ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม
วัดพิชัยพัฒนาราม (วัดเขาน้อยสามผาน)
อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม พระอริยสงฆ์ผู้เป็นนักรบแห่งกองทัพธรรม ผู้มีเมตตาธรรมและพลังจิตอันแกล้วกล้าแห่งวัดพิชัยพัฒนาราม (เขาน้อยสามผาน) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ท่านเป็นศิษย์ของท่านพ่อลี ธัมมธโร และ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีศีลาจาริยวัตรรูปหนึ่ง หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ฟัก ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ท่านฟักเป็นผู้ที่มีนิสัยเรียบร้อย รักและเทิดทูนพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวเป็นที่สุด ท่านไม่เคยโดนดุ คงเคยสร้างบารมีมาด้วยกัน อาจจะเป็นลูกท่านมาก่อน”
หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ท่านเป็นชาวจังหวัดจันทบุรีโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๘ โยมบิดาของท่านชื่อ คุณพ่อสังข์ และโยมมารดาของท่านชื่อ คุณแม่เจน นามสกุล พูลกสิ เล่ากันว่าในสมัยเด็ก ๆ ด้วยความที่ท่านอ้วนขาว เหมือนลูกฟัก ท่านเลยถูกเรียกว่า “ฟัก” แต่พ่อแม่จะเรียนท่านว่า “หนู”
ในวัยเยาว์เด็กชายฟักได้ชื่อว่าเป็นเด็กเรียบร้อย มีความฉลาดและความจำเป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้ผลการเรียนของเด็กชายฟักจึงเป็นการสอบได้ที่หนึ่งมาตลอด โดยเฉพาะกับความสามารถในวิชาคณิตศาสตร์ที่ค่อนข้างสูง ทำให้เด็กชายฟักต้องรับบทบาทคำนวณราคาและคำนวณพื้นที่เสมอ ๆ เวลาที่มีการซื้อขายที่ดินครับ
มีเรื่องเล่าถึงความมีปัญญาของเด็กชายฟักโดยกำนันเวกซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นน้องว่า เด็กชายฟักชอบชวนเด็กชายเวกไปเก็บผลไม้บนเขาน้อย ซึ่งในขณะนั้นเขาน้อยยังเป็นที่รกร้างและมีผลไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมากมายหลายชนิด
ครั้งหนึ่งเด็กชายฟักได้ชวนเด็กชายเวกไปเก็บ “ลูกคุย” ซึ่งเป็นผลไม้ลูกกลม ๆ โต ๆ ขนาดผลหมาก ด้วยความที่เด็กชายเวก มีอายุที่อ่อนกว่าทำให้ต้องยอมและรับฟังเด็กชายฟักทุกเรื่อง
ก่อนขึ้น “ต้นคุย” ทั้งสองคนได้มีการตกลงว่า ผลลูกคุยที่เป็นช่อ ๆ เป็นของเด็กชายเวก ส่วนผลลูกคุยที่ร่วง ๆ เป็นของเด็กชายฟัก กำนันเวกเล่าว่าตอนนั้นฟังแล้วดูเหมือนออกแนวพี่ใหญ่เสียสละให้น้องเล็ก แต่พอขึ้นไปเก็บจนเสร็จและนำมาแบ่งกัน พี่ฟักกลับเป็นผู้ที่ได้ผลลูกคุยเยอะมาก ส่วนน้องเวกได้ผลลูกคุยติดมือกลับบ้านไปเพียงไม่กี่ช่อ
ต่อมากำนันเวกได้พิจารณาย้อนหลังจึงเป็นอันได้ความว่า ต้นคุยต้นนี้เป็นต้นที่สูงใหญ่มากเมื่อขึ้นไปเด็ดจะต้องโยนผลกลับลงมา พวกช่อที่ถูกเด็ดออกมาจะต้องระกิ่งไม้ลงมาเรื่อย ๆ และกว่าช่อที่ถูกเด็ดจะถึงพื้นดิน ผลลูกคุยก็ร่วงจากช่อจนเกือบหมดแล้ว
ว่ากันว่าหากพูดเรื่องนี้ให้หลวงปู่ฟังเมื่อไร ท่านจะหัวเราะจนหน้าแดงเสมอ ๆ พร้อมกับบอกว่า
“จำได้ๆ”
หลวงปู่ฟัก อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๐ ณ วัดอโศการาม ในงานวันฉลองกึ่งพุทธกาล ความตั้งใจของท่านในครั้งแรกคือต้องการบวชแค่ ๗ วัน
ท่านเล่าว่าแค่บวชวัดแรกก็คิดอยากจะสึกเสียแล้ว เนื่องจากในวันดังกล่าวมีคนเข้ามาบวชจำนวนมากหลายร้อยคนทำให้เกิดความสับสนและบาตรของท่านที่ได้รับจากพระอุปัชฌาย์ได้อันตรธานสูญหายไป
เรื่องสะเทือนใจดังกล่าวทำให้ท่านคิดมากจนเกิดเป็นความทุกข์ ท่านว่าถ้าจะดวงไม่ดีเพราะแค่วันแรกที่บวชก็ต้องใช้กะละมังเป็นภาชนะรับอาหารแทนบาตรเสียแล้ว
“ถ้าท่านหนูสึก ผมเสียใจ”
คำตัดพ้อของโยมพ่อทำให้พระใหม่ที่คิดจะสึก ต้องกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง
ท่านว่าหลังจากที่ได้ยินน้ำเสียงของโยมพ่อที่พูดออกมา ทำให้ท่านหวนคิดถึงพระคุณและความปรารถนาดีของผู้ที่เป็นพ่อแม่ที่มีต่อบุตร ท่านจึงได้เลิกความคิดที่จะสึกและเพื่อเป็นการขจัดเงาดำ ความวิตกต่างๆ ที่ยังคงเคลือบจิตใจ โยมพ่อของท่านจึงได้พาท่านไปกราบหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
“แค่บาตรบริขารหาย สามารถซื้อหาใหม่ได้ แต่การที่พระจะสึก อะไรสำคัญกว่ากัน บาตรหายก็ให้คิดเสียว่าทำทานบารมีเพิ่ม”
คำเทศนาของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ในวันที่พระภิกษุฟักไปกราบขอเป็นศิษย์ อุปมาดั่งเครื่องเจียระไนชั้นดีที่ขัดเกลาพลอยเนื้อดีแห่งเมืองจันทบุรีเม็ดนี้ให้สุกสกาว
ท่านว่าหลังจากฟังคำเทศนาของหลวงตาในวันนั้นแล้ว ท่านก็ไม่มีความคิดที่จะสึกอีกเลย..
ต่อมาเมื่อสิ้นบุญท่านพ่อลี ธัมมธโร หลวงปู่ฟักท่านจึงได้ไปจำพรรษาอยู่กับ หลวงตามหาบัว ณ วัดป่าบ้านตาด ก่อนที่ท่านจะเดินทางมาถึงวัดป่าบ้านตาดไม่กี่วัน หลวงตามหาบัวได้สอบถามคุณแม่ชีน้อมว่า
“เมื่อคืนฝันอะไร”
“ฝันว่าได้ครกตำบักหุ่งจากจันทบุรี ผิวนอกขรุขระแต่ผิวในเนียนเรียบ” คุณแม่ชีน้อมกราบเรียน
“เลี้ยงพระได้ทั้งวัดบ่”
“เลี้ยงได้ทั่วอยู่”
“ได้เบิ่งข้างในไหม”
“จิตเพิ่นผ่องใสดี”
ความผ่องใสของจิตที่เปล่งประกายออกมาให้เห็นทางอุปนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตน ใช้ชีวิตเรียบง่าย กตัญญูและมีน้ำใจต่อหมู่คณะ ทำให้ท่านได้รับความเมตตาและความไว้วางใจจากหลวงตามหาบัวให้เป็นพระอุปฐากคอยดูแล รวมไปถึงการได้รับมอบหมายภาระหลายอย่างให้ปฏิบัติแทนท่าน
หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ จังหวัดอุดรธานี ศิษย์อาวุโสองค์หนึ่งของหลวงตามหาบัว ซึ่งเคยร่วมจำพรรษากับหลวงปู่ฟัก ได้เล่าไว้ว่า
“ท่านอาจารย์ฟักเข้ามาที่วัดป่าบ้านตาดตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ พร้อมกับท่านอาจารย์เจี๊ยะ จุนฺโท แต่ท่านอาจารย์ฟักสนิทกับท่านอาจารย์แสวงมากที่สุด ระหว่างที่อยู่บ้านตาด ท่านเป็นคนมีฝีมือทางช่างมาก ฝีมือแนบเนียน จึงได้รับผิดชอบงานสร้างกุฏิ โรงครัวและรั้ววัด
ท่านเป็นผู้ที่มีนิสัยเรียบร้อย รักและเทิดทูนพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัวเป็นที่สุด ท่านไม่เคยโดนดุ คงเคยสร้างบารมีมาด้วยกัน อาจจะเป็นลูกท่านมาก่อน”
ว่ากันว่าการเดินทางของความจริงใจที่ผ่านการพิสูจน์มาอย่างยาวนาน ย่อมมีคุณค่ามากกว่าคำพูดหรือการกระทำอันใด อย่างเช่นกรณีของหลวงปู่ฟักที่มีต่อพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตามหาบัว
ในบันทึกประวัติของหลวงปู่ฟักได้บอกเล่าเหตุการณ์หลายอย่างที่เกี่ยวกับความเข้าใจกัน การอยู่ร่วมกัน การเสียสละและการให้อภัยของอาจารย์และลูกศิษย์ครับ
ครั้งหนึ่งมีการซ่อมศาลาโรงฉันของแม่ขาวที่วัดป่าบ้านตาด หลวงตามหาบัวท่านสั่งให้ตอกตะปูได้เลยและได้มีการตอกตะปูลงไปบางส่วนแล้ว พอดีจังหวะที่หลวงปู่ฟักท่านเห็นว่ายังไม่ได้ฉาก ด้วยความที่เห็นแก่งานเป็นใหญ่ ต้องการให้งานนั้นออกมาดีและสวยงามที่สุด ท่านเลยห้ามไม่ให้ตอก ซึ่งการห้ามดังกล่าวถือว่าเป็นการขัดคำสั่งของพ่อแม่ครูอาจารย์
ภายหลังเมื่อหลวงปู่ฟักท่านได้กลับมาพิจารณาอีกครั้ง ท่านก็รู้สึกเสียใจที่ทำเช่นนั้น ตกกลางคืนท่านจึงได้เข้าไปขอขมาหลวงตา ด้วยว่าท่านขาดความเคารพ ต่อมาในวันประชุมสงฆ์หลวงปู่ฟักท่านคิดว่าหลวงตามหาบัวท่านคงจะยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในเชิงตำหนิอย่างแน่นอน แต่กลับปรากฏว่าท่านมิได้ถูกตำหนิเพราะหลวงตาได้พูดขึ้นว่า…
“ท่านฟักนี่เราก็เห็นใจ ทำอะไรก็ไม่ให้ผิดแม้สักเซ็นต์เดียว ให้พึงรักษาปฏิปทานี้ไว้ พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นท่านชมนักคนแบบนี้”
จะว่าไปแล้วคำพูดของหลวงตามหาบัวเป็นเหมือนการสะท้อนให้เราเห็นถึงคุณสมบัติของความเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีออกไปให้เกิดประโยชน์แก่ผู้คน เพราะการถ่ายทอดความรู้สึกอย่างจริงใจด้วยความรัก ความเมตตา เพียงเพื่อหวังให้ผู้ที่ได้รับพ้นจากความทุกข์และเกิดความสงบขึ้นในจิตใจ คือจาคะอันยิ่งใหญ่ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้
หลังจากที่หลวงปู่ฟักใช้ชีวิตการเป็นพระในวัดป่าบ้านตาดมานานหลายปี ท่านก็มีเหตุต้องอำลาจากวัดป่าบ้านตาดกลับมายังบ้านเกิดของท่านคือจันทบุรี เพื่อคอยอยู่ดูแลโยมพ่อโยมแม่ของท่านที่อายุมากและมีสุขภาพไม่แข็งแรง
“ท่านฟักพอจะตั้งไข่ได้แล้ว แต่ทางจันทบุรียังไม่มีใคร ให้กลับมาพัฒนา”
ซึ่งหากเรานับนิ้วจำนวนปีที่หลวงปู่ฟักได้ใช้ชีวิตอยู่ในวัดป่าบ้านตาดบวกเข้ากับความอาลัยของพระสงฆ์ในวัดป่าบ้านตาดทุกองค์ที่มีให้ท่าน คงจะบอกได้ว่าการออกจากวัดป่าบ้านตาดครั้งนี้ ย่อมนำมาซึ่งความเศร้าและเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากแต่อีกนัยหนึ่งนั้นก็เป็นการย้ำเตือนถึงสัจธรรมความจริงที่ว่าไม่มีอะไรที่จีรังนอกจากความดีของคนต่างหากที่เป็นนิรันดร์ครับ
ท่านเล่าว่าในช่วงแรกที่กลับมาอยู่สำนักสงฆ์เขาน้อยสามผาน สิ่งที่มีมากที่สุดคือความอัตคัตขัดสน เพราะคนที่มาทำบุญก็มีแต่เฉพาะญาติพี่น้องเท่านั้น กุฏิสงฆ์เป็นเพียงกระต๊อบเล็กๆ หลังคามุงจาก พื้นกุฏิเป็นไม้ฝาโลงที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า
“ตอนนั้นลำบากมาก ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยหลับตาแล้วภาวนาพุทโธอย่างเดียวไปเรื่อยๆ ในที่สุดอะไรๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ”
ไม่ว่าความลำบากจะถาโถมเข้ามาอย่างมากมายขนาดไหนก็ตาม แต่ความเป็นนักสู้ผู้ไม่ยอมสะกดคำว่าแพ้ต่อความทุกข์ยากรวมไปถึงการไม่ยอมละทิ้งในเรื่องของการปฏิบัติภาวนาอันเป็นหัวใจของพระกรรมฐาน ทำให้ในที่สุดท่านก็สามารถปลูกต้นศรัทธาให้เจริญงอกงามลงในหัวใจของชาวบ้านได้สำเร็จ
สำนักสงฆ์เขาน้อยสามผานได้รับการยกฐานะเป็น “วัดพิชัยพัฒนาราม” ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ตรงตามที่ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม เคยพยากรณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙ ว่า…
“สถานที่ตรงนี้ต่อไปจะกลายเป็นวัดและจะมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้นด้วย”
ไม่เพียงแต่พัฒนาวัดให้มีความสมบูรณ์และเหมาะสมเท่านั้น ในทางโลกหลวงปู่ยังสนใจในเรื่องของการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนถึงเรื่องอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น การสร้างโรงพยาบาลสองพี่น้อง บริจาคเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน ตลอดจนร่วมน้อมถวายเงิน และทองคำในโครงการผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน นอกจากนี้ท่านยังได้พิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วพบว่า…
“ความทุกข์เกิดจากความไม่รู้จักพอ ความไม่รู้จักพอเป็นบ่อเกิดของการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน”
ท่านว่ามนุษย์รุกรานธรรมชาติด้วยสารเคมี ธรรมชาติจึงลงโทษมนุษย์ด้วยการให้ที่พักพิงแก่เชื้อโรคร้าย
ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้ตกลงใจว่า ท่านจะสงเคราะห์โลกด้วยการรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้แก่คนทั่วไปและเป็นตัวแทนคืนความเป็นธรรมให้แก่ธรรมชาติ
“คนเราต้องทำมาหากินโดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ชาวไร่ชาวนาใช้ยาฆ่าแมลงก็ไม่รู้ว่าจะมีสัตว์กี่มากน้อยที่ต้องตายตกตามไป สัตว์ก็รักชีวิตมีชีวิตเหมือนเรา
ภพชาตินี้เราเป็นมนุษย์ก็จริง แต่ถ้าทำไม่ดี ภพชาติหน้าอาจจะตกต่ำลงไปกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราทำดี อย่างต่ำก็น่าจะเกิดเป็นมนุษย์ แต่ถ้าเราไปทำร้ายคนอื่น อนาคตเราอาจจะถูกเขาทำร้ายตอบก็ได้ ทุกอย่างมีสิทธิ์เป็นไปได้”
หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม ละสังขารลงด้วยอาการสงบเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๔๕ น. ณ โรงพยาบาลธนบุรี กรุงเทพฯ สิริอายุ ๗๔ ปี ๑๐ เดือน พรรษา ๕๒
โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม
“..สมบัติค้างโลก ทำไมทำได้ทั้งวันทั้งคืน สมบัติที่ติดตัวไป แค่สองชั่วโมง ทำไมทำไม่ได้..”
“..พวกเราไม่เคารพไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เป็นการไม่รักตัวเองที่ชอบด้วยธรรม แต่เป็นการรักในกิเลสตัณหาโลภะอย่างไม่มีขอบเขต จึงทำลายตนเองและส่วนรวมอย่างสิ้นเชิง..”
“..อดีตผ่านมาแล้ว
ไม่สามารถแก้ไขได้
เริ่มต้นกันใหม่ที่ปัจจุบัน
ให้ถูกต้องและสมบูรณ์
อนาคตคือวันข้างหน้า
ถ้าต้นถูก ปลายมันก็จะถูก..”
“..ให้หมั่นสวดคาถาท่านพ่อลี
“…อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะมามิหัง…”
เอาสัก ๓ รอบหรือ ๕ รอบ ถ้าเวลาไม่พอเอารอบเดียวเป็นนิจศีลนะ
แล้วจึงนั่งสมาธิ ๕ นาทีหรือกว่านั้น แล้วแต่เวลา แล้วแผ่บุญตามแบบแล้วจึงค่อยนอนนะ ความเป็นมงคลกลับมาหาเราหมด ความดีนี้กลับมาหาเราหมด ไปที่ไหนมีแต่ความสุข..”
ที่มา:ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ :ท่องถิ่นธรรม พระกรรมฐาน