ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต
วัดสันติธรรม
อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ประวัติความเป็นมาของข้าพเจ้า พระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงปู่มหาทองอินทร์ กุสลจิตโต)
ข้าพเจ้าเกิดขึ้นมาในตระกูล แก้วตา มีบิดาชื่อ พรหมา แก้วตา มารดาชื่อ รินทร์ แก้วตา มีปู่ชื่อว่าอาจารย์ครูทน ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา จึงได้ขนานนามว่า อาจารย์ครูทน ท่านได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาหลายพรรษา จึงได้สึกออกมาครองฆราวาส
ข้าพเจ้าเกิดเมื่อ วันที่ ๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๑ ตรงกับ วันจันทร์แรม ๘ ค่ำเดือน ๘ ปีมะโรง อาจารย์ครูทน ซึ่งเป็นปู่ของข้าพเจ้าตั้งชื่อให้ข้าพเจ้าว่า ทองอินทร์ ปู่ถึงแก่กรรมเมื่อข้าพเจ้าอายุได้เท่าไร ข้าพเจ้าจำไม่ได้ ทั้งข้าพเจ้านึกถึงหน้าตา รูปร่างของท่านมิได้เลย
ข้าพเจ้าเกิดขึ้นมาในหมู่บ้านน้ำร้อน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ ๗ ตำบลนาป่า อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ หมู่บ้านน้ำร้อนนี้ยังไม่มีโรงเรียนประชาบาลเลย เมื่อข้าพเจ้าอายุได้ ๙ ปี จึงได้เข้าโรงเรียนชั้นประถมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ข้าพเจ้าได้เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๔๘๔ จึงจบประถม ๔ สงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในปีนั้น ข้าพเจ้าหมดโอกาสที่จะต้องไปศึกษาที่อื่น จึงช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนาตามสภาพ จนข้าพเจ้าอายุได้ ๑๘ ปี สงครามโลกสงบลงพอดี
ข้าพเจ้าตั้งใจจะบวชเรียนในพระพุทธศาสนา จวบเหมาะพอดีขณะนั้นอาจารย์แส่ว ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติผู้พี่ได้บวชเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ข้าพเจ้าจึงสมัครใจที่จะบวชเป็นพระฝ่ายคณะธรรมยุต ท่านอุตส่าห์มาหาข้าพเจ้าที่บ้าน มารับเอาข้าพเจ้ากับพ่อแม่ที่บ้าน พ่อแม่ก็ยินดีอนุญาต ข้าพเจ้าจึงติดตามท่านไปอยู่ที่วัดบ้านน้ำเฮี่ยนา อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ข้าพเจ้าเป็นนาคเตรียมตัวท่องคำบวช ท่องสวดมนต์ไหว้พระ ประมาณ ๓ เดือน จึงได้บวชเป็นสามเณร โดยมี ท่านเจ้าคุณพระอมราภิรักขิต จากวัดบรมนิวาสขึ้นมาบวชให้ เมื่อข้าพเจ้าได้เป็นสามเณรแล้ว พักอยู่ที่วัดบ้านน้ำเฮี่ยนานั้นประมาณ ๑ เดือน จากนั้นพระอาจารย์แส่วพาไปเพื่อจำพรรษา ที่บ้านน้ำดุกปากช่อง (ขณะนี้ถนนจากหล่มสักผ่านที่ บ้านน้ำดุกปากช่อง เพื่อไปชุมแพ จังหวัดขอนแก่น) ข้าพเจ้าตกลงใจเพื่ออยู่จำพรรษาที่วัดน้ำดุกปากช่องนี้ กับพระอาจารย์คำพา แต่พระอาจารย์แส่ว อยู่อีกแห่งหนึ่งที่บ้านน้ำเลนกับ พระอาจารย์หลอด
ข้าพเจ้าอยู่จำพรรษาที่วัดบ้านน้ำดุกปากช่อง วัดนี้เป็นวัดป่า เป็นป่าไม้ไร่ร่มรื่นดี ก่อนจะเข้าพรรษาประมาณ ๑ เดือน ข้าพเจ้าตั้งใจในการภาวนา ด้วยการนั่งสมาธิและเดินจงกรม เวลาค่ำไหว้พระสวดมนต์แล้ว เข้าที่นั่งภาวนา โดยนั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรงแล้วหลับตา ประคองความรู้สึกมาไว้ที่ลิ้นปี่ นึกบริกรรมว่าพุทโธ ๆ อยู่อย่างนั้นจนรู้สึกเหนื่อยแล้วหยุด ตื่นนอนก็นั่งภาวนาอย่างเดิม เวลากลางวันตั้งแต่ฉันเช้าแล้วกับมาจากศาลาโรงฉัน เก็บบาตรไว้ที่กุฏิแล้ว เริ่มที่เดินจงกรม ทางเดินจงกรมนั้นปกติทำเป็นที่เดินกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๕ เมตร ก่อนเดินยืนที่หัวจงกรมนึกอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าขอปฏิบัติบูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยะสงฆ์ ขอให้ใจของข้าพเจ้า สงบ ระงับ ตั้งมั่น เป็นสมาธิ มีความรอบรู้ในกองสังขารด้วยปัญญาเถิด จากนั้นเอามือวางทับกันไว้ที่พกผ้า จากนั้นก้าวเดินธรรมดาเดินกลับไปกลับมา พร้อมนึกพุทโธ ๆ อยู่อย่างนั้น ใช้เวลาเดินตั้งแต่ ๘ โมงเช้าถึงเที่ยง หยุดพักเที่ยง เวลาบ่ายตั้งแต่บ่ายโมงถึง ๔ โมงเย็นจึงหยุด ทำอยู่อย่างนั้นเป็นประจำ
ข้าพเจ้าใช้ความเพียรนั่งสมาธิภาวนาและเดินจงกรม อยู่อย่างนั้นประมาณ ๑ เดือน ค่ำวันหนึ่งเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม ข้าพเจ้าเดินจงกรมกลับไปกลับมาพร้อมนึกพุทโธ ๆ อยู่นั้น รู้สึกเหมือนมีก้อนลมตั้งขึ้นที่ทรวงอก จากนั้นรู้สึกตกวูบลงไปสู่ฐานลุ่ม จากนั้นมีเสียงดังขึ้นมาว่า “นี่แหละใจ” รู้สึกว่าความรู้สึกทั้งหมดรวมอยู่ในจุดเดียวแน่วแน่ไม่เคลื่อนไหวไปที่อื่น มีความรู้อยู่เท่านั้น ข้าพเจ้ารู้ภายหลังว่าอาการที่เป็นอย่างนั้น คือ จิตตกลงสู่ภวงค์ ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่จุดตั้งนั้นตลอดเวลา ถ้าเวลาจะสงบจิต จิตจะรวมอยู่ในจุดเดียวเท่านั้น เวลาไปนั่งภาวนาจิตก็จะรู้ทั้งนอกและใน คือ รับรู้อารมณ์ภายนอกด้วย และรู้จุดตั้งนั้นด้วย ตั้งแต่นั้นมาจะนั่งภาวนาก็ไม่ต้องบริกรรมว่าพุทโธ เพราะจิตมันรู้ตัวเองว่าพุทโธก็คือใจ เมื่อเข้าถึงใจแล้วก็ไม่ต้องพุทโธ
อีกอานิสงส์ที่เกิดจากจิตตั้งอยู่ได้อย่างนั้นจึงเป็นเหตุให้ใจเกิดศรัทธาเลื่อมใสมั่นคงในพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา มีใจแน่วแน่ว่าเราจะบวชอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ตลอดไปชั่วชีวิต
ในระหว่างพรรษานั้นเกิดเป็นไข้จับสั่น รู้สึกว่าเป็นไข้แต่ไม่มียารักษา จึงต้องใช้ธรรมโอสถรักษาตัวขณะที่รู้สึกเป็นไข้ขึ้นมา ปกติแล้วเวลาบ่ายจะเป็นไข้จับสั่นทุกวัน เมื่อรู้ว่าเป็นไข้ก็รีบเข้าที่นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้ายวางไว้ที่ตัก หลับตา สำรวมจิตเข้าสู่ที่ตั้งแน่วแน่เป็นหนึ่ง แล้วนึกในใจว่า หาย ๆ อยู่อย่างนั้นจน หายสั่น หายไข้ จึงหยุด เป็นไข้จะหายทีเดียวไม่มีเลย ปรากฏว่าเป็นไข้จับสั่นอย่างนั้น ๓ วัน และเข้าที่นั่งสมาธินึกบริกรรมว่า หาย ๆ อย่างนั้น ๓ วัน แล้วไข้จับสั่นหายหมด แต่โรคอย่างอื่นเกิดขึ้นแทน คือ โรครูมาติซั่ม เกิดเจ็บปวดรวดร้าวไปทั่วกาย โดยเฉพาะที่ หัวเข่า บั้นเอว เจ็บปวดมากต้องนอนนิ่ง ๆ ไม่กระดุกกระดิกจึงจะพอบรรเทา ถ้าพลิตัวจะรู้สึกเจ็บปวดมาก ขณะนั้นใช้วิธีนอนตะแคงขวา หลับตา กำหนดดูร่างกายของตัวเอง เริ่มแต่หัวถึงตีน แต่ตีนถึงหัว และใช้จิตเพ่งดูเข้าไปข้างในทั้งหมดทั่วสะพางกาย ใช้เวลาต่อสู้กับโรครูมาติซั่ม อยู่ได้ ๑๐ วันจึงหาย ขณะที่เป็นอยู่นั้นฉันข้าวได้วันละช้อนเท่านั้น แต่ก็เป็นอยู่ได้ด้วยกำลังใจ อันเกิดจากภาวนามัยนั้นเอง เมื่อหายจะลุกขึ้นต้องยืนเกาะที่นั่ง และยืนด้วยไม้เท้า ต้องฝึกหัดเดินใหม่ประมาณ ๑๐ วัน ขณะนั้นเส้นผมล่วงหล่นหมดเลย คนอื่นมาเห็นเข้า พูดว่าเราป่วยไข้อย่างหนักเลย แต่ข้าพเจ้ารู้ตนเองว่าเป็นเพียงนิดหน่อยเท่านั้น และนึกได้ว่านี่คืออานิสงส์ของภาวนามัยที่เราปฏิบัติมานั้นเอง ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าก็ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ เดินจงกรมเป็นประจำอยู่อย่างนั้นจนออกพรรษา
ข้าพเจ้ามาจำพรรษาอยู่วัดป่าเป็นวัดพระกรรมฐาน ท่านส่งเสริมการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนาเดินจงกรม ไม่ส่งเสริมให้ศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมเลย ฝ่ายพระกรรมฐานท่านให้เหตุผลว่า เมื่อเรียนปริยัติธรรมมากเป็นเหตุให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบเป็นสมาธิได้ง่าย เมื่อเรียนปริยัติธรรมมากสุดท้ายก็ต้องลาสิกขาออกไปเป็นคฤหัสถ์ ข้าพเจ้าพิจารณาเห็นตัวเองว่า ขณะนี้เรามีจิตใจสงบที่ตั้งมั่น ด้วยดี มีแต่ความสงบ สุข เย็น และมีความศรัทธามั่นคงในพระธรรมวินัย แต่ยังไม่มีความรู้หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเลย ข้าพเจ้าตั้งจิตให้เป็นสมาธิแน่วแน่เป็นหนึ่งแล้ว นึกขึ้นมาว่า
“ผู้ที่ไปศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมนั้น เขาสึกจากสมณะจริงหรือ ได้คำตอบขึ้นมาว่า เขาสึกจากสมณะโดยมาก แล้วผู้ที่ไม่ได้ศึกษาปริยัติธรรมเล่าสึกไหม ได้คำตอบขึ้นมาว่าสึกเหมือนกัน ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาปริยัติธรรมหรือไม่ศึกษา จะสึกหรือไม่สึก อยู่ที่ผู้นั้นมีศรัทธามั่นคงหรือไม่ แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษา ย่อมได้รับความรู้ตามหลักพระธรรมวินัย และนำไปปฏิบัติด้วยตัวเองและสอนผู้อื่นได้โดยถูกต้อง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า”
ข้าพเจ้าตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องศึกษาปริยัติธรรมให้มีความรู้แตกฉาน เราจะต้องเรียนปริยัติธรรม สอบเป็นพระมหาเปรียญให้ได้จึงจะหยุด จากนั้นจึงจะเที่ยวธุดงค์ไปตามอัธยาศัย
ข้าพเจ้าบวชเป็นสามเณรปีแรกจำพรรษาอยู่ที่วัดน้ำดุปากช่อง ปีที่ ๒ จำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านโนนแก้วสว่างสีทอง อำเภอหล่มสัก ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ – พ.ศ.๒๔๙๑ ข้าพเจ้ากับสามเณรไข่และนายนิพนธ์ ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อจะหาที่ศึกษาปริยัติธรรมตามที่ตั้งใจ ข้าพเจ้าเดินทางถึงจังหวัดเชียงใหม่ แวะพักที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จากนั้นเดินทางไปที่สำนักสันติธรรม ซึ่งมี หลวงปู่สิม พุทธาจาโร และพระอาจารย์แส่ว รอรับข้าพเจ้าและพรรคพวกอยู่แล้ว ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สำนักสันติธรรม ไปสมัครเรียนนักธรรมตรีและบาลีไวยากรณ์ที่ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
ข้าพเจ้าได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๙ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร โดยมี พระพุทธิโสภณ เจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิศาลขันติคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่สิม พุทธาจาโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ข้าพเจ้าพักอยู่ที่สำนักสันติธรรมสอบนักธรรมตรีได้ในสนามหลวง ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ คณะศรัทธาญาติโยมมีนางสาวนิ่มคิ้ม สุภาวงค์ เป็นหัวหน้า ได้ซื้อที่ดินของพระอาสาสงคราม ที่บ้านแจ่งหัวรินเพื่อจะสร้างวัด หลวงปู่สิม พุทธาจาโร พร้อมข้าพเจ้าและพระเณรอีกหลายองค์ จึงย้ายจากสำนักสันติธรรมเก่า มาตั้งเป็นวัดสันติธรรม ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๒ เป็นต้นมา ข้าพเจ้าอยู่จำพรรษาที่วัดสันติธรรมนี้ถึงปี พ.ศ.๒๔๙๗ ขณะนั้นข้าพเจ้าสอบเปรียญยังมิได้ พระอาจารย์แส่ว ได้มาจากเพชรบูรณ์ มารับเอาข้าพเจ้าไปอยู่วัดหินฮาว อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ข้าพเจ้าต้องลงไปสมัครสอบ ป.ธ.๓ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ปรากฏว่าข้าพเจ้าสอบได้ ป.ธ.๓ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ พร้อมกับนักธรรมชั้นเอกด้วย ปี พ.ศ.๒๔๙๙ สอบ ป.ธ.๔ ได้ ข้าพเจ้าสอบเป็นพระมหาได้ตามที่ตั้งใจไว้จึงขอหยุดเรียน ก่อนหยุดเข้าที่นั่งสมาธิทำใจให้แน่วแน่เป็นหนึ่ง แล้วนึกว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตนี้ต่อไปหรือจะสึก มีเสียงดังขึ้นมาภายในใจว่า เราจะอยู่ไม่สึก ถ้าอยู่ก็หยุดเรียนได้แล้ว จงบำเพ็ญภาวนาต่อไปเพื่อ มรรค ผล นิพพาน
ในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ข้าพเจ้าก็ขออำลาพระอาจารย์แส่ว ว่าจะขอกลับไปหาหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ท่านก็อนุญาต เพราะข้าพเจ้าอยู่กับท่านถึง ๔ ปีแล้ว จากนั้นข้าพเจ้ากลับไปเยี่ยมโยมแม่ บอกว่าจะกลับไปเชียงใหม่ วันรุ่งขึ้นจึงให้นายจรัญน้องชายไปส่ง ที่สถานีรถไฟตะพานหินตีตั๋วขึ้นรถด่วนถึงเชียงใหม่ ข้าพเจ้ากลับมาไหว้หลวงปู่สิม พุทธาจาโร แล้วท่านพูดว่ากลับมาก็ดีแล้ววันรุ่งขึ้นข้าพเจ้าจึงขอลาท่านไปธุดงค์ทางจังหวัดเชียงราย ท่านก็อนุญาต เพราะท่านต้องการให้เราไปภาวนา จึงได้ขึ้นรถยนต์จากเชียงใหม่ ไปต่อรถที่สถานีขนส่งจังหวัดลำปางเพื่อต่อรถไปจังหวัดเชียงราย ไปลงรถที่อำเภอพาน ขึ้นรถต่อไปบ้านป่าแงะ ไปพักที่ถ้ำผาจรุยซึ่งเป็นสำนักกรรมฐาน ข้าพเจ้าอยู่ที่นั่นพิจารณาเห็นสถานที่เป็นสับปายะ บุคคลศรัทธาก็เป็นสับปายะ เป็นเหตุให้เราบำเพ็ญสมณธรรมได้ง่าย จึงตั้งใจว่าเราจะอยู่ ณ สถานที่นี้ ๕ ปี จึงจะหนีไปที่อื่น ครั้นนึกว่าจะรีบเร่งทำความเพียรเอาตนให้หลุดพ้นจะไม่สั่งสอนใคร ๆ จะเอาเฉพาะตัวเองคนเดียว แต่ได้คิดว่าเราจะต้องอาศัยญาติโยม ถ้าเราไม่สั่งสอนญาติโยม เขาก็จะไม่รู้จักศีลธรรมและเขาจะไม่ช่วยอุปถัมภ์เรา ดังนั้น เราจะต้องสั่งสอนคนอื่นให้รู้ธรรมด้วย ตัวเองก็ปฏิบัติไปด้วย จึงเริ่มสอนญาติโยมให้รู้จักการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนา เมื่อเห็นว่าญาติโยมมีความรู้ความเข้าใจ ในการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนาดีพอสมควรแล้ว จึงหยุด แต่สอนเฉพาะวันพระเท่านั้น จากนั้นจึงเริ่มทำความเพียรภาวนาเฉพาะตัวเอง
ครั้งแรกพิจารณาถึงผลการปฏิบัติที่ผ่านมา รู้ได้ว่าเราได้เฉพาะความสงบอย่างเดียวด้วย วิปัสสนาความเห็นแจ้งในธรรมยังไม่เกิดมีเลย ที่ผ่านมาเราได้ความสงบด้วยอรูปกรรมฐานคือพุทโธ เราจะต้องใช้กรรมฐานที่เป็นรูปกรรมฐาน คือ อนาปานสติ คือ การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ตั้งแต่นั้นจึงเริ่ม กำหนดลมหายใจเข้าออก นั่นก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เดินจงกรมก็กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ทำอย่างนั้นประมาณ ๓-๔ วัน ปรากฏผลว่า จิตที่เคยสงบอยู่ข้างในถอนออกจากฐานที่ตั้งทั้งหมด จิตจึงฟุ้งซ่านปรุงแต่งไปตามอารมณ์ รู้สึกจิตร้อนรนเหลือเกิน เมื่อเกิดกับจิตเช่นนั้นจึงตั้งจิตด้วยการเอาจิตมาจดจ่อตั้งไว้ที่ปลายจมูก รู้ลมหายใจเข้าออกอย่างนั้นตลอดเวลาจะยืนเดินนั่งนอนอย่างไร ก็เอาจิตตั้งจดจ่อไว้ที่ปลายจมูกนั้นอย่างเดียว ทำอย่างนั้นได้ ๓ วัน ๓ คืน รู้สึกจิตเร่าร้อนเหลือเกิน เมื่อเป็นเช่นนั้นเวลาเย็นวันหนึ่ง ได้ไปนั่งอยู่หน้าถ้ำ จึงนึกขึ้นมาว่า
“เรากำลังปฏิบัติดีด้วยการตั้งจิตไว้ในลมหายใจเข้าออก ทำไมหนอจึงรู้สึกมีความร้อนกายร้อนใจเหลือเกิน” เมื่อนึกขึ้นมาอย่างนั้น รู้สึกมีเสียงดังเกิดขึ้นมาในใจว่า “จงปล่อยวางเสียสิ” ใจรู้ขึ้นมาทันทีว่าปล่อยวางอะไร หมายความว่า ให้ปล่อยวางการบังคับจิตไว้ที่ลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูกนั้น จิตบอกว่าปล่อย ก็ปล่อย จากนั้นจิตก็วูบลงสู่ความสงบแน่วแน่เป็นหนึ่ง พร้อมมีเสียงดังขึ้นมาในใจว่าไม่ตายแล้วเรา หมายความว่า จะอยู่ในพระศาสนา ต่อไป จากนั้นเกิดความสลดสังเวชใจว่าเรามันโง่จะคิดสิ่งใดก็คิดไม่จบ หมายถึง ความคิดนั้นต้องคิดเข้าสู่หลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็คือหลักวิปัสสนานั่นเอง ซึ่งเป็นทางให้จิตปล่อยวางอารมณ์ได้
เมื่อสมัยก่อนนั้น ข้าพเจ้าสำรวมจิตไว้ในจุดตั้งเสมอ ถ้าจิตถอนออกมากระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ ก็รีบดึงจิตเข้าสู่ที่ตั้งอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบก็สงบไป ตั้งแต่จิตถอนออกจากที่ตั้งเกิดความฟุ้งซ่าน ได้ตั้งจิตไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ตั้งไว้ที่ปลายจมูกจนจิตสงบลงสู่ภวังค์เป็นครั้งที่ ๒ เกิดความสลดสังเวชเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตัวเองโง่ ปล่อยให้จิตนึกคิดปรุงแต่งไม่รู้จบ คือไม่ถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตั้งแต่นั้นมาจึงสามารถปล่อยจิต และปล่อยวางอารมณ์ได้ ปล่อยจิตคือมีสติรู้อยู่ด้วยปัญญา ปล่อยอารมณ์คือไม่ผูกจิตไว้กับอารมณ์กรรมฐาน มีพุทโธ ๆ เป็นต้นตลอดเวลา แต่ได้กำหนดรู้จิตหรือมีสติรู้จิต เวลาจะสงบก็กำหนดรู้ที่จิตนั้นเลย ทำจิตให้นิ่งเป็นหนึ่ง ถ้ามีอารมณ์อะไรมากระทบ ก็กำหนดรู้จิตพิจารณาให้รู้ตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวาง จากนั้นมีสติรู้ใจเป็นเครื่องอยู่
ข้าพเจ้าตั้งใจแต่ต้นเมื่อมาอยู่จำพรรษาที่ถ้ำผาจรุย ว่าเราจะอยู่ ณ ที่นี้ ๕ พรรษา อยู่จำพรรษาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ ถึง พ.ศ.๒๕๐๕ เป็น ๕ พรรษาแล้ว ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะหนีไปจำพรรษาที่อื่นได้ เพราะญาติโยมผูกพันธ์เหลือเกิน ทั้งยังไม่มีพระองค์อื่นมาอยู่แทนตัวได้ จึงจำเป็นจะต้องอยู่ที่นั้นต่อไป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ มีพระอาจารย์ละมุดมาพักอยู่อาศัย ประจวบขณะนั้นมี่วัดสันติธรรมเชียงใหม่ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ไปจำพรรษาที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ เพื่ออบรมญาติโยม เพราะขณะนั้นท่านพ่อลีได้มรณะภาพญาติโยมทั้งหลายจึงได้พากันอาราธนานิมนต์หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ให้อยู่จำพรรษาเพื่ออบรมภาวนาแก่ญาติโยม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ก็รับนิมนต์ฉลองศรัทธาของโยม จึงเป็นเหตุให้วัดสันติธรรม ขาดพระผู้เป็นหัวหน้าอบรมญาติโยม หลวงปู่สิม จึงได้ส่งจดหมายมาบอกข้าพเจ้าว่า วัดสันติธรรม ขณะนี้ไม่มีพระผู้เป็นหัวหน้า ขอให้ท่านกลับวัดสันติธรรมได้แล้ว ครั้งแรกข้าพเจ้าคิดว่าจะไม่กลับวัดสันติธรรมล่ะ เพราะจะสร้างภาระให้แต่ตัวเอง เมื่อมีเหตุขึ้นเช่นนั้นจึงสำรวมจิตเข้าสู่สมาธิ กำหนดรู้ขึ้นมาว่า เราจะกลับไปวัดสันติธรรมหรือไม่ ความเกิดขึ้นมาในขณะนั้นว่า พระสาวก สาวิกา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเอาหมู่เอาคณะท่านไม่หนีเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว ท่านย่อมช่วยหมู่ช่วยคณะตามกำลังความสามารถของท่าน ตัวเรานี้ก็มีความรู้ความสามารถพอสมควรแล้ว ควรที่จะช่วยเหลือหมู่คณะได้แล้ว เมื่อความรู้เกิดขึ้นมาบอกเหตุเช่นนั้น จึงได้มอบวัดถ้ำผาจรุยให้พระอาจารญ์ละมุดอยู่แทนข้าพเจ้ากลับมาที่วัดสันติธรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ มาพักอยู่ระยะหนึ่ง พอดีหลวงปู่สิม กลับมาจากวัดอโศการาม สมุทรปราการ มาพัอยู่ที่วัดสันติธรรมตามเดิม ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสนั้น กลับไปที่วัดถ้ำผาจรุยอีก พักอยู่ที่ถ้ำผาจรุยได้ไม่นานหลวงปู่สิมก็ไปที่วัดอโศการามอีก ขณะนั้นโยมคิ้มได้ส่งคนไปที่ถ้ำผาจรุย เพื่อให้นิมนต์ข้าพเจ้าให้กลับมาที่วัดสันติธรรม เพราะหลวงปู่สิมท่านได้ลงไปที่วัดอโศการามแล้ว ข้าพเจ้าก็ต้องมาพร้อมกับโยมที่มานิมนต์ ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ นั้นเอง เมื่อมาถึงข้าพเจ้าเห็นสภาพของวัด กุฏิ ศาลา ล้วนแต่ทรุดโรมหมด พระเณรก็ไม่เรียบร้อย ก็มีอยู่ ๒-๓ รูปเท่านั้น ญาติโยมผู้อุปถัมภ์ก็หมดศรัทธาและน้อยคนที่จะอุปถัมภ์ ข้าพเจ้าตั้งปณิธานว่า เราพัฒนาวัด พัฒนาญาติโยม และพัฒนาพระภิกษุ-สามเณร ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ หลวงปู่สิม เกิดป่วยเป็นโรคไต ท่านจึงมีจดหมายขอลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ต่อเจ้าคณะอำเภอ จึงเป็นเหตุให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ทางเจ้าคณะอำเภอจึงได้แต่งตั้งให้ข้าพเจ้าเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ในปี พ.ศ.๒๕๑๐
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรม ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสันติธรรมแล้ว มีความดำริว่า เราจะตองจัดการสร้างอุโบสถที่หลวงปู่สิมสร้างค้างไว้ยังไม่เสร็จ ทำให้สำเร็จให้ได้ ข้าพเจ้าจึงเข้าที่สงบจิต ทำจิตให้เป็นหนึ่งแล้วอธิษฐานว่าข้าพเจ้าจะช่วยสร้างอุโบสถนี้ให้สำเร็จภายใน ๓ ปี วันต่อมาข้าพเจ้าจึงได้เดินทางไปหาหลวงปู่สิมที่วัดผาปล่อง อำเภอเชียงดาว พบท่านที่ถ้ำ กราบท่านแล้ว กราบเรียนว่า หลวงปู่ อุโบสถที่วัดสันติธรรมนั้นกระผมขออนุญาต จากหลวงปู่ ขอให้กระผมจัดการทำการก่อสร้างเถอะ เมื่อหลวงปู่ได้ฟังดังนั้น จึงออกปากอนุญาตว่าเอาเลย จึงรับปากกับท่านว่า กระผมจะกระทำการก่อสร้างให้เสร็จภายใน ๓ ปี จากนั้นจึงกลับมาที่วัดสันติธรรม บอกกับโยมคิ้มว่าอุโบสถนั้นอาตมาขออนุญาตจากหลวงปู่สิมแล้วว่าจะขอทำการก่อสร้างเอง ท่านก็อนุญาตแล้ว ปรากฏว่ามีนายช่างคนหนึ่ง ชื่อนายช่างสมเกียรติ เป็นผู้มีความคุ้นเคยกับโยมคิ้มเป็นอย่างดี ขอให้แกมาช่วยเหลือ ในการทำการก่อสร้างแกก็มาช่วยคำนวณในการก่อสร้างคิดค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงาน ปรากฏว่า การก่อสร้างอุโบสถได้สำเร็จตามกำหนด ๓ ปี ดังที่ข้าพเจ้าได้อธิษฐานไว้จึงได้ทำการผูกพัทธสีมา และฉลองอุโบสถเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ สิ้นทุนในการก่อสร้างประมาณ ๘ แสน ๔ หมื่นบาท เมื่อผูกพัทธสีมาอุโบสถเรียบร้อยแล้ว จึงได้ริเริ่มสร้างกุฏิที่อยู่อาศัยของพระภิกษุ-สามเณร ปรากฏว่าการก่อสร้างกุฏิทำได้รวดเร็วเพราะมีเจ้าศรัทธาบริจาคเงินให้ก่อสร้าง เป็นเจ้าของแต่ละหลัง ๆ เพียง ๒-๓ ปี เท่านั้นก็ได้กุฏิ ๒๐ กว่าหลัง จึงเป็นทางให้พระ-เณรได้อยู่มาตามอัตภาพ
ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นว่า พระ-เณรไม่มีความสามารถ ในการแนะนำคณะศรัทธาญาติโยมเลย เป็นพระภิกษุ อยู่วัดป่าเจริญภาวนาเป็นปี ๆ ญาติโยมไปขอให้แสดงธรรมให้ฟังก็แสดงไม่เป็น ทั้ง ๆ ที่มีพรรษาเป็นสิบ ๆ แล้ว ที่เป็นเช่นนั้นข้าพเจ้าพิจารณาเห็นว่า เพราะขาดการศึกษาพระปริยัติธรรม ข้าพเจ้าตั้งใจว่า จะช่วยให้พระ-เณรได้ศึกษาพระปริยัติธรรม จึงสอนนักธรรม ตรี,โท,เอก และบาลีโดยลำดับ ข้าพเจ้าใช้เวลาประมาณ ๗ ปี สอนให้พระ-เณรเรียนนักธรรม ตรี,โท,เอก และบาลี พระ-เณรได้เรียนสำเร็จได้นักธรรม ตรี,โท,เอก และมหาเปรียญหลายองค์ ภาคปฏิบัติข้าพเจ้านำพระเณรไหว้พระสวดมนต์ ทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้า ส่วนญาติโยมนั้นแนะนำให้ญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาทุกวันประจำ ข้าพเจ้าขอจบประวัติความเป็นมาของข้าพเจ้าไว้เพียงเท่านี้
ปัจจุบัน พระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงปู่มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต) มรณภาพเมื่อ วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๗ สิริรวมอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๖
ธรรมโอวาทพระนพีสีพิศาลคุณ (หลวงปู่มหาทองอินทร์ กุสลจิตฺโต)
คาถามหานิยม
“”…ในเวลาทั่วไปเราต้องฝึกหัดจิต เพื่อให้ได้ผลเร็วขึ้น คือเราต้องตั้งใจ ในขณะที่เราออกจากภาวนาแล้ว ก็ให้สมมติว่า เราพบหน้าใคร แล้วจะนึกว่า นึกในใจทันที คุณจงมีความสุข ความเจริญ อย่ามีภัยน่ะ ให้นึกอย่างนั้นทุกครั้งไป เจอหน้าใคร ก็ตามเหอะ ให้นึกอย่างนั้น อันนี้แหละคือ มหานิยม…”