วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย

ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)

วัดศรีเมือง
ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย

พระธรรมไตรโลกาจารย์ หลวงปู่รักษ์ เรวโต อ.เมือง จ.หนองคาย

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต), อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เป็นแห่งแรกของเมืองหนองคาย เป็นพระสังฆาธิการที่มีความเคร่งครัดในธรรมวินัยอย่างสูง แต่กอปรด้วยปฏิปทาและจริยวัตรอันงดงาม มีใจเอื้ออารีต่อคณะศิษยานุศิษย์และพุทธบริษัททั้งหลาย

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)

พระธรรมไตรโลกาจารย์ มีนามเดิมว่า รักษ์ มีวรรณดิษฐ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๐ ณ บ้านขุนตา ต.ศรีฐานเหนือ อ.เมือง จ.นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว (ในสมัยนั้น)

การศึกษาเบื้องต้น
เมื่ออายุได้ ๕ ขวบ ด.ช.รักษ์ ได้เรียนหนังสือไทยและหนังสือลาว ที่บ้านกับบิดา รวมทั้งได้เรียนหนังสือธรรม-หนังสือขอมเพิ่มเติม จึงมีความรู้เทียบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔

ต่อมาได้เรียนภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนวัดจันทบุรี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว (ในสมัยนั้น) อันเป็นโรงเรียนที่สอนเฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้น

การบรรพชาและอุปสมบท
แต่เรียนอยู่เพียง ๑ ปี มีเหตุขัดข้องบางประการต้องเลิกเรียน บิดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดขุนตา ต.ศรีฐานเหนือ อ.เมือง จ.นครเวียงจันทน์ โดยมีพระอธิการคำหล้า เป็นพระอุปัชฌาย์

สามเณรรักษ์มีโอกาสได้เรียนบาลีกับท่านอาจารย์มหาแก้ว ที่วัดจันทบุรี เป็นเวลา ๓ ปี

พ.ศ.๒๔๖๕ สามเณรรักษ์มีความประสงค์จะเข้าไปเรียนพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ต้องเดินทางไปพร้อมคณะพ่อค้าเมืองหนองคายที่นำสิ่งของเข้าไปขายในเมืองหลวง

ครั้นเดินทางถึงเมืองบางกอก ได้กราบถวายตัวเป็นศิษย์กับ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมธีรราชมหามุนี” เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวิหาร ก่อนขอทำญัตติกรรมเป็นธรรมยุต โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๔๖๘ สามเณรรักษ์ สอบได้นักธรรมชั้นตรีและเปรียญธรรม ๓ ประโยค

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)
เมื่อครั้งยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๐ ณ พัทธสีมาวัดบรมนิวาสราชวิหาร ต.ถนนรองเมือง อ.ปทุมวัน จ.พระนคร (ปัจจุบันคือ แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร) โดยมี ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอมราภิรักขิต (ชัย ชิตมาโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระครูวินัยธร (ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และ เจ้าจอมมารดาทับทิม วังมหานาค (สะพานขาว) เป็นผู้ถวายความอุปถัมภ์ในการอุปสมบท

พระรักษ์ ได้ทำการศึกษาบาลีไวยากรณ์ และพระธรรมบทจนเชี่ยวชาญ ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ท่านเดินทางมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บิดาที่ล่วงลับ ณ นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว

เมื่องานอุทิศส่วนกุศลแล้วเสร็จ เจ้าเมืองคำผา ญาติฝ่ายมารดา ได้ขอให้ท่านมาเป็นครูสอนบาลีอยู่ทางนครเวียงจันทน์ พระรักษ์ได้ขออนุญาตและกราบลาท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ก่อนเดินทางกลับถึงนครเวียงจันทน์ อยู่จำพรรษาที่วัดจันทบุรี ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครเวียงจันทน์ ๑ พรรษา

วิทยฐานะและงานการศึกษาพระปริยัติธรรม
ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ พระรักษ์ได้รับการแต่งตั้งจาก พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พนฺธุโล) เจ้าคณะมณฑลอุดรธานี และเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ให้เป็นอาจารย์สอนบาลีไวยากรณ์ที่วัดโพธิสมภรณ์ เป็นเวลา ๒ ปี

ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ พระครูศีลสารวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ฝ่ายมหานิกาย ได้เดินทางไปยังวัดโพธิสมภรณ์ เพื่อขอให้พระรักษ์ไปทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนบาลีไวยากรณ์ ที่ จ.หนองคาย ประจำอยู่ที่วัดศรีเมือง หรือวัดเมืองหนอง ซึ่งเป็นวัดธรรมยุตแห่งแรกในจังหวัดหนองคาย

พระรักษ์ได้จัดตั้งโรงเรียนบาลีไวยากรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีพระภิกษุ-สามเณร เข้ามาศึกษาเล่าเรียนหลายรูป

พระธรรมไตรโลกาจารย์ มีความรู้พิเศษรอบด้าน อาทิ ภาษาฝรั่งเศส, วิชาการไฟฟ้า เครื่องจักรกล และก่อสร้าง เป็นต้น ส่วนวิทยฐานะในทางสงฆ์ อาทิ นักธรรมชั้นเอก, เปรียญธรรม ๔ ประโยค การเทศนาอบรมประชาชนในเรื่องศีลธรรม ความชำนาญการในการเป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์กว่า ๓๐ ปี

ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระวิชัยมุนี
พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชบัณฑิต
พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพบัณฑิต
พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๑ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๙ (ธรรมยุต)

พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง
ถวายเครื่องสังฆภัณฑ์ แด่หลวงปู่เครื่อง ธมฺมจาโร อายุ ๑๐๐ ปีเศษ ณ.วัดเทพสิงหาร จังหวัดอุดรธานี ด้วยหลวงปู่เครื่อง เป็นศิษย์ผู้ใหญ่อีกรูปของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ผู้เฒ่ารุ่นก่อนมีความคุ้นเคยกันดี
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต)
พิจารณาผ้าบังสุกุล ในพิธีสามหาบเก็บอัฐิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ณ วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย,
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี
และพระธรรมบัณฑิต (ศิลา สิทฺธิธมฺโม) วัดนรนาถสุนทริการาม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
เข้ากราบนมัสการเยี่ยมหลวงปู่ขาว อนาลโย
ณ วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๔
จากซ้าย : พระคุณเจ้าองค์ที่ ๓ ถึง องค์ที่ ๗ คือ
พระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปญฺโญ),
พระราชสังวรญาณ (หลวงปู่สมุทร อธิปญฺโญฺ),
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต),
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)
และพระครูภาวนาวิมล (หลวงปู่บัวพันธุ์ กตปุญฺโญ)

ในงานพระราชทานเพลิงศพ “หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส”
เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๖
ณ วัดป่าพระสถิตย์ ต.พรานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เข้ากราบเยี่ยมอาการอาพาธ พร้อมทั้งป้อนภัตตาหารแด่
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) ณ วัดศรีเมือง ต.ในเมืองอ.เมือง จ.หนองคาย

การมรณภาพ
ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ พระธรรมไตรโลกาจารย์ ได้ละสังขารลงอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๙๘ พรรษา ๗๗ ท่ามกลางความเศร้าสลดและความอาลัยเป็นอย่างยิ่งของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ชาวจังหวัดหนองคายและพุทธศาสนิกชนทั่วไป ทั้งนี้ ชาวจังหวัดหนองคายได้จัดพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ เพื่อร่วมไว้อาลัยและรำลึกถึงคุณงามความดี

พิธีเฉลิมฉลองพระเจดีย์พุทธรังษี วัดป่าพุทธรังษี ลูเมียร์ ประเทศออสเตรเลีย
ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ โดยมีพระเดชพระคุณฯ พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมทั้งคณะสงฆ์จากเมืองไทย อาทิ
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) ,พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป) ,หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ,พระราชกวี (หลวงปู่ลาภ ธนสาโร) ,พระธรรมเจติยาจารย์ (หลวงปู่บุญเรือง ปุญฺญโชโต) ,พระราชสีลาภรณ์ (หลวงพ่อสมัย สุขสมิทฺโธ) ร่วมงานในพิธีดังกล่าว
แถวนั่งพื้นหน้าสุด จากซ้าย องค์ที่ ๓ :
พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) วัดโพธิสมภรณ์
แถวที่ ๒ นั่งเก้าอี้ จากซ้าย องค์ที่ ๑-๔ :
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร – องค์ใส่แว่นตาดำ
พระศาสนโศภน (ปลอด อตฺถการี) วัดราชาธิวาส
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ
แถวที่ ๓ แถวยืน จากซ้าย องค์ที่ ๗, ๘, ๙ :
พระธรรมวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) วัดศรีสุทธาวาส
พระอริยเวที (หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน
สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) วัดราชบพิธ
องค์ที่อยู่เหนือศีรษะของหลวงปู่ศรีจันทร์พอดี :
พระเทพสุเมธี (ไพบูลย์ อภิวณฺโณ) วัดศรีโพนเมือง
แถวที่ ๒ จากข้างบน จากซ้าย องค์ที่ ๓ :
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) วัดศรีเมือง
บันทึกภาพร่วมกัน ณ ด้านหน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
นั่งหน้าสุด : พระเทพสิทธาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ เขมิโย)
นั่งแถวกลาง (จากซ้าย) : พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ), พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต), พระจันโทปมาจารย์ (หลวงปู่จันโท กตปุญฺโญ), พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป), หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
นั่งแถวหลัง : หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส, หลวงปู่หลอด ปโมทิโต, หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ, พระครูบริหารคณานุกิจ, พระครูสุนทรนวกิจ
หมายเหตุ : บันทึกภาพร่วมกันเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ในงานฉลองหอระฆัง วัดศรีเมือง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.หนองคาย