอกลำดวน)
วัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

◎ การมรณภาพ
หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ ตึกสงฆ์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภัทโท) ชั้น ๓ ห้อง ๕ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา ๐๒.๑๕ น. ของวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ สิริอายุรวมได้ ๙๘ ปี ๑๓ วัน พรรษา ๗๘ ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนักของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ที่มาเฝ้าอาการป่วยอยู่จำนวนมาก หลังจากที่ท่านได้อาพาธด้วยโรคชรา มีอาการปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และต้องล้างไต จึงได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๑ ต่อมาได้ย้ายหลวงปู่เครื่องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี หลังวันวิสาขบูชา ๑ วัน จากนั้นก็ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดโดยตลอด เนื่องจากหลวงปู่เครื่องอายุมากถึง ๙๘ ปีแล้วและอาพาธหลายโรค จนกระทั่งได้มรณภาพในที่สุด รวมเวลาเข้ารักษาอาการอาพาธนานกว่า ๒ เดือน

โดยขณะที่พักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล หลวงปู่เครื่องได้ฝากฝังกับบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ ขอให้ช่วยกันสร้างพุทธวิหารหลวงพ่อนาคปรกใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตักกว้าง ๒๙๙ นิ้ว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินประมาณ ๕๐ ล้านบาท เพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษและชาวไทยทั่วประเทศ

สรีระสังขารของพระมงคลวุฒ หรือหลวงปู่เครื่อง สุภัทโท
แห่งวัดสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ

โอวาทธรรม หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท วัดสระกำแพงใหญ่

“…โลกนี้มันบ่เที่ยงมั่น เสมอดั่งนิระพาน
เกิดอยู่ในสงสาร บ่เที่ยงธรรมดีฮ้าย
มีแต่ตายกับย้าย เวียนวนเกิดก่อ
อย่าสิหลงหลอกล้อ ลงหม้อแผ่นแดง…”

“..มา ให้ดีมีธรรมประจำจิต
ดี จะติตต่อตั้งเมื่อยังอยู่
ไป ให้ดีมีธรรมเข้าคํ้าชู
ดี จะอยู่แบ่งภาคเมื่อจาก
เกิดครั้งเดียว ตายครั้งเดียว เกิดเป็นเหตุ ตายเป็นผล กรรมดีกรรมชั่วขอแก้ตัวไม่ได้ ทำความดีไว้แต่เมื่อยังไม่ตาย เมื่อมีดีแล้ว ถึงจะตายก็ชื่อว่า ตายดี..”

“..จงปล่อยวาง ทั้งโลกนี้และโลกหน้า..”

“..สุขทุกข์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในทุกลมหายใจ
สภาพจิตเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอาการสุขทุกข์
ความนึกคิดปรุงแต่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามสภาพจิต
เรรวนบ้าง มั่นคงบ้าง สลับๆกันไป
ไม่เห็นว่าจะมีสิ่งไหนน่ายึด
ไม่เห็นสิ่งไหนเป็นตัวเป็นตนสักอย่าง
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติฯ..”

“..ผู้มีความอดทน นับว่ามีเมตตา มีลาภ มียศ และ มีสุขเสมอ ,ผู้มีความอดทน ย่อมเป็นที่รัก ชอบใจของเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย..”

ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://www.dhammajak.net