ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
วัดป่าเขาน้อย
ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
“พระอริยเจ้าผู้หลุดพ้นด้วยอิริยาบถเดิน”
พระเดชพระคุณพระโพธิธรรมาจารย์เถร (สุวัจน์ สุวโจ) พระอริยเจ้าผู้เป็นศิษย์สายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อีกรูปหนึ่ง เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์มั่น ครั้งแรก ได้รับโอวาทธรรมจากท่านว่า
“คําสอนของ พระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเล่น ถ้าทําเล่นจะไม่เห็นของจริง”
ท่านเป็นศิษย์ต้นของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้รับการยกย่องจากหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ว่า เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง
ท่านเป็นพระที่รักสันโดษ โดดเดี่ยว ปลีกวิเวก มีจิตฝังลึกลงในธรรมของพระตถาคตเจ้าด้วยศรัทธา ที่มีเหตุผลมั่นคง มีความปรารถนาจะบรรพชาและอุปสมบท ตั้งแต่เยาว์วัย
อุปนิสัยของท่านชอบท่องเที่ยวจาริกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศและต่างประเทศ ไม่ยึดติดในหมู่คณะ ไม่ติดสถานที่ ไม่คลุกคลีกับใครหรือผู้ใด เปรียบเหมือนนกตัวน้อย ๆ โผปีกทั้งสองทะยานขึ้นสู่โลกกว้าง ไม่อาลัยกับสิ่งใดๆ
ท่านจึงเป็นพระประเภท “เอเกโก ว” ชอบเที่ยวไปผู้เดียว ปรารถนารสแห่งวิเวกอันมีวิมุตติธรรม เป็นเครื่องดื่มด่ำ บางปีท่านเดินธุดงค์ถึง ๒ รอบ จากจังหวัดสกลนครไปทางจังหวัดอุบลฯ ลงไปทางจังหวัดนครราชสีมา แล้วก็ย้อนกลับมาทางจังหวัดอุดรธานี แล้วเข้าสู่สกลนครตามเดิม
บางครั้งท่านเป็นผู้นําพระกรรมฐานรุ่นน้องออกธุดงค์ เช่น คราวที่ถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นเสร็จ พระกรรมฐานระส่ําระสายขาดที่พึ่งท่านจึงเป็นผู้นําออกธุดงค์ไปทางเขตอําเภอน้ําโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระอาจารย์วัน อุตตโม , พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ , พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร , พระอาจารย์คําพอง ติสโส , พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต , พระอาจารย์ประยูร เป็นผู้ติดตาม
ท่านถึงที่สุดแห่งธรรมในระหว่างปี ๒๕๑๕ – ๒๕๒๔ ที่ ถ้ําศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร ด้วยอิริยาบถเดิน ขณะกลับกุฏิ
ท่านเล่าว่า “คําเทศน์ของหลวงปู่ฝั้นและหลวงตามหาบัว เป็นหัวใจอันสําคัญที่นําท่านไปสู่อุดมธรรม”
ท่านได้ทําประโยชน์ตนถึงที่สุดแล้ว ก็ยังทําประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ท่านได้นําพระธรรมที่บรรลุรู้ไปประกาศกังวานไกลถึงต่างแดน เป็นที่เลื่อมใสของชาวต่างชาติ
ท่านเป็นพระประเภท “ปาสาณเลขูปโม” คือ สลักความดีลงบนแผ่นหินคือหัวใจอันแข็งแกร่งไม่มีใครสามารถลบล้างทิ้งไปได้ ถูกจารึกตลอดอนันตกาล
เดิมท่านชื่อ “กุ้ง” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ บ้านตากูก ตําบลตากูก อําเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
เป็นบุตรของ นายบุตร และนางกิ่ง ทองศรี มีพี่น้องรวมกัน ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓
ในวัยหนุ่มท่านมีอาชีพเป็นช่างทอง วันหนึ่งท่านนั่งอยู่กลางทุ่งนาเห็นพระธุดงค์เดินผ่านมา เมื่อได้สนทนาเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า
“กาลข้างหน้าจะต้องออกบวชเป็นพระธุดงค์”
อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ปลงธรรมสังเวชในมนุษยเป็น ๆ คือ มีผู้หญิงท้องแก่คลอดก่อนกําหนดไม่มีใครอยู่ในหมู่บ้าน เธอร้องขอความช่วยเหลือ น้ําคร่ําไหลออกเต็มไปหมด ท่านไปเห็นเช่นนั้นจึงได้เข้าไปช่วยเหลือ ช่วยจับ ช่วยดึง ช่วยบอกให้เบ่ง ๆ ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นตั้งแต่วันเกิดมาประจักษ์แก่ใจมากในวันนั้น สงสารก็สงสาร สังเวชก็สังเวช ทั้งเลือดทั้งคนปะปนกันออกมา ความเกิดเป็นทุกข์ประจักษ์ใจแบบไม่มีวันลืม เกิดความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายขึ้นมาทันใด ได้กระทําไว้ในใจว่า
“สักวันหนึ่งจะต้องออกบวชอย่างแน่นอน”
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ อายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตําบลตากูก อําเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายมหานิกายโดยมี พระอาจารย์อุเทน เป็น พระบรรพชาจารย์ บวชได้ ๑ ปี ก็ลาสิกขามาช่วยบิดาทํางาน
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท เป็น พระฝ่ายมหานิกายที่วัดกระพุมรัตน์ ตําบลตากูก อําเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พระครูธรรมทัศน์พิมล (ดัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อุเทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังจากนั้นท่านได้เดินทางแสวงหาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงได้พบ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธารวม อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เกิดความเลื่อมใสปฏิปทาของท่าน พระอาจารย์ฝั้นเป็นยิ่งนักจึงขอญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดสุทธจินดา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมธร (ทองดี) เป็นพระอุเทศาจารย์ ได้รับ ฉายาว่า “สุวโจ” แปลว่า “ผู้ว่ากล่าวตักเตือนง่าย”
เมื่อญัตติแล้วท่านได้อยู่จําพรรษาและศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล หลังจากนั้นได้ติดตามพระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก ออกธุดงค์ไป ทางพระธาตุพนม
ปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ จําพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ธุดงค์ไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้นเทือกเขาภูพาน เข้าพักที่วัดบ้านหนองผือ กราบนมัสการท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
ท่านพระอาจารย์มั่นได้ให้โอวาทว่า “อาจารย์ของเธอคือ พระอาจารย์ฝั้น ตอนนี้ก็แก่มากแล้ว สมควรที่เธอจะต้องทดแทนบุญคุณ เธอไม่ต้องมาอยู่กับเราที่นี่ ให้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ฝั้น ศึกษาและปฏิบัติกับท่านฝั้นก็เป็นที่เพียงพอแล้ว”
หลังจากนั้นท่านได้ติดตามอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จนกระทั่งนิพพาน
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ – ๒๕๒๖ ท่านเดินทางไปเผยแผ่ธรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามคํานิมนต์ มีผู้ศรัทธาซื้อที่ดินถวายสร้างวัดวอชิงตันพุทธวนาราม เลขที่ 4401 south 360th street Aubrn WA 98001 จํานวน ๗ เอเคอร์ (๑๗.๕ ไร่)
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ สร้างวัดป่าธรรมชาติที่เมืองลาพวนเต้ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เนื้อที่ ๕ เอเคอร์
ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐-๒๕๓๕ สร้างวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชาวอเมริกันศรัทธาซื้อ ที่ดินจํานวน 50 เอเคอร์ (๑๕๐ ไร่) ราคา ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท ถวายเพื่อสร้างเป็นวัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐ แคลิฟอร์เนีย
ปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ท่านอยู่จําพรรษาที่วัดป่าเขาน้อย ตําบลเสม็ด อําเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ท่านละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พรรษา ๖๑