ประวัติปฏิปทา หลวงปู่วัง ฐิติสาโร วัดถ้ำชัยมงคล (ภูลังกา) อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ
หลวงปู่วัง ฐิติสาโร แห่งวัดถ้ำชัยมงคล เป็นพระป่านักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง
หลวงปู่วัง เกิดที่บ้านหนองคู ตำบลกระจาย อำเภอลุมพุก จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน ขึ้นกับอำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร) แล้วท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด
ท่านได้เล่าว่าเรียนจบชั้น ป.๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองคูนั้นเอง ท่านเป็นคนสมองทึบ แม้จะเรียนจบ ป.๔ ก็เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก แต่ต่อมาเมื่อท่านบรรพชาอุปสมบทได้เล่าเรียนจากครูบาอาจารย์แล้ว ท่านอ่านออกเขียนได้ ทั้งหนังสือไทย หนังสือธรรม กลับเป็นคนละคน คือสมองท่านกลับเป็นผู้จำง่ายขึ้น คงเป็นเพราะอำนาจของสมาธิภาวนานั่นเอง อุปนิสัยของท่านชอบเป็นนายหมู่ ในหมู่เด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน มีเด็กเป็นฝูงห้อมล้อมท่าน บางทีก็สมมติท่านเป็นพระ แล้วหมู่เด็กทั้งหลายก็กราบท่าน อย่างนี้เป็นต้น
การออกบรรพชาเป็นสามเณร
ท่านพระอาจารย์วัง ได้เล่าถึงการออกบวชของท่านเมื่ออายุ ๑๓ ปี พ.ศ.๒๔๖๘ ว่า เป็นเหตุการณ์พิเศษกว่าการออกบวชของท่านผู้อื่น มารดาของท่านเป็นคนใจบุญ เข้าวัดจำศีลฟังธรรมและถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรที่วัดบ้านหนองคูทุกวัน วันหนึ่งพระอาจารย์ทองสา ที่อยู่ที่วัดนั้นถามถึงเด็กชายวังว่า เขาทำอะไรบอกให้เขามาบวชด้วย หลังจากมารดาของท่านบอกให้ทราบว่า ท่านอาจารย์ที่วัดถามหาขอให้ไปบวชด้วย เท่านั้นเองท่านก็บอกทันทีว่าไม่บวช แม้มารดาบิดาจะขอร้องบอกกล่าวอย่างไร ท่านก็ยืนยันคำเดียวว่าไม่บวชอยู่นั้นเอง หลายวันต่อมา ท่านได้ออกไปเลี้ยงวัวควายกับบรรดาเด็กทั้งหลายเหมือนทุกวันท่านคิดว่า ถึงอย่างไรบิดามารดาคงจะนำเราไปบวชแน่นอน ดังนั้นจะไม่กลับเข้าบ้านอีก ได้ฝากวัวควายที่ไปเลี้ยงไล่กลับบ้านกับเพื่อนฝูง ตัวท่านเองอาศัยนอนที่บนเถียงนา ซึ่งมีฟางข้าวใส่ไว้เกือบเต็ม ท่านก็นอนในระหว่างกองฟางเหล่านั้น เถียงนานี้ห่างจากบ้านประมาณ ๑ กิโลเมตรครึ่ง เมื่อเพื่อนเด็กเลี้ยงควายทั้งหลายออกไปในวันใหม่ ท่านก็ได้อาศัยกินข้าวน้ำจากเด็กเหล่านั้น ท่านอยู่ในสภาพนั้น ๔-๕ คืน
ส่วนทางวัด ท่านอาจารย์ทองสาได้ถามถึงว่า เถียงนานั้นเป็นของใคร อยู่ในที่นาใคร เมื่อท่านทราบแล้ว ภายหลังจากฉันข้าวเสร็จวันหนึ่งได้พาเณรตัวโตๆ ๓ รูปออกไปด้วย เมื่อออกไปถึงเถียงนานั้นแล้ว ท่านจึงบอกให้เณร ๓ รูปยืนเป็นแถวกั้นอยู่ทางบันได แล้วท่านเรียกออกไปว่า “นายวัง” ๓-๔ ครั้ง ขณะนั้นท่านนอนอยู่ในนั้น พอได้ยินเสียงเรียกก็เข้าใจทันทีว่าคราวนี้คงมาตามเราไปบวชแน่ จึงคิดจะหนีไปให้พ้น เมื่อรู้ว่ามีเณรยืนอยู่ทางบันได ท่านจึงผลักเถียงนาทางด้านหลัง แล้วกระโจนลงจากเถียงนา วิ่งหนีสุดกำลัง สามเณรทั้ง ๓ รูปจึงวิ่งตามไปจับตัวไว้ กว่าจะทันก็วิ่งผ่านไปหลายไร่นา เมื่อจับได้แล้วจึงเอาผ้าอาบน้ำมัดที่ข้อมือแล้วท่านก็ตามกลับมาโดยดี เมื่อกลับถึงวัดแล้วพระอาจารย์ก็ให้โกนผมทันที แล้วนำไปบวชกับท่านพระครูวิจิตร วิโสธนาจารย์ ที่วัดบ้านหนองคูนั้นเองหลังบวชแล้วท่านก็อยู่จำพรรษาที่นั้น ๑ พรรษา
เรียนคาถาอาคมจากปู่
ท่านพระอาจารย์วัง เกิดมาในตระกูลหมอปะกำช้าง ปู่ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคมขลัง ท่านจึงเรียนรู้คาถาอาคมจากปู่ตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เมื่อตอนเป็นสามเณรท่านอยากเห็นวิชาวัวธนูครูหน้าน้อย จึงขอร้องให้ปู่ทำให้ดู ปู่ก็เอาไม้ไผ่มาทำหน้าไม้เล็กๆ เหลาลูกให้พอดี จากนั้นก็พาหลานจัดทำขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ บูชาครู เมื่อถึงกลางคืนจึงนำลูกหน้าไม้ไปทำพิธีลงคาถาใส่ ปู่ท่านทำพิธีอยู่ ๗ คืน เมื่อครบพิธีแล้ว จึงบอกให้หลานมาดู โดยให้คนเอามีดไปทำเครื่องหมายไว้ที่ต้นไม้ใหญ่กลางป่าต้นหนึ่ง จึงยิงหน้าไม้ออกไปโดยยิงทะลุหลังคาบ้านที่มุงด้วยหญ้าคาในตอนกลางคืน ก็บังเกิดเสียงดังสะเทือนเลือนลั่น รุ่งเช้าพระอาจารย์วังก็ได้ไปดูต้นไม้ที่ทำเครื่องหมายไว้ ก็ปรากฏว่าเห็นลูกหน้าไม้เสียบอยู่ตรงนั้นพอดี ซึ่งวิชาวัวธนูครูหน้าน้อยนั้นเป็นวิชาฆ่าคนแพร่หลายในลุ่มแม่น้ำโขง คนโบราณสมัยก่อนชอบเรียนกันมาก
ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐาน
หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์ทองสาได้พาเดินวิเวกหาที่สงบและแสวงหาครูบาอาจารย์ เดินไปเรื่อยๆ แถวจังหวัดอุบลราชธานี นครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี เมืองเลย ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ นิสัยของท่านชอบอยู่ตามภูเขามากเป็นพิเศษ
หลายปีต่อมา ท่านอาจารย์พาเที่ยววิเวกผ่านมาแถวจังหวัดสกลนคร หนองคาย ได้พบกับถิ่นฐานบ้านเมืองแถวนี้ยังมีที่รกร้างว่างเปล่า มีทุ่งว่างป่าดงหนาแน่น ยังเป็นสภาพป่าดงดิบอยู่ตามธรรมชาติเดิมมากมาย ไม่เหมือนกับทางจังหวัดอุบลฯ เป็นทุ่งว่าง แต่แห้งแล้ง มีหมู่ชนหนาแน่น ที่จะทำมาหากินก็คับแคบ จึงเป็นเหตุให้พระอาจารย์ทองสา และ พระอาจารย์วัง คิดถึงสภาพความเป็นอยู่ของบิดามารดาและญาติซึ่งอัตคัดขัดสนด้านการครองชีพ จึงคิดจะโยกย้ายครอบครัวของบิดามารดาและญาติๆ ทั้งหลาย ขึ้นไปหาทำเลที่เหมาะกับการทำไร่ทำนาทางนี้
เมื่อได้รับฟังการชักนำชี้ชวนของท่านแล้ว จึงตกลงโยกย้าย ครอบครัวหลายครอบครัวจากบ้านหนองคู โดยเอาข้าวสารและสิ่งของบรรทุกใส่เกวียน ส่วนคนก็เดินตามไปเรื่อยๆ ได้ผ่านหมู่บ้านมาหลายแห่งจนถึงหมู่บ้านศรีชมชื่น ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เห็นว่าเป็นที่เหมาะสมที่จะตั้งหลักฐานในที่นั้น ชาวบ้านที่นั้นเขาก็ยินดีต้อนรับให้อยู่ด้วย แล้วก็ได้แบ่งปันที่จะสร้างบ้านและที่จะทำไร่ทำนาให้จนเป็นที่พอใจ จึงได้ตั้งใจว่าจะสร้างหลักฐานครอบครัวต่อไปที่หมู่บ้านแห่งนี้
เมื่อถึงหน้าฝน อันมีฝนตกชุก ซึ่งเป็นของปกติของถิ่นนี้ พวกบิดามารดาและพี่น้อง ลูกเล็กเด็กแดง ซึ่งเป็นคนเคยอยู่แต่ที่ว่าง แต่คราวนี้มาอยู่ที่เป็นป่าดงดิบ มีความชุ่มชื้นและไข้ป่าชุกชุม จึงเป็นเหตุให้เป็นไข้ป่ากันเกือบทุกคนแทนที่จะได้ก่อร่างสร้างตัวตามความที่ตั้งใจไว้ กลับพากันเป็นไข้หนักบ้างเบาบ้าง ติดเชื้อไข้ป่าแต่ไม่มีหมอมียาเหมือนสมัยนี้ดังนั้นจึงเป็นไข้เรื้อรังตลอด ในปีต่อมามีคนตายไปก็มี ผู้ไม่ตายก็ไม่มีกำลังแข็งแรงพอที่จะทำนาทำไร่ได้ จึงเป็นเหตุให้คณะที่มาด้วยกันแยกย้ายกันไป คือบางครอบครัวก็กลับไปที่บ้านหนองคูตามเดิม บางครอบครัวอยู่ได้ก็อยู่ไปโดยเฉพาะครอบครัวพระอาจารย์วังไม่ยอมกลับ เมื่ออยู่มาได้สองสามปีบิดาและน้องก็ตาย ยังเหลือมารดาและน้องชาย คือนายส่าน ต่อมาให้เปลี่ยนชื่อว่านายเวียง ให้ชื่อมีตัว ว เช่นเดียวกับชื่อของท่าน เพื่อคิดว่าจะไม่ให้ตายตามกันไป
ต่อมามารดาและน้องสาวน้องชาย ย้ายจากบ้านนั้น ไปอยู่กับหมู่ที่เคยมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งไปอยู่ที่บ้านหนามแท่ง ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปีต่อมามารดาและน้องสาวก็ได้ตายจากไปอีก ยังเหลือแต่เด็กชายเวียงซึ่งยังเล็กอยู่อายุ ๓-๔ ปี ท่านได้เอาน้องชายมาอยู่วัด ให้พวกแม่ชีช่วยเลี้ยงดูให้ ทำให้ท่านได้รับความกระเทือนใจเกิดความสังเวชสลดใจเป็นอย่างมาก ความหวังว่าจะช่วยเหลือพยุงฐานะการทำมาหากินให้ดีขึ้น จึงได้ย้ายครอบครัวของบิดามารดาญาติพี่น้องมาตั้งที่ใหม่ แต่กลับมาเป็นการโยกย้ายบิดามารดาญาติพี่น้องมาตาย ท่านจึงตั้งใจที่จะปฏิบัติพระธรรมกัมมัฏฐานให้ยิ่งขึ้นไป
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
ต่อมาพระอาจารย์ทองสา ซึ่งเป็นพระอาจารย์ที่พาท่านเดินธุดงค์กัมมัฏฐานมาด้วยกันหลายปี กลับมาลาสิกขาไปจากท่าน เหลือแต่ท่าน เพียงผู้เดียว จึงเป็นโอกาสให้เป็นอิสระที่จะเดินกัมมัฏฐานตามใจชอบ ท่านจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือในสมัยนั้น เมื่อมีโอกาสอันเหมาะ ท่านได้เข้าไปกราบหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล กราบขอเป็นศิษย์ท่าน หลวงปู่เสาร์ก็รับเป็นศิษย์ แล้วก็ได้รับการอบรมจากท่านเป็นอย่างดี
ปรารถนาพุทธภูมิ
เมื่อท่านได้รับการอบรมแล้วก็เร่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาให้ยิ่งขึ้นอย่างแรงกล้า และได้เกิดความรู้สึกปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในภายหน้า หรือเรียกปรารถนาพุทธภูมินั้นเอง ท่านจึงได้เข้ากราบเรียนเรื่องนี้ให้หลวงปู่เสาร์ทราบหลวงปู่เสาร์ได้ชี้แจงว่าการปรารถนาพุทธภูมินี้ กว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องใช้เวลาสร้างบารมีมาหลายกัป หลายภพหลายชาติ เนิ่นนานมากท่านได้แนะนำให้เลิกการปรารถนานี้เสีย แต่ พระอาจารย์วังก็ได้กราบเรียนท่านหลวงปู่ว่ามีความมุ่งมั่นรักในพุทธภูมินี้มาก แม้จะมีผู้มีอำนาจมาบังคับว่าถ้าไม่ยอมถอนจากความปรารถนานี้ จะฆ่าให้ตาย ก็ไม่ยอมถอน แม้จะฆ่าให้ตายก็ยอม เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านหลวงปู่เสาร์ก็พลอยอนุโมทนาด้วย และบอกว่าขอให้ตั้งใจต่อไป
แม้ในเวลาต่อมา เมื่อการภาวนาของท่านก้าวหน้าไปจนชำนาญทางด้านสมถกัมมัฏฐานแล้ว เมื่อยกจิตพิจารณาวิปัสสนากัมมัฏฐานมากขึ้นจิตจะสะดุด แล้วประหวัดถึงความปรารถนาภูมิทันที ไม่สามารถไปต่อได้มากกว่านั้น แต่ท่านก็ยังคงมุ่งมั่นในพุทธภูมินี้เรื่อยไป
การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปี คือ พ.ศ.๒๔๗๕ ท่านได้ไปอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีเทพประดิษฐาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โดยมีพระครูสารภาณพนมเขต (จันทร์ เขมิโย) (ภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระเทพสิทธาจารย์) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระมหาพรหมา โชติโก ป.ธ.๕ (ภายหลังมีสมณศักดิ์เป็นพระราชสุทธาจารย์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
การแสวงหาครูบาอาจารย์ เมื่อท่านบวชพระแล้ว ท่านก็เร่งความเพียรให้ยิ่งๆ ขึ้น เมื่อมีครูบาอาจารย์ใด ที่จะเป็นที่พึ่งได้ในสมัยนั้น ท่านก็ไปกราบขอปวารณาตัวเป็นศิษย์ เช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้เคยอยู่จำพรรษากับท่านด้วย ดังนั้นท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร จึงถือว่าท่านพระอาจารย์วังเป็นศิษย์ของท่าน รูปหนึ่ง และด้วยความเป็นคนเอาจริงต่อการปฏิบัติของท่านพระอาจารย์วัง ท่านหลวงปู่ฝั้น อาจาโร มักสอนลูกศิษย์รูปอื่นๆ ว่า
“ให้ทำเหมือนท่านวัง เอาจริงเอาจังเหมือนท่านวัง”
อย่างนี้เสมอ และอีกท่านหนึ่งคือหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ท่านก็ถือว่าพระอาจารย์วังเป็นศิษย์ของท่าน หลวงปู่อ่อน เล่าว่า
“ท่านวังเป็นศิษย์ของท่านด้วย แม้แต่ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านก็เคยเข้ารับฟังโอวาท และอยู่ร่วมด้วยหลายคราว”
จริงจังในการปฏิบัติธรรม
ในการจำพรรษาปีหนึ่ง ท่านเล่าว่าได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเป็นข้อวัตรว่าจะไม่นอนตลอดสามเดือน มีเพื่อนร่วมกันอยู่รูปหนึ่งคือพระอาจารย์อุยทั้งสองรูปสัญญากันว่าภายในกุฏิห้ามมีหมอน ถ้านั่งสมาธิก็ให้นั่งตรงกลางห้อง ไม่ให้นั่งพิงฝา แล้วเอาใบบัวมาห่อน้ำเป็นถุง ผูกโยงไว้บนศีรษะกลางห้อง มีเชือกผูกไว้ที่ถุงนั้นให้ปลายเชือกข้างหนึ่งย้อยลงมาข้างฝา ให้ผู้อยู่ข้างล่างจับเชือกนั้นได้ ถ้าหากว่าผู้ใดนั่งสมาธิออกอาการสัปหงก อีกผู้หนึ่งมาพบเข้าในขณะนั้น ก็จะจับเชือกนั้นดึงกระตุกเชือกนั้นก็จะปาดถุงใบบัวนั้นขาด น้ำในนั้นทั้งหมดก็จะร่วงลงมาตรงกับผู้นั่งสัปหงกนั้นพอดี ผู้นั้นก็จะเปียกทั่วกาย เท่ากับได้อาบน้ำนั้นเอง คืนนั้นถ้าได้ถูกอาบน้ำเช่นนั้น ก็ได้เปลี่ยนผ้ากันใหม่ ทำให้หายง่วงและได้ทำความเพียรต่อไป ในพรรษานั้นได้ถูกอาบน้ำคนละหลายครั้ง ในอีกพรรษาหนึ่งท่านอธิษฐานเดินจงกลมวันละหลายชั่วโมง เมื่อออกพรรษาแล้ว ทางที่เดินจงกรมเป็นร่องลึกลงไปเท่าฝ่ามือ
คราวหนึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าท่านได้ไปวิเวกคนเดียว เดินผ่านป่าดงไปไกล ทั้งๆ ที่มีไข้จับสั่นและไม่มียาจะกินด้วย เมื่อเดินไปก็สั่นไปตลอดทาง บนบ่าสะพายบาตร ย่าม กลดมุ้ง เห็นว่ามันคงหนักไม่พอ มันจึงสั่น จึงได้เอาผ้าอาบน้ำสะพายเอาหินแม่รัง ที่มีอยู่ตามโคกเพื่อจะให้มันหายสั่น ถึงเพิ่มน้ำหนักเข้าอีกเช่นนั้น ก็ยังสั่นอยู่นั้นเอง เมื่อร่างกายได้เดินอย่างหนักผสมกับไข้ด้วย จึงทำให้อ่อนเพลียมาก ตกลงว่าจะพักเสียก่อน แล้วจึงแวะออกจากทาง เข้าไปภายใต้ร่มไม้น้อยต้นหนึ่ง เอาผ้าอาบน้ำฝนปู เอาห่อสังฆาฏิเป็นหมอน คลี่จีวรห่มแต่ก็ยังหนาวอยู่ จึงเอามุ้งห่มทับอีกชั้นหนึ่งมุ้งนั้นเป็นสีขาว เมื่อคลุมทั้งตัวเช่นนั้นแล้ว ก็คล้ายกับกองสัตว์ตายแล้วนั่นเอง แล้วท่านก็กำหนดสมาธิไปเรื่อย แล้ท่านได้หลับไปประมาณสองชั่วโมงไข้ก็สร่างพอดี ท่านจึงเอาผ้าที่ห่มออกได้เห็นอีแร้งตัวหนึ่งจับอยู่บนต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ นั่นเอง มันคงนึกว่าเป็นกองสัตว์ตาย และได้อาหารแล้ว มันมาจับอยู่บนนั้นนานเท่าไรไม่ทราบ ท่านจึงได้พูดกับมันว่ายังไม่ตายหรอกคุณ ขอไว้ก่อนคราวนี้
ท่านพระอาจารย์วัง ท่านตั้งใจจะออกธุดงค์กัมมัฏฐานเหมือนที่เคยทำมา คณะของท่านได้พากันออกเดินทางไปทางทิศตะวันตกของบ้านสามผง ไปถึงบ้านศรีเวินชัย ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าบ้านดงพระเนาว์ ห่างจากวัดโพธิ์ชัย ประมาณ ๑.๘ กิโลเมตร เมื่อไปถึงบ้านดงพระเนาว์ ชาวบ้านทุกคนซึ่งสมัยนั้น มีบ้านเรือนประมาณ ๔๐-๕๐ หลังคาเรือน ได้พร้อมใจกันขอกราบอาราธนานิมนต์ท่านให้อยู่จำพรรษาที่หมู่บ้านดงพระเนาว์นี้ ดงพระเนาว์เป็นป่าดงดิบที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด มีไม้ใหญ่ๆ เช่น ไม้กระบาก ไม้ยางนา ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ตะแบก ไม้พะยอม ไม้เค็ง ซึ่งมีลำต้นสูงๆ ทั้งนั้น แต่ละต้นมีขนาด ๓-๔ คนโอบรอบ และป่าอย่างอื่นก็ขึ้นหนาแน่น พร้อมทั้งไม้ผลต่างๆ ก็มีมากมายหลายชนิด ความหนาแน่นของป่าไม้ดงนี้ ถึงขนาดมีบางคนได้เดินลึกเข้าไปกลางดงป่า แล้วจะออกจากดงพระเนาว์ตามทิศทางที่ตนจำไว้ ก็ออกไม่ถูก ไพล่ไปออกทิศอื่นก็มี และเนื่องด้วยในดงพระเนาว์มีผลไม้ผลัดเปลี่ยนตลอดปี จึงทำให้สิงสาราสัตว์ต่างๆ มีเสือ อีเก้ง กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ค่าง นกยูง และนกนานาชนิดอาศัยอยู่มาก ท่านจะนำพาพระภิกษุ สามเณร ผ้าขาว ออกเที่ยววิเวกตามหมู่บ้านน้อยใหญ่เรื่อยไป ผ่านดงภูลังกา ดงภูวัว ภูสิงห์ ดงศรีชมพู ดงหม้อทอง พักบำเพ็ญภาวนาที่นั่นบ้างที่นี้บ้าง เป็นเวลาสองเดือนสามเดือนทุกปี
พบถ้ำชัยมงคล
อยู่มาปีหนึ่ง พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านได้ออกเที่ยววิเวกเหมือนทุกปีที่ผ่านมาได้เดินธุดงค์ไปที่ภูลังกา บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง ได้ขึ้นไปที่หลังภูลังกาซึ่งเคยขึ้นเกือบทุกปี แต่ปีนั้นได้พบถ้ำๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นถ้ำกว้างพออยู่อาศัยได้สะดวก ถ้ำนี้แบ่งเป็นสองตอน ตรงกลางมีก้อนหินตับคั่นเป็นห้อง แต่พอเดินไปหากันได้ตลอด เป็นชะง่อนหินริมผา ลักษณะคล้ายถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ด้านหน้าถ้ำอยู่ตรงทิศตะวันออก แสงอาทิตย์ส่องถึงภายในถ้ำได้ตลอด ถ้ำนี้ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เมื่อท่านได้พบแล้ว เป็นที่พอใจของท่านอย่างมาก ท่านพูดว่าต่อไปเราจะมาอยู่ที่นี่ ซึ่งตามปกติท่านก็ชอบภูเขาอยู่แล้ว ท่านจึงให้ชื่อถ้ำนี้ว่า “ถ้ำชัยมงคล” ระยะทางจากถ้ำนี้ลงไปถึงตีนเขาประมาณ ๑ กิโลเมตรกว่า ตีนเขาห่างจากหมู่บ้านโพธิ์หมากแข้ง บ้านโนนหนามแท่ง เดินผ่านดงไปอีกประมาณ ๘ กิโลเมตร บริเวณรอบภูลังกานี้เป็นป่าไม้ดงดิบที่อุดมสมบูรณ์มาก มีพวกสัตว์ป่าต่าง ๆ เช่น ช้าง เสือ ควายป่า กระทิง หมี เลียงผา อีเก้ง กระจง ชะมด ลิง ค่าง บ่าง กระรอก กระแต ไก่ป่า ไก่ขัว นกยูงเป็นฝูงๆ และนกอื่นๆ อีกมากมาย ในด้านทิศตะวันตกของภูลังกาคือบ้านโพธิ์หมากแข้ง มีถ้ำอยู่ตามเงื้อมเขา พอเป็นที่ผึ้งจะอาศัยทำเป็นรัง มีอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำพร้าว ถ้ำปอหู เป็นต้น โดยเฉพาะถ้ำพร้าว เป็นถ้ำสูงจึงมีผึ้งมาทำรังอยู่ ปีละไม่น้อยกว่าหนึ่งรัง ชาวบ้านต้องประมูลจากทางอำเภอเมื่อประมูลได้แล้ว ก็เฝ้ารักษาคอยเก็บเอาเฉพาะรังผึ้งมาทำเป็นขี้ผึ้งขาย ไม่ค่อยนำเอาน้ำผึ้งมาขาย เพราะถ้ำอยู่สูง ไม่สะดวกในการเก็บน้ำผึ้ง ไม่เหมือนที่ภูสิงห์ ภูวัว ซึ่งเป็นเป็นภูเขาที่มีถ้ำอยู่ต่ำ จึงเก็บเอาน้ำผึ้งมาขายได้ง่ายกว่า
“..ที่ภูลังกานี้ถึงแม้จะลำบากในเรื่องอาหาร ต้องอดแห้งอดแล้ง ท้องกิ่วเหมือนฤๅษีชีไพร และอาหารที่ไปบิณฑบาตมาได้จะเป็นเพียงข้าวเหนียว ๑ ก้อนเล็กๆ กับเกลือและพริก ได้มาแค่ไหนก็ฉันกันแค่นั้น ไม่คิดมาก ไม่ถือว่าเรื่องอาหารเป็นอุปสรรคในการเจริญภาวนา เพราะจิตมีความมุ่งหมายอยู่ที่การขูดเกลากิเลสตัณหา ความทะยานอยากให้หมดไป เพื่อพ้นทุกข์ จิตสะอาดบริสุทธิ์ สว่าง สงบ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้น พระป่าจึงไม่มีการบ่นว่าหิวเหลือเกิน อ่อนเพลีย ไม่มีแรงจะเป็นลม ต่างก็หุบปากเงียบ เฝ้าแต่เดินจงกรมกับนั่งสมาธิภาวนา กำหนดสติรู้คอยระมัดระวังกิเลสตัณหาในตัวเองอยู่ตลอดเวลา รู้เท่าทันกิเลส ใช้ขันติ ความอดทน อดกลั้นในทุกสถานการณ์ ไม่ทำตามกิเลสทุกรูปแบบ บังคับตัวเองได้ เป็นนายตัวเองได้ ถ้าเจ็บไข้ อาพาธ ไม่ต้องไปหาหยูกยาใดๆ รักษาตัวเองด้วยการนั่งสมาธิภาวนาสลับกับเดินจงกรม ไม่ฉันอาหารเพื่อให้กระเพาะลำไส้ได้หยุดพักผ่อน เรียกว่า รักษาด้วยธรรมโอสถ หายก็ดี ไม่หายก็ตาย ถ้าตายก็หายห่วง จะได้ดับให้สนิทไปเลยไม่ต้องกลับมาเกิดอีก ความตายไม่ใช่สิ่งน่ากลัวอะไร..”
เทวดาเลื่อมใส
ขณะที่อยู่ภูลังกานั้น ท่านอาจารย์วังได้พูดให้ฟังหลายครั้งว่ามีเทวดามาขออาราธนาให้ท่านอยู่ที่นี่นานๆ บางครั้งเมื่อท่านลงมาที่วัด ศรีวิชัย ซึ่งตามปกติจะมาทุกปี ปีละครั้งสองครั้ง ญาติโยมอยากขอนิมนต์ให้พักนานๆ แต่ท่านตอบปฏิเสธ โดยท่านบอกว่าเทวดาเขามานิมนต์กลับเทวดาจะพากันมารับศีลและฟังเทศน์ จากท่านเป็นประจำ คืนไหนที่ พวกเขามา วันรุ่งขึ้นท่านจะเล่าให้พระเณรฟังทุกครั้ง
ภุมมเทวดาตักเตือน
ขณะที่อยู่บนภูลังกา ปกติจะมีญาติโยมขึ้นไปกราบท่านอยู่เสมอ เพราะขณะนั้นชื่อเสียงของท่านค่อนข้างจะโด่งดั่งพอสมควร เมื่อญาติโยมขึ้นมากราบท่านที่ถ้ำ ก็มักจะเดินเที่ยวชมป่าเขาด้วย ท่านจะคอยบอกญาติโยมว่า ห้ามโยนก้อนหินลงไปหน้าผาหน้าถ้ำ เพราะพวกภุมมเทวดาเขามาบอกว่าเขาไม่ชอบ มีโยมกลุ่มหนึ่ง แม้ท่านจะห้ามแล้วก็ยังแอบกระทำอยู่ในตอนกลางวัน พอตกค่ำ ๓ ทุ่มหลังจากทำวัตรเสร็จแล้ว กำลังฟังเทศน์กันอยู่ ก็มีเสียงดังสะท้อนลั่นมาจากลานหินหลังถ้ำ (ถ้ำนี้เป็นชะง่อนหินริมผา มีลานหินอยู่ด้านบน) เหมือนมีหินขนาดใหญ่สัก ๒ เมตร กลิ้งมาแล้วตกลงหน้าผา ห่างจากถ้ำราว ๖ วา ญาติโยมก็แตกตื่นตกใจวิ่งไปจับกลุ่มอยู่ใกล้ ๆ ท่านอาจารย์วัง ท่านจึงถามว่าเมื่อโยมขึ้นไปหลังถ้ำมีใครโยนก้อนหินลงหน้าผาหรือไม่ โยมตอบว่า มีเด็กมากันหลายคน และพากันโยนหินเล่น ท่านจึงบอกว่า พวกเจ้าที่เขาไม่พอใจที่ไปทำอย่างนั้น จึงเกิดเสียงอย่างนี้ขึ้น ขอโทษเขาก็ได้ ไม่เป็นไร แค่คราวต่อไปห้ามทำอย่างนี้อีก ครั้นตอนเช้ามาดูก้อนหินที่ตกลงมา ปรากฏว่าเป็นหินที่มีขนาดเท่าบาตรเท่านั้น ไม่สมกับเสียงที่ได้ยินเมื่อคืนเลย
พญานาคมาขอส่วนบุญ
เช้าวันหนึ่ง พระอาจารย์วังได้เล่าให้เณร (พระจันโทปมาจารย์) ฟังว่า เมื่อคืนมีพญานาคมาหาให้นิมิตสมาธิ บอกว่ามาขอส่วนบุญ พอตกกลางวันวันนั้น มีงูตัวหนึ่งสีแดงทั้งตัว ขนาดไม่ใหญ่นัก ยาวประมาณสองศอก เลื้อยเข้ามาในถ้ำชัยมงคล แล้วหายเข้าไปในถ้ำ เมื่อถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนจะทำการถวายภัตตาหาร ท่านอาจารย์วังได้กล่าวว่าบุญกุศลที่พวกเณรและผ้าขาว ถวายภัตตาหารแด่พระเณรให้อุทิศไปให้พญานาค แล้วท่านก็พาทำบุญอุทิศ ครั้นวันถัดมา ท่านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนพญานาคมาหาอีกครั้งบอกว่าเขาได้รับบุญกุศลแล้ว มาขอลาไปสู่สุคติภพที่ดีกว่า
หลวงปู่วัง ฐิติสาโร ท่านละสังขารลง เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งก่อนมรณภาพนั้นท่านได้พูดกับศิษย์เบาๆ ด้วยน้ำเสียงปกติว่า
“มันจะตายก็ให้มันตายไป”
แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา ๒๐.๑๘ น. สิริรวมอายุได้ ๔๑ ปี พรรษา ๒๑
ลูกศิษย์หลวงปู่วัง ที่เป็นที่รู้จักในวงศ์พระกัมมัฏฐานได้แก่
มีลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุอยู่ ๓ รูป คือ
๑. ท่านเจ้าคุณสังวรวิสุทธิเถระ (พระอาจารย์วัน อุตตโม) วัดถ้ำอภัยดำรง อ.ส่องดาว จ.สกลนคร
๒. พระอาจารย์โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร
๓. พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม) วัดศรีวิชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม
ทั้งสามรูปล้วนแต่มรณภาพไปแล้วทั้งสิ้น
หลวงปู่วังแก้ปัญหาการปฏิบัติธรรมให้ พระอาจารย์ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง
ภูลังกา ยังเป็นสถานที่ที่สำคัญ ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ได้มาบำเพ็ญภาวนา และหลวงปู่ชา สุภัทโท ก็ได้มากราบหลวงปู่วัง ฐิติสาโร ที่ภูลังกานี้ ในสมัยที่ท่านยังมีอายุพรรษาไม่มาก ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๒ หลังจากหลวงตาและคณะละทิ้งสำนักไปได้เจ็ดวัน หลวงพ่อชาได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ในระหว่างนั้นการปฏิบัติสมาธิภาวนาของท่านมีอันต้องสะดุดหยุดอยู่กับที่ คล้ายกับเดินไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วเดินต่อไปไม่ได้
หลวงพ่อชาฟื้นความหลังให้ลูกศิษย์ฟังว่า
“ขณะนั้นคิดว่า ใครหนอจะช่วยเราได้ ก็นึกถึงอาจารย์วัง ท่านอยู่ที่ภูลังกา ก็ไม่เคยพบท่านหรอก แต่ได้คิดว่าพระองค์นี้ท่านคงจะมีดีอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ จึงขึ้นไปอยู่บนยอดเขาอย่างนั้น”
หลวงพ่อเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูลังกา ได้พบท่านอาจารย์วังดังปรารถนา ท่านพำนักอยู่กับเณรน้อยสองรูป ปลูกกุฏิเล็กๆ ตามพลาญหินและเงื้อมผา มีที่หลีกเร้นเหมาะแก่การภาวนามาก คืนหนึ่งหลังเสร็จจากกิจวัตรส่วนตัว หลวงพ่อได้ขอโอกาสสนทนาและถามปัญหาธรรม ที่ตนขัดข้องต่อท่านอาจารย์วัง
หลวงพ่อได้ถ่ายทอดให้ศิษย์ฟังว่า
“ที่ผมขึ้นมากราบท่านอาจารย์ครั้งนี้ เพราะผมจนปัญญาแล้ว คล้ายๆ กับว่าเราเดินไปบนสะพานที่ทอดยาวไปในแม่น้ำ เราเดินไปแล้วก็หยุดอยู่ไม่มีที่จะไปอีก พอหันเดินกลับมา บางทีก็เดินเข้าไปอีก นี่เป็นสมาธินะครับ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยต้องหันกลับมาอีก กำหนดไปต่อก็ไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปเหมือนมีอะไรมาขวางอยู่ แล้วก็ชนกึ๊กอยู่ตรงนั้น เป็นอาการอย่างนี้มานานแล้ว มันคืออะไรครับ”
ท่านอาจารย์วังตอบว่า
“มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปไหน ให้ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเอง ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ให้เรากำหนดรู้ว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความสุขอย่างนี้แล้ว จิตมีอาการอย่างไรก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ารู้จักแล้ว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้ายๆ กับว่าสัญญาของเด็กเปลี่ยนเป็นสัญญาผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันชอบของเล่นอย่างนี้ พอโตขึ้นมาเห็นของชิ้นเก่านี้ไม่น่าเล่นเสียแล้ว ก็เลยไปเล่นอย่างอื่น นี่มันเปลี่ยนอย่างนี้”
ท่านอาจารย์วังเสริมต่ออีกว่า
“มันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่จะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ อย่าไปสงสัย เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยเปลี่ยนไปเอง ให้กำหนดรู้และเพ่งตรงนี้ แต่อย่าเข้าใจว่ามันหมดนะ เดี๋ยวจะมีอีก แต่ให้วางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตราย กำหนดอยู่อย่างนี้ให้มีรากฐาน อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้”
หลวงพ่อชาเรียนถามอีกว่า
“ทำไมบางคนไม่มีอะไรขัดข้องในการภาวนาล่ะครับ ?”
ท่านอาจารย์วังตอบ
“อันนี้เป็นบุพกรรมของเรา ต้องต่อสู้กันในเวลานี้ ตอนจิตมันรวมนี่แหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดีของน่ารักก็มี แต่เป็นอันตรายทั้งนั้น อย่าไปหมายมันเลย”
เหมือนบอกทางแก่คนหลงทาง หลังจากสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น ครั้นพูดคุยเรื่องต่างๆ กันพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก ในขณะพักอยู่บนภูลังกา หลวงพ่อได้เร่งความเพียรอย่างหนัก พักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา
หลวงพ่อชา พักอยู่ที่ภูลังกาได้สามวัน ก็กราบลาท่านอาจารย์วัง เดินลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงหลบเข้าไปนั่งสมาธิที่ใต้ถุนศาลา ทันใดนั้น จิตเกิดความตั้งมั่นขึ้น แล้วมีความรู้เห็นตามมาเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ดูอะไรเปลี่ยนไปหมด กาน้ำวางอยู่ข้างๆ ก็ดูเหมือนไม่ใช่กาน้ำ บาตรก็ดูเหมือนไม่ใช่บาตร ทุกๆ อย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด ต่างกันราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น แล้วน้อมเข้ามาดูตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายก็เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นของสมมุติทั้งหมด
การได้พบกับอาจารย์วังครั้งนั้น หลวงพ่อได้ความกระจ่างในทางธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านจึงให้อุทาหรณ์แก่บรรดาศิษย์ว่า
“คนเราจะไปภาวนาคนเดียว มันก็ได้อยู่หรอก แต่บางคนอาจจะวกวนไปมาจนช้า ถ้ามีใครชี้บอกทางให้มันไปเร็ว และมีลู่ทางที่จะพิจารณามากกว่า”
จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้ หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้นๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
“ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ ราบๆ บ้างนะ”
หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลครับ”
“จะกลับบ้านเพราะคิดถึงใครหรือเปล่า ? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา”
หลวงปู่กล่าวทิ้งท้ายด้วยคำอมตะ
หลวงปู่โง่น โสรโย ลูกศิษย์ของหลวงปู่วัง
ได้เล่าให้ฟังว่า “…การเจริญภาวนาของครูบาวังนั้นเป็นการปฏิบัติขั้นอุกฤษฏ์ จริงๆ เป็นที่เล่าลือกันทั่วไปในหมู่พวกสหธรรมิกด้วยกัน ครูบาวังชอบไปนั่งบำเพ็ญเพียรที่ชะง่อนผาอันสูงลิบลิ่วบนยอดภูลังกา ชะง่อนผานั้นกว้างประมาณ 2 ศอก กำลังเหมาะเจาะพอดี เวลานั่งลงไป ถ้าเอียงซ้ายหรือเอียงขวานิดเดียวเป็นต้องร่วงลงไปในเหวลึก หรือถ้าสัปหงกไปข้างหน้าก็หัวทิ่มลงเหวอีกเหมือนกัน””การปฏิบัติ ธรรมขั้นอุกฤษฏ์ของครูบาวังนี้ เป็นการเอาชีวิตตัวเองเป็นเดิมพันกับความตาย ครูบาวังจะนั่งอยู่บนชะง่อนผามรณะนั้นนานนับชั่วโมง บางครั้งนั่งอยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นการเจริญมหาสติปัฏฐานแบบเจโตวิมุตติ โดยใช้อำนาจของอัปปนาฌานเป็นบาทฐาน เป็นการปฏิบัติแบบสมถกรรมฐานเจือปนวิปัสสนากรรมฐาน เจริญกายคตาสติพิจารณาอาการ ๓๒ นั่นเอง…”