ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม
วัดบ้านเหล่า อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม พระเกจิเรืองวิทยาคมแห่งเมืองมหาสารคาม มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วภาคอีสาน สืบทอดปฏิปทาอันงดงามและไสยเวทจากพระครูสีหราช บูรพาจารย์ยุคเก่า
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม มีนามเดิมว่า “สาธุ์ สรรพสอน” เกิดในปี พ.ศ.๒๔๒๑ ที่บ้านข่อย อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ เป็นบุตรของพ่อสอนและแม่หน่อย สรรพสอน ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา
ช่วงวัยเด็ก พ.ศ.๒๔๓๐ บ้านข่อยเกิดภาวะฝนแล้งติดต่อกันหลายปี บิดา-มารดา ตัดสินใจอพยพมาปักหลักทำมาหากินอยู่ที่บ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม
ด้วยความที่เป็นผู้มีจิตใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรม เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี จึงขอให้โยมบิดา-มารดา นำท่านไปบรรพชาที่วัดในหมู่บ้าน
◉ อุปสมบท
จนอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบ้านแก่นท้าว โดยมี พระครูสีหราช วัดบ้านแก่นท้าว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการน้อย วัดบ้านเหล่า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ หลวงปู่จันทา วัดบ้านเม็กดำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุขธมฺโม”
หลังอุปสมบท อยู่จำพรรษาศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัด ต่อมาได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ณ สำนักเรียนวัดบ้านแก่นท้าว ได้ให้ความสนใจด้านวิทยาคม
ในยุคนั้นชื่อเสียงของ พระครูสีหราช โด่งดังทั่วภาคอีสานกลางและอีสานใต้ ในฐานะบูรพาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมสายเขมร จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์เรียนไสยเวท ควบคู่กับการศึกษามูลกัจจายน์ บาลี อักษรขอม ไทยน้อย อักษรลาว ทำให้มีความรู้ทางด้านอักขระโบราณเพิ่มขึ้นอีกแขนง
วัตรปฏิบัติช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาทุกปี จะออกเดินธุดงควัตรไปตามป่าเขาลำเนาไพรหลายแห่งในภาคอีสาน รวมทั้งเขมรและลาว แสวงหาความหลุดพ้น
จากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติจำเริญรอยตาม พระครูสีหราช เสมอต้นเสมอปลาย ทำให้หลวงปู่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ชื่อเสียงอันโด่งดังของ หลวงปู่สาธุ์ ยังทำให้มีพระภิกษุสงฆ์มาขอฝากตัวเป็นศิษย์เล่าเรียนวิทยาคมจำนวนหลายรูป ภายหลังมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วอีสาน เช่น หลวงปู่มี กันตสีโล วัดป่าสันติธรรม (ดงส้มป่อย) อ.ยางสีสุราช จ.มหาสารคาม หลวงปู่ทองสุก สัมปันโน วัดโพธิ์ชัยนิมิต อ.พยัคฆ ภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม เป็นต้น
วัตถุมงคลนั้นมีพุทธคุณเด่นในด้านอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม แม้อาคมจะเข้มขลังเพียงใด แต่ท่านไม่เคยโอ้อวด กลับพร่ำสอนให้ญาติโยมดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ก่อนตัดสินใจทำอะไรลงไปให้นึกถึง คำสอนของครูบาอาจารย์ทุกครั้ง แล้วชีวิตจะ พานพบแต่ความสงบสุข
นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนา โดยปัจจัยที่ได้จากการบริจาค จะนำมาพัฒนาสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับวัดแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นศาลาการเปรียญ กุฏิ อุโบสถ เป็นต้น ทำให้วัดบ้านเหล่าเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว บรรยากาศในบริเวณวัด มีแต่ความสงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่งนักแล
◉ มรณภาพ
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม ท่านอาพาธบ่อยครั้งด้วยโรคชรา สุดท้าย หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๒ สิริอายุรวมได้ ๙๓ ปี พรรษา ๗๒
ภายหลังจากที่ หลวงปู่สาธุ์ มรณภาพไปแล้ว เมื่อถึงวันที่ ๑๙-๒๐ มีนาคม ของทุกปี วัดและคณะศิษยานุศิษย์ พร้อมพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ จะมีการจัดงานน้อมรำลึกถึงหลวงปู่ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตา รำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่สาธุ์ สุขธัมโม จัดสร้างวัตถุมงคลเพียง ๓ รุ่นเท่านั้น แต่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเหรียญเสมารูปเหมือนรุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับความนิยมมานาน จัดสร้างรวม ๒ พิมพ์ คือ เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อสา วัดบ้านเหล่า พิมพ์ใหญ่ และ พิมพ์เล็กแจกแม่ครัว สำหรับพิมพ์ใหญ่มี ๒ เนื้อ คือ ทองแดงผิวไฟและเนื้อตะกั่ว ส่วนพิมพ์เล็กมีเฉพาะเนื้อทองแดง
● ด้านหน้าเหรียญทั้ง ๒ พิมพ์เป็นรูปเหมือนหลวงปู่สาธุ์ครึ่งองค์ มีตัวอักษรที่ใต้ขอบด้านบนว่า “รุ่น ๑” และตัวอักษรโค้งไปตามขอบเหรียญจากขวาไปซ้าย ความว่า “หลวงพ่อสาธุ์ สุขธมฺโม วัดบ้านเหล่า ต.เม็กดำ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม” ส่วนด้านหลังของเหรียญจะเป็นยันต์ ๕ และมีตัวเลขบอกวันเดือนปีที่สร้าง คือ “๑ มกราคม ๒๕๐๙”
● ด้านหลังแทบทุกเหรียญจะปรากฏรอยจารอักขระ “นะ มะ พะ ทะ นะ มะ อะ อุ” แต่บางเหรียญก็ไม่มีจาร
จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ ทราบว่า หลวงปู่สาธุ์ ท่านปลุกเสกเดี่ยวภายในกุฏิของท่าน เป็นเวลา ๑ พรรษา และมั่นใจได้ว่าทุกเหรียญผ่านการอธิษฐานจิตจากหลวงปู่สาธุ์โดยตรง ในส่วนของจำนวนการสร้างไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ประเมินว่าน่าจะไม่เกิน ๕,๐๐๐ เหรียญ ค่านิยมในการเล่นหาวงการพระเครื่องตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน จะอยู่ที่เหรียญเสมาพิมพ์ใหญ่ เนื้อทองแดงผิวไฟ “บล็อก จ.จาน” จะได้รับความนิยมสูงสุด
ส่วนบล็อกธรรมดา หากเหรียญสภาพสวย มีจารอักขระ ค่านิยมก็ใกล้เคียงกับบล็อกนิยม ส่วนเหรียญที่ไม่มีรอยจารอักขระ จะได้รับความนิยมลดหลั่นลงมา เหรียญหลวงพ่อสาธุ์ สุขธมฺโม นี้จึงจัดอยู่ในทำเนียบเหรียญยอดนิยมตลอดกาล
◉ ประวัติวัดบ้านเหล่า
วัดบ้านเหล่า ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๔ บ้านเหล่า หมู่ ๓ ตำบลเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๓ งาน ๙๓ ตารางวา (ปัจจุบันซื้อเพิ่มมาอีก)
อานาเขตทางทิศเหนือ จดทางกับสาธารณะ ทางทิศใต้จดที่นาของชาวบ้าน ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกจดทางสาธารณะ
● วัดบ้านเหล่าตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๙ สภาพวัดเป็นที่ลาบลุ่ม ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ.๒๓๔๘ เขตวิสุงคามสีมากว่าง ๕ เมตร ยาว ๑๓ เมตร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นไม้ตะเคียน หลังคาสังกะสีเดิมเรียกว่าสิม (ปัจจุบันอุโบสถเป็นโครงสร้างเสริมเหล็ก ได้ทำการบูณะใหม่ในสมัยหลวงปู่สาธุ์ และหลวงปู่ประมวล มีอายุประมาณ ๔๕ ปี)
● อาคารเสนาสนะประกอบด้วย พระอุโบสถ ๑ หลัง
ศาลาการเปรียญ ๑ หลัง กุฏิหลังใหญ่สองชั้น ๑ หลัง
กุฏิกลางสองชั้น ๑ หลัง (กุฏิหลวงปู่ประมวล ญาณวโร )
กุฏิเล็กพระภิกษุ ๓ หลัง ซุ้มประตูจำนวล ๒ ซุ้ม อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก (ซุ้มใหญ่ได้ทำการบูรณะใหม่ พ.ศ.๒๕๕๕ )
พระประธานในอุโบสถปางชนะมาร ชื่อ พระพุทธโลจนาถบวรรัตนธรรมราช
● โบราณวัตถุ พระพุทธรูปจำนวน ๘ องค์ มีทั้งที่ทำจากไม้ ทองเหลืองและปูน ใบลาน เป็นลานยาว จำนวน ๗๐ ผูก ศาลาธาตุอัฏฐิหลวงปู่สาธุ์ ธาตุอัฏฐิหลวงปู่ประมวล ธาตุอัฏฐิบูพาจารอดีตเจ้าอาวาส รูปเหมือนหลวงปู่สาธุ์องค์ใหญ่ และรูปหล่อหลวงปู่สาธฺุเท่าองค์จริง ๑ องค์
● การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสปรากฏนามดังนี้
รูปที่ ๑ พระอธิการสาธุ สุขธัมโม
รูปที่ ๒ พระครูประสาทสมณกิจ (หลวงปู่ประมวล ญาณวโร )
รูปที่ ๓ พระอธิการบุญเหลือ สุขธัมโม
รูปที่ ๔ พระอธิการบัวลา อิสโร
รูปที่ ๕ พระอธิการเส็ง สุธีโร
รูปที่ ๖ พระบุญถม อภิวังโส (รูปปัจจุบันรักษาการเจ้าอาวาส)
● วัดบ้านเหล่ามีอีกนามหนึ่งคือ วัดสุขธัมมาราม เป็นการตั้งนามวัดโดยหลวงปู่ประมวล ญาณวโร เป็นนามวัดอย่างไม่เป็นทางการเนื่องจากการเปลี่ยนชื่อวัดนั้นต้องได้รับการอนุญาติจากที่ประชุมเถรสมาคม และตามระเบียบกฏหมายมหาเถรสมาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ฉบับแก้ไขปรับปรุง พ.ศ.๒๕๓๕ สุขธัมมารามแปลว่า อารามผู้มีสุขในธรรม ฉนั้นผู้ที่มาทำบุญในวัดบ้านเหล่า ชื่อว่าเป็นผู้มาสู่ที่อยู่อย่างมีความสุขในธรรม เพราะเจอธรรมะจนเกิดความร่มเย็นกายร่มเย็นใจ มีความสุขที่ได้เข้ามาวัดบ้านเหล่า