ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต
วัดสิริกมลาวาส (วัดใหม่เสนา)
บางกะปิ กรุงเทพฯ
วาสนาเป็นคําพูดที่โลกพากันสมมติขึ้น แต่ชาวโลกก็ให้ความเชื่อถือเอามากๆ เหมือนกัน
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์หนึ่งที่อาศัยวาสนา นําพาชีวิตคือ…ต้องผจญฟันฝ่ากับอุปสรรคทั้งทางโลกและทางธรรม
ด้วยจิตใจอันแท้จริงของท่านแล้ว มีความเลื่อมใส ศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามาก เชื่อผลของกรรมดีว่าสามารถนําพาจิตใจของตนให้พ้นทุกข์
เมื่อหลวงปู่หลอด ได้มีโอกาสวาสนาบวชเข้ามาในพระบวรพุทธศาสนาแล้ว ท่านก็มุ่งแสวง หาความสงบสุขแห่งชีวิตและหนทางแห่งความพ้นทุกข์ โดยการออกเดินธุดงคกรรมฐาน เยี่ยงพระอริยเจ้าครูบาอาจารย์เจ้าทั้งหลาย อย่างชนิดสละทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ติดถิ่นฐานอาคารบ้านเรือน
ก็ด้วยเป็นพระภิกษุผู้ไม่ติดถิ่นของท่านนี้เอง จึงทําให้เหตุการณ์กลับกันคือ
ผู้คน ญาติโยม มองไม่เห็นภูมิหลังอันโชกโชนกับการเจริญสมณธรรม และความเป็นพระผู้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
และตัวของหลวงปู่หลอดเอง ท่านก็เฉยๆ ไม่แสดงออกมาให้ใครรู้ว่า ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐาน ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่หลอด ท่านนอบน้อมถ่อมตน มีความเป็นกันเองโดยปกติ วาจาและรอยยิ้มของท่าน แสดงออกมาจากดวงจิตที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
ชื่อเดิม “หลอด ขุริมนต์” เกิดเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๕๘ ณ บ้านขาม ต.หัวนา อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ปัจจุบัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู)
บิดาชื่อ บัวลา ขุลิมนต์ มารดาชื่อ “แหล้” หรือ แร่ ขุลิมนต์
ในชีวิตสมณเพศ ท่านบวชสองครั้ง คือ ครั้งแรกท่านบวชในสังกัดมหานิกาย
ต่อมาภายหลังท่านได้เห็นปฏิปทาพระปฏิบัติคณะธรรมยุต จึงเกิดเลื่อมใสที่จะดํารงชีวิตอย่างสงบและปฏิบัติตนเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง
ดังนั้นท่านจึงขอญัตติในสังกัด วัดโพธิสมภรณ์ โดยมี ท่านเจ้าคุณจูม พันธุโล เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับฉายาว่า “ปโมทิโต”
ณ จุดเริ่มต้นวัดป่าเป็นสิ่งจูงใจให้ท่านปฏิบัติ ทั้งยังได้มองเห็นปฏิปทาของพระภิกษุสงฆ์อันเป็นสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่เดินทางผ่านมาพํานักยัง วัดโพธิสมภรณ์ อยู่เสมอๆ จึงทําให้เกิด ศรัทธาแก่กล้าที่จะออกเดินธุดงค์
ดังนั้นเมื่อได้พบพระสหธรรมิกชักชวนกันออกป่าเดินธุดงค์ ท่านก็ได้เตรียมบริขารออกสู่ป่าดง ทันที
การเดินธุดงค์ของพระกรรมฐานสมัยก่อน ดูแล้วไม่พ้นต้องพบเจอสัตว์ป่าเช่น เสือ ช้าง และ ทําไมต้องเป็นเช่นนั้น?
ก็สมัยก่อนเมืองไทยเป็นเมืองป่าไม้ที่หนาแน่น พื้นดินอุดมสัตว์ป่าก็ชุกชุมธรรมดา ขนาดกลางวันแสกๆ บางทียังเคยเห็นเสือโคร่ง เดินผ่านรั้วบ้านไป นี่เป็นความจริง
แล้วถ้าถามหลวงปู่หลอดว่า “ท่านกลัวเสือไหม ขณะเดินธุดงค์อยู่ในป่า”
ท่านก็ตอบว่า “อันนิสัยของคนที่มีดวงจิตน่ะ มันล้วนแต่มีความขี้ขลาดประจําใจทุกคน มันกลัวไปทุกอย่างนั้นแหละ
จนกว่าจะฝึกฝนอบรมให้รู้ เห็นความจริงนั้นแหละ มันจึงค่อยๆคลายหายไป กลายเป็นความปกติ มิใช่ความกล้า เป็นความปกติ”
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต ท่านเดินธุดงค์ผ่านไปยังบ้านเมืองต่างๆ นับไม่ถ้วน
ถ้าจะรวมอายุการเดินธุดงค์มุ่งสู่สํานักปฏิบัติต่างๆ ก็ราว พ.ศ. ๒๔๗๔ นับเป็นปีแรกที่ท่าน หันหลังให้กับเสนาสนะอันสะดวกสบายมุ่งสู่ป่าดง พักจําพรรษาใน ถิ่นต่างๆ และวัดอื่น ๆ มากมาย
โดยเฉพาะตัวของท่านและ พระสหธรรมิก ต้องอดทนผจญอยู่ กับกลดแคบๆ แวดล้อมด้วยสัตว์
ระยะหลังได้มาอยู่จําพรรษา ที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ๑๐๑ กับ พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินธโร เป็นเวลา ๓ ปีเต็มๆ
หลังจากนั้นไม่นาน จ.ส.ต. กมล เรืองศิลป์ ท่านได้ยกที่ดินให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ ใจนั้นเจตนาอย่างยิ่งที่จะให้สร้างวัดในฐานะพุทธศาสนาท่านหนึ่ง
ด้วยเจตนานี้ หลวงปู่หลอด และ ท่านพระอาจารย์วิริยังค์ ได้เริ่มสร้างเสนาสนะสงฆ์และเป็นวัดใหม่เสนานิคมตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๒
ภายหลังการคณะสงฆ์ได้จัดระเบียบโดยการตั้งเข้าธรรมเนียบวัด ให้นามใหม่ว่า วัดสิริกมลาวาส
วัดนี้อยู่เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ นับได้ว่าเป็นวัดที่สําคัญวัดหนึ่งในกรุงเทพฯ ขณะนี้
หลวงปู่หลอด ปโมทิโต มรณภาพลง เมื่อวันอังคารที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๒.๕๘ น. ด้วยโรคชรา ขณะอายุ ๙๓ ปี ที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ สามเสน กทม. หลังจากที่ได้เข้ารับการพยาบาลรักษามาเป็นเวลา ๓ ปี