ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สอน ปภสฺสโร
วัดศรีธรรมราช บ้านพอกใหญ่
อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่สอน ปภสฺสโร เกิดเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๑๗ ในตระกูล แก้วดี บิดามารดาของท่านมีบุตรด้วยกันสองคน คนพี่ชื่อ มา เป็นผู้หญิง ส่วนหลวงปู่เป็นน้องชื่อ สอน เกิดที่บ้านนาล้อม จากนั้นบ้านเดิมเกิดไฟไหม้เสียหาย พ่อแม่พี่น้องจึงพากันอพยพย้ายเข้ามาที่บ้านพอกใหญ่ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ
ต่อมาพ่อแม่ของท่านเสียชีวิตจากไป ทิ้งความอาลัยอาวรณ์ ไว้ให้กับลูกทั้งสอง ให้อยู่ตามลำพัง และได้อาศัยอยู่กับพี่ป้าน้าอามาหลายปี จนนางมาผู้เป็นพี่สาวได้เจริญเติบโตขึ้น แล้วแต่งงานกับนายเชียงโคตร ทั้งสองอยู่กินกันตามประสาผัวเมียและพากันเลี้ยงน้องชาย (หลวงปู่) จนเจริญเติบโต ท่านช่วยงานพี่สาวและพี่เขยตลอดมา จนอายุได้ ๑๒ ขวบ
ท่านเป็นคนขยัน ซื่อสัตย์ อดทน พูดน้อย แต่ใจหนักแน่น เด็ดเดี่ยว เชื่อมั่น ในตนเองตั้งแต่ยังเล็ก อีกทั้งเป็นคนมีนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับทุกคน ไม่ชอบทะเลาะวิวาท เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้สาวพี่เขยแปลกใจ ในตัวน้องชายทั้งสอง
จึงพากันไปปรึกษากับเจ้าอาวาส วัดศรีธรรมราช บ้านพอกใหญ่ ว่าน้องชายที่ชื่อว่า นายสอน แก้วดี นี้โตพอที่จะบวชเรียนได้หรือยังและได้เล่าเรื่องอุปนิสัย ใจคอให้เจ้าอาวาสฟังอย่างละเอียดและเจ้าอาวาส ตอบว่าถ้าเช่นนั้นก็ให้เอาตัวนายสอน ลงมาเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เสียก่อน พออ่านออกเขียนได้จึงค่อยบวชเรียนทีหลัง นายเชียงโคตรและนางมาผู้เป็นพี่เขย – พี่สาว จึงเอานายสอนเข้าไปมอบให้กับท่านเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมราช เพื่อบวชเรียนเขียนอ่านศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป
ด.ช.สอน แก้วดี ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนอ่านออกเขียนได้ แต่ในสมัยนั้นเป็นหนังสือใบลานและตัวหนังสือเป็นตัวธรรมและตัวขอม เด็กชายสอน แก้วดี โตขึ้นมีอายุได้ ๑๗ ปี พอที่จะบวชสามเณรได้ จึงได้ให้พี่เขย – พี่สาว และญาติพี่น้องจัดหา สบง จีวร เพื่อจะบรรพชาต่อไป
◎ บรรพชา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ นายสอน หรือ เด็กชายสอน แก้วดี มีอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้บรรพชา เป็นสามเณร ณ วัดศรีธรรมราช บ้านพอกใหญ่ อยู่กับพระอาจารย์ เจ้าอาวาส การบรรพชา หรือบวชในสมัยนั้นนับว่ายากลำบากพอสมควร เพราะพระอุปัชฌาย์มีอยู่ที่อำเภอที่เดียว ท่านจึงอนุญาตให้เจ้าอาวาสบวชได้เฉพาะสามเณร หากจะบวชเป็นพระจะต้องไปบวชที่อำเภอ สามเณรสอน เมื่อบวชแล้วก็มาอยู่ที่วัดศรีธรรมราช และศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่นั้น
การเรียน ในสมัยนั้นจะต้องเรียนแบบปากต่อปาก ตัวต่อตัว โดยพระอาจารย์ไม่ให้จับหนังสือเลย หนังสือก็เป็นใบลานตัวอักษรธรรม หรืออักษรขอม สามเณรสอนก็พยามยามขยันมั่นเพียร และ อดทนต่อการเรียน พระอาจารย์ท่าน จะให้แบบสวดมนต์ซึ่งท่านเรียกว่า มนต์น้อย มนต์กลาง ซึ่งปัจจุบันเขาเรียกว่า เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน พร้อมกับเรียนควบคู่ไปกับพระธรรมวินัย ส่วนการเทศน์การเรียนตามหนังสือใบลานเช่นเดียวกัน โดยท่านจะให้เรียน มะลัยหมื่น มะลัยแสน เสียก่อน เพราะเรียนได้ง่ายไม่มีตัวสลับซ้ำซ้อนมาก เมื่อแล้วก็เรียนเล่มอื่นต่อไป ถ้าภิกษุหรือ สามเณรรูปใดต้องการเรียนสูงขึ้นไป พระอาจารย์ก็ส่งไปศึกษาเล่าเรียนที่สำนักอื่น คือเรียน แบบเรียนหนังสือใหญ่ หรือเรียนแบบเทศน์แก้โจทย์ พร้อมเรียนแปลภาษาบาลีธรรมบทไป พร้อมกัน แต่สมัยนี้เขาคัดออกมาเป็นเล่ม เป็นภาค เป็นตอน
ทำให้ศึกษาเล่าเรียนได้ง่ายขึ้น คือขั้นต้น ต้องเรียนภาษาบาลีไวยากรณ์ จบแล้วก็แปลธรรมบท สอบมหาเปรียญ ตั้งแต่เปรียญ สามประโยค หรือเรียกง่ายๆ ว่า เปรียญธรรม ๓ จนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ส่วนแผนกธรรมก็แบ่งออกเป็นนักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมชั้นเอก เรียนแบบนี้เรียกว่า ผ่ายคันถะธุระ
◎ อุปสมบท
หลวงปู่สอน ปภสฺสโร ท่านไม่ต้องการเรียนคันถะธุระ ท่านต้องการเรียนแบบวิปัสสนาธุระ เรียนเพื่อทำความสงบด้านจิตใจแสวงหาธรรม เป็นเครื่องชาระจิตใจให้สะอาดหมดจด เพื่อทำลายกิเลสอาสาวะ ทำใจให้หมดจากเครื่องเศร้าหมองใจ โดยการบำเพ็ญตบะธรรม คือใช้ธรรมเป็นเครื่องเผากิเลสให้หมดไป เพื่อปราศจากเวรกรรม ท่านจึงได้แสวงหาธรรมชั้นสูงต่อไป
เมื่อสามเณรสอนมีอายุได้ ๒๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดอุฒาจารย์ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมี พระอาจารย์เหลา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ทิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์บุญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายยาว่า “ปภสฺสโร” แปลว่า “ผู้มีความรุ่งเรือง”
เมื่อบวชแล้วก็อยู่ที่วัดศรีธรรมราชตามเดิม แล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป การเรียนอยู่ที่วัดนี้ประมาณ ๕ พรรษา พระในสมัยนั้น พระผู้บวชแล้วจะต้องอยู่กับพระอุปัชฌาย์ หรืออาจารย์ถึง ๕ พรรษา ซึ่งเรียกว่า พระนวกะ คือ ผู้บวชใหม่ เมื่อพ้นจากการเป็นพระนวกะ หรือ มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว จึงได้อาลาจากพระอาจารย์จาริกธุดงค์ไป เพื่อแสวงหาพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงในทางวิปัสสนา จึงได้แวะเข้าไปที่พักอยู่ที่ วัดบ้านอูนยางคำ ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เพื่อทำความสงบต่อไป
◎ หลวงปู่สอน เมื่อครั้งอยู่วัดบ้านอูนยางคำ
ในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงปู่สอนได้จาริกเพื่อแสวงหาสถานที่ทำความเพียร โดยมี พระอาจารย์ทนต์ และสามเณรศรีจันทร์ เดินธุดงค์ไปด้วย และได้แวะเข้าจาพรรษาอยู่ที่บ้านอูนยางคำ ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นเวลานานประมาณถึง ๑๐ ปี ระยะที่อยู่ในบ้านอูนยางคำ ได้พาญาติโยมสร้างกุฏิ ๑ หลัง กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๕ เมตร สร้างอยู่ ๑ ปี จึงสำเร็จ แล้วจึงย้ายออกไปอยู่วัดบ้านเดียวกัน ที่วัดนี้ท่านได้ปลูกต้นโพธิ์ไว้สองต้นแต่ต้นหนึ่งตายไป คงเหลือต้นเดียวที่ชาวบ้านยังรักษาอยู่ไม่ให้ทำลาย รักษาไว้เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ของหลวงปู่สอน
เมื่อเข้าไปอยู่ที่วัดนี้ ท่านก็เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยท่านออกไปนั่งสมาธิตลอดวัน ถึงจะมีแดดร้อน ท่านก็จะไม่เข้ากุฏิหรือร่มเลย เพื่อหวังบรรลุผลตามที่ตั้งใจเอาไว้ จนญาติโยมเห็นจึงเอาร่มไปบังแดดให้ แต่หลวงปู่ไม่ยอมให้บังร่มและให้เก็บไปทิ้ง ท่านทำการปฏิบัติอยู่ที่วัดนี้ประมาณ ๒ ปี ผลก็ยังไม่ปรากฏหรือยังไม่บรรลุตามความตั้งใจเอาไว้ จึงได้มีจิตใต้สำนึกว่า การบำเพ็ญภาวนาวิปัสสนากกรมฐาน จะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ชำนาญในการเจริญวิปัสสนา เมื่อเป็นเช่นนี้หลวงปู่จึงได้สืบหาครูบาอาจารย์ด้านวิปัสสนา
ต่อมาได้ทราบว่ายาคูสีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ซึ่งท่านประจำอยู่ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระวิปัสสนาจารย์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ร่ำลืออยู่สมัยนั้น จึงได้ไปนมัสการท่านขอคำแนะนำแนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ส่วนพระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ก็ยินดีแนะแนวทางปฏิบัติให้แก่หลวงปู่สอน
ครั้นเมื่อหลวงปู่ได้รับคำแนะนำการปฏิบัติธรรมภาวนาทุกอย่างแล้ว ก็อำลาจากพระอาจารย์สีทัตถ์ ออกเดินธุดงค์ไปยังป่าเขาลำเนาไพร เที่ยวจาริกแสวงหาความวิเวก บำเพ็ญสมณะธรรมเรื่อยมา พอใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้แวะเข้าไปจำพรรษาอยู่ที่ วัดศรีบุญเรือง บ้านนางัว ตำบลนาหว้า จังหวัดนครพนม หลวงปู่พำนักอยู่วัดนี้เป็นเวลา ๓ พรรษา พอถึงฤดูแล้ง ได้เกิดไฟไหม้กุฏิท่าน หลวงปู่คงพิจารณาเห็นว่า สถานที่แห่งนี้ ไม่เป็นทีสัปปายะเท่าที่ควร จึงอำลาจากญาติโยมจากบ้านางัวจาริกเดินธุดงค์ไปโดยมุ่งขึ้นสู่ ภูล้อมข้าว เขตตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม ตามสมควรแก่ธรรมสืบไป
◎ การบำเพ็ญวิปัสสนา บนภูล้อมข้าว
การทำความเพียรเพื่อชำระกิเลสอาสาวะให้สิ้นไปของหลวงปู่นั้น พอสรุปนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาพอสังเขป ดังนี้
หลวงปู่สอน ปภสฺสโร ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรม คือ ท่านตั้งจิตอธิฐานบำเพ็ญเพียรทางด้านจิตใจทำให้สงบกิเลสแห้งไป โดยนั่งสมาธิอยู่ตลอดทั้งคืนทั้งวัน ไม่พูดกับบุคคลอื่น โดยทำจิตใจของตนให้หมดจดจากกิเลสอาสวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความโลภ ความโกรธและความหลง ความอิจฉา พยาบาทป้องร้าย ทั้งแก่ตนและบุคคลอื่น เมื่อท่านทำกิเลสทั้งหมดทั้งมวลให้หมดไป หรือให้เบาบางที่สุด แล้วก็ทำให้จิตของท่านสงบปราศจากกิเลสอาสวะทั้งปวง หลวงปู่จะไม่ต้องการสิ่งใดๆ และไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่ยึดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น เช่น ตาเห็นรูป จะสวย ขี้เหร่ น่ารักหรือน่าชัง ท่านวางเฉยได้ตลอด รส รูป กลิ่น เสียง โผฎฐัผพะ และธรรมารมณ์
ท่านพิจารณาได้อย่างท่องแท้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงเป็นเหตุทำให้ท่านวางเฉยอยู่ได้ ไม่มีความกังวลใดๆ เลย จนสุดท้ายแม้สังขารตัวเองก็ปล่อยวาง ไม่ยึดถือแม้ร่างกายมันจะทรุดโทรมลงไปก็ตาม ท่านก็คิดอย่างเดียวว่ายอมเป็นไปตามสภาพของสังขาร ตรงกับที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า อนิจจา วต สังขารา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดและมีความแปรผัน และดับไปในที่สุด ไม่มีอะไรเหลือแม้แต่วัตถุภายนอก ท่านก็ยิ่งไม่เก็บไว้หรือรักษาไว้ มีเท่าไหร่ท่านก็สละไปจนหมด ฉะนั้นปณิธานของท่านจึงแปลกกว่าภิกษุอื่นๆ โดยทั่วไปอยู่ อย่างเห็นได้ชัด
ท่านทำเช่นนี้หรือปฏิบัติเช่นนี้ ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ท่านไม่ได้มาคิด เพราะเหตุที่ว่าหลวงปู่มุ่งบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อต้องการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง อันจะไม่มาเวียนว่ายตายเกิดในชาติหน้าหรือภพหน้าอีก ยิ่งในเรื่องของความอยากได้ ความโกรธ ความหลงแล้ว เมื่อพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้ว เชื่อได้ว่า หลวงปู่สอน ท่านปลงได้สิ้นเชิง
◎ คุณธรรมของหลวงปู่สอน ปภสฺสโร
หลวงปู่สอน ปภสฺสโร เป็นพระเถระ ที่มักน้อย สันโดษ ยินดีเฉพาะของที่มีอยู่เท่านั้น ไม่มีการเก็บวัตถุสิ่งของใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งจีวรของท่านจะขาด จะเศร้าหมองจะดำอย่างไรก็ตาม ท่านไม่เคยคิดอยากได้ใหม่และไม่เคยเรียกร้องกับใคร ตลอดจนอาหารบิณฑบาตของท่านไม่เคยพูดว่า ต้องการฉันอาหารชนิดนั้น และภัตตาหารมีรสอย่างไร ก็ไม่เคยบ่นว่ารสเผ็ด รสเค็ม รสจืด หรือรสเปรี้ยว มีคนถวายไปอย่างไรท่านก็ฉันอย่างนั้น
อีกประการหนึ่งเรื่องปัจจัยภายนอกเช่น เงินทองของใช้ทุกอย่าง ไม่เคยเก็บ ถึงมีคนนำมาถวาย ท่านก็รับแต่ท่านจะไม่เก็บ เมื่อมีคนมาขอท่านจะสละทานให้เลย จะเป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย จะยากดี มีจน ท่านให้เลย เมื่อให้แล้วจะนำมาคืนอีกไม่ได้ ท่านไม่รับเพราะสละทานแล้ว สำหรับอาสนะ ที่สาหรับนั่ง หรือนอน ที่เขายัดนุ่นหรือสาลี ท่านจะไม่นั่ง ไม่นอน เมื่อมีญาติโยมนำมาถวาย ก็จะรับแต่จะไม่นั่ง ไม่นอน
อีกประการหนึ่ง เมื่อท่านพูดกับบุคคลทั่วๆ ไปจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ ทุกเพศ ทุกชั้น ทุกวัย ท่านจะใช้คำเดียว คือ ผู้ข้า ซึ่งเป็นคำแทนชื่อของหลวงปู่ ส่วนคำหยาบคาย กู – มึง – เอ็ง หรือแม้กระทั่งคำดุด่า เสียดสี บุคคลอื่น เป็นอันไม่มี เรื่องของ โลภ โกรธ หลง และความกลัวนั้นท่านได้ทำลายไปหมดแล้วตอนบำเพ็ญวิปัสสนาอยู่บนภูล้อมข้าว ยิ่งเรื่องความกลัวนี้ ไม่ว่าจะกลัวเจ็บ หรือกลัวตาย เป็นอันไม่มี ในฐานะศิษย์ผู้อุปฐากและรักษาท่าน ได้ทำการทดลองดูแล้ว จะเห็นได้ว่า คือ ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าพูดว่า.. “หลวงปู่บอกหวยบ่ถืก (ไม่ถูก) ระวังเขามาฆ่าเด้อ”
หลวงปู่พูดว่า ..“ผู้ข่าบ่ได่บอก (ไม่ได้บอก)” และพร้อมกันนั้นท่านก็ย้อนคำขึ้นมาว่า “หรือเจ้าจะฆ่าบ่” พร้อมกับโยนมีดที่ใช่สำหรับหั่นหมากให้และยื่นคอออกมาด้วยพูดว่า “เอาเลย” ข้าพเจ้าเห็นเช่นนั้นก็เลยยกมือไหว้ พร้อมกับกราบลงแทบเท้าขอโทษและคารวะท่าน และท่านก็ให้พรแล้วนั่งต่อไป เป็นเช่นนี้แสดงว่าความกลัวของท่านไม่มีแม้แต้น้อย แม้ชีวิตท่านยังย่อมสละใครจะฆ่าฟัน จะทำร้ายก็ไม่เคยหวั่นไหวเลย
◎ ความมหัศจรรย์ของหลวงปู่สอน ปภสฺสโร
หลวงปู่สอน นั้นท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีความมหัศจรรย์ที่ควรนำมากล่าว หรือยกย่องเพราะท่านเป็นพระวิปัสสนา ปฏิบัติสมณธรรมกรรมฐานถูกต้องตามพระวิปัสสนาจารย์ทั้งหลาย เมื่อพิจารณาดูการปฏิบัติของท่านแล้วย่อมเห็นได้ชัดว่า ท่านได้ปฏิบัติถูกต้องและน่าเคารพนับถือ เพราะท่านปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุถึงขั้น เจโตปริญาณคือญาณที่สามารถรู้จิตในของบุคคลอื่น และท่านทำตัวให้พ้นจากกิเลสได้ เช่น ความโลภ โกรธ หลง ตลอดทั้งกามกิเลส กามตัณหาเป็นต้น สามารถทำให้จิตใจสงบระงับจากกิเลสทั้งปวง หรือถ้าไม่หมดก็นับว่าเบาบางที่สุด ปราศจากเวรภัยต่างๆ ผู้เขียนจะขอนำความแปลกมหัศจรรย์ที่ปรากฏขึ้น ให้ลูกศิษย์ญาติโยมได้พิจารณาไตร่ตรองดูว่าเท็จจริงแค่ไหนอย่างไร
ครั้งหนึ่งท่านกล่าวเป็นคำพังเพยหรือปริศนาไว้ว่า..
“คนเมิดบ้าน ตำข้าวค๊กเดียว แคนดวงเดียวหมอลำพอฮ้อย ม้ามีเขา เสาออกดอก”
ซึ่งแปลได้ความว่า…“คนหมดทั้งบ้านทั้งเมือง ตำข้าวครกอันเดียว แคนแค่เล่มเดียว คนร้องนับร้อย ม้ากลับมีเขางอกออกมา เสาออกดอกเป็นผล”
เป็นคำพังเพยที่ท่านได้กล่าวไว้ก่อนบ้านเมืองที่เจริญเหมือนปัจจุบัน
“คนเมิดบ้าน ตำข้าวค๊กเดียว” แต่ก่อนนั้นชาวบ้านได้นาข้าวเปลือกไปตำจากข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารก่อนที่จะนำไปหุงหาอาหาร ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้โรงสีข้าว แทนครกแล้ว
“แคนดวงเดียวหมอลำพอฮ้อย” หมายถึงหมอลำหมู่ การแสดงหมอลำต่างๆ
“ม้ามีเขา” หมายถึง ม้าที่ใช้เป็นพาหนะ ในการเดินทางได้เปลี่ยนมาเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ได้คล่องแคล่ว
“เสาออกดอก” เห็นจะเป็นเสาไฟฟ้ามีโคมไฟฟ้าให้แสงสว่าง ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าคืออะไร เป็นอะไร เป็นอย่างไร
◎ อาพาธ มรณภาพ
ในระหว่างฤดูฝน คือเดือนสิงหาคม – กันยายน ในปีไหนนั้นผู้เขียนจำไม่ได้ คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นฝนตกหนักต่อกันหลายวัน ทำให้ลำน้ำอูนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำล้นตลิ่งและไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรบ้านพอกใหญ่ รวมทั้งกุฏิของหลวงปู่สอนด้วย ญาติโยมชาวบ้านทั้งหลายต่างวิตกว่าน้ำจะท่วมกุฏิท่าน จึงไปดูที่วัดเห็นน้ำขึ้นมากถึงพื้นกุฏิของหลวงปู่แล้ว จึงได้ขอนิมนต์ท่านขึ้นไปศาลาการเปรียญ แต่หลวงปู่ไม่ยอมขึ้นไปพร้อมกับพูดกับญาติโยมว่า..
“ฝนมันหยุดตกแล้ว น้ำก็หยุดเหมือนกัน”
ในคืนนั้นฝนหยุดตกจริงๆ และน้ำก็ลดลงด้วยชาวบ้าน เห็นว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์จริงๆ การแสดงธรรมของหลวงปู่ ปกติหลวงปู่ ไม่เคยแสดงธรรมให้ญาติโยมฟัง แต่กลับไปแสดงธรรมให้คนบังบดฟัง ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกเพราะคนเราจะมองไม่เห็นคนเหล่านั้น แต่ท่านกลับมองเห็น เมื่อถามว่าหลวงปู่แสดงธรรมให้ใครฟัง ท่านก็ตอบว่าแสดงธรรมให้แก่คนบังบดฟัง บางทีก็สนทนาธรรมกับคนเหล่านั้น ถามต่อไปอีกว่าคนเหล่านั้น เขาอยู่ไหน? เขาอยู่กินอย่างไร?
ท่านก็ตอบว่า.. เขาอยู่อย่างพวกเรานี้แหละ พร้อมชี้ให้ดูว่าอยู่ตรงนี้เอง พูดแล้วท่านก็หัวเราะนิดๆ ถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่หัวเราะอะไร ท่านก็ตอบว่า เขานั่งไม่สุภาพปล่อยเสื้อผ้าพะรุงพะรัง ผมก็ไม่ค่อยหวี ดังนี้ ขอให้ท่านพิจารณาดูว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่เหมือนกัน คนบังบด หมายถึง เทวดาประเภทหนึ่ง ซึ่งบุคคลธรรมดามองไม่เห็น จะมองเห็นเฉพาะผู้ที่มีทิพจักษุทิพโสตะ (ตาทิพย์ หูทิพย์) ครั้งหลังสุด ก่อนที่ท่านจะถึงแก่กรรมมรณภาพ ประมาณ ๕ เดือน ท่านเริ่มเป็นไข้เล็กน้อย ท่านได้บอกผู้เขียนในฐานะศิษย์ และผู้ดูแลรักษาหลวงปู่ว่า..
“ผู้ข้าเป็นไข้ ปวดหัวมาก”
จึงได้บอกหลวงปู่ว่า..เดี๋ยวหายามาให้ฉัน เพื่อบรรเทาปวด หลวงปู่บอกว่า..
“ไม่ต้องมันเป็นธรรมดา สังขารย่อมเป็นอย่างนี้”
พูดแล้วท่านก็นอนนิ่งไม่แสดงอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด จนถึงเวลาประมาณหนึ่งทุ่มเศษๆ หลังจากทาวัตรเย็นเสร็จ ผู้เขียนก็เดินไปที่กุฏิหลวงปู่ ในขณะนั้นพระภิกษุสามเณร กำลังฉันน้ำร้อน และญาติโยมกำลังจะรับประทานอาหารเย็น บางคนก็ทานเสร็จแล้ว พอถึงกุฏิก็ไม่เห็นแสงตะเกียงและเสียงพูดจาอะไรเลย ซึ่งปกติเวลานี้ท่านจะต้องเทศนาหรือสนทนาให้คนบังบดฟัง ข้าพเจ้าได้ไปเรียกหลวงปู่ก็เงียบไป จึงค่อยๆ คลำฝ่าเท้า ซึ่งก็ยังเป็นปกติ เข้าใจว่าท่านคงหลับ จึงได้ขยับมานั่งสังเกตอยู่ข้างเท้าของท่าน รอฟังอยู่ฟักหนึ่งแต่ไม่ได้ยินเสียงหายใจเลย ครู่ใหญ่จึงตัดสินใจไปเรียกท่านอีกครั้ง
พร้อมเอามือคลำเท้าจนถึงหัวเข่า ซึ่งก็ยังเป็นปกติอยู่และไม่กระดุกกระดิกเลย ซึ่งข้าพเจ้าได้เดินไปเรียกสามเณรให้ไปบอกผู้ใหญ่บ้าน และไวยาวัจกรให้ลงมาดู ทุกคนเฝ้าดูก็พากันตะลึงไปด้วยกัน จึงหันได้มาปรึกษากันว่าจะทาอย่างไรกันดี ผู้ใหญ่บ้านว่าให้ไปหาตะเกียงมาจุดดูก่อนเพื่อความแน่นอน กว่าจะได้ตะเกียงมาจุดก็ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที เมื่อได้ตะเกียงก็พากันเข้าไปหาท่านอีกครั้ง ทุกคนก็แปลกใจเมื่อเห็นท่านลุกขึ้นมาพูดจาได้ตามปกติ ทุกคนก็งงไปตามๆ กันและพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์จริงๆ มาคิดได้ภายหลังว่า ท่านคงแสดงความมหัศจรรย์ให้แก่ญาติโยม และลูกศิษย์เห็นเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งหลังจากนั้น ท่านก็เริ่มอาพาธลงเรื่อยๆ จนกระทั่งท่านมรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ สิริรวมอายุ ๙๐ ปี พรรษา ๗๐
◎ เททองหล่อรูปเหมือน
เกิดขึ้นเมื่อชาวบ้านพอกใหญ่ทั้งสองหมู่บ้าน ได้พากันสร้างพิพิธภัณฑ์สำเร็จ และจัดสร้างรูปเหมือนขึ้น ๓ องค์ ช่างได้ปั้นเบ้ารูปหล่อเหมือนเสร็จแล้วก็จะเททองในเบ้าหล่อ เกิดเรื่องอัศจรรย์อย่างหนึ่งขึ้นมา คือ รูปเหมือนของหลวงปู่ทองฤทธิ์ และท่านพระครู (มหาตาว) นั้นเททองเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถเททองลงในเบ้าของหลวงปู่สอนได้ ช่างเขาบอกว่า ปรากฏแสงพุ่งออกมาจากเบ้าหล่อของหลวงปู่สอน ทั้งๆ ที่ยังไม่เททองลงในเบ้าหล่อเลย แสงนั้นกระจายรายล้อมเบ้าหล่อโดยรอบ ช่างหล่อนั้นไม่อาจจะเททองหรือทาการหล่อต่อไปได้ จึงแจ้งให้คณะบ้านพอกใหญ่ที่ไปทราบ จนกระทั่งตัวแทนชาวบ้านได้นาเอาดอกไม้ เครื่องบูชา ไปกราบไหว้ในวัดและได้ไปดูช่างหล่ออีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเบ้าหล่อนั้นเป็นปกติ สามารถหล่อรูปหลวงปู่จนสำเร็จนับว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์
◎ พระผมยาว
สาเหตุใดไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าทำไมหลวงปู่สอนจึงผมยาว ซึ่งไม่มีพระรูปใดๆ ผมยาวเลย คุณลุงฟื้น อุปรีย์ อดีตเจ้าอาวาสที่เคยปรนนิบัติรับใช้ ท่านเล่าว่า.. เคยกราบถามท่านหลายๆ ครั้งว่า หลวงปู่ถึงวันโกนผมแล้ว แต่ท่านไม่ยอมโกนผม จึงถามว่าเป็นเพราะอะไร หลวงปู่จึงไม่โกนผม หลวงปู่ท่านก็พูดว่า..
“โกนบ่ได๋ เพิ้น ให้โกน ๙ ปี ต่อเท้อ”
เจ้าอาวาสก็ถามตอว่า “บ่แม้น ๙ เดือนบ้อหลวงปู่ นี้มันละได้ ๙ เดือนนั้น”
ท่านก็บอกว่า “บ่แม้น เพิ้น ให้โกน ๙ ปี ต่อเท้อ”
เมื่อได้ยินอย่างนั้นเจ้าอาวาสก็ไม่พูดอย่างไร ในวันต่อมาก็มีคนมาบอกให้ไปโกนผมหลวงปู่เร็วๆ หน่อย ท่านนั่งหนาวรออยู่นอกชานกุฏินานแล้ว ทำให้ลุงฟื้นงงอยู่เหมือนกัน “เพิ้น” หมายถึง “ท่าน” ที่เป็นคนผู้ที่พูดอ้างถึง “เท้อ” หมายถึง “ครั้ง” ในภาษาภูไทย
◎ การอาพาธของหลวงปู่สอน ปภสฺสโร
หลวงปู่สอน ปภสสฺโร เป็นพระเถราจารย์ที่แปลกกว่าพระอาจารย์รูปอื่นๆ ในเรื่องการอาพาธหรือการเจ็บป่วยของท่านเพราะหลวงปู่ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลยในชีวิตของท่าน การป่วยมีเพียงไข้หวัดธรรมดา ลูกศิษย์หรือญาติโยมนำของมาถวายท่านก็หายจากอาการป่วย ฉนั้นประวัติของหลวงปู่จึงไม่มีการเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือตามคลินิก
อีกประการหนึ่งการรักษาโรคของท่านก็อาศัยธรรมในทางพุทธศาสนาดังมีพุทธภาษิตที่ว่า ธมฺโม หเวรกฺขติ ธมฺมจารึก ธมฺโมสุจินฺโน สุขมาวา ธรรมนั้นแล ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ผู้ประพฤติธรรม ย่อมนามาซึ่งความสุข สกฺกตฺวาพุทฺธรตฺน โอถ อุตฺตม์ วร หิต เทวามนุสฺ สาน พุท เตเชน โสตฺถินา นสฺสนฺตุปทฺวา สมฺมทุกขา วปสเมฺตุ รัตนะคือพระพุทธเจ้า เป็นโอสถอันประเสริฐ เป็นประโยชน์เกื้อกูลสูงสุด แก่เทวดาและมนุษย์ทังหลาย อุปทวันตราย ย่อมพินาศไปด้วยดีด้วยเดชแห่งพระพุทธเจ้า การเข้าไปสงบระงับซึ่งทุกทั้งหลายทั้งปวงจงมีแก่ท่านทั้งหลาย สกฺกตฺวา ธมฺมรตน โอสถ อุตฺตม วร ปริฬาหูปสน ธมฺมเต เชน โสตฺถิ นา นสฺสนฺตฺปฺททวา สมฺมยา วูปสเมนฺตุเต รัตนะคือพระธรรม เป็นโอสถอันประเสริฐสูงสุด แก่เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย อุปทวันตรายย่อมพินาศไปด้วยดี ด้วยเดชแห่งพระธรรมอันแรงกล้า การเข้าไปสงบระงับซึ่ง พยันตราย ทั้งหลายทั้งปวง จงมีแก่ท่านทั้งหลาย สกฺกตฺวา สงฺฆรตน โอสถ อตฺตม วร อาหุเนยฺย ปาหุเนยฺย สงฺฆ เตเชน โสตฺถินา นสฺสนฺตุปทฺทวา สมฺโรคา วูปสเมนฺตุ รัตนะ คือพระสงฆ์ เป็นโอสถอันประเสริฐอันสูงสุด แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย อุปทวันตรายย่อมพินาศไปด้วยดี ด้วยเดชแห่งพระสงฆ์ ผู้ควรนาแก่การนามาซึ่งเครื่องสักการะ การเข้าไปสงบ ระงับซึ่งโรคทั้งหลายทั้งปวง จงมีแก่ท่านทั้งหลาย
หลวงปู่สอน เป็นพระเถระผู้ทรงคุณวิเศษในด้านวิปัสสนากรรมฐาน จนบรรลุธรรมชั้น เจโตปริยญาณ คือญาณหยั่งรู้จิตใจบุคคลอื่นได้อย่างถูกต้อง สมควรที่ศิษยานุศิษย์และญาติโยมแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่ง คณะผู้จัดทาประวัติหลวงปู่ ในฐานะศิษยานุศิษย์ พร้อมด้วยญาติโยมผู้ที่เคารพนับถือ ขอน้อมจิตอธิฐานบูชา แด่หลวงปู่สอน ประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑ์หรือเจดีย์ที่สร้างไว้ พร้อมพระเถราจารย์อีกสองรูป ณ วัดศรีธรรมราช บ้านพอกใหญ่ ตำบลพอกน้อย อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้ทำการฉลองเมื่อ วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕
◎ เรื่องแปลกของหลวงปู่ สูง – ขึ้น
ครั้งหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า กง ซึ่งเป็นพระที่อยู่ในบ้านโคกเสาขวัญ อ.พรรณานิคม ได้นมัสการหลวงปู่ หลวงปู่ได้ทักทายพระกงว่า.. พระรูปนี้บุญญาธิการ “เจ้านะบ่ต้องไปไส ให้อยู่ที่นี้ แล้วเจ้าสิสูงขึ้น…สูง…ขึ้น สูงขึ้นในภายภาคหน้า” หลวงปู่แบมือแล้วยกขึ้นเสมอศีรษะหลายๆ ครั้ง พระรูปนั้นปัจจุบัน คือ พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่กง โฆสโก) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (มรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๒)
◎ ตาเซียงกง
ตางเชียงกง เป็นคนบ้านพอกน้อย ไปมาวัดพอกใหญ่ไม่เตยขาด แต่ก่อนถนนหนทางไม่ค่อยสะดวก แต่ตาเชียงกงก็มาหาหลวงปู่ทุกวัน แกมีนิสัยชอบเล่นหวยเล่นเบอร์ แกก็คอยแต่จะมาถามหาหลวงปู่ หรือมาคอยฟังผู้คนที่มานมัสการหลวงปู่ ไม่ว่าหลวงปู่จะพูดอะไร จะทาอะไร ตาเชียงกงก็จะนามาแปลเป็นหวยเบอร์ทุกครั้งแต่แกก็ไม่ถูกหวยเลยแม้แต่ครั้งเดียว ตาเชียงกงก็ไม่เคยลดละ จนหลวงปู่สอนพูดว่า..
“พ่อออกกง เจ้านะโชคบ่มี ลาภบ่มี อย่าไปซื้อดอก เซาเส ”
ตาเซียงกงแก่ก็ไม่เชื่อ เมื่อคนอื่นมานมัสการ แกก็จะคอยแต่จะฟังแล้วนาไปซื้อหวยเบอร์ จนตาเซียงกง ต้องขายนา ขายสวน ทั้งวัว – ทั้งควาย เพื่อที่จะรวย เมื่อแกหมดทั้งไร่ นา สวน แกโมโหเป็นอย่างมาก โกรธหลวงปู่สอนเป็นอย่างยิ่ง ที่บอกหวยไม่ถูก แกเลยคิดจะฆ่าหลวงปู่ จับเอามีดตอก ด้ามหนึ่ง ก็รีบเดินลัดทุ่งมาจากบ้านพอกน้อย มาที่วัดพอมาถึงกลางทางก็นึกขึ้นได้ว่าฆ่าพระนั้นบาปมาก จึงเอามีดเก็บไว้ที่พุ่มไม้ข้างทาง (บริเวณมุมดินโรงเรียน ปัจจุบัน) แล้วเดินทางมาวัด แต่ทันทีที่เข้าไปในวัด
หลวงสอนก็ทักขึ้นมาว่า.. “พ่อออกกง ไสว่า เอามีดมา ฆ่า “ข้อย”
ตาเชียงกงรีบพูดว่า.. ” แนวได๋ ข้าน้อยสิมาฆ่า หลวงปู่ได้แนวได๋ “ฮั่นเด๋ ข้อยเห็นอยู่ ปายมีดซี้อยู่ ในพุ่ม ไม๋ฮั่นเด ”
ตาเซียงกงได้ฟังอย่างนั้นตกใจเป็นอย่างมาก รีบกราบหลวงปู่ขอขมาทันที หลวงปู่ท่านก็ไม่ถือโทษแต่อย่างไร
◎ พระบ้า
คุณลุงวิชัย ศรีกูลกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีธรรมราช (พระอธิการพรม) ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งรับใช้หลวงปู่ มีครูคนหนึ่งอยู่อำเภอหนองหาร (ท่านจำชื่อไม่ได้) ครูคนนี้ได้พูดกับเพื่อนด้วยกันที่จะมานมัสการหลวงปู่สอนว่า..
“ไปหาเฮ็ดหยัง อะญะคูสอน พระบ้า”
ไม่นานครูคนนี้ก็มาบ้านพอกใหญ่ พอครูคนนี้เดินเข้ามาในวัด หลวงปู่สอนพูดว่า..
“มาเฮ็ดหยัง มาหาพระบ้า”
ทำให้ครูคนนั้นถึงกับสะดุ้งเลยที่เดียว ต่างก็งุนงงไปตามๆ กัน
◎ เรื่องการถ่ายภาพ
กำนันบุญไทย สีหาราช อดีตเจ้าอาวาสที่เคยปรนนิบัติหลวงปู่ ได้เล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ไม่ให้ใครถ่ายภาพของท่านเลย ท่านไม่ยินดี ยินร้าย กับใครๆ มีหลายคนที่ต้องการถ่ายภาพของท่าน มีเพียงไม่กี่ครั้งที่ท่านอนุญาตให้ถ่ายภาพท่าน แต่ก็ไม่เคยได้ภาพท่าน
ครั้งหนึ่งในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๘ – ๒๔๙๙ ตอนนั้นหน้าน้ำหลากแล้ว ผมท่านยาวก่อนจะถึงวันโกน เจ้าอาวาส( กำนันบุญไทย) ได้ไปเอาช่างถ่ายรูปมาถ่าย (ช่างทองหล่อ) ขออนุญาตอยู่ตั้งนานกว่าหลวงปู่จะยอมให้ถ่ายภาพ จึงได้ภาพหลวงปู่ตอนที่ผมยาวเพียงรูปเดียว และอีกภาพหนึ่งเป็นตอนที่ท่านผมสั้น สวมแว่นตา ซึ่งเป็นภาพที่ได้นำมาเป็นต้นแบบสร้างเหรียญบูชาในต่อมา ภาพถ่ายหลวงปู่มีเห็นปรากฏเพียงสองภาพเท่านั้น ยังไม่ปรากฏเห็นภาพแบบอื่นนอกจากสองภาพนี้ ภาพที่หลวงปู่ไว้ผมยาว นับว่าเป็นภาพที่หาชมได้ยากยิ่ง ที่มาของฉายา “พระผมยาว” เป็นอย่างไร ลองพิจารณาภาพของท่านดูครับ แต่ขอบอกว่า..ภาพหลวงปู่ดูเข้มขลัง แต่เยือกเย็น น่าเคารพศัทธาเลื่อมใส เป็นอย่างยิ่ง
◎ วัตถุมงคล
ในด้านวัตถุมงคลนั้น เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่สอน ปภสฺสโร วัดศรีธรรมราช บ้านพอกใหญ่ เนื้อฝาบาตรกะไหล่ทอง เป็นเหรียญเพียงรุ่นเดียวที่ทันหลวงปู่
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจาก https://www.web-pra.com/