วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่มานิต ถาวโร พระมหาเถระผู้ปักธงชัยพระกรรมฐานใจกลางกรุง

ประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร)

วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร (วัดเกาะ)
เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร)

◎ ชาติภูมิ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร) นามเดิม กงมา นามสกุล ก่อบุญ เกิดวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๖๐ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ที่บ้านบ่อชะเนง ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ) บิดาชื่อ นายช่วย มารดาชื่อ นางกา นามสกุล ก่อบุญ เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจ่านวนพี่น้อง ๑๑ คน

◎ การศึกษา บรรพชาและอุปสมบท
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร) ได้รับการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรมดังนี้
พ.ศ.๒๔๗๐ อายุ ๑๐ ปี ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลหนองแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดบ้านโคกเลาะ ตำบลหนองแก้ว อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๑ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นบางประการจึงได้หยุดการเรียน

◎ การบรรพชา
พ.ศ.๒๔๗๒ บิดามารดา และญาติพี่น้องนำตัวไปบรรพชาเป็นสามเณรพระอุปัชฌาย์ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น “มานิต” ที่วัดบ้านบ่อชะเนง ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน พร้อมเพื่อนรุ่นพี่ชื่อชัย โดยมีเจ้าอาวาสชื่อ ญาคูโม้ เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน ทุกอย่างต้องว่าตามพระอุปัชฌาย์ทั้งนั้น เป็นสามเณรอยู่ ๑ ปี ได้เรียนหนังสือธรรมบ้าง สวดมนต์เวลาค่ำบ้าง นอกจากนั้นก็รดน้ำต้นไม้ มองไม่เห็นทางที่จะก้าวหน้า ถึงแม้จะมีการเปิดสอนนักธรรมตรีที่ วัดนั้น และที่บ้านใกล้เคียงก็มีสำนักเรียน มูลกัจจายน์ด้วยแต่ยังไม่ศรัทธา ไม่มีอุตสาหะที่จะเรียน หลังจากออกพรรษาแล้วได้เดินธุดงค์ติดตามพระธุดงค์สายพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ไปหลายอำเภอในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ.๒๔๗๓ เดินธุดงค์พร้อมกับคณะโดยผ่านจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคามไปยังจังหวัดขอนแก่น จำพรรษาที่วัดป่าช้าเหล่างา ปัจจุบันนี้เรียกว่าวัดป่าวิเวกธรรม ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ได้ญัตติเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุตที่นี่ โดยมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระอุปัชฌาย์ ออกพรรษาแล้วเดินธุดงค์ต่อไป หัวหน้าคณะคือ พระอาจารย์อุ่น

พ.ศ.๒๔๗๔ จำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา

พ.ศ.๒๔๗๕ ออกพรรษาแล้วเดินทางกลับไปเยี่ยมญาติโยม ที่บ้านบ่อชะเนง อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นตั้งใจจะออกธุดงค์ ติดตามอาจารย์และเพื่อนสามเณรที่แยกย้ายกันไปหลังจากจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน ได้ทราบข่าวว่าเพื่อนสามเณร ๒ องค์ ที่เดินธุดงค์ไปล่วงหน้าได้มรณภาพเพราะไข้ป่า จึงเกิดความคิดว่าเรายังเด็กเกินไปที่จะออกธุดงค์ในวัยนี้ ควรศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก่อน จึงได้อยู่จำพรรษาที่วัดอรัญญิกาวาส (วัดโพนแก้ว) อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม เพื่อเรียนพระปริยัติธรรมที่นั้นเป็นเวลา ๔ ปี

พระรัชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์

พ.ศ.๒๔๗๙ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก วัดโพธิ์ชัย ตำบลสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพระอาจารย์ผู้ชักนำให้เรียนพระปริยัติธรรม ได้พบกับพระรัชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ขณะเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่จังหวัดระยอง พระอาจารย์เกิ่ง ได้กล่าวฝากสามเณรมานิตกับเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อรับฝากเรียบร้อยแล้วก็ส่งข่าวไปบอกให้ไปอยู่ที่วัดสัมพันธวงศ์ ดังนั้นจึงออกเดินทางพร้อมกับเพื่อนชื่อสามเณรทองทิพย์ (พระเทพเมธี อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีโพนเมือง อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ) ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ไปพักที่จังหวัดสกลนครหนึ่งคืน แล้วเดินทางไปขึ้นรถไฟที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อลงรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงกรุงเทพฯแล้ว ได้สอบถามตำรวจถึงเส้นทางไปวัดสัมพันธวงศ์ จนกระทั่งถึงวัดและพักค้างคืน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปกราบเจ้าอาวาส ซึ่งให้ไปพักอยู่ที่กุฏินิตยเกษม และอยู่ในกำกับดูแลของพระเนกขัมมมุนี (เฉย ยโสธโร) ซึ่งภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่พระเทพปัญญามุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ จากนั้นก็พำนักอยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ในสำนักเรียนวัดสัมพันธวงศ์ตามที่ได้ตั้งใจไว้

จดหมายของพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย
เขียนกล่าวฝากสามเณรมานิต (กงมา) และ สามเณรทองทิพย์ ไว้กับ
พระมหารัชชมังคลาจารย์ (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์

◎ การอุปสมบท
พ.ศ.๒๔๘๐ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทโดยมีพระรัชชมงคลมุนี (เทศ นิทฺเทสโก) เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุวรรณ ชุตินฺธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูปลัดเส็ง ทินฺนวโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

◎ การศึกษาพระปริยัติธรรม
พ.ศ. ๒๔๗๕ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้เริ่มศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดอรัญญิกาวาส (วัดโพนแก้ว) อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม หลังจากที่บรรพชาเป็นสามเณรมาแล้ว ๓ ปี สอบได้ ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๗๖ นักธรรมชั้นตรี
พ.ศ. ๒๔๗๘ นักธรรมชั้นโท
พ.ศ. ๒๔๗๔ เดินทางไปศึกษาเล่าเรียนต่อที่กรุงเทพมหานครและจำพรรษาที่วัดสัมพันธวงศ์ตลอดมา โดยสำเร็จการศึกษาปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลี ดังนี้
พ.ศ. ๒๔๘๐ เปรียญธรรม ๓ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๑ เปรียญธรรม ๔ ประโยคและนักธรรมชั้นเอก
พ.ศ. ๒๔๘๔ เปรียญธรรม ๕ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๖ เปรียญธรรม ๖ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๘๘ เปรียญธรรม ๗ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๒ เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๔๙๙ เปรียญธรรม ๙ ประโยค

◎ งานการปกครอง
พ.ศ. ๒๔๘๕ เลขานุการเจ้าคณะธรรมยุต จังหวัดธนบุรี-นนทบุรี-ปทุมธานี
พ.ศ. ๒๔๙๙ พระวินัยธรจังหวัด
พ.ศ. ๒๕๐๓ ผู้ช่วยหัวหน้าพระธรรมธรคณะธรรมยุต
พ.ศ. ๒๕๑๑ รองเจ้าคณะภาค ๘ – ๑๐ (ธ)
รองเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์
พ.ศ. ๒๕๑๔ เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์และพระอุปัชฌาย์วิสามัญ
พ.ศ. ๒๕๑๖ รองเจ้าคณะภาค ๑๐, ๑๑ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๑๙ ผู้รักษาการเจ้าคณะภาค ๙, ๑๐, ๑๑ (ธ)
เจ้าคณะภาค ๑๑ (ธ) (๑ กรกฎาคม ๒๕๑๙)
พ.ศ. ๒๕๒๑ กรรมการมหาเถรสมาคม จนถึงปัจจุบัน
พ.ศ. ๒๕๔๓ ประธานเจ้าคณะภาค ๘, ๙, ๑๐, ๑๑ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๑
คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช
กรรมการเถรสมาคมธรรมยุต
ประธานกรรมการพิจารณาตั้งชื่อวัด
ประธานมูลนิธิ สุจิณโณอนุสรณ์
ประธานมูลนิธิ หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ
ประธานที่ปรึกษาคณะสงฆ์ธรรมยุตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ที่ปรึกษาคณะกรรมการความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา
ฯลฯ

◎ สมณศักดิ์

  • พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น เปรียญธรรม ๙ ประโยค
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระอริยเมธี
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชกวี นรสีหพจนปิลันธน์ คันถธุรบัณฑิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม รามวาสี
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปัญญามุนี ตรีปิฎกบัณฑิต ศาสนกิจธุราทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมบัณฑิต วิจิตรปฏิภาณสุโกศล วิมลคัมภีรญาณ นิเทศกาจารย์วิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็น พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระอุดมญาณโมลี สีลาจารวราภรณ์ สาทรหิตานุหิตวิมล โสภณธรรโมวาทานุสาสนี ตรีปิฎกบัณฑิต ธรรมยุติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
  • ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต พุทธพจนมธุรธรรมวาที ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจารวัตร พุทธบริษัทปสาทกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร) คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร มีอายุครบ ๙๐ ปี ในวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ นับเป็นพระมหาเถระซึ่งมีชาติภูมิเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด เป็นพระสุปฏิปันโนที่ได้ชื่อว่า “ผู้ปักธง กัมมัฏฐาน กลางมหานคร” มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย งดงาม น่าเลื่อมใส ดุจเดียวกับพระกัมมัฏฐาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินธุดงค์ไปบนเส้นทางเดียวกับพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เน้นการปฏิบัติภาวนาพร้อมกับการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ก่อนจะหันเหชีวิตมุ่งหน้าสู่การเรียนพระปริยัติธรรมตามแนวทาง “คันถธุระ” จนประสบผลสำเร็จสูงสุด ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาสู่การปฏิบัติ อบรมสั่งสอนพุทธบริษัท บริหารการคณะสงฆ์ นำความเจริญรุ่งเรืองให้กับพระพุทธศาสนาโดยรวม

การที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีความเป็นพระวิปัสสนาธุระและพระคันถธุระไปพร้อมกัน สามารถผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎี (คันถธุระ) และองค์ความรู้ด้านปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) ได้อย่างลงตัวและเหมาะสม จนมีการเรียกขานในบรรดาศิษยานุศิษย์และผู้เคารพศรัทธาว่าท่านเป็น “กัมมัฏฐานกลางกรุง” ประกอบกับท่านเป็นสมเด็จพระราชาคณะเลือดเนื้อเชื้อไขชาวอุบลราชธานี รูปที่ ๔ และเป็นที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ รูปที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นเกียรติประวัติที่งดงามสูงยิ่งและสมควรได้รับการยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูเป็น “ปราชญ์” ของชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศ์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร)
พระมหาเถระผู้รัตตัญญู
พระมหาเถระผู้ปักธงชัยพระกรรมฐานใจกลางกรุง

มรณภาพ
สมเด็จพระมหา​วีรวงศ์ (หลวงปู่มานิต ถาวโร) ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคระบบหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน​ พ.ศ. ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ ๑๐๐ ปี ๓๑๖ วัน พรรษา ๘๑