ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล
วัดป่าดอนกระต่าย (วัดป่าอนาลโย)
อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล ท่านถือกำเนิดในตระกูล ทานะสิงห์ เมื่อวันอังคารที่ ๒ มิถุนายน ๒๔๘๕ ตรงกับปีมะเมีย
โยมบิดาชื่อ นายทา โยมมารดาชื่อ นางคาย นามสกุล ทานะสิงห์ ประกอบอาชีพทำนา โดยองค์ท่านเป็นบุตรชายคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๙ คน บ้านเดิมอยู่ที่ ต.กุดเชียงหมี อ.เลิงนกทา จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นจังหวัดยโสธร) จบการศึกษาชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านกุดแห่
ปี ๒๕๐๕ เมื่อมีอายุได้ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทตรงกับวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๐๕ ณ วัดป่าสุนทราราม อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร โดยมี พระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร (พระครูสุนทรศีลขันธ์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “จิตฺตปาโล“ แปลว่า “ผู้คงไว้ซึ่งการรักษา“
หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สมหมายได้อยู่ศึกษาข้อวัตรกับ “หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร” ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ขององค์ท่าน และจำพรรษา ณ วัดภูถ้ำพระ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
หลวงปู่สมหมายและภูถ้ำพระ
สำหรับวัดภูถ้ำพระแห่งนี้นั้น ถือเป็นวัดหนึ่งที่ “หลวงปู่ดี ฉันโน” ศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สร้างวัดขึ้นเป็นวัดฉลองกึ่งพุทธกาล พ.ศ.๒๕๐๐ โดย หลวงปู่สิงห์ทอง ปภากโร และ หลวงปู่สมหมาย จิตตปาโล ตลอดจนชาวบ้านหลายๆ หมู่เหล่า ได้ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาวัดจนเจริญขึ้นเป็นลำดับ
ภูถ้ำพระ ตั้งอยู่บ้านหินโหง่น ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร อยู่ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม มีป่าไผ่ขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นสถานที่มหัศจรรย์แปลกตาแปลกใจ ในบริเวณสถานที่วัดภูถ้ำพระ มีถ้ำที่แปลกตาหลายถ้ำ เช่น ถ้ำพระ, ถ้ำเกลี้ยง, ถ้ำพรหมบุตร, ถ้ำเค็ง, ถ้ำเกีย (ค้างคาว), ลานงูซวง เป็นต้น ความอัศจรรย์ความศักดิ์สิทธิ์ของภูถ้ำพระสมัยก่อน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันว่า พ่อผู้ใหญ่บ้านชัยเสน ได้พาพรานไปล่าสัตว์บนภูเพ็กแห่งนี้ มีพรานแก้ว ดวงดี พรานหอมสมบัติ พรานไชยราช และพรานพรหมบุตร พร้อมกับพรรคพวกอีกจำนวนหนึ่งได้ไปล่าสัตว์บนภูแห่งนี้ และได้พบพระพุทธรูปในถ้ำจำนวนมากมาย อาทิ พระแก้ว พระงา พระทองแดง พระทองคำ พระไม้จันทน์ พระไม้อื่นๆ รวมทั้งเหล็กไหล ซึ่งนายพรานทั้งหมดขึ้นไปล่าสัตว์จะบอกเล่าว่าในถ้ำพระจะมีผีมเหศักดิ์และงูเหลือมยักษ์ เป็นผู้รักษาถ้ำแห่งนี้ ถ้ามีคนขึ้นไปบริเวณถ้ำพระ และคิดจะลักขโมยพระพุทธรูป จะเกิดอาการเจ็บป่วยหรือตายไป ซึ่งนายพรานบอกเล่าว่า เป็นภูเขาที่มีอาถรรพ์และเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์มาก
หลวงปู่สมหมาย ในฐานะลูกศิษย์หลวงปู่ดี ผู้ซึ่งได้มาปฏิบัติธรรมบริเวณภูถ้ำพระเป็นท่านแรก พาญาติโยมมาตั้งวัดภูถ้ำพระบริเวณทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงเรียกภูถ้ำพระ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเรียกว่า “ภูเพ็ก” โดยหลวงปู่ดี ฉันโน ได้มาปฏิบัติธรรมและเดินธุดงค์บริเวณภูเพ็กแห่งนี้ จนกระทั่งหลวงปู่ดี ฉันโน มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒
หลวงปู่สมหมาย และ หลวงปู่สิงห์ทอง จึงดำเนินการก่อสร้างเจดีย์หลวงปู่ดี ฉันโนขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๒๗ เพื่อเป็นที่สักการะ ปัจจุบัน หลวงปู่วิเลิศ เขมิโย ได้อยู่พำนักที่วัดภูถ้ำพระแห่งนี้
วัดภูคูหาไสยาสน์ จอมคีรี (ภูถ้ำพระ)
ประวัติการสร้างองค์พระนอน วัดภูถ้ำพระ (ธ) ต.กุดแห่ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ตามข้อมูล… ที่เรียนถามพระเถระ และผู้เฒ่าผู้แก่ พระนอนองค์นี้ สร้างขึ้นหลังจาก หลวงปู่ดี ฉนฺโน มรณะภาพไปแล้ว วาระสุดท้ายก่อน หลวงปู่ดี จะมรณะภาพ ราวๆ ปี ๒๕๐๐ ท่านได้ขึ้นปฎิบัติธรรมและมาบูรณะถ้ำพระ ท่าน มีโครงการที่ จะสร้างพระนอน เหมือนกับ ที่วัดดอนธาตุ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี รูปแบบได้ร่างไว้แล้ว แต่ท่านได้มรณะภาพ เสียก่อน ในปี ๒๕๐๒ต่อมา พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร ผู้เป็นศิษย์ได้มาสานต่อ ตามเจตนารมณ์ หลวงปู่ดี ฉนฺโน ผู้เป็นพระอาจารย์ จึงได้ ว่าจ้างช่าง ชาวญวณ มารับเหมาปั้นองค์พระนอนหลังจากปั้นองค์พระ เสร็จ พระอาจารย์สิงห์ทอง ก็ได้นำอัฐิธาตุ ส่วนหนึ่ง ของหลวงปู่ดี ฉนฺโนมาบรรจุในองค์พระนอน ด้วย เพื่อเป็นอนุสรณ์ สืบต่อไป
ลำดับการจำพรรษา
ปี ๒๕๑๐ – ๒๔๑๒ : จำพรรษา ณ วัดป่าโนนแสนคำ
อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร กับหลวงปู่คำ สุมังคโล, หลวงปู่เนย สมจิตโต, หลวงปู่หนูเมย สิริธโร
ปี ๒๕๑๓ : จำพรรษา ณ วัดภูทอก จ.บึงกาฬ กับ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ในพรรษานั้นหลวงปู่ได้ร่วมสร้างทางขึ้นภูทอก และยังได้พบกับ หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร , หลวงปู่มหาบุญมา ปุญญวันโต , หลวงปู่แสวง อมโร อีกด้วย
ปี ๒๔๑๔ : จำพรรษา ณ วัดป่าภูหันบรรพต อ.ชนบท จ.ขอนแก่น กับหลวงปู่มหาบุญมา ออกพรรษาแล้วได้ออกวิเวกเดินธุดงค์ไปยังถ้ำสุขเกษม อ.เถิน จ.ลำปาง กับหลวงปู่แสวง อมโร และได้เดินทางมาวัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี ได้พบกับ หลวงปู่มหาเจิม ปัญญาพโล
ปี ๒๔๑๕ – ๒๕๑๗ : หลวงปู่เสถียร คุณวโร เมตตาเล่าให้ฟังว่าท่านพบกับหลวงปู่สมหมายครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงราย ช่วงราวปี พ.ศ ๒๕๑๔ บริเวณอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้เขตรอยต่อกับอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในคราวนั้นองค์ท่านเองกับหลวงปู่สมหมาย และท่านพระอาจารย์ปิ่น ปิยธัมโม ต้องได้แยกกันภาวนาอยู่ห่างกันเพราะมีบ้านชาวบ้านแค่ ๒-๓ หลังคาเรือนเท่านั้นถ้าอยู่รวมกันมากเกินไปจะเป็นการรบกวนชาวบ้านมากเกินไป
บริเวณที่ท่านไปพักในสมัยนั้นเรียกกันว่าดอยมูเซอ เป็นหมู่บ้านที่ชาวมูเซอมาอาศัยอยู่ในกลุ่มนี้เคยได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต มาแล้วในอดีต หลวงปู่มั่นได้สอนบางท่านภาวนาจนจิตสามารถออกรับรู้ภายนอกได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าหมู่บ้านที่ชื่อว่าเถ้าแก่ล่า ภาวนาดีมากสามารถรู้วาระจิตหลวงปู่มั่นได้ ปัจจุบันทางราชการได้อพยพชาวมูเซอกลุ่มนี้ไปที่อื่นแล้วใครไปเยี่ยมหมู่บ้านมูเซอก็จะกลายเป็นป่าไม่เหลือร่องรอยเดิมเลย
ช่วงนั้นหลวงปู่สมหมาย ท่านได้ออกวิเวกเดินธุดงค์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ กับหลวงปู่เสถียร คุณวโร หลวงปู่ปิ่น ปิยธัมโม หลวงปู่กวง โกสโล อาศัยอาหารบิณฑบาตจากชาวเขาเผ่าอีก้อและชาวเผ่ามูเซอ จากนั้น หลวงปู่สมหมาย ท่านได้เข้าพักจำพรรษาที่วัดถ้ำพระสบาย อ.เถิน จ.ลำปาง
ปี ๒๕๑๗ : ได้ออกวิเวกเดินธุดงค์ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ไปจำพรรษาที่ดอยต๊อก กับหลวงปู่เสถียร คุณวโร
ปี ๒๕๑๙ : ได้ออกวิเวกเดินธุดงค์ในเขตอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กับพระอาจารย์จำรัส ปภัสสโร
ปี ๒๕๒๐ – ๒๕๒๒ : ได้อยู่จำพรรษากับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
ปี ๒๕๒๓ : จำพรรษา ณ วัดป่าสมบูรณ์ธรรม ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย กับ พระอาจารย์สมบูรณ์ กันฺตสีโล
ปี ๒๕๒๔ : ได้กลับมาจำพรรษากับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง
ปี ๒๕๒๕ : ได้ออกวิเวกเดินธุดงค์ในเขต อ.สนามชัย จ.ฉะเชิงเทรา กับพระอาจารย์หวัน ในปีนั้นหลวงปู่อาพาธหนักด้วยไข้มาลาเลีย
ปี ๒๕๒๖ : จำพรรษา ณ วัดป่าชัยวารินทร์
อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กับหลวงปู่แสวง อมโร
ปี ๒๕๒๗ : จำพรรษา ณ วัดภูถ้ำพระ อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร
ปี ๒๔๒๘ – ๒๔๓๒ : ได้ออกวิเวกเดินธุดงค์มายัง อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู ได้พักปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณหนองกุงแก้ว ซึ่งมีงูจงอางอาศัยอยู่ชุกชุม
ต่อมาได้สร้างเสนาสนะขึ้น จนเป็นวัดป่าผาสุกคามเขต ในปัจจุบัน โดยที่บ้านหนองกุงแก้ว อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู แห่งนี้ องค์ท่านได้พบกับหลวงปู่ทองสุข วัดป่าวุฑฒาราม และกลายเป็นความเคารพผูกพันในกันและกันจนมาถึงปัจจุบัน
ปี ๒๔๓๒ – ๒๕๔๑ : จำพรรษาสลับกันระหว่างวัดภูถ้ำพระ (๓ พรรษา) และวัดป่าผาสุกคามเขต (๗ พรรษา)
ปี ๒๕๔๒ – ๒๕๕๑ : ได้อยู่จำพรรษา ณ วัดภูถ้ำพระ จ.ยโสธร
ปี ๒๕๕๒ : หลวงปู่ได้รับอาราธนานิมนต์จากพระเดชพระคุณพระเทพมงคลญาณ (หลวงปู่สนธ์ อนาลโย) วัดพุทธบูชา กรุงเทพมหานคร มาบุกเบิกสร้างวัดป่าอนาลโย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และอยู่จำพรรษาจวบจนปัจจุบัน และท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าปฐมชัย จ.นครปฐม อีกแห่งหนึ่งด้วย
ถือได้ว่าองค์ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีแห่งวงศ์พระกรรมฐานในยุคปัจจุบัน ที่พ่อแม่ครูอาจารย์หลาย ๆ รูป หลาย ๆ องค์ได้ยกย่องในคุณธรรมแห่งองค์ท่านไว้ดีแล้ว
ด้วยปฏิปทาเรียบง่าย สมถะ เมตตาสูง เคร่งครัดในพระวินัย จึงทำให้องค์ท่านเป็นที่รักของศิษยานุศิษย์ทุกชนชั้น นอกจากนั้นยังควรค่าแก่การกราบไหว้บูชาอย่างแท้จริง
มรณภาพ
หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล ท่านละสังขารอย่างสงบเมื่อเวลา ๐๒.๒๒ นาฬิกา ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ สิริอายุ ๗๗ ปี ๑๑ เดือน ๖ วัน พรรษา ๕๘
โอวาทธรรม หลวงปู่สมหมาย จิตฺตปาโล
“เมื่อหมดลมหายใจอันนี้แล้ว ร่างอันนี้ก็เปล่าประโยชน์ ใช้การไม่ได้ สุดท้ายก็ทิ้งเท่านั้นล่ะ”
“อย่าพากันเล่นหลายเด้อ ครูบาอาจารย์พากันทยอยถิ่มธาตุขันธ์ไปเรื่อยๆ แล้วเด้ มันสิเบิ๊ดละเด้ ผู้สิมาปฏิบัติเป็นตัวอย่าง แล้วนำเอาธรรมนั้นมาสอนพวกเฮาจากจิตจากใจเพิ่นอิหลี”
“ผมบวชมา รักษาพระธรรมวินัยจนเฒ่าแก่ปานนิ
ป่วยบ่พอตายสิให้แม่ญิงมาจับมาบาย
กะคึดอายพระพุทธเจ้า อายครูบาอาจารย์ผู้สอนมา สมัยจำพรรษาอยู่จันท์ เป็นไข้มาลาเรีย จนสิตาย
ได้เอาน้ำหยอดปากเอา ไปหาหมอ กะมีแต่แม่ญิง
ผมกะบ่ให้จับให้ตรวจ…แหล่ว จนเขาด่า
ผมกะบ่หัวซา มันด่าเฮาผู้ทำถูกต้องตามพระวินัย
เขาบ่ฮู้สิไปเคียดเขากะบ่ได้… ถ้าเขาเคียดให้เฮาว่าดื้อ ดื้อกะดื้อใส่ธรรม บ่แม่นดื้อใส่กิเลสตัณหา
กรรมมันกะตกอยู่ปากเขา…ฮั่นล่ะ”
พินัยกรรม หลวงปู่สมหมาย
ให้จัดตั้งสรีระสังขารที่วัดป่าผาสามยอด บ้านผาสุก ต.หนองกุงแก้ว อ.ศรีบุญเรือง จ.หนองบัวลำภู