วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

ประวัติหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก (หลวงพ่อใหญ่) วัดทุ่งสามัคคีธรรม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม จ.สุพรรณบุรี

บุคคลที่เกิดมาแล้วมีสติปัญญา พิจารณาตรึกตรอง มองเห็นทุกข์ภัย มองเห็นความคละแคล้วแปรปรวน ชีวิตหมุนเวียนเหมือนกระแสน้ําวนลงสู่เบื้องต่ําอยู่เป็นนิจ

แต่เมื่อได้หันจิตใจสละกายวาจาใจออกบวชในบวรพระพุทธศาสนา แล้วได้ประพฤติปฏิบัติตามคําสั่งสอนของพระ ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เพื่อการทําดีที่สุดแห่งทุกข์ของจิตใจ ทุกๆคน คือความไม่เกิด ความไม่แก่ ความไม่เจ็บ ความไม่ต้องตายอีกต่อไป นั่นหมายถึง พระนิพพานเป็นที่สุด!

ปุถุชนธรรมดาทุกคน มองเห็นความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นของที่ทุกคนไม่ต้องการ ถึงอย่างไรก็หนีไม่พ้น ต้องตายจนได้ นี้แหละท่านเรียกว่ากฎตายตัว !

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ในฐานะเป็นครูบาอาจารย์ฝ่ายพระธุดงคกรรมฐานองค์หนึ่ง มักสั่งสอนด้วยธรรมะว่า…

แม้ทุกคนกลัวทุกข์ ก็ขอให้พวกเราพยายามสร้าง ศีล สมาธิ ปัญญา ภาวนาให้เกิด ให้มีขึ้นในใจของตน ให้กระดูกของเรามันกองบนพื้นดินเป็นครั้งสุดท้าย เออ…พอเสียที่สําหรับการเกิดและการตาย

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก นามเดิมของท่านเชื่อว่า สังวาลย์ จันทร์เรือง เกิดเมื่อวันจันทร์ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๗๑ ณ ตําบลหนองผักนาก อําเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

บิดาชื่อ นายห่วง มารดาชื่อ นางวาส นามสกุล จันทร์เรือง

ในชีวิตฆราวาส ท่านหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ได้ผจญมาแล้วทั้งสิ้น ทั้งความสุขทุกข์ยาก ท่านเป็นชาวนาที่ขยันหมั่นเพียรทํางานเลี้ยงครอบครัวยกฐานะให้ดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งท่านไม่สามารถเอาวิชาทางโลกมารักษาได้ คือ ความ เจ็บป่วย

ภายหลังท่านได้มาเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ท่านสนใจเป็นพิเศษ แล้วได้ ปฏิบัติดูจนบังเกิดผลอันยิ่งใหญ่ตามมา คือความรอบรู้สว่างไสวในธรรมะนั้น ๆ ได้ การภาวนาสมถะและวิปัสสนากรรมฐานท่านได้ลงมือปฏิบัติมาก่อนสมัยเป็นฆราวาสและนานถึง ๒ ปี เต็ม ๆ

หลวงพ่อสังวาลย์ หรือ พระอาจารย์สังวาลย์ สุดแต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาจะเรียกหา ก็ได้รับรู้ความเข้าใจในธรรมะปฏิบัตินั้นแล้ว ท่านจึงตัดสินใจบอกลาญาติมิตรครอบครัว ขออนุญาตอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ ครองเพศสมณะในพระบวรพุทธศาสนา ไปตลอดชีวิต…เมื่ออายุของท่านได้ ๓๕ ปี

ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๔ ณ พัทธสีมา วัดนางบวช อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี

โดยมีท่านพระครูแขก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ทองย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการไสว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “เขมโกภิกขุ

พระภิกษุที่มองเห็นภัยในวัฏสงสาร เมื่อได้บวชเข้ามาตามประสงค์แล้วก็ไม่นิ่งดูดาย

ท่านได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจลงสู่ภาคปฏิบัติธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เดินตามคลองธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนไว้ แม้ในครั้งนั้น ถ้าท่านจะศึกษาพระปริยัติ ธรรมก็ไม่ได้ด้วยเหตุที่ว่าท่านมิได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย และหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก เพียงได้ศึกษารู้พระธรรมวินัยข้อบทบัญญัติสงฆ์เท่านั้น ก็มุ่งการปฏิบัติภาวนาธรรมอย่างเต็มที่ โดย อาศัยป่าช้าวัดบ้านบึง อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ทั้งนี้ท่านได้รับการแนะนําอุบายธรรมะจาก ท่านพระอาจารย์มหาทอง โสภโน เป็นพระวิปัสสนาจารย์คอยเป็นผู้ชี้แนวทางให้

พระอาจารย์สังวาลย์ เขมโก ท่านได้ถือเคร่งในธุดงควัตร เช่น มีการฉันหนเดียวนฉันในบาตร บิณฑบาตเป็นวัตร

ตลอดเวลาในการอยู่ป่าช้า บ้านบึง ๕ ปี ทําให้ ท่านพระอาจารย์สังวาลย์ เขมโก มองเห็น สภาพความเป็นจริงของโลกเพ่ง เพียรมองดูศพคนตายคนแล้วคน เล่า พิจารณาเป็นธรรมโดยตลอด เมื่อมามองดูตนเอง ก็เห็นเป็นสภาพเดียวกันคือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ท่านยิ่งเพิ่มทําความเพียรมากยิ่งขึ้น

ธรรมะที่ผู้ปฏิบัติทั้งหลาย กระทําเพื่อความรู้แจ้งนั้น มีผลแห่งการปฏิบัติคือ ความสว่าง ความสงบ ความเป็นผู้รับผู้อื่น เบิกบานกับความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตใจ พร้อมทั้งเปี่ยมล้นพรั่ง พร้อมด้วยสติปัญญา มีอิทธิบาท ทั้ง ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา รวมกับวิปัสสนาญาณ ประหารมารภายในและภายนอก ฆ่าเสียความโง่เขลาเบาปัญญา คือ ตัวอวิชชา ได้สิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้เอง หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก เกิดอํานาจจิตใจ ปัญญาสว่างไสว อดีตไม่เคยอ่านหนังสือเรียนหรือเรียนหนังสือเลย แต่เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว ท่านสามารถอ่านออก เขียนได้อย่างน่าอัศจรรย์

ท่านพระอาจารย์สังวาลย์ เขมโก ท่านยังไม่ยอมอยู่นิ่ง เที่ยว ออกหาครูบาอาจารย์ผู้มีความชํานาญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ไม่ยอมขาดตอนภาคปฏิบัติสมเป็นธรรมทายาท ผู้สืบต่อพระพุทธศาสนารับต่อมรดกอมตะธรรมอันล้ําค่านี้ต่อไป

ดังนั้น หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก จึงออกเดินทางมารับการฝึกอบรมธรรมกับ ท่านเจ้าคุณเทพสิทธิมุนี หลวงพ่อสงฆ์ พรหมสโร , หลวงปู่บุดดา ถาวโร สมัยเมื่อท่านอยู่เขาย้อย จ.เพชรบุรี

การพัฒนาศาสนสถาน ท่านได้ก่อสร้างสถานที่อันเป็นที่สงบ สมัยเดินธุดงค์ไปพบ และได้สร้างวัดอันถาวรขึ้นชื่อ วัดไกลกังวล บนไหล่เขาสารพัดดีศรีเจริญธรรม ต.บ้านเชี่ยน อ.หันคา จ.ชัยนาท

และได้อยู่เป็นประธานสงฆ์ อบรมธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนถึงชีพราหมณ์ อุบาสก อุบาสิกา ที่เดินทางมา จากต่างถิ่นเพื่อประพฤติปฏิบัติ อยู่กับท่าน

ต่อมา หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ได้มาเป็นประธานนั่งหนัก เพื่อก่อสร้างวัดใหม่ทั้งหมด คือ ตั้งแต่เสนาสนะ พระอุโบสถ หอ สวดมนต์ หอฉันศาลาการเปรียญ ต.หนองผักนาก อ.สามชุก จ. สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นวัดในถิ่นบ้าน เกิดของท่าน

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างสําเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะเป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมที่โอ่อ่า สง่างาม และยังเป็นพุทธสถานอัน สงบสัปปายะทางใจอีกด้วย

เราพุทธบริษัทควรจดจําคําตรัสของพระพุทธเจ้าว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ผู้ใดประมาทแล้ว ถึงมีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายแล้ว

คำเทศนาเป็นธรรมที่ง่ายๆ อาทิ

“เมล็ดผัก เมล็ดต้นไม้จะกลายพันธุ์ไม่ได้ แต่จิตของคนมันมีความถี่เหมือนกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นถี่มาก ตะเกียงที่เรามองเห็นว่าเป็นแสงสว่างดวงเดียว แต่จริงแล้วมันเป็นคลื่นติดๆ กันมาถี่มาก เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จิตของคนเราก็มองไม่เห็นเหมือนกับไฟนี่แหละ”

วัตรปฏิบัติที่งดงามตลอดเวลาที่อยู่ในเพศบรรพชิต ของหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก ได้ดำเนินรอยตามบรมศาสดาเจ้าอย่างไม่มีสิ่งด่างพร้อย จึงยกให้เป็นพระดีศรีสุพรรณอีกรูป

หลวงปู่สังวาลย์ เขมโก มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๒ มิ.ย. พ.ศ. ๒๕๔๗ สิริอายุ ๘๘ ปี พรรษา ๕๕