วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

วัดป่าสาลวัน
อ.เมือง จ.นครราชสีมา

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน
พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน

นามเดิม สิงห์ บุญโท 

เกิด : วันจันทร์ที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ 

บ้านเกิด : บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ อำเภอหัวตะพาน)

บิดามารดา : เพี้ย (พระยา) อัครวงศ์ (อินทวงศ์) หรือนายอ้วน และนางหล้า 

พี่น้อง : เป็นบุตรคนที่ ๔ 

บรรพชา : อายุ ๑๕ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ที่วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน และบรรพชาซ้ำเป็นสามเณรธรรมยุต ที่วัดสุปัฏนาราม พ.ศ. ๒๔๔๙ 

อุปสมบท : เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ฉายา ขันตยาคโม

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน
หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เมื่อครั้งยังมีพรรษาไม่มากนัก

การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท 

พระญาณวิศิฏ์สมิทธิวีราจารย์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) หรือที่ญาติโยมศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธา นิยม เรียกนามว่า “พระอาจารย์สิงห์” หรือ “หลวงปู่สิงห์” ได้รับการศึกษาเบื้องต้นระดับใดไม่มีหลักฐานระบุไว้ชัดเจน บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ขณะอายุได้ ๑๕ ปี ที่วัดบ้านหนองขอน ตำบล หัวตะพาน มีพระอาจารย์ป้อง วัดบ้านหนองของ เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้บรรพชาซ้ำเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุต วันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ที่วัดสุทัศนาราม เมืองอุบลราชธานี โดยมีพระสมุห์โฉม เป็นพระ อุปัชฌาย์ ได้พ านักจ าพรรษาที่ วัดสุทัศนาราม จนกระทั่งวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๒ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ขณะดำรงสมณศัดิ์ที่พระราชมุนี เป็นพระ อุปัชฌาย์ พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) ขณะเป็นพระมหาเสน ชิตเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระปลัดทัศน์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๕๘ พร้อมทั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่สำนักเรียนวัดสุทัศนารามอีกด้วย

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน 

เมื่อพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต มาจำพรรษาที่วัดบูรพาราม เมืองอุบลราชธานี พระอาจารย์สิงห์ จึงไปกราบนมัสการฝากตนเป็นศิษย์ พระอาจารย์มั่นได้อบรมแนะนำให้ฝึกกัมมัฏฐาน “กายคตาสติข้อ ปัปผาสะ ปัญจกะ” เป็นบทสำหรับบริกรรมในการฝึกสมาธิจิตตลอดมา

พระราชธรรมเจติยาจารย์ (พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร) แห่งวัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ ได้บันทึกเรื่องราว พระอาจารย์สิงห์ ไว้ในหนังสือประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโท เกี่ยวกับการไปนมัสการขอเป็นศิษย์ เรียนวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตอนหนึ่งว่า “…วันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านได้ไปราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดบูรพา ขณะเป็นเวลา ๑ ทุ่มแล้ว เมื่อเข้าไปเห็นพระอาจารย์มั่น หันหลังเดินจงกรมอยู่ จึงรออยู่สักครู่ใหญ่จนท่านพระอาจารย์มั่น เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นพระอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง จึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากพระอาจารย์สิงห์กราบแล้ว พระอาจารย์มั่นก็ได้พูดขึ้นว่า

“เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมด้วยกัน”

พอพระอาจารย์สิงห์ ได้ฟังเช่นนั้นก็รีบตอบว่า

“ผมอยากปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่นมานานแล้ว”

จากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ อธิบายให้ฟังว่า

“การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น จักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือ พิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรก เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตรัสรู้ธรรม ด้วยการปฏิบัติ อริยสัจธรรม ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค…” (บูรพาจารย์, ๒๕๔๔ : ๑๙๖) 

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
(จากซ้านย) พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล
พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระอาจารย์สิงห์ ได้ติดตามพระอาจารย์มั่นเพื่อศึกษาและฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ข้อปฏิบัติต่างๆ เป็นเวลา ๗ เดือน จนกระทั่งอาพาธหนักจึงกลับไปจำพรรษาที่วัดสุทัศนารามเพื่อรักษาพยาบาล เมื่อหายจากอาพาธและเป็นเวลาออกพรรษาพอดี จึงกลับไปฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์อีกหลายแห่ง เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติพอสมควรแล้ว พระอาจารย์มั่นจึงให้แยกย้ายไปอบรมสั่งสอนประชาชนในละแวกนั้นก่อน

(จากซ้าย) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม และหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ

การจาริกธุดงควัตร 

พ.ศ. ๒๔๖๒ พระอาจารย์มั่นไปพำนักจำพรรษาที่บ้านหนองไผ่ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์สิงห์จึงได้ออกธุดงค์ตามไปด้วย จากนั้นได้ติดตามพระอาจารย์ไปที่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เพื่อฝึกปฏิบัติเพิ่มเติม เมื่อได้รับอุบายธรรมชี้แนะจากพระอาจารย์มั่นจนเป็นที่เข้าใจ และมั่นใจแล้ว จึงได้กราบลาเดินทางไปพำนักจ าพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ๑ พรรษา ได้เร่งปฏิบัติด้วยความเพียรอย่างยิ่ง เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านโนนสะหวาง ตำบลส่องดาว อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร จากนั้นได้ร่วมเดินทางกับพระอาจารย์มั่น เพื่อไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ ขณะนั้นพำนักจำพรรษาที่บ้านหนองสูงเก่า อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร) 

พระอาจารย์สิงห์ ได้ติดตามท่านบูรพาจารย์ทั้งสอง (พระอาจารย์เสาร์ พระอาจารย์มั่น) ไปอำเภอวาริชภูมิ และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดสกลนคร เพื่ออบรมสั่งสอนประชาชนในถิ่นนั้นๆ โดยมีพระอาจารย์เสาร์ เป็นประธาน จนทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติ หันมาร่วมปฏิบัติตามแนวทาง วิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นจำนวนมาก 

หน้าที่การงาน 

พ.ศ. ๒๔๖๖ หลังจากโยมมารดาถึงแก่กรรมแล้ว พระอาจารย์สิงห์ได้ชักชวน พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายให้หันมาฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยกัน ซึ่งได้รับการตอบสนองจากพระ มหาปิ่นด้วยดี 

พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ไปจำพรรษาที่บ้านปลาไหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร 

พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้นำพระมหาปิ่นและหมู่คณะกลับไปจำพรรษาที่วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลราชธานี 

พ.ศ. ๒๔๗๑ หลังจากพระอาจารย์มั่นได้เดินธุดงค์ร่วมกับ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ไปจังหวัดเชียงใหม่ พระอาจารย์สิงห์กับคณะจึงได้พำนักจำพรรษาที่ป่าช้า บ้านโคกเหล่างา เป็นเวลา  ๓ พรรษา ต่อมาเป็นวัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น 

พ.ศ. ๒๔๗๕ สร้างวัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ตามคำบรรชา ของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) จำพรรษาอยู่เป็นเวลา ๕ ปี 

พ.ศ. ๒๔๘๐ สร้างวัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี ตามคำนิมนต์ของเจ้าคุณพระปราจีนบุรี และได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าหนองพอกไปพร้อมกัน 

หลังจากนั้นได้ไปจำพรรษาที่ วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ เพื่ออบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้ฝึกหัด นั่ง สมาธิภาวนาซึ่งมีผู้ร่วมฝึกจำนวนมาก 

พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าสาลวันอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออบรมสั่งสอน พุทธบริษัท ฝึกหัดนั่งสมาธิ ภาวนาเป็นประจำตลอดมา ระหว่างนี้คณะของชาวบ้านหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้มานิมนต์ให้ไปสร้างวัดป่าไพโรจน์ เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมอีกแห่งหนึ่ง

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
เมตตามาร่วมทอดผ้าป่ากับท่านพ่อลี ธมฺมธโร
ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า
ถ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๔

พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล มรณภาพ ท่านไปร่วมจัดการฌาปนกิจศพ โดยมี พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นประธาน 

พ.ศ. ๒๔๘๗ ไปจำพรรษาที่วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดูแลรักษาพญาบาลพระมหาปิ่น ซึ่งอาพาธหนักและได้มรณภาพ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๙ เมื่อจัดการฌาปนกิจศพพระน้องชายเสร็จแล้วจึงได้กลับไป วัดป่าสาลวัน

พ.ศ. ๒๔๙๑ เป็นประธานสร้างพระประธาน ๒ องค์ ณ วัดป่าทรงคุณ จังหวัดปราจีนบุรี 

พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นประธานก่อสร้างอุโบสถวัดป่าสาลวัน 

พ.ศ. ๒๕๐๓ เจ้าคณะธรรมยุตภาค ๓ – ๔ – ๕ และเจ้าคณะจังหวัด (ธรรมยุต) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพระกัมมัฏฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือล้วนเป็นพระวิปัสสนาจารย์ จำนวน ๑๐๘ องค์ ได้ประชุมตกลงกันยกให้ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็น “หัวหน้าพระกัมมัฏฐานแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และให้วัดป่าสาลวันเป็นสำนักวิปัสสนาธุระศูนย์กลางการชุมนุมของ พระกัมมัฏฐาน ต่อไป

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน
บรรดาศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงานประชุมเพลิงสรีระสังขาร
“ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

ปฏิปทาและหลักการสั่งสอนอบรมประชาชน 

พระอาจารย์สิงห์ มีฏิปทาตามที่ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย แห่งวัดถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นสหธรรมิกของพระอาจารย์สิงห์องค์หนึ่งบันทึกไว้ว่า 

“…ท่านสิงห์นิสัยเทศน์อธิบายธรรมดี ใจคอกว้างขวางดี เป็นคนสุขุมรักษาความสงบ เยือกเย็นดี เป็นคนหวังดีในศาสนา ชอบสันโดษ จิตอุทิศเฉพาะข้อปฏิบัติ น้ำใจเด็ดเดี่ยวยกธรรมาธิษฐานล้วน หลวงปู่สิงห์  กาย วาจา ใจ เป็นอาชาไนย ลักษณะว่องไว ไหวพริบดี น้ำใจเด็ดเดี่ยว ทรมานคนดี ได้ทุกๆ ชั้น ทั้งอุบาย ละเอียด เป็นคนราคจริต เป็นนักพูด ชอบคิดอุบายธรรมต่างๆ ชอบมีหมู่เพื่อนมาก นิสัยพระโมคคัลลาน์  ความรู้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ข้อวัตรที่ดีทั้งภายใยภายนอก ชอบโอ่โถง อดิเรกลาภมาก ไม่เอาแง่เอางอนแก่พุทธบริษัท…เป็นคนมั่นในสัมมาปฏิบัติ ฉลาดพูด ฉลาดพลิกจิต สมถวิปัสสนา…”

พระอาจารย์สิงห์ นอกจากเป็นหัวหน้ากองทัพธรรมคณะพระกัมมัฏฐานแล้ว ยังได้เรียบเรียงหนังสือธรรม เรื่อ “พระปฏิบัติสัทธรรม” มีเนื้อหาบางตอนดังนี้ 

“…ฝ่ายคันธุระ มีหน้าที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติสัทธรรม ก็มีตำรับตำรา แบบแผนไว้สอนกันต่อ ๆ ไป กุลบุตรผู้เกิดภายหลัง เมื่อได้ศึกษาเล่าเรียนแล้วก็ได้สืบต่ออายุพระศาสนาต่อไปอีก แต่ฝ่ายวิปัสสนาธุระมี หน้าที่ประพฤติปฏิบัติพระพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติถูกผู้นั้นไม่ได้สอนผู้อื่นๆ ต่อไป ผู้อื่นก็ไม่รู้ ครั้นเมื่อสอน เพื่อให้รู้ ในสมัยนี้ก็ต้องมีตำรับตำราแบบแผน จึงจะรู้ทั่วถึงกันได้ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอง พระองค์ทรงเป็นตำรับตำราแบบแผนเองดีพอแล้ว ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานล่วงไปแล้ว จะไม่มีตำรับตำราแบบแผนย่อมย่อมไม่ได้อยู่เอง มีแต่แบบฝ่ายปริยัติธรรมก็มีเพียงพอแล้ว ฝ่าย ปฏิบัติยังไม่มี การแนะนำ พร่ำสอนกัน ก็แนะนำพร่ำสอนด้วยปากเปล่าตามแบบพุทธกาล ทั้งนี้ต้องอาศัย พระอาจารย์ผู้ชำนาญในทางสมาธิภาวนาจึงจะสั่งสอนได้ ถ้าขาดพระอาจารย์ผู้ชำนาญเสียแล้วก็สอนไม่ได้  แต่ถ้ามีแบบวิธีถึงไตรสรณคมน์แบบวิธีนั่งสมาธิภาวนา ก็มีหนทางพอที่จะประพฤติปฏิบัติและสั่งสอนต่อๆ  กันไปได้ ถ้าหากไม่มีแบบแผนเสียเลย เมื่อหมดอายุของพระอาจารย์ผู้ชำนาญเสียแล้วกุลบุตรผู้เกิดใน ภายหลังไม่มีแบบแผนศึกษา เล่าเรียนก็ประพฤติปฏิบัติไม่ได้ พระพุทธศานาก็มีแต่ทางที่จะเสื่อมสูญ อันตรธานเท่านั้น 

อีกประการหนึ่ง บุคคลถึงพระไตรสรณคมน์แล้ว ก็ถึงได้เพียงชั้นโลกียะสรณคมน์เท่านั้นไม่ได้ ถึงโลกุตตระสรณคมน์ ส่วนบุคคลผู้ที่จะถึงโลกุตตระสรณคมน์นั้นต้องเป็นผู้ชำนาญในการนั่งสมาธิภาวนา  และแบบการนั่งสมาธิภาวนาก็หาไม่ได้เสียด้วย เป็นการสมควรอย่างยิ่งจะต้องเรียบเรียงและพิมพ์ไว้เป็น แบบปฏิบัติสืบไป 

อีกประการที่สอง ความจนใจของบุคคลผู้ไม่มีสมาธิภาวนาโดยมากย่อมจนใจอยู่ในข้อที่ว่าทำบุญล้างบาปก็ล้างไม่ได้ หรือว่าทำบุญแก้บาปก็แก้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลผู้ที่จะละบาปบำเพ็ญอย่างไรนั้น  จะต้องทำอย่างไรกันข้อนี้ตอบได้ง่ายๆ ว่า ต้องนั่งสมาธิภาวนา นอกจากนั่งสมาธิภาวนาแล้วไม่มีวิธีอย่างอื่น อีกจะพึงแก้ได้ เพราะเหตุว่าการนั่งสมาธิภาวนานี้มีอานิสงส์มาก เป็นวิธีแก้จิตที่เป็นบาปให้กลับเป็นบุญได้  ตลอดจนแก้จิตที่เป็นโลกีย์ให้เป็นโลกุตตระได้เมื่อแก้จิตให้บริสุทธิ์ดีแล้วบาปอกุศลก็หลุดหายไปเอง  อุทาหรณ์ข้อนี้พึงเห็นพระองคุลีมาลเป็นตัวอย่าง…”

สมณศักดิ์ 

พ.ศ. ๒๕๐๐ พระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ 

พระญาณวิศิษฏ์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน
พระญาณวิศิษฏ์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) วัดป่าสาลวัน

มรณภาพ 

วันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลา ๑๐.๒๐ น. ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รวมอายุได้ ๗๓ ปี พรรษา ๕๑ 

อัฐิธาตุท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม

พระอาจารย์สิงห์ ได้รับสมญานามว่า ยอดขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมภาคอีสาน เป็นผู้ดำเนินรอยบูรพาจารย์ใหญ่ทั้งสององค์คือ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ตลอดชีวิต บรรพชิตได้ทุ่มเทกับงานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายด้วยความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ถึงแม้จะมีอุปสรรคต่างๆ มากมาย ก็ได้ใช้ขันติ วิริยะ อุตสาหะ ต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคเหล่านั้น

ด้วยคติธรรมที่ว่า “ธรรม ย่อมชนะอธรรม” เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ชาวอุบลราชธานีที่สำคัญยิ่งองค์หนึ่ง ที่สามารถสืบสานหลักการแห่งการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามรอยพุทธธรรมของบูรพาจารย์ใหญ่แห่ง เมืองอุบลราชธานี ให้ขจรขจายเป็นแบบอย่างอันดีงามไปยังถิ่นอื่นได้อย่างดียิ่ง สมควรยกย่องเชิดชูให้เป็น  “ปราชญ์” ของชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริง 

ข้อมูลพิเศษ : ท่านเป็นศิษย์รุ่นแรกของพระอาจารย์มั่น ได้อยู่ใกล้ชิดนานถึง ๑๒ ปี 

ธรรมโอวาท : “…. กายนี้คือก้อนทุกข์กายนี้เป็นที่หมายให้พ้นเสียจากทุกข์ฝึกสติปัญญาให้ดีแล้ว มา พิจารณากายนี้ให้แจ้ง ก็จะพ้นทุกข์ได้…..” 

“…กำหนดจำเพาะจิตผู้รู้ เพ่งพินิจพิจารณาให้เห็นพื้นแผ่นดิน กว้างใหญ่เท่าไร เป็นที่อาศัยของสัตว์ ทั้งโลกก็ยังต้องฉิบหายด้วยน้ำ ด้วยลม ด้วยไฟ ยกวิปัสสนาละลายแผ่นดินนี้เสียให้เห็น เป็นสภาวธรรม เพียงสักว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเท่านั้น รวบรวมเอาแต่จิต คือผู้รู้ตั้งไว้ให้เป็นเอกจิต เอกธรรม สงบนิ่งแน่วอยู่ และวางลงเป็นอุเบกขา เฉยอยู่กับที่ คราวนี้จะแลเห็นจิตนั้นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นทีเดียว ก้าวล่วงจากนิมิต ได้ดี มีกำลัง ให้แลเห็น อำนาจอานิสงส์ของจิต ที่ได้ฝึกหัดสมาธิมาเพียงชั้นนี้ ก็พอมีศรัทธาเชื่อในใจของตน ในการที่จะ กระทำความเพียรยิ่ง ๆ ขึ้นไป วิธีนี้ เรียกว่า ปหานปริญญา แปลว่า ละวางอารมณ์เสียได้แล้ว…” 

“…ให้ตรวจดูจิตเสียก่อน ว่าจิตคิดอยู่ในอารมณ์อะไร ในอารมณ์อันนั้นเป็น อารมณ์ที่น่ารัก หรือ  น่าชัง เมื่อติดใจในอารมณ์ที่น่ารัก พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียง ไปด้วยความรัก เมื่อติดในอารมณ์ที่น่าชัง พึงเข้าใจว่าจิตนี้ลำเอียงไปด้วยความชัง ไม่ตั้งเที่ยง พึงกำหนดส่วนทั้งสองนั้น ให้เป็นคู่กันเข้าไว้…” 

หนังสืออ้างอิง 

คณะศิษยานุศิษย์ มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต. บูรพาจารย์. กรุงเทพฯ ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการ พิมพ์, ๒๕๔๔. 

คณะศิษยานุศิษย์ ผู้จัดทำ. จนฺทปชฺโชตเถรบูชา อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต ป.ธ. ๙) กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๒. 

ประกิจ มหาแถลง และศิษยานุศิษย์. พระปรมาจารย์ สายพระกัมมัฏฐาน ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, ๒๕๔๖