วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม วัดป่าหนองไผ่ อ.เมือง จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

วัดป่าหนองไผ่
ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม รับภาระบริหารดูแลรักษาวัดป่าหนองไผ่นี้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ โดยเหตุที่วัดป่าหนองไผ่ ถือวัตรปฏิบัติตามแบบปฏิปทาพ่อแม่ครูอาจารย์องค์พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ดังนั้นพระภิกษุสามเณรจึงตั้งใจรักษาศีล ข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย นอกจากนี้ยังได้อบรมสั่งสอนชาวบ้าน ให้มีความประพฤติดี ทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็งและสุจริต ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ อบรมสั่งสอน ชาวบ้านให้ช่วยกันปลูกป่า รักษาธรรมชาติ เหตุนี้ผืนป่าบริเวณนั้นจึงยังคงสภาพสมบูรณ์เอาไว้ได้

ที่วัดป่าหนองไผ่นี้ ภายในวัดมีถ้ำแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่บำเพ็ญสมณธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์ ชื่อ “ถ้ำผาหัก” เป็นธรรมสถานเก่าแก่แห่งหนึ่ง นับเนื่องแต่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นองค์ปฐม ได้มาพักปฏิบัติภาวนาและอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๙ และตามด้วยพระอาจารย์ ผู้เป็นศิษย์องค์สำคัญอีกหลายรูป อาทิ เช่น หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร , หลวงปู่หล้า เขมปัตโต เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้สถานที่แห่งนี้ เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในหมู่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน ว่าเป็นสถานที่อันวิเวกเหมาะสมแก่การปฏิบัติภาวนา ทำให้มีพระธุดงค์มาพักเพื่อปฏิบัติธรรม และจำพรรษาอยู่เสมอ

◎ ชีวประวัติและปฏิปทา
ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ชาติกำเนิดท่านเป็นคนจังหวัดระยอง ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๒ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน พี่น้อง ๑๔ คน เนื่องจากบิดามารดา คือ นายบุ่งเลี้ยงและนางเซี้ยม แซ่จึง กำลังอยู่ในระหว่างก่อร่างสร้างฐานะ ช่วงปฐมวัย ด.ช.สุธรรม จึงได้มีโอกาสสัมผัสรสชาติ ของชีวิตที่ยากลำบาก แต่เต็มไปด้วยกำไรของชีวิต เพราะความไม่ร่ำรวยได้บ่มเพาะลักษณะนิสัยที่ต้องรู้จักอดทนทางกาย อดกลั้นทางจิตใจ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อวดดี ไม่ถือดี ความลำบาก สอนคนให้รู้จักขยันขันแข็ง รู้จักวิริยะอุตสาหะพากเพียร รู้จักประหยัดอดออม พร้อมๆ กับรู้จักที่จะมีน้ำใจ เห็นใจผู้อื่นที่มีความทุกข์ร้อน เพราะต่างซาบซึ้งรสชาดความทุกข์ยากขาดแคลนได้อย่างประจักษ์ใจมาแล้ว

◎ “ภาวะผู้นำโดยธรรมชาติ”
โดยเหตุที่บุตรคนโตเป็นหญิง ท่านพระอาจารย์ในวัยเด็ก จึงต้องทำหน้าที่เป็น พี่ชายคนโตของน้อง ๆ ทั้ง ๑๒ คน โดยมิได้จงใจจะฝึกหัด การที่ท่านสำนึก ในความเป็นพี่ใหญ่ มีความรักความเมตตาต่อน้องๆ ช่วยเหลือดูแลน้องๆ ตามกำลังของท่าน ตามกำลังของท่าน กิจหน้าที่การกระทำต่าง ๆ ต่อน้อง ๆ นี่เอง จึงเป็นการสั่งสมความเป็น “ผู้นำ” ให้แก่ท่านโดยอัตโนมัติอย่างเป็นธรรมชาติ ซึมซาบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้นจะเห็นได้จากในปัจจุบัน บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายของท่าน ต่างได้มีความรู้สึกที่เด่นชัด ตรงกันประการหนึ่งว่า ท่านพระอาจารย์ มีเมตตาเอื้อเฟื้อสงเคราะห์เอาใจใส่จริงใจต่อศิษย์ หรือดุจดังพี่ชายใหญ่ให้ความอนุเคราะห์ ห่วงใยคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่น้อง ๆ ทุกคนโดยเสมอหน้ากัน

◎ “สู่ร่มกาสาวพัตร์ ”
เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ ได้อุปสมบทตามความปรารถนา ณ วัดตรีรัตนาราม อ.เมือง จ.ระยอง โดยมีท่านพระครูประจักษ์ ตันตยาคม วัดคีรีภาวนาราม อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ วัดตรีรัตนาราม ๔ พรรษา เพื่อศึกษานักธรรม จนในที่สุดก็สอบผ่านได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ.๒๕๑๖

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

◎ “เร่งขวนขวายการศึกษา ใช้เวลาให้ถูกตามจังหวะของชีวิต ”
อย่างไรก็ตาม แม้ในเบื้องต้นท่านต้องศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติ เรียนนักธรรมชั้นต่าง ๆ ที่วัดตรีรัตนาราม แต่เมื่อถึงฤดูแล้งทุกปี ท่านจะต้องกราบลาครูบาอาจารย์ ขึ้นไปหาที่พักภาวนา บนดอยแม่ปั๋งกับท่านหลวงปู่แหวนบ้าง หรือบางทีก็ไปศึกษาแนวทางปฏิบัติกับท่านหลวงปู่สิม ณ วัดถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

◎ “มรสุมชีวิต ”
แม้วิถีชีวิตของท่าน จะแลเหมือนได้พ้นการเผชิญหน้ากับพายุมรสุมร้ายกลางท้องทะเลมหาสมุทรไปแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง “มรสุมชีวิต” ยังตามติดผู้คนไม่เลิกรา ในขณะที่ท่านกำลังซาบซึ้งกับชีวิตบรรพชิตอย่างดูดดื่มยิ่งๆขึ้นไปทุกๆวันทุกๆคืนคลื่นใต้น้ำก็กำลังก่อตัว เป็นมรสุมลูกใหญ่ พร้อมที่จะถาโถมใส่ท่าน เมื่อถึงกาลเวลาของมัน กล่าวคือ มีท่านลำพังเพียงผู้เดียว ที่กำลังบังเกิดความศรัทธาเพิ่มพูนในจิตใจในร่มเงาพระพุทธศาสนา แต่ว่าทั้งญาติพี่น้องทั้งในครอบครัวและญาติทางฝ่ายโยมมารดาที่สุพรรณบุรี ต่างตั้งหน้ารอคอย “ วันสึก ”ของท่านอย่างใจจดใจจ่อ ทุกครั้งที่ท่านได้มีโอกาสพบญาติพี่น้องก็จะได้รับคำถามรุกเร้าคาดคั้นเป็นประจำว่า เมื่อไรจะสึกๆ ”

◎ “โทรเลขด่วน ! ”
หลังจากที่ท่านสำเร็จนักธรรมเอกในพรรษาที่ ๔ แล้ว พอพรรษาที่ ๕ ท่านก็มุ่งหน้าสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังมากขึ้น ลังจากที่ได้ทดลองปฏิบัติเป็นครั้งคราว ในหน้าแล้งของทุกปีที่ผ่านมา ดังนั้นพรรษาที่ ๕ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ปฏิบัติกับท่านหลวงปู่สิม วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ การเจริญภาวนามีความก้าวหน้าตามลำดับ หลังออกพรรษาได้ไม่นาน ก็ได้รับโทรเลขด่วน ให้รีบลงไปที่สุพรรณบุรีทันที เพราะโยมยายป่วยหนัก อาการน่าวิตกมาก ต้องการพบพระหลานชายเป็นที่สุด ท่านจึงได้เข้ากราบลาครูบาอาจารย์และเร่งรุดเดินทางทันที ด้วยเกรงว่าจะไม่ทันเวลาที่จะโปรดโยมยายเป็นครั้งสุดท้าย ! แม้อาจะถึงคราวที่ต้องสูญเสียญาติผู้ใหญ่ ผู้เป็นที่รักยิ่งของทุกคน แต่โอกาสนี้ก็เป็นโอกาสสำคัญ ที่จะทำให้ญาติพี่น้องทั้งตระกูล ได้ซาบซึ้งคุณค่าที่ท่านได้บวชมา !

◎ “โยมยาย ..… แข็งใจอีกนิด”
พระหนุ่มเดินทางอย่างเร่งรุดด้วยความทุลักทุเล เพราะการคมนาคมสมัยโน้นยังยากลำบาก แต่ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคมาขัดขวางดวงใจที่มุ่งมั่นได้ ขอเพียงโยมยายอดทนรอคอยอีกสักนิด พระหลานชายก็จะไปให้ได้เห็นหน้า สมใจที่ต่างฝ่ายต่างปรารถนาอย่างแน่นอน

◎ “ภารกิจอันสำคัญ เพื่อตอบแทนพระคุณ”
เมื่อเดินทางถึงบ้านโยมยายที่สุพรรณบุรี ท่านรู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยเพราะพบว่าญาติทุกคนจากทุกถิ่น มารวมตัวกันหมดอย่างพร้อมเพรียง “ฤาโยมยายจะจากไปเสียแล้วหรือนี่” ท่านได้แต่รำพึงในใจ ขณะที่สาวเท้าก้าวเข้าไปในห้องของโยมยาย หญิงชรานอนหลับตาหายใจอ่อนโรยริน อยู่ท่ามกลางหมู่ญาติที่แห่แหนรายล้อมอยู่รอบเตียง เป็นบรรยากาศที่เคร่งเครียด หดหู่ สิ้นหวังน่าเศร้าใจเหลือประมาณที่จะกล่าวได้ ในช่วงเวลาที่วิกฤติที่สำคัญ ขนาดนั้น ท่านไม่มีโอกาสได้ทักทายผู้ใด ท่านรวบรวมจิตใจให้สงบผ่องใส ด้วยความหวังว่า โยมยายจะสามารถลืมตาขึ้นมาได้อีกสักครั้ง เพื่อเห็นชายผ้าเหลือง ของพระหลานชาย ก่อนที่จะสิ้นลมสิ้นใจจากไป อย่างน้อย ขอให้โยมยายได้เห็นชายผ้าเหลืองเป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิต “โยมยาย ๆ พระมาแล้ว โยมยายพระมาหาโยมยายแล้ว” ท่านเอ่ยวาจาร้องเรียกโยมยายด้วยความแผ่วเบานุ่มนวล ถ่ายทอดพลังจิตที่สงบและปรารถนาดีอย่างเต็มท้นจิตใจสู่โยมยาย จิตท่านเฝ้ารำพึงว่า “ขอให้พระหลายชายได้ทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดนี้ เพื่อตอบแทนพระคุณอันสูงล้นของโยมยายด้วยเถิด”

หญิงชราปรือตาขึ้นช้าๆอย่างอ่อนแรง วินาทีนั้น พลันดวงตาทั้งสองของสายสัมพันธ์ ยาย – หลาน ก็ประสบพบกัน บรรยากาศภายในห้องเงียบกริบ ประหนึ่งโลกนี้ ไร้สิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง เมื่อหญิงชรามองสบดวงตาคู่นั้นจนเต็มตา ระลึกจดจำได้ชัดว่า นี่คือดวงหน้าของพระหลานชายที่เฝ้ารอคอยด้วยความอดทนแข็งใจรอที่จะได้พบ โยมยายจึงเอ่ยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนแรง สั่นเครือ แหบเบา แต่กลับดังทะลุทะลวงถึงหัวใจของพระหลานชายว่า บวชมาก็นานแล้ว .. เมื่อไรจะสึกเสียที ! ภาระหน้าที่ใน ครอบครัวก็มีอยู่ ทำไมไม่สึกเสียที !”

◎ “หัวใจสลาย”
ในบัดดลที่ได้ฟังคำพูดนั้น จิตใจที่สงบของพระหนุ่ม ก็ตีตลบพลิกกลับหมุนคว้างอย่างไร้ทิศทาง ไร้ความสามารถที่จะควบคุม จิตตกวูบบังเกิดความเศร้าสลด สังเวช นึกสมเพช อนาถใจในตนเองอย่างที่สุดเป็นความรู้สึกที่ยากเกินกว่าจะบรรยายให้ใครเข้าใจได้ตรงกับความรู้สึกที่บังเกิดขึ้นท่านเกิดความเสียใจ ผิดหวังอย่างที่สุด ในขณะเดียวกันก็เกิดความทุกข์ ท้อแท้ใจ สับสน วุ่นวาย เกิดความลังเลใจในชีวิตพรหมจรรย์เสียแล้ว ! ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังว่า ท่านเกิดรำพึงในใจว่า โอหนอเราช่างเป็นต้นเหตุ นำความทุกข์ระทมมาสู่หมู่ญาติพี่น้องได้ถึงเพียงนี้เทียวหนอ ฤาการบวชของเราจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบพี่น้องอย่างที่ญาติ ๆ ได้กล่าวประณามไว้จริงละหรือ ! นับแต่วินาทีนั้นผ่านไป จิตใจของท่านก็หาความสงบไม่ได้อีกเลย ความคิดที่จะ “ สึก มีความรุนแรงเพิ่มพูน ผลักดันอยู่ภายในใจ ตลอดเวลา ขณะเดียวกันมันก็ต่อสู้กับความรู้สึกลึก ๆ ที่แน่นแฟ้นกับชีวิตพรหมจรรย์ เกิดเป็นสงครามล้างผลาญทำลายอยู่ภายในจิตใจตลอดเวลา จนหาช่องว่างที่จะสงบสุขแม้เพียงอึดใจก็ไม่มี !

◎ “ กลับคืนสู่ถ้ำผาปล่อง “
ด้วยความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะกราบลาครูบาอาจารย์ คือ ท่านหลวงปู่สิม เพื่อสึกหาลาเพศอย่างแน่นอนทันที ทว่าท่านหลวงปู่สิมกลับไม่สนใจใยดีต่อคำกราบลา แม้จะยืนยันกับหลวงปู่ว่า ถ้าขืนยังอยู่ต่อก็ต้องเป็นทุกข์ใจ จนถึงแก่ความตายเป็นแน่ หลวงปู่สิม กล่าวตอบสวนควันทันทีว่า “แล้วสึกไปแล้วจะไม่ต้องตายหรอกหรือ !” จากนั้นหลวงปู่ก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจ ไม่ให้ความสำคัญใดใด กับคำกล่าวลานั้นเลย

ท่านพระอาจารย์สุธรรมในขณะนั้นกลับต้องเผชิญความบีบคั้นกดดันที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีกเรื่องก็คือ การไม่ได้รับการอนุญาตให้ลาสึก ! ถ้ำผาปล่อง อันเคยเป็นภูผาพฤกษ์ไพรที่ให้ความร่มเย็นสุขล้ำ กลับกลายเป็นดั่งแผ่นดินเพลิง จะเดิน จะยืน จะนั่งจะนอนก็ให้ร้อนรุ่มไปหมดทุกลมหายใจ ความเคารพครูบาอาจารย์อย่างเต็มล้นหัวใจก็ยังมีอยู่ แต่ทุกข์สาหัสก็มิอาจขจัดให้เบาบางลงได้ ขืนอยู่ต่อก็คงต้องทิ้งชีวิตทิ้งร่างกายให้เป็นภาระแก่หมู่พวกแน่นอน ! สุดท้ายท่านจึงตัดสินใจเก็บของสะพายบาตร เดินเตลิดเข้าป่าลึกอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เพียงแต่มีความตั้งใจว่า ถ้าเข้าป่าไปหาที่สงบ เพื่อเจริญภาวนา แล้วทำได้ไม่สำเร็จ คือไม่สามารถดับร้อนผ่อนคลายทุกข์ได้ ก็ขอทิ้งชีวิตให้สาปสูญสิ้นชีพอย่างเดียวดาย ไร้ญาติขาดมิตรอยู่กลางป่าลึกนั่นแหละ ! กอปรกับจิตใจที่เคยอบรมฝึกฝนตนให้เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เสี่ยงความเป็นความตายมาแล้ว จึงทำให้เท้าของท่านเดินก้าวบุกป่าฝ่าดงต่อไป ไม่มีคำว่า “ ถอยหลัง ” ให้ปรากฏในใจอีกเลย
“ ชีวิตในชาตินี้ ขอทิ้งไว้ในพระพุทธศาสนา ไม่มีคำว่าหวนคืนสู่เพศฆราวาสอีกต่อไป !”

◎ “รับใช้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
หลังจากที่ได้รับผลอันน่าอัศจรรย์ ซึ่งไม่เคยคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นได้กับตัวท่าน ท่านก็พิจารณาว่า ถ้าจะหาความเจริญก้าวหน้าบนหนทางนี้ คงต้องแสวงหาสถานที่ ที่สัปปายะคือมีความเหมาะสม ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างแท้จริง ย่างเข้าพรรษาที่ ๖ คือ ปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านจึงตัดสินใจมากราบนมัสการ ฝากเนื้อฝากตัว ขอเป็นลูกศิษย์รับใช้ใกล้ชิด ท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พรรษาที่ ๖ นี้ท่านก็ได้อุบายวิธีภาวนาจาก หลวงปู่ฝั้น รวมถึงได้ซึมซาบศีลาจริยวัตรอันงดงามหมดจดแล้วด้วยดีขององค์หลวงปู่ฝั้น ท่านเล่าว่าก่อนตี ๓ ท่านมี ความเบิกบานยินดีที่จะลุกจากที่นอน เพื่อไปก่อไฟ เตรียมต้มน้ำ ไว้สำหรับสรงน้ำให้ องค์หลวงปู่ฝั้น ในระหว่างที่ลูกศิษย์ช่วยการสรงน้ำ หรือนวดเฟ้น หรืออุปัฏฐากปรนนิบัติ รับใช้องค์หลวงปู่ องค์หลวงปู่จะเมตตาถ่ายทอดธรรมผ่านนิพพานบ้าง ผ่านเรื่องเล่าต่าง ๆ บ้าง หรืออบรมต่าง ๆ บ้าง แต่ล้วนแล้ว เป็นสิ่งประเสริฐ ที่เปล่ง ออกจากดวงจิตที่เอื้ออาทร การุณแก่เหล่าบรรดาศิษย์อย่างสนิทใจ

◎ “ความฝันที่เป็นจริง ”
ต่อมาในพรรษาที่ ๗-๘-๙ (พ.ศ.๒๕๑๙-๒๕๒๑) ท่านได้มาจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง แห่งวัดป่าแก้วชุมพล ก็นับว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งของชีวิต ที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ใหม่ ๆ อีกหลายประการในช่วงปีที่ท่านเร่งทำความเพียรนี้ ท่านเล่าว่าไม่เคยสุงสิงคลุกคลีญาติโยมใครๆ เลย เพราะทุกอริยาบท จะเต็มไปด้วยการเจริญสติ สมาธิ ปัญญาตลอด ท่านจึงมักสำรวมตา สงบวาจา เมื่อมีกิจของหมู่คณะ ท่านก็มิได้ละเลยหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเสร็จกิจปุ๊บ ท่านก็จะหาที่นั่งภาวนาหรือเข้าทางจงกรมทันที และเหตุการณ์ที่เคยคาดหวังไว้ก็กลายเป็นความจริง กล่าวคือญาติพี่น้องของท่าน เริ่มสนใจเข้าวัด และมีจิตใจเป็นกุศลทำบุญสุนทรทานกันมากขึ้น จนถึงปัจจุบันนี้

◎ “ครูบาอาจารย์ไม่เคยตำหนิได้ ”
ต่อมาในพรรษาที่ ๑๐ และ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๓) อันเนื่องมาจากการมรณภาพของ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร โดยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ท่านพระอาจารย์สุธรรม จึงย้ายไปจำพรรษาอยู่กับ ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี มีสิ่งที่ท่านประทับใจ และภูมิใจในการปฏิบัติก็คือ ท่านมิเคยถูกครูบาอาจารย์ตำหนิว่าย่อหย่อยเหลวไหลแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้นท่านจึงได้รับความไว้วางใจ และได้รับอนุญาตจากท่านอาจารย์ใหญ่บ้านตาด ให้มาพักภาวนาและพัฒนาวัดป่าหนองไผ่ ซึ่งตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ต่อจากเจ้าอาวาสองค์ก่อน ที่ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จับตัวไปสังหาร วัดป่าหนองไผ่แห่งนี้ถือว่าเป็นสาขาหนึ่งของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม ได้มาพักยังที่พักสงฆ์ป่าหนองไผ่ และได้เริ่มจัดทำเสนาสนะตามอัตภาพ ความเป็นอยู่ในยุคแรกยังอัตคัดขัดสนมาก ประกอบกับไข้ป่าชุกชุม ท่านต้องเผชิญกับไข้มาลาเรียขึ้นสมองอยู่ตลอด ๓ ปีเต็ม กว่าจะหายามาสกัดโรค ได้สนิทอาการของท่านนั้น ๆ เป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันแทบไม่มีเว้นวรรคไว้ให้ท่านได้สุขสบาย หากความอดทนของท่านไม่เพียงพอ ความเมตตาไม่มากมี วันนี้จะมีวัดป่าหนองไผ่ สำหรับทุกคนหรือไม่ ก็สุดจะยากเดา

การฟื้นฟูสภาพวัดในเบื้องแรก ท่านเพียงมีนโยบายปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้คืนสู่บรรยากาศป่าเขา ที่ให้ร่มเงาชุ่มเย็นอีกครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมไว้รับรอง เพื่อนสหธรรมิกผู้ใฝ่ใจในการประพฤติปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้ได้มีสถานที่พักภาวนา ที่มีบรรยากาศเหมาะสม ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้า ทั้งนี้ก็รวมถึงการเปิดโอกาส ให้ญาติโยมประชาชนทั่วไปจากทิศทั้งสี่ ที่มีความสนใจ จะฝึกอบรม ขัดเกลาจิตใจตน ได้มีสถานที่พักพิงอาศัย

◎ “ป่าไม้สร้างศาสนา – ศาสนารักษาป่าไม้”
ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม รับภาระบริหารดูแลรักษาวัดนี้นับแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๔ ท่านมีนโยบาย ใช้ทรัพยากร “ป่าไม้” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสองประการ คือ

• รักษาพื้นที่ป่าไม้ไว้ เพื่อใช้อนุรักษ์ควบคุมความสมดุลระบบนิเวศธรรมชาติ อันเป็นแหล่งกำเนิดของการสร้างทุกสรรพชีวิต

• ขัดเกลาจิตใจ ปฏิบัติสมาธิภาวนา พัฒนาสติปัญญา สำหรับพระภิกษุสามเณร ยาวชนและบุคคลทั่วไป เป็นการสร้างพลเมืองดี มีศีลธรรมเทื่อรับใช้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงสถาพรสืบไป

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม

ปัจจุบัน พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๑ ปี ๕๑ พรรษา (พ.ศ.๒๕๖๓)

ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.watpanongphai.com

ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เมตตาเป็นองค์ประธานสงฆ์ ในพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี ณ วัดถ้ำสัมพันธ์ จ.สกลนคร เพื่อสมทบปัจจัยสร้างกุฏิพระเถระ กุฏิพระสงฆ์จำนวน ๔ หลัง และที่ตักบาตรของศรัทธาญาติโยม ถวายแด่ พระอาจารย์ประสพพร ญาณสีโร เจ้าอาวาสวัดถ้ำสัมพันธ์ ในวันอาทิตย์ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เวลา ๐๗:๐๐

ท่านผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมบุญได้ที่
ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 412-0-38741-0
ชื่อบัญชี พระประสพพร ญาณสีโร

วัดถ้ำสัมพันธ์เป็นสายวัดป่า ถือปฏิปทาตามสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตั้งอยู่ใจกลางเขาภูพาน จ.สกลนคร โดยมี พระอาจารย์ประสพพร(นิษฐ์) ญาณสีโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ ท่านพระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม เป็นเจ้าอาวาส

พระอาจารย์นิษฐ์ ได้อาศัยพื้นที่ถ้ำสัมพันธ์แห่งนี้เป็นที่พักภาวนามามากว่า ๒๐ ปีแล้ว โดยในปัจจุบันเริ่มมีพระภิกษุสงฆ์ มาขอความเมตตา เพื่อหาสถานที่สัปปายะ และตั้งใจมาศึกษาด้านปฏิบัติภาวนา ทำให้ทางวัดมีความจำเป็นต้องปลูกสร้างกุฏิที่พักสำหรับพระสงฆ์เพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นจำนวน ๔ หลัง พร้อมทั้งทำศาลาด้านหน้าวัดเพื่อให้ศรัทธาญาติโยมได้มีที่ใส่บาตร (เนื่องจากในพรรษา พระอาจารย์นิษฐ์ ท่านถือธุดงควัตร รับอาหารเฉพาะที่ได้จากการบิณฑบาตเท่านั้น เวลาฝนตก ญาติโยมที่มารอใส่บาตรหน้าวัดจะเปียกฝน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีศาลารอใส่บาตรด้านหน้าวัด)