วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร

ประวัติและปฏิปทา พระครูภาวนากิจโกศล (หลวงปู่สอ พันธุโล) วัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร

หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง

พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า แห่งวัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร หลวงปู่สอ พันธุโล มีความเคร่งครัดในการปฏิบัติ จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน ท่านมีพระคู่บารมีที่ได้จากสมาธิ คือพระพุทธสิริสัตตราช หรือหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ พระพุทธรูปปางนาคปรกที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ จึงมีการสร้างองค์จำลองขนาดใหญ่ไว้ตามเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย

หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง จ.ยโสธร

หลวงปู่สอ พันธุโล เกิดในสกุล ขันเงิน เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๔ ที่บ้านทุ่งมน ต.ทุ่งมน อ.ลุมพุก จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันคืออำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร)

โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายตา ขันเงิน และ นางขอ ขันเงิน มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๒ คน เป็นชายทั้งหมด ท่านเป็นบุตรชายคนโต

ในสมัยหนุ่มเป็นฆราวาสนั้น นายสอเป็นคนที่ชอบสนุกสนานร่าเริง เข้ากับหมู่คณะได้ทุกคน ขณะเดียวกัน ยังเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความสามารถในการกล่าวกลอนสด (ผญา) ของคนอีสาน เป็นที่ชอบใจของผู้ฟัง แม้เรียนจบเพียงแค่ชั้นป.๓
ถึงจะชอบสนุกสนาน รื่นเริง แต่มีนิสัยประจำตัวอย่างหนึ่ง คือ ความอดทน ความขยันหมั่นเพียร นับว่าเป็นคุณสมบัติอันสำคัญยิ่งที่ส่งผลให้การทำความเพียรของท่านในภายหลัง จากอุปสมบทแล้วมีความเด็ดเดี่ยวมั่นคงและเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ

กระทั่งอายุได้ประมาณ ๒๐ ปี ได้แต่งงานกับนางบับ หญิงสาวชาวบ้านเดียวกัน
หลังจากแต่งงานมีครอบครัว ด้วยความเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำให้ต้องตื่นแต่เช้าขยันทำการงาน หนักเอาเบาสู้ โดยหวังจะให้ภรรยาและลูกๆ มีความสุข บางครั้งต้องเดินทางรอนแรมไปต่างจังหวัด เพื่อหาเงินมาจุนเจือเลี้ยงครอบครัว

ต่อมาท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต ตัดสินใจบอกภรรยาว่าจะขอออกบวช
ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ ขณะอายุได้ ๓๒ ปี นายสอ ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นครั้งแรก ณ พัทธสีมา วัดสร่างโศรก ต.ในเมือง อ.ยโสธร จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ วัดศรีธรรมาราม อ.เมือง จ.ยโสธร) มีพระครูปลัดบุญสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์

ภายหลังอุปสมบท พระสอ มีความพอใจมาก มีความปลอดโปร่ง เกิดความสงบเยือกเย็น มองเห็นชีวิตแห่งการบวชเป็นทางที่จะแสวงหาความสุขได้อย่างแท้จริง
ในการบวชครั้งนี้ ท่านพยายามที่จะทำตามกำหนดเวลาของภรรยา คือ บวช ๑๕ วัน แต่ในขณะที่บวชอยู่นั้นมีความรู้สึกสบายกายสบายจิต คิดว่าจะบวชให้นานที่สุด และท่านก็ได้ขอผัดผ่อนภรรยาเรื่อยมา

สุดท้ายเมื่อครบ ๑๕ วัน ท่านก็ไม่ได้สึกตามที่ภรรยากำหนดไว้ จึงทำให้ท่านได้อยู่ในเพศบรรพชิตและปฏิบัติธรรม แสวงหาความสงบ

ปี พ.ศ.๒๔๙๖ ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งขณะนั้นหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้แนะนำสั่งสอนข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดถึงในการอบรมด้านสมาธิภาวนา

หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ

แต่ด้วยสาเหตุจากครอบครัวทำให้ท่านจำใจต้องลาสิกขา แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ท่านก็ตั้งใจว่าเมื่อมีโอกาสจะกลับมาบวชอีก

ปี พ.ศ.๒๕๐๑ หลวงปู่สอ ท่านได้อุปสมบทอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๑ ขณะมีอายุ ๓๗ ปี ณ พัทธสีมา วัดศรีธรรมาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ยโสธร โดยมีพระครูปลัดบุญสิงห์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสังฆรักษ์ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และพระมหาสาย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พันธุโล

เมื่อได้อุปสมบทแล้ว หลวงปู่สอ พยายามฝึกฝนอบรมตัวเอง ด้วยการทำข้อวัตรปฏิบัติ และฝึกสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ท่านได้เร่งประกอบความเพียรมากขึ้นโดยลำดับ

ครั้นมีปัญหาอุปสรรคจากการภาวนา ท่านจะเข้าไปกราบเรียนขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์ผู้ที่เคารพนับถืออยู่เสมอ พระมหาเถระที่หลวงปู่ท่านให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง และไปพักปฏิบัติธรรมรับการแนะนำสั่งสอนจากท่านเป็นประจำ คือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน และ หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

นอกจากนี้ ยังมีครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เคยเดินทางไปธุดงค์ด้วยกัน อาทิ หลวงปู่สาม อกิญจโน, หลวงปู่บัวพา วัดป่าพระสถิตย์, หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ และ หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร เป็นต้น

(ซ้าย) หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (ขวา) หลวงปู่สอ พันธุโล
หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง จ.ยโสธร

ในพรรษาแรกนี้ หลวงปู่สอ ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดบ้านหนองแสง ศึกษาอบรมข้อปฎิบัติอยู่กับหลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ (ปัจจุบันท่านอยู่วัดป่าศิลาพร จังหวัดยโสธร ) พอออกจากพรรษาแล้วท่านจึงเดินทางไปจังหวัดอุดรธานี เพื่อศึกษาข้อวัตรปฎิบัติกับหลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งในครั้งนั้น ท่านต้องเดินทางธุดงค์รอนแรมพักภาวนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้เร่งรีบอะไร กว่าจะถึงจังหวัดอุดรธานีก็ใช้เวลาหลายวัน และเมื่อเข้าสู่วัดป่าบ้านตาดอันเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มีชื่อเสียงที่ท่านปรารถนาแล้ว ก็เข้าถวายสักการะหลวงปู่บัว ญาณสัมปันโน มอบถวายกายใจให้ท่านอบรมสั่งสอน และทำให้การปฏิบัติธรรมของท่านก้าวหน้าไปโดยลำดับ

ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ ซึ่งเป็นพรรษาที่สองของหลวงปู่สอ พันธุโล ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ในพรรษานี้ท่านได้เร่งความเพียร เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ศึกษาอบรมกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณธรรม และในพรรษานี้เองที่หลวงปู่สอ ท่านได้นิมิตเห็นงูใหญ่ ตัวสีทอง เลื้อยเข้ามาหาในกุฎิในขณะนั่งสมาธิอยู่แล้วดันตัวท่านขึ้นขนดลำตัวเป็นวงกลมให้ท่านนั่ง
ซึ่งนิมิตอันนี้เองเป็นจุดที่เริ่มต้นที่จะให้ได้มาซึ่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ “หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์” อันเป็นพระพุทธรูปคู่บุญบารมีหลวงปู่สอ ท่านเล่าว่าเมื่อปรากฏนิมิตเช่นนั้นแล้ว ท่านได้เล่าถวายหลวงปู่บุญมีฟัง ต่อมาเมื่อหลวงปู่มหาบัวทราบ จึงได้เรียกท่านไปสอบถามความเป็นไปต่าง ๆ ในขณะเกิดนิมิต และสุดท้ายหลวงปู่มหาบัว ท่านได้สั่งกำชับไม่ให้พูดให้ใครฟังอีก มันจะเกิดอะไรขึ้นก็อย่างไปสนใจให้พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะหากเราส่งใจหลงใหลได้ปลื้มไปกับนิมิตที่ปรากฏ จะทำให้การปฏิบัติธรรมเนิ่นช้า และอาจเกิดวิปลาส ได้ง่าย หลวงปู่สอ เอง ท่านก็รับฟังคำแนะนำ ตักเตือนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ด้วยดี

พอถึงฤดูกาลออกพรรษา ซึ่งเริ่มย่างเข้าฤดูหนาวหลวงปู่สอ ได้กราบลาพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน ไปเที่ยวธุดงค์ แถวจังหวัดหนองคาย และจังหวัดเลยเพื่อหาประสบการณ์ ในสมัยนั้นเมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว ทั้งสองจังหวัดนี้ป่าเขายังอยู่อุดมสมบูรณ์มาก อาจเรียกได้ว่าเป็นลักษณะป่าช้าดงเสือ เมื่อเดินทางผ่านไปพบสถานที่ใดเหมาะแก่การเจริญจิตภาวนาท่านก็จะหยุดพักภาวนา ๗ วันบ้าง ๑๕ วันบ้าง บางแห่งพักนานเป็นเดือน ๆ ก็มี และมีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านไปพักอยู่บ้านนาบะฮี มีอาชีพเป็นชาวไร่ทำมาหากินกันอยู่ ๓ ครอบครัว ท่านได้อาศัยญาติโยมทั้ง ๓ ครอบครัวนี้ในการบิณฑบาต บางวันก็ได้ข้าวกับเม็ดกะบก บางวันก็ข้าวกับพริก และปลาร้า ท่านบอกว่าแม้อาหารการฉันจะอัตคัดขัดสน แต่การทำความพากเพียรทำสมาธิภาวนาดีมาก จิตใจมีความปลอดโปร่งสบายไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นกังวลกับสิ่งใดๆ ตรงที่หลวงปู่สอ พักภาวนานี้ เป็นถ้ำที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำพระ” ถ้ำแห่งนี้สมชื่อสมนามจริงๆ เพราะคนจะอยู่ได้ต้องมีจิตใจเป็นพระ คือ ต้องมีความอดทนเข้มแข็งจริง ๆ ถ้าใครอยากจะเป็นพระให้มาภาวนาที่ถ้ำนี้ เมื่อเที่ยวธุดงค์ แสวงหาความสงบเย็นใจไปตามจังหวัดต่าง ๆ พอสมควรแล้ว หลวงปู่สอ จึงวกกลับมาทางจังหวัดอุดรธานีอีกครั้ง

สุดท้าย หลวงปู่สอ ได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามที่ พระครูภาวนากิจโกศล

หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์
หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง จ.ยโสธร

หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เชื่อกันว่า มีพุทธานุภาพสามารถบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ยังความชุ่มฉ่ำเย็นแก่พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล องค์จริงนั้น เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกหล่อสัมฤทธิ์โบราณ ตามการสันนิษฐานของกรมศิลปากร มีอายุประมาณ ๘๐๐ ปีเศษ มีพุทธลักษณะคล้ายศิลปะเชียงแสนหรือเวียงจันทร์ ขนาดฐานกว้างประมาณ ๑๐ นิ้ว สูงประมาณ ๑๕ นิ้ว น้ำหนักประมาณ ๑๐ กิโลกรัม พุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นพระพุทธรูปที่มีงูใหญ่ ๗ ตัว ๗ หัว แผ่คลุมองค์พระซึ่งไม่เหมือนกับพระพุทธรูปปางนาคปรกโดยทั่วไปที่มีพญานาค ๑ ตัว ๗ หัวบ้าง ๕ หัวบ้าง พระพุทธรูปลักษณะนี้มีอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งอยู่ในเจดีย์นครปฐม อีกองค์หนึ่งเป็นพระคู่บารมีของพระครูภาวนากิจโกศล (หลวงปู่สอ พันธุโล) วัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร ซึ่งอยู่กับท่านมานานกว่า ๓๐ ปีแล้ว

ด้วยวัยชราภาพ หลวงปู่สอ มีอาการอาพาธเป็นประจำ คณะศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่สอ ได้นิมนต์ท่านไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลยโสธร จนกระทั่ง วันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒ เวลา ๑๕.๔๗ น. หลวงปู่สอ ได้มรณภาพด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ ๘๘ ปี ๔ เดือน ๔ วัน พรรษา ๕๑

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวเมืองยโสธร ที่ได้สูญเสียพระอริยสงฆ์อันเป็นเสาหลักอย่างไม่มีวันกลับคืน

อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง
อัฐิธาตุ ของท่าน หลวงปู่สอ พันธุโล วัดป่าบ้านหนองแสง

ธรรมโอวาท หลวงปู่สอ พันธุโล

“…ธรรมะมันเป็นเครื่องรักษาเรา รักษาทรัพย์ คือจิตใจ ถ้าใจของเราสะอาดหรือใจของเราสงบ สบาย นั่นธรรมะครอบงำเราอยู่ รักษาเราอยู่ให้เราปฏิบัติใจ เพราะธรรมะทั้งหมดมันอยู่ที่ใจ ให้เราเข้าใจอย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ที่อื่น…”

“…โลกนี้เป็นของสมมุติ สมมุตินั้น สมมุตินี่ ถ้าเราตัดความสมมุตินี้ได้ เราก็จะถึงวิมุติความหลุดพ้น ในโลกนี้ไม่มีอะไรติดตัวไปได้เลย นอกจากความดีและความชั่วเท่านั้น..”

“…ธรรมะมันเป็นเครื่องรักษาเรา รักษาทรัพย์ คือจิตใจ ถ้าใจของเราสะอาดหรือใจของเราสงบ สบาย นั่นธรรมะครอบงำเราอยู่ รักษาเราอยู่ให้เราปฏิบัติใจ เพราะธรรมะทั้งหมดมันอยู่ที่ใจ ให้เราเข้าใจอย่างนั้น อย่าไปเข้าใจว่าธรรมะมันอยู่ที่อื่น ประวัติของหลวงพ่อที่ได้ หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์มา อันนี้ก็ไม่ได้เกิดจากไหน เกิดจากใจ ใจเป็นของสำคัญในร่างกายของคนและสัตว์ จึงควรรักและสงวนอบรมให้ดี เมื่อใจจะดีได้ต้องมีธรรมเหนือกว่า คือ สติปัญญา สติปัญญาตัวนี้เราปฏิบัติสติธรรมดาของเราให้เป็น มหาสติ ปฏิบัติปัญญาธรรมดาให้เป็นมหาปัญญา ขึ้นมาแล้วเราก็ค่อยๆ รู้ไป แล้วก็จะแก้ตัวของเราได้ ตัวของเราไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนแล้วแต่แบกกองทุกข์ทุกคน ตลอดจนตัวอาตมาก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักไม่ยึดตัวนี้มาเป็นเรา เป็นของเรา ตาเห็นก็ว่า เราเห็นเรารู้ มันไปยึดหมดละตัวนี้ เราไม่รู้ว่าตัวนี้มันเป็นกองทุกข์..”