วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่อุ่น ชาคโร วัดดอยบันไดสวรรค์ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุ่น ชาคโร

วัดดอยบันไดสวรรค์
อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

พระครูสังวรศีลวัตร (หลวงปู่อุ่น ชาคโร)

หลวงปู่อุ่น ท่านมีนามเดิมว่า อุ่น ปลูกสกุล เป็นบุตรของ พ่อจารย์สิม และ แม่ตู้ ปลูกสกุล เกิดเมื่อ วันอังคารที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีจอ ที่บ้านดงใหญ่ ตำบลดงใหญ่ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม

การอุปสมบท หลวงปู่อุ่น ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ วัดตาลเรียง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

พระอาจารย์อุ่น ชาคโร

ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๗ ณ วัดสระจันทร์ ต.เมืองเก่า อ.พล จ.ขอนแก่น โดยมี พระครูอนุโยคธรรมภาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมหาจันทร์ ปุริปญฺโญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ จากนั้นท่านได้ออกธุดงค์เที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์จนมาพบหลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ และหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี กระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๔๙๑ หลวงปู่เทสก์ จึงได้แนะนำให้ท่านไปขอศึกษาและปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ดังนั้น ท่านจึงได้ไปอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมและข้อวัตรต่างๆ กับท่านพระอาจารย์มั่น จวบจนท่านพระอาจารย์มั่นมรณภาพและถวายเพลิงศพแล้ว ท่านได้ออกธุดงค์ทำความเพียรทางจิตอยูบริเวณเทือกเขาภูพาน

อาจาริยธรรม

บันทึกส่วนตัวของหลวงปู่อุ่น ชาคโร “เปิดเผยความลึกลับของท่านอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺตเถร“

เมื่อประมาณปลาย พ.ศ.๒๔๙๑ หลวงปู่อุ่นได้เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น และได้กราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์และขอนิสัยจากท่านพระอาจารย์มั่น ซึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ก็ได้เมตตารับไว้อยู่ในสำนักและปฏิบัติธรรมในปีนั้น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งท่านถือว่าเป็นบุญอย่างที่สุดที่ได้มาศึกษาปฏิบัติธรรมในสำนักของท่านพระอาจารย์มั่น จนทำให้ต้องยิ่งเพิ่มความตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐาก และตั้งใจจดจ่อฟังโอวาทจากท่านพระอาจารย์มั่น ตลอดจนศึกษาเรื่องภายในจิตที่เป็นไปต่างๆ นานาอีกด้วย
หลวงปู่อุ่นได้ร่วมพักจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ซึ่งนับเป็นพรรษาที่ ๖ ของท่าน และเป็นช่วงพรรษาสุดท้ายของท่านพระอาจารย์มั่นก่อนที่จะละสังขารเมื่อ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ซึ่งในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ในวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๓ จัดว่าเป็นงานถวายเพลิงศพพระกัมมัฏฐานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในยุคนั้น บรรดาพระเณร และญาติโยม พุทธบริษัทต่างก็หลั่งไหลมาจนเนืองแน่นวัดป่าสุทธาวาสและบริเวณโดยรอบ ซึ่งในงานนี้ท่านเป็นองค์หนึ่งที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้เฝ้าจิตกาธาน (เชิงตะกอน) ของท่านพระอาจารย์มั่นตลอดคืน กระทั่งจนถึงเวลาที่จะมีพิธีเก็บอัฐิธาตุในวันรุ่งขึ้น ซึ่งท่านมีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้ทำงานถวายพ่อแม่ครูบาอาจารย์จนถึงวาระสุดท้ายในครั้งนั้น

ในระหว่างที่หลวงปู่อุ่นได้อยู่ศึกษา และปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร นั้น ท่านเกิดความซาบซึ้งใจในธรรมคำสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดจนเหดุการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจที่เกี่ยวข้องกับองค์ท่านพระอาจารย์มั่นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นอาจาริยบูซา ท่านจึงได้ถ่ายทอดความรู้สึกและข้อธรรมที่ท่านได้ประสบมาไว้ดังนี้

ข้าพเจ้าเกิดมาในชาตินี้ รู้สึกว่าเสียใจมากที่ได้ไปอยู่ร่วมจำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่นเพียงปีเดียว ท่านก็มานิพพานจาก แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ไปฟังเทศน์อยู่ร่วมอุปัฏฐากท่านผู้มีจิตบริสุทธิ์อย่างนี้ นึกว่าไม่เสียทีประการหนึ่ง ครั้งสมัยนั้นเป็น พ.ศ.๒๔๙๑ ข้าพเจ้าอยู่วัดอรัญญวาสี ท่าบ่อ กับท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี ท่านได้พูดว่า

“พระเณรรูปใด จะไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไปเสีย เดี๋ยวจะไม่เห็นท่าน เพราะท่านได้ทำนายชีวิตท่านไว้แล้วว่า อายุผมจะถึงแต่เพียง ๘๐ ปีเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้อายุท่านก็ ๗๙ จะเข้ามาแล้ว พวกคุณจะเสียดายเมื่อภายหลังว่าไม่ได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์อย่างท่านอาจารย์”

ครั้งนั้น ก็ได้นมัสการลาท่านอาจารย์เทสก์ ท่านก็อนุญาตและส่งทางด้วย เมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือ ได้เข้าไปนมัสการท่าน และขอนิสัยขอมอบกายถวายตัวปวารณาต่อท่าน ท่านก็ยินยอมรับอยู่ในสำนักท่าน นึกว่าบุญเรามากเหนือหัว แต่นั้นก็ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ฟังเทศน์ฟังธรรมจากท่านเรื่อยมา ตลอดศึกษาเรื่องภายในจิตที่เป็นไปต่างๆ นานา

๑. ความลึกลับที่มีอยู่ภายในท่าน ก็ถูกเปิดเผยออกมา ที่จำได้คือ ข้าพเจ้ากราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นว่า

“กระผมขอโอกาสกราบเรียน การนิมิตเห็นดวงหฤทัย (หัวใจ) ของคน ตั้งปลายขึ้นข้างบนนั้นเป็นอะไร”

ท่านเลยอธิบายไปว่า “ที่จริงดวงหฤทัยของคนนั้นก็ตั้งอยู่ตามธรรมดานี้แหละ อันมันเป็นต่างๆ นานา ตามเรานิมิตเห็นนั้น มันเป็นนิมิต เทียบเคียง คือปฏิภาคนิมิตนั้นเอง ที่ท่านว่ามันตั้งชันขึ้นนั้น แสดงถึงจิตของคนนั้นมีกำลังทางสมาธิ ถ้าจิตตั้งขึ้นและปลายแหลม กกใหญ่คล้ายกับดอกบัวตูมกำลังจะเบ่งบานนั้น แสดงว่าจิตคนนั้นมีกำลังทางสมาธิและปัญญาแล้ว ถ้าน้ำเลี้ยงดวงหฤทัยมีสีต่างๆ กันนั้น หมายถึงจริตของคน เช่น โทสจริตนั้นหฤทัยแดง ถ้าราคจริตน้ำเลี้ยงหฤทัยแดงเข้มๆ ถ้าจิตของคนที่หลุดพ้นไปแล้วเป็นน้ำหฤทัยขาวสะอาดเลื่อมเป็นปภัสสรเหมือนทองปลอมแล้วอยู่ในเตา เลื่อมอย่างนั้นแหละ ถ้าดวงหฤทัยเหี่ยวๆ แห้งๆ นั้นหมายถึงจิตของคนนั้นไม่มีกำลังทางจิต คือ ศรัทธาพลัง วิริยพลัง สติพลัง สมาธิพลัง ปัญญาพลัง ถ้าธรรมทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่มีในจิตแล้ว ท่านว่าอบรมไม่ขึ้น ไม่เป็นไป จะสั่งสอนทรมานสักปานใดไม่มีประโยชน์เลย ถ้าดวงหฤทัยของคนนั้นมีกกเบ่งบานเหมือนดอกบัว อบรมสั่งสอนไปได้ผลตามคาดหมายจริงๆ ท่านว่า “ผมเองเคยเพ่งดวงหฤทัยของผมเอง เห็นเลื่อมเป็นแสงเลยทีเดียว เพิ่งไปเพ่งมา ปรากฏแตกใส่ดวงตา”

นี้คำพูดของท่าน ท่านจึงอธิบายว่า

“คนในประเทศไทยนี้ ดวงหฤทัยต่างหมู่อยู่ ๓ องค์ คือ ดวงหฤทัยปรากฏว่ามีจานหรือแท่นรองสวยงามดี พระ ๓ องค์นี้ องค์หนึ่งคือ ท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ท่านตายไปแล้ว ส่วน ๒ องค์นั้น ยังอยู่”

ท่านพระอาจารย์มั่นพูดว่า..

“บุญวาสนาบารมีพระ ๓ องค์นี้แปลกๆ”

หมู่เพื่อนมากนี้นึกว่า ท่านอาจารย์นี้ท่านดูคนไม่ใช่ดูแต่หูชิ้นตาหนังเหมือนคนเรา ท่านสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา ต้องดูด้วยตานอกตาในเสียก่อน ไม่เหมือนปุถุชนเรา อย่างพวกเรานี้มาเอาแต่กิเลสมาสั่งสอน บังคับไม่ว่าใครเป็นอย่างใด ฉะนั้น จึงเกิดสงครามกันบ่อยๆ ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ จึงวุ่นวายกันอยู่ทั่วโลก ส่วนท่านพระอาจารย์มั่นนั้นท่านสั่งสอนไปมันก็ได้ผลจริงๆ อย่างว่า คนจิตไม่มีพลังธรรม ๕ ข้อ ก็คือคนอินทรีย์ไม่แก่กล้านั้นเอง อย่างนี้โดยมากท่านไม่รับเอาไว้ ในสำนักของท่าน ท่านใช้อุบายว่าควรไปอยู่แห่งนั้นแห่งนี้หรือกับคนโน้นคนนี้ดี


๒. ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าตั้งใจปรึกษาท่านด้วยจิต คือ กุฏิของท่านอยู่ไม่ห่างไกลกับกุฏิ ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้เข้าสมาธิทำจิตให้สงบดิ่งลงถึงภูมิจิตที่เคยเป็นมา แล้วนึกถามท่านว่า

“จิต ของข้าน้อยตั้งอยู่อย่างนี้แหละ ถ้าน้อยขอกราบเรียนว่า จิตข้าน้อยตั้งอยู่อย่างไร และเรียกว่า จิตอะไร จึงขอนิมนต์ครูบาอาจารย์จงได้เมตตาบอกข้าน้อยด้วย”

นึกแล้วก็พยายามรักษาจิต อย่างนั้นไว้จนกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเลิกเดินจงกรม เมื่อท่านเลิกเดินจงกรมแล้วท่านก็ขึ้นไปกุฏิ และลูกศิษย์ผู้เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่านคือท่านอาจารย์วันก็ขึ้นไปนั่งอยู่กับท่าน ข้าพเจ้าได้ขึ้นไป นมัสการท่านแล้วนั่งอยู่โดยไม่ได้พูดอะไรๆ กับท่านเลยท่านพูดเอ่ยมาว่า

“จิตของท่านอุ่นเป็นอย่างนั้นๆ ตั้งอยู่อย่างนั้นๆ เรียกว่าจิตอันนั้นๆ ทีเดียว”

ข้าพเจ้านั่งตัวแข็งเลย พูดอะไรๆ ไม่ออก ทั้งดีใจ ทั้งเสียใจ และทั้งกลัวท่าน ละอายท่าน ถ้าจะกราบเรียนท่านอย่างอื่นๆ ไป ก็กลัวท่านจะเล่นงานเอาอย่างหนัก แต่ทุกวันนี้คิดเสียดายเมื่อภายหลังว่า เรานี้มันโง่ถึงขนาดนี้ จริงๆ จะเรียนท่านว่าจิตเป็นอย่างนั้น แล้วข้าน้อยจะทำอย่างไรอีก จิตจึงเจริญหลุดพ้นไปได้ สมกับคำโบราณว่า อายครูบ่ฮู้ อายชู้บ่ดี คำนี้มันถูกเอาเสียจริงๆ

๓. ครั้งสมัยท่านกำลังแสดงธรรม เรื่องความหลุดพ้นและอริยสัจจธรรม ๔ ข้าพเจ้าได้นั่งอยู่ตรงหน้าตรงตาของท่าน ตั้งจิตสำรวม ส่งไปตามกระแสธรรมของท่านพร้อมทั้งกำหนดพิจารณาไปด้วย จิตข้าพเจ้าเลยรวมลงพับเดียว ปรากฏว่าดวงจิตของข้าพเจ้านี้คล้ายกันกับเครื่องนาฬิกากำลังเดินหมุนเวียนอยู่ พอนิมิตแล้วจิตก็ถอนออกมา พอดีถูกท่านเทศน์ขึ้นใหญ่เลยว่า

“จิตพระอรหันต์ทั้งหลายนั้น จิตท่านไม่หมุนเวียนอีก ไม่หันต่อไปอีก จึงได้นามว่า อะระหันต์ แปลว่า ไม่หัน ท่านเหล่านั้นจะเอา อะ ไปใส่แล้ว ไม่เหมือนเรา เรามีแต่หันอย่างเดียว ไม่หยุดไม่หย่อน พระอรหันต์นั้นท่านตัดกงหันได้แล้ว ท่านทำลายกงสังสารจักร (คือ สังสารวัฏฏ์ หมายถึง ภพที่เวียนเกิด เวียนตาย หรือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก) ขาดไปแล้ว ด้วยอรหัตตมรรค”

ข้าพเจ้าผู้นั่งฟังอยู่ครั้งนั้นจึงเกิดความมหัศจรรย์อย่างใหญ่หลวง ท่านพระอาจารย์มั่นนั้นไม่แสดงธรรมด้วยหูหนังตาหนังเหมือนพวกเรา ท่านจก (ล้วง) เอาหัวใจผู้ฟัง มาแสดงจริงๆ ธรรมของท่านที่แสดงจึงถึงจิตถึงใจของผู้ฟัง อย่างพวกเราแสดงให้กันฟังอยู่ ทุกวันนี้มีแต่คนตาบอด ผู้แสดงก็บอด ผู้ฟังก็บอด บอดต่อบอดจูงกันไม่รู้ว่าจะไปถึงไหน จะไปโดนเอาหลักเอาตอ ตกเหวตกขุมที่ไหนไม่ทราบกันเลย

ผู้เทศน์ก็มีกิเลส ผู้ฟังก็มีกิเลสกันทั้งนั้น ผู้เทศน์เล่าก็หวังเอาแต่กัณฑ์เทศน์ ไม่เทศน์เอาคน มันจึงไกลแสนไกล สมกับพระพุทธเจ้าว่า

“ธรรมของสัตตบุรุษกับธรรมของอสัตตบรุษไกลกันเหมือนฟ้ากับแผ่นดิน คำหนึ่งว่า ดูกรอานนท์ ถ้าธรรมของเราตถาคตไปสิงในจิตของพระอรหันต์ผู้สิ้นจากกิเลสแล้ว ธรรมของเราก็เป็นธรรมแท้ไม่ปลอมแปลง ถ้าเมื่อใดธรรมของตถาคตนี้ไปสิงอยู่ในจิตปุถุชนผู้มีกิเลส ธรรมของเราก็กลายเป็นธรรมปฏิรูปคือ ธรรมปลอมแปลง”

ถ้าผู้เขียนนี้เขียนไปมากๆ ก็เหมือนดูว่าเทศน์ไปอีกแหละ มันเป็นการเอามะพร้าวมาขายสวนไป จึงขอเขียนแต่เรื่องท่านพระอาจารย์มั่นต่อไป


๔. วันหนึ่งตอนเช้า กำลังจะฉันจังหัน พระเณรกำลังแจกอาหารลงใส่ในบาตรกัน และพระผู้อุปัฏฐากท่านก็กำลังจัดอาหารหวานคาวลงใส่บาตรท่านพระอาจารย์มั่น ถ้าเป็นอาหารของแข็งหรือใหญ่ ต่างองค์ก็ต่างเอามีดหั่นหรือโขลกด้วยครก ต่างคนต่างกระทำด้วยเคารพจริง วันนั้นข้าพเจ้าได้มองไปเห็นพระท่านทำก็นึกเกิดปีติขึ้นมาด้วยความเลื่อมใส ปล่อยใจเลื่อนลอยไปว่า

“แหม…พระลูกศิษย์ลูกหาของครูบาอาจารย์นี้ตั้งใจปฏิบัติอุปัฏฐากด้วยความเคารพ เลื่อมใสจริง เอ๊ะ…ครั้งพุทธกาลโน้น บรรดาพระสาวกทั้งหลายนั้นจะมีสานุศิษย์ปฏิบัติอุปัฏฐากดีๆ อย่างนี้ไหมหนอ”

คิดแล้วก็ไม่นึกไม่ฝันเลยว่า เราเป็นบ้า คิดเรื่องราวให้ไปกระทบกระทั่งจิตใจของท่าน ครั้นต่อมาในวันหลัง บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายที่เคยปฏิบัติอุปัฏฐากท่านก็เข้าไปจะปฏิบัติ ถูกท่านห้ามอย่างใหญ่ว่า

“หยุด…อย่ามาทำนะ”

วันนั้นท่านดุเอาจริงๆ ครั้นต่อมา วันหลังอีก จะเข้าไปปฏิบัติ ท่านเล่นงานอย่างใหญ่อีกว่า

“ทำไมห้ามไม่ฟัง เดี๋ยวถูกค้อนตีเอาแหละ”

แล้วท่านก็บ่นว่า

“มันมาดูถูกกัน การปฏิบัติอุปัฏฐากอย่างนี้ ครั้งพุทธกาลโน้น พระสาวกไม่มีดอก”

วันนั้นไม่มีใครเข้าไปใกล้ท่านได้เลย การจัดสิ่งของลงในบาตรท่านจัดเอง การอุปัฏฐากท่านนั้นจำเป็นต้องงดไปหลายวัน

ต่อมาท่านอาจารย์มหาบัว ท่านเป็นลูกศิษย์อาวุโสกว่าหมู่ พรรษาท่านขณะนั้นคงได้ใน ราว ๑๖ พรรษา จึงได้เรียกบรรดาสานุศิษย์รุ่นน้อย มีท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์เนตร อาจารย์คำพอง อาจารย์สุวัจน์ อาจารย์จันทร์โสม บ้านนาสีดา และข้าพเจ้า พร้อมอีกหลายๆ รูป ไปประชุมกันที่กุฏิท่านอาจารย์มหาบัวว่า

“เรื่องนี้เป็นใครหนอ ได้นึกได้คิดอย่างว่านี้ เป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์เดือดร้อน ตลอดถึงพวกเราเองก็เดือดร้อน ผมเองพิจารณาเห็นว่าคงจะ ไม่มีใครดอก เพราะว่าใครๆ ที่ได้มาอยู่ก็ตั้งใจมอบกายถวายชีวิตกับท่านแล้ว ต่างคนก็ต่างเคารพนับถือท่าน ผมว่าจะเป็นอุบายท่านอาจารย์ทรมานพวกเราเฉยๆ ดอก
ตามที่ผมได้อยู่กับท่านมาหลายปี ผมเองเคยถูกท่านทรมาน ดูว่าเรานี้จะปฏิบัติอุปัฏฐากท่านเอาจริงเอาจังไหม หรือว่าสักว่าแต่ทำเพื่อแก้เก้อเฉย แต่นี้ไปพวกเราต้องเข้าไปทำปฏิบัติท่านเลย ท่านจะฆ่าจะแกงจะต้มอย่างไรเรายอมเสียสละ”

นี้ท่านอาจารย์มหาบัวแนะนำสานุศิษย์รุ่นเล็กๆ ต่อมาก็เลยเข้าปฏิบัติอุปัฏฐากท่าน ครั้งนี้ท่านไม่ว่าอะไรเพราะจะห้ามไว้ก็ไม่ฟัง เป็นหน้าที่ข้อ วัตรของสานุศิษย์ผู้หวังดีจะทำกัน แต่นั้นมาก็ไม่มีใครปรารภเรื่องนี้อีก แม้แต่ท่านพระอาจารย์มั่นก็ไม่ว่าอะไร ตลอดถึงวันท่านนิพพานของยังปิดบังไว้

ครั้นต่อมาประมาณ ๒๐ กว่าปี ข้าพเจ้าจึงมาระลึกถึงบุญคุณของท่านพระอาจารย์มั่นดู จึงนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่ออยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นถูกท่านเทศน์กัณฑ์ใหญ่ สมัยนั้นก็เอาผู้ไม่มีสติ นี้แหละ เป็นต้นเหตุทำให้หมู่เพื่อนครูบาอาจารย์องค์อื่นเดือดร้อนไปตามกัน เมื่อมานึกทวนจิตรู้ได้ มันก็สายเสียแล้ว จะทำอย่างไรดี จะไปขอขมาโทษคารวะท่าน ท่านก็ไม่อยู่ในโลกไหนภพไหน จึงนึกคิดขึ้นมาได้ว่า เหลืออยู่แต่โอวาทคำสอนของท่านนี้แหละให้เรา เราต้องขอขมาโทษ เคารพนับถือธรรมของท่านที่ให้นี่แหละ นึกขึ้นได้แล้วก็เบาใจต่อมา

นี้แหละคนเรานี้แม้แต่จิตของตัวเองนี้ นึกคิดไปแล้วก็ยังไม่รู้ว่าขณะนี้เราคิดเรื่องอะไร มันจะไปรู้จิตของคนอื่นนึกคิดได้อย่างไร ทั้งวันทั้งคืนทั้งปีทั้งเดือนผ่านไปผ่านไป หมดไปเฉยๆ ไม่ได้ทบทวนตรวจตราดูกายดูจิตของตนเลย อย่างท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านเคยพูดให้ได้ยินบ่อยว่า

“ผมเองพิจารณาเห็นจิตเห็นกายอยู่ทุกๆ เวลา เช่น เห็นกายเป็นร่างกระดูกอย่างนั้นแหละ เอาผ้ามาห่มมาคลุมก็เห็นเอาผ้ามาคลุมร่างกระดูกอยู่อย่างนั้น”

ท่านอ่านเรื่องนี้แล้วจงระวังอย่าให้เป็นดังจิตของข้าพเจ้าผู้เขียนนี้เลย เรื่องนี้ข้าพเจ้าผู้ถูกมาเอง จึงอดปิดบังไว้ไม่ได้ เป็นของอัศจรรย์ข้อหนึ่งที่เคยประสบเหตุการณ์มากับท่านพระอาจารย์มั่นจริงๆ

๕. วันหนึ่งตอนบ่าย ท่านพระอาจารย์มั่นจะสรงน้ำ ตามธรรมดาเวลาสรงน้ำมีพระปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์ในราว ๓ รูป ไม่ขาด ครั้งนั้นมีพระรูปหนึ่งท่านองค์คนชอบหัวดื้อหน่อย และ ชอบทดลองสิ่งต่างๆ ด้วย พระองค์นั้นจึงคิดทดลองดูว่าท่านพระอาจารย์มั่นนี้จะรู้ไหม จึงคิดในขณะไปสีขาให้ท่านว่า

“กกขา (ต้นขา) นี้ขาวเหมือนขาผู้หญิงเลย”

พอนึกเท่านั้น ท่านพระอาจารย์มั่นจึงพูดขึ้นว่า

“เอ๊ะ ท่านนี้เป็นบ้าจริงๆ เว้ย”

แล้วพระองค์นั้นก็ถอยออก จึงมานึกว่า เอ๊ะ…ท่านพระอาจารย์จะรู้จริงๆ หรืออย่างไรหนอ แกยังสงสัยอยู่ พอวันหลังก็มาปฏิบัติเวลาท่านอาบน้ำอีก พอสีเหงื่อไคลขาท่านก็ลองนึกดูอีก ครั้งนี้ท่านดุเอาอย่างใหญ่เลยว่า ท่านนี้ออกหนี อย่ามาทำเลย ไปหนีๆ ไล่ใหญ่ อันนี้ข้าพเจ้าผู้เขียนก็ได้ไปปฏิบัติท่านพระอาจารย์ในเวลานั้นเหมือนกัน อันนี้นึกว่าท่านพระอาจารย์มั่นนั้นท่านชำนาญทางปรจิตวิชาจริงๆ จึงหาได้ยากอีกในโลกนี้

๖. สมัยหนึ่งเป็นเวลาออกพรรษาแล้ว นายวันและแม่ทองสุข ร้านศิริผล นครราชสีมา ได้มาถวายกฐิน ครั้งนั้นมีครูบาอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ นายวันนิมนต์มาด้วยมากองค์ เช่น ท่านอาจารย์สิงห์ใหญ่ อาจารย์ฝั้น อาจารย์สีโห วัดป่าสุมนามัย บ้านไผ่ ท่านอาจารย์องค์นี้ไม่เคยมา และไม่เคยเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเลย ได้ไปพักอยู่กุฏิเล็กๆ ห่างจากกุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ประมาณ ๔ เส้น ขณะท่านอาจารย์สีโหอาบน้ำ ข้าพเจ้าและพระอื่นๆ มาปฏิบัติท่าน ขณะนั้นท่านอาจารย์สีโหจึงพูดกับข้าพเจ้าขึ้นเบาๆ ว่า

“เอ๊ะ…ท่านพระอาจารย์มั่นนี้รูปร่างหน้าตาเหมือน ผมนิมิตเห็นท่านไม่ผิดเลย ว่าลักษณะท่านคนน้อยๆ คางแบนๆ บัดนี้เราจะได้ฟังเทศน์ท่าน เรานี้อยากให้เทศน์จริงๆ ว่าเรานี้มันคาอยู่อะไร ทำไมจึงไม่เห็นตนคา”

ว่าแล้วก็ผลัดเปลี่ยนผ้า ข้าพเจ้าก็เลยไปกุฏิ พอตอนค่ำ ครูบาอาจารย์ต่างก็ไปชุมนุมที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์สีโหก็อยู่นั้นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นก็ทักทายปราศรัยกับท่านอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ไป พอท่านมองไปเห็นท่านอาจารย์สีโหนั่งอยู่ ท่านเลยพูดเอ่ยขึ้นว่า

“ท่านสีโหนี้ก็มีแต่ไปหากินข้าวต้มขนมเข้าอยู่แต่ในเมืองในนา ทำไมไม่เห็นเข้าป่าไปภาวนาเล่า”

ว่าแล้วท่านหัวเราะ ใครก็หัวเราะกัน เพราะเป็นเรื่องขบขัน ผู้ฟังเพลินดูคล้ายกับว่าท่านพูดเล่น แต่ที่จริงท่านพูดตามเหตุที่ท่านรู้ทางจิต

๗. ครั้นต่อมาอีก ตอนเช้าเวลาฉันจึงหัน ครั้งนั้นครูบาอาจารย์ที่เป็นพระแขกติดตามมา กับองค์กฐินนายวัน แม่ทองสุข เช่น อาจารย์สิงห์ อาจารย์สีโห อาจารย์อ่อน อาจารย์ฝั้น และ พระอื่นๆ อีกมาก ได้ไปรวมกันฉันที่ศาลาหลังใหญ่เพราะที่หอฉันที่ไม่เพียงพอกัน จึงฉันอยู่ที่หอฉัน ก็มีแต่พระเณรเจ้าถิ่นเท่านั้น ครั้งนั้น บรรดาอาหารหวานคาว พวกโยมทั้งหลายเลยเอาขึ้นไปแต่หอฉันที่ท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ ไม่มีใครแบ่งไปที่ศาลาใหม่เลย พระผู้แจกอาหาร เช่น อาจารย์วัน อาจารย์ทองคำ และข้าพเจ้าผู้เขียนนี้ด้วย ก็บังเอิญลืมแบ่งไปจริงๆ พอฉันเสร็จแล้วไม่มีใครว่าอะไรอีก ครูบาอาจารย์ทั้งหลายที่ฉันอยู่ศาลาหลังใหญ่ก็ฉันแต่อาหารที่ได้มาในบาตร ไม่มีใครพูดอะไร เพราะกลัวความกระทบกระเทือนจะไปถึงท่านพระอาจารย์ใหญ่

พอตื่นเช้าวันหลังเท่านั้นแหละ ท่านพระอาจารย์มั่นเลยว่ากับโยมชาวบ้านหนองผือเลยว่า

“พวกโยมทำอาหารมาให้พระฉันกันอย่างไร ? อาตมาได้ยินว่าท่านอาจารย์สิงห์บ่นว่า อาหารจาง อาหารจาง อยู่”

พระพวกภัตตุทเทศก์ที่แจกอาหารเลยสืบถามดูความจริงแล้ว ลืมแบ่งอาหาร ไปศาลาหลังใหญ่ ปล่อยให้ครูบาอาจารย์ฉันแต่ข้าวที่ไม่มีอะไรๆ กันทั้งนั้น จึงเป็นเหตุให้ท่านพระอาจารย์มั่นรู้เรื่องราวโดยไม่มีใครบอกท่าน อันนี้เป็นของอัศจรรย์ข้อหนึ่งตามข้าพเจ้าเคยผ่านเหตุการณ์มาในเรื่องท่านพระอาจารย์มั่น

๘. เรื่องอดีตชาติก่อน ท่านพระอาจารย์มั่นพูดว่า สมัยพระโสณะกับพระอุตตระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นสุวรรณภูมิ คือนครปฐมเดี๋ยวนี้ ท่านพระอาจารย์มั่นนี้ได้เป็นสามเณรน้อยมาด้วย ท่านว่า สมัยนั้นท่านข้องคาที่อยู่ในการปรารถนาพุทธภูมิ ท่านจึงไม่ได้สำเร็จมรรคผลอะไร ท่านกล่าวว่า สมัยนั้นน้ำทะเลขึ้นไปจรดกับจังหวัดสระบุรี หรือเขาวงพระจันทร์ ส่วนพระโสณะและพระอุตตระ นั้นชอบใช้ไม้เท้าทางกกเป็น ๘ เหลี่ยม ทางปลายนั้นเป็น ๑๖ เหลี่ยม ท่านว่า

“เมืองไทยเรานี้ มีคนที่มีบุญวาสนามากมาเกิดบ่อยๆ และเป็นที่ชุมนุมของเทวดามเหศักดิ์ ผู้มีฤทธิ์มาก ทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระบรมสารีริกธาตุก็เสด็จมาอยู่ในเมืองไทย ประเทศอินเดียไม่ค่อยมี เพราะเมืองไทยเรามีพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองกว่าประเทศอื่น ฉะนั้น เมืองไทยเราจึงเป็นเมืองแสนสงบสุข อุดมสมบูรณ์ เป็นเอกราชมานาน เพราะเป็นดินแดนที่เกิดของนักปราชญ์ทั้งหลาย”

พูดถึงตอนนี้เป็นเหตุให้เราคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศภาคภูมิใจมาก และ ภาคภูมิใจที่ได้มาเกิดในเมืองไทยที่มีครูบาอาจารย์ผู้วิเศษมาโปรด นี้ได้ยินจากท่านพระครูสีลขันธ์สังวร (อาจารย์อ่อนสี) วัดพระงาม ท่าบ่อ พูดให้ฟัง เพราะอาจารย์องค์นี้ท่านได้อยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ตั้ง ๖ ปี ท่านรู้ดีเรื่องท่านพระอาจารย์มั่น ใครสนใจไปเรียนถามท่านก็ได้

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ หลวงปู่อุ่น ชาคโร ท่านได้รับพระราชทานพัดยศเป็นพระครูสังวรศีลวัตร และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอโนนสัง อยู่ที่วัดทุ่งสว่าง ๑๓ ปี ท่านจึงได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อเที่ยวแสวงหาความสงัดบำเพ็ญเพียรทางจิตอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน จนพ.ศ.๒๕๑๔ จึงเริ่มสร้างวัดดอยบันไดสวรรค์ (วัดป่าหนองคำ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี) และอยู่พักจำพรรษาที่นี่เรื่อยมา ซึ่งท่านได้รักษาปฏิปทาพ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นมาโดยตลอด

หลวงปู่อุ่น ชาคโร ท่านมรณภาพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๒๒ นาฬิกา ณ หอสงฆ์อาพาธ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น สิริอายุได้ ๗๙ ปี พรรษา ๕๗

วัดดอยบันไดสวรรค์ หลวงปู่อุ่น ชาคโร
พิพิธภัณฑ์ พระครูสังวรศีลวัตร (หลวงปู่อุ่น ชาคโร)
เจดีย์ หลวงปู่อุ่น ชาคโร

◎ โอวาทธรรม พระครูสังวรศีลวัตร (หลวงปู่อุ่น ซาคโร)

ศีลภายนอก ศีลภายใน
“..รักษาศีลตัวเดียวคือ เจตนา นั้นแหละ มันเป็นศีลเอง…. เจริญ รักษาภายนอกได้แล้วเราก็รักษา ภายในคือจิตใจของเราก็มีศีล เช่น เรามีศีลข้อที่ ๑ เราไม่ฆ่าสัตว์แล้ว เราก็รักษาจิตใจไม่คิดอิจฉาริษยา.. ถ้าเห็นเป็ดเห็นไก่เราก็อยากต้ม อยากแกงไว้กิน.. ก็หมายความว่าเราไม่มีเมตตามีแต่ศีลภายนอก แต่ศีลภายในจิตไม่มี ท่านจึงว่า ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มาประจําในจิตใจของเราสําหรับ ผูกมัดรัดศีลข้อที่ ๑ ให้มันแน่นหนา.. มันคงด้วยธรรมะ..”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง