วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ วัดป่าภูมิพิทักษ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ

วัดป่าภูมิพิทักษ์
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ

หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ เกิดวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๒ ณ.บ้านบึงโน ต.บ้านหัน อ.บ้านหัน จ.สกลนคร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร)

บิดาชื่อ นายบุญ ไพบูลย์ มารดาชื่อ นางเคน ไพบูลย์ มีบุตรร่วมกัน ๖ คน

๑.หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ (ไพบูลย์)

๒.นางเล็ก ไพบูลย์ (เสียชีวิตแล้ว)

๓.นางสอง ไพบูลย์ (เสียชีวิตแล้ว)

๔.นางทอง ไพบูลย์ (เสียชีวิตแล้ว)

๕.น้องชาย (ไม่ทราบชื่อ) เสียชีวิตแล้ว

๖.น้องชาย (ไม่ทราบชื่อ)เสียชีวิตแล้ว

เมื่ออายุ ๗ ปีท่านได้เข้าเรียนโรงเรียนวัดศรีชมภู บ้านบึงโน ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้เล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ ในปีพ.ศ.๒๔๘๓ ใช้เรียนเรียนอยู่ ๕ ปี ช้ากว่าเด็กไว้เดียวกัน ๑ ปี เพราะไม่ได้ไปสอบเลื่อนชั้น จึงได้เรียน ๕ ปี เมื่อจบโรงเรียนวัดศรีชมภู

ท่านมีอายุ ๑๑ ปี ในปี ๒๔๘๓ หลวงปู่ธรรม เคยเป็นสามี พี่สาวมารดาหลวงปู่ เคยแต่งงานกับพี่สาวมารดาหลวงปู่แต่งไม่มีลูก จึงเลี้ยงดูหลวงปู่ ต่อมาได้ทราบประวัติ หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ว่าท่านสละทรัพย์สมบัติ ชวนภรรยาออกบวช หลวงปู่ธรรมจึงได้ชวนภรรยาที่เป็นพี่สาวมารดาหลวงปู่ออกบวชเหมือนกัน

หลวงปู่ธรรมได้มารับเด็กชายหนูเพชร ไพบูลย์ ไปอยู่ด้วยที่วัดผดุงธรรม บ้านดงเย็น ต.ดงเย็น อ.บ้านดุง จ.สกลนคร (ซึ่งเป็นวัดแรกที่องค์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญได้สร้างขึ้น ก่อนจะสร้าวัดประสิทธิธรรม) ในปี ๒๔๘๓-๒๔๘๗ องค์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ท่านยังไปวิเวกในเขตภาคเหนือ และเดินทางกับมาภาคอีสานในปี พ.ศ.๒๔๘๗

เข้าร่มผ้ากาสาวพัสตร์ครั้งแรกอายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดชัยมงคลบ้านง่อน ต.โพนสูง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนครในปี.พ.ศ.๒๔๘๔ โดยมีพระอุปัชฌาย์ฮวด สุมโน เป็นพระอุปัชฌาย์

พรรษาที่ ๑ ได้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีพ.ศ.๒๔๘๔

พรรษาที่ ๒ ได้สอบนักธรรมชั้นโทไม่ได้ในปี พ.ศ.๒๔๘๕

พรรรษาที่ ๓ ได้สอบนักธรรมชั้นโทไม่ได้อีกในปีพ.ศ.๒๔๘๖

พรรษาที่ ๔ ได้สอบนักธรรมชั้นโทไม่ได้อีกในปี พ.ศ.๒๔๘๗

พรรษาที่ ๕ ได้สอบนักธรรมชั้นโทไม่ได้อีกในปีพ.ศ.๒๔๘๘

รวมระยะเวลาท่านสอบนักธรรมชั้นโทไม่ได้อยู่ ๔ ปีท่านจึงเลิกสอบ

พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๘๙ ระหว่างปี ๒๕๘๗-๒๔๘๙ สามเณรหนูเพชร ไพบูลย์ ได้มีโอกาสศึกษาธรรมกับองค์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ศิษยในองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่พรหม ถือเป็นศิษย์ในหลวงปู่มั่นที่สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่หลวงปู่มั่นชมเชย เนื่องจากปี ๒๔๘๗ องค์หลวงปู่พรหม กลับภาคอีสานต่อมาไม่นานปี ๒๔๘๙ บิดาหลวงปู่ได้ป่วยไม่มีใครทำนาท่านจึงได้ตัดสินใจลาสิกขาออกไปทำนาเพื่อเลี้ยงน้องๆ ตามประเพณีที่ท่านเป็นลูกชายคนเดียวและคนโต

หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ

เข้าร่มผ้ากาสาวพัสตร์ครั้งที่สอง ต่อมาอายุ ๒๐ ย่าง ๒๑ ปี ท่านได้ชอบสาวในหมู่บ้านเดียวกัน เลยขอมารดาอยากแต่งงาน แต่มารดาไม่อนุญาติ พร้อมขอให้ท่านอุปสมบทให้มารดาก่อนเพราะท่านเป็นลูกชายคนเดียวและคนโต ท่านจึงได้ตกลงจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ พระอาจารย์ลี ฐิตธัมโม ณ. วัดศรีชมภู เพื่อให้พระอยู่ในสำนักสอนขานนาค (คำขออุปสมบท) ขณะท่านเข้านาคเป็นผ้าขาวอยู่นั้นผู้สอนคำอุปสมบทให้ท่าน คือ หลวงปู่อ่อนศรี ฐานวโร ขณะนั้นทางวัดศรีชมภู ชาวบ้านและครูบาอาจารย์ กำลังร่วมกันสร้างโบสถ์ขึ้น โดยมี พระอาจารย์ลี ฐิตธัมโม (พระครูฐิตธรรมญาณ) เป็นหัวหน้า พระอาจารย์มหาเถื่อน อุชุกโร (พระครูอดุลสังฆกิจ) , พระอาจารย์คำฟอง เขมจาโร (พระครูพิพิธธรมสุนทร) พระอาจารย์โง่น โสรโย พระอาจารย์สมภาร ปัญญาวโร (พระครูปัญญาวรากร) พระอาจารย์อ่อนศรี ฐานวโร พระอาจารย์อุดม ญาณรโต (พระครูอุดมศีลวัฒน์) จนเสร็จสมบูรณ์ จึงทำการผูกพัทธสีมาพร้อมทั้งอุปสมบทพระภิกษุ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นของขวัญแก่ชาวบ้าน นาคผ้าขาวหนูเพชร ได้รับการอุปสมบทหลังจากผ่านการฝึกหัดท่องคำขออุปสมบท พร้อมข้อวัตรปฏิบัติสมควรแก่การอุปสมบท อุปสมบทในวันจันทร์ที่ ๓๐ เดือนมกราคม ๒๔๙๓ เวลาประมาณ ๐๔ฺ.๐๐น เริ่มปลงผมโกนผมเวลา ๐๒.๐๐น. ณ.อุโบสถวัดศรีชมภู บ้านบึงโน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เช้าวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๙๓ เป็นวันถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ณ.วัดป่าสุทธาวาส อ.เมืองจ.สกลนครโดยมี

๑.พระครูพุฒิวรคม (พุฒิ ยโส) เป็นพระอุปัชฌาย์

๒.พระอาจารย์คำฟอง เขมจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (พระครูพิพิธธรรมสุนทร )

๓.พระอาจารย์ลี ฐิตธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์(พระครูฐิติธรรมญาณ)มีนาคผ้าขาวร่วมอุปสมบทจำนวณ ๑๒ ตัว (คน) จาก ๔ หมู่บ้าน

หลังจากเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้ว ท่านได้ไปเรียนกัมมัฏฐานกับหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของพระอาจารย์มั่น อยู่ปฏิบัติพระกัมมัฏฐานกับหลวงปู่พรหมระยะหนึ่ง หลังจากนั้นท่านได้ไปเดินธุดงค์กับหลวงปู่ลี ฐิตธัมโม วัดเหวลึก อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ถึงปี พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงปู่หนูเพชรได้มาเจอวัดโบราณที่เป็นวัดร้าง ได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดป่าภูมิพิทักษ์” ท่านจึงมาจำพรรษาปฏิบัติธรรมจนถึงปัจจุบัน

หลวงปู่หนูเพชร เป็นพระเถระที่วัตรปฏิบัติเคร่งครัด เป็นพระชอบเก็บตัวเงียบ ซึ่งในขณะนั้น คณะศิษย์สายชลบุรีได้รู้จักจากการแนะนำของหลวงปู่อ่อนศรี ฐานวโร วัดถ้ำประทุน จ.ชลบุรี เนื่องจากหลวงปู่หนูเพชรได้เคยปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่อ่อนศรี หลวงปู่อ่อนศรี ยังพูดบอกอีกด้วยว่า

“หลวงปู่หนูเพชร ท่านเก่งกว่าฉันอีก”

ก่อนที่หลวงปู่อ่อนศรี ท่านจะมรณภาพ ท่านเคยสั่งไว้ให้คณะศิษย์ไปกราบหลวงปู่หนูเพชร

วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๓ หลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา

เรื่องเล่าสมัยหลวงปู่มั่น หลวงปู่พรหม
โยม : หากจิตใจเราวอกแวกในขณะปฏิบัติธรรมภาวนาล่ะครับหลวงปู่ เราควรทำอย่างไรครับ ?
หลวงปู่ : (หัวเราะ)เราต้องตั้งมั่นในไตรสรณคมณ์แล้ว ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นให้นั่งนิ่ง งูเงี้ยวเขี้ยวขอหากเรานิ่งมันจะไม่กัด หากเราขยับมันกัดทันที เพราะฉะนั้นให้ยึดเอาไตรสรณคมณ์เป็นที่ตั้ง ถ้าเราไม่เชื่อมั่นในไตรสรณคมณ์แล้ว นั่นหมายถึงเป็นมิฐฉาสมาธิ สิ่งที่ยากที่สุดคือการฝึกตัวเอง ที่เรียน “อัตตาหิ อัตตาอุตโม” การฝึกตนเองนี่แลเป็นการฝึกได้ยาก, กินข้าวกินคำหนึ่งก็ให้รู้ว่าหนึ่งคำ สองคำก็รู้ว่าสองคำ พร้อมทั้งนึกถึงปู่ย่าตายาย สรรพสัตว์ต่างๆที่เรากินเข้าไป ให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศลไปด้วย
…หากใครทำได้อย่างนี้ โอโฮ้…ไม่ใช่ธรรมดา!!

เรียกว่าจิตมีสมาธิตั้งมั่นมีปัญญาตั้งมั่นในกองสังขารก็จะเห็นอยู่ในตัวของเรา จะรู้ว่ามูตรคูถ(คืออุจจาระ ปัสสาวะ เสมหะ ขี้มูก เป็นต้น)ที่อยู่ในตัวเราถึงกับไม่เหม็น ขนาดนั้นล่ะ มันมีและเกิดขึ้นได้
…เมือเราฝึกถึงที่สุดขี้ในตัวเรานี้แหละมันจะไม่เหม็น ให้เห็นตัวนั้นแล้วให้ดูให้เห็นให้จิตสงบ สุขใดไม่เท่ากับสุขที่จิตสงบ ถ้าเห็นร่างกายของเราแล้วของคนอื่นก็จะเหมือนของเรา ถึงให้พิจารณากาย เรียกว่า”กายคตา”ให้เห็นเป็นอารมณ์. นั่งนอนยืนเดินให้มีสติติดแนบ หากผู้ใดทำได้ปฏิบัติได้ถือว่าสุดยอด…ลองเฮ็ดเบิ่งเด้อ เฮ็ดลองเบิ่งโลด (หัวเราะ) หากตาในเราเห็นตามความเป็นจริงแล้วจะเกิดความเบื่อหน่าย. ภาษาธรรมเรียกว่า นิพพิทา เบื่อหน่ายในร่างกายของเรา

สมัยก่อนหลวงปู่พรหม จิรปุณโญ
วัดป่าดงเย็น ตีตะปูผิดขณะสร้างกุฎี ท่านตีตะปูพลาดไปโดนหัวแม่มือแตกถึงขนาดเลือดสาด หลวงปู่พรหมก็ยังตีตะปูต่อไปขณะที่เลือดก็ยังไหลอยู่ หมู่พระต้องจับมือท่านมาห้ามเลือดและพันแผลให้ ถ้างั้นคงจะตีต่อไปทั้งที่เลือดยังไหลอยู่ล่ะ นั้นแสดงว่าท่านสามารถแยกจิตออกจากกายได้ เมือท่านมรณภาพอัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุ ถือว่าเป็นอริยบุคคลแล้ว จิตพ้นจากมูลเดิมแล้ว ไม่มีความยึดความถือในร่างกาย จิตสบายไปแล้ว ร่างกายเป็นอย่างไรไม่สนใจ นั่นคือสิ่งที่เป็นไปได้

หลวงปู่มั่นนี่ท่านก็ไม่ธรรมดา สำเร็จอภิญญาน ๖ เห็นหมดทุกอย่าง ตาทิพย์ หูทิพย์ กลางคืนก็มองเห็น (ในตอนนั้น)เมือครั้งที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่หนองผืนนาใน. หลวงตาหัดเคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านเล่าเรื่องนี้ให้หลวงปู่ฟังตอนหลวงปู่เป็นพระหนุ่มอยู่ว่า…หลวงตาหัดอยากจะลองดูว่าหลวงปู่มั่น จะมีหูทิพย์ตาทิพย์จริงหรือไม่ หลวงปู่มั่นท่านนั่งเทศน์ตอนกลางคืนบนศาลาโดยมีพระเณรและญาติโยมนั่งฟังหลวงปู่มั่นเต็มศาลา หลวงตาหัดอยากลองของได้ย่องเข้ามาฟังเทศน์ใต้ถุนศาลาที่เสาด้านล่าง ตรงกับธรรมมาสน์หลวงปู่มั่นเทศน์พอดี เทศน์ไปเทศน์มาหลวงปู่มั่นหยุดเทศน์และบอกว่า…..หัด หัด ไปนั่งหยังอยู่ใต้ตะหล่างนั่น(ไปนั่งอยู่ใต้ถุนทำไม)…..หลวงตาหัดตกใจ หัวใจหล่นไปอยู่ตาตุ่ม แข้งขาอ่อนก้าวไปไหนไม่ถูก ยังกะไส้เดือนอ่อนปวกเปียกไปหมด เหมือนกับว่าหลวงปู่มั่นท่านค่อยดูอยู่ยังไงยังงั้น พอรวบรวมกำลังทั้งหมดค่อยๆคลานออกจากใต้ถุนศาลา แล้วเดินหมดแรงกลับกุฎีแทบไม่ไหว ตอนเช้ามาหลวงปู่มั่นท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่หลวงตาหัดอายหลวงปู่มั่นแทบแทรกแผ่นดินหนี นั้นคือหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ชั้นยอดในยุคปัจจุบัน (หลวงปู่เล่าไปหัวเราะไป)


โอวาทคำสอนหลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ วัดป่าภูมิพิทักษ์ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
คัดลอกจากหนังสือประวัติหลวงปู่หนูเพชร ปัญญาวุโธ เมือปี ๕๗