ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่พัน ฐิตธัมโม
วัดป่าสันติธรรม (วัดป่าน้ำภู)
ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย
หลวงปู่พัน ฐิตธัมโม สมณะผู้มีจิตตั้งมั่นทายาทธรรมหลวงปู่คำดี ปภาโส หลวงปู่พัน ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแห่งวัดป่าน้ำภู อ.เมือง จ.เลย เดิมทีท่านเคยเรียนวิชาคาถาอาคมจนชำนิชำนาญมาตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อเมื่อบวชศึกษาธรรมอยู่กับ หลวงปู่คำดี ปภาโส ท่านก็ทิ้งวิชาเหล่านั้น ตั้งใจปฏิบัติตามแนวทางพระบรมศาสดา หลวงปู่พัน ฐิตธัมโม เป็นพระเถระที่ชาวจังหวัดเลยให้ความเลื่อมใสศรัทธา เป็นพระเถระผู้ใหญ่สายคณะธรรมยุต เป็นพระที่เคร่งครัดในการวัตรปฏิบัติ
หลวงปู่พัน เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ที่บ้านนาโคก ต.นาอ้อ ปัจจุบันเป็น ต.ศรีสองรัก อ.เมือง จ.เลย โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายพา และนางเฟือย ไม่ทราบนามสกุล เป็นบุตรคนโตในจำนวน ๖ คน
เมื่อตอนอายุยังน้อย ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่มหานิกาย ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านนาโคก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และเดินทางไปเรียนหนังสือที่ วัดศรีจันทร์ บ้านนาอ้อ ต.นออ้อ จ.เลย มี ครูบามูล เป็นครูบาอาจารย์สอนหนังสือ
ซึ่งในระหว่างบวชเป็นสามเณร ท่านมีโอกาสได้เคยติดตามครูบามูลเดินทางไปที่เมืองทุ่ง จ.ล้านช้าง ประเทศลาว เพื่อไปศึกษาวิชาอาคมกับหลวงปู่ยาครูน้อย ในระหว่างที่อยู่กับหลวงปู่ยาครูน้อยนี้ ท่านได้ติดตามท่านไปโปรดญาติโยม ที่เมืองปลา ประมาณ ๑ ปี ก็เดินทางกลับจังหวัดเลยและสามารถสอบนักธรรมตรีได้
ในระหว่างที่ท่านติดตามหลวงปู่ยาครูน้อยไปที่เมืองปลา ประเทศลาวในครั้งนี้ ทำให้ท่านเห็นถึงความไม่ดี ไม่งามเกี่ยวกับการบูชาผี เพราะช่วงที่ท่านอยู่กับหลวงปู่ยาครูน้อยนั้น ท่านได้พาสามเณรพัน ไปปราบผี ที่เมืองปลาด้วยเหตุที่ว่า ในช่วงนั้นเกิดมีคนตายจำนวนมาก จึงมีศรัทธาชาวเมืองปลา มาขอบารมีหลวงปู่ยาครูน้อย ไปโปรดช่วยขับไล่ผีเจ้าที่ ที่มาเอาชีวิตคนในเมืองปลาแห่งนี้ (ซึ่งในเมืองปลานี้คนบูชาผี) โดยมีคนมานิมนต์ท่านในช่วงนี้คือ สิบตรีจันทร์เป็นหัวหน้ามานิมนต์ท่านไป
หลวงปู่ยาครูน้อย ในสมัยนั้น มีชื่อเสียงด้านวิชาอาคม เป็นที่เลื่องลือถึงขนาดได้รับนิมนต์ให้ไปนั่งอธิษฐานจิตวัตถุมงคลที่กรุงเทพ เพื่อแจกทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว ตอนท่านบวชเป็นเณรนี้ ท่านเล่าประสบการณ์ที่อยู่เมืองปลาว่า “ท่านเคียดแค้นและไม่ชอบการบูชาผี เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้วยังมีโทษกับผู้บูชาอีก” ซึ่งในระหว่างบวชเณรนี้ หลวงปู่พันก็ได้ร่ำเรียนวิชา อาคมต่างๆ กับหลวงปู่ยาครูน้อยมาพอสมควร
ท่านกล่าวว่า…“การนับถือผีเป็นที่พึ่งนั้น เราพึ่งได้จริงหรือ ผีนำความสุขความเจริญมาให้เราได้จริงหรือ คนเราส่วนมากมักจะไม่เข้าใจ มักจะถือตามกันมา ฟังตามกันมา สืบต่อกันมา ปฎิบัติต่อกันมา การบูชาผีผลสุดท้ายก็ผีนั้นแหละ กินหัวตัวเอง กินลูกบ้านหลายเมืองของตัวเอง ถึงขนาดนั้น ก็ยังไม่รู้สึกสำนึกตัวเองได้ ยังพากันนับถืออยู่ อย่างที่ย้านเมืองปลาเป็นตัวอย่าง ผีเจ้าบ้านอยากกินอะไร ต้องการให้ทำอะไรแบบไหน ก็ทำตามหมดแต่ผีเจ้าบ้าน ยังมาทำให้ลูกบ้านหลานเมือง ล้มตายกันออยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่ของดี ผีนั้นคำว่าผีแล้ว พากันกลัวเอานักเอาหนา แต่ก็ยังเอาผีมาเป็นที่พึ่ง มากราบมาไหว้มาสักการบูชากันอยู่ อย่างนี้แหละที่ท่านว่าคนโง่พึ่งผี คนดีพึ่งธรรม”
หลังจากเณรพัน (หลวงปู่พัน) ท่านกลับมาจากเมืองปลาแล้วท่านก็สามารถสอบนักธรรมตรีได้ จนท่านบวชเณณได้ ๒-๓ ปี จนอายุ ๑๕ ท่านก็ได้ลาสิกขาออกมาช่วยบิดามารดา ทำไร่ ไถนา จนอายุครบ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุครั้งที่หนึ่ง ที่วัดศรีจันทร์ บ้านนาอ้อ โดยมี พระครูวิจารณ์สังฆกิจ เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์นำน้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชได้ ๑ พรรษา ท่านก็ได้ลาสิกขาออกมา และแต่งงานกับ นางคำพุ มีตา มีบุตรทั้งหมด ๓ คน คือ นางหนูหลั่น บุญมา นางบุญเรียน ดาสา และ นายวิเชียร วรินทรา
จนในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นางคำพุ ผู้เป็นภรรยาได้เสียชีวิต รวมอายุ ๓๘ ปีเศษๆ นายพัน ได้เลี้ยงบุตรธิดาเรื่อยมา จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นายพันได้ อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกเป็นครั้ง ๒ ฝ่ายธรรมยุติ เมื่ออายุ ๔๖ ปี โดยได้อุปสมทบ ณ วัดศรีสุทธาวาส อ.เมือง จ.เลย โดยมี พระเทพวราลังการ (หลวงปู่ศรีจันทร์ วัณณาโภ) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระสมุห์ไกรศรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการธีระพงศ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ฐิตธัมโม” แปลว่า “ผู้ตั้งอยู่ในธรรม”
◎ อยู่ที่ถ้ำผาปู่ กับหลวงปู่คำดี ปภาโส
หลังจากที่ท่านบวชเป็นพระแล้ว ท่านก็กลับมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดถ้ำผาปู่ ฝึกอบรมกรรมฐาน ทำสมาธิภาวนาเดินจงกรมอยู่กับ หลวงปู่คำดี ปภาโส และ หลวงพ่อสีทน สีลธโน (ศิษย์ผู้ใหญ่หลวงปู่คำดี และเป็นพระพี่เลี้ยงท่าน) โดย หลวงปู่คำดี ท่านให้โอวาทกับหลวงปู่พัน ครั้งแรกว่า..
“ท่านเคยเรียนวิชาอาคมอะไรมาก็ตาม ให้ทิ้งให้หมด หันมาสวดมนต์ ไหว้พระ เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเท่านั้น”
หลวงปู่พันในขณะเป็นพระภิกษุบวชใหม่นั้น ท่านก็ได้ละทิ้งวิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาจาก หลวงปู่ยาครูน้อยทั้งหมด แล้วหันไปบำเพ็ญภาวนาเอา “พุทโธ” เป็นหลักใจในการภาวนาเพียงอย่างเดียว
ท่านเล่าว่า หลวงปู่คำดี ท่านจะสอนว่า…ให้ตั้งอกตั้งใจทำความเพียร นั่งภาวนาเดินจงกรมให้มากๆ เวลากลางคืนไม่ให้นอนก่อนสี่ทุ่ม เวลากลางวันไม่ให้นอนก่อนเที่ยง เวลาเช้าให้ตื่นตีสี ให้มีเวลาทำความเพียรให้มากๆ อย่าปล่อยให้วันคืนปีเดือนล่วงไปเสียไป
หลวงปู่พัน ท่านก็ปฎิบัติตามคำสอนของ หลวงปู่คำดี อย่างเคร่งครัด ตั้งหน้าตั้งตาทำความพากความเพียรอย่างเต็มกำลัง ไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยทั้งกลางวัน กลางคืน ยืน เดิน นั่งนอน ก็พยามทำอยู่อย่างนั้น เพราะจิตใจของท่านเคยได้รับความทุกข์ ความทรมานในทางโลกมาอย่างหนักหน่วงมาแล้ว ท่านจึงได้มุ่งมั่น ต่อความพรากความเพียร ภาวนาพุทโธๆ ๆ ๆ เท่าไรจิตก็ไม่อยู่กับพุทโธ จิตใจมีแต่แล่นไปตามความคิดตามอารมณ์อยู่อย่างนั้น
ท่านว่า..ด้วยครั้งบวชเข้ามาเริ่มปฎิบัติใหม่ๆ ท่านเกือบจะเป็นบ้าไปเลย อย่างนั้นแหละ เพราะจิตไม่ยอมอยู่กับพุทโธ เสียทีเพราะอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาขวางกั้นตันใจ พาให้จิตใจหลวงปู่ท่านเศร้าหมอง ซึ่งในช่วงนี้ท่านมีความกังวลอยู่สี่อย่าง คือ
๑. ห่วงหาอาลัยถึงอดีตโยมภรรยาที่ล้มหายตายจากไปจิตใจในช่วงนั้คิดว่ายังอายุน้อยๆไม่หน้าตายเลย
๒. ลูกยังเรียนไม่จบ ไม่น่าหนีมาบวชเลย หน้าจะรอให้ลูกเรียนจบมีงาน มีการ เลี้ยงดูตนเองได้เสียก่อน
๓. โกรธแค้น ชิงชัง ขโมยที่มาเอาควายไป
๔. มีความรักในหญิง
อารมณ์ทั้ง ๔ นี้ที่ทำให้ท่านอัดอั้นตันใจ ไม่เป็นอันภาวนา ไม่ให้จิตอยู่กับพุทโธจนเกือบจะเป็นบ้า แต่พอท่านปฎิบัตินานเข้าจิตของท่านก็เริ่มสงบลง ปัญญาของท่านก็เกิดผุดขึ้นเกิดขึ้น คงเป็นเพราะวาสนาบารมีเก่าที่หลวงปู่พัน ท่านเคยได้สร้างสมอบรมมาแล้วแต่ปุเรชาติหนหลังครั้งก่อน เข้ามาช่วยดลบันดาลให้จิตใจของหลวงปู่พัน ท่านคิดออกได้คิดแก้ไขจิตใจของท่านที่เป็นห่วงกังวลอยู่นั้นให้สิ้นไป คือ
๑. อารมณ์ คิดห่วงอาลัยภรรยาที่ตายไป ท่านพิจารณาว่า เอ๋…แล้วเราจะไปเอาแน่อะไรกับความตายได้ เพราะคนเราทุกคนที่เกิดมาย่อมต้องตายกันทั้งนั้น บางคนตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ก็มีหรือบางคนคลอดออกจากครรภ์แล้วตายก็มี หรือบางคนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วตายก็มีแล้วจะเอาอะไรแน่นอนครับความตาย
๒. อารมณ์ที่เข้ามาครอบงำจิตใจของท่านในตอนนั้น คือห่วงลูกว่าลูกยังเล็กอยู่ ยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย ท่านกลับหนีมาบวชก่อน ท่านพิจารณาว่า..
“เอ๋..แล้วบางผู้บางคน พ่อแม่เขาตายหนีไปตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเป็นเล็กอยู่เป็นกำพร้ากำพลอย อาศัยอยู่กับแม่ป้า น้าสาว ลุงอาชาวบ้านเลี้ยงดูมาตั้งแต่เขาเป็นเด็กเป็นเล็กอยู่ เขายังใหญ่มาเป็นผู้เป็นคนได้ หากวาสนาเขาดีเขาเคยทำดีมาแต่ในชาติหนหลัง ก็คงเติบใหญ่มาได้เป็นคนดี แต่ถ้าเขาเคยทำไม่ดีมาก่อนก็คงสุดแท้แต่วาสนาที่เขาทำมาก่อน เพราะทุกคนต่างมีเวร มีกรรมติดตามกันมาทุกคน”
๓. อารมณ์ที่มีความเครีดแค้น โกรธพวกขโมยที่มาลักควายไปนั้น ท่านก็พิจารณาแก้อารมณ์ใจว่า ถ้าเราไปฆ่าเขาทิ้งแล้ว ก็เหมือนห่าหมาตายนั้นแหละ ไม่เกิดประโยชน์อันใด ลังแต่จะเป็นเวรเป็นกรรมสือต่อไปในภายภาคหน้าอีกไม่จบไม่สิ้น เราเองในชาติก่อนคงเคยไปลักขโมยของเขาไปชาตินี้เขาจึงมา จองเวร จองกรรมต่อ แล้วท่านก็อโหสิกรรมพร้อมทั้งแผ่นเมตตาไป”
๔. อารมณ์นี้หนักไม่น้อยเหมือนกัน คือรักชอบหญิง อารมณ์นี้คงเป็นเพราะวาสนาเก่า บุพเพสันนิวาสชาติเก่าก่อนภายหลังว่าคนเรานั้นเคยได้เป็นคู่ผัวตัวเมียกันมาที่เคยสร้างสมกันมาก่อน ท่านจึงพิจาณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องการเวียนวาย ตายเกิดมาพิจาณา ว่าถ้าเรายังหลงทาง ไม่เร่งรัดปฎิบัติ มัวแต่สนใจในเรื่องโลภ โกรธ หลงสุดท้ายเราก็ต้องมาเวียนเกิด เวียนตาย เวียนทุกข์อยู่ร่ำไป
ด้วยอุบายธรรมที่เกิดขึ้นกับท่าน โดยแก้อารมณ์ใจที่กังวนได้สี่อารมณ์นี้ทำให้จิตของท่านเลิกฟุ้งซาน จิตใจเริ่มสงบลง
ท่านจึงมาพิจารณาว่า ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่า ความจริง และ ความจำนั้นต่างกันมาก ความรู้ความเห็นที่ เห็นความจริงด้วยจิต ด้วยใจนั้นเราจะเชื่อเราจะซึ้งอย่างถึงจิต ถึงใจเราอย่างมั่นคงไปจนตาย ส่วนความจำนั้น คือว่าเราอ่านมา จำมาจากตำรับ ตำราหรือฟังจากครูบาอาจารย์นั้น ถึงจะเชื่อก็เชื่ออย่างไม่ซึ้งถึงจิตถึงใจจริง
◎ เล่าเรื่องภาวนาให้พระเณรฟัง
เมื่อครั้งหลวงปู่พัน ปฎิบัติธรรมเริ่มเห็นความจริง เห็นอรรถ เห็นธรรมแล้ว ท่านก็เล่าเรื่องนี้ให้พระเณรฟัง เพราะมันกินใจลึงซึ้งถึงใจท่านมาก ส่วนพระเณรพอได้ยินได้ฟังท่านเล่า ก็สักแต่ได้ยินเท่านั้น ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก เพราะมิใช่เรื่องของคนอื่น
หลังจากหลวงปู่พัน ท่านได้ไปทำกิจวัตรประจำวาระ คือ ไปสรงน้ำและไปทำความสะอาดที่บริเวณกุฎิของหลวงปู่คำดี ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของท่าน วาระสรงน้ำให้หลวงปู่คำดีนั้น ๗ วันจะเวียนมาถึงหลวงปู่ครั้งหนึ่ง
พอสรงน้ำหลวงปู่เสร็จ หลวงปู่คำดีท่านมานั่ง วาระวันนั้นว่างจากญาติโยมที่มากราบท่าน หลวงปู่คำดี ท่านจึงได้โอกาสอารมพระเณร คำพูดที่ท่านพูดเปรยๆ ออกมาทีแรกนั้น ท่านได้พูดขึ้นว่า…
“ผู้ใดนำเรื่องของตัวเองมาเว้า ผู้นั้นเอาความโง่ของโตมาขาย”
ท่านได้พูดขึ้นอย่างนี้แหละ พอหลวงปู่พันท่านได้ยินดังนั้น ในตอนนั้นท่านจึงเกิดความคิดขึ้นว่า เอ๋…ที่หลวงปู่คำดีพูดนั้น ท่านพูดให้ใครน่อ ท่านคงพูดให้เรากระมัง
“เอ๋..แล้วเราก็ไม่เคยได้ไปเล่าให้ท่านฟัง แต่ท่านมารู้ได้อย่างไร หรือมีพระเณรไปเล่าให้ท่านฟังหนอ”
และตั้งแต่นั้นหลวงปู่พัน ท่านก็ไม่เคยเล่าเรื่องผลการปฎิบัติของท่านให้ใครฟังอีกเลย เพราะเรื่องพวกนี้ครูบาอาจารย์ท่านไม่เล่าให้ใครฟังง่ายๆ หรอก เพราะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล
◎ จิตได้ ฌาน
พอจิตของหลวงปู่พัน สงบจากอารมณ์ ๔ อย่างที่ครบงำ ทำให้จิตใจ ของหลวงปู่เป็นทุกข์อยู่ในเวลานั้นได้จืดจางบางเบาจากจิตใจลงไปแล้ว จึงได้นำเอาเรื่องจิตสงบนี้ มาสนทนากับพระสหธรรมิก ที่ปฎิบัติอยู่ด้วยกันฟัง
พอหมู่เพื่อสหธรรมิกได้ยินดังนั้นเข้า พระบางรูปก็ตอบว่า จิตสงบไม่ได้เป็นอย่างนี้ จิตสงบนั้นต้องสงบแน่นิ่งไปเลยซิ
หลวงปู่พันตอบว่า… แต่ผมไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมนั้นมันสงบจากอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำจิตที่ทำให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวายใจนั้นสงบลง
ซึ่งพระเพื่อนสหธรรมิกนั้น ไม่เข้าใจในความสงบของหลวงปู่ เพราะไปเข้าใจว่าการสงบเกิดขึ้นจากอารมณ์สมาธิธรรมเท่านั้น แต่พอออกจากสมาธิแล้ว ความวุ่นว่ายก็เข้ามาเหมือนเดิม เมื่อตกลงกันไม่ได้เช่นนั้น ก็ตัดสินใจไปถามหลวงปู่คำดี เพื่อให้ท่านชี้แนะ หลวงปู่พันกราบเรียนหลวงปู่คำดีว่า..
เริ่มแรกปฎิบัตินั้น จิตใจของกระผมไม่มีความสงบเลย มีแต่ความวุ่นวายใจ แต่พอเริ่มปฎิบัติ จิตเริ่มพิจารณาธรรมหาอุบายธรรมมาระงับ บางที่เดินจงกรมอยู่ เกิดนิมิตเหมือนตัวเองอยู่ด้านหน้า แต่พอเดินไปนิมิตนั้นกลับหายไป ซึ่งแรกๆ ก็เกิดความกลัวว่าตัวจะหายไปแต่พอตั้งสติดู ก็รู้ว่านี้คือนิมิต นิมิตนั้นก็หายไป
จากนั้นจิตกระผมก็สงบจากความวุ่นวายฟุ้งซ่านทั้งหลายได้ จิตของกระผมเป็นอย่างนี้แหละกระผม พอเล่าจบ หลวงปู่คำดี ท่านก็พูดขึ้น พร้อมกับชี้นิ้วมือเข้ามาที่ตรงหัวใจท่าน แล้วท่านก็พูดว่า
“มันเกิดจากนี้ ออกไปจากนี้ แล้วมันก็กลับมาอยู่นี้ดังนั้นแหละ”
ท่านเลยมาพิจารณาว่า.. นี้แหละเราไม่เคยเกิด เคยเป็นแบบนี้มาก่อนจึงเกิดอัศจรรย์ใจ ทั้งๆ ที่มันก็เกิดขึ้นจากใจเรานี้แหละ จากนั้นหลวงปู่คำดี ท่านพูดต่อว่า “เออ อย่างนี้แหละดี มาพูดให้ครูบาอาจารย์ฟัง ให้หมู่ให้พวกได้ยินได้ฟังนี้แหละ” แล้วหลวงปู่คำดีพูดต่อไปว่า “นั้นแหละมันบ่ตั้งใจเฮ็ด ตั้งใจทำกันบ่เคยได้ยินพระเณร รูปใดองค์ใด มาพูด มาเล่าให้ฟังจักเทื่ออย่างนี้แหละ” พอครูบาอาจารย์อธิบายให้ฟังแล้วเราถึงได้เข้าใจแล้วท่านยังได้พูดต่อไปอีกว่า..
“เออ….ถ้าหากเป็นอย่างนั้น ก็แปลว่า ได้ ญาณ แล้ว ให้รักษาไว้ให้ดี อย่าให้ฌานเสื่อมนะ “ฌาน” นั้นคือ ที่อยู่ของจิต จิตถึงมีที่อยู่แล้ว”
◎ เที่ยววิเวก ขอฟังธรรมหลวงปู่เทสก์
ครั้งหนึ่ง องค์หลวงปู่คำดี ปภาโส ได้กล่าวกับพระเณรว่า พระสมัยนี้ไม่เหมือนพระสมัยก่อน เวลาออกพรรษาจะเที่ยงธุดงค์ไปแสวงหาธรรม ตามป่าตามเขา ไปขอข้ออรรถ ข้อธรรม จากครูบาอาจารย์ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาว กัน
หลวงปู่พัน เมื่อท่านได้ยิน เช่นนั้น ท่านก็ขอโอกาสอนุญาตหลวงปู่สีทน และ หลวงปู่คำดี ออกธุดงค์ไปเพื่อแสวงหาธรรมะ จากครูบาอาจารย์สมัยนั้น โดยหลวงปู่พัน หลังจากได้รับอนุญาตจากครูบาอาจารย์ ทั้งสองแล้ว ท่านก็มุ้งหน้าเที่ยววิเวก ไปกราบนมัสการ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เพื่อขอข้อธรรมมาปฎิบัติก่อน
เมื่อครั้งถึง วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย เวลาบ่ายกว่าๆ พักผ่อนสรงน้ำสรงท่า ตอนเย็นจึงเข้าไปกราบ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
หลวงปู่เทสก์ ท่านจึงถามไถ่ถึงที่มาที่ไป มายังไงจะไปที่ไหน หลวงปู่พันจึงกราบนมัสการเล่าให้หลวงปู่เทสก์ ฟังว่า… หลวงปู่คำดี ท่านแนะนำให้มาขอฟังธรรมจากหลวงปู่
เมื่อหลวงปู่เทสก์ ท่านได้ยินดังนั้น ท่านก็ถามหลวงปู่พัน เกี่ยวกับเรื่องสมาธิที่ทำอยู่ ว่าเดี๋ยวนี้จิตเป็นอย่างไร มันอยู่อย่างไร มันไปมาอย่างไร มันได้รับความสงบมากน้อยแค่ไหน
หลวงปู่พัน ท่านจึงเล่าตามความจริง ที่ท่านเป็นถวายให้ หลวงปู่เทสก์ ท่านทราบทุกประการ
และหลวงปู่เทสก์ ท่านก็ให้ข้อธรรมหลวงปู่พันว่า….จิตกับใจนั้นเป็นคนละอันกัน แต่ไปๆ มาๆ ก็อันเดียวกันนั้นแหละ จิตอันใด ใจก็อันนั้น เป็นข้อธรรมสั้นๆ แต่มีความหมายมากมายมหาศาล สำหรับพระที่มุ่งปฎิบัติเพื่อความหลุดพ้นทางจิตใจ เพื่อเอาใจออกจากทุกข์จากวัฎฎสงสาร
◎ อุปทานอาบัติ
ครั้งหลวงปู่พัน ท่านเที่ยววิเวกธุดงค์อยู่นั้น ครั้งหนึ่งท่านเล่าว่า ท่านเคยมีอาการ อาการหนึ่งเวลาท่านทำผิดอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งท่านกล่าวว่า..
“หลวงปู่คำดีเคยสอนว่า บ่อนใดมีผีฮ้าย หมู่เฮาไปอยู่ดี มักจะได้กำลัง คือว่าถ้าเราทำสิ่งใดที่ไม่ดี ไม่ถูกไม่ควรแล้ว พวกเทพ พวกภูมิเขาจะมาช่วยตักเตือนให้เราได้รับความเข้าใจในการประพฤติปฎิบัติยิ่งขึ้น สำหรับผู้มุ่งมั่นจะทำความเพียร เพื่อจะเอาตัวให้พ้นทุกข์ในวัฏฏสงสาร”
หลวงปู่พัน ท่านกล่าวว่า..
“อาการแปลกที่ว่านี้ เวลาที่ท่านเผลอทำอาบัติไปจะมีอาการได้กลิ่นเหม็นๆ เหมือนไฟไหม้ ติดจมูกอยู่เสมอๆ แต่เมื่อแก้อาบัติอย่างถูกต้องแล้ว กลิ่นนั้นก็จะหายไปเอง”
โดยในช่วงที่หลวงปู่พัน ท่านเที่ยวธุดงค์บางครั้งท่านอาจจะเผลอทำอาบัติได้ โดยไม่ได้ตั้งใจ โดยท่านบอกว่าท่านเคยมีอาการแบบนี้ถึง ๓ ครั้ง
ครั้งแรกท่านธุดงค์ไปกับหลวงปู่พา หลวงจากลับจากงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ผางที่ขอนแก่นแล้ว ซึ่งหลวงปู่พาก็ชักชวนท่านให้ไปเที่ยวธุดงค์ด้วยกัน ซึ่งหลวงปู่พา ท่านจะพาไปพระบาทภูพานคำ
หลังจากที่ได้เดินทางมาพอสมควรหลวงปู่พันและหลวงปู่พา ก็ได้หยุดพักที่ภูหลวง ซึ่งบริเวณนั้นมีแม่น้ำทบไหนผ่าน ซึ่งหลวงปู่พาและหลวงปู่พัน ก็แยกย้ายไปพักผ่อนตามอัธยาศัย หลวงปู่พัน ท่านก็ลงไปสรงน้ำที่แม่น้ำทบ จากนั้นท่านก็ขึ้นมาหาที่พักผ่อน ซึ่งในบริเวณนั้น ท่านเห็นมีถ้ำอยู่ ถ้ำหนึ่ง ท่านจึงตัดสินใจพักที่ถ้ำนี้ในคืนนี้
แต่พอท่านเข้าไปสำรวจในถ้ำก็พบว่ามี อุปกรณ์สูบฝิ่นอยู่ หลังจากเขาสูบเสร็จแล้วเขาจึงทิ้งไว้ตรงนั้น เมื่อครั้งนั้นหลวงปู่พัน พรรษายังน้อย ไม่ค่อยรู้ข้อวัตรอะไรมากนัก ได้นำอุปกรณ์สูบฝิ่นนั้นมาดู ซึ่งก็เห็นว่ายังมียาฝิ่นยัดเข้าไปติดอยู่ในรูนั้น ก็เลยหยิบมาดมดูก็รู้ว่าเป็นฝิ่น ท่านก็คิดว่าดีแล้วเพราะสมัยท่านเป็นเด็ก ท่านเคยเห็นยายทวดของท่านนำฝิ่นมายัดใส่กระเทียม กินแก้ท้องร่วงดีนัก อีกอย่างนำมาดมก็แก้หวัดได้ดี
ท่านจึงหยิบมากองๆ ไว้ที่บริเวณที่ท่านพัก ครั้งท่านกำลังทำความสะอาดบริเวณที่พักอยู่ก็เกิดปวดปัสสาวะขึ้น ท่านจึงเดินลงไปปัสสาวะ ด้านล้างของที่พัก พอท่านเข้ามาอีกทีท่านก็ลืมไปแล้วว่า ท่านได้เก็บฝิ่นกองเอาไว้ แต่ท่านกลับคิดว่าเป็นขี้ตุ๊กแก ท่านจึงได้เก็บทิ้งทั้งหมด เมื่อโยนทิ้งไปแล้วจึงคิดออกทีหลังว่า “โอ๊ยยาฝิ่นนะเราจับโยนทิ้งไปเสียแล้ว” ท่านจึงกลับไปหาบริเวณที่โยนทิ้งปรากฏว่าหาเท่าไรก็หาไม่เห็น จึงคิดตำหนิตัวเองว่าไม่น่าหลงลืมเลย ยาฝิ่นเป็นยาดีแท้ๆ
ท่านกล่าวว่า.. “อย่างนี้แหละพระบวชใหม่ยังไม่ทันเข้าใจ ยังไม่รู้ในสิ่งที่ถูกที่ผิด ทั้งๆ ที่ยาฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดศีล ผิดธรรมวินัยและทั้งผิดกฏหมายบ้านเมืองด้วย ถ้าตำรวจเขามาพบ ตรวจเจอเข้า เขาคงจะได้ไล่ให้สึกเอาหรือ”
เมื่อพักที่ภูหลวงพอสมควรแล้ว ท่านก็ธุดงค์ไปเรื่อยๆ จนไปพักอีกที ที่วัดป่าบ้านน้ำคิว อ.เมือง จเลย พอพักวิเวกอยยู่นี้นานเข้า ท่านก็เกิดอาการเหม็นขิว ขึ้นมาอาการเหม็นเริ่มทวีความรุ่นแรงขึ้น ไม่ยอมหายสักที ติดจมูกหลวงปู่อยู่นาน จนท่านบ่นกับหลวงปู่พาว่า…
“ทำไมผมจึงเหม็นขิวที่จมูกไม่ยอมหาย เหมือนมีอะไรสักอย่างที่เหม็นในสมอง” ความเหม็นทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน ท่านกล่าวในภายหลังว่า..
“นี้แหละพวกเทพ พวกภูมิเขาสอนให้เรารู้จักว่า เราทำผิดศีล แต่เราก็ไม่ยอมนึกออกสักที”
จนกลิ่นเหม็นรุนแรงขึ้นกลายเป็นกลิ่นฝิ่น ท่านจึงนึกออกว่าท่านติดฝิ่นเสียแล้ว ท่านจึงได้แสดงโรจนะแสดงอาบัติต่อหลวงปู่พา ท่านกล่าวกับหลวงปู่พาว่า..
“ที่ผู้ข้าได้กระทำลงไปและคอดไปแล้วนั้น เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทีนี้ตอนนี้ผู้ข้ารู้แล้วทราบและเข้าใจและจะไม่กระทำอีกต่อไป”
จากนั้นมาอาการกลิ่งเหม็นก็หายไป หลวงปู่พัน ท่านกล่าวว่า.. ท่านเป็นแบบนี้อีกสองครั้ง โดยครั้งที่สองท่านเป็นตอนท่านไปผ่าไส้เลื่อน ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ซึ่งตอนนั้นท่านบอกว่า ตอนผ่าตัดท่านไม่รู้ตัว คงมีนักศึกษาแพทย์ผู้หญิงมาจับตัวของท่านทำให้หลังจากท่านฟื้นตัวจากการผ่าตัด ท่านก็ได้กลิ่นเหม็นแบบนี้เหมือนเดิม เหมือนมีกลิ่นเหม็นๆ ในสมอง
จึงได้ไปตรวจกับหมอ หมอก็บอกว่าไม่มีอะไรหลวงปู่ “น่าจะอุปทานไปเอง” หมอจึงสั่งยาแก้แพ้ให้มากิน แต่ก็ไม่หาย ท่านจึงได้แสดงอาบัติกับหลวงปู่ฮ้อ ซึ่งเป็นคนจีนอายุมากแล้วมาบวช แต่ท่านปฎิบัติดี หลังจากแสดงอาบัติแล้ว อาการเหม็นขิวก็หายไป
และท่านมาเป็นอีกครั้งตอนจำพรรษาอยู่ที่นาแห้ว โดยครั้งนี้ท่านหลงกินเนื้อควายไม่สุก ที่ญาติโยมนำมาถวายโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเป็นผิดอาบัติครั้งนี้ ท่านก็มีอาการเหม็นขิวๆ เหมือนเดิม และก็ทวีแล้วรุนแรงมากขึ้น ติดจมูกโดยตลอด ท่านจึงได้แสดงอาบัติกับพระอาจารย์วิชัย แต่ก็ไม่หายเพราะพระอาจารย์วิชัย ก็ผิดอาบัติฉันเนื้อไม่สุกนี้เช่นกัน จึงแก้อาบัติให้กันไม่ได้ ในพรรษานั้นท่านทนทุกข์ทรมานกับกลิ่นติดจมูกนี้มาก
อยู่ต่อมาท่านก็คิดออกว่า ยังมีพระอาจารย์สมบูรณ์ อยู่ที่ภูง้าง บ้านโคกผักหวาน อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ท่านจึงสั่งโยมให้ช่วยขับรถพาไปหาพระอาจารย์สมบูรณ์เพื่อแก้อาบัติให้ ครั้งไปถึงก็เล่าเรื่องนี้ให้พระอาจารย์สมบูรณ์ฟัง ท่านก็หัวเลาะแล้วบอกว่า “คงอุปทานไปเอง” แล้วท่านก็บอกว่าท่านไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อหลวงปู่พันท่านแสดงอาบัติต่อพระอาจารย์สมบูรณ์แล้ว อาการเหม็นขิวติดจมูกของท่านก็หายไปอย่างสิ้นเชิง
◎ ครูบาอาจารย์ กับหลวงปู่พัน
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ ครั้งเมื่อหลวงปู่พัน ฐิตธัมโม ท่านอาพาธเดินทางไปพักรักษาธาตุขันธ์ ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น
หลวงปู่ทุย (พระอาจารย์ปรีดา ฉันทกโร) วัดป่าดานวิเวก (วัดดงศรีชมภู) อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ได้เข้าเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่พัน ฐิตธัมโม และได้พูดกับลูกศิษย์ ลูกหาที่ดูแลท่านว่า..
“ดูหลวงปู่ให้ดีๆ นะ ท่านจะไม่มาเกิดอีกแล้วนะ ดูแลท่านดีๆ”
ในทุกๆ ปีหลวงปู่พัน ท่านจะไปร่วมงานมุทิตาสักการะวันเกิด หลวงพ่อสมศรี อัตสิริ ในทุกๆ ปี เพราะท่านทั้งสองเคยจำพรรษาด้วยกัน ณ วัดเขาสวนกล้วย ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ซึ่งในปีนั้น ท่านได้จำพรรษากับ หลวงปู่จันทร์เรียน และ หลวงพ่อสมศรี
ครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยสนทนากับหลวงปู่อร่าม ซึ่งตอนนั้นศาลาใหญ่ยังไม่แล้วเสร็จ ท่านจะมานั่งรับแขกศรัทธาญาติโยมตรงที่มุงหลังคา ข้างกุฎิท่าน ท่านเคยพูด เปรยๆ ในระหว่างสนทนากันช่วงหนึ่งเกี่ยวหลวงปู่พันว่า… หลวงพ่อพันเพิ่นลูกศิษย์หลวงปู่คำดี เพิ่น(ท่าน) ปฎิบัติดีงาม จิตใจสว่างไสวปานแก้ว ซึ่งหลวงปู่พัน เคยจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อร่าม สมัยแรกๆ ที่หลวงปู่คำดี ท่านมาสร้างวัดป่าบ้านน้ำภู
หลวงพ่อสมบูรณ์ กันตสีโล หลวงปู่พันท่านให้ความเคารพมาก ท่านทั้งสองเคยเที่ยวธุดงค์ด้วยกันในหลายที่ หลายครั้ง หลวงปู่พัน ฐิตธัมโม ท่านเคยกล่าวว่า…
“นอกจากการปฎิบัติที่เคร่งครัดตามพระธรรมวินัยของหลวงพ่อสมบูรณ์ที่ดีงามแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง ไม่ว่าจะพระด้วยกัน หรือ ลูกศิษย์ ลูกหา ท่านจะเอื้อเฟื้อและเมตตาด้วยอยู่เสมอ”
ปัจจุบัน หลวงปู่พัน ฐิตธัมโม วัดป่าน้ำภู (สันติธรรม) อ.เมืองเลย จ.เลย ละสังขารแล้ววันนี้ เมื่อเวลา ๐๓.๕๖ น. ตรงกับวันจันทร์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ สิริอายุ ๘๘ ปี ๒ เดือน ๒๒ วัน พรรษา ๔๓
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://plustimeday.blogspot.com/