วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

ประวัติ ธรรมะ และปฏิปทา หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง
หลวงปู่บุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

หลวงปู่พระมหาบุญมี สิริธโร เดิมชื่อ บุญมี สมภาค เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ํา เดือน ๑๑ ปี ๑๑ คือปีจอ เป็นบุตรโทนของนางหนุก สมภาค และนายทํามา สมภาค ที่บ้านขี้เหล็ก ตําบลรังแร้ง อําเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อครั้งเป็นเด็กจะมีนิสัยรักความสงบและมีความใฝ่ใจในพุทธศาสนาอย่างมาก

จนมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่ท่านเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่งนาร่วมกับเด็ก ๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน ท่านได้พบภาพพระพุทธรูปในแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งเข้า ก็เกิดความสนใจมากเป็นพิเศษจึงได้เก็บกระดาษแผ่นนั้นซ่อนเอาไว้ พอมีเวลาว่างท่านก็จะเอามานั่งดูจนเกิดปิติ จึงเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นพระพุทธรูป โดยมีเด็กเลี้ยงควายพากันนั่งดู และก็ปั้นบ่อยๆ มีความสวยงามด้วย เมื่อมีมากขึ้นหลวงปู่จึงได้แจกและ แบ่งปันให้เพื่อน ๆ เอาไป ตอนนั้นหลวงปู่บอกว่ามีอายุประมาณ ๘-๙ ปีเห็นจะได้ พออายุได้ประมาณ ๑๐-๑๒ ปี ท่านก็ได้เริ่มเรียนหนังสือกับหลวงน้า ซึ่งบวชพระอยู่ที่วัดใกล้ ๆ บ้าน ท่านช่วยโยมมารดาทํานาและช่วยงานบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานของเด็กผู้หญิงก็ตาม ท่านทําทุกอย่าง นับว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป และที่สําคัญก็คือ มีนิสัยชอบช่วยเหลือเพื่อนบ้านไม่ว่าเขาจะทําอะไร ไม่ว่าจะเป็นงานหนักงานเบา ถ้าพอจะช่วยเหลือได้ท่านจะรีบช่วยทันที โดยไม่ต้องให้คนอื่นขอร้อง และชอบถามคําถามที่เกี่ยวกับธรรมะอยู่เสมอ เช่น เห็นคนตายก็จะถามว่า คนไม่ตายไม่ได้หรือ คนป่วยไม่ป่วยไม่ได้หรือ อย่างนี้เป็นต้น

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรมและปฏิปทา

หลังจากที่หลวงปู่ พระมหาบุญมี สิริธโร เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๒ แล้ว ก็ไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกมาช่วยโยมมารดาทํานาและงานบ้านเลี้ยงควาย จนอายุได้ ๑๗ ปี จึงได้มาบวชเป็นสามเณร อยู่กับหลวงน้า คือพระอาจารย์สิงห์ ผู้เป็นน้องชายของมารดา โดยบวชในฝ่ายมหานิกาย หรือที่ เรียกว่า “วัดบ้าน” บวชได้ ๑ พรรษา พอจวนจะเข้าพรรษาที่ ๒ ซึ่งเหลือเวลาเพียง ๑ เดือน โยมมารดาก็ขอร้องให้สึกออกมาช่วยทํางานบ้าน เพราะสุขภาพไม่ดี ท่านจึงต้องสึกออกมาช่วยโยมมารดา ทํางานและได้สมัครทํางานเป็นคนขนหินทําทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – นครราชสีมา – สุรินทร์

เมื่อหลวงปู่ อายุย่าง ๑๙-๒๐ ปี โยมมารดาจะขอผู้หญิงให้ตั้งหลายครั้ง แต่ท่านก็ปฏิเสธทุกครั้งไม่ยอมมีครอบครัว เพราะดูคนทั้งหลายแล้วมีความทุกข์วิตกกังวล แทบทั้งสิ้น ยากที่จะทําจิตของตนให้ผ่องแผ้วได้ ท่านระลึกอยู่ว่าบวชจึงจะมีสุขหนอ การมีชีวิตอยู่อย่างฆราวาสนี้มีแต่ทุกข์ วิตกกังวล ไม่สิ้นสุดมีแต่ความรุ่มร้อน เหมือนฝุ่นละอองมาจากทิศต่าง ๆ มีเต็มอากาศไม่รู้ว่าจะ หนีไปทิศใดได้มีแต่จะคลุกเคล้าละอองพิษลงสู่ใจ ใจก็มีแต่ความเศร้าหมอง เพราะท่านเห็นโทษของ กามคุณ ถ้าผู้ใดกําลังเสพกามารมณ์อยู่เสมือนบริโภคเหล็กเผาไฟแดงๆ อยู่ จิตของท่านจึงรําลึก น้อมไปถึงการอุปสมบท ท่านจึงเอาความดําริในใจนี้เล่าสู่มารดาฟัง ว่าท่านอยากบวช โยมมารดาของ ท่านจึงได้อนุโมทนาและอนุญาตให้ออกบรรพชาอุปสมบทได้ จนถึงอายุ ๒๑ ปี จึงขออนุญาตโยมมารดาบวชเป็นพระฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์สิงห์ เป็นภาระรับไปดําเนินการให้ทุกอย่าง

ด้วยจิตใจที่ใส่ในเรื่องของการศึกษาในธรรม ท่านจึงมีความปรารถนาที่จะเรียนด้านปริยัติธรรม แต่เนื่องจากการศึกษาธรรมะ ในสมัยนั้นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือวัดเลียบ ซึ่งเป็นวัดที่ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล เคยพํานักมาก่อนแต่เนื่องจากท่านเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย จึงค่อนข้างจะยุ่งยาก เพราะวัดเลียบเป็นวัดธรรมยุต ด้วยเหตุนี้พระอาจารย์สิงห์ (ไม่ใช่พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่าสาลวัน) ซึ่งเป็นหลวงน้าของท่าน ได้รับภาระนําไปฝาก ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก เจ้าอาวาส วัดเลียบ ท่านเจ้าคุณฯ บอกว่าจะต้องญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต พอได้ฟังดังนั้นหลวงปู่ก็ดีใจเป็น อันมาก ในการบวชใหม่ครั้งนี้ มี พระศาสนดิลก เป็นอุปัชฌาย์ พระมหาสว่าง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สิริธโร

อุปสมบทเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ วัดเลียบ ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากที่ได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ได้ตั้งใจ เล่าเรียนข้อวัตรปฏิบัติ จนเป็นที่เล่าลือว่าท่านเก่งมาก เพียงเวลาไม่นานท่านก็สอบนักธรรมตรี โท เอก ได้ และในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบูรพา อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พํานักอยู่สมัยปฏิบัติธรรมเริ่มแรก จากนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๗๙ ก็ได้เดินทางเข้าไปศึกษาหาความรู้ในกรุงเทพมหานคร จําพรรษาที่วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ อยู่ไม่นานก็สอบ ได้เปรียญ ๓ ประโยค มีความแตกฉานพระปริยัติมาก

หลวงปู่บุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง

หลังจากที่หลวงปู่ ได้อุปสมบท ๒ พรรษา โยมมารดาก็ได้ถึงแก่กรรม ในระหว่างนั้นจิตก็วิตกกังวลไปต่างๆ ท่านได้พิจารณาเห็น “อนิจจัง” ต่อมาท่านอยากจะออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมตามคําสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเดินทางกลับมายังภาคอีสาน แล้วก็ตั้งหน้าปฏิบัติธรรมอย่าง จริงจัง

พ.ศ.๒๔๙๐ – ๒๔๙๔ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยทราย อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่ มหาบัวฯ ฯลฯ เคยจําพรรษา พํานักปฏิบัติธรรมมาก่อน

พ.ศ.๒๔๙๕ – ๒๕oo จําพรรษาอยู่ที่วัดบ้านม่วง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕o๓ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองบัว อ.พังโคน จ.สกลนคร

พ.ศ.๒๕๐๔ – ๒๕๐๕ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านเหล่า อ.คําชะอี จ.มุกดาหาร

พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๐๘ จําพรรษาอยู่ที่วัดบ้านท่าสําราญ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบัน จ.บึงกาฬ)

พ.ศ.๒๕๐๙ – ๒๕๑๙ จําพรรษาอยู่ที่วัดในเขตจังหวัดเลยหลายวัด เช่น ถ้าเต่า บ้านหมากแข้ง ฯลฯ

พ.ศ.๒๕๒๐ – ๒๕๓๐ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูทอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พ.ศ.๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรีโพธิ์ทอง อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด

พ.ศ.๒๕๓๓ จําพรรษาอยู่ที่วัดหนองเกาะ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์

พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๕ จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าวังเลิง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม

ธรรมโอวาท

หลวงปู่บุญมี สิริธโร เป็นพระสุปฏิปันโนที่เผยแพร่ธรรมด้วยการปฏิบัติ อบรมสั่งสอนศานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสด้วยการทําจริง ทําตาม ปฏิบัติตาม มากกว่าการอบรมบรรยายเทศน์ หรือแสดงธรรม แต่ในวาระวันสําคัญของพระพุทธศาสนาหรือการได้รับอาราธนา หลวงปู่จะเมตตา แสดงธรรมเทศนาโปรดซึ่งมักใช้ภาษาอีสาน และมีผญาภาษิตของภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเปรียบเทียบ ให้ญาติโยมได้แปลความดีความวิเคราะห์พินิจพิจารณานัยแห่งความหมายธรรมมะ ซึ่งใกล้ตัวและใกล้ วิถีชีวิตการดํารงอยู่เป็นเนื้อแนวเดียวกันกับวัฒนธรรมการผลิตของชุมชน ดังที่จะได้ยกมาเป็นตัวอย่างพอสังเขปดังนี้ หลวงปู่บุญมี ได้เทศนาอบรมในวันเข้าพรรษาครั้งหนึ่งว่า

การปฏิบัติเหมือนการทํานา มีคราดมีไถ มีการเก็บหญ้า กว่าสิได้หว่านข้าว หว่านแล้วกว่าสิงอก มันกะขึ้นของมันเอง บ่ได้บังคับนี้ฉันใด หัวใจของคนก็คือกัน สงบราบคาบแล้วมันกะสิเกิดเอง เกิดแล้วจึงค่อยพิจารณามัน พิจารณาให้มันแตก คันบ่แตกกะให้คาโตเองไปศึกษาเอาเองบ่ได้ มันเกิดของมันเอง เมื่อมันเกิดเองเฮาต้องแก้เอง ให้ตัวเองแก้เอง ถ้าแก้ถูกแล้ว มันกะบ่มีที่ไป กะเป็นสุขคือความบ่เป็นหยังเป็นทุกข์คือบ่เกิดทุกสิ่งทุกอย่างกะไปอยู่ความสุขเป็นอารมณ์ ของวิปัสสนาคิดกะบ่แล้ว วิปัสสนา เป็นการขุดฮาก สมถะเป็นการชําระ ผู้หลงหรือสู้กะอยู่โตเดียวกัน สู้เรื่องการ ปฏิบัติบ่แม่นฮูย่อนการศึกษา จึงให้มีสติ สู้กะให้รู้ถึงใจสู้ถึงตนถึงตัวการอบรมสติ คันปศึกษามันกะบ่แล้ว ต้องอบรมเจ้าของให้มันเป็นไปเอาเอง มันนั่งแล้ว ถ้าเจ้าของแก้บได้ผู้อื่นกะ แก้บตกคือกัน โตเฮาแก้โตเฮามันนั่งแก้ได้ แก้ให้มันถึงที่สุดมันกะสิแล้วนั้นแหละ มันเป็นปัจจัตตั้งทั้งหมด สันทิฏฐิโก เห็นด้วยตัวเอง ปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ วิปัสสนาสันทิฏฐิโก นอกจากความฮู้ ความเห็นเป็นบ่ได้ ทุกข์เกิดความอยาก อยากกะอยากดี อยู่ทางโลกมีแต่ความทุกข์กับความอยาก สองอย่างนี้มันได้รับกัน ศาสนากะอาศัยมรรค อาศัยทางโลก เข้าพรรษาอยู่ในไตรมาส ๓ เดือน นับตั้งแต่มื้อนี้เป็นต้นไปถึงกลางเดือนสิบเอ็ดบ่จําเป็นบ่ให้นอนบ่อนอื่น บ่ให้ไปแจ้งนอกวัด สังเกตเบิ่งวัดมีอั้วล้อมเป็นเขต ถ้ามีความจําเป็นมีพ่อมีแม่เจ็บป่วย อนุญาตให้ไปดูแลรักษาได้การอื่นไปบ่ได้ ไปกะไปด้วยสัตตาหะ ได้ ๖ มือ มื้อที่ ๗ ให้มาถึงวัด มื้อนี้คือมื้อสําคัญอีกอย่างหนึ่ง เป็นมื้อที่ พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมพระเทศนาธรรมจักรอนัตตาเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ก่อนแสดงพระธรรมจักรกับอริยสัจ ๔ ให้มีการอธิฐานตาม ความสามารถของเจ้าของในธุดงค์วัตร ๑๓ ข้อ เอาข้อใดข้อหนึ่ง คันสิเอาทั้งเหมิด คือ สิบ่ได้ เฮ็ดหยังให้เฮ็ดอีหลี อย่าเฮ็ดเล่น ๆ คนเฮ็ดเล่นบ่ เป็นหยัง บ่มีสติสตังมันกะบ่ยากได้อีหยังเลยพากันรักษาวินัย ธุดงค์เป็นวินัย ธรรมะรักษาใจ บําเพ็ญภาวนา ให้ธรรมเกิดขึ้นผู้ใดสิอธิษฐานหยังกะให้อธิษฐานเอา บิณฑบาตฉันเป็นวัตร ฉันเถื่อเดียว ฉันบ่อนนั่งเดียวห่อแนวกินใส่บาตร อย่าเอาแต่ถุงพลาสติกใส่บาตร ให้ใช้ใบตองห่อ แม่ออกกะต้องอธิฐานใส่บาตร หรือรักษาใจของตนให้มีสติสตังอันนี้รักษาไว้ปฏิบัติไว้เพื่อหยัง เมื่อนั่งภาวนา ให้เป็นผู้มีสติ อย่าให้มันขาดธรรมะจังสิเจริญขึ้น ซาดว่าเฮ็ดชื่อ ๆ บ่มีสติธรรมะมันบ่เกิด เกิดขึ้นมันเกิดแนวบ่ดีแนวดีมันบ่ได้ มันบ่เกิดให้ ถ้าสิดีได้นอกจากความมีสติ ฯลฯ

หลวงปู่สอนให้ศึกษาจากเบื้องต่ําสุดเริ่มจาก เช่น

ศีล คืออะไร ทุกศาสนาก็มีศีล มีสอนอะไรเราศึกษาหมดเมื่อยังประพฤติตามที่พระองค์สอนหมดหรือยังจุดประสงค์ ที่ศึกษาเรื่องศีล สรุปศีลคืออะไร

สมาธิก็สอนทุก ๆ ศาสนาผิดแผกแตกต่างบ้างอยู่ที่วิธีการ จุดประสงค์คือการที่ต้องการให้จิตใจเป็นปกติในเมื่อมีผัสสะ อะไรเกิดขึ้น เมื่อศีลเป็นปกติ สมาธิก็จะไม่ถูกรบกวนแต่จิตเป็นสิ่ง ที่ชอบโลดแล่นโดดไปมาตามอายตนะกระทบผัสสะ เกิดเป็นรูปเป็นนาม ก็เกิดชอบไม่ชอบรูปนั้นขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ต้องเข้าใจว่ามันทุกข์ ทั้งสองอย่างนั้นแหละ ทั้งกุศลและอกุศล

สติ จึงจําเป็นต้องมีสติ พัฒนาให้มีกําลังเพียงพอที่จะไปทําหน้าที่ควบคุมจิต จิตเป็นสิ่งที่ จะต้องถูกควบคุมด้วยสติ ถ้าใช้สติยึดมั่นถือมั่นดื่มต่ําลงสู่ขณิกสมาธิ-อุปจารสมาธิและเข้าสู่แดนของปฐมฌานคือ จิตเข้าสู่ความสงบยิ่งในนามอัปนาสมาธิ พักชั่วขณะหนึ่งถอนความรู้สึกมาอยู่ที่ อุปจารสมาธิ เพื่อสร้างสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัวให้มีควบคู่กับสติให้เป็นอันเดียวกัน สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวเกาะกุมอยู่กับสติ ที่กําลังควบคุมจิตอยู่จะต้องเลือกดูพระกรรมฐาน ๔๐ ห้อง ต้องทดสอบจนแน่ใจว่าถูกจริตแต่ละห้อง ถ้าทําถูกจริตถ้าทําปุ๊บ ก็สว่าง-สงบ-ก้าวหน้าแสดงว่า ถูกจริตกับกองกรรมฐานนั้น ๆ ยังมีสิ่งที่จะต้องศึกษาอีกมาก เช่น ไม่ใช่ไปอ่านเอาฟังเอา ต้องเกิด จากการปฏิบัติเอาและนี่คือหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเป็น วิปัสนากรรมฐาน จุดเริ่มต้นของ ปฐมฌาน โดย ต้องศึกษาเรื่อง

๑. ศีล สมาธิ ปัญญา

๒. ศึกษาเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ ให้เข้าฝึกจนมีสมรรถภาพ มีพลังของสติโดยรู้ด้วยอารมณ์ของ เจตสิก ว่ามีกําลังเพิ่มขึ้น ๆ เป็นสติที่จะอํานวยความสะดวก ในการจะเข้าปฐมฌาน

๓. ต้องศึกษาพุทธประวัติ และคําสั่งสอนให้รู้ซึ้งถึงความยากลําบาก กว่าจะได้เป็นสมณโคดมพระพุทธเจ้า

๔. ต้องศึกษา มรรค ๘

ทั้งหมดเป็นธรรมที่เป็นทางที่จะต้องเดินเข้าไปสู่ผลเท่านั้น ผลก็จะต้องได้จากการปฏิบัติ ที่จะต้องเอาชีวิตเข้าแลกเอา ท่านว่าอย่าไปเสียดายมันเลยชีวิตนั้น เดี๋ยวก็ตายทิ้งไปเปล่า ๆ วาง ความตายเสีย อย่าไปเสียดายความมีอยู่เลย มันหลอกให้เราทุกข์ทั้งนั้น เกิดซ้ํา ๆ ซากๆ ไม่หยุด หย่อนให้ผ่อนคลายเลย นี่เป็นทาง (ชี้ไปที่หัวใจ) ทั้งหมดนี้เป็นการย่นย่อคําสอนให้สั้นที่สุด เพื่อ ให้เหมาะสมกับเวลาที่กําหนดตายตัว

สําหรับผญาปริศนาธรรมและภาษิตคําสอนที่หลวงปู่อบรมสั่งสอนสานุศิษย์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ และจริตลีลาในการอบรมธรรมของหลวงปู่เป็นต้นว่า

หลงมันใหญ่ที่สุด

ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยสติทั้งหมด

อีลุมปุมเป้า สามเปาเก้าขอด สุดยอดพระคาถา บารมีงุมไว้ แก้บ่ได้ เมื่อบ้านอ่านสาร

กกอีตู่เตี้ยต้นต่ําใบดก ฮากบ่ทันฝังแน่น ซ่างมาจีจูมดอก ฮากบ่ทันหยั่งพื้น ซ่างมาขึ้นป่งใบ

อัศจรรย์ใจกุ้งพุ่งบ่มีช่างมาเลี้ยงลูกใหญ่ ไส้บ่มีอยู่ท้องช่างมาได้ใหญ่มา

แก้วบ่ขัดสามปีเป็นหินแฮ่ พี่น้องบ่แหว่สามปีไปเป็นอื่น

ชีวิตน้อยหนักหนา พึงรู้ว่าลมหายใจ ชีวิตยังเป็นไป ลมหายใจชีพจร

แม่น้ําท่อฮอยงัว บ่มีผู้ได้ เฮ็ดขัวข้ามได้ เว้นไว้แต่ผู้ฮู้เหตุผล

ผักหมเหี่ยนริมทางอย่าสิฟ้าวเหยียบย่ำ บัดมันทอดยอดขึ้นยังสิได้ก่ายเดิน

กินมำ บ่คลําเบิ่งท้อง

สี่คนหาม สามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่ สองคนพาไป

ดีหรือชั่วเป็นของประจําตัว

เป็นใหญ่แล้ว เป็นน้อยบ่เป็น

สุกณา เป็นเสียงฮ้อง ปฐพี เป็นหม่องเล่น แม่นทีเป็นหม่องอยู่

ขวาแข็งแรงกว่า ขวาแข็งแรงที่สุด ปทักขิณา ปทักขิ

มีตาให้ดู มีหูให้ฟัง

ฟานกินหมากขามป้อม ซ่างมาคาคอมั่ง มั่งบ่ขี่สามมื้อกระต่ายตาย กระต่ายตายแล้ว เห็นอ้มผัดเน่านํา

เกิดมาหยังเกิดมาเพื่อสร้างบุญญาบารมีหนีให้พ้นทุกข์

การปฏิบัติให้มันฮู้ จั่งแบ่งเวลา ให้มันมี เช้า-สาย-บ่าย-เย็น ให้มันมีกิน มีนอน มีเฮ็ด มีทํา เฮ็ดกิจส่วนตัวแล้วกะมาเฮ็ดกิจส่วนรวม

ใจประสงค์สร้างกลางดงกะว่าท่ง ใจขี้คร้านกลางบ้านกะว่าดง

มุดน้ําอย่าสิเฮ็ดก้นฟู จกฮูอย่าสิเฮ็ดแขนสั้น ๆ

หลวงปู่มหาบุญมีในอิริยาบทสบายๆ

ปัจฉิมบท

หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร เป็นพระสุปฏิปันโน บุตรของกองทัพธรรม พระอาจารย์ใหญ่ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น สานุศิษย์คาดว่าหลวงปู่บุญมีไม่ได้พบหรือได้ฟังธรรมภายนอกจาก พระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต โดยตรง แต่การเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ของหลวงปู่บุญมี อยู่สํานักเดียวกับหลวงปู่เสาร์ คือ วัดเลียบ และไปพํานักอยู่วัดบูรพาสํานักเก่าแก่ดั้งเดิมของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตเถระ นั่นเองด้วยบริบทและสภาวะธรรมของสํานักวัดเลียบ วัดบูรพาราม และทราบประวัติ ของพระอาจารย์ใหญ่บูรพาจารย์ทั้งสองขณะที่ศึกษาปริยัติอยู่วัดนี้ ซึ่งเป็นแบบอย่างของการแสวงหาโมกขธรรม เกิดแรงบันดาลใจและมองเห็นลู่ทางธรรมที่เหนือกว่าการศึกษาปริยัติ จึงเป็นสิ่งที่หลวงปู่ฝังใจตลอดเวลา เมื่อไปศึกษาปริยัติธรรมที่เมืองกรุงที่วัดปทุมวนารามก็ได้รับทราบเรื่องราวที่บูรพาจารย์และพระป่ามาพํานักที่นี่หลวงปู่จึงทิ้งป่าคอนกรีตออกปฏิบัติธรรมอย่างอุกกฤษ ตามรอยพระพุทธองค์และบูรพาจารย์ทั้งสอง โดยมีสหธรรมมิกที่เคยปรนนิบัติและรับใช้บูรพาจารย์ที่ธุดงค์ ร่วมกันถ่ายทอดคําสั่งสอนมรรควิธีของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่จึงถือว่าบูรพาจารย์ทั้งสองเป็นพระอาจารย์ และมีความสนิทคุ้นเคยกับกลุ่มกองทัพธรรมสายนี้ที่สุด ดังจะเห็นได้ว่าหลวงปู่เป็นที่เคารพนับถือของพระสุปฏิปันโนทั้งรุ่นศิษยานุศิษย์หลวงปู่มั่น และรุ่นหลานศิษยานุศิษย์เป็นอันมาก นับตั้งแต่หลวงปู่มหาบัว ญานสมปนโน หลวงพ่อพุธ ฐานิโย หลวงปู่ศรี มหาวีโร หลวงพ่อเมือง หลวงพ่ออุ้น วัดป่าแก้ว พระอาจารย์อินทร์ถวาย ฯลฯ

ดังจะเห็นได้จากงาน พระราชทานเพลิงศพที่เป็นวาระการชุมนุมของคณะศิษยานุศิษย์สายหลวงปู่มั่น มากที่สุดครั้งหนึ่ง และในงานรําลึกบูชาพระเถราจารย์ฝ่ายปฏิบัติธรรมศิษย์หลวงปู่มั่น ณ วัดโพธิสมพร อุดรธานี ประวัติและรูปของหลวงปู่ก็ได้รับการเผยแพร่ในงานนิทรรศการนี้ด้วย

หลวงปู่เริ่มอาพาธหนักในช่วงเดือน พฤศจิกายน ๒๕๓๒ ในระหว่างที่พักจําพรรษา อยู่ที่ วัดป่าศรีโพธิ์ทอง อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด สาเหตุเกิดจากการหกล้มในขณะเดินเข้าห้องน้ําแล้ว เกิดอาการเข่าอ่อน หลังจากนั้นท่านเกิดอาพาธเดินไม่ได้ คณะศิษย์จึงได้พยายามช่วยกันรักษา พยาบาลอาการอาพาธของท่าน ทั้งด้วยยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบันแต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้นในที่สุด ผู้ใหญ่สัญชัย และกํานันเซ็ง จึงได้นิมนต์ท่านไปรักษายาแผนโบราณ ที่ อ.สตึก โดยพักจําพรรษาที่ วัดป่าเกาะแก้วประเสริฐ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับไปรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย ในบางโอกาส จนอาการดีขึ้น

ภายหลังจากนั้น คณะศิษย์จากจังหวัดมหาสารคามได้พากันไปอาราธนานิมนต์ท่านให้มา จําพรรษาที่วัดป่าวังเลิง และท่านก็ได้มาพักจําพรรษาที่วัดป่าวังเลิง เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๓ ครั้นต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ หลวงปู่ก็ได้เกิดอาพาธอีกครั้งหนึ่ง คณะศิษย์จึงได้นําตัวท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น และตั้งแต่นั้นมาอาการอาพาธของหลวงปู่ก็มีแต่ทรงกับทรุดมาตลอด ตามลําดับดังนี้

เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ ๑ วันจันทร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ ออกจาก โรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๔

เข้ารักษาที่โรงโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ ๒ วันพุธที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๔ ออกจาก โรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๕

เข้ารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ครั้งที่ ๓ วันศุกร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๕ และในเช้า วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๕ ท่านก็ได้อนุญาตให้ นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์ เพื่อทําการผ่าตัดใส่สายยางทางหลอดลม เข้า โอ อาร์ เวลา ๑๖.๑๕ ออกเกือบจะเวลา ๑๗.๐๐ น. และฟื้นเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ น.

หลังจากนั้นอาการอาพาธของหลวงปู่ก็ทรุดหนักมาเรื่อย ๆ จนเป็นที่หนักใจของแพทย์ และคณะศิษยานุศิษย์ผู้เฝ้ารักษาพยาบาลเป็นอย่างมาก จนในที่สุดหลวงปู่ก็ละสังขารไปด้วยอาการ อันสงบเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๕ เวลา ๑๐.๑๐ น. ตรงกับวันจันทร์แรม ๓ ค่ํา เดือน ๕ ปีวอก สิริรวมอายุหลวงปู่ได้ ๘๑ ปี ๖ เดือน ๖ วัน พรรษา ๖๑

เหลือเพียงภาพลักษณ์แห่งความเป็นพระภิกษุที่เยือกเย็นเบิกบาน เมตตาหาที่ประมาณมิได้ สันโดษ เรียบง่าย และแบบอย่างแห่งมรรควิธีไปสู่ความหลุดพ้น ที่พุทธศาสนิกชนจะต้องปฏิบัติตาม ขออํานาจบารมีธรรมของหลวงปู่ที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาจงแผ่เมตตาบารมีให้ พุทธบริษัท ได้เกิดธรรมจักษุ พบแก่นพุทธธรรม เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของสรรพสัตว์ทั้งพิภพด้วยเทอญ

เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
ประดิษฐาน ณ วัดป่าวังเลิง
ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
ประดิษฐาน ณ วัดป่าวังเลิง
ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
อัฐธาตุหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์
อัฐธาตุหลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์