ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ําผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย
ท่านมีนามเดิมว่า สิม วงศ์เข็มมา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ํา เดือน ๑๒ ปีระกา เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ที่บ้านบัว ตําบลสว่าง อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
บิดาท่านชื่อ นายสาน วงศ์เข็มมา มารดาชื่อ นางสิงห์คํา วงศ์เข็มมา
มีพี่น้อง ร่วมบิดามารดา ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๕ สกุล “วงศ์เข็มมา” เป็นสกุลเก่าแก่สกุลหนึ่งของบ้านบัว ผู้เป็นต้นสกุลได้แก่ ขุนแก้ว และอิทปัญญา ผู้เป็นน้องชาย ตัวท่านขุนแก้วก็คือ ปู่ของหลวงปู่สิม นั่นเอง เท้าความในคืนที่หลวงปู่เกิดนั้นประมาณเวลา ๑ ทุ่ม โยมมารดาของท่านเคลิ้มหลับไป ก็ได้ฝันเห็นพระสงฆ์รูปหนึ่งมีรัศมีกายสุกสว่างเปล่งปลั่งแลดูเย็นตาเย็นใจอย่างบอกไม่ถูก ลอยลงมาจาก ท้องฟ้าลงสู่กระต๊อบกลางทุ่งนาของนาง ต่อมาเวลาประมาณ ๓ ทุ่ม นางสิงห์คําก็ให้กําเนิดเด็กน้อย ผิวขาวสะอาด และจากนิมิตที่นางเล่าให้นายสานฟัง นายสานผู้เป็นบิดาจึงได้ตั้งชื่อลูกชายว่า “สิม” ซึ่งภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ อันอาจบ่งบอกถึงความใกล้ชิดพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาเด็กชายสิมผู้นี้ ก็ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ บําเพ็ญสมณธรรม ใช้ชีวิตที่ขาวสะอาดหมดจดตลอดชั่วอายุขัยของท่าน
เมื่อเริ่มเข้ารุ่นหนุ่ม อายุ ๑๕-๑๖ ปี ท่านมีความสนใจในดนตรีอยู่ไม่น้อย หลวงปู่แว่น ธนปาโล เล่าว่า ตัวท่านเองเป็นหมอลํา ส่วนหลวงปู่สิมเป็นหมอแคน สิ่งบันดาลใจให้หลวงปู่อยากออกบวชคือ ความสะดุ้งกลัวต่อความตาย ท่านเล่าว่า
“ตั้งแต่ยังเด็กแล้วเมื่อได้เห็น หรือได้ข่าวคนตาย มันให้สะดุ้งใจทุกครั้ง กลัวว่าเราจะตายเสียก่อนได้ออกบวช”
มรณานุสติได้เกิดขึ้นในใจของท่านอยู่ตลอดเวลา เฝ้าย้ําเตือนให้ท่านไม่ประมาทในชีวิต ไม่ประมาทในวัยไม่ประมาทในความตาย เป็นเพราะหลวงปู่กําหนด “มรณํ เม ภวิสฺสติ” ของท่านมาแต่ไหนแต่ไรแล้วนั่นเอง ตั้งแต่ยังไม่ได้ออกบวชจวบจนสิ้นอายุขัยของท่าน หลวงปู่ก็ยังใช้อุบายธรรมข้อเดียวกันนี้อบรมลูกศิษย์ลูกหาอยู่เป็นประจํา เรียกว่า หลวงปู่เทศน์ครั้งใดมักจะมี “มรณํ เม ภวิสฺสติ” เป็นสัญญาณเตือนภัยจากพญามัจจุราชให้ลูกศิษย์ลูกหาตื่นตัวอยู่เสมอทุกครั้ง
ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
เมื่อท่านอายุ ๑๗ ปี ได้ขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดศรีรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ณ บ้านบัวนั้นเอง ตรงกับวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๔๖๙ ตรงกับวันอาทิตย์แรม ๗ ค่ํา เดือน ๘ ปีมะโรง โดยมีพระอาจารย์สีทอง เป็นพระอุปัชฌาย์
ต่อมาคณะกองทัพธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เดินธุดงค์มาจากจังหวัดหนองคาย เพื่อมาเผยแพร่ธรรมปฏิบัติแก่ประชาชนโดยเดินทางมาถึงวัดศรีสงคราม ตําบลสามผง อําเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม สามเณรสิม จึงได้มีโอกาสเดินทางไปฟังธรรม ทั้งจากพระอาจารย์ใหญ่ คือหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล สามเณรสิมได้เฝ้าสังเกตข้อวัตรปฏิบัติของ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น และได้บังเกิดความเลื่อมใสอย่างมาก จึงตัดสินใจขอถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น และได้ขอญัตติใหม่มาเป็นธรรมยุติกนิกาย แต่โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีโบสถ์ของวัดฝ่ายธรรมยุติในละแวกนั้น การประกอบพิธีกรรมจึงต้องจัดทําที่โบสถ์น้ํา ซึ่งทําจากเรือ ๒ ลํา ทําเป็นโป๊ะลอยคู่กัน เอาไม้พื้นปูตรึงเป็นพื้นแต่ไม่มีหลังคา สมมติเอาเป็นโบสถ์ โดยท่านพระอาจารย์มั่นฯ เป็นประธาน และเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนุธโล) เป็น พระอุปัชฌาย์ ที่วัดป่าบ้านสามผง อําเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จากนั้นสามเณรสิมได้ ติดตามพระอาจารย์มั่นไปอยู่จําพรรษาที่วัดป่าบ้านข่า ตําบลบ้านข่า อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
เมื่อสามเณรสิมอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดศรีจันทราวาส ตําบลพระลับ อําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๐ ค่ํา เดือน ๘ ปีมะเส็ง โดยมีเจ้าคุณพระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) เมื่อครั้งยังเป็นพระครูพิศาลอรัญญเขต เจ้าคณะธรรมยุติจังหวัดขอนแก่น เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระปลัดดวงจันทร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทธาจาโร” จากนั้นท่านก็ได้เดินทางติดตามพระอาจารย์ของท่าน คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปจําพรรษาที่วัดป่าวิเวกธรรม (วัดป่าบ้านเหล่างา) อําเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น วัดป่าบ้านเหล่างาน เป็นวัดอยู่ในเขตป่าช้า (บริเวณโรงพยาบาลขอนแก่นในปัจจุบัน) ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ และท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสํานักอบรมกรรมฐานแก่ญาติโยมชาวขอนแก่น ท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้ออกอุบายสอนลูกศิษย์ของท่านให้ได้พิจารณาอสุภกรรมฐานจากซากศพ โดยพาพระเณร ไปขุดศพขึ้นมาพิจารณา หลวงปู่ได้เล่าประสบการณ์ที่ท่านได้อสุภกรรมฐานจากซากศพและว่า
“นี่แหละร่างกายนั้น พระพุทธองค์ท่านจึงทรงสอนให้กําหนดเป็นอสุภกรรมฐานอย่าไปเห็นว่ารูป ไม่ว่ารูป หญิงรูปชาย ให้เข้าใจว่าเป็นอันเดียวกัน ไม่มีใครสวยใครงามกว่ากัน”
“สมมติโลกว่าสวยว่างาม สมมติธรรมมันไม่สวยงาม อสุภัง มรณัง ทั้งนั้น ถึงมันจะยังไม่ตายตอนเด็กตอนหนุ่มก็เถอะ ไม่นานละ เดี๋ยวมันก็ทยอยตายไปทีละคน สองคน หมดไป สิ้นไป ไม่เหลือ”
ในชีวิตสมณะของท่านได้ปฏิบัติตามคําสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่า “โสสานิ กังคะ” คือไปเยี่ยมป่าช้าเป็นธุดงควัตร และที่วัดป่าเหล่างานี้เองที่หลวงปู่ได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเวลานาน ๓ – ๔ ปี ทั้งได้มีโอกาสมักคุ้นกับพระกรรมฐานองค์สําคัญๆ หลายองค์ เช่น หลวงปู่เทศก์ เทสร์สี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, ท่านพ่อลี ธัมมธโร, ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปนโน เป็นต้น
ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ (พรรษาที่ ๘) เมื่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) แห่งวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่วัดจักราช สมเด็จฯ ท่านได้แลเห็นจริยาวัตรของหลวงปู่สิมขณะทําหน้าที่อุปัฏฐากรับใช้และเกิดชื่นชอบถูกใจถึงกับปรารถนาจะ ชวนหลวงปูไปอยู่ด้วยกับท่านจึงเอ่ยปากขอตัวหลวงปู่สิม กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ว่า
“พระองค์นี้มีลักษณะเป็นผู้มีบุญบารมี ผมจะขอตัวให้ไปอยู่ด้วยจะขัดข้องหรือเปล่า”
ซึ่งท่านพระอาจารย์สิงห์ ท่านก็มิได้ขัดข้องด้วยเห็นเป็นวาสนาบารมีของหลวงปู่สิม ที่จะได้มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่เยี่ยงท่านสมเด็จฯนี้ ทั้งจะได้มีโอกาศึกษาพระธรรมวินัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป หลวงปู่สิม พุทธาจาโร จึงได้ร่วมเดินทางมากับสมเด็จฯ ที่วัดบรมนิวาส มาจําพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยในสํานักสมเด็จฯ ทําให้หลวงปู่สิม ได้รับความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยมากขึ้น หลวงปู่สิมอยู่รับใช้สมเด็จฯ ด้วยจริยาดีเยี่ยมพร้อมกันนั้นหลวงปู่ก็ได้ทําหน้าที่อบรมสั่งสอนการปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์กรรมฐานให้แก่พระเณรจํานวนมากที่มารับการฝึกฝนอบรมจากหลวงปู่
ปี พ.ศ.๒๔๘๐ ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้เรียนขออนุญาตต่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เดินทางธุดงค์กลับถึงบ้านบัว ตําบลสว่าง อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อโปรดญาติโยม ที่บ้านเกิดตามคําอาราธนา และเมื่อหลวงปู่ปรารภที่จะให้มีวัดป่าธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นวัดแรกในบ้านบัวญาติโยม จึงต่างสนองตอบคําปรารภของหลวงปู่อย่างกระตือรือร้นและเต็มอกเต็มใจ โยมอาของท่าน คือนางคําไพ ทุมกิจจะ ได้มีศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่จัดสร้างเป็นสํานักสงฆ์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ สํานักสงฆ์นี้ปัจจุบันได้พัฒนาเป็น “วัดสันติสังฆาราม” พร้อมด้วยวัดและสํานักสงฆ์ สาขาเกิดอีก ๙ แห่ง สําหรับวัดสันติสังฆารามจังหวัดสกลนครนี้ หลวงปู่ได้เริ่มดําเนินการก่อสร้างพระอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จนแล้วเสร็จ
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาฝังลูกนิมิตในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๓ ในโอกาสเดียวกับงานอายุครบ ๗๑ พรรษา ของหลวงปู่หลวงปู่สิม ได้ธุดงค์ไปในหลายจังหวัดอาทิ เช่น วัดป่าสระคงคา อําเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ สํานักสงฆ์หมู่บ้านแม่ดอย (ต่อมาได้พัฒนาเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าอาจารย์มั่น) อําเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ (ณ ที่นี้หลวงปู่ได้พบหลวงปู่มั่นฯ และได้รับคําแนะนําเพิ่มเติมจากหลวงปู่มั่น จนการปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก) เมื่อแยกจากหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่ได้เดินธุดงค์ไปทางอําเภอสันกําแพง เข้าพักที่วัดโรงธรรม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสํานักชั่วคราว ที่วัดโรงธรรม สามัคคีนี้เคยเป็นสถานที่ที่ครูอาจารย์หลายท่านเคยใช้พักจําพรรษา อาทิ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน และหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม เป็นต้น
หลวงปู่สิม ได้พักจําพรรษาที่วัดโรงธรรมสามัคคี แห่งนี้ติดต่อกันนานถึงห้าปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปจําพรรษาที่ถ้ําผาผัวะ อําเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในสภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในระหว่างนั้น หลวงปู่ได้รับรู้ความคับจิตคับใจของบรรดาชาวบ้านทั้งหลาย หลวงปู่ได้ปลุกปลอบใจของชาวบ้านที่กําลังสิ้นหวังให้กลับมีชีวิตชีวาขึ้น ด้วยการหยั่งพระสัทธรรมลงสู่จิตของพวกเขา ในระหว่างออกพรรษาหลวงปู่สิมได้ จาริกธุดงค์ไปบําเพ็ญเพียร ณ สถานที่วิเวกหลายแห่งในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ศิษย์อาวุโสชาวเชียงใหม่ ท่านหนึ่งคือ เจ้าชื่น สิโรรส (วัย ๙๖ ปี) โดยในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เจ้าชื่น สิโรรส ได้อพยพครอบครัวหลบภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ําผาผัวะ ขณะที่หลวงปู่ธุดงค์ไปจําพรรษาที่ถ้ําผาผัวะนี้ ท่านเปรียบเสมือนที่พึ่งอันสูงสุดที่มีความหมายมากสําหรับคนที่อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เนื่องจากสงครามปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาใกล้จะยุติ เจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งอพยพจากถ้ําผาผัวะ กลับคืนตัวเมืองเชียงใหม่ ได้กราบอาราธนาหลวงปู่ให้ย้ายเข้ามาพักจําพรรษา ที่ตึกของแม่เลี้ยงดอกจันทร์ กีรติปาล (คิวริเปอร์) ซึ่งอยู่ที่ถนนดอยสุเทพตรงข้ามกับถนนไปสนามบินเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันคือที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ณ ที่นี้เองที่หลวงปู่สิมพบกับลูกศิษย์คนแรกที่อุปสมบทที่เชียงใหม่คือ พระอาจารย์มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต ซึ่งต่อมาก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัด “สันติธรรม” ซึ่งได้ทําการก่อสร้างขึ้นใน ภายหลัง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อสงครามสงบโดยสิ้นเชิง มีข่าวว่าเจ้าของบ้านคือ แม่เลี้ยงดอกจันทร์ และลูกหลานที่อพยพหลบภัยสงครามไปจะกลับคืนถิ่นฐานเดิม หลวงปู่จึงปรารภเรื่องการสร้างวัด คําปรารภในครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้คุณแม่นิ่มนวล สุภาวงศ์ เกิดศรัทธาขึ้นมาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัดถวายหลวงปู่ ด้วยพลังศรัทธานั้นเอง “วัดสันติธรรม” จึงได้ถือกําเนิดขึ้นมาโดยอาศัยกําลังศรัทธาของสานุศิษย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ โยมมารดาของหลวงปู่ถึงแก่กรรม หลวงปู่จึงได้เดินทางจากเชียงใหม่ลงมาที่บ้านบัวอีกครั้งหนึ่ง ครั้นเสร็จงานฌาปนกิจศพโยมมารดาแล้ว หลวงปู่ก็ออกเดินธุดงค์ไปจังหวัดนครพนมทันที เพื่อจําพรรษาที่ภูลังกา
ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๐๓ หลวงปู่ได้กลับไปพักจําพรรษาที่ วัดสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ในจิตใจส่วนลึกของท่านนั้นยังปรารภความสงบวิเวกของป่าเขา และโพรงถ้ําต่าง ๆ อยู่
จนต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ต่อมาได้มีพระลูกศิษย์ของหลวงปู่ไปพบถ้ําปากเปียง ซึ่งอยู่ที่ตําบลบ้านถ้ํา อําเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หลวงปู่จึงย้ายไปอยู่ภาวนาที่ถ้ําปากเปียง บ่อยครั้ง ด้วยเป็นที่สงบสงัดร่มรื่น ต่อมาในฤดูหนาว ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ลุงติ๊บ คนบ้านถ้ําได้เป็นคนนําทางพาหลวงปู่ปืนป่ายภูเขาขึ้นไปตามซอกเล็ก ๆ เพื่อหาถ้ําที่กว้างและอยู่สูงตามคําปรารภของหลวงปู่ที่ว่า “กิเลสจะได้เข้าหายาก” จนกระทั่งได้พบถ้ําผาปล่อง ซึ่งเป็นถ้ําที่ท่านคิดว่าจะเป็นบ้านสุดท้ายในการบําเพ็ญภาวนาในชีวิตของท่าน หลวงปู่ได้พักค้างคืนบนถ้ําผาปล่องหนึ่งคืน แล้วก็ลงไปพักที่ ถ้ําปากเปียงต่อ ต่อจากนั้นท่านก็ได้แวะเวียนไปพักที่ถ้ําผาปล่องอีกเสมอ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (ท่านเจ้าคุณวิสุทธิธรรมรังสี) เจ้าอาวาสวัดอโศการาม ตําบลท้ายบ้าน อําเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นศิษย์ในสายท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เช่นกัน ได้ถึงแก่มรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงลงมติขอให้หลวงปู่รับตําแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาส หลวงปู่จึงได้ช่วยอยู่ดูแลวัดอโศการาม ในฐานะรักษาการเจ้าอาวาส
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ หลวงปู่ได้รับการขอร้องจากท่านเจ้าคุณนิโรธธรรมรังษี ให้หลวงปู่ช่วยรับตําแหน่งรักษาการ เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่สิม จึงจําใจต้องรับเป็น เจ้าอาวาสให้วัดป่าสุทธาวาสอยู่ ๑ พรรษา โดยที่ใจจริงของท่านนั้นเบื่อหน่าย คิดอยากแต่จะออกธุดงค์อยู่เรื่อยไป ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๖-๒๕๐๙ หลวงปู่ได้มีปัญหาอาพาธด้วยโรคไตมาตลอด จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ด้วยปัญหาสุขภาพของหลวงปู่ หลวงปู่จึงได้ตัดสินใจวางภารกิจต่างๆ โดยลาออกจากตําแหน่งเจ้าอาวาสทุกวัดที่ท่านดูแลอยู่ จากนั้นท่านก็มาจําพรรษา ณ ถ้ําผาปล่อง ตลอดมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลวงปู่ได้เดินทางไปสังเวชนียสถานที่อินเดียและได้เดินทางไปอีกครั้ง หนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ นอกจากนี้แล้วหลวงปู่ยังได้มีโอกาสเดินทางไปที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตลอดถึงทวีปยุโรปและอเมริกาอีกด้วย
หลวงปู่สิม ท่านมีความขยันและตั้งใจมั่นตั้งแต่เด็กดังเช่น พระอาจารย์ศรีทอง (พระ อุปัชฌาย์ เมื่อครั้งเป็นมหานิกาย) ได้เล่าว่าครั้งเมื่อทางวัดมีการขุดสระ สามเณรสิมก็ไปช่วยขุด และขุดจนกระทั่งใครต่อใครเขาทิ้งงานไปหมด เนื่องจากขุดลงไปลึกถึงสิบเอ็ดสิบสองวาแล้วก็ยัง ไม่มีน้ํา เมื่ออุปัชฌาย์ถามว่า
“จะขุดไปถึงไหนกัน”
สามเณรสิมตอบว่า “ชุดไปจนสุดแผ่นดินนั่นแหละ”
ปฏิปทาของหลวงปู่ที่แสดงถึงความมีเมตตาอย่างล้นเหลือต่อลูกศิษย์ ได้แสดงให้เห็นอยู่เนือง ๆ หลวงปู่ปกครองพระเณรลูกวัดของท่านอย่างอบอุ่นใกล้ชิดเหมือนพ่อดูแลลูกๆ ภาพในอดีตที่ประทับใจลูกศิษย์ (คุณแม่นุ่มนวล สุภาวงศ์) ภาพหนึ่งก็คือ เวลาที่พระเณรอาพาธ หลวงปู่จะนั่งเฝ้าไข้อย่างสงบ ไม่ยอมห่างจนกระทั่งผู้ป่วยอาการดีขึ้น ครั้งหนึ่งเณรน้อยนอนซมด้วยโรคพยาธิ ตัวเหลืองซูบซีดผอม เพราะฉันอาหารไม่ได้เลย “แม่ไล” ได้เอายาถ่ายพยาธิมาถวาย เณรน้อยก็ฉันไม่ได้ อาเจียนออกมา ทําให้แม่ไลโมโหมากจะบังคับให้ฉันให้ได้ แต่หลวงปู่ซึ่งนั่งเฝ้าอยู่อย่างใจเย็น ได้ปลอบประโลมเณรน้อยของท่านขึ้นว่า
“วันพรุ่งนี้เถอะเน้อไปบิณฑบาตได้กล้วยก่อน จะเอายาใส่ในกล้วยให้เณรน้อยฉัน”
งานพัฒนาชุมชนที่นับว่าเป็นงานชิ้นสําคัญชิ้นหนึ่งของหลวงปู่ซึ่ง แสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจกันทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส และผลงานก็ได้ ก่อประโยชน์เป็นเอนกอนันต์แก่ชาวบ้านเกษตรกรก็ คือ งานสร้างฝายน้ําล้นลําน้ําอูน ที่ท่าวังหิน ซึ่งก็คือบริเวณ สํานักสงฆ์เวฬุวันสันติวรญาณ ในปัจจุบัน โดยในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ภายหลังจําพรรษาที่วัดสันติสังฆาราม หลวงปู่ก็ได้รับอาราธนาจากชาวบ้านทั้ง ๔ ตําบล ใน ๒ เขตอําเภอให้มาเป็น ประธานในการสร้างฝายน้ําล้นกั้นลําน้ําอูน งานสร้างฝายน้ําล้นชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะ ของหลวงปู่เด่นชัดมาก ในเรื่องความเป็นผู้เอาใจใส่และรับผิดชอบในภารกิจ เมื่อที่ประชุมปรึกษา หารือกันว่าเห็นควรจะเริ่มงานกันวันใหม่ หลวงปู่ก็ว่าให้เริ่มงานกันวันนี้เลย
หลวงปู่สิม เป็นผู้มีความเด็ดเดี่ยวเข้มแข็ง อดทน พูดจริง ทําจริง ถือสัจจะมั่นคง เป็นผู้ไม่มากโวหาร ทุกวันหลวงปู่จะพา เริ่มงานตั้งแต่ตี ๔ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นพอ ๑๐ โมงเช้าจึงพักฉันอาหาร หลังอาหารแล้วก็เริ่มทํางานกันต่อจนมืดค่ํา พอถึงเวลา ๑ ทุ่ม หลวงปู่ก็จะพาสวดมนต์และฟังเทศน์ เสร็จแล้วก็เริ่มทิ้งหินลงในคอกไม้ที่สร้างไว้ตลอดแนวฝาย กว่าจะได้จําวัดที่ ๔ ทุ่ม หรือบางวันงานจะติดพันจนถึง ตีหนึ่งที่สอง เป็นดังนี้ตลอดระยะเวลา ๔ เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ จนฝายน้ําล้นสร้างสําเร็จ หลวงปู่จึงกลับไปจําพรรษาที่ถ้ําผาปล่อง
หลวงปู่สิมได้รับสมณศักดิ์ “พระครูสันติวรญาณ” ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ และได้รับ พัดยศโดยเลื่อนจากสมณศักดิ์ที่ “พระครูสันติวรญาณ” เป็น “พระญาณสิทธาจารย์” ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ และในคืนวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๕ พระเณรพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกาได้พร้อมใจกันเจริญพระพุทธมนต์ ฉลองสมณศักดิ์ถวายหลวงปู่ ที่ถ้ําผาปล่อง หลังจากเจริญพระพุทธมนต์ หลวงปู่ได้พาพระเณรและญาติโยมนั่งภาวนาต่อจนถึงเวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. แล้วท่านก็นั่งพักดูบริเวณภายในถ้ําอีกประมาณ ๒๐ นาที คล้ายกับจะเป็นการอําลา จนถึงเวลา ๒๒.๐๐ น. ท่านจึงกลับเข้ากุฏิที่พักด้านหลังภายในถ้ําผาปล่องและได้มรณภาพในเวลาประมาณตีสาม
สิริรวมอายุของ หลวงปู่สิม ๘๒ ปี ๙ เดือน ๑๕ วัน อายุพรรษา ๖๓ พรรษา
ธรรมโอวาท
๑. คําว่าจิตได้แก่ ดวงจิต ดวงใจผู้รู้อยู่ ผู้เห็นอยู่ ผู้ได้ยินได้ฟังอยู่ เราฟังเสียง ได้ยินเสียงใครเป็นผู้รู้อยู่ในตัวในใจ นั่นแหละมันอยู่ตรงนี้ ให้รวมให้สงบเข้ามาอยู่ตรงนี้ ตรงจิตใจผู้รู้อยู่ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๒. ตาเห็นรูปก็จิตดวงนี้เป็นผู้เห็น ดีใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียใจก็จิตดวงนี้หลงไป เสียงผ่านเข้ามาทางโสต ทางหูก็จิตดวงเก่านี่แหละ กลิ่น รส โผฏฐพพะ ธรรมารมณ์ ก็จิตดวงนี้เป็นผู้หลง เมื่อจิตใจดวงนี้เป็นผู้หลงผู้เมาไม่เข้าเรื่อง เราก็มาแก้ไขภาวนาทําใจให้สงบ ไม่ให้หันเหไปกับอารมณ์ ใด ๆ เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดดับอยู่ในตัว ในใจ ในสัตว์ ในบุคคลนี้ว่า มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็แตกดับไปเป็นธรรมดาอย่างนี้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๓. การปฏิบัติบูชา ภาวนานี้ เป็นการปฏิบัติภายใน เป็นการเจริญภายใน พุทโธภายในให้ใจอยู่ภายในไม่ให้จิตใจไปอยู่ภายนอก (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๔. การภาวนา ไม่ใช่เป็นของหนัก เหมือนแบกไม้หามเสา เป็นของเบาที่สุด นึกภาวนาบทใด ข้อใดก็ให้เข้าถึงจิตถึงใจ จนจิตใจผ่องใสสะอาดตั้งมั่นเที่ยงตรงคงที่อยู่ ภายในจิตใจของตน ใจก็สบาย นั่งก็สบาย นอนก็สบาย ยืนไปมาที่ไหนก็สบายทั้งนั้น ในตัวคนเรานี้เมื่อจิตใจสบาย กายก็พลอยสบายไปด้วย อะไรๆ ทุกอย่างมันก็สบายไปมันแล้วแต่จิตใจ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๕. ทําอย่างไรให้ข้าพเจ้าจะสงบระงับ มีอุบายอะไร ก็อุบายไม่ขี้เกียจนั่นแหละ อุบายมันอยู่ที่ไหน อุบายมันอยู่ที่ความเพียร ทําอย่างไรข้าพเจ้าจะสู้กับกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ในใจได้ ไปสู้ที่ไหน ก็สู้ด้วยความเพียร สู้ด้วยความตั้งใจมั่น เราตั้งใจลงไปแล้วให้มันมั่นคงไม่มั่นคงอย่าไปถอย (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๖. เพียรพยายามฝึกตนเองอยู่ มันจะเหลือ (วิสัย) ผู้มีความเพียรไปไม่ได้ เพราะว่าบนแผ่นดินนี้ผู้มีความเพียร ผู้ไม่ท้อแท้อ่อนแอในดวงใจ ไม่ว่าจะทําอะไร ย่อมสําเร็จได้ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อเห็นแล้วเราต้องตั้งความเพียรลงไป ภาวนาลงไป เมื่อมันยังไม่ตายจะไปถอยความ เพียรก่อนไม่ได้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๗. สู้ด้วยการละทิ้ง อย่าไปยึดเอาถือเอา เขาว่าให้เรา เขาดูถูกเรา เสียงไม่ดีเข้าหูก็เพียรละออกไปให้มันหมดสิ้น มนุษย์มีปาก ห้ามมันไม่ให้พูดไม่ได้ มนุษย์มีตา ห้ามไม่ให้มันดูไม่ได้ มันเป็นเรื่องของโลก ท่านจึงตรัสว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมันเป็นความร้อน ความร้อน คือกิเลส กิเลส เหมือนกับไฟ ไฟมันเป็นของร้อน (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๘. เราได้คลานภาวนาจนเข่าแตกเลือดออกมีไหม ไม่มี มีแต่นอนห่มผ้าให้มันตลอดคืน มันจะได้สําเร็จมรรคผลอะไร ก็ได้แต่กรรมฐานขี้ไก่ กรรมฐานขี้หมู ไม่ลุกขึ้นภาวนาเหมือนพระ แต่ก่อน พระแต่ก่อนท่านเดินไม่ได้ท่านก็คลานเอา (พระธรรมเทศนาพุทธาจารานุสรณ์)
๙. พุทโธในใจ หลงใหลทําไม ไม่ต้องหลง ไม่ต้องลืม นั่งก็พุทโธในใจ นอนก็พุทโธในใจ ยืนก็พุทโธในใจ เดินไปไหนมาไหน ก็พุทโธในใจ กิเลสโลเลละให้หมด โลเลทางตา โลเลทางหู โลเลทางจมูก ทางกลิ่น โลเลในอาหารการกิน เลิกละให้หมด (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๑๐. ไม่ต้องไปรอท่าว่าเมื่อถึงวันตายข้าพเจ้าจะภาวนาพุทโธเอาให้ได้ อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องทําไว้ก่อน เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อน ตั้งแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้เวลานี้เป็นต้นไป (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๑๑. ความตายนี้ไม่มีใครหลบหลีกได้ ท่านให้นึกให้น้อมให้ได้ว่า ทุกลมหายใจเข้าไปก็ เตือนใจของตนให้นึกว่า นี่ถ้าลมหายใจนี้เข้าไปแล้วออกมาไม่ได้ เกิดติดขัดคนเราก็ตายได้ แม้ลมหายใจออกไปแล้ว เกิดอะไรติดขัดขึ้นมาสูดลมหายใจเข้ามาไม่ได้คนเราก็ตายได้ (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๑๒. เราทุกคนทุกดวงใจที่มีชีวิตอยู่ ณ ภายในนี้ ก็อย่าพากันนิ่งนอนใจ อยู่ที่ไหน กายกับใจอยู่ที่ไหน ก็ที่นั่นแหละเป็นที่ปฏิบัติบูชาภาวนา อยู่บ้านก็ภาวนาได้ อยู่วัดก็ภาวนาได้ บวชไม่บวช ก็ภาวนาได้ทั้งนั้น (พระธรรมเทศนา พุทธาจารานุสรณ์)
๑๓. ตั้งจิตดวงนี้ให้เต็มในขั้นสมถกรรมฐาน พร้อมกับวิปัสสนากรรมฐาน ให้แจ่มแจ้งใน ดวงใจทุกคนเท่านั้น ก็พอ เพราะว่าเมื่อเราเกิดมาทุกคนก็ไม่ได้มีอะไรติดมา ครั้นเมื่อเราทุกคนตาย ไปแล้วแม้สตางค์แดงเดียวก็เอาไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จงพากันนั่งสมาธิภาวนาให้เต็มที่จนกิเลสโลภะ อันมันนอนเนื่องอยู่ในจิตนี้ให้หมดเสียวันนี้ๆ ถ้ากิเลสความโลภนี้ยังไม่หมดจากจิต ก็ยังไม่หยุดยั้ง ภาวนาจนวันตายโน้น (ธรรมลิขิตจากหลวงปู่)
๑๔. การภาวนาละกิเลสให้หมดไปจริง ๆ นั้น ต้องปฏิบัติดังนี้ เมื่อกําหนดรูปร่างกายของเรา บริกรรมกําหนดลมหายใจจนจิตตั้งมั่นดีแล้ว ต้องกําหนดรูปร่างของเราเอง นับตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ไปตลอดหมดในร่างกายนี้ให้เห็นตามความเป็นจริง ที่มันตั้งอยู่และมันเสื่อมไปด้วยความเจ็บ ไข้ได้ป่วยมีทวารทั้ง ๙ เป็นสถานที่ไหลออกไหลเข้าซึ่งของไม่งาม (ธรรมลิขิตจากหลวงปู่)
๑๕. อันความตายนั้น จงระลึกดูให้รู้แจ้งด้วยสติปัญญาของตนเอง ยกจิตใจตั้งให้มั่นอย่าได้ หวั่นไหว เจ็บจะเจ็บไปถึงไหนก็แค่ตาย อยู่ดีสบายอยู่ไปถึงไหนก็แค่ตาย แก่ชราแล้วไม่ตายไม่ได้ เมื่อมาถึงบุคคลผู้ใดจะให้ผู้อื่นช่วยไม่ได้ ต้องภาวนาให้พ้นจากความตาย ความตายนั้นมีทางพ้นไปได้ อยู่ที่การละกิเลส ล้างกิเลสในใจให้หมดสิ้น
๑๖.วันคืนเดือนปี หมดไป สิ้นไป แต่อย่าเข้าใจว่าวันคืนนั้นหมดไป วันคืนไม่หมด ชีวิต ของแต่ละบุคคลหมดไปสิ้นไป มันหมดไปทุกลมหายใจเข้าออก ฉะนั้นภาวนาดูว่าวันคืนล่วงไป เราทําอะไรอยู่ทําบุญหรือทําบาป เราละกิเลสได้หรือยัง เราภาวนาใจสงบหรือยัง
๑๗.ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่ใจยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในชาติตระกูล ในตัว ในตน ในสัตว์ในบุคคล ความยึดอันนี้แหละที่ยึดไม่ให้มีทุกข์ให้มีความสุข มันเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับว่าเราจะไม่ให้แก่ ก็แก่เรื่อยไป ต้องรู้ว่าแก่เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตมายึดถือ เมื่อจิตมายึดมาถือ จิตจึงมาเกาะอยู่ มาเกิด มาแก่ชรา เจ็บไข้ได้พยาธิ ผลที่สุดก็ถึงซึ่งความตาย
๑๔.บทภาวนาบทใดก็ดีทั้งนั้น ถ้าภาวนาได้ทุกลมหายใจ ก็เป็นอุบายธรรมอันดีทั้งนั้น ความตั้งมั่นในสมาธิภาวนาของจิตใจคนเรานั้น ย่อมมีเวลาเจริญขึ้น มีเสื่อมลงเป็นธรรมดา ถ้าเรามารู้เท่าทันว่า การรวมจิตใจเข้าเป็นดวงหนึ่งดวงเดียว เป็นความสงบสุขเยือกเย็นอย่างแท้จริง ก็ให้ ทุกคนตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าได้มีความท้อถอย เมื่อใจไม่ท้อถอยแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาทําให้เรา ท้อแท้อ่อนแอได้ เพราะคนเรามีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน สําเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น
๑๙. ความเที่ยงแท้แน่นอนในโลกนี้ จะเอาที่ไหนไม่มี ผู้ปฏิบัติจงรู้เท่าทัน รู้เท่านั้นแล้วก็ปล่อยว่าง อย่าเข้าไปยึดไปถือ อย่าไปยึดว่าตัวกูของกู ตัวข้าของข้า ตัวเราของเรา เราเป็นนั้นเป็นนี้ ตัวเราของเราไม่มี มีแต่ธาตุดิน น้ํา ไฟ ลม มีแต่หลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งโลก
๒๐. ให้ทานข้าวของ วัตถุภายนอกก็เป็นบุญ แต่ยังไม่ลึกซึ้งให้ทําบุญภายในใจให้เป็นบุญอยู่เสมอ ภาวนาพุทโธ นึกน้อมเอาคุณพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอยู่ภายในนี่แหละบุญภายใน
๒๑. อวิชชา แปลว่าไม่รู้ ไม่รู้ต้น ไม่รู้ปลาย ไม่รู้อยู่ จิตจึงได้วนเวียน หลงไหล เข้าใจผิดว่าโลกนี้ยังมีความสุขซ่อนอยู่ ความจริงแล้วในมนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ตาม พรหมโลกก็ช่าง ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในกองทุกข์ กองภัย ต้องมีภัยอันตรายรอบด้าน
๒๒. ชีวิตของคนเราไม่นาน ชีวิตนี้มีน้อยที่สุด เวลาเรายังไม่ตาย ก็ได้ข่าวคนนั้นว่าตาย ที่เขาเอาไปฝังทิ้ง หรือเอาไปเผาไฟ เพื่อไม่ให้กลิ่นมันเหม็นจมูกเขาต่างหาก เราต้องพิจารณา ต้องทําด้วยกําลังศรัทธาของเรา ทําไมพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านจึงเกิดอสุภกรรมฐานเห็นแจ้งในจิตในใจได้ เห็นคนก็เห็นก้อนอสุภกรรมฐาน เห็นคนก็เห็นความตายของคนนั้น
๒๓. สงบแต่ปากใจไม่สงบก็ไม่ได้ ต้องให้ใจสงบ ใจสงบก็คือว่า เมื่อฟังซ่านรั่วไหลไปที่อื่นก็ให้คอยระวัง นึกน้อมสอนใจของตัวเองด้วยว่า ความเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วเป็นทุกข์อย่างนี้แหละ จะไปเอาสุขที่ไหนในโลก ที่ไหนมันก็ทุกข์เท่า ๆ กัน เอาสิ่งเหล่านี้มาเตือนใจตนเอง
๒๔. เวลาความตายมาถึงเข้า กายกับจิตจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ เรียกว่าแยกกันไป จิตทําบาปไว้ก็ไปสู่บาป จิตทําบุญไว้ก็ไปสู่บุญ จิตละกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ได้ก็ไปสู่นิพพาน จิตละไม่ได้ก็ มาเวียนตายเวียนเกิด วุ่นวายอยู่อย่างนี้ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลก มนุษย์ทั้งหลายก็ยังไม่หมดไปจากโลก ยิ่งในปัจจุบันนี้ ยิ่งมากกว่าในสมัยก่อน มันเกิดมาจากไหน ก็เกิดมาจากจิตที่เต็มไปด้วย อวิชชา-ความไม่รู้ ตัณหา-ความดิ้นรน ไม่สงบตั้งมั่น ก็สร้างตัวขึ้นมาในแต่ละบุคคล แล้วก็มาทุกข์ มาเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ในวัฏสงสารอย่างนี้แหละ
๒๕. ให้ละกิเลสออกจากจิตให้หมดทุกคน กิเลสนี้แหละทําให้คนเราเดือดร้อนวุ่นวายอยู่ ไม่มีที่สิ้นสุดกิเลสนั้นเมื่อย่นย่อเข้ามาก็คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง ๓ อย่างเท่านี้ ทําไมจึงเกิดมาสร้างกิเลสให้มากขึ้นไปทุกภพทุกชาติ ทําไมหนอ ใจคนเราจึงไม่ยอมละ การละก็ไม่หมดสักที ในชาติเดียวนี้ตั้งใจละ ทั้งพระเณรและญาติโยมทั้งหลาย ความโกรธเมื่อเกิดขึ้นอย่าโกรธไปตาม ถ้าไม่โกรธไปตามมันจะตายเชียวหรือ ทําไมจึงไม่ระลึกอยู่เสมอ ว่าคนเราจะละความโกรธให้หมดสิ้นไปในเวลาเดี๋ยวนี้ อย่าให้มีการท้อถอยในการสร้างความดี มีการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ พร้อมทั้งการเจริญสมาธิภาวนา ฆ่ากิเลสตัณหาให้หมดไป ใจจึงจะเย็นเป็นสุขทุกคน
๒๖. ภาวนาให้ได้ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น จิตของผู้ภาวนาก็สูง คําว่าสูง ก็เหมือนกับเรือที่ลอยลําอยู่ในแม่น้ําลําคลองหรือที่มหาสมุทรสาคร ก็คือจิตมันอยู่เหนือน้ํา
๒๗. จิตอยู่เหนืออารมณ์ เหมือนเรืออยู่เหนือแม่น้ํา มันก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อน จึงจําต้องฝึก อบรมตัวเองให้มีความอดทน
๒๘. เวลาความสุขมาถึงเช้า เราจะไปเอาความสุขในความสรรเสริญเยินยอ มั่งมีศรีสุข อย่างเดียว แต่เราหารู้ไม่ว่า “ความสุขมีที่ไหน ความทุกข์ก็มีที่นั้น”
๒๙. มรณกรรมฐานนี้เป็นยอดกรรมฐาน คนเราเมื่ออาศัยความประมาท มัวเมาไม่ได้มอง เห็นภัยอันตรายจะมาถึงตน คิดเอาเอง หมายเอาเองว่าเราคงไม่เป็นไรง่ายๆ เราสบายดีอยู่ เรายังเด็กยังหนุ่มอยู่ ความตายคงไม่กล้ํากรายได้ง่าย ๆ อันนี้เป็นความประมาท มัวเมา
๓๐. ถ้ามองเห็นความตายทุกลมหายใจเข้าออก สบายไปเลย กูก็จะตาย สูก็จะตาย จะมากังวลวุ่นวายกันทําไม
ปัจฉิมบท
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร เกิดมาเพื่อทําที่สุดแห่งทุกข์ให้กับตนเอง และใช้ชีวิตที่เหลือในการ เกื้อกูลมหาชนอย่างแท้จริง หลวงปู่พร่ําสอนเสมอ ๆ มิให้ตั้งตนในทางที่ประมาท ทั้งความประมาทในชีวิต ความประมาทในวัย และความประมาทในความตาย หลวงปู่เน้นย้ําให้เห็นความสําคัญของการปฏิบัติภาวนาว่าเป็นหนทางอันสูงสุดที่จะทําให้คนพ้นทุกข์ ดังคําสอนตอนหนึ่งว่า
“ทางพระสอนให้ละชั่วทําความดี แต่ก็ไม่ให้ติดอยู่ในความดี ให้บําเพ็ญจิตให้ยิ่งขึ้นจนถึงไม่ติดดีติดชั่ว จึงจะพ้นจากโลกนี้ไปได้ เพราะแม้คุณความดีจะส่งผลให้เป็นสุขไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เป็นเทพ อินทร์ พรหมก็ตาม แต่เมื่อกําลังของกุศลกรรมความดีนั้น ๆ หมดลง ก็ย่อมต้องกลับมา เวียนว่ายตายเกิดอีก ทางพระจึงมุ่งสอนให้นั่งภาวนา ทําจิตให้รวมระวังตั้งมั่น ทําจิตให้มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงด้วยตนเองจนถอดถอนอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ออกเสีย จึงจะเป็นไปเพื่อความสิ้นภพสิ้นชาติ หมดทุกข์หมดยากโดยแท้จริง”
หลวงปู่ได้ทําหน้าที่ครูอาจารย์ไว้โดยสมบรูณ์ยิ่งแล้ว ทั้งด้านเทศนาธรรม และด้วยการประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม หลวงปู่เป็นผู้มีใจหนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลาย ซึ่งพวกเราจักยึดถือปฏิบัติตามได้โดยสนิทใจ หลวงปู่จากไปอย่างผู้ที่พร้อมรับต่อความตาย ทุกขณะ สมดังที่หลวงปู่ได้พร่ําสอนผู้อื่นเสมอ
ถ้าท่านได้ไปถ้ําผาปล่อง ท่านจะได้พบรูปหล่อเหมือนองค์หลวงปู่ประดิษฐานอยู่ในท่าขัด สมาธิเพชร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจําองค์ท่าน และ “เจดีย์แห่งความกตัญญ” ที่คณะศิษย์ได้จัด สร้างถวายให้ใช้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตและเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องอัฐบริขารของ “หลวงปู่สิม พุทธาจาโร”