วันศุกร์, 25 ตุลาคม 2567

หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม

ประวัติ และปฏิปทา พระอริยเวที หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล วัดรังสีปาลิวัน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล วัดรังสีปาลิวัน

“พระอริยเจ้าผู้แตกฉานในอรรถและธรรม”

พระเดชพระคุณพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล ป.ธ. ๙) เป็นพระมหาเถระผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ที่สําคัญรูปหนึ่ง ท่านชํานาญทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ทรงความรู้ในทางพระพุทธศาสนาซึ่งหาได้ยากยิ่งนักในคณะกรรมฐานยุคปัจจุบัน ท่านละทิ้งเกียรติยศตําแหน่งในการบริหารคณะสงฆ์ มุ่งเพียงเกียรติอันยิ่งใหญ่คือพระนิพพาน ละ จากความเป็นพระบ้านเข้าสู่ความเป็นพระป่าได้อย่างสนิทใจ เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังที่หลงติดจมในลาภยศสรรเสริญได้เป็นอย่างดี

ท่านมีอุปนิสัยพูดจริงทําจริง เรียนจริงปฏิบัติจริง บากบั่น มุมานะ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคที่มาถึง รักสงบ สํารวมระวัง ปฏิบัติตนเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ชอบคลุกคลี ชื่อตรงต่อธรรมวินัย หนักแน่นด้วยหิริโอตตัปปะธรรม มักน้อย สันโดษ เรียบง่าย มีระเบียบบริบูรณ์ด้วยข้อปฏิบัติในไตรสิกขา ได้ถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ฝึกอบรมกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตวัดหนองผือนาใน จังหวัดสกลนคร ท่านได้บําเพ็ญคุณประโยชน์ไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งด้านการศึกษา ด้านการปกครอง ด้านการเผยแผ่ ตั้งแต่บรรพชาอุปสมบทจนตลอด อายุขัย

พระอริยเวที หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล

ท่านเกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เดือน ๑๒ ปีฉลู ณ หมู่บ้านโพน ตําบลโพน อําเภอคําม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นบุตรของนายสังข์ และ นางค้อม ภูสาหัส

บรรพชาเมื่ออายุ ๑๗ ปี ณ วัดสุทธจินดา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อุปสมบทอายุ ๒๑ ปี ในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระโพธิวงศาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมปิฎก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ – ๒๔๘๑ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ – ๗ ประโยค สํานักเรียนวัดสุทธจินดา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สํานักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สํานักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร พร้อมกับเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน)

เมื่อครั้งได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นกัณฑ์แรกเรื่อง “โทษของการเกิด” และกัณฑ์ที่สองเรื่อง “มุตโตทัย”

(ธรรมะเป็นเครื่องพ้น) ท่านถึงกับลุกจากที่นั่งไปกราบท่านพระอาจารย์มั่น พร้อมกล่าวคําปฏิญาณเป็นภาษาบาลีว่า

“สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอมอบกายถวายชีวิตนี้แก่พระพุทธศาสนา ชีวิตทั้งชีวิตนี้ขอมอบไว้ในพระศาสนา ขอให้ท่านพระอาจารย์ เป็นสักขีพยานด้วย”

จากนั้นตราบจนสิ้นอายุขัย ท่านได้กระทําสัจวาจานั้นให้ เป็นที่ปรากฏแก่ชนทั้งหลาย ถึงความเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ผู้บริสุทธิ์หมดจดงดงามในธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว

ท่านดํารงตําแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา ลําดับที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านมีแนวคิดกว้างไกล ทั้งหลักการและแนวทางปฏิบัติการบริหารภายในวัดตั้งเป้าไว้สูง มีระเบียบ ให้พระภิกษุ สามเณร ตลอดถึงศิษย์วัดปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด และคัดเลือกหมู่คณะให้เข้าไปรับการอบรมเป็น

นักเรียนครูและนักเรียนการปกครองที่วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้กลับมาเป็นบุคลากรบริหารวัดช่วยเจ้าอาวาส อนุสรณ์สําคัญอีกอย่างหนึ่งคือท่านได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ “สุทธจินดาราชสีมามูลนิธิ” ได้ผลงานตามวัตถุประสงค์ ทุนทรัพย์เติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อได้วางรากฐานการปกครองและการศึกษา เข้าสู่ความเจริญในระดับหนึ่งตามเป้าหมายแล้ว ด้วยสาวกบารมีญาณมากระตุ้นเตือน ท่านได้ประกาศท่ามกลางคณะสงฆ์วัดสุทธจินดา อย่างอาจหาญว่า “จะออกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานในป่า”

ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้สร้างวัดรังสีปาลิวัน บ้านโพน อําเภอคําม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ออกบําเพ็ญตามถ้ํา เงื้อมผา จําพรรษาในที่หลายแห่งตามสถานที่ วิเวก สัปปายะ สมเจตนาที่ท่านตั้งไว้

ท่านปรารภถึงชีวิตของท่านขณะเป็นพระอยู่ในเมืองอย่างน่าสนใจว่า

“ชีวิตวันหนึ่งคืนหนึ่ง รู้สึกว่าจะน้อยมาก สําหรับที่จะทําความพากเพียร ไม่เพียงพอเลย วันหนึ่งๆ มีแต่ต้อนรับผู้คน พูดคุยเรื่องต่างๆ เสียเวลาทําความเพียร เป็นการทําชีวิตให้เป็นหมัน เพราะเรื่องที่พูดนั้นเป็นเรื่องข้างนอกทั้งนั้น

นอกจากนั้นยังเป็นการคลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป อันเป็นทางให้เกิดความประมาท เป็นปปัญจธรรม คือธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าในคุณธรรมอันยิ่งขึ้นไป หลงตัวลืมตัวมัวเมามืดมนอนธการ คิด ๆ ดูแล้วก็สงสารหมู่คณะที่อยู่ในเมือง

ถ้าจะให้เรากลับมาอยู่ในเมืองอีก ให้ตายเสียยังจะดีกว่า เพราะรู้สึกอึดอัดคับแค้นใจมาก ฟัง คิด พิจารณา เกิดมากี่ภพกี่ชาติ จึงจะมีโอกาสงาม สําหรับบําเพ็ญสมณธรรมเช่นชาตินี้ “ทุลฺลภขณ สมฺปตฺติ” สมณศักดิ์ ตําแหน่ง ห้ามอบายภูมิไม่ได้ แต่คุณความดี และศีล สมาธิ ปัญญาเท่านั้นที่ห้ามอบายภูมิได้”

วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๗ เมื่ออายุ ๗๑ ปี ท่านป่วยเป็นอัมพาตเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก ทําให้ประสาทสมองบางส่วนต้องสูญเสียไป ผลก็คือ พูดออกมาไม่เป็นคําพูด ฟังยาก แขนขาซีกขวาไม่ทํางาน ช่วยตัวเองได้ประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ท่านป่วยนานถึง ๑๕ ปี ลูกศิษย์ใกล้ชิดช่วยสับเปลี่ยนดูแลพยาบาลมาโดยสม่ําเสมอ

๓ ปีพรรษาสุดท้ายแห่งการอาพาธ ท่านต้องอยู่ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ตลอด เมื่อหมอเห็นว่าสุดวิสัยที่จะช่วยพยุงธาตุขันธ์ ให้ดํารงอยู่ต่อไป จึงนิมนต์ท่านกลับวัดรังสีปาลิวัน

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานอย่าง สงบในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ เวลา ๒๐.๒๕ น. สิริอายุ ๙๐ ปี ๖๘ พรรษา ถวายเพลิงศพเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

อัฐิธาตุ หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล