วันจันทร์, 25 พฤศจิกายน 2567

พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) วัดกุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร)

วัดกุดเรือคำ
ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร

พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) วัดกุดเรือคำ

พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) นับได้ว่าเป็นพระเถระผู้นํา ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ ระยะเวลาปฏิบัติศาสนกิจของท่าน ๓๐ ปีเศษ ได้ทําให้ถนนี้ก้าวไปไกลและได้ซาบซึ้งในรสพระธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างคณานับไม่ได้ การจากไปของท่านเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่เคยมีมาก่อนสําหรับคณะศิษย์และชาวบ้านกุดเรือคํา โดยเฉพาะงานด้านการศึกษาท่านมีบทบาทเป็นอย่างมากทีเดียว นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระอุปปัชฌาย์ ที่มีสัทธิวิหาริก เป็นพระกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น หลายรูปอาทิ หลวงปู่ผาง ปริปุณโณ , หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ , หลวงปู่อุดม ญาณรโต , หลวงปู่สุภาพ ธมฺมปญฺโญ , หลวงปู่บุญมา ปัญญาโณ (หลวงปู่ตา) ฯลฯ

◎ ชาตกาลและชาติภูมิ
หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร นามเดิมของท่านชื่อ เถื่อน นามสกุล อุปริวงค์ บิดาชื่อ นายศรีสุราช และมารดาชื่อ นางบัพภา เกิดเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๖ เวลาเที่ยงวัน ตรง กับวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ณ บ้านหนองสระพัง (เป็นหมู่ บ้านอยู่ทิศตะวันตกบ้านอินทร์แปลง ปัจจุบันได้ร้างไปแล้ว) ภายหลัง จากท่านเกิดได้ปีเศษ ครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดเรือคํา ตําบลคูสะคาม อําเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร มีพี่น้องรวมกัน ๕ คน คือ

๑. แม่เคน ทัศวงษา
๒. พ่อแผ่น ทัศวงษา
๓. แม่แก้ว ทัศวงษา
๔. แม่เกตุ บุตรสิทธิ์
๕. พระครูอดุลสังฆกิจ พี่น้องถึงแก่กรรมไป หมดแล้ว

◎ การศึกษาเบื้องต้นและการบรรพชา
เมื่ออายุ ๑๐ ปีโดยประมาณ เข้าศึกษาโรงเรียนประถม ณ โรงเรียนวัดศรีชมชื่น (ตั้งอยู่ ณ สถานีอนามัยตําบลคูสะคาม หมู่บ้านจําปาดง ปัจจุบัน) นัยว่า ระยะนั้น การเรียนการสอนหาครูลําบากมาก เพราะพระราชบัญญัติประถมศึกษายังไม่บังคับใช้ การเรียนเป็นไปด้วยความสมัครใจมากกว่า ครูผู้ทําการสอนส่วนมากเป็นพระหรือผู้ที่เคยผ่านการบวชมาแล้ว ท่านเรียนอยู่ ๓ ปี มีครูสอนผลัดเปลี่ยนกันถึง ๓ คน จบชั้นประถมบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙

อายุ ๑๗ ปี บรรพชา ณ วัดกุดเรือคํา (วัดนี้มีประวัติเป็นมาอย่างไร ไม่มีใครทราบชัด ผู้เขียนทราบจากหนังสือประวัติของท่านเจ้าคุณพระญาณวิสิฎฐ์ (พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา ว่า คราวท่านเดินวิเวกผ่านมาถึงบ้านกุดเรือคํา ได้เข้าอาศัยรุกขมูลเห็นเป็นที่สัปปายะไกลจากหมู่บ้านพอสมควร ได้ชักชวนชาวบ้านจัดตั้งเป็นสํานักสงฆ์ขึ้น กาลต่อมามีพระภิกษุ สามเณรมาอยู่จําพรรษาประจํา คงจัดตั้งเสนาสนะถาวรขึ้นตามลําดับ ได้ขึ้นทะเบียนวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒) พระต่อน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพรหม เป็นสีลาจารย์ เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๒ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะแม หลังจากบรรพชาแล้วได้ศึกษา อักษรขอม ไทยน้อย, แปลศัพท์นาลีจากภิกขุปาติโมกข์บ้าง นอกจากนั้น ท่านยังเรียนดีดลูกคิด แบบสูตรจีนอย่างคล่องแคล่ว ยากจะหาผู้ใดในสมัยนั้นเรียนได้ ท่านได้ถ่ายทอดแก่ศิษย์ ผู้สนใจในด้านนี้หลายคน

◎ การอุปสมบทและเรียนปริยัติธรรม
เมื่ออายุครบบริบูรณ์ ได้อุปสมบท ณ วัดเสบุญเรือง อำเภอวานรนิวาส พระอุปัชฌาย์ผา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระหมุน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสอน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ วันเวลาใดไม่ปรากฏ อุปสมบทแล้วจําพรรษาที่วัดกุดเรือคําบ้าง วัดป่าบ้านหาด ทรายมูลบ้าง วัดบ้านดูสะคามบ้าง ในระหว่างนี้ท่านหลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร ได้ไปศึกษาบาลีแบบกัจจายนมูลตามความนิยมในสมัยนั้น กับอาจารย์ฆราวาสชื่อ ศรีคุณ บ้านโนนโพธิ์ อําเภออํานาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ จังหวัดอุบลราชธานี) แล้ว กลับวัดกุดเรือคํา

กาลต่อมา หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร ท่านมองเห็นกาลไกล การศึกษาด้านปริยัติธรรมเท่าที่ได้ศึกษามาแล้ว ยังไม่เป็นการเพียงพอสําหรับผู้จะรับภาระในพระพุทธศาสนาได้ ท่านมุ่งจะจุดประทีปคือพระธรรมให้สว่างในชนบทแห่งนี้ให้ได้ กุลบุตรผู้เกิดมาภายหลังควรจะได้รับกระแสแห่งธรรมของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามสติปัญญาของตนบ้าง ด้วยปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของท่านหลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร เวลานั้น วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นสํานักเรียนปริยัติธรรม ประจํามณฑลอุดร มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเป็นจํานวนมาก ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่น ท่านจึงย้ายสํานักไปอยู่วัดโพธิสมภรณ์ พร้อมกับรับทัฬหิกรรมอุปสมบทเป็นพระธรรมยุต เมื่อ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๑๕ ค่ํา เดือน ๘ ปีมะโรง พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระบุญมี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาว่า อุชุกโร

ได้เรียนนักธรรมชั้นตรีและสอบได้ในสนามหลวง พ.ศ.๒๔๗๑ นั่นเอง

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท ป.ธ.๔)

พ.ศ.๒๔๗๒ เรียนนักธรรมชั้นโท แต่ด้วยความห่วงต่อสหธรรมิกที่อยู่วัดกุดเรือคํา ท่านหลวงปู่มหาเถื่อน ท่านจึงหาโอกาสกลับไปสอนปริยัติธรรมเป็นครั้งคราว โดยจัดสอนที่วัดป่าบ้านหาดทรายมูล แล้วนํานักเรียนเข้าสอบสมทบกับสํานักเรียนวัดโพธิสมภรณ์ ปฏิบัติอยู่เช่นนี้ถึง ๒ ปี จนเห็น ว่าพระภิกษุสามเณรมีความรู้เป็นพื้นฐานพอที่จะรักษาตัวและแนะนําผู้อื่นได้บ้างแล้ว ท่านจึง แจ้งความประสงค์แก่ญาติโยมในอันที่จะไปศึกษาให้สูงขึ้นตามปณิธานเดิม ญาติโยมต่างอนุโมทนาทั่วกัน ได้เข้ากราบลาพระอุปัชฌาย์ คือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌาย์ หนังสือนําฝากเจ้าอาวาสวัดสิริจันทรนิมิตร (วัดเขาพระงาม) จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นวัดที่ท่าน เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) วัดบรมนิวาส เป็นผู้สร้างไว้ ท่านพร้อมด้วยพระภิกษุ ๒ รูป สามเณร ๓ รูป ศิษย์ ๑ คน รวมเป็น ๗ ออกเดินทางใน พ.ศ.๒๔๗๔ การเดินทางสมัยนั้นเต็มไปด้วยความลําบากใคร ๆ ก็ทราบ ผู้ติดตามได้เล่าการเดินทางให้ผู้เขียนฟัง ว่าออกจากจังหวัดอุดรธานี มุ่งไปอําเภอกุมภวาปี ไปพักแรมที่อําเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น รุ่งเช้าออกเดินทางไปบ้านหนองกุง เพื่อขอโดยสารรถไฟก่อสร้างทางไปยังจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากระยะนั้นทางรถไฟสายนี้กําลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีเฉพาะรถไฟขนหิน มาอัดพื้นถนนเพื่อวางรางเท่านั้น จากจังหวัดขอนแก่น โดยสารรถยนต์ไปจังหวัดนครราชสีมา พักแรมหนึ่งคืน รุ่งขึ้นโดยสารรถไฟไปลงสถานีแก่งคอย จังหวัดสระบุรี แล้วล่องเรือตาม ลําน้ำป่าสักถึงอำเภอท่าเรือ จังหวัดอยุธยา โดยสารรถยนต์ถึงบ้านโปร่งสว่าง พักเหนื่อย ๓-๔ คืน แล้วต่อรถยนต์ถึงจังหวัดลพบุรี เดินด้วยเท้ามุ่งสู่วัดสิริจันทรนิมิตร สรุปแล้วการ เดินทางไปศึกษา ท่านใช้เวลาเกือบสัปดาห์เต็มที่เดียว เทียบกับสมัยนี้แล้วผิดกันไกลนัก วัดสิริจันทรนิมิตรสมัยนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพวรคุณ (อ่ำ ภัทราวุโธ) น้องชายของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ครั้งดํารงสมณศักดิ์ที่พระครูศีลวรคุณ เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้เข้าศึกษาที่สํานักเรียนวัดสิริจันทรนิมิตร ส่วนผู้ติดตาม ก็ได้ศึกษาตามภูมิชั้นของตน ท่านสอบนักธรรมชั้นโทได้ พ.ศ.๒๔๗๔ และได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี เป็นเวลา ๒ พรรษา

พระเทพวรคุณ (อ่ำ ภทฺราวุโธ)

พ.ศ.๒๔๗๖ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรีว่างลง พระครูศีลวรคุณถูกส่งไปดํารงตําแหน่งเป็นเจ้าอาวาสแทน
หลวงปู่มหาเถื่อน ท่านได้ย้ายติดตามไปอยู่วัดมณีชลขันธ์ด้วย บําเพ็ญประโยชน์แก่วัดตามที่ได้รับมอบหมาย ขณะเดียวกันได้ศึกษาปริยัติธรรมด้วย จําพรรษาได้อยู่วัดนี้ ๔ พรรษา ปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนและสอบได้ถึงเปรียญธรรม ๕ ประโยค ปรากฎตามประวัติที่ท่านบันทึกไว้ดังนี้
พ.ศ.๒๔๗๖ สอบนักธรรมชั้นเอกได้ เป็นครูสอนนักธรรมชั้นโท
พ.ศ.๒๔๗๗ สอบ ป.ธ. ๓ ได้ เป็นครูสอนบาลีไวยกรณ์
พ.ศ.๒๕๗๙ สอบ ป.ธ. ๔ ได้ เป็นครูสอนธรรมบท
พ.ศ.๒๔๘๐ สอบ ป.ธ. ๕ ได้

หลวงปู่มหาเถื่อนท่านเห็นว่าการศึกษาเท่าที่ได้รับนับว่าเป็นการเพียงพอที่จะแนะนําสั่งสอนเพื่อน สหธรรมิกตามปณิธานของท่านได้แล้ว จึงกราบลาเจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์ เพื่อเดินทางกลับมาตุภูมิบำเพ็ญประโยชน์ต่อไป ก่อนออกเดินทาง หลวงปู่มหาเถื่อนท่านได้แจ้งข่าวญาติโยมบ้านกุดเรือคําและ บ้านใกล้เคียงเป็นเจ้าภาพสร้างหนังสือหลักสูตรนักธรรมไว้ประจําสํานักเรียนวัดกุดเรือคํา ได้มีผู้บริจาคหนังสือเป็นมูลค่า ๑๘๐ บาท สมัยนั้นได้หนังสือหลายชุด ญาติโยมจัดขบวนเกวียน ๑๐ เล่มไปรอรับที่อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ตอนนั้นรถไฟเปิดเดินถึงอําเภอกุมภวาปีแล้ว ท่านกลับวัดกุดเรือคํา พ.ศ.๒๔๘๐ ได้จัดตั้งเป็นสํานักเรียนขึ้น จัดให้มีการสอบธรรมสนามหลวงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา มีพระภิกษุสามเณรใคร่การศึกษาเข้าเล่าเรียนปีละ ๓๐-๔๐ นับว่าเป็นจํานวนไม่น้อยเลย ท่านเป็นครูสอนปริยัติธรรมนักธรรมชั้นตรี-โท และขยายขึ้น ไปเรื่อย ๆ หมู่บ้านใดมีความประสงค์จะเรียนธรรมศึกษา ท่านจะส่งครออกไปอบรมให้ แล้วรวมสอบที่สํานักเรียนวัดกุดเรือคํา กล่าวได้ว่าท่านได้จุดประทีปแห่งพระธรรมในชนบทแห่งนี้ได้แล้ว ปัจจุบันวัดกุดเรือคำยังคงเป็นสํานักสอบธรรมสนามหลวงประจําอําเภอวานรนิวาส (ธรรมยุต) งานสอบธรรมสนามหลวงถือว่าเป็นบุญประเพณีที่สําคัญประจําปี เพราะมีพระ ภิกษุสามเณรมาร่วมทั้งเป็นกรรมการคุมห้องสอบพระนักศึกษาและธรรมศึกษา ตลอดญาติโยมจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสกลนคร รวมไปถึงจังหวัดอุดรธานีหนองคาย บางส่วนมาร่วมงานและอุปถัมภ์เป็นเจ้าภาพถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์เป็นจํานวนปีละไม่น้อยเลย

พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส ป.ธ. ๖) มีบัญชาให้ท่านหลวงปู่มหาเถื่อน ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นครูสอนปริยัติธรรม ประจําสํานักเรียนวัดศรีโพนเมือง จังหวัดสกลนคร ท่านสอนบาลีไวยกรณ์และธรรมบทเป็นเวลา ๑ พรรษา แล้วกลับวัดกุดเรือคํา

พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นครูสอนนักธรรม-บาลีที่วัดกุดเรือค้าเรื่อยมา จนถึง พ.ศ.๒๕๑๑ เป็นเวลา ๒๕ ปี นับว่าเป็นระยะทาลที่ยาวนานจนย่างเข้าสู่วัยชรา ได้มอบหมายให้ศิษย์ปฏิบัติหน้าที่แทน ส่วนท่านจะทําการอบรมเป็นบางครั้งคราว นอกจากนั้นแทน ท่านมุ่งไปสู่วิปัสนาธุระยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลงานของท่านเกี่ยวกับด้านการศึกษานับว่าได้รับผลเป็นที่พอใจมาก มีสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกได้ศึกษาบาลีอันเป็นพุทธวจนะ บางรูปมุ่งเข้าหาความสงบตามป่าเขา บางรูปที่ยังมีใจใคร่ต่อการศึกกษา ท่านจะสนับสนุนส่งไปเรียนขั้นสูงต่อในสํานักเรียนต่าง ๆ ทั้ง ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นมหาเปรียญสูง ๆ บําเพ็ญประโยชน์ต่อพระศาสนาและประเทศชาติจํานวนหลายรูป เช่น พระมหาเสงี่ยม สุจิณโน วัดปทุมวนาราม ซึ่งกําลังสําเร็จปริญญาโท จากประเทศอินเดีย สําหรับผู้หวนกลับสู่สภาวะคฤหัสถ์ก็ได้รับราชการเสนองพระเดชพระคุณ ตามสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น นายบรรเทิง มุลพรม ผู้พิพากษาศาลจังหวัดอ่างทองปัจจุบัน เป็นต้น

◎ งานด้านสาธารณูปการ
พ.ศ.๒๕๔๑ เริ่มดําเนินการก่อสร้างอุโบสถวัดกุดเรือคํา ขนาดกว้าง ๔.๕๐ เมตร ยาว ๑๔.๑๕ เมตร ลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคา ๓ ชน มุงด้วยดินเผาแบบเก่า เนื่องจาก การก่อสร้างอยู่ในระหว่างสงครามหาเอเชียบูรพา จึงพาปูนซิเมนต์ลําบากใช้ปูนขาวแทน ปูนขาวนี้ได้บรรทุกตามลําน้ําสงครามจากอําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมมาขึ้นที่บ้านท่ากกแดง ในความอุปถัมภ์ของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร สํานักสงฆ์ลังกา สําเร็จในปี พ.ศ.๒๔๘๘ สิ้นค่าก่อสร้าง ๒๑๐,๐๐๐ บาท (สองแสนหนึ่งหมื่นบาท) อุโบสถหลังนี้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี มาตรวจเยี่ยมหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ก.ร.ป. กลางและประชาชนบ้านกุดเรือคํา ได้ให้เจ้าหน้าที่ทําการบูรณะใหม่โดยรักษาทรงเดิมไว้ คือ เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาเป็นกระเบื้องเคลือบดินเผาเปลี่ยนไม้คานและโครงหลังคา ตีฝ้าเพดานใหม่ เสริมเสาด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เทพื้นสร้างกําแพงแก้วตลอดแนวและทาสีน้ําปูนใหม่ ดังปรากฏอยู่ ในปัจจุบันนี้

หลังจากสร้างอุโบสถหลังนี้เสร็จแล้ว หลวงปู่มหาเถื่อนท่านเกิดความหวั่นไหวมีจิตใจไม่มั่นคง เกิดความสงสัยว่าพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้นับเป็นเวลานานแล้วนั้นจะมีความ เป็นจริงสักเพียงไร เป็นพระสัทธรรมแท้หรือว่าสัทธรรมปลอม ความลังเลข้อนี้ทําให้ท่านคิด หวนคืนสู่ภาวะคฤหัสถ์ คิดไปว่าความรู้เท่าที่ได้ศึกษามาแล้วคงเป็นการเพียงพอที่จะประกอบอาชีพหรือรับราชการเลี้ยงตัวได้ คืนหนึ่งท่านเข้าสู่อุโบสถทําวัตรสวดมนต์ แล้วอธิษฐานว่าหากพระสัทธรรมของพระพุทธองค์มีจริงตามที่ทรงบัญญัติไว้ และข้าพเจ้าจะได้อยู่รับใช้กิจการงานด้านพระศาสนาตลอดไปแล้ว ขอให้มีนิมิตรอย่างใดอย่างหนึ่งมาดลใจในคืนนี้ เสร็จแล้ว ท่านจําวัด ท่านนิมิตรเห็นพระพุทธเจ้าแวดล้อมด้วยภิกษุจํานวนมากเสด็จมาทางทิศตะวันออก ทรงเปล่งรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการเหมือนกับที่ท่านได้เรียนมาจากหนังสือพระธรรมบททุกอย่าง ท่านมองดูพระรัศมีนั้นแล้วเกิดปิติปราโมทย์ท่านรู้สึกตัวจุดธูปเทียนกราบพระประธานในอุโบสถ เลิกคิดที่จะหวนกลับสู่ภาวะคฤหัสถ์พร้อมกับถวายชีวิตในพระพุทธศาสนาตั้งแต่บัดนั้นมา เรื่อง นี้ผู้เขียนได้ทราบจากศิษย์ผู้ใกล้ชิดท่านเล่าสู่ฟัง

ในด้านการก่อสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนา นับว่าท่านหลวงปู่มหาเถื่อนได้มีบทบาทสําคัญในฐานะเป็นผู้ริเริ่ม เพราะหลวงปู่มหาเถื่อนท่านชำนาญในการก่อสร้างรูปหนึ่ง หมู่บ้านใดจะจัดสร้างสํานักสงฆ์หรือถาวรวัตถุขึ้นมักจะมาปรึกษาท่าน และนิมนต์ไปอํานวยการเกือบทุกครั้งซึ่งท่าน ก็สนองเจตนารมณ์ของบ้านนั้น คอยแนะนําอํานวยการจนเสร็จเรียบร้อย โดยไม่คํานึงถึงว่า จะเป็นวัดใดฝ่ายไหน ในสมัยนั้นการปกครองคณะสงฆ์ยังไม่แยกจากกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การก่อสร้างอุโบสถวัดศิริราษฎร์วัฒนา บ้านมาย ตําบลมาย ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่าอุปัชฌาย์สุก อดีตเจ้าอาวาสกับท่านมีความสนิทสนมและเคารพนับถือกันเป็นพิเศษ เสมือนว่าอุปัชฌาย์สุก เป็นอาจารย์ของท่าน เมื่อไปมาหาสู่กันท่านจะแสดงวัตรทุกอย่างอันศิษย์จะพึงปฏิบัติต่อ อาจารย์จนอุปัชฌาย์สุก ให้ความเมตตาถึงกับว่าก่อนมรณภาพ พ.ศ.๒๔๙๐ ได้มอบภาระให้เป็นนวกัมมัฏฐายี (การก่อสร้าง) อุโบสถที่ค้างอยู่และให้ดูแลวัดต่อจากท่านอุปัชฌาย์ ด้วยความ ผูกพันที่มีต่อกันดังกล่าวท่านจึงดําเนินการก่อสร้างอุโบสถวัดเจริญราษฎร์บํารุงสําเร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ คอยดูแลจัดสร้างปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดตลอดมา ทําให้บ้านมายกับบ้านกุดเรือคํามีความผูกพันกันมาตราบเท่าทุกวันนี้ เมื่อชาวบ้านมายจะจัดงานบุญอะไรก็ตามมักจะมานิมนต์ท่านหลวงปู่มหาเถื่อนไปเป็นประธานและอํานวยการจนเสร็จ เช่นเดียวกับคราวบ้านกุดเรือคํามีงาน ชาวบ้านมายมักจะหาโอกาสมาช่วยงานเสมอมิได้ขาด ท่านปฏิบัติเช่นนี้ต่อวัดในปกครองหลายแห่งด้วยกัน เช่นการก่อสร้างอุโบสถวัดศรีชมพู บ้านบึงโน จนนับได้ว่าท่านมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีรูปหนึ่ง

◎ งานด้านสาธารณูปการที่ท่านดําเนินมาแล้ว มีดังนี้

  • พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นประธานสร้างวัดศรีสะอาด บ้านท่าศรีใคร ตําบลคูสะคาม
  • พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นประธานและอํานวยการสร้างอุโบสถวัดกุดเรือคํา
  • พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดเจริญราษฎร์บํารุง บ้านมาย ตําบลมาย ต่อจากอุปัชฌาย์สุก
  • พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นประธานสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมวัดกตเรือคำ
  • พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นประธานสร้างอุโบสถวัดศรีสมพู บ้านบึงโน ตําบลโคกสี
  • พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญวัดศรีชมชื่น ตําบลมาย
  • พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นประธานสร้างวัดธรรมนิเวศวนาราม อําเภอวานรนิวาส
  • พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญวัดเขาพประสิทธิ์ธรรม บ้าน หนองกวั่ง ตําบลมาย
  • พ.ศ. –
    • เป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนอดุลราษฎร์วิทยา วัดกุดเรือคํา
    • เป็นประธานสร้างทํานบกั้นน้ําและขุดบ่อน้ํา ที่หมู่บ้านจําปาดง ตําบลคูสะคาม
  • พ.ศ. ๒๕๐๖
    • เป็นประธานที่ปรึกษาฝ่ายบรรพชิต หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ก.ร.ป. กลาง จังหวัดสกลนคร ที่บ้านกุดเรือคํา
    • เป็นประธานสร้างทํานบกั้นน้ำบ้านกุดเรือคำ
    • เป็นที่ปรึกษาสร้างอุโบสถวัดศรีดอกกาว อําเภอบ้านม่วง
  • พ.ศ. ๒๕๐๗
    • เป็นประธานสร้างวัดป่าบ้านโคกกลาง ตําบลคูสะคาม
    • เป็นประธานสร้างวัดป่าบ้านหัวนา ตําบลคูสะคาม
  • พ.ศ. ๒๕๐๘
    • เป็นประธานสร้างศาลาการเปรียญวัดศรีสําราญ บ้านจําปาดง ตําบลคูสะคาม
    • เป็นประธานสร้างห้องสมุดประชาชนประจําหมู่บ้านกุดเรือคํา
    • เป็นประธานสร้างถนนจากหมู่บ้านหาดทรายมูล ตําบลคูสะคาม ถึงหมู่บ้านหนองแวง ตําบลโคกสี ระยะทางประมาณ ๑๒ กิโลเมตร
  • พ.ศ. ๒๕๐๙
    • เป็นประธานและอํานวยการสร้างศาลาการเปรียญวัดกุดเรือคําหลังที่ ๒
    • เป็นผู้อํานวยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ําบ้านหว้าน ตําบลบ้านม่วง
    • เป็นผู้อํานวยการขุดสระน้ํา ประจําวัดศรีมงคล บ้านหนองแวง ตําบลหนองแวง อําเภอวานรนิวาส

◎ สํานักที่อยู่

  • พ.ศ. ๒๔๖๒-๗๐ บรรพชาแล้ว อยู่วัดกุดเรือคํา จนกระทั่งอุปสมบทครั้งแรก เป็นเวลา ๘ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๗๑ อยู่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลา ๓ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๗๔ ย้ายสํานักไปอยู่วัดสิริจันทรนิมิตร ตําบลธรณี อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นเวลา ๒ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๗๖ ย้ายสํานักไปอยู่วัดมณีชลขันธ์ ตําบลพรหมมาศ อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นเวลา ๔ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๘๐ ย้ายสํานักกลับวัดกุดเรือคํา ตําบลคูสะคาม อําเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา ๑ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๘๑ ย้ายไปเป็นครูสอนปริยัติธรรมวัดศรีโพนเมือง ตําบลธาตุเชิงชุม อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา ๑ ปี
  • พ.ศ. ๒๔๘๒ ถึง ๒๕๑๔ ย้ายกลับวัดกุดเรือคํา จนถึงมรณภาพ เป็นเวลา ๓๒ ปี

◎ ตำแหน่งหน้าที่
พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นเจ้าสํานักเรียนวัดกุดเรือคํา ตําบลคูสะคาม อําเภอวานรนิวาส
พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นพระอุปัชฌาย์ธรรมยุต เป็นเวลา ๒๔ ปี (สัทธิวิหาริกรูปแรกของท่าน คือ เจ้าอธิการผาง ปริปุณโณ เจ้าคณะตําบลดงเย็น วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อําเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
พ.ศ.๒๔๙๕ เป็นเจ้าคณะอําเภอวานรนิวาส (ธรรมยุต) จังหวัดสกลนคร เป็นเวลา ๑๙ ปี
พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่ “พระครูอดุลสังฆกิจ”
พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นเจ้าคณะอําเภออากาศอํานวย (ธรรมยุต) อีกตําแหน่งหนึ่ง
พ.ศ. ๒๕๑๐ เลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ

◎ หน้าที่พิเศษ
พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรี
พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นครูสอนนักธรรมชั้นโท วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรี
พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นครูสอนบาลีไวยกรณ์ วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรี
พ.ศ.๒๔๗๙ เป็นครูสอนธรรมบท วัดมณีชลขันธ์ จังหวัดลพบุรี
พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี-โท วัดกุดเรือคําเป็นเจ้าสํานักเรียนวัดกุดเรือคํา
พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นครูสอนบาลี-ธรรมบทวัดศรีโพนเมือง จังหวัดสกลนคร
พ.ศ.๒๔๘๒-๒๕๑๑ เป็นครูสอนนักธรรม-บาลีวัดกุดเรือคํา เป็นเวลา ๒๙ ปี
พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นประธานสอบธรรมสนามหลวงและเป็นกรรมการตรวจธรรม เป็นเวลา ๓๔ ปี

◎ ปัจฉิมสมัย
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ได้สงเคราะห์บวชกุลบุตรตามลําดับ ซึ่งไม่ทราบว่ามีจํานวนเท่าใด เนื่องจากระยะนั้นยังไม่มีสมุดสัทธิวิหาริก ท่านได้บันทึกไว้ในสมุดพกส่วนตัว เมื่อมรณภาพแล้วค้นหาไม่พบ จํานวนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา บรรพชาสามเณร รวม ๑,๒๙๔ รูป อุปสมบทภิกษ รวม ๙๙๑ รูป ศิษย์ผู้มีฐานะพอสมคจรท่านจะส่งไปปฏิบัติศาสนกิจตามที่ต่างๆ พระเถระที่นับว่าอยู่ใกล้ชิดท่าน ตลอดมา คือพระครูพิพิธธรรมสุนทร ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะอําเภอวานรนิวาส-อากาศอํานวย (ธรรมยุต), เจ้าอธิการลี ฐิตธัมโม เจ้าคณะตําบลสว่าง เขต ๒ และพระอธิการสภาพ ธัมมปัญโญ วัดทุ่งสว่าง ทั้ง ๓ รูปนี้ เมื่อมีกิจการคณะส่วนใด ท่านมักจะมอบหมายให้ปฏิบัติแทนท่านเสมอ แม้ก่อนท่านจะมรณภาพ ก็ได้มอบหมายหน้าที่และกิจการงานทุกอย่างให้ช่วยดูแลแทน

พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร) วัดกุดเรือคำ

จริยาวัตรของท่านหลวงปู่มหาเถื่อน เป็นคนพูดน้อยคือพูดน้อยแต่ทํามาก มีเมตตาธรรมต่อศิษยานุศิษย์โดยทั่วกันสุขุมเยือกเย็น จนใคร ๆ ต่างก็เรียกท่านว่า “หลวงปู่” ในขณะเดียวกันได้เอาใจใส่ในหน้าที่องค์การทั้ง ๔ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีกิจสงฆ์เกิดขึ้นท่านจะหาโอกาสไปร่วมทําจนสําเร็จ สมัยก่อนการคมนาคมไม่มีรถรับ-ส่งอย่างเช่นปัจจุบันนี้ ท่านมักจะเดินด้วยเท้าเป็นระยะทางวันละหลายกิโลเมตร เช่น รับนิมนต์หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ วัดประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น ในการจัดงานบุญและอุปสมบทนาคหมู่ก่อนเข้าพรรษาเป็นต้น แม้กระทั่งตอนอาพาธเดิน ไปมาไม่สะดวก ยังไปร่วมเป็นประธานจัดงานบุญประจําปีบ้านหนองแวง ในด้านกิจวัตร ประจําวันมักจะเห็นท่านกวาดลานวัด ท่าวัตรเช้า-เย็น ออกบิณฑบาตอย่างสม่ำเสมอ นอกจากไม่อยู่และอาพาธเท่านั้น เมื่อท่านว่างภาระจากการสอนแล้ว ท่านจะน้อมไปในด้านวิปัสสนามากขึ้น ว่างจากกิจส่วนรวมแล้ว ท่านจะเร่งรีบทําความเพียรจนเกือบจะหาเวลาพักไม่ได้ การออกบิณฑบาตศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้ขอร้องให้หยุดก่อนที่ท่านจะมรณภาพเพียง ๒ เดือนเศษเท่านั้น

พ.ศ.๒๕๑๒ ศิษย์ผู้ใกล้ชิดสังเกตเห็นอาการบวมขึ้นตามข้อมือและเท้า ได้ถวายยาปฏิชีวนะและสมุนไพร อาการบวมค่อยลดลงบ้างแต่ไม่หายขาด ท่านคงยังปฏิบัติหน้าที่อย่างสม่ำเสมอแม้จะใช้ไม้เท้ายัน นายแพทย์หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ได้แนะนําให้ท่านเข้ารักษาที่ โรงพยาบาลโรคปอด จังหวัดนนทบุรี เพราะมีอาการไอบ่อยขึ้น จากผลการตรวจทางเอ็กซเรย์ปรากฏว่าปอดเป็นปกติดี ท่านจึงกลับวัด

พ.ศ.๒๕๑๔ ขณะท่านเดินจากกุฏิไปศาลาการเปรียญเช้าวันหนึ่ง พลาดล้มหัวเข่ากระทบกับหินบาดเจ็บ เริ่มปวดตามหัวเข่าและตามกระดูกจนเดินไม่ได้ คณะศิษย์ได้ใช้ยารมและนวดตามเส้น อาการยังคงเดิม ต่อมาเมื่อคณะศิษย์จัดงานผ้าป่าสามัคคี สมทบสร้างศาลาการเปรียญที่ค้างอยู่ ท่านเดินไปไหนไม่ได้นอนติดกับที่ เมื่อขึ้นไปนมัสการ ท่านบนกุฏิได้พบสีหน้าแสดงอาการไม่ยินดียินร้าย ผู้พบเห็นต่างมีใจเศร้าสลดไปตาม ๆ กัน ตั้งแต่วันนั้นมาสีหน้าที่เคยเห็นว่าเอิบอิ่มด้วยเมตตาธรรม เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของศิษย์ทั้งหลาย เริ่มซูบซีดและพูดน้อยลง คล้ายจะพยายามอดกลั้นต่อทุกขเวทนาในขณะนั้นอย่างที่สุด คนที่อยู่ปฏิบัติใกล้ชิดเท่านั้นทราบได้ดี ได้ถวายการรักษาทั้งแพทย์โบราณและปัจจุบัน ท่านก็ปล่อย ให้ทุกคนทําการรักษาคล้ายกับว่าไม่มีอาลัยในสังขารร่างกายนี้เสียแล้ว ภาวะอันหนักคือเบญจขันธ์ท่านกําลังจะปลงลงแล้ว แม้ศิษย์จะตั้งวาระกันคอยถวายการพยาบาลจนสุดความสามารถ ก็ไม่สามารถจะต้านทานกฎแห่งธรรมชาติได้ คืนวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน เวลาตีสอง เกิดทุกขเวทนาครอบงําอย่างหนัก ได้ฉีดยาระงับอาการปวดพอท่านพักผ่อนได้บ้าง ท่านได้เรียกทุกคนมาให้โอวาทและ มอบหมายหน้าที่ภายในวัดแก่ศิษย์ผู้ใกล้ชิดจนเกือบสว่าง ตอนเช้าถวาย อาหารชนิดอ่อนแต่ท่านไม่ฉัน ถึงเวลา ๐๙.๒๐ น. มรณสัญญาได้เตือนให้ทุกคนที่อยู่เฝ้าได้ทราบ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบท่ามกลางความเศร้าสลดของคณะศิษย์และญาติโยมทั้งปวง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๔ เวลา ๑๒.๑๕ น. อันตรงกับชาตกาลของท่าน สิริรวมอายุได้ ๖๘ ปี ๒ เดือนกับ ๑ วัน พรรษา ๔๓

◎ การศพ
คณะศิษย์นําศพขึ้นสู่ศาลาการเปรียญเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนจากต่างถิ่นได้บำเพ็ญกุศลและรอการสรงน้ำศพต่อไป มีท่านเจ้าคุณพระราชคุณาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร (ธ.) เจ้าอธิการลี ฐิตธัมโม เป็นประธานฝ่ายบรรพชิต นายสุพจน์ ไชยเชษฐ์ นายอําเภอวานรนิวาส พันโทคเชนทร์ พลเสน รอง ผบ.น.พค.สกลนครเป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ เสร็จแล้วประกอบที่บลายทองขึ้นประดิษฐาน ร่วมกันไหว้พระสวดมนต์และสวดพระอภิธรรมถวาย ได้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดพรรษาแรก

ในการบําเพ็ญกุศลสัตตมวาร, ปัญญาสมวารและสตมวาร ได้อาราธนาพระเถรานุเถระต่างอาราม สวดพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา และสวดพระอภิธรรม โดยมีศิษ ยานุศิษย์ที่ต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพจํานวนมาก หลังจากนั้นได้จัดบําเพ็ญกุศลทุกวันธรรม สวนะมาตลอด

เนื่องจากคณะศิษย์ได้ประชุมกันมีมติตกลงเก็บศพของท่านไว้บําเพ็ญกุศลจนกว่าจะจัดสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นอนุสรณ์ของท่านจะปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นมา เห็นว่าควรจัดสร้างโรง เรียนปริยัติธรรมเป็นอนุสรณ์ในฐานะที่ท่านเป็นผู้บุกเบิกงานการศึกษาด้านปริยัติธรรมในถิ่นนี้ เป็นองค์แรก ปัจจุบันโรงเรียนปริยัติธรรมได้ลงมือก่อสร้างมาใกล้จะสมบูรณ์แล้ว ยังเหลืองานเป็นส่วนน้อย คือการวางกรอบประตูหน้าต่างที่ฝ้าเพดาน ก่ออิฐฉาบผนัง และเทพื้น คาดว่า หากได้ทุนดําเนินการต่อคงจะเสร็จเรียบร้อยในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งหารือกันตกลงจัดงานพระราช ทานเพลิงศพของท่าน ในวันที่ ๑๙-๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ตรงกับวันศุกร์-อาทิตย์ แรม ๕ – ๗ ค่ํา เดือน ๔

อนึ่ง ในการเขียนประวัตินี้ ผู้เขียนเป็นศิษย์รุ่นหลัง ได้รวบรวมหลักฐานจากประวัติที่ท่านบันทึกไว้บ้าง จากการสอบถามคณะญาติและศิษย์รุ่นก่อน ๆ บ้าง คาดว่ายังมีส่วน บกพร่องอยู่มาก ในที่สุดนี้ กุศลสัมปทาสัมมาปฏิบัติใด ที่ผู้เขียนในนามคณะศิษยานุศิษย์ได้ ประพฤติบําเพ็ญมา ขอน้อมอุทิศถวายแต่ท่านหลวงปู่พระครูอดุลสังฆกิจ อุชุกรเถระ ป.ธ. ๕ ผู้เป็นบูรพูปัธยาจารย์ ขอให้เป็นทิฏฐานุคติพลวปัจจัยอํานวยสุขวิปากผลแก่ท่าน ขอท่านได้รับทราบทักษิณานุปาทานกิจที่คณะศิษย์ทั้งหลายบําเพ็ญมาตั้งแต่ต้นจนอวสาน จงทุกประการเทอญ ฯ

ธัมนาสโก ภิกขุ (พระมหาทนงค์ ปัญจันทร์สิงห์ ป.ธ. ๖, ศ.บ.)
ผู้เขียนประวัติ

โอวาทธรรม พระครูอดุลสังฆกิจ (หลวงปู่มหาเถื่อน อุชุกโร)

“..รู้อะไรไม่เท่ารู้เหตุผล จนอะไรไม่เท่าจนวิชา..”

“..มีเงินเต็มพา ไม่เท่าผยาเต็มพูม..”


“..พระรัตนตรัยเป็นโอสถขนานเอก
โรคจิต เป็นโรคขนานเอก จะปราบจิตก็ต้องโอสถขนานเอกคือพระรัตนตรัย..”


“..การประกอบกิจไม่ถอยหลัง เป็นยอดแห่งความสมหวังทุกเมื่อ..”