ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี
วัดเทพธารทอง
อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
หลวงปู่พิศดู ธมมจารี ถือกำเนิดเมื่อปีกุน ในวันเสาร์ที่ ๗ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๖๖ ที่เกาะกง ต.กะปอ อ.กะปอด ประเทศเขมร
โยมบิดาของท่านมีนามว่า หลี่ โยมมารดามีนามว่า เพี้ยะ เป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในประเทศเขมร มีอาชีพจารหนังสือขาย ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ ด.ช.พิศดู สิงหพันธ์ หรือ ด.ช.โบ๊ะ (นามของท่านเมื่อครั้นยังเป็นเด็ก) มีนิสัยรักการอ่านเขียน มีความชำนาญในการอ่าน และเขียนภาษาขอม-ไทย ตั้งแต่เล็ก ๆ
ด.ช.โบ๊ะ มีลักษณะนิสัยเหมือนเด็กชายทั่ว ๆ ไป มักซุกชนเที่ยวเล่นไปทั่วทั้งบนบก และในน้ำ ชอบเล่นน้ำจนเกือบเสียชีวิตเสียหลายหน แต่ก็ยังโชคดีที่มีชาวบ้านมาช่วยไว้ทัน มีอยู่คราวหนึ่งขณะที่เป็นหัวโจกพาเพื่อนอีกสองคนเดินเล่นอยู่ จู่ ๆ มะพร้าวก็หล่นลงมาโดนหัว ด.ชโบ๊ะที่เดินอยู่ตรงกลางพอดี ทำให้มึนงงไปพักใหญ่ แต่ก็โชคดีที่ไม่เป็นอะไร (หลวงปู่)บอกว่ามีผลทำให้ท่านมีความจำไม่ดีมาจนทุกวันนี้) นอกจากนี้แล้วยังมีนิสัยชอบไปวัดชอบอยู่วัด และจากการที่เป็นคนรักการอ่าน และการเขียน ทำให้ ด.ช. โบ๊ะ ชอบช่วยเหลือวัด จะชอบตีฆ้องร้องป่าวประกาศข่าวของวัดให้ชาวบ้านทราบเสมอ ๆ
ครั้นอายุได้ประมาณ ๗-๘ ปี พอรู้ความ โยมพ่อ และโยมแม่ ได้ส่งมาอยู่วัดเพื่อให้ท่านได้ศึกษาเล่าเรียน ท่านก็ได้เรียนสวดมนต์ เขียนอ่านหนังสือกับท่านอาจารย์ลี (นามท่านเช่นเดียวกันกับท่านพ่อลี วัดอโศการาม แต่เป็นคนละองค์กัน) และพระที่วัด ที่ทำหน้าที่สอนก็ดุมาก หากไม่ตั้งใจเรียน หรือตอบข้อถามต่าง ๆ ได้ไม่ถูกใจก็จะใช้หวายตี ซึ่งเจ็บมาก แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อแต่อย่างไร หากยังพากเพียรเรียนมาจนได้วิชาทั้งทางด้านการสวดมนต์ การปฏิบัติภาวนา วิปัสสนากัมมัฏฐานเบื้องต้น มีความรู้ความชำนาญ จนในบางครั้ง หากพระที่สอนไม่สามารถมาสอนได้ ในวันนั้น ท่านก็จะเป็นผู้ทำการสอนเด็กคนอื่น ๆ แทน
◎ บรรพชา
ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ ขณะนั้นท่านอายุได้ประมาณ ๑๔ ปี เป็นช่วงเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามอินโดจีน ซึ่งโยมพ่อ และโยมแม่ได้เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านก็ได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดเกาะปอคงคาราม โดยมีพระครูบัวตูมรัตนสาคร เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นเณรได้เพียง ๑ ปี ก็ต้องอพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่เมืองไทย โดยหนีมาทางน้ำ แจวเรือมากับหลาน และน้องชาย รวมทั้งพระสงฆ์รูปอื่น ๆ หลบหนีออกมา เมื่อมาถึงเมืองไทยได้แวะพักอยู่ที่เขาวงก่อน ต่อมาจึงได้มาอยู่ที่วัดคลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
ขณะที่อยู่ที่วัดคลองใหญ่นี่เอง ท่านได้เริ่มเรียน เวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ เช่น คาถาโคมแก้ว คาถาเจริญคุณ และวิชาอาคมต่างๆด้วย รวมถึงวัตรปฏิบัติ เบ็ดเตล็ดต่างๆ โดยมีพระครูบัวตูมรัตนสาคร เป็นผู้ถ่ายทอดให้วันละคำสองคำ ท่านก็ได้ จดจำร่ำเรียนมา และเนื่องจากการที่ท่านมีนิสัยรักการอ่านเขียน มีความจำแม่น ท่องเก่งมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังอาศัยอยู่กับโยมพ่อและโยมแม่ รวมทั้งการที่ท่านได้อาศัยอยู่วัดตั้งแต่เล็ก ทำให้ท่านมีความชำนาญ เชี่ยวชาญในความรู้ต่าง ๆ ท่านอาศัยอยู่ที่วัดคลองใหญ่ได้ประมาณ ๓ เดือน ก็เริ่มออกธุดงค์
ธุดงค์ครั้งแรกมาทางป่า แถบเทือกเขาบรรทัด จ.ตราด ขณะที่ท่านเดินธุดงค์อยู่บริเวณ แหลมตะก้อ จ.ตราด ได้เดินผ่านบ้านที่กำลังนวดข้าว ท่านก็แวะพักในบริเวณนั้น ได้หลับ และฝันไปว่ามียักษ์ได้แปลงร่างเป็นพญานกแร้งปากแหลม ตัวใหญ่เข้ามาจะทำร้าย ก็ได้ต่อสู้ตีกันเป็นพัลวัน และท่านได้อธิษฐานจิตว่า “แม้ว่าข้าพเจ้าจะได้อยู่รับใช้ในบวรพระพุทธศานาตลอดไป ก็ขอให้ได้ชัยชนะแก่พญานกนี้เทอญ” ในที่สุดท่านก็ได้รับชัยชนะ และจากนิมิตนี้เอง ทำให้ท่านมีความมั่นใจว่า ท่านสามารถอยู่ในร่มกาสาวพัตร แห่งพระบรมศาสดาได้ตลอดไป เพราะสามารถต่อสู้กับอธรรม และกิเลสดั่งเช่นพญานกแร้งได้ดังจิตอธิษฐาน
ท่านออกเดินธุดงค์อยู่องค์เดียวเรื่อยมาจนถึงชายเขา ก็ได้มาเจอพระสายธรรมยุติของวัดคีรีวิหาร หลวงปู่ได้เห็นวัตรปฏิบัติของพระวัดนี้แปลกออกไปจากที่หลวงปู่ปฏิบัติอยู่ ก็ทำให้นึกขำ หัวเราะกับวัตรแปลก ๆ ของพระเหล่านี้ แต่ในที่สุดท่านก็ได้ขอบวชเป็นธรรมยุติ (อาจจะเป็นบุญบารมีของหลวงปู่ที่ได้มาพบวัดนี้ เพราะมีผลทำให้หลวงปู่ได้มาเป็นพระสายธรรมยุติจนถึงปัจจุบันนี้)
◎ อุปสมบท
เมื่อท่านมีอายุได้ ๒๑ ปี ประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๗ ขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่ที่วัดเขาแก้ว ท่านเจ้าคุณวินัยบัณฑิต เจ้าคณะจังหวัดตราด ก็ได้ทำหนังสือส่งตัวฝากมายังหลวงพ่อลี ธัมมธโร (ท่านพ่อลี วัดอโศการาม ซึ่งขณะนั้นท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี) พร้อมกับเณรอีก ๒ รูป ท่านพ่อลีก็จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทสีมาวัดจันทนาราม ต.จันทนิมิตร อ.เมือง จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๑๕.๑๕ น. โดยมีพระอมรโมลี เป็นพระอุปปัชฌาย์ และมีท่านพ่อลี ธมฺมธโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ได้รับฉายาว่า ธมฺมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติธรรม
หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าคลองกุ้ง อ.เมือง จ.จันทบุรี และอยู่ปรนบัติรับใช้ ศึกษาพระธรรมวินัยกับท่านพ่อลี ยอดขุนพลแห่งกองทัพธรรมสายป่า ท่านพ่อลีเห็นแววว่า “ พระภิกษุพิศดูรูปนี้ ต่อไปจะได้บวชยาว และจะได้ดีในวันข้างหน้า “ จึงรับไว้ในการดูแลและให้ช่วยงานอยู่วัดป่าคลองกุ้ง
ขณะที่ได้อยู่จำพรรษาที่วัดป่าคลองกุ้ง และได้ดูแลอุปัฏฐากรับใช้ท่านพ่อลีด้วยดี ก็ได้ศึกษานักธรรมบาลี จนสอบได้นักธรรมชั้นโท หลวงปู่พิศดูท่านเป็นคนที่มีปัญญา และความจำเป็นเลิศมาก ไม่ว่าจะเรียนรู้อะไรก็สามารถสำเร็จและเจนจบได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่การท่องจำบทพระปาฏิโมกข์ก็สามารถท่องจำได้จบภายใน ๑๕ วัน โดยที่ไม่ต้องเปิดทวนตำราเลย จากนั้นจึงเข้าสู่เส้นทางศึกษาการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โดยรับเอาพระกัมมัฏฐานการปฏิบัติภาวนา พุทโธ ตามแบบสายพระป่าอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทัตโต
หลวงปู่ท่านเคยเล่าว่า ในช่วงที่เริ่มเรียนกัมมัฏฐานกับท่านพ่อลี ก็ได้เดินจิตตามคำสอน ท่านก็ทำตามได้ไม่นานจิตก็รวมลงเข้าสู่ฐานของอัปปนาสมาธิได้อย่างรวดเร็ว บังเกิดความสว่างไสวขึ้นมาอย่างน่าประหลาดใจเป็นที่สุด จากนั้นท่านก็เอาดีแต่ทางปฏิบัติเพียงอย่างเดียว และได้เที่ยวเดินตามธุดงค์ไปกับท่านพ่อลีและคณะ ไปกันทั่ว ทั้งบุกป่าฝ่าดงไปตามป่าเขาลำเนาไพร จนถึงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อการขัดเกลากิเลส และได้พจญภัยมาทุกรูปแบบ หลวงปู่พิศดูท่านเป็นพระที่ท่านพ่อลีไว้ใจ และโปรดปรานมากเป็นพิเศษ ถึงกับขนาดบอกและฝากฝังกับลูกศิษย์ต่างๆเอาไว้เลยว่า..
“ ต่อไปภายหน้าถ้าเกิดเรา (ท่านพ่อลี) ไม่อยู่แล้ว ให้พวกเธอไปหาท่านพิศดูแทน ต่อไปท่านพิศดูท่านจะแทนเราได้..”
พรรษาที่ ๑๐ ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๙๗
หลวงปู่พิศดูก็ได้ตัดสินใจออกธุดงค์เพียงรูปเดียว ธุดงค์ไปจนถึงแถบภาคเหนือ เพราะได้มีเสียงเล่าลือกันว่าที่ภาคเหนือนั้นมีของดี เป็นสถานที่ๆพระนักปฏิบัติรุ่นเก่าๆ ชอบไปภาวนากัน ด้วยความอยากรู้ท่านจึงอยากจะพิสูจน์ด้วยตนเอง ในระหว่างการเดินทางอยู่มีอยู่วันหนึ่งในช่วงเวลาบ่ายท่านได้พักนั่งผ่อนจนหลับไป ท่านพ่อลีได้มาเข้าฝันว่า ที่เชียงใหม่อันตราย จะไม่ให้ไป แต่ด้วยความตั้งใจที่ท่านอยากจะไปพิสูจน์ของดี และหาประสบการณ์ในการปฏิบัติ ทำให้ท่านต้องเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึง จ.เชียงใหม่ โดยปีนั้นได้จำพรรษา ณ วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และได้มีโอกาสเข้ากราบครูบาอาจารย์รุ่นใหญ่หลายองค์ อาทิ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม เป็นต้น..
และที่เชียงใหม่นี่เองที่ทำให้ท่านเกือบเอาชีวิตไม่รอดตามความฝัน เพราะต้องผจญกับแม่เสือสาวสวย เป็นสาวชาวไทลื้อ เป็นชาวบ้านแถบนั้น มีรูปร่างหน้าตาสะสวย พร้อมทั้งเป็นคนใจบุญ รวยศีล รวยธรรม รวยน้ำใจมาก เธอผู้นั้นมีนามว่า แสงจันทร์ ซึ่งแม่หญิงแสงจันทร์ผู้นี้ หลวงปู่ยอมรับว่ามีอิทธิพลมากต่อจิตใจของท่าน เหมือนชะตาพาให้ต้องตาต้องใจกัน จนเก็บมาครุ่นคิดพิสมัย หลับตาข่มใจภาวนาก็พลันเห็นแต่ภาพของแม่หญิงแสงจันทร์ผุดขึ้นมาทุกคราไป ในตอนนั้นท่านต้องรวบรวมกำลังใช้วิปัสสนาธรรมเป็นอาวุธ เพื่อข่มนิวรณ์อย่างหนัก จนได้ใช้การพิจารณาอสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ จนกระทั่งเห็นแจ้งตามความเป็นจริง กล่าวคือ หลวงปู่ท่านได้จับเอาภาพของแม่หญิงแสงจันทร์ขึ้นมาพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวย ไม่งาม เป็นสิ่งปฏิกูลไม่น่ายินดี เมื่อถึงที่สุดแล้วเกิดนิมิต ภาพแม่หญิงสาวสวยได้แก่ชรา เนื้อหนังเหี่ยวย่นหมดความสวย ตายลง เกิดความเปลี่ยนแปลงเน่าเหม็น มีหมู่หนอนชอนไช ซากถูกสัตว์กัดกินกระจัดกระจาย จนเหลือแต่โครงกระดูก สุดท้ายย่อยสลายเป็นผงธุลีคืนสู่ธาตุดินไปตามลำดับ หลวงปู่จึงได้ดวงตาเห็นธรรมแจ้งประจักษ์ใจ และมีจิตใจมั่นคงต่อคำสอนของพระบรมศาสดา และตัดสินใจจะบวชยาวไม่ขอสึกหาลาเพศเป็นแน่แท้..
หลวงปู่อยู่จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงจนถึงช่วงออกพรรษา ก็ออกเดินธุดงค์จาริกไปเรื่อยๆ ตามป่าตามดอย พจญภัยในสิ่งลี้ลับ และอันตรายในป่าดง เพื่อฝึกฝนพัฒนาจิตอย่างจริงจัง จนมีความรู้ความเห็นที่เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากมายสุดที่จะกล่าว หลวงปู่ใช้เวลาอยู่ที่เชียงใหม่ได้ ๑ ปีเต็มๆ และก็ได้พบของดีอย่างที่เขาลือกันจริงๆ จึงได้ตัดสินใจเดินทางกลับมายังวัดป่าคลองกุ้งในช่วงใกล้จะเข้าพรรษา
ช่วงใกล้เข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๘ หลวงปู่เดินทางจาก จ.เชียงใหม่ กลับมาที่วัดป่าคลองกุ้ง เมื่อเข้ากราบท่านพ่อลี ท่านก็คิดว่าท่านพ่อลีคงจะตำหนิที่หนีไปธุดงค์แต่เพียงผู้เดียว แต่มิได้เป็นเช่นนั้น ท่านพ่อลีกลับชื่นชมบอกว่า “..ออกธุดงค์คนเดียวก็ดีเหมือนกัน สงบดี..”
พรรษาที่ ๑๑ ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๙๘
จำพรรษาที่วัดป่าคลองกุ้ง
พรรษาที่ ๑๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๙๙
ท่านพ่อลีมีคำสั่งให้ไปช่วยงานก่อสร้างวัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
รรษาที่ ๑๓ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๐
ท่านพ่อลีได้จัดมหกรรมงานบุญฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ อย่างยิ่งใหญ่ ที่วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยรวบรวมลูกศิษย์ทั้งหมดทั้งพระ และฆราวาสไปช่วยงานที่วัดอโศการาม ส่วนที่วัดป่าคลองกุ้งไม่มีใครอยู่ดูแลเลย ทุกคนต้องการไปร่วมงานที่วัดอโศการามกันหมด หลวงปู่พิศดูจึงต้องอาสาอยู่เฝ้ารักษาวัดป่าคลองกุ้งแทน หลวงปู่เล่าว่าในระหว่างนั้นไม่มีใครอยู่เลย วัดสงบเงียบมาก ท่านไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า ยามว่างท่านได้เดินจงกรมรอบวัด เพื่อการปฏิบัติพัฒนาจิต และเป็นยามเฝ้าวัดไปในตัว ในระหว่างนั้น มีอยู่วันหนึ่งช่วงเวลาใกล้ค่ำ ก็ได้มีผู้ลักลอบเข้ามาในวัดเพื่อจะขโมยของ พอดีหลวงปู่เดินจงกรมอยู่ได้เห็นเข้า จึงวิ่งเข้าไปเพื่อทำการขับไล่ออกไปได้ทันท่วงที ด้วยใจที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่ได้เกรงกลัวภัยอันตรายใดๆเลย
เมื่อเสร็จงานฉลองกึ่งพุทธกาล พระและลูกศิษย์ของท่านพ่อลีก็ได้เดินทางกลับมายังวัดป่าคลองกุ้งแล้ว ก็ได้ทำการไปบุกเบิกพื้นที่เพื่อสร้างวัดเขาแก้ว ต.ท่าช้าง อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี กันต่อไป ในช่วงนั้นชื่อเสียงของท่านพ่อลีโด่งดังอย่างมาก มีผู้เข้ามากราบนมัสการท่านที่วัดป่าคลองกุ้งไม่เคยขาด ทำให้ขาดความสงบวิเวก ซึ่งจริตของหลวงปู่เป็นพระที่ชอบความสงบสันโดษ ท่านจึงกราบขออนุญาตท่านพ่อลีไปจำพรรษาต่อที่วัดทรายงาม ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี
พรรษาที่ ๑๔-๑๘ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๑ – ๒๕๐๕
จำพรรษาที่วัดทรายงาม ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี
พรรษาที่ ๑๖-๑๗ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๓ – ๒๕๐๔
ได้เป็นผู้ปกครองวัดทรายงาม ในขณะนั้นวัดทรายงามไม่ค่อยมีพระจำพรรษาเนื่องจากค่อนข้างขาดแคลนเรื่องปัจจัย ๔ อันเหมาะแก่สมณบริโภค หลวงปู่จึงมาช่วยพัฒนา และช่วยในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงดีตามลำดับ
พรรษาที่ ๑๗ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๐๔
ท่านพ่อลีได้มรณภาพ ที่วัดอโศการาม ช่วงนั้นหลวงปู่อยู่ที่วัดทรายงาม ก็ได้นิมิตเห็นท่านพ่อลีมาหาแล้วบอกว่า.. “ ถึงเวลาของเราแล้ว เราต้องไปแล้ว ฝากดูแลวัดทรายงามด้วย..”
หลวงปู่ท่านจึงท่านทราบด้วยญาณวิถีทันทีว่า ท่านพ่อลีได้มรณภาพแล้ว และยังได้ฝากให้ช่วยดูแลวัดทรายงามและพระเณรในวัดต่อไปด้วย ซึ่งในช่วงระยะนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักหลวงปู่พิศดูมากนัก ท่านจึงจำเป็นต้องแสดงอิทธิวิธีด้วยอภิญญาจิตให้เห็นเป็นอัศจรรย์เพื่อเรียกศรัทธาสาธุชนให้เข้ามาทำบุญกับวัดทรายงาม เช่น เดินบิณฑบาตรกลางสายฝนจีวรไม่เปียก พาลูกศิษย์ไปชมเมืองลับแล บอกใบ้ตัวเลข ฯลฯ เป็นต้น แต่ท่านก็มิได้แสดงให้เห็นบ่อยครั้งนัก เนื่องจากจะไปส่งเสริมให้คนติดในอิทธิปาฏิหาริย์เกินไป บางครั้งหากมีเวลาว่าง หลวงปู่จะเอาตำรับตำราภาษาขอม มาแปลเป็นภาษาไทย เขียนจารเป็นบทสวด หรือคำเทศนาลงในใบลาน ผูกเข้าเล่ม แล้วเอาไปขายเพื่อนำเงินมาเป็นค่าน้ำชากาแฟของพระในวัดก็มี ต่อมามีพระเข้ามาอยู่มากขึ้น และมีครูบาอาจารย์เข้ามาช่วยพัฒนาวัดให้มีความพร้อม หลวงปู่จึงค่อยๆวางภาระลงหันมาเอาจริงกับการปฏิบัติมากขึ้น ในช่วงนี้หลวงปู่ท่านก็ได้เดินเข้าออกระหว่างวัดและป่าอยู่เสมอ พื้นที่ป่าที่หลวงปู่ชอบไปบำเพ็ญเพียรบ่อยๆนั้น ก็คือเทือกเขาสระบาป เป็นทิวเขาอันกว้างใหญ่ ครอบคลุมอยู่ในพื้นที่ ๔ อำเภอ ได้แก่ อำเภอมะขาม อำเภอเมือง อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า อันเทือกเขาสระบาปแห่งนี้ มีแดนลี้ลับที่ซ้อนภพกันอยู่ มีทั้งภูมิของชาวบังบดลับแล นาค ยักษ์ และอมนุษย์ทั้งหลาย สมัยนั้นเป็นป่าดงดิบ มีอันตรายรอบด้าน ทั้งสัตว์ร้าย ไข้ป่า ภูตผีปีศาจ และอาถรรพ์ต่างๆ แต่หลวงปู่ก็ฝ่าฟันผ่านมาได้ด้วยอำนาจแห่งเมตตาธรรม และขันติธรรม
หลวงปู่ได้มีเวลาอยู่ในที่อันเป็นสัปปายสถาน จึงไม่ปล่อยเวลาให้เสียเปล่า ช่วงนั้นท่านเร่งทำความเพียรอย่างหนักเพื่อหาหนทางแห่งการดับทุกข์ด้วยตนเอง ครั้งนั้นท่านได้ขึ้นไปปลูกเพิงพัก แขวนกลดภาวนาอยู่บนยอดเขาที่วัดทรายงาม จนทำให้ท่านต้องเป็นไข้ป่า ชาวบ้านไม่เห็นท่านลงมาบิณฑบาตหลายวัน จึงเกิดความสงสัยขึ้นไปดู ก็พบท่านนอนห่มผ้าตัวสั่นมีไข้ขึ้นสูง จึงนิมนต์ลงมารักษาตัวก่อน เมื่อรักษาตัวเพียงแค่เริ่มจะดีขึ้นเท่านั้น ท่านก็ขึ้นเขาไปเพื่อบำเพ็ญเพียรภาวนาต่อ
พรรษาที่ ๑๘ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๐๕
ท่านก็ได้บรรลุความเพียร แจ้งประจักษ์ในคุณธรรมอันสูงสุด ตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ ณ บนยอดเขาวัดทรายงาม ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี
หลวงปู่ท่านมีจริตเป็นพระปัจเจกภูมิ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติท่านมักไม่ได้ไปศึกษาความรู้จากใคร มีแต่ผึกฝนเรียนรู้และหาคำตอบด้วยตัวท่านเองเป็นหลัก
จากนั้นท่านก็ยังปลีกตัวออกธุดงค์เที่ยวหาความวิเวก และดื่มด่ำในรสอมตะธรรม หาความสงบสันโดษตามจริตวิสัยที่มีมาแต่เดิมอย่างมิรู้สิ้น และโปรดสัตว์เรื่อยไป ไม่ค่อยได้อยู่เป็นที่เป็นทาง ส่วนใหญ่ท่านชอบหาความสงบวิเวกแถวๆเทือกเขาสระบาป เทือกเขาคิชฌกูฏ เขาใหญ่ ตลอดจนป่าดงพงไพรในเมืองไทย และแถบชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านธุดงไปถึงเกาะกูด จ.ตราด และสถานที่นี้เองทำให้ท่านได้พบกับพระมหาเถระอุปคุต พระอรหันต์ผู้เลิศฤทธิ์ ผู้ปราบพญามารในสมัยพระเจ้าธรรมาโศกราช แห่งชมพูทวีป
การธุดงค์ของหวงปู่ส่วนใหญ่ท่านจะออกธุดงค์เพียงรูปเดียว จะมีบ้างในบางครั้งที่มีลูกศิษย์อาสาคอยเดินติดตามรับใช้ อาหารส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกพลไม้ป่าที่ลูกศิษย์เก็บหามาถวาย แต่ในบางครั้งก็หาไม่ได้ก็ต้องยอมอดกัน หรือกินใบไม้เพื่อประทังชีพ แต่ท่านก็อยู่ได้โดยไม่มีความวิตกเดือดร้อน แต่ก็มีหลายครั้ง ที่เป็นเรื่องน่าแปลก คือ ในบางวันที่อยู่กันกลางป่ากลางเขา ไม่มีบ้านคน หลวงปู่จะออกบิณฑบาตรองค์เดียว กลับมาพร้อมกับข้าวสุก ๒-๓ ปั้น บางครั้งท่านก็ให้ลูกศิษย์เดินตามไปบิณฑบาตรด้วย เดินกันถึงตีนเขา ท่านก็บอกว่า ให้รอตรงนี้ก่อน เดี๋ยวเรามา ท่านก็เดินขึ้นเขาไปองค์เดียว ไม่ถึง ๑๐ นาที กลับลงมาพร้อมกับข้าวสุกสีเขียวอ่อนอมเหลือง และมีกลิ่นหอมกรุ่นอยู่ในบาตร ๒-๓ ปั้น ซึ่งอาหารดังกล่าวนี้ มักเรียกกันว่า ข้าวเทวดา หรือว่าอาหารทิพย์นั่นเอง
ตามลักษณะที่ได้รับทราบมานั้น ชาวบังบดหรือชาวลับแลที่เคยมาหาหลวงปู่ จะมีลักษณะหน้าตาผิวพรรณดี สะอาดเรียบร้อย คางจะออกเหลี่ยมๆแต่ดูสมส่วนดี แต่งตัวเหมือนกับชาวบ้านสมัยก่อนย้อนไปสัก ๖๐-๗๐ ปี เดินทางมาด้วยเท้าไม่มียวดยานพาหนะ เมื่อมาจะไม่ค่อยพูดจากับใคร สิ่งที่น่าแปลกก็คือแม้ข้าวที่ใส่บาตรมาจะเป็นเพียงข้าวเปล่าๆ แต่พอได้กินเข้าไปกลับมีความอร่อย นุ่มละมุนละมัย และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติพอดีๆ อร่อยกว่ากว่าข้าวที่เราได้กินกันเป็นไหนๆ
แม้แต่ที่วัดทรายงาม และที่วัดเทพธารทองเองหลวงปู่ท่านก็เคยได้รับบิณฑบาตรอาหารทิพย์จากชาวลับแล หรือพวกกายทิพย์หลายครั้งเช่นกัน
องค์หลวงปู่ท่านได้ออกได้ธุดงค์จาริกไปเรื่อยๆ สลับกับการจำพรรษาตามสถานที่ต่างๆ เช่น วัดเขาน้อยท่าแฉลบ วัดเขาแก้ว หรือแม้แต่บ้านญาติโยมก็มี โดยรวมแล้วก็เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่ง…
พรรษาที่ ๓๐ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๑๗
ก็ได้มาพำนักอยู่กับวัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยการนิมนต์ของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย อยู่ที่นั่นได้ประมาณเกือบ ๒ ปี
พรรษาที่ ๓๒ ตรงกับปี พ.ศ.๒๕๑๙
ทางวัดเขาสุกิมก็ได้ส่งท่านไปช่วยดูแลวัดเนินดินแดง (สาขาวัดเขาสุกิม) ซึ่งในขณะนั้นไม่มีพระจำพรรษาอยู่ ท่านได้พำนักอยู่ที่นี่จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๑๙ รวมเป็นเวลาได้ประมาณ ๑๑ เดือน ซึ่งในระหว่างนี้เอง หลวงปู่สมชายก็ได้ทำนายว่า “ หลวงปู่พิศดูจะสิ้นในผ้าเหลือง.. ”
ในระหว่างนั้นหลวงป่พิศดูได้ไปเยี่ยมเยือน และพำนักอยู่ที่วัดเขาน้อยท่าแฉลบ และคืนก่อนหน้าที่จะกลับไปที่วัดป่าคลองกุ้ง ก็ได้เกิดนิมิตว่ามีเทวดานำพระขรรค์เล่มทองสวยงามมากมาถวาย วันรุ่งขึ้นก็เดินทางกลับจากเขาน้อยมาที่วัดป่าคลองกุ้ง ยังไม่ทันได้เข้าพักก็ได้รับคำสั่งจากคณะสงฆ์ให้มารักษาการเจ้าอาวาสที่วัดเทพธารทอง ต.พลวง กิ่งอ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี
◎ มาอยู่วัดเทพธารทอง
วัดเทพธารทอง เดิมเป็นป่าธรรมชาติ เป็นดงเสือ ดงช้าง มีไก่ป่า หมูป่า เก้งกวางอาศัยอยู่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๐ เจ้าของที่ดินคือคุณหมอปฐม หอมหวล ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัดเป็นจำนวน ๑๐ ไร่ ซึ่งชื่อวัดเทพธารทองนี้ ได้มาจาก
“เทพ” มาจากชื่อของหลวงพ่อแก่ พระอุปัชฌาย์ วัดจันทนาราม
“ธาร” มาจากลำธารที่ไหลผ่านวัด
“ทอง” มาจากคุณทองใหญ่ ตั้งชื่อไว้ให้เป็นอนุสรณ์แก่เจ้าของที่ดินเดิมที่ขายที่ดินให้แก่คุณหมอปฐม หอมหวน
พ.ศ.๒๕๑๙ ปลายปี หลวงปู่ได้มารักษาการเจ้าอาวาส อยู่ที่วัดเทพธารทอง ครั้งแรกที่มาก็มีศาลาอเนกประสงค์ยกใต้ถุนสูง ๑ หลัง และกุฏิโทรมๆอีกเพียง ๒-๓ หลังเท่านั้น รอบๆบริเวณวัดนั้นยังเป็นป่าชัฏ มีไก่ป่าและสัตว์ป่าอาศัยอยู่ แต่ไม่ค่อยมีบ้านคนอยู่อาศัย เวลาบิณฑบาตท่านต้องเดินไกลหลายกิโล ในบางครั้งก็มีชาวบ้านที่หาของป่า ได้ทำอาหารที่หาได้จากในป่า มาต้ม แกง ถวายอยู่บ้าง แต่พอวัดนี้ได้พัฒนาขึ้น ก็มีชาวบ้านตามมาอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง ทำให้สัตว์ป่าพวกนี้หายไปหมด หลวงปู่ต้องผจญกับสิ่งที่ทั้งมองเห็น และมองไม่เห็น มีชาวบ้านบางคนเห็นว่าท่านเป็นพระอยู่องค์เดียวมาอยู่ก็เอาปืนหมายมาขู่ ชักเข้าชักออกหวังจะให้กลัว เพราะถ้าหลวงปู่กลัว จะได้ย้ายไปที่อื่น เขาก็จะได้นำที่ดินนี้มาใช้ประโยชน์เสียเอง แต่หลวงปู่ก็ไม่สนใจ และไม่อยากยุ่งด้วย ในที่สุดก็แพ้ภัย และเลิกราไปเอง นอกจากนี้ ในบางครั้งก็ยังมีผู้ก่อการร้าย เข้ามากวน พากันมากินเหล้าในวัด มาข่มขู่ หวังจะให้กลัวเช่นกัน แต่หลวงปู่ก็ไม่กลัว บางคนก็ใช้มนต์ดำหวังทำร้าย หรือทดสอบอำนาจจิตของหลวงปู่ก็มี นอกจากพวกคนเกเรเหล่านี้แล้ว หลวงปู่ก็ยังต้องสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่ดินบริเวณนี้เป็นป่ามาก่อน ว่ากันว่าเจ้าที่แรง มีผีดุมาก ใครมาอยู่ก็ไม่ได้ เจ้าอาวาสที่เคยมาอยู่ถ้าไม่มรณภาพก็ต้องสึกหาลาเพศไปหมด แต่หลวงปู่มั่นใจว่าท่านอยู่ได้เพราะหลวงปู่เคยพบเจออุปสรรค อันตรายที่ร้ายแรงกว่านี้มาแล้ว และท่านยังมีพระขรรค์เล่มทองที่เทวดาถวายให้เล่มนั้นไว้ต่อสู้ ซึ่งก็สู้ได้จริงๆ จึงอยู่ได้อย่างสบาย และต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดเทพธารทองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงปู่ท่านอยู่แบบสมถะ เรียบง่ายตามข้อวัตรปฏิบัติของพระกัมมัฏฐาน และไม่ค่อยจะคลุกคลีกับผู้ใด
◎ เริ่มอาพาธ
ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หลวงปู่ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคปอด และทางเดินหายใจ จึงเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสองพี่น้อง ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี โดยเป็นภิกษุไข้พิเศษ ในความดูแลของหลวงปู่ฟัก สันติธัมโม เจ้าอาวาสวัดเขาน้อยสามผาน และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าว เป็นระยะเวลา ๒ ปี จึงได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดเทพธารทองดังเดิม นับตั้งแต่นั้นมา องค์หลวงปู่ท่านก็อาพาธเรื่อยมา และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลต่างๆ อยู่เสมอ ด้วยอาการของโรคปอดและทางเดินหายใจ
วันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ทางวัดได้จัดงานตักบาตรพระมหาอุปคุตประจำปี ในวันนั้นองค์ท่านได้ประกาศบอกลูกศิษย์ทั้งหลายว่า ให้มาตักบาตรท่านพ่ออุปคุตพร้อมกัน ปีนี้จัดอย่างยิ่งใหญ่ ครั้งสุดท้ายแล้วนะ ปีหน้าไม่มีแล้ว ให้บอกต่อๆกันด้วย และพิธีในวันนั้นลูกศิษย์ลูกหาได้มาร่วมพิธีมากที่สุดเท่าที่เคยมีการจัดมาในทุกๆปี พอหลังจากวันดังกล่าวเพียง ๒ วัน
วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓
หลวงปู่ก็ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ด้วยมีอาการบวมน้ำตามร่างกาย สาเหตุจากขาดโปรตีนมาก และต่อมาก็ติดเชื้อที่ปอดตามลำดับ จึงได้ย้ายท่านไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ นับจากนั้นเป็นต้นมา อาการทุกอย่างดีขึ้นบ้างตามลำดับ
กระทั่งย่างเข้าเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ อาการขององค์หลวงปู่เริ่มทรุดลงอีกเรื่อยๆ เนื่องจากไตขับของเสียไม่ได้
◎ มรณภาพ
วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. องค์หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี พระอริยสงฆ์ดวงประทีปแก้วแห่งบูรพา ได้มรณะภาพลง ด้วยวัยชรา สิริอายุได้ ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๑ วัน พรรษาที่ ๖๗ อย่างสงบราบเรียบที่สุด เคลื่อนจิตเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานตราบอนัตกาล ฯ
โอวาทธรรม หลวงปู่พิศดู ธัมมจารี
” นิพพาน ” เป็นมหานครเอกกันตบรมสุข
มีเล็ก มีกลาง มีใหญ่
รู้เห็น ได้ยินมา ต้องตาทิพย์
พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกทั้งหลายอยู่ที่นั่น..”
” ความไม่พอใจ จน เป็นคนเข็ญ
พอแล้วเป็น เศรษฐี มหาศาล
จนทั้งนอก ทั้งใน ไม่ได้การ
จนคิดอ่าน กลับตน เป็นคนพอ..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://swhappinessss.blogspot.com