วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี อ.วังสะพุง จ.เลย

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต

วัดถ้ำคูหาวารี
อ.วังสะพุง จ.เลย

หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี ต.โคกขมิ้น อ.วังสะพุง จ.เลย

หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต (ศิษย์สายธรรมหลวงปู่หลุย จันทสาโร) พระผู้มักน้อย สันโดด และมีเมตตาธรรม

หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต นามเดิมชื่อ สำลี เพ็งผล เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ โยมบิดาชื่อ นายบุญ และโยมมารดาชื่อ นางอินทร์ เกิด ณ ต.กุดจอก อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา เมื่อเรียนจบ ป.๔ ก็ออกมาช่วยพ่อ และ แม่ทำนา ต่อมาจึงย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่จังหวัดเลย

หลวงปู่สำลี ท่านเป็นคนขยัน ช่วยเหลืองานทุกอย่างของพ่อและแม่ ทั้งยังชอบเข้าวัดสวดนต์ นั่งสมาธิ พ่อและแม่ได้พาไปทำบุญและรับฟังธรรมะ กับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นประจำ จนกระทั่งหลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านเล็งเห็นความตั้งใจในการสวดมนต์ ภาวนา นั่งสมาธิ จึงได้ดำริให้ออกบวช ซึ่งหลวงปู่สำลี ท่านก็คิดไว้แล้ว ด้วยศรัทธาต่อองค์หลงปู่หลุย และชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ออกบวช

หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง
หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง

หลวงปู่สำลี อุปสมบท เมื่ออายุ ๓๕ ปี ในวันที่ ๖ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ เวลา ๑๑.๐๐ น. ก่อนออกบวชท่านก็ได้ไปเป็นนุ่งขาวห่มขาว เป็นนาคก่อนจะได้บวชพระ โดยหลวงปู่หลุยเป็นผู้สอนหลวงปู่สำลีขานนาค และสอนข้อวัตรต่างๆเกี่ยวกับการบวช จนหลวงปู่สำลี สามารถขานนาค และจดจำข้อวัตรปฎิบัติได้ หลวงปู่หลุย จึงได้พาหลวงปู่สำลีไปบวช ณ อุโบสถวัดศรีสุทธาวาส จ.เลย โดยมีพระราชคุณาธาร (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูไบฏีกาไพฑูลย์ เป็นพระกรรมวาจา ได้รับฉายา “สุทธจิตโต” แปลว่า “ผู้มีใจอันบริสุทธิ์

พระราชคุณาธาร (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ)
พระราชคุณาธาร (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ)

หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต ก็ได้มาอุปัฏฐากดูแล หลวงปู่หลุย จันทสาโร ที่วัดถ้ำผาบึ้ง ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย หลวงปู่สำลีท่านกล่าวว่า ตั้งแต่บวชท่านก็ติดตามดูแลหลวงปู่หลุยมาโดยตลอด จนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ หลวงปู่หลุย ท่านได้สร้างวัดใหม่ขึ้นชื่อว่า “วัดถ้ำคูหาวารี” โดยท่านเห็นว่าสถานที่นี้เป็นที่สัปปายะ มีน้ำทาใช่สอยอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การปฎิบัติธรรมและเคยเป็นที่ ที่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เคยมาอยู่พักภาวนามาก่อน ท่านจึงได้สร้างวัดในที่แห่งนี้ขึ้น เพราะในถ้ำแห่งนี้ จะมีตาน้ำที่จะมีน้ำ ไหลออกมาจากถ้ำตลอดฤดูกาล ทำให้ที่นี้อุดมสมบูรณ์ และบริเวณโดยรอบก็เป็นป่าเขาเหมาะแก่การภาวนาเป็นอย่างมาก ท่านจึงดำริให้หลวงปู่สำลี มาจำพรรษาอยู่ปฎิบัติ ณ ที่แห่งนี้

หลวงปู่สำลีท่านเคยกล่าวว่า เดิมทีท่านอยากเรียนหนังสือ เรียนนักธรรมมหาเปรียญ แต่หลวงปู่หลุยไม่อนุญาต และได้บอกให้หลวงปู่สำลีเข้าป่าไปหาภาวนา หลวงปู่หลุยกล่าวว่า “ธรรมะที่แท้จริงอยู่ในจิต ในใจทั้งหมดอยากเรียนให้ไปเรียนภายในจิตในใจ” จากนั้นมาหลวงปู่สำลี ท่านก็อยู่ปฎิบัติในป่า ณ วัดถ้ำคูหาวารีแห่งนี้มาโดยตลอด

แต่กระนั้นท่านก็ไปๆมาๆระหว่างวัดถ้ำคูหาวารี และวัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย เพื่อจะได้ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่หลุย อย่างใกล้ชิต ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นต้นมา หลวงปู่สำลีท่านก็ได้ติดตามหลวงปู่หลุย ไปในที่ต่างๆเพราะหลวงปู่หลุย ท่านเป็นพระอยู่ไม่ติดสถานที่ มักจะย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่อื่นเสมอ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หลวงปู่สำลีจึงมีโอกาสไปติดสอยห้อยตามหลวงปู่หลุยไปในที่ต่างๆ เช่น ภาคเหนือก็เคยไปอยู่เป็นพรรษา ภาคกลางก็ไปอยู่จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ กม.๒๗ มูลนิธิหลวงปู่หลุย ที่ลูกศิษย์สายกรุงเทพ ถวายที่ดิน ให้หลวงปู่สร้างที่พักสงฆ์ หรือแม้แต่ที่ชะอำหัวหิน ซึ่งลูกศิษย์ชะอำมักจะนิมนต์หลวงปู่หลุยไปเมตตาที่นั้นอยู่เสมอ ตลอดจนประเทศอินเดียก็ไปมาแล้ว “หลวงปู่สำลีท่านว่า ท่านก็ไปกับหลวงปู่หลุยในทุกๆที่ตั้งแต่บวชมา ส่วนมากมักนั่งรถไป ไม่ค่อยได้เดินมากนัก”

ราวๆปี พ.ศ.๒๕๒๕ – ๒๕๓๐ หลวงปู่หลุย เริ่มมีอาการอาพาธหนักขึ้น หลวงปู่สำลีท่านเล่าว่า “หลวงปู่ทิวา อาภากโร ได้นิมนต์หลวงปู่หลุย ให้มาพักจำพรรษาในกรุงเทพฯ เพราะใกล้หมอ ใกล้โรงพยาบาล และงดรับกิจนิมนต์ทางไกล” ซึ่งในระหว่างนี้ หลวงปู่สำลีก็ได้อยู่ปฎิบัติใกล้ชิตหลวงปู่หลุย อยู่ที่สำนักสงฆ์ กม.๒๗ จ.ปทุมธานนี้ด้วย

หลวงปู่สำลี ท่านกล่าวว่า “ในช่วงปัจฉิมวัยของหลวงปู่หลุยนี้ เรา(หลวงปู่สำลี) ก็ค่อยดูแลท่านอยู่ตลอด ท่านจะถูกนิมนต์ไปอยู่ ๒ ที่ในช่วงนี้คือ ที่พักสงฆ์หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ และ ที่พักสงฆ์์ กม.๒๗ ปทุมทานี” จนเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ หลวงปู่หลุยได้บอกกับพระใกล้ชิตซึ่งในเวลานั้นหลวงปู่สำลี ก็อยู่ด้วยว่า “ท่านยื้อธาตุขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว คงต้องทิ้งธาตุขันธ์นี้แล้ว” และในวันที่ ๒๔ นี้เองหลวงปู่หลุย ท่านก็ได้เดินทางไปพักรักษาตัว ที่พักสงฆ์หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และท่านก็ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สำนักสงฆ์หัวหินแห่งนี้ ในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒ เวลา ๐๐.๔๓ น. สิริอายุ ๘๘ ปี ๖๗ พรรษา

ซึ่งในช่วงหนึ่งหลวงปู่สำลี ท่านได้กล่าวว่า “หลวงปู่หลุย ท่านเคยปรารถว่าอยากกลับไปวัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย เพราะจากมานานแล้ว แต่สุดท้ายก็สุดวิสัยท่านมาละสังขาร มรณะภาพไปเสียก่อน”

หลวงปู่สำลีท่านกล่าวว่า “เราอยู่ช่วยงานหลวงปู่หลุยนี้จนแล้วเสร็จ ตั้งแต่เริ่มงาน จัดเตรียมงาน ไปจนถึงพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร ที่วัดศรีมหาธาตุ บางเขน จนไปถึงแบ่งอัฐิธาตุหลวงปู่หลุย ไปบรรจุ ณ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร คู่กับพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น จนแล้วเสร็จถึงปี ๒๕๓๕-๓๕๓๖ จึงได้เดินทางกลับ จ.เลย”

หลวงปู่หลุย สอนธรรมปฎิบัติแบบใด
ผู้เขียนเคยกราบเรียนสอบถามหลวงปู่สำลีว่า “แนวทางการปฎิบัติธรรมที่หลวงปู่หลุยท่านสอนลูกศิษย์ เป็นแบบใด” หลวงปู่สำลี อธิบายว่า…ท่านอยู่กับหลวงปู่หลุยมาร่วม ๆ ๑๐ กว่าปี หลวงปู่หลุย ท่านจะสอนให้ภาวนาอย่างเดียว จะภาวนาพุทโธเป็นหลัก แล้วท่านจะสอนการพิจารณาธรรมโดยเรียนว่า “การม้างกาย

หลวงปู่สำลีบอกว่า…“การม้างกายก็คือการที่เราพิจารณา ธาตุขันธ์เรานี้ละ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้เห็นภายในกาย โดยการม้างกายนี้ คือ แยกส่วนต่างๆออกมาดู เช่นพวก ธาตุดิน ก็แยกตับไตใส้มากอง ๆ ดูว่ามีอะไรสวยอะไรงาม หรือ แยกธาตุน้ำ เช่น น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเหลืองมากอง ๆ ดู พิจาณาตามความเป็นจริง ให้มันเบื่อ มันหน่ายคลายกิเลส เห็นโทษแห่งความหลง แก้ความหลง”

แล้วหลวงปู่สำลีท่านก็ อนุมานการม้างกายว่า.. “เหมือนเราจะฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ นั้นแหละ เราก็เอามีดกรีดตรงไส้ตรงพุงมันดูใช่ไมละ เออว่าภายในมันมีอะไร ตับ ไต ไส้ น้ำเลือด น้ำหนอง ที่ไหลออกมานี้ มันเป็นยังไง ใช้จิตจดจ่อดูตามความเป็นจริงนั้น หรือว่าเราจะพิจารณากายนี้ ให้มันขึ้นอืด ขึ้นหนองเน่าไป แล้วให้มันแห้งลงไปในดินเป็นกระดูก กลับไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ นี้ก็ได้”

แต่หลวงปู่สำลีท่านเน้นย้ำว่า…“จะม้างกายได้ จิตต้องสงบก่อนนะ มันค่อยเห็น มันค่อยเป็น ให้ขยันทำภาวนาพุทโธบ่อย ๆ จิตมันจะค่อยสงบของมันไปเอง อยากปล่อยให้จิตฟุ้งไปตามอารมณ์ เพราะมันจะไปรับเอาความทุกข์จากภายนอกมาใส่จิตใส่ใจเจ้าของ”

ผู้เขียนกราบเรียนถามต่อไปว่า….“เมือถึงที่สุดแห่งธรรมพิจารณาจนเห็นแล้วจิตจะเป็นอย่างไร”

หลวงปู่สำลี ท่านอุปมาว่า.. “จิตมันจะรู้ว่าอะไรจะทำแล้วทุกข์ อะไรเป็นภัยอะไรให้โทษ มันจะไม่ไปยุ่ง เหมือนเรานี้แหละ รู้ว่าว่าไฟมันร้อน เราก็ไม่ไปจับ รู้ว่าในป่านี้มีเสือเป็นสถานที่อันตราย เราก็ไม่ไปหลีกได้หนีได้นี้จึงเรียกว่ารู้ ที่เราทุกข์ ๆ อยู่ทุกวันนี้ เพราะมันไม่รู้ ถ้ารู้มันจะไม่ทุกข์”

หลวงปู่สำลี ท่านก็ได้ปฎิบัติตามคำสอนของหลวงปู่หลุยมาโดยตลอดตั้งแต่ท่านบวช จนวาระสุดท้ายของหลวงปู่หลุย เริ่มความพากความเพียรปฎิบัติมา ท่านก็เคยกล่าวว่า “ได้หลักจิต หลักใจพอสมควร”

เจดีย์ จันทสาโรนุสรณ์ ณ วัดถ้ำคูหาวารี จ.เลย

วัดถ้ำคูหาวารี หรือคนในพื้นที่รู้จักกันในนาม “ถ้ำน้ำ” มีบริเวณเขตธรณีสงฆ์ประมาณ ๑๐๐ กว่าไร่ ขึ้นเป็นวัดแล้วตามมติมหาเถระสมาคมอย่างถูกต้อง โดยมีสิ่งปลูกสร้างคือ ศาลาฉันท์ กุฎิสงฆ์ และเจดีย์ บริเวณโดยรอบวัดเป็นป่าเขา และมีถ้ำที่มีตาน้ำไหลออกมาจากถ้ำตลอดฤดูกาล เป็นที่เงียบสงบสัปปายะ ในอดีตเคยเป็นที่พักภาวนาของครูบาอาจารย์หลายองค์ ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำดี ปภาโส เป็นต้น ที่เคยแวะเวียนและมาพักภาวนาในสถานที่แห่งนี้ ปัจจุบันทางวัดกำลังดำเนินงานก่อสร้างเจดีย์ “จันทสาโรนุสรณ์” ไว้เป็นอนุสรณ์ธรรมแห่งองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร โดยหลังจากงานพระราชทานเพลิงสรีละสังขารหลวงปู่หลุย ณ วัดศรีมหาธาตุแล้วเสร็จ อัฐิธาตุหลวงปู่หลุยก็ได้ถูกบรรจุรักษาไว้ ณ พระบรมธาตุเจดีย์ วัดศรีมหาธาตุบางเขน กรุงเทพฯ แรกเริ่มนั้น หลวงปู่ท่อน ญาณธโร จะขอแบ่งอัฐิธาตุหลวงปู่หลุย กลับมาบรรจุยังวัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย ก็มิได้รับอนุญาตจากวัดศรีมหาธาตุ ต่อมาคณะสงฆ์จังหวัดเลยเห็นว่า..

หลวงปู่สำลี สุทฺธจิตฺโต ท่านเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่หลุยที่สุด จึงได้ให้หลวงปู่สำลีไปติดต่อขออัฐิหลวงปู่หลุย ด้วยให้เหตุผลเดิมว่าหลวงปู่หลุยท่านอยากจะกลับวัด แต่ท่านก็ได้รับการปฏิเสธอีกครั้ง เมื่อไม่มีหนทางที่จะได้ ท่านจึงได้ทดลองขอเตาที่ใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพขององค์หลวงปู่หลุย เพื่อนำกลับสู่จังหวัดเลย ซึ่งก็เป็นสิ่งท้าทาย เพราะเตามีน้ำหนักมาก ถ้าท่านสามารถเคลื่อนย้ายเตาไปได้ ก็ยินยอมยกเตานี้ให้ท่านไป และเมื่อหลวงปู่สำลี สามารถเคลื่อนย้ายเตากลับสู่จังหวัดเลยได้ ท่านจึงได้สร้างพิพิธภัณฑ์หลังเล็ก ๆ ไว้เพื่อเก็บเตาหลวงปู่หลุย ณ วัดถ้ำคูหาวารี

ต่อมาหลวงปู่สำลี ได้ขออนุญาตคณะสงฆ์จังหวัดเลยเพื่อเปิดเตาเผาสรีระสังขารหลวงปู่หลุย ก็พบว่ายังมีเศษ อัฐิหลวงปู่หลุยอยู่จำนวนหนึ่ง จึงได้นำอัฐิทั้งหมดออกมารวม ๆ กันไว้ แล้วแบ่งไปที่วัดถ้ำผาบิ้งจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาวัดถ้ำผาบิ้งได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ และเครื่องบริขารหลวงปู่หลุย ไว้ที่แห่งนี้ด้วย

และครั้งปี พ.ศ.๒๕๕๕ หลวงปู่สำลี ได้เล็งเห็นว่าวัดถ้ำคูหาวารีแห่งนี้ ก็เป็นวัดแห่งหนึ่งขององค์หลวงปู่หลุยที่เคยมาสร้างมาบุกเบิกไว้ และส่วนหนึ่งท่านก็มีความเคารพนับถือหลวงปู่หลุย ผู้เป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์ของท่านอยู่แล้ว อีกอย่างจะได้ทำที่บรรจุอัฐิหลวงปู่หลุยให้ดูเหมาะดูสม ท่านจึงดำริสร้างเจดีย์ เพื่อประดิษฐานอัฐิหลวงปู่หลุยให้เป็นที่กราบไหว้บูชา ของศรัทธาญาติโยมพุทธศาสนิกชน และเป็นอนุสรณ์ธรรมคู่พระพุทธศาสนาต่อไปในภายภาคหน้า ท่านจึงสร้างเจดีย์ “จันทสาโรนุสรณ์” ขึ้นมา ณ วัดถ้ำคูหาวารี โดยเริ่มวางรากฐานการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๖ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๖๑) ซึ่งก็ดำเนินการไปแล้วกว่า ๘๐% เหลือตบแต่งภายในและทาสีภายนอกบางส่วน

เจดีย์ จันทสาโรนุสรณ์ ณ วัดถ้ำคูหาวารี จ.เลย

ซึ่งรูปทรงของเจดีย์จะมีลักษณ์คล้าย ๆ กับพระธาตุพนม แต่จะเล็กกว่าโดยมีความสูงจากพื้นถึงยอดฉัตรประมาณ ๓๕ เมตร โดยรอบทำเป็นศาลาเพื่อไว้ทำศาสนกิจ และเป็นที่ปฎิบัติธรรม หรือไว้จัดงานครบรอบสำคัญๆต่างๆของวัดแล้วแต่โอกาสอันสมควร ภายในเจดีย์จะมีฐานที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะเท่าองค์จริง หลวงปู่หลุย จันทสาโร และที่บรรจุอัฐิธาตุหลวงปู่หลุย และพระบรมสารีริกธาตุภายในเจดีย์อีกด้วย

เจดีย์ จันทสาโรนุสรณ์ ณ วัดถ้ำคูหาวารี จ.เลย

◎ ด้านวัตถุมงคล
เดิมทีแต่ไหนแต่ไรมา หลวงปู่สำลีท่านจะไม่มีการอนุญาตให้สร้างวัตถุมงคลใดๆในนามของท่านเลย ส่วนใหญ่แล้ววัตถุมงคลที่ท่านอธิษฐานจิต มักจะเป็นรูปลักษณ์พระพุทธ หรือ รูปลักษณ์หลวงปู่มั่น หลวงปู่หลุยเป็นส่วนใหญ่ แต่นับแต่ท่านเริ่มสร้างเจดีย์มาท่านก็เริ่มอนุญาตให้มีการจัดสร้างวัตถุมงคลในนามของท่าน โดยเห็นว่ามีลูกศิษย์ลูกหาที่มาช่วยงานสร้างเจดีย์กับวัดมากขึ้น และ ส่วนใหญ่ก็มีจิตศรัทธาในตัวหลวงปู่สำลี ดังเดิมอยู่แล้วท่านจึงอนุญาต ให้คณะลูกศิษย์หลาย ๆ สาย ทำวัตถุมงคลในนามท่านได้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ แก่คณะศรัทธาที่มาช่วยงาน

ซึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อยมาก็มีวัตถุมงคลในนามหลวงปู่สำลี ออกมาหลายรุ่นทั้งเป็นทางการ และไม่เป็นทางการโดยกลุ่มคณะลูกศิษย์หลายสาย แต่ท่านก็มีเมตตาอธิษฐานจิตให้เหมือนกันทุกรุ่น และให้ความเมตตากับลูกศิษย์ทุกกลุ่ม ทุกคนไม่มีเลือกชน ชั้นวรรณะ รวย หรือ จน ท่านให้ความเมตตาเสมอกันตลอดมา

เนื่องด้วยวัตถุมงคลของหลวงปู่สำลีมีด้วยกันหลายรุ่น คณะศิษย์สร้างหลายคณะในที่นี้จะขอกล่าวพอสังเขปบางรุ่นเท่านั้น โดยเหรียญรุ่นแรกของ หลวงปู่สำลีออกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นเหรียญหนาครึ่งองค์จำนวนจัดสร้างประมาณ ๔,๙๐๐ กว่าเหรียญโดยแยก ออกเป็นเนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวะ เนื้อทองเหลือง เนื้องทองแดง มีทั้งมีหน้ากาก และ หลังเรียบ หลังยันต์ คณะศิษย์สายของแก่น เป็นผู้ขออนุญาตจัดสร้างถวาย

เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี เนื้อเงิน

ในส่วนของล็อกเก็ตรูปหลวงปู่สำลีนั้นออกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ (ออกก่อนเหรียญรุ่นแรก) โดยคณะลูกศิษย์สายกรุงเทพ สร้างถวาย มีด้วยกัน ๒ แบบคือ แบบใหญ่และแบบเล็ก

ล็อกเก็ตจัมโบ้ หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี
ล็อกเก็ตจัมโบ้ หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี

แบบขนาดใหญ่ ด้านหลังจะติดเกศาหลวงปู่สำลี ฉากสีทอง ด้านหน้าเขียนว่า “ผู้ประพฤติธรรม ย้อมนำสุขมาให้” ขนาดใหญ่นี้สร้างประมาณ ๓๐๐ องค์ และมี แบบขนาดเล็ก โดยด้านหน้าจะเป็นฉากสีขาว ด้านหลังจะมีแผ่นโลหะเกาะไว้ โดยเขียนไว้ว่า “ผู้ประพฤติธรรม ย้อมนำสุขมาให้” เช่นกัน สำหรับแบบขนาดเล็กนี้สร้างประมาณ ๑,๐๐๐ องค์

รูปหล่อรุ่นแรก หลวงปู่สำลี สุทธจิตโต วัดถ้ำคูหาวารี

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๕๘ คณะศิษย์สายชัยภูมิ ของอนุญาตหลวงปู่จัดสร้างรูปหล่อลอยองค์รุ่นแรกขึ้น โดยจัดสร้างทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐ กว่าองค์มีทั้งเนื้อเงิน เนื้อนวะ เนื้ออัลปาก้า เนื้อสำริด มากน้อยเฉลี่ยตามจำนวนการจัดสร้าง ใต้ฐานตอกโค๊ตหมายเลขกำกับตามลำดับทุกองค์

เจดีย์ จันทสาโรนุสรณ์ ณ วัดถ้ำคูหาวารี จ.เลย

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://plustimeday.blogspot.com