ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร
วัดป่าวิเวกพัฒนาราม
ต.บ้านเอือด อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ
หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติดี สืบสายธรรมจาก หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนากัมมัฏฐานภาคอีสาน
หลวงปู่สมภาร มีนามเดิม สมภาร อุนาพรหม เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ ส.ค. พ.ศ.๒๔๖๗ ที่ ต.ชมภูพร อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบัน จ.บึงกาฬ)
อายุ ๒๑ ปี อุปสมบทที่วัดไชยมงคล ต.โพนสูง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร มี พระอาจารย์ฮวด เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังเข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัสตร์ มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยจนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก อีกทั้งมีความเลื่อมใสศรัทธาในวัตรปฏิบัติของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงเดินทางไปจำพรรษาที่วัดบ้านหนองผือ จ.สกลนคร ฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐานปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น นานถึง ๖ พรรษา
ตลอดเวลาหลวงปู่สมภารยึดแนวทางปฏิบัติธรรมตามคำชี้แนะของหลวงปู่มั่น อย่างเคร่งครัด
ต่อมาหลวงปู่มั่นละสังขาร ด้วยความที่เป็นพระหนุ่มไฟแรง หลวงปู่สมภารจึงเข้าร่วมกองทัพธรรมกับคณะหลวงปู่เทสก์ วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย ออกธุดงควัตรลงไปเผยแผ่ธรรมะที่ภาคใต้ และ จำพรรษาปฏิบัติธรรมวนเวียนอยู่วัดแถบภาคใต้ นานหลายพรรษา
หลังจากหลวงปู่สมภารธุดงค์ไปตามป่าเขาภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ นานเกือบ ๒๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ จึงเดินทางกลับอีสานบ้านเกิด จำพรรษาอยู่วัดป่าวิเวกพัฒนาราม อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ
คณะสงฆ์พิจารณาเห็นว่าเป็นผู้มีความพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ จึงแต่งตั้งให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวกพัฒนาราม ซึ่งหลวงปู่ได้จำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดแห่งนี้ตราบจนปัจจุบัน
ตลอดเวลาที่หลวงปู่สมภารจำพรรษาที่วัดป่าวิเวกพัฒนารามแห่งนี้ ได้ร่วมกับญาติโยมพัฒนาวัดป่าวิเวกพัฒนารามในทุกด้านอย่างเต็มที่ ถาวรวัตถุจะสร้างเท่าที่จำเป็นต่อการใช้ปฏิบัติศาสนกิจเท่านั้น
หลวงปู่สมภาร ท่านมีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง ท่านกำหนดกฎระเบียบเข้มไว้ไม่ให้ภายในวัดมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากเกินความจำเป็น เพราะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ด้วยความที่เป็นพระสายป่า ท่านมีจิตใจชมชอบธรรมชาติป่าไม้ ปรับปรุงภายในบริเวณวัดให้มีความร่มรื่นสวยงาม ทำให้ทั่วบริเวณวัดมีแต่ความสงบวิเวก เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมยิ่งนัก ในแต่ละปีวัดจะมีกิจกรรมร่วมกับญาติโยม ปลูกป่าและรักษาป่าติดต่อกันมา
หลวงปู่สมภาร เริ่มมีชื่อเสียงอยู่ในศรัทธาของญาติโยมชาว จ.บึงกาฬ และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันมีญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการรับฟังธรรมจากหลวงปู่อย่างล้นหลาม ธรรมะที่ท่านสั่งสอนญาติโยม จะเน้นไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท
หลวงปู่สมภาร ท่านมีอุปนิสัยเยือกเย็นสุขุมรอบคอบ แม้ท่านจะมีอายุมากถึง ๙๖ ปี แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติศาสนกิจ ท่านยังรับกิจนิมนต์ และนั่งสมาธิทุกวัน รวมทั้งคอยรับแขกญาติโยม แม้บางครั้งท่านจะไม่ค่อยสบาย แต่หาปริปากบ่นไม่ ยังคงรักษาศรัทธาของญาติโยมมิเสื่อมคลาย
ลำดับสมณศักดิ์
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูปัญญาวรากร
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทิน นามเดิม
ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม
รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอพรเจริญ
เป็นเพชรเม็ดงามของพุทธศาสนิกชนชาว จ.บึงกาฬ โดยแท้
ด้านวัตถุมงคล
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่สมภารนั้น มีการสร้างออกมาไม่กี่รุ่น และใน ปี พ.ศ.๒๕๔๕ วัดป่าวิเวกพัฒนาราม มีโครงการบูรณะศาลาการเปรียญ แต่ยังขาดปัจจัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้จัดสร้างวัตถุมงคล “เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่สมภาร” เพื่อมอบให้กับสาธุชนที่บริจาคปัจจัยสมทบทุนบูรณะศาลาการเปรียญที่อยู่ใน สภาพทรุดโทรม
เหรียญ หลวงปู่สมภาร รุ่นแรก มีลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบ บริเวณกลางเหรียญเป็น รูปเหมือนหลวงปู่สมภารเต็มองค์ในท่านั่งขัดสมาธิบนอาสนะสี่เหลี่ยม ด้านล่างเขียนคำว่า “รุ่นแรก” แถวล่างสุด เขียนคำว่า “หลวงปู่สมภาร ปญฺญาวโร“
ด้านหลังเหรียญ จากด้านขวาของเหรียญขึ้นไปด้านบนวนลงไปด้านซ้าย เขียนคำว่า “วัดป่าวิเวกพัฒนาราม อ.พรเจริญ จ.หนองคาย” บริเวณกลางเหรียญเป็นอักขระยันต์พุทธคุณเด่นรอบด้าน ล่างสุดเขียนคำว่า “๒๕๔๕” เป็นปีพุทธศักราชที่จัดสร้าง
ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก หลวงปู่สมภารอธิษฐานจิตเดี่ยว รวม ๑ ไตรมาส วัตถุมงคลรุ่นนี้จัดสร้างชนิดเนื้อทองแดง อย่างเดียว จำนวน ๑๐,๐๐๐ เหรียญ เพื่อมอบแด่ผู้ร่วมทำบุญกับวัดร่วมบุญเช่าได้ตามศูนย์พระเครื่องใน จ.บึงกาฬ และทั่วไป
ปัจจุบัน หลวงปู่สมภาร ปัญญาวโร ละสังขาร ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ เวลา ๐๓.๑๓ น.สิริอายุ ๙๖ ปี พรรษา ๗๖
โอวาทธรรม หลวงปู่สมภาร
“ไม่ต้องพากันกลัวตายคนเราตายทุกวันอยู่แล้วตายลงไปทีละเล็กทีละน้อยตายจริงๆคือหมดลมหายใจความตายในที่นี้ก็คือคือความแก่ชราตายจากความหนุ่มสาวไปทีละเล็กทีละน้อย”
“คนเฮาสู่มื้อนี้ เมาในกามมะคุณเมากิเลสตัณหา ก็หนักเกินพอแล้วยังเอาเหล้าเข้ามาเมาเพิ่มอีก”