ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อุดม ขันติพโล
วัดป่าเวฬุวัน
อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
พระชินวงศาจารย์ (หลวงปู่อุดม ขันติพโล) วัดป่าเวฬุวัน พระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แห่งเมืองโคราช
◉ ชาติภูมิ
หลวงตาชิน หรือ หลวงปู่อุดม ขันติพโล นามเดิมชื่อ “อุดม เขตเจริญ” ท่านถือกำเนิดเมื่อ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๒ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง ที่บ้านท่าสองคอน หมู่ที่ ๘ ตำบลท่าดินแดง อำเภอแซงบาดาล จังหวัดร้อยเอ็ด บิดาชื่อ “นายพึ่ง” และมารดาชื่อ “คำผัน เขตเจริญ” หลวงตามีพี่น้องร่วมมารดา ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนโต
◉ ชีวิตปฐมวัย
เนื่องจากครอบครัวของท่านมีอาชีพทำนา ทำสวน การดำเนินชีวิตก็เหมือนชาวนาทั่วไป ชีวิตจึงมีความผูกพันกับท้องทุ่ง ไร่นา ขณะที่ท่านอายุได้ ๔ ขวบ บิดาได้นำไปฝากเป็นลูกศิษย์วัดใกล้บ้าน กับท่านพระอาจารย์วิสุทธิ์ วิสุทฺโธ (ต่อมาได้รับสมศักดิ์เป็นพระครูวิสุทธิธรรมคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าสุวารีวิหาร และรองเจ้าคณะอำเภอธวัชบุรี) ผู้เป็นหลวงลุง เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียน เพราะการศึกษาสมัยนั้นต้องเรียนในวัดโดยมีพระครูเป็นผู้สอน และ เพื่อให้ท่านได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา และได้ซึมซับรับเอาคุณธรรมมาเป็นเครื่องหล่อหลอมจิตใจ
เมื่อท่านมาเป็นลูกศิษย์วัดแล้ว ก็ยังไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ เพราะเด็กที่จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาได้ต้องมีอายุ ๗ ขวบ ดังนั้นท่านได้ใช้เวลาในช่วงนี้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์ผู้เป็นหลวงลุงของท่านก่อน โดยการเรียนต้องอาศัยการท่องจำและการเขียนตามคำบอกโดยเรียนหนังสือในตอนกลางวัน ตกเย็นต้องคอยรับใช้อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ ซึ่งครูบาอาจารย์ก็จะอบรมสอนธรรมะและเล่านิทานชาดกให้ฟังโดยตลอด จึงทำให้ท่านได้รับการอบรมทั้งความรู้ และคุณธรรมไปพร้อมกัน
ปี พ.ศ.๒๔๗๘ ขณะที่ท่านอายุได้ ๖ ขวบ พระอาจารย์ของท่านได้ออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามป่าเขาในเขตภาคอีสาน ท่านจึงได้ติดตามพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรด้วย บางครั้งก็เข้าไปศึกษาในสำนักปฏิบัติธรรมของครูบาอาจารย์ต่างๆ โดยท่านได้มีโอกาสอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์หลายท่าน และได้ร่วมปฏิบัติธรรมกับสามเณรด้วย กระทั่งสำนักสุดท้ายที่ท่านออกธุดงค์ครั้งนั้นคือ ท่านได้ไปปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่ถ้ำค้อ จ.สกลนคร
ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ท่านได้ติดตามพระอาจาย์ไปกรุงเทพ เพื่อกราบพระอมราภิรักขิต ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระอาจารย์ที่วัดบรมนิวาส ได้เข้าพักที่กุฏิเสงี่ยม คณะ ๓ โดยในปีนั้นพระอาจาย์ท่านได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาสนั้นเอง
◉ เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
ท่านได้ขอบวชกับพระครูวิสุทธิธรรมคุณ พระอาจารย์ โดยได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดมิ่งเมือง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ โดยมีพระราชสิทธาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาสมศักดิ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระมหาเนาว์ นวโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ขนฺติพโล” แปลว่า “ผู้มีกำลังคือความอดทน”
◉ การศึกษาพระธรรมวินัย
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสุวารีวิหารกับพระอาจารย์ ไดรับการอบรมจาพระอาจารย์พร้อมกับการศึกษาปริยัติธรรมควบคู่กันโดยสามารถสอบไล่ได้ดังนี้
ในปี พ.ศ.๒๕๐๑ สอบได้นักธรรมตรี
ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ สอบได้นักธรรมชั้นโท
ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ สอบได้นักธรรมชั้นเอก
◉ เข้าศึกษาอบรมในสำนักครูบาอาจารย์
หลังออกพรรษา พ.ศ.๒๕๐๕ ขณะที่ท่านบวชได้ ๕ พรรษา ซึ่งถือว่าพ้นนิสัยแล้ว เพราะได้รับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติจากครูอาจารย์เป็นเวลา ๕ ปี ท่านเห็นว่าหากอยู่ที่ใดที่หนึ่งนานจะทำให้เกิดพลิโพธ คือความห่วงกังวลอาลัยอาวรณ์ ทำให้การศึกษาและปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า ท่านจึงได้กราบลาพระอาจารย์เพื่อออกธุดงค์และปฏิบัติตามอย่างปฏิทาครูบาอาจารย์โดยได้ไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดป่ากุง จ.ร้อยเอ็ด เป็นเวลา ๓ เดือน
หลังจากนั้นจึงได้กราบลาหลวงปู่ศรี มหาวีโร ออกเดินทางจากร้อยเอ็ดไปวัดถ้ำขาม จ.สกลนครเพื่อกราบและพักปฏิบัติธรรมในสำนักของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ขณะอยู่ที่ถ้ำขาม หากเกิดความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม ก็ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่ฝั้นตอบข้อสงสัยอธิบายธรรมปฏิบัติจนแจ่มแจ้ง ทำให้มีกำลังใจและความอุตสาหะในการปฏิบัติสมาธิภาวนาเป็นอย่างมาก
หลังจากพักปฏิบัติธรรมที่วัดถ้ำขาม เป็นเวลา ๑ เดือนแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น เพื่อเดินทางไปที่จังหวัดหนองคายโดยพักที่วัดป่าอรุณรังสี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และได้จำพรรษาที่วัดป่าอรุณรังสี เป็นเวลา ๑ พรรษา
◉ ธุดงค์วิเวกข้ามฝั่งลาว
หลังออกพรรษา รับกฐินแล้วท่านได้ธุดงค์ไปฝั่งลาวโดยข้ามทางจังหวัดหนองคาย ไปพักที่ชานเมืองนอกเมืองเวียงจันทร์ รุ่งขึ้นได้ไปนมัสการพระธาตุหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่สร้างใหญ่โตมากในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชพระเจ้าแผ่นดินผู้สร้างเวียงจันทร์ พักปฏิบัติธรรมที่เมืองเวียงจันทร์พอสมควรแล้ว จึงได้มุ่งหน้าต่อไปยังหลวงพระบาง
◉ กราบหลวงปู่ขาว อนาลโย
เมื่อถึงหลวงพระบางแล้วได้พักปฏิบัติธรรมตามวัดต่างๆ ที่อยู่รอบๆ หลวงพระบาง จวนกระทั่งจะเข้าพรรษา จึงได้กลับมาฝั่งไทยโดยได้เดินทางไปยังวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เพื่อกราบหลวงปู่ขาว อนาลโย ศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้พักปฏิบัติธรรมและเข้ารับการอบรมข้อวัตรปฏิบัติจากหลวงปู่ขาว เป็นเวลา ๑ เดือนจึงได้กราบลาหลวงปู่เพื่อเดินทางต่อไปยังเขาใหญ่
ในพรรษาปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้จำพรรษาที่ถ้ำสะพานหิน อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเขตติดต่ออับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีความสงบ ร่มรื่น และอากาศสดชื่นตลอดปี นับเป็นความสัปปายะของสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญจิตภาวนาอย่างมาก ในพรรษานั้นจึงได้ทำความเพียรอบรมสมาธิภาวนาและพิจารณาหลักธรรมต่างๆ ที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมมา ทำให้มีกำลังใจและอิ่มเอิบในธรรม
◉ รับภาระเป็นเจ้าอาวาส
พอออกพรรษาแล้ว ท่านได้ออกเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่ทางเจ้าหน้าที่อนุญาตให้พักได้ชั่วคราวเท่านั้นทำให้ต้องเดินทางไปมาระหว่างที่พักสงฆ์และเขาใหญ่เป็นประจำกระทั่งถึงวันวิสาขบูชา ท่านได้เดินทางไปร่วมประชุมอุโบสถที่วัดเขาไทรสายัณห์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวัดนี้มีท่านจ้าคุณ พระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร มาสร้างให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรม และมีอุบาสิกาเล็ก ล่ำชำ เป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด หลังจากฟังพระปาติโมกข์เสร็จแล้วได้เข้าไปกราบท่านเจ้าคุณ และท่านเจ้าคุณได้ไต่ถามถึงบ้านเกิดและพระอุปัชฌาย์ ทำให้ได้ทราบว่าท่านเป็นสัทธิวิหาริกของพระราชสิทธาจารย์ ซึ่งท่านเจ้าคุณทั้งสองต่างก็เป็นสหธรรมมิกกันโดยต่างก็บวช ในพระอุปัชฌายะองค์เดียวกัน คือ พระปัญญาพิศาลเถร (หนู) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร เมื่อทราบดังนั้น ท่านเจ้าคุณจึงชักชวนให้มาช่วยดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ถึงแม้จะพยายามบ่ายเบี่ยงแต่ท่านเจ้าคุณขอร้องให้ช่วยดูแลสัก ๓ พรรษา จึงได้ตอบตกลงท่าน รับเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดเขาไทรสายัณห์
◉ ๓ ปี ที่วัดเขาไทรสายัณห์
หลังจากตอบตกลงรับเป็นผู้ดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเป็นการสนองพระคุณของท่านเจ้าคุณพระราชมุนี จึงได้เริ่มต้นพัฒนาวัด คือ
๑. ได้นำคณะทำถนนขึ้นไปบนเขา
๒. ได้สร้างศาลา ๑ หลังจนแล้วเสร็จ
๓. ได้ขอไฟฟ้ากับทางราชการ จนติดตั้งแล้วเสร็จ
ลุถึงปี พ.ศ.๒๕๑๑ ได้เกิดอธิกรณ์ขึ้นภายในวัดตัวท่านเองเกรงว่าหากเหตุการณ์ยังเป็นอยู่เช่นนี้ จะทำให้เรื่องราวลุกลามยิ่งขึ้น อันจะเกิดความเสื่อมเสียแก่วัด และได้พิจารณาถึงการที่ท่านเจ้าคุณได้ขอร้องให้มาช่วยดูแลวัดเขาไทรสายัณห์ ๓ พรรษา บัดนี้ครบกำหนดที่รับปากไว้พอดี ดังนั้นท่านจึงได้ออกจากวัดเขาไทรสายัณห์
◉ มุ่งสู่ปักธงชัย
เมื่อออกจากวัดเขาไทรสายัณห์แล้ว ท่านพร้อมด้วยคณะมีพระเณร ๘ รูป และแม่ชี ๕ คน ได้เดินทางมาตามเชิงเทือกเขาใหญ่ย้อนขึ้นมาอำเภอปักธงชัย โดยปักกลดนั่งพักชั่วคราวอยู่ที่ป่าไผ่กุดกว้าง ห่างจากอำเภอปักธงชัยประมาณ ๓ กิโลเมตร
ขณะนั้นความจริงเกี่ยวกับวัดไทรสายัณห์ปรากฏขึ้น ความได้ทราบถึงท่านเจ้าคุณ พระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าคณะภาค ๑๑ วัดสุทธจินดา ท่านจึงมีคำสั่งให้เข้าพบและถามข้อเท็จจริง จึงได้กราบเรียนเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านทราบ ท่านจึงเมตตาแนะนำให้เลือกวัดที่สะดวกพอจะพักอาศัย คือ วัดป่าสาลวัน วัดป่าศรัทธารวม หรือวัดศาลาลอย จึงกราบเรียนว่า วัดทั้งสามอยู่ในตัวเมือง ในอนาคตจะเป็นชุมชนใหญ่มีแต่ความวุ่นวายหาความสงบได้ยาก จึงขอกลับไปตำพรรษาที่ปักธงชัยตามเดิม
◉ การพัฒนาวัดป่าเวฬุวัน
คณะของหลวงพ่อเดินทางมาถึงวัดป่าเวฬุวัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๑ โดยวันแรกได้เกิดนิมิตปรากฏว่าตรงนี้เป็นที่อยู่ของคนโบราณมาก่อน จึงได้สอบถามชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าที่แห่งนี้มีบูรพาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระมาวางรากฐานการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นเป็นแห่งแรกของอำเภอปักธงชัย ทำให้เกิดปีติในใจว่าควรที่จะทำนุบำรุงที่แห่งนี้ต่อไป เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์
ในระยะแรก มีความเป็นอยู่ลำบาก การคมนาคมไม่สะดวกอาศัยความสงบของสถานที่จึงทำให้มีกำลังใจในการปฏิบัติธรรมมากขึ้นในส่วนการปกครองนั้น ความได้ทราบถึงท่านเจ้าคุณพระธรรมบัณฑิต (ญาณ ญาณชาโล) เจ้าคณะภาค ๑๑ วัดสุทธจินดา ว่าพระอุดม ขนฺติพโล พักจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ป่าไผ่ บ้านดู่ ท่านจึงมอบหมายให้พระครูสุนทรธรรมโกศล (โกศล สิรินฺธโร ปัจจุบันเป็นพระธรรมโสภณ) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครราชสีมาออกคำสั่งแต่งตั้งรักษาการหัวหน้าสำนักสงฆ์ป่าไผ่ (กุดกว้าง) ดังนั้น ท่านจึงได้ดำเนินการขอตั้งวัด โดยตั้งชื่อวัดป่าไผ่แห่งนี้ว่า วัดป่าเวฬุวัน และขออนุญาตเขตวิสุงคามสีมาตามระเบียบของทางราชการและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕
◉ ประวัติวัดป่าเวฬุวัน
วัดป่าเวฬุวัน เดิทเป็นป่าไผ่ริมฝั่งน้ำกุดกว้าง บ้านดู่ หมุ่ที่๖ ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม (ต่อมาเป็น พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์) ศิษย์รุ่นแรก หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้นำคณะศิษย์เดินทางมาจากเขาตะกรุดรัง ตำบลสะแกราช มาพักที่ป่าไผ่แห่งนี้เพื่อแสดงธรรมโปรดชาวอำเภอปักธงชัย เจ้าของป่าไผ่แห่งนี้เกิดศรัทธาเลื่มใสจึงสร้างถวายเพื่อเป็นที่พักสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างกระท่อมเพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระเณรจำนวนหลายสิบหลัง ตกเย็นชาวบ้านไผ่ บ้านดู่ และบ้านใกล้เคียงในอำเภอปักธงชัย ได้มารวมกันเพื่อฟังการอบรมและปฏิบัติธรรมครั้งหลวงปู่สิงห์ เดินทางกลับวัดป่าสาละวัน ท่านก็ได้มอบหมายให้พระส่วนหนึ่งอยู่ประจำเพื่ออบรมสั่งสอนประชาชน
ในปีต่อมา ปี พ.ศ.๒๔๗๙ หลวงปู่สิงห์ได้นำคณะกองทัพธรรมหลวงปู่มั่น ซึ่งมีครูบาอาจารย์หลายรูปร่วมคณะมาด้วย เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม, หลวงปู่คำดี ปภาโส, หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ, หลวงปู่ลี ธมฺมธโร เป็นต้น เดินทางมาโปรดญาติโยมชาวอำเภอปักธงชัย เป็นครั้งที่ สอง โดยได้พักที่วัดป่าเวฬุวันประมาณเดือนเศษ เพื่อเทศนาอบรมกรรมฐานให้แก่ลูกศิษย์ผู้ติดตามและชาวบ้านที่มารับการอบรมในตอนค่ำคืนแทบทุกวัน
หลังจากนั้นก็มีครูบาอาจารย์ผลัดเปลี่ยนกันมาพักอาศัยแต่ไม่ค่อยแน่นอน ทำให้เป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ แตะมีพระประจำอยู่ได้นานเกือบ ๕ ปี คือ พระอาจารย์จันตา (มรณภาพแล้ว) ต่อมาระหว่างปี พุทธศักราช ๒๔๙๘ – ๒๔๙๙ มีพระอาจารย์สำราญ ทนฺตจิตฺโต (วิริยานุภาพ) ได้มาจำพรรษาอยู่ ๓ ปี แล้วจึงย้ายไปอยู่วัดป่าจักราช อำเภอจักราช ส่วนพระที่อยู่ดูแลป่าไผ่ตรงนี้บางปีกไปนิมนต์มาจากวัดป่าสาลวัน บางปีก็นิมนต์มาจากวัดศาลาทอง มาจำพรรษา
วันมาฆบูชาได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถโดยมีหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นประธาน เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๑๗ พลเอก กฤษณ์ ศรีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกได้มาประกอบพิธีหล่อพระประธานที่วัดป่าเวฬุวัน พร้อมด้วย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ ๒ เมื่อหล่อพระประธานเสร็จแล้ว ได้กราบทูลขอประทานนามพระประธานจากเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระสังฆราชได้ประทานพระนามว่า “พระสัมพุทธชัยมงคลสุวิมลอนันตญาณ”
◉ มรณนิมิต
ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ หลวงตาท่านได้นิมิตว่าท่านได้มรณภาพลง คณะศิษย์ได้นำร่างไร้วิญาณขึ้นสู่เมรุเพื่อทำการฌาปนกิจ ขณะที่กำลังนำร่างขึ้นสู่เชิงตะกอนนั้น ปรากฏว่าวิญญาณได้กลับเข้าสู่ร่าง ท่านจึงได้ชูมือขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้สัญญาณว่าฟื้นแล้ว ทำให้ผู้พบเห็นตกใจวิ่งหนีกันอลหม่าน ท้ายที่สุดคณะศิษย์จึงช่วยกันปฐมพยาบาลจนท่านฟื้นคืนมา เมื่อตื่นตอนเช้าหลังจากทำวัตรเสร็จ ท่านจึงพิจารณานิมิตดังกล่าวและถือว่าเป็นเหมือนเทวทูตที่มาเตือนให้ทราบว่าวันเวลาของชีวิตเหลือน้อยนิดเต็มทีแล้ว จงรีบขวนขวายทำความดี เหมือนดังปัจฉิมพจน์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานไว้ก่อนปรินิพานว่า “หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ขอเธอทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมเถิด” ดังนั้น หลวงพ่อจึงได้ฝากถึงสหธรรมิกและศิษย์ทั้งหลายว่า อย่าได้รอช้า รอวันเวลาที่จะสร้างความดีแก่สังคม เพราะความดีที่ทำไว้จะเป็นเหมือนกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้เห็นตัวเอง ควรประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ด้วยจิตที่เป็นสัมมาทิฐิเถิด
◉ มรณภาพ
หลวงตาชิน หรือ หลวงปู่อุดม ขันติพโล ท่านละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๒๑.๔๐ น. สิริอายุรวมได้ ๘๖ ปี ๑๐ เดือน ๒๖ วัน ท่านมรณภาพลงในช่วงเข้าพรรษาที่ ๕๙ แห่งการอุปสมบทของท่าน
ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน