ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร
วัดป่าอุดมสังฆกิจ (วัดป่าท่าศรีไคล)
อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ท่านเป็นพระน้องชายแท้ๆ ของหลวงปู่เนย สมจิตฺโต หลวงปู่หนูเมย ท่านเป็นพระผู้มีปฏิปทางดงาม เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิริคือ ความงดงามความดี ธรรมะที่ท่านเทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ในหลายๆ โอกาส หากเพียงแต่ได้น้อมนําเข้ามาสู่ ตัวเองมาพิจารณา จะพบว่า ไม่ได้ห่างไกลไปจากชีวิตประจําวันเลย หลวงปู่พร่ําสอนเสมอว่า “กินง่าย อยู่ง่าย แต่อย่าเป็นคนมักง่าย” , “นิ่มนวล แน่นอน และหนักแน่น” , ให้มี “นโม” อยู่ในหัวใจ นโมคือความนอบน้อม นอบน้อมต่อพระพุทธ นอบน้อมต่อพระธรรมวินัย นอบน้อมต่อพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และนอบน้อมต่อพ่อแม่บุพการีและผู้มีพระคุณ
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร นามเดิมชื่อ หนูเมย มูลสธูป เกิดเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๓ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ณ บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอ เลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร)
โยมบิดาชื่อ นายเอี่ยม มูลสธูป โยมมารดาชื่อ นางสุภี มูลสธูป มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา เดียวกัน รวม ๙ คน ดังนี้
พระครูวิมลศีลาภรณ์ (หลวงปู่เนย สมจิตโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดโนนแสนคำ บ้านทุ่งคำ ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร มรณภาพในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕)
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร
นายเฉลย มูลสธูป
นายเสล็ง มูลสธูป
นายอำนวย มูลสธูป
นายโดเวิด มูลสธูป
นายสวาท มูลสธูป
ด.ช.ประเวท มูลสธูป (ถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้เลือดออกตอนอายุ ๖ ขวบ)
นางประเภท จากผา (ถึงแก่กรรม)
◎ ปฐมวัย
ชีวิตวัยเด็กท่านเป็นเด็กร่าเริงขยันขันแข็ง เดินว่องไวชอบวิ่ง เป็นคนพูดจาเสียงดังและตรงไปตรงมา เป็นคนที่จริงจังและจริงใจ รักษาสัจจะพูดคําไหนก็คํานั้น หลวงปู่หนูเมย เล่าว่า.. “เมื่ออายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นได้เป็นเรี่ยวแรงสําคัญช่วยงานทางบ้านภายหลังจากที่ หลวงปู่เนยฯ ซึ่งเป็นพี่ชายคนโตได้ออกบวช หลวงปู่หนูเมย (ในขณะนั้น) จะช่วยพ่อแม่ทํางานบ้าน คิดหารายได้ช่วยพ่อแม่ โดยไปหาซื้อไก่มาเลี้ยง ซื้อหมูมาขุน เมื่อขายได้ก็นําเงินไปให้พ่อแม่ หาเงินเลี้ยงตัวเองโดยไม่ต้องรบกวนขอเงินจากพ่อแม่” ในเรื่องชีวิตคู่ครองในช่วงวัยรุ่น ท่านกล่าวว่า “ความคิดเรื่องการครองคู่ ถ้าไม่ได้รักพ่อรักแม่เรา เราก็ไม่เอา เราห่วงมาก ห่วงพ่อกับแม่ สมัยนั้นมีสาวๆ มาติดพันเยอะ เพราะเป็นคนพูดจาดี คนไหนที่ชอบเราจริงๆ เราก็ถอย ช่วงนั้นเป็นวัยคะนอง พยายามรักษาประคองตัวทุกวิถีทางไม่ให้มีเรื่องไม่ดีมากระทบจิตใจพ่อแม่ จนอยู่รอด เรานึกถึงคําเตือนของพ่อเสมอว่า วัยนี้ให้มีความพยายาม ให้ระวังนะลูกเอ๋ย กําลังเข้าสู่หอกสู่ดาบ ระวังทั้งไม่จากเพื่อนเดียวกันก็เพื่อนต่างเพศ สมมติว่าเราไปทะเลาะกับเพื่อนหรือเพศตรงข้าม ความเดือดร้อนก็ไปถึงพ่อแม่ จะเตือนตัวเองเสมอ”
ลุงโดเวิด มูลสธูป (น้องชายหลวงปู่) เล่าให้ฟังว่า “สมัยก่อน ครอบครัวปลูกผักสวนครัว หอม ผักชี พริก มะเขือ แต่เนื่องจากในระยะเวลานั้น น้ำที่ใช้ในการเกษตรค่อนข้างขาดแคลน กอปรกับเครือญาติมาทําพื้นที่การเกษตรด้วยใกล้ๆ กัน ต้องใช้น้ำจํานวนมาก จึงต้องเข้าแถวรอรับน้ำกันเป็นเวลานาน หลวงปู่หนูเมยเป็นคนขยันทํางาน ไม่ต้องการไปเข้าแถวหรือแย่งชิงน้ำ ท่านจะตื่นตี ๑ – ๒ ไปตักน้ำในบ่อมารดน้ำผักเป็นประจํา
นอกจากนี้ ยังช่วยดูแลน้องๆ พร่ำสอนน้องๆ ให้น้องๆ ทํางาน ทํามาหากิน หาปูหาปลาตามลําห้วยต่างๆ อายุของหลวงปู่ฯ ห่างกับผมมาก ผมสูงเพียงเอวของท่าน แต่ท่านจะพาผมไปตลอด ไม่ว่าจะไปหาปูหาปลาตามลําห้วยที่ไหนก็ตาม ท่านก็จะสอนให้รู้จักวิธีหาปูตกปลา ตกกลางคืน โยมพ่อโยมแม่เข้าใจว่า ท่านนอนดึกตี ๑ – ตี ๒ แต่มาทราบเอาระยะหลังว่า ท่านตื่นไปรดน้ำผัก”
ลุงเฉลย มูลสธูป (น้องชายหลวงปู่) ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวในวัยเยาว์ของหลวงปู่หนูเมย สิริธโร เล่าว่า.. “พ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มีหน้าที่ทางราชการต้องไปร่วมประชุมที่อําเภอบ้าง เป็นผู้ไกล่เกลี่ยหากเกิดกรณีพิพาททะเลาะเบาะแว้งของลูกบ้านบ้าง ทําให้มีเวลาอยู่กับทางบ้านน้อย หลวงปู่หนูเมย (ในขณะนั้น) ต้องเป็นหลักให้กับครอบครัวมาโดยตลอด เมื่อท่านอายุได้ ๗ ขวบ ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียน บ้านกุดแห่ เป็นเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรง เรียนดี เป็นนักกีฬาของโรงเรียน ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ท่านจะช่วยดูแลน้องๆ รักและ เมตตาน้องๆ ไม่เคยรังแก ช่วยทํางานบ้าน ทําอาหาร ผ่าฟัน ตักน้ำ ตําข้าว ท่านเป็นคนขยันขันแข็ง ไม่เอาเปรียบเพื่อนฝูง ไม่รังแกใคร และไม่ให้มารังแกเช่นกัน ทําให้ตอนเป็นฆราวาสมีมิตรสหายค่อนข้างมาก เมื่อจบประถม ๔ ช่วยทางบ้านทําไร่ทํานา ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ในทุกๆ อย่าง”
ลุงเฉลย เล่าเพิ่มเติมอีกว่า “ภายหลังฤดูเก็บเกี่ยว แม่จะให้หลวงปู่และผมปลูกผักไว้กิน คืนหนึ่งอากาศหนาวเย็นมาก ท่านตื่น ตอนตี ๔ หิ้วถังและบัวรดน้ำ ไปรดน้ำแปลงผัก ตักน้ำใส่โอ่งจนเต็มหมดทุกใบ แม่ตื่นขึ้นมาจะนึ่งข้าว และเข้าใจว่า ท่านจะไปรดน้ำผัก แม่จึงห้ามปรามเพราะอากาศหนาวเย็น ท่านจึงบอกว่า ไปรดน้ำผักเสร็จหมดแล้ว” ชีวิตในวัยเยาว์เรียบง่ายธรรมดา มิตรสหายของท่านที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่วัยเดียวกันในปัจจุบัน บอกว่าไม่เคยได้ยินท่านเอ่ยปากว่า ได้รักชอบกับหญิงสาวคนไหนเลย
◎ มูลเหตุในการอุปสมบท
ลุงเฉลย เล่าให้ฟังว่า “ในปี พ.ศ. เท่าใด จําไม่ได้แน่ชัด หลวงปู่และญาติที่เป็นลูกชายของป้าเดินไปทําไร่ที่บริเวณภูถ้ำพระ ซึ่งห่างจากบ้านไปอีกประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร ไปถางป่าเตรียมพื้นที่จะเพาะปลูกป่าบริเวณนั้นเป็นป่ารกชัฏ ป่าทึบอันอุดมสมบูรณ์ ขณะกําลังถางป่า ญาติเจอรังแมงน้อย (สัตว์จําพวกผึ้งแต่ตัวเล็กกว่า) และมีน้ำหวานอยู่เต็มรัง ญาติเลยตัดเอาน้ำหวานมาดื่มแก้กระหาย น้ำหวานมีรสเปรี้ยวๆ หวานๆ ท่านเองก็ได้ดื่มด้วยเช่นกัน หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ล้มป่วย ปวดท้องเรื้อรังรักษาอย่างไรก็ไม่หาย ท่านคงสลดสังเวชใจในสังขารร่างกาย จึงเป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ตามพี่ชาย (หลวงปู่เนย สมจิตฺโต) และอีกประการหนึ่ง เคยมีผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านแนะนําให้ท่านแต่งงาน มีครอบครัว แต่ท่านบ่ายเบี่ยง อันเนื่องจากเห็นความยุ่งยากภาระในการออกเรือน ในเวลาต่อมา มีญาติผู้ใหญ่ประสงค์จะทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับภรรยาที่เสียชีวิต แต่ไม่สามารถหาคนออกบวช เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ได้ จึงได้มาสอบถามและทาบทามกับท่าน หากไม่แต่งงานมีครอบครัว ท่านพอจะบวชอุทิศบุญให้ได้ไหม หลวงปู่หนูเมยท่านจึงรับปากจะบวชให้”
◎ เหตุที่บวช
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้ปรารภถึงมูลเหตุของการออกบวชว่า “โบราณกาลก่อนที่จะแต่งงานก็ดี อย่างน้อยก็ให้ผ่านการบวช เป็นประเพณีนิยม พ่อแม่ก็ส่วนหนึ่ง เจ้าภาพก็ส่วนหนึ่ง ตัวเองก็ส่วนหนึ่ง ปีนั้นสุขภาพไม่ค่อยดีเป็นโรคเกี่ยวกับท้อง หลังจากนั้นก็ ไปทดสอบร่างกายโดยการไปรับจ้างเลื่อยไม้กับเพื่อนๆ (นายคําไหล่ บุญมากและนายยิ่งเจริญ นานีนุช พ่อใหญ่คําพา) นั่งเลื่อยเอาไม้ท่อนใหญ่เท่าต้นเปลือย เงินทุกบาทมอบให้พ่อกับแม่หมด ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ มีคณะศรัทธาญาติโยมเจ้าภาพที่ได้ลั่นวาจาไว้เรื่องบวช ได้ฤกษ์วัน ก็นําเราเข้ามอบตัวเข้าวัดเลย หลังจากวันมอบตัวก็ไม่ได้กลับเข้าบ้านเลย เสื้อผ้าก็ให้เด็กวัดเอาไปส่งที่บ้าน มีเงิน ๑๐๐ บาทติดตัว ก็ฝากไปให้พ่อกับแม่แต่หลวงปู่คิดว่า ยังไงก็มาอยู่วัดแล้ว หน้าที่ของตัวเองคืออะไร การที่จะเป็นสมณะ ต่อไปควรศึกษาอะไรบ้าง อันนี้หลวงปู่พูดกับตัวเอง บวช เรียน เขียน อ่านได้แล้วหรือยัง ถามตัวเองว่าเมื่อไหร่จะทําหน้าที่ นี่..พูดกับตัวเองเป็นประจํา นานๆ จะมีครูบาอาจารย์เตือนสักครั้ง แต่การเตือนตัวเองสําคัญมากที่สุด เมื่อไหร่จะท่อง บ่น สนใจ ตั้งแต่ครองนาค เสร็จจากครองนาค ก็สวดมนต์ไหว้พระเช้า เย็น นี่คือหน้าที่ เราก็ทําให้สมบูรณ์แบบ ทําวัตรไม่ได้ก็ต้องพยายามให้ได้ พยายามอ่านหนังสือ ตอนกลางวันออกเสียงท่อง ย้ายที่ ๓ ที่ พอตกบ่ายทํากิจวัตร ก็เก็บหนังสือไว้ กวาดลานวัด ก็ท่องในใจ สมัยนั้น น้ำอ้อย น้ำตาล ชา กาแฟ ไม่มีให้ฉันเลย ๑๕ วันจึงจะเจอสักครั้ง สมัยก่อนลําบากมาก ถ้าใจไม่เด็ดขาดเด็ดเดี่ยวก็สู้ไม่ไหวเพราะมันเหนื่อย เวลาสรงน้ำถึงจะมีกําลังมีแรง หลังจากนั้น เมื่อนอนพัก นอนตะแคงไปทางไหนก็หลับทางนั้น เหนื่อยมากๆ เลย ในชีวิตหนักมากๆ เลย บวชด้วยศรัทธา ไม่มีใครบังคับ ตั้งใจบวช ๑ พรรษา ตามประเพณี ได้ยินจากครูบาอาจารย์บอกว่า ตามปกติ อย่างน้อยๆ ต้อง ๔ พรรษา หนึ่ง ให้พ่อแม่ สองให้ครูบาอาจารย์ สาม ให้ศรัทธา และสี่ ให้ตัวเอง
◎ เข้าสู่ผ้ากาสาวพัสตร์
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ที่วัดป่าสุนทราราม (วัดบ้านกุดแห่) อำเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน คือ จังหวัดยโสธร) โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโส ป.ธ.๔) วัดพรหมวิหาร และ พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์
◎ ลำดับการจำพรรษา
พรรษาที่ ๑ – ๔ (พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๐๙) จําพรรษา ที่วัดกลางสนาม บ้านหนองสูง ตําบลหนองสูง อําเภอคําชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันเป็นจังหวัดมุกดาหาร) หลังจากบวชอยู่วัดป่าสุนทรารามกับครูบาอาจารย์ประมาณ ๑ เดือน เมื่อถึงฤดเทศกาลเข้าพรรษา หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้ไปจําพรรษาที่วัดป่ากลางสนาม ทั้งนี้เนื่องจากครูบาอาจารย์วัดบ้านกุดแห่ได้สอบถามความสมัครใจว่าจะมีองค์ใดที่จะติดตามหลวงปู่ใหญ่ ไปจําพรรษาที่วัดป่ากลางสนามเพื่ออุปัฏฐาก (หลวงปู่กงแก้ว ขนฺติโก ลูกศิษย์ของหลวงปู่ดี ฉนฺโน ที่วัดบ้านกุดแห่และเป็นเจ้าอาวาสป่ากลางสนาม) ท่านได้อยู่จําพรรษาอยู่กับหลวงปู่กงแก้วรวม ๔ พรรษา หลวงปู่หนูเมย เล่าว่า “ช่วงออกพรรษา ช่วงกฐินก็ช่วยกันตัดเย็บสบง จีวร หลวงปู่มีหน้าที่ตัดเศษผ้า รีดผ้า ย้อมผ้า ท่านอาจารย์แสนเป็นช่างเย็บฝีมือประณีตมาก เมื่อแล้วเสร็จ ท่านอาจารย์แสนก็นําขึ้นไปบําเพ็ญภาวนาที่ถ้ำจําปา วัดภูผากูด หมู่ ๑ ตําบลคําบก อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร (เป็นถ้ำที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นไปบําเพ็ญภาวนา) ในเวลาตลอด ๔ ปีที่จําพรรษา พระอาจารย์แสนจะพาไปบําเพ็ญภาวนาที่ถ้ำเป็นประจําทุกปี” ด้วย อุปนิสัยของหลวงปู่หนูเมยที่เป็นคนขยันขันแข็งมาแต่เดิม ท่านได้ทํากิจวัตรและดูแลครูบาอาจารย์เรียบร้อยไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ซึ่งท่านถือว่าเป็นเรื่องที่สําคัญมาก ภายหลังออกพรรษาของแต่ละปี หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้กลับไปพํานักที่วัดป่าสุนทราราม (วัดป่าบ้านกุดแห่) ตามเดิม และเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาก็กลับมาจําพรรษาที่วัดกลางสนามเช่นเคย จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๙ รวม ๔ พรรษา และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ที่จําพรรษาที่วัดกลางสนาม หลวงปู่หนูเมย สามารถท่องพระปาฏิโมกข์โดยใช้เวลา ๑ เดือน
พรรษาที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๑๐) จำพรรษาที่ วัดป่าอเนกธรรมคุณ ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๙ บ้านคำพอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
พรรษาที่ ๖ (พ.ศ.๒๕๑๑) จำพรรษาที่ วัดป่าอเนกธรรมคุณ ตั้งอยู่ที่ หมู่ ๙ บ้านคำพอก ตำบลหนองญาติ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม หลังออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปพักกับหลวงปู่จาม (หลวงปู่จาม มหาปุญโญ วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร) เมื่อหลวงปู่เนยทราบข่าวจึงได้เขียนจดหมายไปถึงและนัดหมายพบกันที่ วัดป่าศิลาวิเวก (ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร) หลังจากนั้นได้เดินทางพร้อมกันไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและญาติที่บ้านกุดแห่จนแล้วเสร็จ ได้อาศัยหลานชายของหลวงปู่จาม ที่จะไปซื้อรถที่สกลนครเพื่อจะต่อรถไปจังหวัดอุดรธานี เมื่อถึงอุดรธานีได้ไปพักที่วัดโนนนิเวศน์ (ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี) พักอยู่ ๓ คืน หลังจากนั้นได้เดินทางไปกราบหลวงปู่บัว สิริปุณโน (วัดป่าหนองแซง ตำบลหนองบัวบาน อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี) ได้รับการชี้แนะสั่งสอนอยู่ประมาณ ๒ อาทิตย์
พรรษาที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๑๒) จำพรรษาที่วัดป่าธรรมวิเวก บ้านห้อม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พักอยู่กับพระอาจารย์ปั่น (หลวงปู่ปั่น ญาณวโร) และเป็นปีเดียวกันที่หลวงปู่เนยฯ ได้พาออกไปกราบครูบาอาจารย์ตามที่ต่างๆ
พรรษาที่ ๘ (พ.ศ.๒๕๑๓) จำพรรษาที่วัดป่าบ้านเลื่อม (ปัจจุบันคือวัดป่าบ้านดานธรรมเจดีย์ ตำบลบ้านเลื่อม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี)
ก่อนหน้าที่จะมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเลื่อมนั้น หลวงปู่หนูเมย สิริธโร เล่าว่า.. “ท่านและสามเณรบุญรอด ได้พักอยู่กับ หลวงปู่ทองผุด ญาณวโร วัดภูเขาดินผาพอด อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ได้ศึกษาอยู่กับหลวงปู่ฯ ประมาณ ๑ เดือน ปฏิปทาของท่านน่าเลื่อมใสมาก ท่านขยันเทศน์เหมือนกับหลวงปู่คำหล้า (หลวงปู่หล้า เขมปัตโต วัดบรรพตคีรี ภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร) ไม่ผิดเพี้ยน ก่อนที่จะบิณฑบาต พระเณรต้องมารวมกันที่ศาลา เมื่อได้เวลาอันสมควรแล้ว ครองผ้าคลุมผ้าให้เรียบร้อย
หลวงปู่ทองผุดฯ ท่านจะเดินนำและเดินเทศน์เดินเล่าไปจนถึงเข้าหมู่บ้าน เมื่อบิณฑบาตแล้วเสร็จ เดินออกจากหมู่บ้านท่านก็เริ่มคุยเริ่มเทศน์ไปตลอดทางเหมือนหลวงปู่คำหล้าไม่มีผิดเพี้ยน ท่านขยัน ตอนที่หลวงปู่หนูเมยไปหาหลวงปู่ทองผุดนั้นได้ไปกับสามเณรบุญรอดแค่สองรูปไม่มีโยมไปด้วยรถก็ไม่ค่อยมี กว่าจะเดินทางถึงวัดภูเขาดินผาพอด ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยช่วยเหลือจัดหารถให้ แต่พักที่นั่นได้สักระยะ หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้บอกกับสามเณรบุญรอดว่า สุขภาพท่านไม่ค่อยแข็งแรง ไม่ถูกจริตกับการภาวนา เพราะจังหวัดเลยเป็นจังหวัดที่เป็นภูเขา มีลักษณะลุ่มๆ ดอนๆ จึงประสงค์จะไปอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี อยู่สัก ๑ พรรษา จึงได้กราบลา หลวงปู่ทองผุด ออกเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี
ในระหว่างพรรษา หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้ย้อนกลับไปรับสามเณรบุญรอดที่วัดภูเขาดินผาพอด เนื่องจากสามเณรได้รับปากญาติโยมที่บ้านห้อม (อำเภอเมืองนครพนม) ว่าจะไปบวชที่บ้านเกิด เมื่อแล้วเสร็จ หลวงปู่หนูเมยได้ย้อนกลับมาพักที่วัดโนนนิเวศน์ (อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี) ขณะนั้นเริ่มเข้าฤดูฝน ท่านกำลังพิจารณาว่าควรจะไปจำพรรษาที่ไหน บังเอิญหลวงตาสุด ที่อยู่วัดโนนนิเวศน์ ได้สอบถามความประสงค์และชักชวนให้ไปจำพรรษา ที่วัดป่าบ้านเลื่อม ตำบลบ้านเลื่อม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี พร้อมกับท่าน สภาพวัดป่าบ้านเลื่อมในขณะนั้น ตั้งอยู่ด้านในลึก เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังเต็มไปด้วยต้นธูปฤาษี หลวงตาสุดและหลวงปู่หนูเมยได้พำนักอยู่บริเวณที่เป็นป่าช้า ในพรรษานี้ ได้ตั้งสมาทานธุดงค์วัตรปฏิบัติ “ห้ามภัตร” ฉันแต่ภัตตาหารในบาตร ไม่รับภัตตาหารที่นำมาถวายภายหลัง เมื่อออกพรรษาเดินทางกลับ จังหวัดนครพนม”
พรรษาที่ ๙ – ๑๒ (พ.ศ.๒๕๑๔ – ๒๕๑๗) ได้ธุดงค์ย้อนกลับมาที่วัดอเนกธรรมคุณ บ้านคำพอก จังหวัดนครพนม เป็นรอบที่ ๒ รวม ๔ พรรษา ในระหว่างพรรษานี้ หลวงปู่อธิษฐานสมาทานธุดงควัตรเนสัชชิกตลอดพรรษา รวม ๓ พรรษา ห้ามอิริยาบถนอน หลังแตะพื้นก็ไม่ได้ ถือว่าขาดอธิษฐาน ต้องเริ่มตั้งต้นใหม่ อิริยาบถมี ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน เมื่อห้ามอิริยาบถนอนเสียแล้ว ก็ให้ทรงอยู่ในอิริยาบถ ๓ เท่านั้น คือ ยืน เดิน นั่ง
พรรษาที่ ๑๓ (พ.ศ.๒๕๑๘) ได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่เนย สมจิตโต ที่วัดโนนแสนคำ (บ้านทุ่งคำ ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร) ในปีนี้มีชาวบ้านมาบวช ๑ รูป รวมแล้วมีพระภิกษุ ๓ รูป มีสามเณร ๗ รูป ก่อนจะเข้าพรรษาหลวงปู่หนูเมยฯ ตั้งใจจะเดินทางกลับอุดรธานี แต่ญาติโยมที่บ้านทุ่งคำได้นิมนต์และขอร้องว่า “หลวงปู่เนยฯ ท่านอยู่เพียงรูปเดียว ขอนิมนต์ให้อยู่เป็นเพื่อนกัน อย่าเพิ่งทิ้งไปไหน”
ในระหว่างพรรษา เดือนสิงหาคม หลวงปู่เนยฯ ได้นำพาพระและชาวบ้านคณะเล็กๆ ประกอบด้วยรถยนต์จากวัดเจริญศิลป์ ๑ คัน วัดป่าโนนแสนคำอีก ๑ คัน ไปกราบคารวะหลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย (หากไปคณะใหญ่จะเข้าถึงท่านลำบาก เช่นเดียวกับการไปกราบคารวะหลวงปู่เทสก์ ที่วัดหินหมากเป้ง) ได้ไปพักฉันจังหันที่แถวอำเภอหนองวัวซอ
ขณะเดินออกเดินทางรถได้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากรถกระบะขับแซงกันบริเวณโค้งอันตรายที่หนองบัวลำภู อุบัติเหตุครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต ๑ คน เป็นคนที่นั่งอยู่ด้านหลังหลวงปู่เนยฯ แต่หลวงปู่เนยเพียงแค่ไหล่ช้ำบวม ส่วนหลวงปู่หนูเมยศรีษะแตก ช่วงที่เกิดเหตุหลวงปู่เนย และหลวงปู่หนูเมย ท่านนั่งหลับตาปล่อยวางให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้น รถพลิกคว่ำตะแคงซ้ายเสียงดังมาก จนเกือบตกไหล่เขาซึ่งด้านล่างเป็นเหวลึก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บไปปฐมพยาบาลอยู่ที่อนามัยหนองบัวลำภู
พรรษาที่ ๑๔ (พ.ศ.๒๕๑๙) กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านเลื่อม เมื่อออกพรรษา ได้ไปพำนักที่วัดโนนแสนคำ เพื่อช่วยหลวงปู่เนยฯ สร้างศาลาการเปรียญหลังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
พรรษาที่ ๑๕ (พ.ศ.๒๕๒๐) นับเป็นปีแรกที่ได้ไปอยู่วัดท่าศรีไคล (ปัจจุบันคือ วัดป่าอุดมสังฆกิจ ตำบลธาตุ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) ในครั้งแรก ชาวบ้านจากท่าศรีไคลไปได้กราบขอจากหลวงปู่เนย ที่วัดโนนแสนคำ หลวงปู่เนยท่านอนุญาตแต่หลวงปู่หนูเมยได้บ่ายเบี่ยง แม้ว่าในขณะนั้นพรรษาพอสมควรก็ตามทีแต่ไม่กล้ารับนิมนต์ แต่พ่อใหญ่สา พ่อใหญ่หอมที่ย้ายมาจากบ้านโนนคำ อำเภอเจริญศิลป์ได้ปรึกษาหารือกับพ่อกำนันคำพา พ่อเดี่ยง พ่อหนูแดง พ่อมหาสุมนและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน จึงได้พร้อมใจกันไปขอนิมนต์กับหลวงปู่เนยอีกครั้ง
ด้วยเหตุนั้นเอง จึงทำให้หลวงปู่หนูเมยไม่สามารถจะบ่ายเบี่ยงหรือเลี่ยงได้อีก จึงได้รับอาราธนานิมนต์ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าท่าศรีไคล เมื่อได้เดินทางไปถึงวัดป่าท่าศรีไคล สภาพทั่วไปก็ยังไม่เป็นรูปร่างของวัดแต่อย่างใด ด้วยการที่หลวงปู่หนูเมยท่านไม่ค่อยได้พำนักอยู่ที่ไหนนาน มักจะไปปฏิบัติกับพ่อแม่ครูอาจารย์ต่างๆ เสียมากกว่า เมื่อได้รับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสแล้ว จึงได้ตั้งใจว่าจะลองดู และได้เริ่มพัฒนาวัดนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พรรษาที่ ๑๖ – ๒๓ (พ.ศ.๒๕๒๑ – ๒๕๒๘) จำพรรษาที่ วัดป่าท่าศรีไคล (วัดป่าอุดมสังฆกิจ) ตำบลธาตุ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๒๔ (พ.ศ.๒๕๒๙) จำพรรษา วัดอเนกธรรมคุณ บ้านคำพอก เนื่องจากอาจารย์บุญรอดมรณภาพ (สามเณรบุญรอดที่เคยอยู่กับหลวงปู่ทองผุด ญาณวโร)
พรรษาที่ ๒๕ (พ.ศ.๒๕๓๐) จำพรรษาที่วัดป่าท่าศรีไคล เนื่องจากมีโยมส่งข่าวไปแจ้งให้ทราบว่า ต้นไม้ล้มทับกุฎิหลังเล็ก ไม่มีกุญแจเปิดกุฏิจึงไม่สามารถเข้าไปภายในได้ จึงได้เดินทางกลับมาที่วัดป่าท่าศรีไคล เมื่อแล้วเสร็จ ชาวบ้านนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าท่าศรีไคล ไม่ยอมให้เดินทางกลับวัดอเนกธรรมคุณ ในกลางพรรษาปี ยายแก่พร้อมกับลูกชายจากวัดป่าบ้านเลื่อม เดินทางมาพบ พร้อมกับแจ้งว่า วัดป่าบ้านเลื่อมขาดครูบาอาจารย์ ขอนิมนต์กลับไปที่วัดฯ เช่นเดิม หลวงปู่ฯ จึงได้บอกว่า หลังออกพรรษาจะเดินทางไปที่วัดป่าบ้านเลื่อม
พรรษาที่ ๒๖ (พ.ศ.๒๕๓๑) จำพรรษาที่วัดป่าบ้านเลื่อม ตำบลบ้านเลื่อม อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๒๗ (พ.ศ.๒๕๓๒) ถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๑ จะเป็นพรรษาที่ ๕๖) จำพรรษาที่วัดป่าอุดมสังฆกิจ (วัดป่าท่าศรีไคล ตำบลธาตุ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร) หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าท่าศรีไคล ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๓๗
◎ กิจวัตรประจําวัน
หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ปฏิบัติกิจวัตรของสงฆ์มาตั้งแต่วัยเป็นพระหนุ่มจนย่างเข้าวัยชรา ด้วยการสวดมนต์ ทําวัตรเช้า ทําวัตรเย็น บิณฑบาต เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ถือปฏิบัติทุกวัน ตามร่างกายสังขาร และพักผ่อนวันละ ๒ ชั่วโมง แม้ปัจจุบันนี้ หลวงปู่ก็ยังดํารงกิจของสงฆ์และออกบิณฑบาตทุกวันไม่เคยขาด และถือวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ปัจจัยที่มีคณะศรัทธาญาติโยมถวายนั้น ท่านมอบหมายให้โยมอุปัฏฐากเป็นผู้ดูแล
หลวงปู่จะตื่นตั้งแต่ตี ๓ – ๔ จากนั้นจะสวดมนต์ทําวัตรเช้าและทําสมาธิภาวนา เมื่อถึงเวลาเช้าท่านก็จะออกบิณฑบาต เทศน์โปรดญาติโยมจนถึงเวลาอันสมควร ท่านก็จะกลับไปพักที่กุฏิ ในระหว่างเดินกลับกุฏิ บางครั้งท่านก็จะกวาดตาด (กวาดใบไม้) ครั้งละ ๑ – ๒ ชั่วโมง หรือกวาดจนกระทั่งเที่ยงแล้วแต่โอกาส ท่านจะใช้ธรรมะพิจารณาอย่างละเอียดแยบคาย จะกวาดใบไม้กองไว้บนถนนทางเดิน จากนั้นใช้มือทั้งสองข้างโกยใบไม้ และนําไปทิ้ง ในป่าใต้โคนไม้ให้เป็นปุ๋ยเพื่อรักษาธรรมชาติ ท่านสอนพระเณรว่า หากกวาดลงข้างทาง ใบไม้จะขวางทางน้ำให้อุดตัน การทําเช่นนี้เพื่อให้พระเณรรักษาข้อวัตร เป็นธรรมะจากใบไม้ ให้มีจิตใจมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่ต้องวุ่นกับใคร
หากวันใดไม่มีญาติโยมมากราบนมัสการ ท่านก็จะเข้าพักกลางวันประมาณบ่ายโมง บางครั้งท่านกวาดตาดตั้งแต่บ่ายจนถึง ๔ โมงเย็น และเข้าทางจงกรมประมาณ ๕ – ๖ โมงเย็น หลังจากนั้น ประมาณ ๑ ทุ่มก็จะสวดมนต์ทําวัตรเย็น และทําสมาธิภาวนาจนดึก หลวงปู่หนูเมย เคยเล่าว่า ท่านมักจะสวดบทชยันโต ๙ บท ท่านบอกว่า มีความหมายดีเป็นสวัสดิมงคล บางวันยามบ่าย หากพักจากการกวาดตาด หลวงปู่จะนั่งเหลาไม้ไผ่ตลอดวัน ไม้ไผ่ยาวประมาณศอก นําไปปักไว้ข้างถนนในวัด เพื่อป้องกันไม่ให้ใบไม้ร่วงไปขวางทางน้ำ ท่านบอกว่า ทําให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ ในเรื่องการขบฉัน หลวงปู่จะฉันน้อยแต่ฉันได้ทุกอย่าง ในระยะหลัง ท่านจะหลีกเลี่ยงการฉันเนื้อหมู เนื้อวัว หลวงปู่ฉันน้ำปานะได้ทุกประเภท
ในช่วงตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ธาตุขันธ์หลวงปู่เนย สมจิตฺโต เริ่มอ่อนแอลง หลวงปู่หนูเมยมักจะได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติกิจสงฆ์แทนเสมอๆ จวบจนวาระแห่งการละสังขารของหลวงปู่เนย ในวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าหลวงปู่เนย จะละสังขารไปแล้วก็ตาม หลวงปู่หนูเมย สิริธโร ยังคงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้แก่คณะสงฆ์วัดโนนแสนคํา วัดสาขาต่างๆ และศิษยานุศิษย์ เสมอๆ
◎ ธรรมะหลวงปู่หนูเมย สิริธโร (แสดงไว้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖)
“ช่วงที่ร่างกายแข็งแรง อารมณ์ก็แข็งแรง มีการปฏิบัติโดยการอดข้าวก็ทํา อดน้ำอดทุกอย่าง ช่วงนั้นปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขนาดว่าอดข้าว อดน้ำ แต่ใจมันก็ยังรุนแรง ฮอร์โมนร่างกายมันก็ผลิต นี่คือธรรมชาติของคน สาเหตุนี้เองคนจึงบวชยาก ถ้าไม่มีความรัก มันก็มีความใคร่ มันไปด้วยกัน เคยได้ยินไหมข่าวพระกับสีกา หลวงปู่ยึดหลักปฏิบัติคือ ถ้าอดข้าวก็อย่าไปอยู่ใกล้ตู้กับข้าว น้ำผึ้งใกล้มดไหนเลยจะอดได้ อายุมากไม่เลือกอายุน้อยไม่เลือก เพราะเหตุนั้น ที่ลับหูพูดกันไม่ได้ยิน ที่ลับตาอยู่ในห้องสองต่อสอง หลักคําสอนคือว่า สองต่อสองกับสีกาแม้แต่ราตรีเดียวไม่ได้เด็ดขาด ต้องศึกษาธรรมวินัยอย่างละเอียด ถ้าไม่เคารพปฏิบัติจริงๆ เป็นไปได้ยาก การใช้หลักกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ก็เลือกให้ตรงกับจริตของเรา แต่ครูบาอาจารย์ว่า กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ก็เป็นน้องอานาปานสติ คือการดูลมหายใจ พูดง่ายๆ คือไม่ให้จิตของเราว่าง พอจิตว่างมันก็จะหาอะไรทํา แก้โดยไม่ให้ว่างคือหางานให้ทํา งานนอกก็ทํา(ภายในกาย) งานในก็ทํา(จิต) ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะใช้การเดินจงกรม ปัญญาจะเกิดดี เวลาเราศึกษาตํารา ก็ดูให้เป็นหลัก แต่ฝึกจริงๆ เราก็ดูลมหายใจนี่แหละ
ลองดู คําว่าศาสดาเอกของโลกแตกต่างจากคําว่า ศาสตราจารย์ เทวโลก มนุษย์โลก พรหมโลก ยอมรับพระพุทธองค์ ศาสตราจารย์บางคนก็ไม่นับถือนะ ถ้าทําในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ดีไม่เต็มร้อย สังเกตดูว่าครูบาอาจารย์บางองค์ไม่ได้เรียนจบสูง แต่สูงในด้านจิตใจ วิชาอยู่ภายนอก พูดจริงๆ คือ พุทธะอยู่ไหน พุทธะ คือผู้รู้ ถ้าเราไม่รู้ตรงนี้ หลักวิชาการที่เราศึกษามาเป็นภายนอก ตัวของจริงอยู่กับเรา หนาวใครรู้ ต้นเสารู้ ถูกไหม ร้อน เสาต้นนี้รู้ นอกจากตัวเรา นี่แหละของจริง พุทโธก็อยู่นี่แหละ จิตก็อยู่นี่แหละเพราะฉะนั้นเราอย่าไปโมเม หลักวิชาการทั้งหลาย อยู่ข้างนอกให้หมด เปรียบเหมือนต้นไม้ เปลือก กระพี้ แก่น แก่นคือจิตของเรา ท่านผู้รู้ เราเรียนวิชาไหน ถ้าเราไม่เอาความรู้ของเราไปจับหลักวิชาก็ไม่ได้ประโยชน์ ถูกไหมเอ่ย
วิชาคือ เปลือกนอก แก่นคือจิต เหนือทุกสิ่งทุกอย่างในโลก น่าเสียดาย บางคนเรียนจบถึงปริญญาตรี ก็ผูกคอตาย น่าเสียดาย หมายถึงว่า จิตต่ำเหลือเกิน แม้แต่สัตว์ยังไม่คิดจะทําเลย น่าอาย วัดกันที่ใจ ฝ่ายครูบาอาจารย์ ยกตัวอย่าง เหมือนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ในหลวงพระราชินีเสด็จมากราบ ตอนปี พ.ศ.๒๕๑๘ หลวงปู่ก็ไปรับเสด็จอยู่ถ้ำพวง วัดเจ้าคุณวัน อุตฺตโม ในหลวงพระราชินีก็เสด็จมา จากนั้นท่านก็เสด็จ หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ ถ้ำภูทอก
การไปกราบคาราวะครูบาอาจารย์ หมายถึงการไปแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ แล้วก็ยังได้พาญาติโยมไปดู ถ้าทางโลกก็คือไปทัศนศึกษา ทางธรรมจะไม่เหมือน ถ้าคนไหนสนใจ ก็จะเห็น แต่ถ้าคนไม่สนใจก็สักแต่ว่าไป จะไม่เห็น ไม่ได้อะไร แล้วการที่พาไปคือพาไปดูว่าวัดของเรายังไม่สมบูรณ์ จุดอ่อนของวัดเราคืออะไร ก็กลับมาคุยกันก็จะรู้เรื่อง คือเห็นภาพ ถ้าไม่ได้พาไปเห็น ก็จะคุยกันเข้าใจยาก..”
คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติหลวงปู่หนูเมย สิริธโร วัดป่าท่าศรีไคล อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ; จัดพิมพ์โดยศิษยานุศิษย์ ; พิมพ์เมื่อ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน