วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่อ่ำ ภัทราวุโธ วัดมณีชลขัณฑ์ อ.เมือง จ.ลพบุรี

ประวัติและปฏิปทา
พระเทพวรคุณ (หลวงปู่อ่ำ ภทฺราวุโธ)

วัดมณีชลขัณฑ์
อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

พระเทพวรคุณ (หลวงปู่อ่ำ ภทฺราวุโธ)

ท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ (หลวงปู่อ่ำ ภัทราวุโธ) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ตรงกับแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ร.ศ.๙๕ หลวงสุโภระประการ (สอน สุภสร) เป็นบิดา แก้ว สุภสร เป็นมารดา, เป็นชาวบ้านหนองไหล ตำบลหนองไหล อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นน้องร่วมมารดาบิดาเดียวกันกับท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)

เมื่ออายุได้ ๑๐ ปี พ.ศ.๒๔๒๙ บวชเป็นสามเณรที่วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) แต่ครั้งยังเป็นเปรียญเป็นพระอุปัชฌายะ เมื่อบรรพชาแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่จังหวัดอุบลฯ ตามควรแก่ภาวะ

อุปสมบท ณ วันอาทิตย์ ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๙ ตรงกับแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกจุลศักราช ๑๒๕๘ เวลา ๑๓.๐๙ น. ณ วัดเทพศิรินทราวาส จังหวัดพระนคร สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌายะ หม่อมเจ้า พระศรีสุคตคัตยานุวัตร วัดเทพศิรินทราวาสทรงเป็นพระกรรมวาจาจารย์, ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นประครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌายะทรงประทานนามฉายาว่า “ภทฺราวุโธ”เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อมา เข้าสอบนักเรียนตรี แห่งมหามกุฎราชวิทยาลัยได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ และสอบนักเรียนตรีพิเศษ ได้เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ณ มหามกุฎราชวิทยาลัยแห่งเดียวกัน

เมื่อจำพรรษาอยู่ที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลฯ ได้เป็นผู้ช่วยครูใหญ่สอนหนังสือไทยอยู่ ณโรงเรียนอุบลวิทยาคม แล้วได้เลื่อนเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนนั้น เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ครั้นถึง พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นผู้จัดการและเป็นครูใหญ่โรงเรียนพันธุสโมสร วัดทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลฯ พ.ศ.๒๔๔๖ เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะ-มณฑลอุบลราชธานี กำกับการจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับพระราชทานค่าพาหนะปีละ ๕๐๐ บาท เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอยู่ ๔ ปี ถึง พ.ศ.๒๔๔๙ ได้ลาออกจากหน้าที่การงานทั้งปวง แล้วมาจำพรรษาอยู่ที่วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนคร

ถึงปีชวด พ.ศ.๒๔๕๕ ลาออกจากตำแหน่งพระครูปลัดและไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขาบ่องาม จังหวัดลพบุรี อันเป็นสถานที่ตั้งเขาพระงามอยู่บัดนี้ ในปีแรกแห่งการจำพรรษาที่ถ้ำเขาบ่องามนี้ มีพระมาจำพรรษาอยู่ด้วยอีก ๒ รูป คือ ท่าน สงฺกิจฺโจ (ลำเจียก) ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระศีลวรคุณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสิริจันทรนิมิตรนี้ และท่านฐิตวีโร (ทา)

ท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ (ภทฺราวุโธ) ปรากฏเกียรติคุณว่าเป็นผู้มีปฏิปทาและอัธยาศัยน้อมไปในการบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ กล่าวกันว่าท่านได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ออกรุกขมูลประพฤติธุดงควัตรบำเพ็ญวิปัสสนาธุระตั้งแต่บวชเป็นสามเณร และได้ปฏิบัติต่อมาในเมื่อมีโอกาสโดยมิได้ขาด แม้เมื่อออกมาอยู่วัดสิริจันทรนิมิตร ตลอดกระทั่งเมื่อย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์ ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีภาระหน้าที่ในทางคันถธุระ ทั้งในด้านการก่อสร้าง ซ่อมแซมเสนาสนะและในด้านการบริหารหมู่คณะอยู่อย่างเต็มมือแล้วก็ตาม ถึงดังนั้นท่านก็ยังหาโอกาสหลีกออกจากหมู่สู่ที่สงัด เพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระตามโอกาสอันควรอยู่เสมอ

พระเทพวรคุณ (หลวงปู่อ่ำ ภทฺราวุโธ)

ถึงแม้ท่านจะเป็นผู้มีอัธยาศัยดังกล่าวนั้นก็ตาม แต่การปฏิบัติกิจพระศาสนาในทางคันถธุระท่านก็ไม่ทอดทิ้ง ได้รับภาระของคณะทำกิจพระศาสนาในด้านนี้ด้วยความเอาใจใส่ และเป็นผลดีตลอดมาท่านจึงได้รับมอบหมายจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ หลายตำแหน่ง และมีความเจริญในสมณศักดิ์ โดยลำดับ คือ

◎ ตำแหน่งหน้าที่การงาน
พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดสิริจันทรนิมิตร เขาพระงาม
พ.ศ. ๒๔๖๗ เป็นพระอุปัชฌายะ
พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์
พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดลพบุรี
พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดลพบุรี-อ่างทอง
พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดลพบุรี-สระบุรี-อ่างทอง

◎ สมณศักดิ์
พระเทพวรคุณ (อ่ำ) เมื่อครั้งอยู่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นพระปลัดฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท) แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณรักขิต เจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี, เมื่อท่านอยู่วัดบรมนิวาส ได้เลื่อนเป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชกวี

ถึงปีชวด พ.ศ.๒๔๖๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูศีลวรคุณ เมื่อย้ายจากวัดสิริจันทรนิมิตร เป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์ (จังหวัดลพบุรี)ได้เลื่อนเป็นพระราชาคณะในนามเดิม เมื่อในรัชกาลที่ ๘ พ.ศ.๒๔๘๑ , ในรัชกาลปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๙) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในนามเดิม เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ แล้วเลื่อนเป็นพระเทพวรคุณ พระราชาคณะชั้นเทพ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓

เกียรติคุณของท่านอย่างหนึ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ ท่านเป็นผู้ฉลาดในเทศนาโวหาร สามารถแสดงธรรมให้ผู้ฟังอาจหาญร่าเริง เกิดปีติปราโมทย์ได้เป็นอย่างดี และท่านมีอัธยาศัยยินดีในสัลเลขปฏิบัติมักน้อยสันโดษ มีพรหมวิหารธรรมแผ่ไปในบรรดาศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์โดยทั่วไป เป็นผู้ที่บรรดาศิษย์เคารพสักการะ และกราบไหว้ด้วยความสนิทใจ นับว่าท่านเป็นพระเถระที่เป็นมิ่งขวัญของวัดเป็นกำลังของคณะ เป็นศรีของพระศาสนา และโดยเฉพาะเป็นศรีของจังหวัดลพบุรี อยู่รูปหนึ่งในบัดนี้

◎ งานของพระเทพวรคุณสมัยอยู่ปกครองวัดมณีชลขัณฑ์
เมื่อท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์ เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๕ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นที่พระครูศีลวรคุณ ท่านได้ปฏิบัติกรณียกิจอำนวยให้เกิดประโยชน์และความเจริญ แก่วัดมณีชลขัณฑ์หลายสถาน เช่น

◎ ด้านการปกครอง
ได้เอาใจใส่แนะนำพร่ำสอนพระภิกษุสามเณรให้รักษาระเบียบแบบแผนประเพณี และให้ตั้งใจในการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย วันธรรมดานำพระภิกษุสามเณรลงทำวัตร-สวดมนต์ทั้งเช้าและเย็นเป็นประจำ ตอนเย็นหลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้ว ได้อบรมตักเตือนสั่งสอนพระภิกษุ-สามเณร ให้สำนึกในสมณสัญญา ให้ทำความไม่ประมาทในการทำคุณงามความดีทั้งส่วนตัวและส่วนรวมถ้าเป็น ภายในพรรษาก็อ่านบุพพสิกขาเป็นประจำ วันธรรมสวนะก็นำภิกษุสามเณรลงทำวัตรฟังเทศน์ ทั้งตอนเช้าและตอนเย็นเสมอ ยิ่งเป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันมหาปวารณา ท่านจะต้องนำพระภิกษุสามเณรลงทำวัตรสวดมนต์ตอนเย็น มีการแสดงธรรมและฟังเทศน์ตลอดคืนยังรุ่ง จะขาดกิจวัตรเหล่านี้ก็ต่อเมื่ออาพาธหรือมีกิจจำเป็นจริง ๆ นับว่าท่านได้ทำให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่พุทธบริษัทเป็นประจำเสมอมา

◎ ด้านการศึกษา
นับแต่มาเป็นเจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์ ได้เอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาอยู่มากโดยอำนวยการให้ภิกษุผู้มีวุฒิเป็นครูสอน สนับสนุน ส่งเสริม สงเคราะห์ด้วยปัจจัยลาภ เพื่อให้ครูมีกำลัง-ใจสอนธรรมและบาลี ปรากฎว่าผู้ที่เข้าสอบในสนามหลวงมีผู้สอบไล่ได้ทุกปีมา ทั้งนักธรรมและเปรียญธรรมระหว่างที่ครองวัดมณีชลขัณฑ์ เวลา ๓๖ ปี มีผู้สอบเปรียญธรรมได้ ตั้งแต่ประโยค ๓ ถึงประโยค ๖ประมาณ ๔๐ รูปเศษ ตามปกติ ภิกษุสามเณรที่อยู่ประจำวัดมณีฯ มีประมาณปีละ ๔๐ รูปขึ้นไป บางทีมีถึง ๘๐ รูปก็เคยมี

◎ ด้านการเผยแผ่
แสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัทเป็นประจำในวันธรรมสวนะ นอกจากนี้ยังได้แสดง-ธรรมอบรมสั่งสอนประชาชนและหน่วยราชการต่าง ๆ เช่น สอนทหาร นักเรียน เป็นต้น บางคราวทางการก็อาราธนาให้ไปแสดงธรรมอบรมสั่งสอนประชาชน ในอำเภอต่าง ๆ เป็นเวลาหลายวันมีเขตอำเภอบ้านหมี่เป็นต้น ประโยชน์ส่วนรวมท่านเอาใจใส่มาก

◎ ด้านการสาธารณูปการ
นับแต่ครองวัดมณีฯ มาปีที ๓ พ.ศ.๒๔๗๗ ได้จัดการบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาเสนะ ถาวรวัตถุต่าง ๆ ภายในวัด ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้คืนสู่สภาพมั่นคงแข็งแรงขึ้น เช่นพระประธานในพระอุโบสถและพระอุโบสถ พระเจดีย์ทั้ง ๒ องค์ ศาลาและเขื่อนวัด ตลอดถึงเสนาสนะอื่น ๆ อีก ส่วนก่อสร้างขึ้นใหม่มีพระประธานประจำศาลา ,กุฏิ , ศาลา , หอระฆัง , หอสมุด และเมรุเป็นต้น ในสมัยที่ท่านครองวัดอยู่ ได้มีผู้มีศรัทธาถวายนาไว้ ๒ แปลงเพื่อให้เป็นสมบัติของวัด การทั้งหลายเหล่านี้ที่จะลุล่วงมาได้ ก็เพราะได้ทุนมาจากการขอความอุปถัมภ์จากรัฐบาล และประชาชนผู้มีศรัทธาทั้งหลาย และก็ด้วยคุณธรรมที่มีอยู่ในตัวของพระคุณท่านอีก ที่ทำให้ประชาชนผู้พบเห็นแล้วได้เกิดความเลื่อมใส นี่ก็เป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่ทำให้พระคุณท่านบริหารงานต่าง ๆ ให้ลุล่วงมาด้วยดีเสมอ

◎ กิจที่ท่านทำเป็นประจำ
คือ ตามปกติท่านตื่นนอนตี ๔ กิจวัตรที่ทำในตอนนี้ มีไหว้พระสวดมนต์เจริญภาวนา เดินจงกรมเป็นอาทิ กิจเหล่านี้ทำเป็นประจำทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาด เว้นแต่มี-เหตุจำเป็น ยังมีอีกอันหนึ่งซึ่งท่านถือว่าเป็นกิจจำเป็น นั่นคือ ออกบิณฑบาต เมื่อโอกาสอำนวย ท่านจะออกไปแสวงหาที่วิเวก เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมบางคราวก็ไปแสวงหาในที่ไกล บางคราวก็ไม่ข้ามเขตจังหวัดที่อยู่ สถานที่อยู่บำเพ็ญสมณธรรม บางครั้งก็ป่าช้า บางครั้งก็ถ้ำแห่งภูเขา สุดแล้วแต่ที่ไหนเป็นที่สัปปายะก็อยู่ที่นั่น วันเวลาที่อยู่ก็ไม่กำหนดตายตัว บางครั้งก็อยู่เป็นเดือน บางครั้งก็ในราย ๑๕ วัน ๒๐ วัน ก็กลับวัด นี่เห็นจะเนื่องกับโอกาส กิจที่กล่าวมานี้ ท่านประพฤติเป็นประจำเสมอมา

พระเทพวรคุณ (หลวงปู่อ่ำ ภทฺราวุโธ)

พระเทพวรคุณ (อ่ำ) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี-อ่างทอง–สระบุรี (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดมณีชลขัณฑ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๕ -๒๕๑๑ รวม ๓๖ ปี ขณะที่ปกครองวัดมณีฯ ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่วัดและพระพุทธศาสนา มีความสามารถในการสอน การเทศน์และมีงานเขียนที่สำคัญคือประวัติวัดเขาพระงามซึ่งเรียบเรียงแต่ครั้งเป็นพระศีลวรคุณ ท่านถือสันโดษ มีวัตรปฏิบัติที่บริสุทธิ์ งดงามตลอดชีวิตแม้ในยามที่อาพาธ ดังที่พระซับ สุทฺธิญาโณ (คิลานุปัฏฐาก) ได้เล่าถึงความเคร่งในพระวินัยของหลวงปู่(พระเทพวรคุณ)แม้ขณะที่อาพาธ ไว้ว่า

“อันที่จริงพระเดชพระคุณในระยะหลัง ๆ ที่ผ่านมาปีสองปีอาพาธ มักจะกระเสาะกระแสะ เพราะวัยชราอยู่เสมอก็ตามที ถึงกระนั้นพระเดชพระคุณ ไม่เคยละเว้นกิจประจำวันที่เคยปฏิบัติมา คือการสวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็น และนั่งสมาธิ

วันที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งตรงกับวันถวายพระเพลิง อาการของท่านก็ทรุดลงอย่างน่าวิตก ท้องเดินอาเจียนหลายครั้ง แต่ละครั้งได้เรียนให้ท่านถ่ายในหม้อเมร์ ท่านกลับบอกว่า “ขี้เรามันเหม็น เกรงใจคนที่จะเอาไปเท” เมื่อได้เรียนท่านว่า ต้องการจะเอาอุจจาระไปให้หมอดู เพื่อประกอบการรักษา ขณะที่กำลังจะจัดหาภาชนะอยู่นั้น ท่านก็บอกว่า “มันออกมาแล้วละ ไปไม่ทัน พร้อมกับอาเจียนออกมาด้วย” เห็นว่าอาการเป็นที่น่าวิตก ได้เรียนท่านเพื่อจะนำส่งโรงพยาบาล ท่านบอกว่า “ไม่ไป ตายกับพวกลูกหลานในโบสถ์นี้”ได้เรียนท่านอีกว่า “พวกกระผมและเณร ๆ จะตามไปปฏิบัติอยู่ด้วยเป็นประจำ ได้รับคำตอบจากท่านว่า“ ซับ ฉันป่วยครั้งนี้ ปวดท้องข้างซ้าย ปวดเป็นพัก ๆ บางครั้งปวดแทบใจขาด เธอจะให้ฉันไปป่วยโรงพยาบาลทำไม ไปก็ตาย อยู่ก็ตาย ไม่ไหวแน่ ” เมื่อเห็นพระเดชพระคุณ ไม่ยอมไปรักษาโรงพยาบาล เลยตัดสินใจไปตามหมอบุญช่วย โดยได้ ส.ณ.สวัสดิ์ เป็นเพื่อน เพราะขณะนั้นเวลา ๒๔.๐๐ น. แล้ว เมื่อคุณหมอบุญช่วยได้ทราบอาการแล้วก็ไม่ได้รอช้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอนุโมทนา และสรรเสริญ เป็นการกระทำอันประทับใจของข้าพเจ้าฯ ไปชั่วนานเท่านาน และตลอดการถวายการรักษาคุณหมอไม่เคยคิดค่ายาหรืออย่างอื่นใดจึงขออนุโมทนาไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย หลังจากที่คุณหมอได้ตรวจอาการโดยทั่วไปแล้วถวายยาฉัน ถึงเวลา๐๒.๐๐ น. อาการอุจจาระร่วงได้ทุเลา คุณหมอได้เรียนเพื่อให้พระเดชพระคุณไปรักษาที่โรงพยาบาลพระคุณท่านก็ยืนยันว่า “ไปก็ตาย อยู่ก็ตาย จะขออยู่ในโบสถ์นี้ ตายต่อหน้าพระประธาน และลูกหลาน”คุณหมอบุญช่วยเห็นว่า พระคุณท่านไม่ยอมไป จึง ได้ถวายการแนะนำ และมอบยา ปรอทวัดไข้ และได้-ปวารณาไว้อีกว่าเมื่อมีอาการผิดปกติให้ไปตามได้ทุกเวลา

หลังจากคุณหมอได้กลับไปแล้ว พระเดชพระคุณท่านก็ได้คุยเรื่องต่าง ๆ ให้พระภิกษุสามเณรฟังบางเรื่องก็น่าขบขัน เสียดายที่ข้าพเจ้าจดจำไม่ได้หมด เท่าที่จำได้ตอนหนึ่งพระคุณท่านเล่าว่า “ตัวท่านได้-เกิดในป่าอ้ม พ่อแม่เลยตั้งชื่อว่า “อ้ม” (มีต้นไม้ชนิดหนึ่งชาวอีสานเรียกว่าต้นอ้ม เพราะมีกลิ่นหอม ชาวภาคกลางนิยมเรียกว่า “ต้นเนียม”) เมื่อมาอยู่กับพี่ชายแล้ว เลยเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “อ่ำ” (หมายถึงท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์) ขณะที่พระคุณท่านได้เล่าอยู่นั้นเป็นประหนึ่งว่าท่านไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ตรงกันข้ามท่านกลับมีใบหน้ายิ้มแย้ม ได้ถามพระเณรปฏิบัติไข้ว่า “วันนี้เป็นวันถวายพระเพลิง พระเณรลงศาลากันหรือเปล่า” ได้เรียนว่า “พระเณรลงศาลากันหมด และได้ถามถึงท่านพระครูวิฑิตธรรมขัณฑ์ และพระครูประสาธน์ ว่าอยู่หรือไม่ เมื่อเรียนท่านว่าอยู่ศาลา ได้มีบัญชาให้สามเณรไปตามท่านทั้งสองมาพบ เมื่อท่านทั้งสองมาแล้ว ได้เล่าเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับชีวประวัติของท่าน เมื่อครั้งสมัยเป็นเด็ก จนกระทั่งได้มาบวชเป็นสามเณรกับพี่ชายที่กรุงเทพฯ และพูดถึงการเดินทางธุดงค์ต่าง ๆ เมื่อท่านพระครูทั้งสองกลับไปแล้วได้เรียนท่านว่าหมอสั่งให้พักผ่อนมาก ๆ ท่านกลับนั่งสมาธิ

วันที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๑๑ เวลา ๖.๐๐ น. คุณหมอมาเยี่ยมตรวจดูอาการ เวลา ๙.๐๐ น. วัดความดันโลหิต วันนี้อาหารทั้งเช้า-เพล ไม่มีอะไร คงฉันนมสดและองุ่น ท่านบอกว่า “มันกลืนไม่ลง” ได้ใช้วิธีหยอดด้วยหลอดกาแฟ พอฉันได้บ้าง แต่ละครั้งที่หยอด ท่านจะมองดูนาฬิกาเสมอ ถ้าเที่ยงแล้วจะไม่ยอมแตะต้องเลย เมื่อเรียนท่านว่าหมอสั่งให้ฉัน ท่านกลับตอบว่า “ซับ ถึงแม้ฉันจะตาย ขอให้ฉันบริสุทธิ์ เวลานี้เวทนามันเล่นงาน ฉันก็ตาย ไม่ฉันก็ตาย ฉันพร้อมแล้ว ขอความบริสุทธิ์ของฉันไว้”

เวลา ๒๑.๐๐ น. พระคุณท่านหยุดกระสับกระส่าย นั่งเอนหลังพิงหมอนในท่าสบาย เหมือนกับวันก่อน ๆ ที่ท่านเคยพักผ่อน

เวลา ๒๔.๐๐ น. พระคุณท่านได้เรียกเข้าไปใกล้ สั่งว่าเวทนามันไม่ยอมหยุดหย่อน เห็นจะไม่ไหวแน่ ต่อนั้นเห็นท่านมีอาการสงบ ได้จับชีพจรดูค่อยมาก แต่ก็นึกว่าพระคุณท่านยังไม่เป็นไร เพราะไม่มีอาการผิดปรกติ คงเป็นเหมือนกับท่านนั่งสมาธิในวันก่อน ๆ นั้นเอง ครั้นเวลา ๐๑.๐๐ น. เห็นผิดปรกติ เพราะการเต้นของชีพจรค่อยลงมาก ตามบริเวณใบหน้าและหูทั้งสองแดงก่ำผิดสังเกต ได้ให้เณรไปปลุกพระเถระในวัด มาประชุมเพื่อดูอาการ

เวลา ๐๒.๒๕ น. ถึงได้รู้ว่าพระเดชพระคุณท่าน ได้มรณภาพเสียแล้ว ด้วยอาการอันสงบท่ามกลางพระเถรานุเถระและภิกษุสามเณรที่เฝ้าอุปัฏฐาก ในท่านั่งเอนหลังพิงหมอน เหมือนหลับตามปรกติซึ่งยังความเศร้าสลด อาลัยรักให้เกิดขึ้นแก่พระภิกษุสามเณรและบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า พระเดชพระคุณท่านแม้จะมีเวทนากล้า พระคุณท่านไม่เคยแสดงอาการวิกลวิการอะไรเลยจนกระทั่งมรณภาพก็อยู่ในท่านั่งเอนหลังพิงหมอน ซึ่งยากนักที่สามัญชนโดยทั่วไปจะทำได้อย่างนั้น”