ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่สมัย ทีฆายุโก
วัดป่าโนนแสงทอง
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
หลวงปู่สมัย ทีฆายุโก พระอริยสงฆ์แห่งวัดป่าโนนแสงทอง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร แห่งวัดถ้ำสหายธรรมจันทร์นิมิต ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า
“หลวงปู่สมัย มีบุญคุณกับเรามาก ท่านเป็นผู้สอนเราขานนาค จนเป็น”
หลวงปู่สมัย ท่านเป็นผู้เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ และธุดงควัตร องค์ท่านเคยได้อยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับครูบาอาจารย์หลายๆ รูปเช่น หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่มหาบุญมี สิรินธโร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ และ หลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป หลวงปู่สมัย ท่านมีหลวงปู่เคน เขมาสังโย และ หลวงปู่ประสาร ปัญญาพโล เป็นสหธรรมิก
ท่านเป็นผู้มีนิสัยสุขุม เยือกเย็น พูดน้อย พูดจริง ทำจริง ตรงไปตรงมา มักน้อย สันโดษ สมถะ มีเมตตาสูง ท่านชำนาญทั้งด้านช่างไม้ และช่างปูน สามารถสร้างและออกแบบเสนาสนะได้เป็นอย่างดี
ชาติกำเนิด
หลวงปู่สมัย ทีฆายุโก มีชาติกำเนิดในสกุล โสภาจร เดิมชื่อ พิสมัย เนื่องจากชื่อเดิมนั้น เป็นชื่อของผู้หญิงจึงได้ตัด “พิ” ออก คงเหลือไว้แต่ “สมัย” ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๓ ปีมะเมีย ณ บ้านนาเตียง ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดินจังหวัดสกลนคร
โยมบิดาชื่อนายสา โสภาจร โยมมารดาชื่อนางเพ็ง โสภาจร
ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน เป็นชาย ๔ คน หญิง ๔ คน
ปฐมวัยและการศึกษา
ชีวิตตอนเป็นเด็กของหลวงปู่สมัย ท่านมีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำ เรือกสวน ไร่นา พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่ช่วยพี่ๆ น้องๆ ด้วย หากจะนึกย้อนกลับไปสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ณ บ้านเกิดของท่านก็คงมีลักษณะเป็นป่า สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันตัวเป็นเกลียว ในการช่วยในการไถ ปักกล้า ดำนาด้วย จนท่านได้อายุ ๙ ขวบ ได้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ ๑ ที่โรงเรียประชาบาล ตั้งอยู่ในวัดอัมพวัน บ้านนาเตียง ตำบลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และได้ย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนในวัดแจ้ง บ้านหนองหวาย ซึ่งห่างจากบ้านนาเตียง ๒-๓ กิโลเมตร ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จนเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ บิดาได้นำฝากให้เป็นเด็กวัดกับพระซึ่งอยู่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร พระที่อยู่ด้วยได้เอาไปฝากเข้าโรงเรียนช่างไม้สกลนคร ซึ่งปัจจุบันเป็น “โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล” อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เรียนอยูเป็นเวลา ๓ ปี ขณะนั้นอายุได้ ๑๖ ปี และได้กลับมาอยู่ที่บ้านนาเตียง ตามเดิม เพื่อช่วยบิดามารดาทำทำนาทำสวน
สู่เพศพรหมจรรย์
พออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในทางพระพุทธศาสนา โดยเข้าฝึกคำบรรพชาอุปสมทบ ณ วัดสามัคคีบำเพ็ญผล บ้านนาเตียง ตำบลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ในวันนั้นมีการบรรพชาอุปสมบทพร้อมกัน ๔ รูป คือ บวชพระ ๓ รูป และบวชเป็นสามเณร ๑ รูป ที่สิมน้ำบ้านหนองดินดำ (อุโบสถที่อยู่กลางน้ำ ทางพระพุทธศาสเราเรียกว่า “อุทกเขปสีมา”) โดยมีพระครูพุฒิวราคม (หลวงพ่อพุฒิ ยโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์นนท์ โกวิโท เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๓
เมื่อบวชแล้ว ท่านหลวงปู่สมัย และ พระกรรมวาจาจารย์ ได้เดินทางไปจังหวัดนครพนม พักอยู่ที่วัดอรัญญิกาวาส โดยมีพระอาจารย์บุญมา มหายโส (พระครูไพโรจปัญญาคุณ) เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น บวชด้วยกันทั้งหมด ๔ รูปดังนี้คือ
๑. นาคเคน ฤกษ์งาม ปัจจุบันคือ หลวงปู่เคน เขมาสโย ซี่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าหนองหว้า บ้านหนองหว้า ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน จัวหวัดสกลนคร
๒. นาคประสาร ลำไพ ปัจจุบัน คือ หลวงพ่อประสาร ปัญญาพโล (พระครูพิศาลปัญญาคม) เจ้าอาวาสวัดป่าคามวาสีและเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน บ้านหนองดินดำ ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
๓. นาคสมัย โสภาจร ปัจจุบันคือ หลวงสมัย ทีฆายุโก เจ้าอาวาสวัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่-ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
๔. เณรชาลี โคตรสมบูรณ์ บวชเณรและลาเพศสิกขาเป็นฆราวาสครองเรือนในปัจจุบัน
ชีวิตในร่มผ้ากาสาวพัสตร์
พรรษาที่ ๑ – ๒ ปี พ.ศ.๒๔๙๔ – ๒๔๙๕ จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส อำเภอเมืองจังหวัดนครพนม และได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดศรีเทพประดิษฐาราม สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พรรษาที่ ๓ – ๔ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ – ๒๔๙๗ จำพรรษาที่ วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และได้ศึกษาและฝึกหัดการภาวนากับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ
พรรษาที่ ๕ – ๖ ปี พ.ศ.๒๔๙๘ – ๒๔๙๙ จำพรรษาที่ วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
พรรษาที่ ๗ ปี พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๐๒ ได้ไปจำพรรษาที่ วัดป่าสามัคคีธรรมาวาส บ้านโพนทอง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
พรรษาที่ ๘ ปี พ.ศ.๒๕๐๓ จำพรรษาที่ วัดอเนกธรรมคุณ วัดป่าบ้านคำพอก อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
พรรษาที่ ๙ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ หลวงปู่ได้เดินทางกลับจำพรรษาที่ วัดป่าสมัคคีธรรมาวาส บ้านโพนทอง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคายอีกครั้ง
พรรษาที่ ๑๐ ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ได้เดินทางไปอยู่ที่ วัดป่าบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม กับ หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
พรรษาที่ ๑๑ ปี พ.ศ.๒๕๐๖ ได้กลับมาจำพรรษาที่ วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ตำบลหมากหญ้าอำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี กับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
พรรษาที่ ๑๒ – ๑๓ ปี พ.ศ.๒๕๐๗ – ๒๕๐๘ หลวงปู่ได้เดินทางกลับจำพรรษาที่ วัดป่าสามัคคีธรรมาวาส บ้านโพนทอง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย
พรรษาที่ ๑๔ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ ได้เดินทางไปจำพรรษาที่ วัดป่าอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่กับ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม
พรรษาที่ ๑๕- ๒๐ ปี พ.ศ.๒๕๑๐ – ๒๕๑๔ มาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่ – ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๒๑ ปี พ.ศ.๒๕๑๕ เดินทางไปอยู่จำพรรษากับ หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๒๒ – ๓๕ ปี พ.ศ.๒๕๑๖ – ๒๕๒๙ จำพรรษาที่ วัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่ – ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๓๖ ปี พ.ศ.๒๕๓๐ อยู่จำพรรษาที่ภูช่อฟ้า จังหวัดอุดรธานี
พรรษาที่ ๓๗ ปี พ.ศ.๒๕๓๑ จำพรรษาที่ วัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่ – ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๓๘ ปี พ.ศ.๒๕๓๒ เดินทางไปอยู่จำพรรษาที่ วัดถ้ำสูง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
พรรษาที่ ๓๙ – ๔๕ ปี พ.ศ.๒๕๓๓ – ๒๕๓๙ อยู่จำพรรษาที่ วัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่ – ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๔๖ ปี พ.ศ.๒๕๔๐ อยู่จำพรรษาที่ วัดถ้ำเสียงของ บ้านหลุบเลา อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร
พรรษาที่ ๔๗ ปี พ.ศ.๒๕๔๑ มาจำพรรษาที่ วัดดอยน้ำอูน เขื่อนน้ำอูน อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
พรรษที่ ๔๘ – ๕๔ ปี พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๔๙ ได้มาจำพรรษาที่ วัดป่าโนนแสงทอง บ้านสร้างดู่ – ดอนเขือง ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
มรณภาพ
หลวงปู่สมัย ทีฆายุโก ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ กรอปด้วยศีลและธรรม มีศีลาจาริยวัตรที่งดงาม องค์ท่านละขันธ์ลงด้วยอาการสงบ ณ โรงพยาบาลยุพราช อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เมื่อเวลา ๐๔.๑๕ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี ๑ เดือน ๔ วัน ๕๗ พรรษา
โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่สมัย ทีฆายุโก
“…ขึ้นถ้ำขึ้นภูขึ้นเขาไปบ้านน้อยเมืองใหญ่ แต่ว่าการเดินภาวนาของเรานั้นมีสติ มีพุทโธ พุทโธ พุทโธ ทุกย่างก้าว หมู่พวกที่เดินให้เราเห็นเดี๋ยวนี้ ถึงจะเดินสะพายบาตรเหมือนกันแบกกลดเหมือนกัน คลุมจีวรเหมือนกัน แต่ว่าจะภาวนาไหมหนอ จะพุทโธ ไหมหนอ นี่มันสำคัญตรงนั้น พวกท่านเห็นผ้าสีดำคล้ำๆ กลดใหญ่ๆ อยู่ที่ไหนก็กรรมฐาน กรรมฐานมันไม่ได้อยู่แค่นั้น กรรมฐานมันอยู่กับสติกับพุทโธ มันไม่ได้อยู่กับกลดใหญ่ กับผ้าดำเท่านั้น…”
“…ให้กำหนดไปเห็นกระดูกสันหลังหรือไม่ หรือเห็นกระดูกแขน กระดูกขา กระดูกซี่โครงส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้ามันติดใจมันสนใจและถ้ามันติดใจสนใจอยู่ตรงไหนก็ให้หยุดอยู่ตรงนั้น และเอาหลักตรงนั้นมาเป็นหลักพิจารณา ถึงแม้มันจะไม่เห็นทั่วตัวก็ตามให้เอาตรงนั้นเป็นหลักเสมอ ถ้าจะพิจารณาตรงใดก็ให้กำหนดตรงที่เดิม แล้วมันจะค่อยๆขยายออก ขยายออก ส่วนที่ไม่เคยรู้ก็จะได้รู้ ส่วนที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เห็น นี่แหละที่เรียกว่าการพิจารณาร่างกาย ก็ถือว่าเป็นการภาวนาเหมือนกัน…”